ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (อังกฤษ: abstract expressionism) เป็นขบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นจากเหตุการณ์ระส่ำระสายก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำไปสู่การอพยพลี้ภัยของศิลปินหนุ่มสาวจากยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกา ในไม่ช้าศิลปินกลุ่มนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานศิลปะในสหรัฐอเมริกาให้เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว ศิลปินที่ก่อกระแสงานศิลปะที่เรียกกันว่าลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมด้วยความที่กระแสศิลปะนี้เกิดในนิวยอร์ก ศิลปินกลุ่มดังกล่าวจึงได้รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "สกุลนิวยอร์ก" (New York School) วลี "abstract expressionism" นำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 1919 ในนิตยสาร Der Sturm ซึ่งเป็นนิตยสารภาพแนวสำแดงพลังอารมณ์ (expressionism) ส่วนในสหรัฐอเมริกา อัลเฟรด บาร์ (Alfred Barr) เป็นคนแรกที่ใช้คำนี้ในปี ค.ศ. 1929 เพื่ออธิบายงานของวาซีลี คันดินสกี และต่อมาในปี ค.ศ. 1946 นักวิจารณ์ศิลปะชื่อ รอเบิร์ต โคตส์ (Robert Coates) ก็ได้นำมาใช้เรียกผลงานของฮันส์ ฮอฟมันน์ ลงในนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ ศิลปินในกระแสนี้ได้พัฒนารูปแบบจิตรกรรมแบบอเมริกันจากอิทธิพลบางประการของลัทธิบาศกนิยม (cubism) และลัทธิเหนือจริง (surrealism) มาสู่การใช้กรรมวิธีในการวาดภาพตามทรรศนะส่วนตัว สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดร่วมสำคัญของงานจิตรกรรมที่ศิลปินอเมริกันได้จุดกระแสความเคลื่อนไหวขึ้นในนครนิวยอร์กระหว่างทศวรรษที่ 1940-1950 ก็คือการรวมเอาการแสดงออกทางอารมณ์อันเข้มข้นเข้ากับลักษณะงานนามธรรมเฉพาะตน ความเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า "กัมมันตจิตรกรรม" (action painting) เช่น งานของแจ็กสัน พอลล็อก, วิลเลิม เดอ โกนิง ที่มุ่งแสดงออกทางอากัปกิริยาขณะที่วาดภาพ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า "จิตรกรรมสนามสี" (colour-field painting) เช่น งานของมาร์ก รอทโก, บาร์เนตต์ นิวแมน และคลิฟฟอร์ด สติลล์ ที่มุ่งถ่ายทอดด้วยอารมณ์ความรู้สึก ลักษณะและข้อมูลทั่วไปในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930-1940 ทั่วโลกประสบปัญหามากมาย ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ การเหยียดผิว การปกครองแบบเผด็จการ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความพินาศจากระเบิดปรมาณู ทำให้สังคมโลกและสังคมอเมริกันตั้งคำถามกับระบบคุณค่าแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษยธรรม วิทยาศาสตร์ หรือในเรื่องของเหตุผล กระแสลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงเกิดขึ้นในฐานะเป็นงานศิลปะที่แสดงออกถึงความเป็นขบถต่อระบบคุณค่าเดิม ๆ และตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านั้น การที่จะให้คำจำกัดความของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะการแบ่งประเภทของผลงานว่ามาจากลัทธิหรือกระแสใด เกิดขึ้นโดยการจัดการของนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งต่างจากศิลปินที่ไม่ต้องการถูกกำหนดกรอบว่าผลงานของเขาจะต้องเป็นไปในแนวทางไหน ศิลปินที่ถูกเรียกว่าเป็นลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม แต่ละคนต่างก็ได้รับอิทธิพลและเทคนิคมาจากลัทธิก่อนหน้านี้แตกต่างกันไป เช่น เทคนิคการเขียนภาพของศิลปินในลัทธิเหนือจริงที่เรียกว่า "การเขียนภาพแบบกระแสสำนึก" (écriture automatique) ซึ่งหมายถึงการปล่อยให้ภาพวาดหรือตัวอักษรแล่นไหลไปตามกระแสสำนึกโดยไม่มีการตัดทอนหรือลบแก้ใด ๆ ทั้งสิ้น ก็นำไปสู่เทคนิคการหยดสีอย่างฉับพลันลงบนผ้าใบที่วางบนพื้นของแจ็กสัน พอลล็อก ซึ่งเป็นศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมที่มีชื่อเสียงที่สุด ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมจึงถูกนำมาใช้กับผลงานที่มีลักษณะแตกต่างกันของศิลปินหลายคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก แม้แต่งานที่อาจไม่เป็นงานนามธรรมและไม่เป็นงานสำแดงพลังอารมณ์ ก็อาจถูกเรียกว่าลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมได้ด้วยเช่นกัน จึงอาจกล่าวโดยรวมว่าศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมเป็นงานนามธรรมที่เสนอการแสดงออกทางความคิดเรื่องจิตวิญญาณ จิตใต้สำนึก และจิตใจ ซึ่งตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าแบบเดิม ๆ สิ่งที่พอจะบ่งบอกว่าเป็นลักษณะของงานสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมมีเพียงความนิยมในการใช้ผืนผ้าใบขนาดใหญ่เขียนภาพ ซึ่งเป็นภาพนามธรรมที่มีการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรงเท่านั้น กัมมันตจิตรกรรมในปี ค.ศ. 1947 แจ็กสัน พอลล็อก ได้พัฒนาเทคนิคการวาดภาพขึ้นใหม่ที่เรียกว่า "กัมมันตจิตรกรรม" (action painting) โดยได้รับการช่วยเหลือจากลี แครสเนอร์ ภรรยาของเขา เทคนิคที่ว่านี้ใช้วิธีการหยดสีลงบนผืนผ้าใบที่วางอยู่บนพื้นหรืออาจใช้สีจากกระป๋องโดยตรง พอลล็อกสร้างงานอย่างเป็นตัวของตัวเองสูงและมีลักษณะด้นสด (improvise) วิธีหนึ่งของเขาที่มีชื่อเสียงมากคือ การเต้นรำไปรอบ ๆ ผืนผ้าใบแล้วหยดสีลงไป โดยการทำเช่นนี้เขาอ้างว่าเป็นการกระตุ้นสิ่งที่อยู่ภายในของเขา (inner) ลงไปสู่ผืนผ้าใบด้วยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบของภาพวาดอัตโนมัติหรือจิตใต้สำนึก พอลล็อกได้ทำลายขนบของศิลปะอเมริกันลง เขามุ่งประเด็นทั้งหมดไปที่สิ่งที่เป็นนามธรรมด้วยงานที่มีสเกลขนาดใหญ่และการกลวิธีในการสร้างรูปลักษณ์ได้กลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมความจริงของภาพวาดนั้นตรงไปตรงมาและเป็นการแสดงออกอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการของศิลปินที่ถ่ายทอดแรงกระตุ้นภายในของเขาออกมา ภาพวาดกลายเป็นเหตุการณ์ (event) ละคร (drama) ของการเปิดเผยตัวเอง นี่เป็นแนวคิดของกัมมันตจิตรกรรม แม้ว่าวิลเลิม เดอ โกนิง จะอยู่ในกลุ่มเดียวกับพอลล็อก แต่งานของเขานั้นแตกต่างออกไป ทั้งในด้านเทคนิคและสุนทรียศาสตร์ ในงานชุด Women series of six paintings ช่วงปี ค.ศ. 1950-1953 เขาวาดภาพหญิงสาวมีมีความสูงขนาดสามในสี่ นี่เป็นงานที่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังสร้างงานในรูปแบบนามธรรมด้วย อย่างไรก็ตามเขามีความเชื่อที่แรงกล้าเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ภายในของศิลปินเช่นเดียวกับพอลล็อก และอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างนั้นก็สามารถถูกอ่านได้โดยผู้ชม วิธีการและภาวะอัตโนมัติศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรมที่อยู่ในกลุ่มกัมมันตจิตรกรรมมักอาศัยวิธีการที่เรียกว่า "ภาวะอัตโนมัติ" (automatism) ในการสร้างงาน ภาวะอัตโนมัติได้ปลดปล่อยจินตนาการของศิลปิน ทำให้เขาสามารถค้นหาสภาวะความเป็นสากลจักรวาลภายในตัวเขาซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตใต้สำนึกได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังทำให้ศิลปินสามารถแสดงออกได้ด้วยความกล้าเสี่ยงกล้าทดลองด้วยวิธีการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ทำให้เกิดรูปทรงที่มีพลังเคลื่อนไหว ก่อให้เกิดการให้น้ำหนักต่อวิธีของการวาดภาพมากกว่าเดิม และที่สำคัญคือทำให้เกิดการค้นพบภาษาใหม่ในการแสดงออกที่เป็นต้นแบบไม่ซ้ำใคร นักทฤษฎีศิลปะให้ความเห็นว่าวิธีการทำงานจิตรกรรมของพอลล็อกเป็นการขยายขอบเขตการเขียนอัตโนมัติของลัทธิเหนือจริง เขาควบคุมเหตุการณ์ (สถานการณ์) บนผ้าใบ แต่เห็นได้ชัดเจนว่าเขาไม่ได้ควบคุมลักษณะการเกิดรูปร่างใด ๆ บนผืนผ้าใบ ดังที่เขาได้กล่าวว่า เป็นการปล่อยให้พลังและการเคลื่อนไหวที่มองเห็นได้ (Energy and motion made visible) ทำงาน พอลล็อกมีความเชื่อว่าเขาวาดภาพออกมาจากจิตใต้สำนึก (painting out of the unconscious) การปลดปล่อยจิตใต้สำนึกออกมาสำหรับศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ได้แก่ การเขียนภาพสด ๆ (improvisation) และการปาดป้ายอย่างฉับพลันทันที (spontaneous gesture) ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลบางประการจากลัทธิเหนือจริง ซึ่งศิลปินพยายามหาวิธีที่ความบังเอิญจะมีโอกาสเข้ามาแสดงบทบาทมากที่สุดในงานศิลปะ วิธีการหนึ่งที่เรียกว่า "ภาพทาบสี" (decalcomania) นั้น คล้ายกับการเล่นสนุกกับสีของเด็กนักเรียน โดยการนำเอากระดาษหรือผ้าใบที่ระบายสีไว้มาประกบกันแล้วดึงออกมา ก็จะได้พื้นผิวหน้าที่ไม่ได้คาดหวังมาก่อนเกิดขึ้น แม้เราจะสามารถคาดเดาผลได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ซึ่งนับว่าการควบคุมของมนุษย์ก็ได้ถูกลดความสำคัญลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกับพอลล็อกและฟรานซ์ ไคลน์ ที่ถือว่าความสดฉับพลันเป็นหัวใจสำคัญ แรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่จะปลดปล่อยพลังแห่งธรรมชาติ ความกลมกลืนที่แท้จริงเกิดจากการทำงานของพลังจากแรงผลักดันอิสระจากจิตของมนุษย์นั่นเอง จิตรกรรมสนามสีเทคนิค "จิตรกรรมสนามสี" (colour-field painting) ได้รับการพัฒนาภายหลังจากเทคนิคกัมมันตจิตรกรรม และเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม จิตรกรรมสนามสีปรากฏในคริสต์ทศวรรษที่ 1940-1950 โดยหลากหลายศิลปิน เช่น มาร์ก รอทโก, คลิฟฟอร์ด สติลล์, บาร์เนตต์ นิวแมน เทคนิคจิตรกรรมสนามสีมีวิธีการที่นุ่มนวลกว่า โดยแรงกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังนั้นคือภาพสะท้อนและการใช้สมองในการสร้างลักษณะของภาพอย่างเรียบง่ายด้วยจินตนาการและสร้างผลสะเทือนทางอารมณ์ รอทโก, นิวแมน รวมไปถึงคนอื่น ๆ อธิบายว่า ความปรารถนาของพวกเขาคือ "ความสูงสุด" (sublime) มากกว่าความสวยงาม (beautiful) ด้วยรูปแบบของการใช้สีที่มีลักษณะจุลนิยม (minimalism) ของของพวกเขา ที่มีเป้าหมายเพื่อที่จะปลดปล่อยศิลปินจากข้อจำกัดจากความทรงจำทั้งหมด รวมไปถึงการโหยหาอดีต ตำนาน และปกรณัมต่าง ๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก ศิลปินสำคัญ
อ้างอิง
|