วังวรวรรณ
วังวรวรรณ หรือ วังแพร่งนรา เป็นวังที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของวังสะพานช้างโรงสี ต่อมาวังนี้ถูกเวนคืนเพื่อนำพื้นที่มาสร้างเป็นถนน ตามโครงการขยายความเจริญของพระนครในสมัยนั้น คงเหลือเพียงพระตำหนักไม้เก่าหลังเล็ก ที่เดิมเป็นที่ตั้งของโรงละครปรีดาลัย ตัวอาคารถูกสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2420–30 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคปนตะวันออก (จีน-โปรตุเกส) มีระเบียงไม้ฉลุลายขนมปังขิงเรียงรายตามเชิงชายคาโดยรอบ[1] ภายหลังเมื่อกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์สิ้นพระชนม์ วังวรวรรณก็ตกเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้ให้เช่าต่อเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานทนายความตะละภัฏ และมีการแบ่งพื้นที่ริมถนนสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ขายให้แก่เอกชน ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกย่านนั้นว่า แพร่งนรา ตามพระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเรียกถนนที่ตัดใหม่นั้นว่าถนนแพร่งนรา อาคารของวังวรวรรณถูกนำมาใช้งานเป็นโรงละครปรีดาลัย ตามด้วยโรงเรียนตะละภัฏศึกษา และท้ายที่สุดเป็นสำนักงานกฎหมายตะละภัฏ ก่อนจะปิดกิจการ ปัจจุบันอาคารถูกทิ้งร้าง และอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โรงละครปรีดาลัยโรงละครปรีดาลัย โรงละครที่จัดแสดงละครร้อง โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างยิ่งในรัสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 มีบทละครที่ทรงประพันธ์เสร็จ ณ ที่นี่หลายเรื่อง รวมถึงเปิดแสดงด้วย เช่น สาวเครือฟ้า ที่ดัดแปลงมาจากบทอุปรากรเรื่อง Madame Butterfly ของจาโกโม ปุชชีนี คีตกวีชาวอิตาลี หรือ อีนากพระโขนง ที่ต่อเติมมาจากตำนานเมืองอันโด่งดังของแม่นากพระโขนง (สำหรับเรื่องนี้เมื่อทรงประพันธ์ ทรงใช้นามแฝงว่า "หมากพญา") ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อจัดแสดง ถึงกับมีการแสดงซ้ำต่อเนื่องกันถึง 24 คืน เป็นต้น[2] โรงเรียนตะละภัฏศึกษาโรงเรียนตะละภัฏศึกษาเริ่มต้นหลังจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ปลีกวิเวกไปใช้พระชนม์ชีพบั้นปลายที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่นั่น เมื่อปี พ.ศ. 2474 ที่นี่ก็ถูกปล่อยทิ้งร้างระยะหนึ่ง จนกระทั่งขุนสงขลานครินทร์ อดีตมหาดเล็กในวังสระปทุม ได้รับประทานสถานที่แห่งนี้จากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อให้แก่ครอบครัวตะละภัฏของขุนสงขลานครินทร์ และเริ่มเปิดเป็นโรงเรียนจากการรับลูกหลานของข้าราชการและประชาชนทั่วไปในย่านนี้มาเรียน โดยได้แบ่งเนื้อที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกยังคงลักษณะตึกเดิมของโรงเรียน โดยสร้างเป็นชั้นลอยโครงไม้เพิ่มต่อ มีบันไดเวียนเหล็ก เชื่อมเป็นทางขึ้นไปสู่ห้องชั้นลอย อีกส่วนหนึ่ง ปรับให้เป็นอาคารสมัยใหม่ขนาดย่อม ใช้เป็นสำนักทนายความ คือ สำนักงานตะละภัฏทนายความ โรงเรียนตะละภัฏศึกษาปิดกิจการลงเมื่อ พ.ศ. 2538 ต่อมาสำนักงานตะละภัฏทนายความก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ที่นี่จึงถูกปล่อยร้าง เพื่อรอวันบูรณะฟื้นฟู และอยู่ในการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร[3] ระเบียงภาพอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|