Share to:

 

หางนกยูงฝรั่ง

หางนกยูงฝรั่ง
ต้นหางนกยูงฝรั่งกำลังบานสะพรั่ง (Florida Keys)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ถั่ว
Fabales
วงศ์: ถั่ว
Fabaceae
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยราชพฤกษ์
สกุล: Delonix

(Boj. ex Hook.) Raf.
สปีชีส์: Delonix regia
ชื่อทวินาม
Delonix regia
(Boj. ex Hook.) Raf.
ชื่อพ้อง
  • Delonix regia var. flavida Stehle
  • Delonix regia var. genuina Stehle
  • Delonix regia var. genuina Stehlé
  • Poinciana regia Hook.
  • Poinciana regia Bojer [2]

หางนกยูงฝรั่ง (อังกฤษ: Flam-boyant, The Flame Tree, Royal Poinciana) หรือที่เรียกว่า นกยูง, นกยูงฝรั่ง, ชมพอหลวง, ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ), หงอนยูง (ภาคใต้), อินทรี (ภาคกลาง), และยูงทอง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) พันธุ์ไม้จากทวีปแอฟริกาอยู่ในวงศ์พืชตระกูลถั่ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบในหน้าแล้ง ทรงพุ่มต้นแผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ดอกเป็นช่อออกที่ปลายกิ่ง มีกลีบห้ากลีบ สีแดงจัดจนถึงสีส้ม ฝักเป็นลักษณะฝักถั่วแบนยาว เมื่อแก่จะเป็นฝักแห้งแข็งสีดำ

ประวัติ

หางนกยูงฝรั่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Delonix regia (Bojer) Raf. อยู่ ในวงศ์ถั่ว (Leguminosae) เช่นเดียวกับนนทรี ขี้เหล็ก ประดู่แดง ชงโค คูน กาหลง กัลปพฤกษ์ และก้ามปู เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2367 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย[3]

ในประเทศไทยมีผู้นำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม โดยปัจจุบันมีต้นหางนกยูงสองชนิดคือหางนกยูงฝรั่งและหางนกยูงไทยที่เป็นไม้พุ่มและดอกสีสดใสหลากสี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว 12 - 18 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างทรงกลมคล้ายร่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายก้ามปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่ ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชผลัดใบ[4] ในประเทศไทยมักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน

ออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูงความจริงประกอบด้วยสี 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะมี 2 สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมากกว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบแต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด ทั้งนี้ผลของหางนกยูงฝรั่งเป็นฝักแบนโค้งรูปดาบ และเมล็ดเรียงตามขวาง[5]

การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเป็นหลัก และสามารถใช้วิธีติดตา ต่อกิ่ง เสียบยอด (ที่จะทำให้ไม่กลายพันธุ์) และขึ้นได้ดีในดินทั่วไป

ฤดูออกดอก

หางนกยูงฝรั่งออกดอกเป็นช่อ ในช่วงช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปีใดอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะยิ่งออกมาก ดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่ง

ดอกของต้นหางนกยูงฝรั่ง

สรรพคุณทางยา

รากนำมาต้มหรือทอดรับประทานกับอาหาร เป็นยาขับโลหิตในสตรี แก้อาการบวมต่าง ๆ ลำต้นนำมาฝนทาแก้พิษ ถอนพิษสัตว์ต่อยกัดได้[6] เมล็ดอ่อนของหางนกยูงฝรั่งนำมากินสด ๆ ได้ สำหรับเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะใช้กินได้ เพราะมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่จะถูกทำลายด้วยความร้อน ดอกสามารถนำมาไล่แมลงวีได้

เกร็ด

หางนกยูงฝรั่ง (ที่ออกดอกสีทองซึ่งหาได้ยาก) เป็นต้นไม้พระราชทานให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ชาวธรรมศาสตร์ เรียกว่า "ต้นยูงทอง") และนอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้มงคลประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และโรงเรียนจ่าอากาศ

รากของต้นหางนกยูงฝรั่งสามารถชอนไชได้ไกล จนสามารถดันพื้นถนน ทางเท้า และโครงสร้างอื่น ๆ ให้แตกและเสียหายได้ง่ายดาย

อ้างอิง

  1. Rivers, M. (2014). "Delonix regia". IUCN Red List of Threatened Species. 2014: e.T32947A2828337. doi:10.2305/IUCN.UK.2014-1.RLTS.T32947A2828337.en. สืบค้นเมื่อ 12 November 2021.
  2. "Delonix regia (Hook.) Raf. — The Plant List". theplantlist.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-24. สืบค้นเมื่อ 2023-05-12.
  3. "Presentación de PowerPoint" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-08-28.
  4. หางนกยูงฝรั่งความสดใสแห่งฤดูร้อน, มูลนิธิหมอชาวบ้าน
  5. หางนกยูงฝรั่ง เก็บถาวร 2010-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โรงเรียนวัดหอมเกร็ด (ไพศาลประชานุกูล)
  6. หางนกยูงฝรั่งดอกแดง เก็บถาวร 2010-04-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya