พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แม้ปัจจุบันจะไม่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว แต่พระบรมมหาราชวังก็ยังคงถูกใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ทุกปีจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมใน พ.ศ. 2549 ถึง 8,995,000 คน[2] ประวัติเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1)ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมายังตำบลบางกอกซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวงขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี การก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ. 2325 โดยสร้างขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของพระยาราชาเศรษฐีและชาวจีนทั้งหลาย ดังนั้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่สถานที่แห่งใหม่ตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้มจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง เริ่มดำเนินการในวันที่ 22 เมษายน หลังพระราชพิธียกเสาหลักเมือง 1 วัน และเริ่มก่อสร้างพระบรมมหาราชวังในวันที่ 6 พฤษภาคม[3] ก่อนจะมีการเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ 13 มิถุนายน แต่ขณะนั้นพระราชมนเฑียรสร้างด้วยเครื่องไม้และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง เพื่อประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก ต่อมาในปี พ.ศ. 2326 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียร พระมหาปราสาท เปลี่ยนเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ สร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนสร้างพระอารามในพระราชวังหลวงคือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเฑียรเป็นการถาวรแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2328 พระบรมมหาราชวังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 4)ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า "พระบรมมหาราชวัง" นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า "บรม" สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงเรียกว่า "พระบวรราชวัง" เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า "พระบรมมหาราชวัง" มาจนกระทั่งปัจจุบัน ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เครื่องบินจากฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าทิ้งระเบิดโจมตีสถานที่อันเป็นจุดยุทธศาสตร์อันรวมถึงพระบรมมหาราชวัง โดยเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2487[4] มีลูกระเบิดมาตกในเขตพระบรมมหาราชวังข้าง ๆ พระพุทธรัตนสถาน ทำให้โครงสร้างหลังคาได้รับความเสียหาย[5] ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังมิได้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีแล้ว เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างอยู่อย่างแออัด ทำให้ขวางทางลม ในฤดูร้อน ที่ประทับในพระบรมมหาราชวังจึงร้อนจัด ทำให้พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ประชวรกันอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ประทับถาวรไปอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองสามเสน คือพระราชวังดุสิต[6] และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมาจนถึงปัจจุบัน ที่ตั้งและอาณาเขตหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ที่บางกอกแล้ว แล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังไว้ด้วย ที่ตรงบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันนี้แต่เดิมเป็นชุมชนชาวจีน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณสำเพ็งในปัจจุบัน ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังตั้งอยู่ในแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่สำคัญเรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้
พื้นที่ของพระบรมมหาราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อแรกสร้าง มีเนื้อที่ทั้งหมด 132 ไร่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพื้นที่ออกไปเป็น 152 ไร่ 2 งาน จนถึงปัจจุบัน แผนผังของพระบรมมหาราชวังได้ยึดถือแบบของพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือสร้างติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือ โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก ให้กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และมีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพระอารามหลวงในพระราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เขตพระราชฐานพระบรมมหาราชวังสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็นบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามและเขตพระราชฐานอันเป็นพื้นที่สำหรับเป็นที่ประทับและบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ โดยเขตพระราชฐานสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่[7] เขตพระราชฐานชั้นหน้าเขตพระราชฐานชั้นหน้า นับตั้งแต่ประตูวิเศษไชยศรีถึงประตูพิมานไชยศรี (ไม่นับรวมบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) รวมทั้ง บริเวณรอบนอกกำแพงชั้นในของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่าง ๆ และที่ทำการของทหารรักษาพระราชวัง เช่น สำนักพระราชวัง กรมราชเลขานุการในพระองค์ เป็นต้น เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ประดิษฐานของ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท เขตพระราชฐานชั้นกลาง นับตั้งแต่ประตูพิมานไชยศรีถึงประตูสนามราชกิจ เป็นที่ตั้งของปราสาทราชมณเฑียรทั้งสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตก ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล ประกอบไปด้วย พระมหามณเฑียร เป็นหมู่พระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและเป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษก ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ปัจจุบัน ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระราชพิธีสำคัญอื่น ๆ ในพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรีสืบเนื่องกันมา โดยพระที่นั่งที่สำคัญของพระมหามณเฑียร ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อใช้เป็นสถานที่ออกว่าราชการและเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เดิมประกอบด้วยหมู่พระที่นั่ง 11 องค์ ปัจจุบัน พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ในสภาพที่ชำรุดจนเกินกว่าการบูรณะได้จึงมีการรื้อพระที่นั่งลงหลายองค์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่บนสถานที่เดิม พระที่นั่งที่สำคัญของหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ได้แก่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร หมู่พระมหาปราสาท เป็นหมู่พระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญและเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับ ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ปัจจุบัน หมู่พระมหาปราสาทใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ อาทิ พระราชพิธีฉัตรมงคล รวมทั้ง เป็นสถานที่สำหรับสรงน้ำพระบรมศพและประดิษฐานพระบรมศพของของพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง พระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท และพระที่นั่งราชกรัณยสภา สวนศิวาลัย เป็นสวนภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของพระอภิเนาว์นิเวศน์อันเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตราบจนเสด็จสวรรคต แต่พระราชมณเฑียรดังกล่าวเกิดการชำรุดทรุดโทรมจนยากต่อการบูรณะซ่อมแซม ดังนั้น จึงจำต้องรื้อถอนไปเกือบหมดสิ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบัน สวนศิวาลัยและบริเวณใกล้เคียงมีพระที่นั่งที่สำคัญตั้งอยู่ ได้แก่ พระพุทธรัตนสถาน พระที่นั่งมหิศรปราสาท พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เขตพระราชฐานชั้นในเขตพระราชฐานชั้นใน นับตั้งแต่ประตูสนามราชกิจจนถึงแถวเต๊งทางทิศใต้ เป็นเขตสำหรับผู้หญิงล้วน ผู้ชายที่อายุ 13 ปีขึ้นไปห้ามเข้า (ยกเว้นองค์พระมหากษัตริย์) หากจะเข้าก็ต้องมีโขลนกำกับดูแล (โขลน คือ ตำรวจหญิงที่คอยกำกับดูแล ความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน) เป็นที่ตั้งของพระตำหนัก ตำหนัก เรือน ของพระมเหสี พระราชเทวี พระชายา พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม ข้าราชบริพารและข้าราชการฝ่ายใน การใช้งานพระบรมมหาราชวังได้ใช้เป็นที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาตลอด จนถึงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเพียงครั้งคราว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มิได้มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นการถาวรอีก ปัจจุบันพระที่นั่งบรมพิมาน เป็นเขตพระราชฐานและที่ประทับส่วนพระองค์ใน ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาประทับบ้างเป็นครั้งคราว เช่น เวลาซ่อมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หรือเวลามีการพระราชพิธี เป็นต้น พระบรมมหาราชวังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตามพระราชประเพณี, เป็นที่รับแขกเมือง และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งเป็นที่ตั้งพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ส่วนบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกได้ใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ เช่น สำนักพระราชวัง, สำนักราชเลขาธิการ และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และเขตพระราชฐานชั้นในก็มิได้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายในอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นที่ทำการและที่พำนักของข้าราชการสำนักพระราชวังในฝ่ายพระราชฐานชั้นในบางส่วน ซึ่งล้วนเป็นสตรีทั้งสิ้น แผนที่ดูเพิ่มอ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ พระบรมมหาราชวัง
|