Share to:

 

อะแซหวุ่นกี้

มหาสีหสุระ
เกิดราวพุทธศักราช 2263
หุบเขามู อาณาจักรตองอู
เสียชีวิตพ.ศ. 2325
อังวะ อาณาจักรโก้นบอง
รับใช้ราชวงศ์โก้นบอง
แผนก/สังกัดกองทัพอาณาจักรพม่า
ประจำการพ.ศ. 2295–2319
ชั้นยศ
  • ตะมูโบลชะ (တပ်မှူး၊ ဗိုလ်ချုပ်, "แม่ทัพใหญ่"; พ.ศ. 2295–2303)
  • กา-กวัลเรอูซีชะ (ကာကွယ်ရေးဦးစီးချုပ် "แม่ทัพสูงสุด"; พ.ศ. 2303–2319)[1]
การยุทธ์
งานอื่น
  • วานจี (ဝန်ကြီး, "เสนาบดี"; พ.ศ. 2319)
  • วานจีโบลชะ (ဝန်ကြီးဗိုလ်ချုပ် "อัครมหาเสนาบดี; พ.ศ. 2325)

มหาสีหสุระ (พม่า: မဟာသီဟသူရ, อักษรโรมัน: Maha Thiha Thura; ราวพุทธศักราช 2263-2325) เอกสารไทยเรียก อะแซหวุ่นกี้ (အသည်ဝန်ကြီး) เป็นแม่ทัพแห่งกองทัพพม่าช่วง พ.ศ. 2311–2319 กล่าวได้ว่า เขาคือนักยุทธศาสตร์ทางทหารที่ปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่ง มีชื่อในประวัติศาสตร์พม่าว่า เป็นผู้พิชิตสงครามจีน–พม่าช่วง พ.ศ. 2308–2312 เขาก้าวขึ้นเป็นขุนศึกชั้นนำในรัชกาลของพระเจ้าอาลองบูรา (อลองพญา) คราวที่พระองค์ทำสงครามผนวกดินแดนพม่าช่วง พ.ศ. 2295–2300 ภายหลัง เขาได้บัญชากองทัพพม่าในกรุงศรีอยุธยา ล้านนา หลวงพระบาง และมณีปุระ

ภายหลังการสิ้นพระชนของพระเจ้ามังระ กษัตริย์หลายพระองค์ต่างแสวงหาความสนับสนุนจากผู้กว้างขวางและมากบารมีผู้นี้ เขามีส่วนสำคัญในการช่วยให้ราชสมบัติตกเป็นของพระเจ้าจิงกูจา หลานของเขาเองตามเจตนาของพระเจ้ามังระ แทนที่จะตกแก่โอรสคนอื่นๆ ของพระเจ้าอลองพญาตามพินัยกรรมแรก ต่อมาเขาได้ถูกหลานที่ตัวเองปกป้องระแวงสังสัย จนถูกปลดและเนรเทศไปอยู่ที่เมืองสะกาย กระทั่งพระเจ้าหม่องหม่อง ฉวยโอกาสยึดราชสมบัติและขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้ามองมองได้ตั้งเขากลับมาเป็นอัครมหาเสนาบดี ทว่า หกวันให้หลัง พระเจ้าปดุง ก็ได้โค่นล้มหม่องหม่องและขึ้นครองราชย์แทน พระเจ้าปดุงได้เรียกเขาให้กลับมารับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีอีกครั้ง แต่ภายหลังก็ตั้งข้อหาขุนพลเฒ่าเจนศึกผู้นี้ ฐานเป็นกบฏและถูกนำตัวไปประหารในเวลาต่อมา[2]

ภูมิหลัง

ชื่อแรกเกิดของเขาคือ มองตา (မောင်သာ) เขาเกิดในหุบเขามู ห่างจากเมืองอังวะไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 100 ไมล์ ในดินแดนซึ่งปัจจุบันคือชเวโบ ในช่วงที่เขาเกิดนั้นราชวงศ์ตองอูกำลังตกต่ำเนื้องจากปัญหาภายในที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน[3]

มองตาเติบโตขึ้นในช่วงที่อำนาจของพระเจ้าพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี ถดถอยลงอย่างมาก ในขณะนั้นชาวมณีปุระซึ่งซ่องสุมกำลังกันแถบลุ่มน้ำชีนดวีนกับแม่น้ำอิรวดี ก่อจลาจลไปทั่วทำให้บ้านเกิดของเขาซึ่งอยู่แถวนั้นได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนราชสำนักตองอูก็ไม่สามารถปราบมณีปุระลงได้ ทำให้เหล่ากบฏรุกคืบเข้ากวาดล้างชุมชน จับผู้คนเป็นเชลย และปล้นศาสนสถาน ครั้น พ.ศ. 2278 ชาวมอญในพม่าตอนล่างก็ประกาศไม่ขึ้นกับตองอู และรื้อฟื้นราชอาณาจักรหงสาวดีขึ้นใหม่[4] เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้อำนาจราชวงศ์ตองอูเสื่อมถอยลง กระทั่งทัพมอญหงสาวดีเข้ายึดเมืองอังวะ และล้มล้างราชวงศ์ตองอูได้เป็นผลสำเร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2295

แม่ทัพคู่บารมีพระเจ้ามังระ

อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพที่พระเจ้ามังระให้ความใส่พระทัยไม่น้อยไปกว่ามังฆ้องนรธาแม่ทัพอีกนายตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังเป็นราชบุตรมังระอยู่ โดยมักจะติดตามราชบุตรมังระเป็นกองหน้าในแทบทุกสงคราม ไม่ว่าจะเป็นศึกกับมอญ, มณีปุระ รวมไปถึงกรุงศรีอยุธยา ภายหลังการเสียชีวิตของมังฆ้องนรธรา เมื่อพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์แล้วทำให้อะแซหวุ่นกี้กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ ผู้มีบทบาทมากที่สุดในยุคของพระองค์ พระเจ้ามังระให้ความนับถืออะแซหวุ่นกี้ผู้นี้มากโดยจะแต่งตั้งให้เขาเป็นแม่ทัพใหญ่ทุกครั้ง ซึ่งอะแซหวุ่นกี้ก็ไม่เคยทำให้พระเจ้ามังระผิดหวังเลย นับตั้งแต่พระองค์มีอายุเพียง15ปี จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายก็ยังปกป้องราชบุตรของพระองค์เป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นแม่ทัพคู่บารมีของพระเจ้ามังระอย่างแท้จริง สมกับราชทินนามที่ตั้งให้แก่เขาว่า "มหาเสนาบดีผู้กล้าดุจราชสีห์"

สงครามจีน-พม่า (พ.ศ. 2308-2312)

ในการรบกับราชวงศ์ชิงของจีนครั้งนี้ อะแซหวุ่นกี้สามารถสร้างผลงานการรบได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถใช้คนน้อยเอาชนะคนมาก เมื่อเจอกองทัพใดที่แข็งแกร่งก็เลี่ยงไม่ประทะโดยตรงแต่ล่อให้บุกเข้ามาเรื่อยๆจากนั้นหาทางตัดเสบียง และสามารถเอาชนะได้ในทุกครั้ง ถึงแม้ต้าชิงจะบุกมาถึง 4 รอบรวมทหารแล้วมากกว่า140,000นาย แต่ก็ไม่เคยชนะแม่ทัพเฒ่าผู้นี้ได้เลย ในสงครามครั้งนี้ก่อกำเนิดแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่หลายนาย รวมไปถึงแม่ทัพที่รักษาเมืองกองตนอย่างบาลามินดิน, เนเมียวสีหตู รวมถึงเนเมียวสีหบดีที่กลับจากอยุธยามาช่วยกรุงอังวะได้ทันในการบุกครั้งที่4

สุดท้ายเมื่อการต่อสู้ดำเนินมาจนทั้งสองฝ่ายต่างอ่อนล้าเต็มที่ และหาประโยชน์อะไรจากการต่อสู้ที่ยืดเยื้อนี้ไม่ได้ โดยในขณะนั้นกองทัพต้าชิงได้ถูกกองทัพอังวะล้อมกระหนาบเอาไว้แล้วโดยกองทัพของเนเมียวสีหบดีที่กลับมาจากการพิชิตกรุงศรีอยุธยา อะแซหวุ่นกี้พิจรณาแล้วว่าต่อให้ทำลายกองทัพต้าชิงครั้งนี้ไปอีกจักรพรรดิเฉียนหลงก็คงส่งกองทัพมาอีก ดังนั้นอะแซหวุ่นกี้จึงขอเจรจาสงบศึกแม้จะยังไม่ได้รับพระราชานุญาตจากพระเจ้ามังระ และจักรพรรดิเฉียนหลงก็ตามสุดท้ายเกิดเป็นสนธิสัญญากองตน แม้ทั้งพระเจ้ามังระและจักรพรรดิเฉียนหลงจะไม่ทรงพอพระทัยกับการเจรจาโดยพลการของแม่ทัพทั้ง2 แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นโทษมากกว่าคุณจึงไม่ได้ทำโทษร้ายแรงแก่แม่ทัพทั้ง2 หลังจากกลับมาพระเจ้ามังระจึงลงโทษภรรยาของอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ของพระชายาองค์หนึ่งของพระองค์ด้วย ด้วยการให้ยืนตากแดดและทูลหัวด้วยเครื่องบรรณาการจากจีน นอกจากนี้แล้วอะแซหวุ่นกี้ยังมีศักดิ์เป็นพระสัสสุระ(พ่อตา) ของพระเจ้าจิงกูจา หรือพระเจ้าเซงกูด้วย[5][6]

หมายพิชิตกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2318-2319)

ศึกกรุงธนบุรีครั้งนี้อะแซหวุ่นกี้วัย 72 ปีได้เดินทางมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว แต่ไม่อาจเอาชัยได้โดยง่ายนักเนื่องจากในขณะนั้นพระเจ้าตากสิน ได้ส่งพระยาจักรี และพระยาสุรสีห์มาป้องกันเมืองพิษณุโลกอันเป็นหัวเมืองใหญ่ด่านสุดท้ายเอาไว้ ซึ่งการต่อสู้ก็เป็นไปอย่างดุเดือดแม้พระยาจักรีจะทรงใช้การแบ่งกำลังทหารแต่งเป็นกองโจรคอยดักซุ่มตัดเสบียงอาหารเป็นที่ได้ผลในช่วงแรก แต่ด้วยประสบการณ์ของแม่ทัพเฒ่าผู้นี้ก็ทำให้สามารถรับมือได้ทุกครั้ง เมื่อการรบไม่อาจหักเอาได้ด้วยกำลังอะแซหวุ่นกี้ก็ได้ใช้แผนเมื่อครั้งสยบกองทัพต้าชิงนั้นคือหลีกเลี่ยงการปะทะกับกองทัพที่แข็งแกร่ง ทำเพียงตรึงเอาไว้ และหาทางตัดเสบียงอาหาร กล่าวคือเมื่อเจอกองทัพของพระยาจักรี ก็ไม่ส่งทัพใหญ่เข้าปะทะด้วยตรงๆ แต่ให้ทหารเข้าปะทะเพื่อตรึงไว้เท่านั้น จากนั้นก็แต่งกองโจรคอยดักปล้นเสบียงอาหารและตัดกำลังเสริมที่จะเข้ามาช่วยพิษณุโลก สุดท้ายการรบระหว่างอะแซหวุ่นกี้ กับพระยาจักรีก็จบลง อะแซหวุ่นกี้สามารถเข้ายึดพิษณุโลกได้แต่ก็ไม่สามารถรุกต่อได้ในทันที ต้องเสียเวลาหาเสบียงอาหารอยู่หลายวัน เนื่องจากเจ้าพระยาจักรีได้แต่งทัพซุ่มมาตัดเสบียงแม่ทัพเฒ่าผู้นี้เอาไว้ตลอดการศึก นับเป็นการสู้รบที่อะแซหวุ่นกี้ทั้งแปลกใจและชื่นชมแม่ทัพศัตรูผู้นี้มาก เมื่อพิชิตเมืองพิษณุโลกอันเป็นหัวใจหลักในแผนป้องกันของกรุงธนบุรีได้แล้ว อะแซหวุ่นกี้จึงได้แบ่งกองทัพออกเป็น 3 สายกวาดต้อนผู้คนและเสบียงไหลบ่าลงมาพร้อมๆกัน ส่วนอะแซหวุ่นกี้เป็นทัพหลวงคอยหนุนทัพต่างๆอีกที ในขณะนี้กองทัพทุกสายพร้อมแล้วที่จะมาบรรจบที่กรุงธนบุรี อีกทางด้านหนึ่งพระเจ้ามังระ ก็ส่งเนเมียวสีหบดียกทัพเข้ายึดหัวเมืองทางเหนือได้ราบคาบ ส่วนทัพทางใต้ก็สามารถยึดเมืองกุย เมืองปราณเอาไว้ได้แล้วเช่นกัน ทั้ง 2 ทัพเตรียมมุ่งสู่กรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง ขณะนั้นสถานการณ์ของกรุงธนบุรีวิกฤตมากเนื่องจากหัวเมืองใหญ่เมืองสุดท้ายอย่างพิษณุโลกแตกแล้ว ทั้งทัพใหญ่ของเนเมียวสีหบดีอีกสายก็ตีเชียงใหม่แตกแล้ว อีกทั้งทัพทางใต้ก็ตีมาถึงเมืองเพชรบุรีแล้วเช่นกัน และกำลังจะไหลบ่าลงมารวมกับทัพของอะแซหวุ่นกี้อีก แต่แล้วเหตุการณ์เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นเมื่อมีข่าวด่วนจากรุงอังวะใจความว่า พระเจ้ามังระเสด็จสวรรคตแล้ว

ตามบันทึกในพงศาวดารฝ่ายไทย (ฝ่ายเดียว) เล่าว่า อะแซหวุ่นกี้วัย 72 ปี ชื่นชมเจ้าพระยาจักรีท่านนี้มากที่สามารถมองแผนการของเขาออก และต่อสู้ได้อย่างกล้าหาญจนเป็นที่น่าเกรงขามของกองทัพพม่า จึงได้เกิดการพักรบหนึ่งวันเพื่อดูตัว เมื่อได้พบอะแซหวุ่นกี้ก็ยิ่งแปลกใจขึ้นไปอีก เพราะแม่ทัพที่ต่อสู้กับเขาอย่างสูสียังเป็นเพียงแม่ทัพหนุ่ม จึงได้สรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่าภายหน้าจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมาเจ้าพระยาจักรีก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 และเนินดินที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี อยู่ที่หน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน (ปัจจุบันทางราชการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 บนเนินนี้)[7][8]

ประกาศแก่นายกองทั้งปวง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฝ่ายไทย อะแซหวุ่นกี้พูดเชิงตัดพ้อและยกย่องกรุงธนบุรีประมาณว่า พลาดโอกาสครั้งนี้ไป จะหาโอกาสเช่นนี้อีกในภายภาคหน้านั้นยากเสียแล้ว โดยประกาศแก่พวกนายกองทั้งปวงว่า

  • ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน และเมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้จะได้เสียเพราะฝีมือทหารแพ้เราทั้งหมดนั้นหามิได้ เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารจึงเสียเมือง ก็ใครเล่าซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้า หากเป็นแม่ทัพที่มีสติปัญญาและฝีมือแต่เพียงแค่เสมอเรา หรือต่ำกว่าเรานั้น อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชัยชนะเขาเสียมิได้ แม้นมีฝีมือดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ

ถอนทัพ

ยังไม่ทันที่จะได้รบตัดสินแพ้ชนะกัน อะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับอังวะอย่างกะทันหัน เมื่อทางกรุงอังวะแจ้งข่าวพระเจ้ามังระสวรรคต อะแซหวุ่นกี้จึงต้องนำทัพกลับไปปกป้องพระเจ้าจิงกูจาราชบุตรพระเจ้ามังระ เพื่อป้องกันเหตุความวุ่นวายที่อาจจะมีเนื่องจากอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน ซึ่งเหล่าบรรดาขุนนางและเสนาอำมาตย์ต่างแตกออกเป็นพวกๆ ให้การสนับสนุนเชื้อพระวงศ์คนละพระองค์ ส่วนอะแซหวุ่นกี้ต้องกลับไปปกป้องราชบุตรของพระเจ้ามังระที่พระองค์ฝากฝังไว้ ครั้งนั้นอะแซหวุ่นกี้มีคำสั่งให้ม้าเร็ว 3 หน่วย วิ่งไปบอกกองทัพทั้ง 3 สายที่ไหล่บ่าสู่กรุงธนุบุรีว่าให้รีบถอนกำลังทั้งหมดกลับมาทันที แต่ม้าเร็วแจ้งทันแค่ 2 กองทัพ อีกหนึ่งกองทัพไปไกลแล้ว อะแซหวุ่นกี้จึงมีคำสั่งให้ประหารม้าเร็วหน่วยนั้นเสีย จากนั้นเร่งกองทัพทั้งกลางวันกลางคืนกลับสู่กรุงอังวะ ทิ้งกองทัพอีก 1 กองที่เหลือไว้ในกรุงธุนบุรีโดยไม่รอ

ถูกถอดยศและลดตำแหน่ง

เมื่อพระเจ้าจิงกูจามีตำแหน่งที่มั่นคงแล้ว ได้ทำสิ่งที่ทำให้แม่ทัพนายกองแห่งราชวงศ์โก้นบองตกใจเป็นอย่างยิ่ง คือพระองค์ได้ทำการถอดยศอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพคู่บารมีของพระเจ้ามังระพระบิดาของพระองค์ลง และเนรเทศไปอยู่เมืองสะกายทั้งที่แม่ทัพเฒ่าผู้นี้ยกทัพกลับมาปกป้องตำแหน่ง และรักษาอำนาจในการปกครองสูงสุดให้แก่พระองค์จนมีความมั่นคง เหตุก็อาจเนื่องมาจากทรงระแวงอะแซหวุ่นกี้ที่มีอำนาจและบารมีทางการทหารมากเกินไป หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องการแสดงพระราชอำนาจให้ผู้คนทั้งแผ่นดินเห็นว่า ใครคือผู้กุมอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

บั้นปลายชีวิต

อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าหม่องหม่องให้รัฐประหารพระเจ้าจิงกูจาที่สืบราชสมบัติจากพระราชบิดา เนื่องจากทนเห็นสภาพบ้านเมืองที่เป็นอยู่ไม่ได้ ต่อมาร่วมมือกับพระเจ้าปดุงปราบดาภิเษก พระเจ้าปดุงขึ้นครองราชย์แล้วโปรดให้คืนตำแหน่งแก่อะแซหวุ่นกี้ตามเดิม แต่ไม่ได้ให้อำนาจทางการทหารไว้ ต่อมาได้ประหารอะแซหวุ่นกี้โดยให้เหตุว่า อะแซหวุ่นกี้ได้สนับสนุนน้องอีกคนของพระเจ้าปดุงยึดอำนาจแต่ไม่สำเร็จ[9][10][11]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

มีนักแสดงผู้รับบท อะแซหวุ่นกี้ ได้แก่

อ้างอิง

  1. Htin Aung, p. 181
  2. Harvey, p. 264
  3. Kyaw Thet, pp. 268–270
  4. Myint-U, pp. 88–91
  5. "ประวัติศาสตร์ไทยรบม่า ตอน ศึกอะแซหวุ่นกี้ 1/2 อ.วีระ ธีรภัทร". 2015-09-21. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
  6. "ประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า ตอน ศึกอะแซหวุ่นกี้ 2/2 อ.วีระ ธีรภัทร". 2015-09-21. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2007-08-30.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-08. สืบค้นเมื่อ 2007-08-30.
  9. "ประวัติศาสตร์ วาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา 1/3 อ.วีระ ธีรภัทร". 2015-09-17. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
  10. "ประวัติศาสตร์ วาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา 2/3 อ.วีระ ธีรภัทร". 2015-09-17. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
  11. "ประวัติศาสตร์ วาระสุดท้ายอาณาจักรอยุธยา 3/3 อ.วีระ ธีรภัทร". 2015-09-18. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.

บรรณานุกรม

  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
Kembali kehalaman sebelumnya