ศาสนาพุทธในประเทศรัสเซียศาสนาพุทธในประเทศรัสเซีย เป็นหนึ่งในศาสนาดั้งเดิมและเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ตามกฎหมายของประเทศรัสเซีย[1] ประดิษฐานครั้งแรกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในแถบไซบีเรีย[2][3] เดิมเป็นศาสนาพื้นเมืองหลักในสาธารณรัฐคัลมืยคียา, บูเรียตียา และตูวา แต่ปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วประเทศรัสเซีย สามารถพบชาวรัสเซียเข้ารีตพุทธมากขึ้น[4] ศาสนาพุทธในประเทศรัสเซียส่วนใหญ่เป็นนิกายเกลุกหรือนิกายหมวกเหลือง ซึ่งเป็นศาสนาพุทธแบบทิเบต[5] ส่วนนิกายอื่น ๆ เป็นชนกลุ่มน้อย ศาสนาพุทธแบบทิเบตนี้แพร่หลายมาจากดินแดนทิเบต เข้าสู่ดินแดนมองโกเลีย ไซบีเรีย ก่อนกระจายเข้าสู่รัสเซียในเวลาต่อมา[2] ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนจำนวน 700,000–1.5 ล้านคนทั่วรัสเซีย โดยมากอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐคัลมืยคียา, บูเรียตียา และตูวา[6] ประวัติยุคแรกมีหลักฐานการดำรงอยู่ของศาสนาพุทธในดินแดนรัสเซียสมัยใหม่ตั้งแต่สองปีก่อนคริสต์ศักราช บรรพบุรุษของชาวมองโกล เช่น ซฺยงหนู, เซียนเปย์ และชี่ตัน มีความคุ้นเคยกับศาสนาพุทธมาก่อน ดังปรากฏการค้นพบสายประคำแบบพุทธในสุสานชาวซฺยงหนูในนิคมอีโวลกินสค์ในสาธารณรัฐบูเรียตียา[7] และคริสต์ศตวรรษที่ 8 พบหลักฐานเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของรัฐพัลแฮซึ่งครอบครองดินแดนปรีมอร์สกีและแคว้นอามูร์ในปัจจุบัน ชนพื้นเมืองแถบนั้นรับอิทธิพลจากศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก่อนแพร่หลายไปยังบริเวณชายแดนของรัสเซียที่ติดกับมองโกเลีย หรือแหล่งอาศัยของกลุ่มชนเชื้อสายมองโกล เช่น คัลมืยคียา, บูเรียตียา, ตูวา และซาไบคัลสกี อันเกิดจากการเผยแผ่ศาสนาพุทธแบบทิเบตช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา[7] ต่อมาชาวมองโกลเผ่าออยรัตที่รับศาสนาพุทธแล้ว เคลื่อนย้ายเข้าไปในแดนยุโรปและเป็นบรรพบุรุษของชาวคัลมึคในคัลมืยคียา[8] ค.ศ. 1714 จักรพรรดินีเยลิซาเวตา เปตรอฟนา ประกาศในราชกฤษฎีกายอมรับการมีอยู่ของ "ลัทธิลามะ" พร้อมยอมรับการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือดาซัน[ก] 11 แห่ง และลามะจำนวน 150 รูป ถือว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ได้รับการยอมรับของทางการรัสเซียมาตั้งแต่นั้น[7] ใน ค.ศ. 1887 มีดาซัน 29 แห่ง และ ค.ศ. 1917 มีพุทธศาสนิกชนราว 200,000 คน และศาสนสถานจำนวน 175 แห่ง[9] แต่ก่อนหน้านี้ ในเอกสารของชาวรัสเซียยุคแรก พบว่าชาวรัสเซียโดยเฉพาะกลุ่มหมอสอนศาสนามีทัศนคติเชิงลบต่อศาสนาพุทธ ด้วยมองว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งโชคลาง ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักเหตุผลหรือความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งยังเห็นว่าศาสนาพุทธเป็นอุปสรรคในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และการทำให้เป็นรัสเซียในไซบีเรีย[10] ในช่วงที่คอสแซคเข้ายึดไซบีเรีย ก็พบกับพุทธศาสนิกชนในแถบนั้น พวกเขามองว่า ศาสนาพุทธคือพวกนอกรีตกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ขณะที่นักสำรวจและหมอสอนศาสนา อธิบายว่าศาสนาพุทธแบบทิเบตเป็น "ความเชื่อทางไสยศาสตร์" "พวกหลงผิด" "พวกบูชารูปเคารพ" เป็นอาทิ[10] สอดคล้องกับวรรณคดีรัสเซียมักเรียกพุทธศาสนสถานหรืออารามว่าเป็นศาลเจ้าของพวกนอกรีต ที่มีการร่ายคาถา การหลอกลวง และประกอบพิธีกรรมทรงเจ้าเข้าผี[10] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านศาสนาพุทธที่ใหญ่ที่สุด เกิดการค้นคว้าและตีพิมพ์ปรัชญาพุทธศาสนาออกมาจำนวนมาก[11] ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสนาพุทธขยายตัวขึ้น แต่ถูกเหล่าหมอผีและหมอสอนศาสนาคริสต์ในท้องถิ่นต่อต้าน[7] ประกอบกับนักวิชาการในยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนหรือเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ มักใช้อคติในการหาข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของศาสนาพุทธ[10] ทว่าในยุคหลังมานี้ ชาวรัสเซียเริ่มมีทัศนคติเชิงบวกต่อศาสนาพุทธแบบทิเบตมากขึ้น เพราะมีแนวทาง หลักปรัชญา และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขามองว่าศาสนาพุทธแบบทิเบตในไซบีเรียคือศาสนาของคนล้าหลัง นอกจากนี้ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พวกเขามีการสนับสนุนให้เปลี่ยนศาสนาพุทธให้เป็นแบบยุโรป และให้ชาวพุทธรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเป็น "อารยะ" แก่ศาสนาพุทธ[10] ต่อมาในยุคโซเวียตเรืองอำนาจ ศาสนาต่าง ๆ รวมไปถึงศาสนาพุทธถูกมองว่าเป็น "เครื่องมือสำหรับกดขี่" และชาวพุทธที่อยู่ในอำนาจเองก็ไม่ยี่หระการที่ศาสนาของตนถูกกดขี่[12] ค.ศ. 1917 โจเซฟ สตาลินออกมาประกาศว่าไม่มีดาซันแห่งใดในประเทศที่เปิดให้บริการ[13] รัฐบาลโซเวียตพยายามที่จะลบศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ ออก เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชุมชนเมืองและการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น[14] ค.ศ. 1929 อารามพุทธหลายแห่งถูกปิด ลามะหลายรูปถูกจับ บ้างก็ถูกเนรเทศ[15] คริสต์ทศวรรษที่ 1930 เป็นช่วงที่พุทธศาสนิกชนเป็นชุมชนศาสนาได้รับความทุกข์ระทมมากที่สุดในสหภาพโซเวียต[3] ลามะหลายรูปถูกขับออกและถูกกล่าวหาว่าเป็น "สายลับญี่ปุ่น" บ้างก็ว่าเป็น "ศัตรูของประชาชนทั้งหลาย"[2] ค.ศ. 1943 ชาวคัลมืยคียาซึ่งเป็นชุมชนพุทธแห่งเดียวในยุโรปถูกรัฐบาลโซเวียตเนรเทศไปไซบีเรีย หลังถูกรัฐบาลสงสัยว่าพวกเขาให้ความร่วมมือกับพวกนาซีเยอรมนีเมื่อคราวยึดครองคัลมืยคียา[16] ทำให้ชาวชาวคัลมืยคียาร้อยละ 40 เสียชีวิตระหว่างทาง ส่วนผู้ที่รอดชีวิตไม่สามารถกลับมาตุภูมิได้จนถึง ค.ศ. 1956[17] ส่วนชาวพุทธในบูเรียตียาลี้ภัยไปเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของประเทศจีน[7] แต่ศาสนาพุทธยังไม่หายไปจากรัสเซียเสียทีเดียว เพราะบีเดีย ดันดารอน นักคิดและนักพุทธศาสนศึกษา พยายามฟื้นฟูศาสนาพุทธในยุครัฐอเทวนิยมด้วยแนวคิดศาสนาพุทธใหม่ โดยนำคำสอนของศาสนาพุทธ ปรัชญาตะวันตก และทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกัน แต่เวลาต่อมานายดันดารอนถูกรัฐบาลจับกุมตัวในข้อหาสร้างชุมชนทางศาสนา เขาถูกส่งเข้าค่ายกักกันจนกระทั่งเสียชีวิตในนั้น อย่างไรก็ตามลูกศิษย์ของเขามีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา[18] ยุคฟื้นฟูหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง พร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคีร์ซัน อิลูย์มซีนอฟของสาธารณรัฐคัลมืยคียา[19] และมีการฟื้นฟูศาสนาพุทธในบูเรียตียาและตูวา ผู้คนหวนกลับไปนับถือศาสนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ[20] ก่อนแพร่หลายสู่ชาวรัสเซียในพื้นที่อื่น ค.ศ. 1992 ทะไลลามะที่ 14 ประมุขของศาสนาพุทธนิกายเกลุก เสด็จเยือนสาธารณรัฐตูวาเป็นครั้งแรก[21] ปัจจุบันมีการก่อตั้งอารามและมหาวิทยาลัยสงฆ์หรือที่เรียกว่าดาซันทั่วไปในประเทศ[22] และลามะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูประเพณีและตำราทางศาสนาขึ้นใหม่[23] ประเทศไทยมีการส่งพระธรรมทูตเพื่อเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา โดยมีศูนย์กลางที่วัดอภิธรรมพุทธวิหาร เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก[24] ศาสนิกชนค.ศ. 2012 สาธารณรัฐตูวามีพุทธศาสนิกชนร้อยละ 62, สาธารณรัฐคัลมืยคียาร้อยละ 38 และสาธารณรัฐบูเรียตียาร้อยละ 20[25] นอกจากนี้ยังพบพุทธศาสนิกชนในดินแดนซาไบคัลสกีร้อยละ 6, แคว้นตอมสค์ร้อยละ 0.6 และสาธารณรัฐยาคูเตียร้อยละ 0.4 มีชุมชนชาวพุทธกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศรัสเซีย เช่น แคว้นซาฮาลิน, ดินแดนฮาบารอฟสค์, แคว้นอามูร์, แคว้นอีร์คุตสค์, ดินแดนอัลไต, สาธารณรัฐคาคัสเซีย, แคว้นโนโวซีบีสค์, แคว้นตูย์เมน, แคว้นโอเรนบุร์ก, แคว้นอาร์ฮันเกลสค์, แคว้นมูร์มันสค์, กรุงมอสโก, แคว้นมอสโก, นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, แคว้นเลนินกราด และแคว้นคาลินินกราด แต่ละดินแดนจะมีชาวพุทธราวร้อยละ 0.1–0.5[25] ส่วนหัวเมืองใหญ่อย่างมอสโก, เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และซามารา แต่ละเมืองมีประชากรกว่าร้อยละ 1 ระบุตัวตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน[26]
อ้างอิงหมายเหตุก ดาซัน (Дацан) เป็นคำที่ใช้เรียกมหาวิทยาลัยสงฆ์ของนิกายเกลุก พบได้ทั่วไปในมองโกเลีย ทิเบต และไซบีเรียของรัสเซีย โดยทั่วไปดาซันจะมีอยู่สองคณะคือ คณะปรัชญาและคณะแพทย์ บ้างก็มีคณะปฏิบัติตันตระ ซึ่งลามะจะศึกษาหลังสำเร็จการศึกษาจากคณะปรัชญาแล้ว[11] เชิงอรรถ
แหล่งข้อมูลอื่น
|