Share to:

 

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร
อุโบสถวัดหงส์รัตนาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหงส์
ที่ตั้ง102 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทพระอารามหลวง
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระแสน (เชียงแตง)
เจ้าอาวาสพระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9)
เว็บไซต์www.wathong.com
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ อยู่เลขที่ 72 ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร สร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยา ยุคนั้นเป็นวัดราษฎร์ เรียกว่า วัดเจ๊สัวหง หรือ แจ๊สัวหง หรือ เจ้าสัวหง หรือ วัดขรัวหง เพราะตั้งตามชื่อของเศรษฐีชาวจีนผู้สร้าง คือ นายหง วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร วัดหลวงชั้นโท คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งตามทะเบียนเลขที่ 102 ถนนวังเดิม 2 หรือ ถนนอิสรภาพ 28 แขวงวัดอรุณเขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ใกล้กับวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และกองทัพเรือ (พระราชวังธนบุรีเดิม) ตั้งอยู่บนเนื้อที่ขนาด 46 ไร่ 1 งาน 23 ตารางวา

ประวัติ

จากหลักฐานจดหมายเหตุในรัชกาลที่ 4 ได้บันทึกไว้ว่า วัดหงส์รัตนารามนี้ พื้นที่วัดเดิมเป็นของโบราณมีมานานสำหรับเมืองธนบุรี คำคนแก่เก่า ๆ เป็นอันมากเรียกว่า วัดเจ้าขรัวหง แลว่ากันว่าจีนเจ๊สัวมั่งมี บ้านอยู่กะดีจีน สร้างขึ้นไว้แต่ในครั้งโน้น จีนที่มั่งมี คนเรียกว่า เจ้าขรัว ในสมัยกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเรียกชื่อว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เรียกชื่อว่า วัดหงส์อาวาศวรวิหาร รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เรียกชื่อว่า วัดหงส์อาวาสวรวิหาร รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เรียกชื่อว่า วัดหงส์รัตนาราม รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จนถึงปัจจุบัน เรียกชื่อว่า วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทรงพระยศสถานที่ตั้งประวัติวัดหงส์รัตนาราม เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สืบต่อจาก กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาทฯ ได้ประทับ ณ พระราชวังเดิม พระราชวังจึงมีฐานะเป็นพระบวรราชวังใหม่ ขึ้นตำแหน่งหนึ่ง สมตามนัยแห่ง ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าตอนประสูติของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ดังนี้ การประสูติดังนี้ เป็นไปที่พระที่นั่งข้างในหลังตะวันตก พระราชวังปากคลองบางกอกใหญ่ ครั้งนั้นเรียก พระบวรราชวังใหม่ อยู่ในกำแพงกรุงธนบุรีโบราณวัดหงส์ฯ ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ตลอดสถานที่พระบวรราชวังนี้ จึงมีสร้อยนามเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ครั้งนั้นว่า วัดหงส์อาวาศวรวิหาร ดังหลักฐานประกอบด้วยตามในพระราชทินนามสมณศักดิ์พระราชาคณะที่พระธรรมอุดม (พระธรรมวโรดมปัจจุบัน) ซึ่งได้เลื่อนจากพระธรรมไตรโลกฯ (พระธรรมไตรโลกาจารย์ปัจจุบัน) ในรัชกาลที่ 1 ว่า พระธรรมอุดม บรมญาณอดุลยสุนทร ตีปีฎกธรามหาคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดหงส์อาวาศบวรวิหาร พระอารามหลวง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร มีสร้อยนามเปลี่ยนแปลงเป็นทางการว่า วัดหงส์อาวาสวรวิหาร หลักฐานในข้อนี้ พิจารณา ได้ตามพระราชทินนามสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ซึ่งได้เลื่อนจากสมณศักดิ์เดิมที่ พระพรหมมุนี (ด่อน) กล่าวไว้ดังนี้ ให้ พระพรหมมุนีเป็นพระพิมลธรรม อนันตญาณนายก ตีปฎกธรามหาคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดหงส์อาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร คงมีนามเรียกเต็มว่า วัดหงสาราม ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือประชุมพงศารภาคที่ 25 ตอนที่ 3 เรื่องตำนานสถานที่ และวัสดุต่าง ๆ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะ และมีความเกี่ยวเนื่องกับวัดหงส์ฯ ดังมีข้อความกล่าวไว้เป็นเชิงประวัติว่า วัดนี้นามเดิมว่า วัดเจ้าขรัวหงส์ แล้วเปลี่ยนมา เป็น วัดหงสาราม และในสำเนาเทศนาพระราชประวัติรัชกาลที่ 2 ซึ่ง หม่อมเจ้าพระประภากร บวรวิสุทธิวงศ์ วัดบวรนิเวศน์วิหาร ทรงเทศนาถวาย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้นามว่า วัดหงสาราม ในเรื่องเกี่ยวกับวัดหงส์ฯ แม้แต่ในพระอารามหลวงที่ เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร เรียบเรียงถวายรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวไว้เช่นเคียวกัน แต่กล่าวพิเศษออกไปว่า เรียกวัดหงสาราม มาแต่รัชกาลที่ 1 เห็นจะเป็นว่าเมื่อเรียกโดยไม่มีพิธีรีตองสำคัญอะไร ก็คงเรียกวัดหงสาราม ทั้ง 3 รัชกาล ก็เป็นได้ ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นี้ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้ทรงรับปฏิสังขรณ์จากการทรงชักชวนของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเกณฑ์ต่อให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระยศ เจ้าฟ้ามงกุฎ ให้รื้อพระอุโบสถเก่าแปลงปลูกเป็นวิหาร แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงรับทำ จึงเป็นพระภาระของสมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ แต่พระองค์เดียว ส่วน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งแรกทรงรับพระภาระสร้างโรงธรรมตึกใหญ่ขึ้นใหม่ แต่ในครั้งหลังสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีสวรรคต การยังไม่เสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงรับเป็นพระธุระทั้งพระอุโบสถ และพระวิหาร และสิ่งอื่นอีก

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้พระราชทานสร้อยนามวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหารใหม่ แลเป็นหลักฐานสืบมาจนบัดนี้ว่า วัดหงส์รัตนาราม ตามในจดหมายเหตุ รัชกาลที่ 4 ได้กล่าวไว้ว่า เดิมเป็นพระอุโบสถหลังเก่าวัดหงส์ฯ ครั้งก่อนสมัยอยุธยา เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ ขยายทั้งตัววัด และสร้างพระอุโบสถใหม่ และอื่นอีก คงเลิกใช้อุโบสถเก่า ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

จากหลักฐานประชุมพงศาวดารภาคที่ 25 ว่าด้วยพระเจดีย์วิหาร ที่ทรงสถาปนาในรัชกาลที่ 4 เรื่องที่ 15 โดยมีเนื้อความว่า “วัดหงส์รัตนาราม วัดนี้ตามเดิมว่า วัดเจ้าขรัวหงส์ แล้วเปลี่ยนมาเป็น วัดหงสาราม สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ วัดเขมาภิรตาราม โปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดหงส์ฯ การยังไม่ทันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ และพระราชทานนามว่า วัดหงส์รัตนาราม คำสร้อยนามวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหารที่ว่า รัตนาราม นั้น บ่งความหมายเป็นสองประการคือ รัตน แปลว่า แก้ว ประการหนึ่ง และคำว่า อาราม ซึ่งแปลว่า วัด ประการหนึ่ง เมื่อนำคำทั้งสองมารวมกัน จึงได้ความหมายว่า วัดท่านแก้ว มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสร้อยนามวัดหงส์ฯ นั้น ก็เพื่อถวายเป็นพระอนุสรณ์แด่ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า แก้ว เป็นการถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบรมราชอัยกี ผู้เป็นพระบุพการีของ พระบรมราชชนนี พระราชอนุชา และพระองค์ท่าน ตามธรรมเนียมนิยมของพุทธสานิกชน เมื่อบำเพ็ญบุญกุศลแล้ว จึงอุทิศผลบุญ อีกประการหนึ่ง วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นวัดที่ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ ทรงเคยอุปถัมภ์ และปฏิสังขรณ์มาในอดีต ทรงคุ้นเคยกับสถานที่ และเสด็จบำเพ็ญกุศลเป็นประจำในขณะที่ทรงพระชนม์อยู่

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้ถูกจัดลำดับศักดิ์เป็น พระอารามหลวงชั้นโท และมีฐานะเป็น พระอารามชั้นราชวรวิหาร ตามพระบามราชโองการประกาศ เรื่องจัดระเบียบพระอารามหลวงเป็น ชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ชั้นสามัญ โดยมีสร้อยนามตามฐานะเป็น ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร วรวิหาร โดยลำดับ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2458 วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร จึงได้สร้อยว่า วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร มาจนถึงปัจจุบัน

ย้อนไปในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ถือเป็นวัดที่มีสำคัญอย่างมาก นอกจากตั้งติดกับพระบรมราชวังที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ในปีพุทธศักราช 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเป็นเอกอุปถัมภก บูรณปฏิสังขรณ์ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นการใหญ่ และทรงสร้อยนามวัดอย่างเป็นทางการว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร ด้วย เดิมทีนั้นเป็นวัดร้าง ทั้งนี้ยังทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นที่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า ทรงสร้างศาลาโรงธรรมขนาดเท่าพระอุโบสถขึ้นทางด้านหน้า และทรงสร้างกุฏิ และเสนาสนะอื่น ๆ ทั้งพระอาราม ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี บันทึกไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอุปถัมภ์ปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่ทั่วพระอาราม พระอุโบสถ การเปรียญ เสนาสนะ และกุฏิ ได้ทรงสร้างใหม่ทั้งสิ้น ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 มีหลักฐานยืนยันตรงกันอีกว่า ครั้งมาเมื่อกรุงธนบุรี พระสงฆ์ผู้รู้หลักนักปราชญ์มาอยู่มาก ผู้ที่มีอุตสาหะเล่าเรียนก็ได้เข้าไปอยู่มาก เจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรีจึงขยายภูมิวัดออกไปใหญ่ แล้วสร้างพระอุโบสถใหญ่ตรงหน้าพระอุโบสถเก่า แล้วสร้างโรงธรรมหันหน้าเข้าสู่พระอุโบสถใหม่ สร้างฐานใหญ่เท่ากันทั้งสองหลัง ตั้งอยู่อย่างนั้นนานมาจนถึงเวลาแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในพระบรมราชวงศ์นี้ ในปีพุทธศักราช 2333 สมเด็จพระลูกยาเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ (เจ้าจุ้ย) ใน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสด็จผนวช ณ วัดหงษ์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร) นี้ เมื่อพระชนม์ครบอุปสมบท ตลอดจนพระราชนิกูล และข้าใต้สำนัก ล้วนแต่อุปสมบทวัดแห่งนี้เกือบทั้งสิ้น และนอกจากนี้ สมเด็จพระอัครมเหสี (หอกลาง) กรมหลวงบาทบริจาสอน และพระเจ้าน้านางเธอ กรมหลวงเทวินทร์สุดา ได้เสด็จบำเพ็ญกุศล ฟังเทศน์ ถือศีลปฏิธรรมอยู่ ณ วัดแห่งนี้อยู่เนือง ๆ

วัดหงษ์อาวาสวิหาร แห่งนี้ อยู่ในราชูปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และพระองค์มักเสด็จมานั่งวิปัสสนากรรมฐานในพระอุโบสถ หลังว่างจากพระภารกิจเสมอ วัดหงษ์อาวาสวิหาร จึงนับว่าเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรือง และสวยงามวัดหนึ่งในยุคสมัยนั้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ประชาชนในละแวกใกล้เคียง จึงพร้อมใจกันสร้างศาลขึ้นที่ริมคลองคูวัดเชิงสะพานข้ามคลองหน้าวัด ด้านทิศตะวันตก เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์เป็นแห่งแรก และปรากฏเป็นที่สักการะเคารพของประชาชนในท้องถิ่นแต่บัดนั้นเป็นต้นมา คือ ศาลเจ้าพ่อตากวัดหงส์ฯ

นอกจากทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างศาสนวัตถุอื่นแล้ว พระองค์ทรงนำความเจริญทางด้านการศึกษา วางไว้เป็นฐานรากแห่งพระพุทธศาสนาที่วัดหงษ์อาวาสวิหาร หรือ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร จึงเป็นแหล่งสรรพวิชา บ่มเพาะความรู้ขั้นสูงในยุคสมัยนั้น และเป็นชุมนุมสงฆ์ผู้รู้หลักนักปราชญ์ แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร จากหลักฐานบันทึก มีรายนาม ดังต่อไปนี้

  1. พระยาธรรมปรีชา พระยาธรรมปรีชา เดิมชื่อ แก้ว เป็นข้าราชการที่สำคัญคนหนึ่ง ตำแหน่งพระอาลักษณ์ของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงถวายบังคมลาออกบวช ณ วัดหงษ์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร) ต่อมาท่านผู้นี้ได้ศึกษา และมีความรู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นพระราชาคณะที่ พระรัตนมุนี เป็นองค์แรกให้มีศักดิ์ตำแหน่งพิเศษเสมอพระราชาคณะ
  2. สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงษ์อาวาสวิหาร (วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร) เคยเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราช ในยุค กรุงธนบุรี มาแล้ว คือ สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ชาติภูมิเดิมเป็น ชาวเมืองแกลง (ระยอง) ใน สมัยกรุงศรีอยุธยา ใกล้ล่ม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะดำรงตำแหน่ง พระยาวชิรปราการ ได้เดินทางสู่ภาคตะวันออก ผ่าน เมืองแกลง เพื่อรวบรวมผู้คนกอบกู้ชาติแผ่นดิน จึงได้พบกับ สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ซึ่งเป็นประมุขสงฆ์ เมืองแกลง (บ้านเดียวกับกวีเอกสุนทรภู่) และได้เคยช่วยเหลือเกื้อกูล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามสมควรแก่สมณวิสัยในครั้งนั้น ดังนั้นเมื่อ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นครองราชย์ปกครองไพร่ฟ้าสยามประเทศ จึงได้อาราธนาให้ดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาส วัดหงษ์อาวาสวิหาร และทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์สูงโดยลำดับ จนเป็น สมเด็จพระสังฆราช อันเป็นตำแหน่งสูงสุดในสังฆมณฑล ต่อมาภายหลังปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถูกถอดสมณศักดิ์ตำแหน่ง ด้วยเหตุความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ท่านได้หยั่งรากฝากผลงานแห่งพุทธศาสนาไว้ให้ศาสนิกชนรุ่นหลังได้ศึกษา สืบทอดได้อย่างมั่งคง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นแม่กองสังคายนา ชำระพระไตรปิฎก แผนพระอภิธรรมส่วนปรมัตถ์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับว่าท่านเป็นปราชญ์แท้องค์หนึ่งที่ไม่แสดงความหวั่นไหวในโลกธรรม ได้แสดงความเป็นปราชญ์ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกอย่างชัดแจ้ง
  3. พระเทพโมลี (ด่อน) ได้บวช และศึกษาในสำนัก วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ คือ พระพรหมมุนี พระพิมลธรรม และ สมเด็จพระวันรัต ภายหลังได้ย้ายไปอยู่ วัดสระเกษ ต่อมาได้ทรงสมณศักดิ์ประมุขสงฆ์ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ดำรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช จากนั้นได้ย้ายมาประทับที่ วัดมหาธาตุฯ และได้เป็นพระอุปัชฌายะของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์ ใน สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) เมื่อเสด็จผนวชครั้งแรกในพระพุทธศาสนาฝ่ายพระสงฆ์มหานิกายสมณวงศ์ นับว่าได้รับกรณียกิจอันสูงสุด ในสังฆมณฑลอีกองค์หนึ่ง
  4. เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นาวาอากาศเอก มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) เดิมได้ศึกษาทางภาษาบาลี จนสำเร็จเป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค จากวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร แห่งนี้ เกียรติคุณของท่านเป็นที่เลื่องลือรู้จักกันทั่วไปในนาม เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ภายหลังได้ทรงเกียรติคุณอันสูงเป็นพระอาจารย์ พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราช (รัชกาลที่ 6) ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงนครบาล และสมัยปกครองระบอบประชาธิปไตยท่านได้ดำรงตำแหน่งสูงสุด เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นับเป็นเกียรติประวัติที่สืบเนื่องมาแต่สำนักนักเรียนวัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นเบื้องแรก
  5. พระธรรมไตรโลก (ไม่ทราบนามเดิม) เดิมอยู่ วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร ท่านเป็นผู้มีความรอบรู้ แตกฉานในภาษาบาลีอย่างมาก ผลงานของท่านเท่าที่ค้นพบ คือร่วมแปลพระคัมภีร์มงคลทีปนี เมื่อปีพุทธศักราช 2364 โดย พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงอาราธนา นับว่าเป็นปราชญ์ทางการบาลีที่สำคัญองค์หนึ่ง

อาคารต่าง ๆ

พระอุโบสถ

เป็นอุโบสถขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี (กว้าง 19.5 เมตร ยาว 42 เมตร)[1] ประตูด้านนอกมีลวดลายปูนปั้นรูปหงส์และดอกไม้ ด้านในเป็นลวดลายสีแบบจีนปนฝรั่ง หน้าต่างด้านนอกกระจกสีน้ำเงินประดับลวดลายดอกไม้ปูนปั้นสีทองติดลูกกรงดัดรูปหงส์สวยงามมาก

พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะในสมัยอู่ทอง (เป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง) ขนาดหน้าตักกว้าง 2.6 เมตร สูง 3.5 เมตร ไม่มีพระนามสันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าพระประธาน เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะสีดำประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ชื่อหลวงพ่อแสน เล่ากันว่าเชิญมาแต่เมืองเชียงแตงเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2401

ผนังในพระอุโบสถโดยรอบมีภาพจิตรกรรมฝาผนังบนแผ่นผ้าใบ เรื่องราวประวัติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน บนภาพพระพุทธประวัติ มีภาพสีฝุ่นเทมเพอราในกรอบแก้วเล่าเรื่องราวของพระแก้วมรกต ผนังด้านหลังมีที่บรรจุอัฐิของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และภรรยา

วิหารหลังพระอุโบสถ "ศาลาตรีมุข"

มีพระพุทธรูปจำลองสมัยต่างๆ แต่ที่สำคัญคือ หลวงพ่อทองคำหรือหลวงพ่อสุข เป็นพระพุทธรูปทองคำ เดิมหุ้มปูนลักษณะเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์อยู่ในวิหารร้าง จนปี พ.ศ. 2499 เกิดรอยกระเทาะจึงเห็นเนื้อในเป็นทองสีสุก ปางมารวิชัยศิลปะสมัยสุโขทัยยุคกลางเนื้อทองคำผสมนวโลหะ มีอักษรจารึกที่ฐานองค์พระว่า สร้างในปี พ.ศ. 1966 สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี[2]

คลังภาพ

อ้างอิง

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′21″N 100°29′18″E / 13.739169°N 100.488254°E / 13.739169; 100.488254

Kembali kehalaman sebelumnya