คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเปิดสอนวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด รังสีเทคนิค วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย การฝึกสอนกีฬา และการจัดการกีฬา ประวัติปี พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายขยายการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ จากท่าพระจันทร์ มาศูนย์รังสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะที่จัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาสาธารณสุขซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของประเทศไทยจึงจัดตั้งคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้น โดยเริ่มจากตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2533 ต่อมา ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535–2539) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคณะใหม่เพิ่มอีก 3 คณะ ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีคำสั่งที่ 30/2537 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2537 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อจัดทำหลักสูตรตลอดจนวางแผนเรื่องอัตรากำลังให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน ต่อมา คณะกรรมการดังกล่าวได้ประชุมและมีมติให้เปลี่ยนชื่อคณะจากเดิม " คณะเทคนิคการแพทย์ " เป็น " คณะสหเวชศาสตร์ " เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า คณะสหเวชศาสตร์ต้องรองรับการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่จะเปิดในอนาคตนอกเหนือจากสาขาเทคนิคการแพทย์ด้วย เช่น สาขากายภาพบำบัด เป็นต้น จึงเสนอขอเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลดังกล่าว ต่อมา มีพระราชกฤษฎีกาให้ก่อตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยมหาวิทยาลัยแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ ดร. วิฑูรย์ ไวยนันท์ รักษาการในตำแหน่งคณบดีและเป็นคณบดีคณะสหเวชศาสตร์คนแรก ซึ่งดำรงตำแหน่ง 2 วาระต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และกลับมาดำรงตำแหน่งคณบดีอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2550 ระยะแรกคณะสหเวชศาสตร์ไม่มีสถานที่ทำการถาวร จึงต้องอาศัยพื้นที่หน่วยงานอื่นเป็นสถานที่ทำการชั่วคราว เริ่มต้นจากขอใช้พื้นที่อาคารคุณากรของคณะแพทยศาสตร์ หลังจากนั้น จึงย้ายไปที่อาคารกิตติวัฒนาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้อนุมัติให้สร้างอาคารปิยชาติและอาคารราชสุดา เพื่อเป็นพื้นที่ใช้ร่วมกันระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งคณะสหเวชศาสตร์ได้รับจัดสรรให้ใช้พื้นที่บางส่วนจากทั้งสองอาคาร อีกทั้งภายหลังยังได้ใช้พื้นที่บางส่วนภายในอาคารเรียนและปฏิบัติการรวม (ปิยชาติ 2) ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ วิทยาแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา หน่วยงานพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ แบ่งส่วนราชการเป็น 5 หน่วยงาน ดังนี้[1]
เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2544 คณะสหเวชศาสตร์จึงกำหนดให้แบ่งส่วนราชการเป็นการภายในเพิ่มอีก 1 หน่วยงาน ได้แก่ โครงการบัณฑิตศึกษาสาขาชีวเวชศาสตร์ และแต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ ดร. เกศรา ณ บางช้าง เป็นผู้อำนวยการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งที่ 11/2545 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545 มีมติเห็นชอบให้คณะสหเวชศาสตร์จัดตั้ง "ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสหเวชศาสตร์" และแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ ดร. วิฑูรย์ ไวยนันท์ เป็นผู้อำนวยการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม และพัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้แก่อาจารย์และนักศึกษา โดยแบ่งเป็น 4 หน่วยงานย่อย ดังนี้
หลักสูตรสำหรับการจัดการเรียนการสอนนั้น คณะสหเวชศาสตร์เริ่มรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรกในปีการศึกษา 2539 จำนวน 1 สาขา ได้แก่ สาขาเทคนิคการแพทย์ หลังจากนั้น ในปีการศึกษา 2541 จึงเปิดรับสาขากายภาพบำบัด เป็นลำดับถัดมา และเปิดรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาชีวเวชศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ในปีการศึกษา 2544 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ (โครงการปกติ) ทั้งในระดับปริญญาโทและเอก และในปีการศึกษา 2553 เปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นปีการศึกษาแรก ต่อมาได้เปิดสาขาทางด้านการกีฬาขึ้นเพิ่มเติมอีก 2 สาขา ในปีการศึกษา 2557 คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการการกีฬาและสาขาการฝึกสอนกีฬา (โครงการพิเศษ) ในปี พ.ศ. 2560 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค (โครงการพิเศษ) ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนเป็นปีการศึกษาแรก[2] และในปี พ.ศ. 2566 ได้มีการปรับหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นหลักสูตรเทคนิคการแพทยบัณฑิต สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ และเพิ่มเติมหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาการสมัยใหม่ทางการกีฬา และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการฟื้นฟูและวิทยาศาสตร์การออกกาลังกาย (หลักสูตรนานาชาติ)
รายชื่อศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงระดับบัณฑิต (ปริญญาตรี)ระดับมหาบัณฑิต (ปริญญาโท)
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|