Share to:

 

สงครามอะแซหวุ่นกี้

สงครามอะแซหวุ่นกี้
ส่วนหนึ่งของ สงครามสยาม-พม่า

แผนที่การบุกสยามของมหาสีหสุระ พ.ศ. 2318 - พ.ศ. 2319
เขียว หมายถึง เส้นทางเดินทัพพม่า
แดง หมายถึง เส้นทางเดินทัพสยาม
วันที่ตุลาคม พ.ศ. 2318 - กันยายน พ.ศ. 2319
สถานที่
หัวเมืองเหนือ ภาคกลางสยาม และล้านนา
ผล สยามชนะแบบเสียหายมากมาย; การลดประชากรในหัวเมืองเหนือ และการทำลายล้างพิษณุโลก
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า) อาณาจักรธนบุรี (สยาม)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ราชวงศ์โก้นบอง พระเจ้ามังระ #
ราชวงศ์โก้นบอง อะแซหวุ่นกี้
ราชวงศ์โก้นบอง ตะแคงมระหน่อง
ราชวงศ์โก้นบอง แมงแยยางู
ราชวงศ์โก้นบอง กละโบ่ (ปะกันโบ)
ราชวงศ์โก้นบอง ปันญีเยข่องจอ
ราชวงศ์โก้นบอง ปันญีตจวง
ราชวงศ์โก้นบอง เจ้าเมืองตองอู
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม
เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง)
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา)
เจ้าพระยานครสวรรค์
พระยายมราช (หมัด)
พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ)
พระยารามัญวงศ์ (มะโดด)
พระยาราชาเศรษฐี (ตั้งเลี้ยง)
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
ราชวงศ์โก้นบอง กองทัพอาณาจักรพม่า กองทัพหลวงสยาม
กำลัง
รวม 35,000 นาย[1] รวม 20,000 นาย[2] (ประเมิน)

สงครามอะแซหวุ่นกี้ หรือ สงครามพม่า-สยาม พ.ศ. 2318-2319 เป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งสำคัญระหว่าง ราชวงศ์โก้นบอง ของพม่าและ อาณาจักรธนบุรี ของสยาม

หลังการล่มสลายของอยุธยา พม่าติดพันอยู่กับสงครามจีน-พม่า ทำให้สยามสามารถตั้งตัวสร้างอาณาจักรธนบุรีขึ้นภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากสิ้นสุดสงครามจีน-พม่าแล้ว พระเจ้ามังระทรงจัดทัพเข้ารุกรานสยามอาณาจักรธนบุรี แต่ถูกขัดขวางด้วยการกบฏของมอญที่เมืองเมาะตะมะในพ.ศ. 2317 และสงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317 สยามสามารถยึดเชียงใหม่ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าไว้ได้ พระเจ้ามังระทรงให้อะแซหวุ่นกี้ (Athi Wungyi) แม่ทัพจากสงครามจีน-พม่า เป็นผู้นำทัพเข้ารุกรานสยาม อะแซหวุ่นกี้ส่งทัพเข้าโจมตีสยามทางด่านเจดีย์สามองค์แต่พ่ายแพ้แก่สยามในสงครามบางแก้วพ.ศ. 2317 หลังจากนั้นอะแซหวุ่นกี้จึงนำทัพด้วยตนเอง ยกข้ามด่านแม่ละเมาเข้าโจมตีหัวเมืองเหนือของสยามช่วงปลายปีพ.ศ. 2317 การล้อมเมืองพิษณุโลกเป็นการรบหลักในสงครามครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นผู้นำในการต้านทานการล้อมพิษณุโลกของพม่า ต่อมาเสียเมืองพิษณุโลกให้แก่พม่าในพ.ศ. 2318 ปรากฏว่าพระเจ้ามังระสวรรคตอย่างกระทันหัน เป็นเหตุให้อะแซหวุ่นกี้และทัพพม่าจำต้องถอยกลับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้แม่ทัพสยามยกเข้าติดตามฝ่ายพม่าที่ถอยร่นไปอย่างไร้การควบคุม

สงครามอะแซหวุ่นกี้ เป็นสงครามระหว่างพม่าและสยาม ครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี[2]

เหตุการณ์นำ

การกอบกู้กรุงศรีอยุธยาและการปราบชุมนุม

หลังจากที่พม่าเสียเมืองให้แก่มอญหงสาวดีฟื้นฟูในพ.ศ. 2295 พม่ากลับขึ้นฟื้นตัวเรืองอำนาจขึ้นใหม่ภายใต้ราชวงศ์โก้นบอง พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีปณิธานที่จะพิชิตกรุงศรีอยุธยา จึงส่งแม่ทัพพม่าเนเมียวสีหบดีออกมาในพ.ศ. 2307 เพื่อปราบกบฏในล้านนาและเพื่อเลยล่วงยกทัพลงมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาจากทางทิศเหนือ และพระเจ้ามังระยังส่งมังมหานรธายกทัพมาทางทวายอีกทัพหนึ่งในพ.ศ. 2308 เพื่อโจมตีกระหนาบกรุงศรีอยุธยาจากสองทาง ทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดีและทัพฝ่ายตะวันตกของมังมหานรธาเข้าถึงชานกรุงศรีอยุธยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2309 ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาส่งพระยาเพชรบุรี (เรือง) และพระยาตาก ออกไปต้านทานทัพพม่าของมังมหานรธาที่วัดภูเขาทอง[3]แต่ไม่สำเร็จและพ่ายแพ้ ฝ่ายพม่าไม่ถอยทัพกลับในฤดูฝนปักหลักตั้งมั่นล้อมกรุงฯ ทำให้กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาวะอิดโรยขาดแคลนเสบียงอาหาร พระยาเพชรบุรี (เรือง) สิ้นชีวิตในการรบที่วัดสังฆาวาส[4]ในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 ประมาณสามเดือนก่อนเสียกรุงฯ พระยาตาก ขุนนางกรุงศรีอยุธยาผู้มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ชื่อจริงว่าเจิ้งสิน (鄭信) หรือ เจิ้งเจา (鄭昭) รวบรวมกองกำลังชาวไทยและชาวจีน ฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางทิศตะวันออก ไปตั้งมั่นอยู่ที่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก

หลังจากที่พม่าสามารถพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ กรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 แล้วนั้น เนเมียวสีหบดีได้นำกองกำลังพม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาในเดือนมิถุนายน[3] เนื่องจากสงครามจีน-พม่า ทำให้พระเจ้ามังระต้องผันทัพพม่าจากกรุงศรีอยุธยาไปรบกับจีนราชวงศ์ชิง เหลือเพียงกองกำลังของสุกี้พระนายกองหรือนายทองสุกชาวมอญคอยรักษาการอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น พระยาตากรวบรวมกองกำลังจากจันทบุรีเป็นทัพเรือเข้าโจมตียึดธนบุรีและกรุงศรีอยุธยาคืนได้สำเร็จ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เจ็ดเดือนหลังจากเสียกรุงฯ ยึดค่ายพม่าโพธิ์สามต้นขับไล่พม่าออกไปจากสยาม กรุงศรีอยุธยาอยู่ในสภาพปรักหักพังไม่สามารถใช้เป็นที่รับศึกพม่าได้ และพระยาตากมีกำลังไม่เพียงพอที่จะรักษาราชธานีกรุงเก่า[2] พระยาตากจึงย้ายราชธานีลงไปที่กรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2310 ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรี ปีต่อมาพ.ศ. 2311 เสด็จไปรบกับพม่าในยุทธการที่บางกุ้งได้รับชัยชนะ จากนั้นเสด็จไปปราบชุมนุมต่างๆ

ในพ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง มีพระราชโองการให้พระยาพิชัยราชา และพระยายมราช (บุญมา) เป็นทัพหน้า[5] เข้าตียึดเมืองพิษณุโลกได้สำเร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2313 ปราบชุมนุมเจ้าพระฝางลงได้สำเร็จ รวบรวมอาณาเขตขัณฑสีมาของอยุธยาไว้ได้ทั้งหมดแล้ว จึงมีพระราชโองการแต่งตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งมีความชอบในการสงครามให้อยู่ครองหัวเมืองเหนือ พร้อมจัดสรรกองกำลังไว้รับมือการรุกรานของพม่าไว้ดังนี้;[6]

  • พระยายมราช (บุญมา) เป็น เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชฯ เจ้าเมืองพิษณุโลก มีกำลังพล 15,000 คน
  • พระยาพิชัยราชา เป็น เจ้าพระยาสวรรคโลก เจ้าเมืองสวรรคโลก มีกำลังพล 7,000 คน
  • พระยาสีหราชเดโช (ทองดี) เป็น พระยาพิชัย เจ้าเมืองพิชัย มีกำลังพล 9,000 คน
  • พระยาท้ายน้ำ (พระเชียงเงิน) เป็น พระยาสุโขทัย เจ้าเมืองสุโขทัย มีกำลังพล 5,000 คน
  • พระยาสุรบดินทร์ (บุญมี) เป็น พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองกำแพงเพชร มีกำลังพล 3,000 คนเศษ
  • พระยาอนุรักษ์ภูธร เป็น เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าเมืองนครสวรรค์ มีกำลังพล 3.000 คนเศษ

สงครามจีน-พม่า

ในระหว่างที่พม่ากำลังโจมตีกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น เกิดความขัดแย้งระหว่างพม่ากับจีนราชวงศ์ชิง ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจอิทธิพลเหนือหัวเมืองไทที่พรมแดนระหว่างพม่าและจีน ได้แก่ เมืองแสนหวี เมืองเชียงตุง และสิบสองปันนา ทัพฝ่ายพม่าเข้าโจมตีสิบสองปันนาซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของจีน ทำให้หลิวจ้าว (劉藻) ข้าหลวงมณฑลยูนนานและกุ้ยโจว ยกทัพจีนเข้าโจมตีเมืองเชียงตุงในพ.ศ. 2308 แต่พ่ายแพ้ หลิวจ้าวฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้ความผิด พระจักรพรรดิเฉียนหลงทรงแต่งตั้งหยางอิงจวี (楊應琚) เข้ามาเป็นข้าหลวงคนใหม่ หยางอิงจวีส่งทัพจีนเข้าโจมตีพม่าในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2309 ซึ่งในขณะนั้นพม่ากำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ แต่ป้องกองโตน (Kaungton) ของพม่า ใกล้กับเมืองบ้านหม้อ สามารถต้านทานทัพจีนไว้ได้ ทัพจีนอีกทัพหนึ่งเข้าโจมตีเมืองแสนหวีแต่ถูกอะแซหวุ่นกี้เข้าตีทางด้านหลังจากสิบสองปันนา สุดท้ายโรคมาลาเรียทำให้ทัพจีนต้องถอยกลับไป หยางอิงจวีถวายรายงานเท็จแก่พระเจ้าเฉียนหลงว่าฝ่ายจีนได้รับชัยชนะ สุดท้ายพระเจ้าเฉียนหลงทรงทราบความจริงจึงลงอาญาให้หยางอิงจวีฆ่าตัวตายเพื่อชดใช้ความผิด

แผนที่แสดงจีนรุกรานพม่าครั้งที่สาม ในพ.ศ. 2310-2311 ฝ่ายจีนนำโดยหมิงรุ่ยยกเข้าสองทางคือทางเมืองแสนหวี (Hsenwi) และทางเมืองบ้านหม้อ (Bhamo) ทัพทางบ้านหม้อถูกสกัดที่ค่ายกองโตน (Kaungton) ในขณะที่ทัพของหมิงรุ่ยพ่ายแพ้ที่เมเมียว (Maymyo)

การที่จีนเข้ารุกรานพม่าเป็นเหตุให้พระเจ้ามังระต้องเรียกทัพพม่าจากกรุงศรีอยุธยากลับขึ้นมาช่วยศึกกับจีน จักรพรรดิเฉียนหลงมีปณิธานที่จะเข้าพิชิตพม่าให้จงได้เพื่อรักษาเกียรติของจักรวรรดิจีน[7] พระเจ้าเฉียนหลงทรงเห็นว่ากองรบธงเขียวของชาวจีนฮั่นไม่มีประสิทธิภาพ[7] สมควรให้ชาวแมนจูเข้าร่วมทัพในสงครามกับพม่าด้วย พระเจ้าเฉียนหลงทรงส่งหมิงรุ่ย (明瑞) แม่ทัพแมนจู เป็นข้าหลวงยูนนานและกุ้ยโจวคนใหม่นำกองกำลังผสมแมนจูจีนฮั่นเข้ารุกรานพม่า หมิงรุ่ยมีกำลัง 25,000 คน นำกำลังเข้ารุกรานพม่าในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ยึดเมืองแสนหวีและสามารถเอาชนะทัพพม่าได้ในการรบที่ช่องเขาโกไตก์ (Battle of Goteik Gorge ขณะเดียวกันอยู่ในช่วงที่พระยาตากยึดค่ายพม่าโพธิ์สามต้นได้ในเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน) เป็นชัยชนะครั้งแรกของฝ่ายจีน หมิงรุ่ยยกทัพเกือบจะถึงเมืองอังวะราชธานีของพม่า แต่ทัพจีนอีกทัพหนึ่งที่วางแผนจะตีกระหนาบกรุงอังวะไม่สามารถผ่านด่านป้อมกองโตนมาได้ ทำให้แผนการตีกระหนาบกรุงอังวะล้มเหลว ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้นำทัพ 20,000 คน ไปโจมตียึดเมืองแสนหวีคืนจากฝ่ายจีน เพื่อตีวกหลังตัดเสบียงทำให้ทัพจีนติดอยู่ในพม่าในภาวะขาดอาหาร หมิงรุ่นตัดสินใจถอยทัพแต่ถูกฝ่ายพม่าโจมตีพ่ายแพ้ในการรบที่เมเมียว (Battle of Maymyo) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2311 การรบที่เมืองหยูน้อย แม่ทัพจีนและแมนจูหลายคนถูกพม่าสังหาร หมิงรุ่ยตัดผมเปียให้คนนำไปถวายพระเจ้าเฉียนหลง แล้วผูกคอเสียชีวิตบนต้นไม้ที่เมืองหยูน้อยนั้นเอง

พระเจ้าเฉียนหลงยังทรงไม่ยอมแพ้ เมื่อหมิงรุ่ยเสียชีวิตแล้ว พระเจ้าเฉียนหลงทรงแต่งตั้งฟู่เหิง (傅恆) ซึ่งเป็นลุงของหมิงรุ่ย นำทัพเข้าโจมตีพม่าเป็นครั้งที่สี่[7] ฟู่เหิงเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยการใช้เส้นทางเข้าโจมตีกรุงอังวะทางแม่น้ำอิระวดีโดยตรงโดยใช้ทัพเรือ ฟู่เหิงไม่รอให้สิ้นฤดูฝนก่อน ส่งทัพเข้าโจมตีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2312 ยึดได้เมืองก้องและเมืองยาง เปิดทางสู่แม่น้ำอิระวดี ฟู่เหิงให้สร้างกองเรือและสร้างป้อมขึ้นที่ชเวนยองเบง (Shwenyaungbin) ฝ่ายพระเจ้ามังระส่งทัพเรือ 12,000 คน นำโดยเนเมียวสิธู (Nemyo Sithu) ล่องขึ้นแม่น้ำอิระวดีเข้าโจมตีทำลายทัพเรือจีนที่เมืองก้องไปจนหมดสิ้น และอะแซหวุ่นกี้ยกทัพ 52,000 คน เข้ายึดป้อมชเวนยองเบงของฝ่ายจีนได้สำเร็จ พระเจ้ามังระทรงให้มีกองเพื่อตีวกหลังตัดเสบียงฝ่ายจีนโดยเฉพาะ สุดท้ายโรคมาลาเรียระบาด แม่ทัพฝ่ายจีนเจ็บป่วยสิ้นชีวิตหลายคน ฟู่เหิงล้มป่วยหนักไม่สามารถนำทัพได้ มอบหมายให้อากุ้ย (阿桂) ขึ้นบัญชาการแทน[7] อากุ้ยไม่เห็นด้วยกับสงครามของจีนในพม่า จึงส่งสาสน์ให้แก่อะแซหวุ่นกี้เป็นการเปิดช่องทางเจรจาสงบศึก นำไปสู่สนธิสัญญากองโตน วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2312 (ในปีนั้นขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพปราบชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช) ฝ่ายจีนจะยอมรับอำนาจของพม่าเหนือหัวเมืองไทที่ชายแดน แลกเปลี่ยนกับการที่พม่ายินยอมส่งบรรณาการจิ้มก้องให้แก่จีนทุกสิบปี ฟู่เหิงล้มป่วยถึงแก่กรรมต่อมาอีกไม่นาน

สนธิสัญญากองโตนทำให้สงครามจีน-พม่าสิ้นสุดลง แต่ทว่าพระเจ้ามังระทรงพระพิโรธไม่ยอมรับสัญญาที่อะแซหวุ่นกี้ไปทำกับจีนโดยพละการ อะแซหวุ่นกี้นำทัพพม่าเข้าโจมตีเมืองมณีปุระในช่วงต้นปีพ.ศ. 2313 เพื่อเป็นการไถ่โทษและขออภัยโทษจากพระเจ้ามังระ สุดท้ายเมื่อพม่าไม่ส่งบรรณาการ พระจักรพรรดิเฉียนหลงจึงพิโรธมีราชโองการให้ปิดช่องชายแดนกับพม่าที่ยูนนานโดยสิ้นเชิง ห้ามมิให้มีการค้าขาย[7] ทำให้บรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่และพ่อค้าจีนท้องถิ่นสูญเสียประโยชน์ทางการค้า พม่าและจีนยังคงอยู่ในภาวะสงครามต่อกันเป็นเวลาอีกประมาณยี่สิบปี จนกระทั่งเมื่อไทใหญ่ซึ่งต้องการให้มีการค้าขายที่ชายแดนดังเดิม ส่งสาสน์ปลอมอ้างว่ามาจากจีน[7]ให้แก่ราชสำนักพม่า พระเจ้าปดุงเข้าพระทัยว่าจีนมาขอเจริญไมตรี พระเจ้าปดุงจึงส่งคณะทูตไปกรุงปักกิ่งในพ.ศ. 2331 พระเจ้าเฉียนหลงเข้าพระทัยว่าพม่ายอมสวามิภักดิ์แล้ว จึงมีพระราชโองการให้ยอมรับให้หัวเมืองไท ได้แก่ เมืองแสนหวี เมืองเชียงตุง เมืองบ้านหม้อ เมืองก้อง และเมืองยาง อยู่ภายใต้อำนาจของพม่า และให้เปิดการค้าขายที่ชายแดนดังเดิม

กบฏมอญต่อพม่า พ.ศ. 2317

พระยาเจ่ง หรือพญาเจ่ง (มอญ: ဗညာစိင်) ผู้นำชาวมอญลุกฮือกบฏต่อพม่าในปี พ.ศ. 2317 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และได้อพยพผู้คนลี้ภัยเข้ามายังกรุงสยาม

เมื่อพ.ศ. 2315 หลังจากเสร็จสิ้นสงครามจีน-พม่าแล้ว พระเจ้ามังระแห่งราชวงศ์โก้นบองมีพระราชดำริว่า ฝ่ายสยามหลังจากการเสียกรุงศรีอุยธยาครั้งที่สองแล้ว กลับสามารถตั้งตนขึ้นใหม่ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ สมควรจัดทัพเข้าโจมตีสยามเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนามในอนาคต[5][6][1] จึงมีพระราชโองการให้เนเมียวสีหบดีหรือโปสุพลายกทัพไปเชียงใหม่ล้านนา และทรงแต่งตั้งปะกันหวุ่นหรือแมงยีกามะนีจันทา[1] (Mingyi Kamani Sanda) เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะคนใหม่ จัดเกณฑ์ทัพเข้ารุกรานสยาม ในพ.ศ. 2317 แมงยีกามะนีจันทาเจ้าเมืองเมาะตะมะ สั่งให้หัวหน้าชาวมอญได้แก่พระยาเจ่ง (Binnya Sein) ตละเสี้ยง ตละเกล็บ ยกทัพหน้าชาวมอญเข้ารุกรานสยาม ปรากฏว่าเจ้าเมืองเมาะตะมะได้ขูดรีดทรัพย์สินจากชาวมอญเมืองเมาะตะมะ[6][1] ได้รับความเดือดร้อน ความรู้ไปถึงพระยาเจ่งและบรรดาหัวหน้าชาวมอญ มีความขุ่นเคืองต่อพม่า จึงกบฏขึ้นต่อมายกทัพกลับมายึดเมืองเมาะตะมะและยกทัพต่อไปยึดเมืองย่างกุ้งได้ ฝ่ายพม่ายึดเมืองย่างกุ้งกลับคืนได้ ทำให้พระยาเจ่ง ตละเกล็บ และผู้นำชาวมอญทั้งหลายรวมทั้งชาวมอญจำนวนมาก ต่างอพยพลี้ภัยเข้าในสยามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านแม่ละเมา

ในพ.ศ. 2317 พระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้อะแซหวุ่นกี้ (Athi Wungyi) หรือหวุ่นยีมหาสีหสุระ (Wungyi Maha Thiha Thura) แม่ทัพผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามจีน-พม่า ยกทัพพม่าจำนวน 35,000 คน[5] จากอังวะมาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ เพื่อตามจับชาวมอญที่หลบหนีและยกทัพเข้ารุกรานสยามกรุงธนบุรี

สงครามบางแก้ว

ยุทธการสงครามบางแก้ว สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

อะแซหวุ่นกี้ตั้งทัพที่เมืองเมาะตะมะแล้ว มีคำสั่งให้แมงเยรานนอง[1] (Minye Yannaung) หรือพงศาวดารไทยเรียกว่า ตะแคงมระหน่อง พร้อมทั้งฉับกุงโบ หรือฉัพพะกุงโบ[8] (Satpagyon Bo) ในพงศาวดารไทยเรียกว่า งุยอคงหวุ่น ยกทัพพม่าจำนวน 8,000 คน ผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ารุกรานกาญจนบุรีในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2318 ฝ่ายพม่ายกทัพเข้ายึดเมืองกาญจนบุรีได้ ฉับกุงโบยกทัพมาตั้งค่ายที่บางแก้ว นำไปสู่สงครามบางแก้ว ฝ่ายสยามกองกำลังส่วนใหญ่อยู่ระหว่างสงครามตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เรียกทัพจากทางเหนือมาตั้งรับพม่าทางด่านตะวันตกอย่างเร่งด่วน มีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย และพระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ เสด็จยกทัพไปตั้งรับพม่าที่บางแก้ว ฉับกุงโบเป็นแม่ทัพพม่าซึ่งเคยติดตามเนเมียวสีหบดีเข้าร่วมสงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา มีความประมาทต่อกองทัพสยามถือตนว่าเคยมีประสบการณ์ในการรบกับไทย[6][1] ปล่อยให้ฝ่ายสยามเข้าล้อมไว้ถึงสามชั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกพยุหยาตราทางนาวาจากธนบุรีไปบางแก้วราชบุรี มีพระราชโองการให้ล้อมพม่าบางแก้วไว้ให้มิดชิดจนกว่าจะขาดเสบียงและหิวโหย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้พระยายมราช (หมัด) ไปตั้งที่ดงรังหนองขาว ทางตะวันออกของกาญจนบุรี รับศึกกับตะแคงมระหน่องที่กาญจนบุรี และให้พระยารามัญวงศ์ (มะโดด) ไปตั้งที่เขาชะงุ้ม ตะแคงมระหน่องส่งทัพพม่ามาตีเขาชะงุ้มเข้ายึดได้สำเร็จ พระยารามัญวงศ์เสียค่ายเขาชะงุ้มให้แก่พม่า ต่อมาเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เจ้าพระยานครสวรรค์ และพระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) ยกทัพหัวเมืองเหนือและตะวันออกเข้ามาสมทบ[6] ทำให้ฝ่ายสยามมีกองกำลังเพิ่มพูนมากขึ้น รวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน[1] ฝ่ายฉับกุงโบแม่ทัพพม่าที่บางแก้ว ถูกฝ่ายไทยล้อมไว้นาน 47 วัน ขาดแคลนเสบียงมีความอดอยากและขาดน้ำ สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ขุนนางชาวมอญเข้าไปเกลี้ยกล่อม จนกระทั่งฉับกุงโบงุยอคงหวุ่น และอุตตมสิงหจอจัว แม่ทัพพม่าทั้งสอง ยอมจำนนพ่ายแพ้และเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในที่สุด เจ้าพระยาจักรียกทัพเข้ายึดเขาชะงุ้มคืนจากพม่าได้สำเร็จ[6] ตะแคงมาระหน่องแม่ทัพพม่าที่กาญจนบุรีจึงถอยกลับไปเมาะตะมะ ฉับกุงโบและอุตตมสิงหจอจัวรวมทั้งเชลยศึกชาวพม่าจำนวนทั้งสิ้นพันกว่าคนถูกนำตัวมาไว้ที่ธนบุรี

แม่ทัพพม่าให้การว่า อะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเมาะตะมะเตรียมการยกทัพใหญ่เข้าโจมตีสยาม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีท้องตราให้เกณฑ์ทัพจากหัวเมือง'ปากใต้'ได้แก่ จันทบุรี ไชยา นครศรีธรรมราช และพัทลุง มาร่วมรบกับพม่า เจ้าพระยาจักรีทูลว่า ทัพหัวเมืองฝ่ายใต้อาจเกณฑ์มาไม่ทันรบกับพม่า ทัพในพระนครธนบุรีและหัวเมืองเหนือ ยังเพียงพอในการต้านทัพพม่า[6] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นชอบด้วย จึงมีพระราชโองการให้หัวเมืองปากใต้เหล่านั้นส่งข้าวมาเป็นเสบียงแทน นครศรีธรรมราชส่งข้าว 600 เกวียน จันทบุรี ไชยา และพัทลุง ส่งข้าวเมืองละ 400 เกวียน[6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปูนบำเหน็จผู้มีความชอบในสงครามบางแก้ว ทรงแต่งตั้งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุ้ย เป็นกรมขุนอินทรพิทักษ์ พระเจ้าหลานเธอ เจ้ารามลักษณ์ เป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม และพระเจ้าหลานเธอ เจ้าบุญจันทร์ เป็นกรมขุนรามภูเบศร์[6]

การจัดเตรียมทัพของพม่า

ฝ่ายพม่าพระเจ้ามังระทรงเตรียมทัพเข้ารุกรานสยามทั้งจากทางเหนือล้านนาและจากทางตะวันตกหัวเมืองมอญ แต่ต้องประสบกับปัญหาเหตุขัดขวางทั้งสองด้าน[2] เนื่องจากฝ่ายไทยได้ยกไปตีเมืองเชียงใหม่ก่อน และมอญได้เป็นกบฏขึ้น พระเจ้ามังระเสด็จจากเมืองอังวะมายกฉัตรพระมหาเจดีย์เกตุธาตุ (เจดีย์ชเวดากอง) ที่เมืองย่างกุ้งตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2318[1] อะแซหวุ่นกี้ตระหนักว่าหากใช้ยุทธวิถีโจมตีสยามจากสองด้านมาบรรจบกันดังเช่นครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองจะไม่ได้ผล ควรหันไปใช้ยุทธวิถีแบบครั้งสมัยพระเจ้าบุเรงนอง[2] คือยกทัพใหญ่เข้าโจมตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังฝ่ายไทยลงเสียก่อน แล้วยึดเอาหัวเมืองเหนือที่ฐานที่มั่นยกทัพทางแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาตีกรุงธนบุรี อะแซหวุ่นกี้มีหนังสือขึ้นไปกราบทูลพระเจ้ามังระว่า ทัพฝ่ายพม่าพ่ายแพ้ที่บางแก้ว สูญเสียรี้พลไปจำนวนมากฝ่ายจับเป็นเชลยไปได้พันเศษคน ฝ่ายไทยยังมีกำลังเนื่องด้วยหัวเมืองฝ่ายเหนือยัง "บริบูรณ์"[6] มั่งคั่งไปด้วยผู้คนและทรัพยากร จึงขอพระราชทานยกทัพไปตีหัวเมืองเหนือให้ได้เสียก่อน ฝ่ายสยามจึงจะอ่อนกำลังลง พระเจ้ามังระทรงเห็นชอบด้วย มีพระราชโองการให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพเข้าโจมตีหัวเมืองเหนือให้ราบคาบยับเยินให้จงได้ พระเจ้ามังระประทับเมืองย่างกุ้งอยู๋สามเดือน หลังจากสมโภชเฉลิมฉลองพระมหาเจดีย์เกตุธาตุแล้ว จึงเสด็จกลับเมืองอังวะ

อะแซหวุ่นกี้มีคำสั่ง[2]ให้โปสุพลาเนเมียวสีหบดี และโปมะยุง่วน ซึ่งพ่ายแพ้ถอยไปอยู่ที่เมืองเชียงแสนนั้น ยกทัพจากเชียงแสนลงมาโจมตีเมืองเชียงใหม่ในฤดูฝนปีพ.ศ. 2318 รวมทั้งเตรียมเสบียงจากเชียงแสนมาให้อะแซหวุ่นกี้ที่หัวเมืองเหนือด้วย โปสุพลาและโปมะยุง่วนจึงยกทัพจากเชียงแสนลงมาตีเมืองเชียงใหม่ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2318 ฝ่ายไทยหลังจากเสร็จสิ้นสงครามบางแก้วแล้ว มีเวลาว่างอยู่ห้าเดือน[2] ในเดือนกันยายน พระยาวชิรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่ มีหนังสือลงมายังธนบุรีบอกว่า ได้ข่าวว่าโปสุพลาเนเมียวสีหบดีและโปมะยุง่วนกำลังเตรียมการยกทัพจากเชียงแสนมาตีเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองเหนือไปเตรียมป้องกันเมืองเชียงใหม่ และยกไปตีเมืองเชียงแสนให้สำเร็จ

อะแซหวุ่นกี้จัดทัพ ให้แมงแยยางูผู้เป็นน้องชายของตน กับกละโบ่ หรือ ปะกันโบ (Pakan Bo) ปันญีแยข่องจอ[1] (Pyanchi Yegaung Kyaw) ปันญีตจวง และจอกะสู (Kyaw Kathu) เจ้าเมืองตองอู เป็นทัพหน้า ยกกำลังพม่า 20,000 คน ตัวอะแซหวุ่นกี้เป็นโบชุกหรือแม่ทัพ กับตะแคงมระหน่อง และเจ้าเมืองตองอู ยกทัพหลวงจำนวน 15,000 คน ออกจากเมืองเมาะตะมะในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2318 ผ่านด่านแม่ละเมาเข้าเมืองตาก

สงครามหัวเมืองเหนือ

อะแซหวุ่นกี้เข้าล้อมเมืองพิษณุโลก

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2318 ทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา กรมการเมืองตากและพระยาสุรบดินทร์เจ้าเมืองกำแพงเพชร เห็นว่าทัพฝ่ายพม่ามีจำนวนมหาศาลไม่อาจต่อกรได้ จึงละทิ้งเมืองอพยพพาผู้คนหลบหนีเข้าป่า[6] และมีหนังสือบอกความถึงเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ที่เชียงใหม่ และถวายหนังสือใบบอกลงมายังกรุงธนบุรี

โปสุพลาและโปมะยุง่วนยกทัพจากเชียงแสนมาเข้าประชิดเตรียมจะเข้าตีเมืองเชียงใหม่ แต่รวบรวมกำลังพลไม่ไม่มากเท่าใดนัก[2] เมื่อเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว ฝ่ายพม่าจึงถอยออกจากเชียงใหม่กลับไปเชียงแสน เจ้าพระยาทั้งสองยกทัพติดตามพม่าไปที่เชียงแสน ในขณะนั้นหนังสือไปถึงเจ้าพระยาทั้งสอง แจ้งความว่าพม่ายกมาทางด่านแม่ละเมาจำนวนมาก เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงรีบรุดยกทัพกลับมาสุโขทัย ตั้งทัพอยู่ที่วัดปากน้ำที่กลางทางใต้เมืองสุโขทัย อะแซหวุ่นกี้ยกทัพจากเมืองตากมาทางบ้านด่านลานหอย[2] ตรงมาถึงเมืองสุโขทัยและเมืองสวรรคโลก จับกรมการมาถามว่า "พระยาเสือเจ้าเมืองพระพิศณุโลกอยู่หรือไม่"[6] กรมการตอบว่าไม่อยู่ไปเมืองเชียงใหม่ อะแซหวุ่นกี้จึงว่า "เจ้าของเขาไม่อยู่ อย่าเพ่อไปเหยียบเมืองพระพิศณุโลกก่อนเลย"[6] อะแซหวุ่นกี้ให้กองหน้าของทัพพม่ามาตั้งอยู่ที่กงธานีริมแม่น้ำยมใหม่[2] ส่วนอะแซหวุ่นกี้ตั้งรอที่สุโขทัย เพื่อรวบรวมเสบียงอาหารสำหรับทัพพม่า เนื่องด้วยสุโขทัยเป็นทำเลที่นามีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์มากกว่าที่อื่น[2]

เจ้าพระยาสุรสีห์ปรึกษากับเจ้าพระยาจักรีว่า จะยกทัพไปตีพม่าที่กงธานี เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าเนื่องจากฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่าพม่า[2]จึงควรกลับไปจัดแจงบ้านเมืองเตรียมการรับมือข้าศึกพม่าที่พิษณุโลก[6] เมืองพิษณุโลกตั้งอยู่ที่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ ทัพหลวงจากธนบุรีจะสามารถยกมาช่วยได้โดยสะดวก[2] เจ้าพระยาจักรีให้กวาดผู้คนเข้าเมืองพิษณุโลก เตรียมการป้องกันเมือง และมีคำสั่งให้พระยาสุโขทัย พระยาอักษรวงศ์ผู้รั้งเมืองสวรรคโลก และพระยาพิไชยสงคราม ยกทัพไปรับพม่าที่กงธานี ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นยกทัพไปตั้งค่ายที่บ้านไกรป่าแฝก (ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ) พม่ายกทัพมาล้อมเจ้าพระยาสุรสีห์ที่บ้านป่าแฝกอย่างรวดเร็ว เปิดแต่เพียงช่องทางลงแม่น้ำยม เจ้าพระยาสุรสีห์ตั้งค่ายอยู่ได้สามวัน เห็นว่าทัพพม่ามีกำลังมากเกินกว่าจะรบได้ จึงถอยทัพออกมาทางช่องที่เปิดไว้ไปตั้งรับเมืองพิษณุโลก[6] ทัพกองหน้าพม่าสามารถเอาชนะทัพไทยของพระยาสุโขทัยและพระยาอักษรวงศ์ได้ ในการรบที่กงธานี พม่ายกเข้าตีได้เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย แล้วจัดทัพแยกไปตีเมืองพิชัย

อะแซหวุ่นกี้ให้ปันญีตจวงนำกำลังพม่า 5,000 คน รักษาการไว้ที่กงธานีเป็นทัพหลัง แล้วทัพหลวงของอะแซหวุ่นกี้จำนวน 30,000 คน[2] ยกมาประชิดเข้าล้อมเมืองพิษณุโลกในเดือนอ้าย (ธันวาคม) พ.ศ. 2318 ตั้งค่ายอยู่ล้อมห่างเมืองพิษณุโลกทั้งสองฟาก นำไปสู่การล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้งสองนำเกณฑ์พลขึ้นประจำรักษาหน้าเชิงเทิน ให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำกลางเมืองสามแห่ง กองกำลังฝ่ายไทยในเมืองพิษณุโลกมีจำนวนไม่เกิน 10,000 คน[2] ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้มีปืนนกสับ (Flintlock musket) แห่หน้า 3,000 คน ทหารถือทวนตามหลังอีก 1,000 คน อะแซหวุ่นกี้ขี่ม้ากั้นร่มมีระย้า ออกเลียบหน้าค่ายตรวจชัยภูมิ เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพออกโจมตีทัพพม่าถึงตะลุมบอน แต่ไม่สำเร็จถอยกลับเข้าเมือง วันรุ่งขึ้นเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพออกไปตีพม่าอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ วันที่สามเจ้าพระยาจักรีจึงนำทัพออกไปโจมตีพม่าด้วยตนเอง ฝ่ายไทยยกทัพออกไปตีพม่า เก้าวันสิบวันยังไม่สำเร็จ[6]

ทัพหลวงตั้งที่ปากพิง

เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์บอกความลงมากราบทูลฯ ณ กรุงธนบุรีว่า ทัพพม่ายกมาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินตรัสถามแม่ทัพพม่าในคุก ฉับกุงโบงุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัว ว่าบัดนี้พม่ายกมาทำสงคราม จะให้ไปสู้กับพม่าพวกเดียวกันเองได้หรือไม่ งุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัว และบรรดานายทัพพม่าเชลยจากสงครามบางแก้ว ให้การตอบว่า หากให้ไปรบกับชาติอื่นจะขอทำสงครามจนสิ้นชีวีต แต่หากให้ไปรบกับพม่าด้วยกันเองแล้ว ทำไม่ได้ มีความละอายแก่ใจเข้าหน้าพวกเดียวกันไม่ติด สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชดำริ ว่าแม่ทัพพม่าเชลยเหล่านี้ ไม่มีความภักดีที่แท้จริง หากยกกำลังเมืองพระนครธนบุรีไปรบกับพม่าทางเหนือ เหลือกำลังรักษาเมืองอยู่น้อย บรรดานายทัพพม่าเชลยอาจก่อกบฏขึ้นได้ จึงมีพระราชโองการให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตงุยอคงหวุ่นและอุตตมสิงหจอจัว บรรดาแม่ทัพพม่าเชลย รวมทั้งพรรคพวกของเจ้าพระฝางที่ยังเหลืออยู่ในคุก เอาไปประหารเสียที่วัดทองคลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น[6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการ ให้พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ยกทัพออกไปรักษาอยู่เมืองเพชรบุรี ป้องกันรับทัพพม่าที่อาจมาทางด่านสิงขร (ในครั้งนั้นเมืองเพชรบุรีมีกำลังพลไม่เพียงพอต่อการป้องกันเมือง กรมขุนอนุรักษ์สงครามให้รื้อกำแพงเมืองเพชรบุรีเดิมลง และให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ที่หัวมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ รักษาเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของเมือง)[2] และทรงให้เกณฑ์ทัพทางบกทางเรือ พร้อมด้วยช้างม้าสรรพาวุธ กำลังพลชาวไทยและชาวจีน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,270 คน[6] ในเดือนยี่ (มกราคม) แรมสิบเอ็ดค่ำ เสด็จเรือพระที่นั่งกราบยาว ยกพยุหยาตรานาวาทัพหลวง พร้อมด้วยข้าทูลละอองฯทั้งปวง เสด็จจากกรุงธนบุรีไปทางชลมารค หยุดประทับที่พลับพลาหน้าฉนวนน้ำพระราชวังหลวงกรุงเก่า หมื่นศักดิ์บริบาลไปสืบราชการกลับมากราบทูลว่า ทัพพระยาสุโขทัยและพระยาอักษรวงศ์ที่กงธานีพ่ายถอยลงมาแล้ว จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งให้เร่งรีบยกทัพขึ้นไป

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้พระยาราชาเศรษฐีจีน (ตั้งเลี้ยง หรือ เฉินเหลียน) คุมกองทัพชาวจีนจำนวน 3,000 คน ตั้งประจำการอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ เพื่อป้องกันเส้นทางลำเลียงเสบียงและคอยระวังทัพพม่าที่อาจมาทางแม่น้ำปิง[2] ในเดือนสาม (กุมภาพันธ์) สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพหลวงถึงปากพิงฝั่งตะวันออก ปากพิงอยู่ทางทิศใต้ของเมืองพิษณุโลกเป็นระยะทางหนึ่งวัน ซึ่งเป็นจุดปากคลองลัดที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม[2] สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการ ให้ตั้งค่ายแนวเรียงยาวจากปากพิง เลียบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ไปจนถึงพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ ดังนี้[6]

  • ทัพหลวง ประทับอยู่ที่ ปากพิงฝั่งตะวันออก
  • พระยาราชสุภาวดี ตั้งค่ายที่บ้านบางทราย
  • เจ้าพระยาอินทรอภัย ตั้งค่ายที่บ้านท่าโรง
  • พระยาราชภักดี ตั้งค่ายที่บ้านกระดาษ
  • จมื่นเสมอใจราช ตั้งค่ายที่วัดจุฬามณี
  • เจ้าพระยานครสวรรค์ ตั้งค่ายที่วัดจันทร์ โอบค่ายพม่าขึ้นไปจนถึงเมืองพิษณุโลก

ทุกค่ายชักปีกกาถึงกัน ลาดตระเวนถึงกันหมด มีกองเกณฑ์หัดปืนใหญ่ เป็นกองกลางสำหรับยกไปช่วยค่ายต่างๆ[2] ให้พระศรีไกรลาศ คุมไพร่ทำทางหลวง จากปากพิงไปจนถึงเมืองพิษณุโลก ในขณะที่ฝ่ายพม่าตั้งค่ายอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน กองกำลังโดยรวมของฝ่ายพม่ามีมากกว่าฝ่ายไทย ทัพฝ่ายพม่าของอะแซหวุ่นกี้มีทั้งสิ้น 30,000 คน ในขณะที่ฝ่ายไทยมีกำลังประมาณ 20,000 คน[2] แต่ฝ่ายไทยมีปืนใหญ่มากกว่า

ในคืนวันนั้น พม่าจากฝั่งตะวันตกยกข้ามแม่น้ำน่านเข้าโจมตีค่ายของพระราชภักดีที่บ้านกระดาษ แล้วยกเลยไปตีค่ายเจ้าพระยาอินทรอภัยที่บ้านท่าโรง ไปจนถึงค่ายของพระยาราชสุภาวดีที่บ้านบางทราย แล้วเลิกถอยกลับไป จึงมีพระราชโองการให้พระยาวิจิตรนาวี หลวงดำเกิงรณภพ คุมปืนใหญ่รางเกวียน 34 กระบอก ลากขึ้นไปค่ายบางทรายไว้เตรียมรับทัพพม่า ฝ่ายพม่ายกมาประชิดค่ายของจมื่นเสมอใจราชที่วัดจุฬามณีอีก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้พระยาธรรมไตรโลก พระยารัตนาพิมล และพระชลบุรี คอยคุมรักษาค่ายหลวงอยู่ที่ปากพิง แล้วเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่บางทรายฝั่งตะวันออก พม่ายกเข้าตีค่ายบ้านท่าโรงของเจ้าพระยาอินทรอภัยอีกครั้ง ทรงให้หลวงดำเกิงรณภพยกกองเกณฑ์หัด 200 คน ลงเรือไปช่วงเจ้าพระยาอินทรอภัย ต้านพม่าถอยกลับไป วันรุ่งขึ้นเสด็จเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรค่ายพระโหราธิบดีที่ฝั่งตะวันตก เห็นพระโหราธิบดีตั้งค่ายริมแม่น้ำเอาต้นไม้ใหญ่ไว้นอกค่าย ข้าศึกอาจปีนต้นไม้ยิงปืนเข้ามาในค่ายได้ มีพระราชโองการให้พระโหราธิบดีตั้งค่ายใหม่โอบล้อมต้นไม้ไว้[6]

พระยารามัญวงศ์ (มะโดด) นำกองมอญเข้าโจมตีพม่าทางด้านตะวันออกของพิษณุโลก สามารถตั้งค่ายได้ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก มาตั้งค่ายประชิดพม่าที่นอกเมืองฝั่งตะวันออกเช่นกันประสานกันกับพระยารามัญวงศ์[2] ฝ่ายพม่ายกเข้ายึดค่ายได้ เจ้าพระยาสุรสีห์ชิงค่ายคืนได้อีก ทั้งฝ่ายพม่าและไทยขุดอุโมงค์เข้ารบกันในอุโมงค์ล้มตายจำนวนมาก สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานปืนใหญ่รางเกวียน 20 กระบอก ให้ลากขึ้นไปประชิดพม่าที่พิษณุโลก เจ้าพระยานครสวรรค์ ตั้งค่ายที่วัดจันทร์โอบชิดพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลก พยายามที่จะเจาะทลายแนวทัพพม่าออกจากพิษณุโลกให้ได้ เจ้าพระยานครสวรรค์จับเชลยพม่าสองคนให้การว่า ทัพพม่าขัดสนกำลังเสบียงอาจต้องถอยกลับ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จค่ายวัดจันทร์ มีพระราชโองการให้กองพระยายมราช (หมัด) พระยานครราชสีมา (ขุนชนะ) และพระยาพิไชยสงคราม เข้าช่วยเจ้าพระยานครสวรรค์ เดือนสามแรมสองค่ำเวลากลางคืน บอกสัญญาณให้ฝ่ายไทยที่วัดจันทร์ และฝ่ายไทยทางด้านตะวันออก ระดมเข้าตีค่ายพม่าพร้อมกัน[2] ยิงปืนใหญ่เข้าโจมตีทลายค่ายพม่า เพื่อที่จะเจาะเข้าหาช่วยเมืองพิษณุโลกให้ได้ แต่สู้รบกันจนรุ่งเช้าไม่สำเร็จ ไม่สามารถหักเอาค่ายพม่าได้จึงถอยออกมา[6]

สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงตีค่ายพม่าไม่ได้ตามพระราชประสงค์[2] จึงเสด็จจากค่ายวัดจันทร์มาประทับที่บางทราย มีพระราชดำริแบ่งทัพยกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ล้อมโอบหลังพม่าอีกทางหนึ่ง มีพระราชโองการให้เจ้าพระยามหามณเฑียรเป็นแม่ทัพ ยกทัพ 5,000 คน[6] ให้เจ้าพระยานครสวรรค์ถอยทัพจากค่ายวัดจันทร์ลงมาเป็นทัพหน้า ให้เรียกกองของพระโหราธิบดีและกองมอญของพระยากลางเมืองลงมาสมทบเข้ารวมกัน ให้หลวงดำเกิงรณภพคุมทหารกองในกองนอกและกองเกณฑ์หัด ทั้งสิ้น 3,400 คน ยกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน โอบหลังพม่าที่วัดจันทร์ฝั่งตะวันตก และทรงให้พระยาราชภักดี ไปนำปืนพระยาราชปักษี และปืนฉัตรไชย จากกรุงธนบุรีมา

พม่าตีวกหลังตัดเสบียง

บรรดาแม่ทัพนายกองพม่า แจ้งแก่อะแซหวุ่นกี้ว่า ฝ่ายไทยป้องกันเมืองพิษณุโลกเข็มแข็ง ไม่อาจเอาชนะได้โดยง่าย[6] อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินยังเสด็จยกทัพหลวงพร้อมรี้พลจำนวนมาก สงครามครั้งนี้มีโอกาสยืดเยื้อยาวนาน อะแซหวุ่นกี้ตระหนักว่าทัพหลวงจากธนบุรีมีกำลังยกมามากกว่าที่คาดไว้ หากจะผันกองกำลังจากที่ล้อมเมืองพิษณุโลกมาตีทัพหลวงที่แม่น้ำน่าน เกรงว่าเจ้าพระยาทั้งสองจะสามารถฝ่าวงล้อมออกมาได้[2] อะแซหวุ่นกี้จึงหันไปใช้ยุทธวิถีโจมตีวกหลังตัดเสบียง ใช้ม้าเร็วไปแจ้งแก่ปันญีตจวง ทัพหลังซึ่งตั้งอยู่ที่กงธานี ให้คุมกำลังพม่า 3,000 คน[6] ยกทัพลงไปทางเมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ แซงลงไปจนถึงเมืองอุทัยธานี วกหลังตัดเสบียงฝ่ายไทย ทำให้ฝ่ายไทยต้องเผชิญศึกสองด้าน ทั้งทางพิษณุโลกและทางอุทัยธานี ส่วนกำลังอีก 2,000 คนที่เหลือ ให้มารวมกับทัพของอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลก

เดือนสามแรมหกค่ำ พระยาสุโขทัยซึ่งซุ่มคอยสังเกตการณ์ทัพพม่าที่กงธานี เห็นพม่าที่กงธานียกทัพออกไป ข้ามแม่น้ำไปฝั่งตะวันตกส่วนหนึ่ง และยกมาที่พิษณุโลกส่วนหนึ่ง พระยาสุโขทัยนำความมากราบทูลฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อทรงทราบความ ก็ทรงตระหนักได้ว่าฝ่ายพม่ากำลังจะตีวกหลังตัดเสบียง จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชภักดี และพระยาพิพัฒโกษา ยกทัพจากบ้านกระดาษลงไปช่วยพระยาราชาเศรษฐีจีน (ตั้งเลี้ยง) ป้องกันเมืองนครสวรรค์ ให้กองของพระยาธรรมา (บุญรอด) ยกหนุนไปช่วยเจ้าพระยามหามณเฑียรและเจ้าพระยานครสวรรค์ ซึ่งไปตั้งค่ายโอบหลังพม่าอยู๋ที่วัดจันทร์ฝั่งตะวันตก และให้หลวงภักดีสงคราม พระยาเจ่ง และกรมการเมืองชัยนาท คุมพลไทยมอญจำนวน 500 คนเศษ ไปตั้งอยู่ร้านดอกไม้เมืองกำแพงเพชร คอยสอดแนมสังเกตการณ์ว่าทัพพม่าที่ยกมาจากกงธานีจะยกมาถึงกำแพงเพชรหรือไม่[6]

ฝ่ายเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยามหามณเฑียรและเจ้าพระยานครสวรรค์เข้าตีโอบหลังพม่าที่วัดจันทร์ฝั่งตะวันตก เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพออกมาตั้งค่ายนอกเมืองพิษณุโลกทางทิศตะวันตกประชิดฝ่ายพม่าอีกด้านหนึ่ง ประสานกันกับทัพของเจ้าพระยานครสวรรค์ เดือนสามแรมหกค่ำ เจ้าพระยาสุรสีห์ให้ทำคบเพลิงผ้าชุบน้ำมัน ใส่ลงในกระบอกปืนใหญ่ ยิงเข้าเผาทำลายค่ายพม่า สามารถทำลายหอรบลงได้สองหอ แต่ไม่สามารถฝ่าวงล้อมพม่าออกมาได้ เนื่องจากทัพของเจ้าพระยามหามณเฑียรและเจ้าพระยานครสวรรค์ ไปพบกับทัพ 2,000 คนที่ยกมาจากกงธานี มาสู้รบกันที่บ้านบางส้มป่อย จึงไม่ได้ยกมาประชิดค่ายพม่าที่พิษณุโลกตามนัดหมาย[2] เจ้าพระยานครสวรรค์เอาชนะทัพพม่าถอยกลับไป ในเมืองพิษณุโลกเริ่มขาดแคลนเสบียง เจ้าพระยาสุรสีห์จึงขอพระราชทานเสบียงจากทัพหลวง สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานเสบียงให้กองกำลังคุมลำเลียงขึ้นไป แต่ถูกฝ่ายพม่าตีตัดกลางทางไปไม่ถึง สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงให้พระยานครราชสีมาคุ้มครองเสบียงขึ้นไป แล้วให้เจ้าพระยาสุรสีห์นำกำลังลงมารับเสบียง แต่กละโบ่แม่ทัพพม่ายกมาสกัดตีเสียก่อน เจ้าพระยาสุรสีห์และพระยานครราชสีมาไม่สามารถส่งเสบียงถึงกันได้ เสบียงอาหารในเมืองพิษณุโลกลดน้อยลงทุกวัน ไม่เพียงพอแจกจ่ายแก่กำลังพล ฝ่ายพม่าก็ขัดสนเสบียงอาหารเช่นกันเนื่องจากเสบียงจากเชียงแสนของโปมะยุง่วนไม่สามารถลงมาส่งได้[2] แต่ฝ่ายพม่าอยู่ในที่แจ้ง สามารถค้นหาอาหารขุดรากมันประทังไปได้ ไม่ขัดสนเหมือนในเมืองพิษณุโลก[6][2]

หลวงภักดีสงครามและพระยาเจ่ง ซึ่งยกทัพไปทางกำแพงเพชรนั้น พบกับทัพพม่าที่กำแพงเพชร โจมตีทัพพม่าโดยไม่ทันรู้ตัวในการรบที่กำแพงเพชร ทัพไทยมอญเก็บศาสตราวุธพม่ามาถวายฯ ฝ่ายพม่าแม้พ่ายแพ่แต่ยังสามารถยกทัพเข้าโจมตีเผาเมืองอุทัยธานีได้สำเร็จ พม่าตั้งค่ายที่กำแพงแพชร ที่บ้านโนนศาลาสองค่าย ที่บ้านสลกบาตรหนึ่งค่าย ที่บ้านหลวงหนึ่งค่าย เดือนสามแรมสิบสี่ค่ำ ขุนยกกระบัตรเมืองชัยนาท สืบราชการทัพพม่ามากราบทูลว่า ทัพพม่าเผาเมืองอุทัยธานีเสียแล้วและตั้งค่ายอยู่ที่กำแพงเพชร สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการ ให้หม่อมเชษฐกุมารเป็นกองหลวง ให้หม่อมอนุรุทธเทวาเป็นจางวาง ให้ขุนอินทรเดชเป็นแม่กอง ให้หลวงปลัดเมืองอุทัยธานีและหลวงสรวิชิต (หน) เป็นกองหน้า ยกกำลัง 1,000 คนไปคอยป้องกันปืนใหญ่ที่ลำเลียงมาจากกรุงธนบุรีอย่าให้เป็นอันตราย และคอยป้องกันเมืองนครสวรรค์ และทรงให้พระยานครไชยศรีตั้งที่โพธิ์ประทับทับช้าง และพระโหราธิบดีตั้งที่โคกสลุด คอยป้องกันตามเส้นทางลำเลียง

พม่าตีเมืองกุยบุรีและปราณบุรี

ฝ่ายพม่าจากเมืองมะริดยกทัพเข้ามาทางด่านสิงขร เข้าโจมตีและยึดเมืองกุยบุรีและปราณบุรี ฝ่ายกรมการเมืองต้านทานทัพพม่าไม่ได้ จึงถอยมาตั้งที่เมืองชะอำ กรมขุนอนุรักษ์สงครามแต่งกองกำลังไปขัดตามทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบเมืองเพชรบุรี เดือนสามแรมสิบสามค่ำ ขุนพัศดีถือหนังสือขึ้นมาบอกความกราบทูล เรื่องพม่ายกมาตีเมืองกุยบุรีและปราณบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้าประทุมไพจิตร ยกกำลังลงมารักษากรุงธนบุรีคอยระวังศึกทางด้านทิศใต้

อะแซหวุ่นกี้เข้าตีค่ายปากพิง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำริ ว่าการสงครามครั้งนี้กำลังฝ่ายไทยมีน้อยกว่าฝ่ายพม่าเป็นข้อเสียเปรียบสำคัญ หากเน้นรบพุ่งเผชิญหน้าเพียงอย่างเดียวจะไม่ได้ผล ทรงสดับฟังคำให้การของเชลยพม่าว่าฝ่ายพม่าขัดสนเสบียง จึงทรงเปลี่ยนยุทธวิถีด้วยการรักษาแต่เพียงที่มั่นสำคัญ ให้ฝ่ายพม่าหมดเสบียงลงเอง แล้วจึงค่อยยกทัพไปโจมตีพม่าเมื่อหมดเสบียงแล้ว[2] เดือนสามแรมสิบห้าค่ำ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ มาเข้าเฝ้าที่บ้านท่าโรง เจ้าพระยาจักรีป่วยลงมาไม่ได้[5][6] เจ้าพระยาสุรสีห์ลงมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชดำรัสปรึกษาด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ ว่าจะทรงผ่อนถอยทัพหลวงลงไปตั้งที่นครสวรรค์ เพื่อป้องกันเสบียงไว้ และราชการป้องกันพม่าที่เมืองพิษณุโลกนั้น ขอให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ จงรับรองรักษาป้องกันไว้[6]ก่อน เจ้าพระยาสุรสีห์ถวายบังคมกลับเมืองพิษณุโลก

เดือนสี่ขึ้นสามค่ำ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท[6] จากค่ายบ้านท่าโรงจนถึงค่ายเจ้าพระยานครสวรรค์ ประทับเก้าอี้อยู่บนหาดทราย เจ้าพระยานครสวรรค์และพระยาธรรมา ว่ายน้ำ[6]ข้ามแม่น้ำน่านจากฝั่งตะวันตกมาเข้าเฝ้า กราบทูลว่าพม่าตั้งค่ายประชิดเข้าโจมตีหนัก สมเด็จพระเจ้าตากสินรับสั่งว่าอย่ากลัวพม่า[6] ใครย่อท้อต่อสงครามให้ประหารชีวิตเสีย แล้วเสด็จกลับบ้านท่าโรง เจ้าพระยาจักรีหายป่วย[6]แล้วจึงมาเข้าเฝ้าที่บ้านท่าโรง ในเวลานั้นฝ่ายพม่าขาดแคลนเสบียงลงเช่นกัน อะแซหวุ่นกี้จึงจำต้องระดมกำลังพลเข้าโจมตีฝ่ายไทยให้พ่ายแพ้ไปเสียก่อนที่เสบียงจะหมด[2] อะแซหวุ่นกี้ยกทัพพม่าเข้าโจมตีค่ายหลวงที่ปากพิง[1] พระยารัตนาพิมลผู้รักษาค่ายปากพิงบอกมากราบทูลว่า กองสอดแนมเห็นฝ่ายพม่าถางป่าเตรียมตั้งค่ายในคลองพิงห่างจากค่ายหลวงปากพิงไปประมาณสามคุ้ง[2] เจ้าพระยาจักรีจึงมอบหมายให้พระยาเทพวรชุนและพระยาวิชิตณรงค์รักษาค่ายบ้านท่าโรง แล้วเจ้าพระยาจักรีกลับไปพิษณุโลก

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกลับค่ายปากพิง พม่าขุดสนามเพลาะเข้าตีค่ายพระยาธรรมไตรโลกและพระยารัตนาพิมลที่คลองกระพวง (คลองกรับพวง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน นำไปสู่การรบที่คลองกระพวง พระยาสุโขทัยยกเข้าตีขนาบหลังค่ายพม่าที่คลองกระพวง หลวงเสนาภักดิตีวกหลังพม่าเข้าไป พม่าขุดสนามเพลาะล้อมไว้สามด้าน แต่กองอาจารย์ถอยเสียไม่ช่วย[6] จนพระยาสุโขทัยต้องตีเข้าไปช่วยหลวงเสนาภักดิออกมา สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงลงพระราชอาญาประหารชีวิตอาจารย์ทองและนายดี และทรงคาดโทษพระสุธรรมาจารย์ และพระวิสารสุธรรมเจ้ากรมกองอาจารย์ ให้ทำราชการแก้ตัว สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาอินทรอภัยจากบ้านท่าโรง และพระยากลางเมือง ยกมาช่วยที่คลองกระพวง เสด็จไปทอดพระเนตรการรบที่คลองกระพวง รับสั่งให้ชักปีกกาต่อจากค่ายใหญ่ออกไปอีก 22 เส้น[2] และมีพระราชโองการให้พระยายมราช (หมัด) ที่ค่ายวัดจันทร์ ย้ายมารับมือพม่าที่คลองกระพวงเสริมขึ้นไปถืออาญาสิทธิ์บัญชาการรบที่คลองกระพวง

ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เห็นว่า ฝ่ายไทยย้ายถอนกองกำลังริมแม่น้ำน่านใต้เมืองพิษณุโลก ระหว่างค่ายหลวงปากพิงกับเมืองพิษณุโลก ไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านและลงไปรักษาทางเสบียงที่อื่นๆ[2] จึงฉวยโอกาสให้กละโบ่ยกทัพข้ามแม่น้ำน่าน เข้ามาโจมตีปล้นค่ายกรมแสงในทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำที่วัดพริก ในเวลากลางคืนขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนสี่ กองกำลังรักษากรมแสงใน 240 คน สู้รบต้านทานพม่าไม่ไหว แตกพ่ายหนีกระจัดกระจาย ทำให้พม่าสามารถเข้ายึดค่ายวัดพริกได้ เป็นฐานที่มั่นที่แรกของพม่าบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน พระยาเทพวรชุนและพระยาวิชิตณรงค์ผู้รักษาค่ายบ้านท่าโรง ส่งคนซึ่งหนีพม่ามาลงมาถวายฯ ดำรัสให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตทั้งสิ้นสิบสี่คน[6] เสียบประจานไว้ที่ประตู่ค่ายปากพิง ทรงให้พระโหราธิบดีที่โคกสลุด และพระยานครไชยศรีที่บ้านโพธิ์ประทับช้าง ย้ายมาช่วยรักษาค่ายหลวงปากพิง เจ้าพระยานครสวรรค์กราบทูลว่าฝ่ายพม่าเข้าไปตั้งที่ฝั่งตะวันออกได้แล้ว เกรงว่าจะตีวกหลัง ขอพระราชทานถอยทัพฝั่งตะวันตกกลับมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงมีพระราชโองการให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ ร่วมกับกองของพระยากลางเมือง พระโหราธิบดี พระยาเทพวรชุน และพระยาวิชิตณรงค์ ยกไปตีพม่าที่วัดพริก ให้หลวงรักษมณเฑียรไปอยู่ที่คลองกระพวงแทน พระยายมราชเข้าโจมตีพม่าที่วัดพริก นำไปสู่การรบที่วัดพริก พม่ายึดค่ายพระยายมราชได้ แต่พระยายมราชยึดค่ายของตนเองคืนได้

อะแซหวุ่นกี้ให้แมงแยยางูผู้เป็นน้องชาย กับกละโบ่หรือปะกันโบ และปันญีเยข่องจอ และจอกะสูเจ้าเมืองตองอู[1] ยกทัพเข้าโอบค่ายหลวงปากพิง นำไปสู่การรบที่ปากพิง ได้ต่อรบเป็นสามารถในเวลากลางคืน อะแซหวุ่นกี้ส่งปันญีเยข่องจอเข้าตีกระหนาบหลังค่ายหลวงปากพิง[1] สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่า ฝ่ายพม่าโจมตีหนักเหลือกำลัง จะตั้งสู้อยู่ที่ปากพิงต่อไปจะเสียที ในวันแรมสิบค่ำเดือนสี่ จึงทรงล่าถอยทัพหลวงจากปากพิงลงมาอยู่บางข้าวตอก (อำเภอเมืองจังหวัดพิจิตร) กองกำลังตามริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกทั้งหมดจึงถอยตามทัพหลวงลงมา[2]

เสียเมืองพิษณุโลก

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถอยทัพจากปากพิงและฝั่งตะวันออกแม่น้ำน่านทั้งหมดไปอยู่บางข้าวตอกแล้ว เมืองพิษณุโลกจึงไม่มีกำลังสนับสนุนอีกต่อไป อะแซหวุ่นกี้ให้แม่ทัพพม่าทั้งหลาย ตะแคงมระหน่อง กละโบ่ ปันญีเยข่องจอ และเจ้าเมืองตองอู โจมตีเมืองพิษณุโลกกวดขันเข้มงวดขึ้น ฝ่ายในเมืองพิษณุโลกขาดเสบียงแจกกำลังพลได้เพียงคนละมื้อละฝาเขนง ไพร่พลอดอยากอิดโรย เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์เห็นเหลือสุดกำลังที่จะสามารถรักษาเมืองพิษณุโลกไว้ได้ จึงบอกกราบทูลลงมาที่ค่ายหลวงปากพิง ตั้งแต่ยังประทับอยู่ที่ปากพิงว่า ขอพระราชทานล่าถอยทัพออกจากเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดฯทรงอนุญาต เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงมีคำสั่งให้ถอยเลิกค่ายที่นอกเมืองทั้งสองฝั่งตะวันออกตะวันตก กลับเข้ามาในเมืองพิษณุโลก พม่ารุกเข้าประชิดกำแพงเมือง เตรียมพาดบันไดปีนขึ้นกำแพงเมือง ฝ่ายไทยหน้าเชิงเทนระดมยิงปืนใหญ่น้อย พม่าขึ้นกำแพงเมืองพิษณุโลกไม่ได้

เดือนสี่แรมสิบเอ็ดค่ำ (วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2319) เมื่อเจ้าพระยาทั้งสองทราบความว่า ทัพหลวงถอยไปจากปากพิงแล้ว จึงเตรียมการสละเมืองฝ่าวงล้อมพม่าออกไป ให้ทหารระดมยิงปืนใหญ่น้อยหนักหนาขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้นำเอาปี่พาทย์ขึ้นเล่นตีบนเชิงเทินกำแพงรอบเมือง แล้วจัดกระบวนทัพเป็นสามกอง กองหน้าเลือกคนที่แข็งแรงสามารถสู้รบฝ่าวงล้อมพม่าเปิดทางออกไป กองกลางประกอบด้วยราษฏรชาวเมืองพิษณุโลก ให้อาวุธติดตัวราษฏร์ชายฉกรรจ์ทุกคนแม้แต่สตรีก็ให้มีอาวุธประจำกาย[2] และกองหลังสำหรับป้องกันท้ายกระบวน ถึงเวลายามเศษ เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์จึงให้เปิดประตูเมืองด้านตะวันออกของพิษณุโลก กองหน้าฝ่าทัพพม่าออกไป ค่ายพม่ายิงปืนตอบโต้ เข้ารบกันถึงขึ้นตะลุมบอน ฝ่ายไทยหนุนเนื่องเข้าไป จนฝ่ายพม่าแยกออกเปิดทางให้ เจ้าพระยาทั้งสองจึงฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางตะวันออกได้สำเร็จ ไปตั้งมั่นอยู่ที่บ้านละมุงดอนชมพู (ตำบลบ้านมุง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง) ราษฏรชาวเมืองพิษณุโลกบ้างติดตามเจ้าพระยาทั้งสองไป บ้างหนีลงไปหาค่ายหลวงที่บางข้าวตอก บ้างแตกกระจายหลบหนีไปในป่า บ้างถูกพม่าจับกุมเป็นเชลย[2]

หลังจากที่ล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่เป็นเวลาประมาณสี่เดือน ในที่สุดอะแซหวุ่นกี้สามารถเข้ายึดเมืองพิษณุโลกได้ ฝ่ายพม่าจุดไฟเผาเมืองพิษณุโลก ไฟลุกโชติช่วงสว่างดั่งกลางวัน บ้านเรือนวัดวาอารามทั้งหมดของเมืองพิษณุโลกถูกทำลายลงจนหมดสิ้น เหลือแต่เพียงวัดพระมหาธาตุเท่านั้นที่ยังคงอยู่[6] พม่าเที่ยวไล่จับกุมราษฏรชาวเมืองพิษณุโลกที่หลบหนีออกไปไม่ทัน และเก็บเอาทรัพย์สินมีค่าและอาวุธสรรพาวุธของฝ่ายไทยที่ตกค้างอยู่

พม่าถอยทัพ

พระเจ้ามังระสวรรคต

เมื่อฝ่ายพม่ายึดเมืองพิษณุโลกและหัวเมืองเหนือได้แล้ว ประสบกับปัญหาภาวะขาดเสบียง อะแซหวุ่นกี้จึงส่งกองกำลังออกค้นหาเสบียงตามที่ต่างๆ เพื่อเตรียมเข้าโจมตีกรุงธนบุรีดังนี้[2]

  • ให้แมงแยยางู[2] (หรือปันญีเยข่องจอ)[1] ยกทัพไปทางเพชรบูรณ์ และอาจจะเพื่อติดตามเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์[2]
  • ให้กละโบ่ ยกทัพไปทางกำแพงเพชร

พระเจ้ามังระสวรรคตในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2319[1] พระโอรสคือเจ้าชายจิงกูจา ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจิงกูจา (Singu Min) กษัตริย์พม่าองค์ต่อมา พระเจ้าจิงกูจามีพระราชโองการให้อะแซหวุ่นกี้ในสยามและเนเมียวสีหบดีที่เชียงแสน ยกทัพกลับเมืองอังวะในทันที หลังจากที่กองทัพพม่าได้ยกออกไปตามหาเสบียงแล้ว ท้องตราของพระเจ้าจิงกูจามาถึงอะแซหวุ่นกี้ อะแซหวุ่นกี้จึงให้คนรีบนำคำสั่งไปแจ้งแก่แม่ทัพพม่าที่ออกไปนั้น ให้ยกกลับมา อะแซหวุ่นกี้เกรงว่าหากรอกลับไปพร้อมกับทัพที่เหลือทั้งหมดจะเนิ่นช้าและตนเองจะมีความผิด[2] จึงรีบเก็บรวบรวมทรับพ์สมบัติที่ได้และกวาดต้อนชาวสยามจากหัวเมืองเหนือจำนวนประมาณ 2,000 คน[2] กลับพม่าไปทางเมืองสุโขทัยและเมืองตาก ทำให้ทัพพม่าที่เหลืออยู่ในสยามนั้นขาดผู้นำ มีความสับสนวุ่นวายและไร้การควบคุม

พม่าถอยทัพ

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ หลังจากออกจากเมืองพิษณุโลกไปที่บ้านละมุงดงชมพูแล้ว จึงเดินทางไปตั้งอยู่ที่เพชรบูรณ์ ได้เสบียงเลี้ยงอาหารกองกำลังไพร่พลแล้ว จึงยกกองทัพกลับมาทางเมืองสระบุรี แล้วทูลขออาสายกทัพติดตามพม่าไปทางป่าพระพุทธบาทขึ้นไปทางเมืองสุโขทัย[2]

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับอยู่ที่บางข้าวตอก เมื่อทรงทราบว่าได้เสียเมืองพิษณุโลกให้แก่ข้าศึกพม่า เผาเมืองเหลือเพียงวัดพระมหาธาตุ บัดนี้พม่าได้เลิกทัพไปแล้ว ก็ทรงพระโทมนัสน้อยพระทัยแก่ข้าศึก[6] ดำรัสเรียกหาหลวงสรสำแดงมาเข้าเฝ้า ตรัสถามว่าจะให้คุมกองเกณฑ์หัดไปตามรบพม่าจะได้หรือไม่ หลวงสรสำแดงก้มหน้านิ่งเสีย จึงทรงพระพิโรธและลงพระราชอาญาประหารชีวิตหลวงสำแดงเสีย มีพระราชโองการให้พระยาพิชัย (ทองดี-ดาบหัก) และพระยาพิไชยสงคราม ยกทัพกลับไปเมืองพิชัย จัดตั้งทัพยกไปสกัดตามตีพม่าให้ได้ และทรงจัดแต่งทัพเข้าตีทัพพม่าซึ่งกำลังล่าถอยไปอยู่ดังนี้;[6]

  • พระยาสุรบดินทร์ (บุญมี) เจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นแม่ทัพ พระยาเทพวรชุน พระยารัตนาพิมล พระยานครไชยศรี พระยาทุกขราษฏร์เมืองพิษณุโลก เป็นกองทัพหน้า ยกไปติดตามตีทัพพม่าที่เมืองตาก
  • พระยาธิเบศร์บดี คุมกองอาสาจามยกติดตามพม่าไปทางเมืองสุโขทัย

เดือหกแรมสิบเอ็ดค่ำ มีข่าวว่าทัพพม่ายกขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์ ซึ่งคือทัพของแมงแยยางู[2] จึงมีพระราชโองการให้;[6]

  • พระยาพลเทพ พระยาราชภักดี หลวงเนาวโชติ์ จมื่นเสมอใจราช ยกทัพไปทางเมืองเพชรบูรณ์ ถ้ามีกำลังพอสู้รบพม่าได้ให้สู้ต้านทาน ถ้าสู้ไม่ได้ให้อพยพราษฏรและเสบียงลงมากรุงธนบุรี
  • เจ้าพระยานครสวรรค์ และเจ้าพระยาสวรรคโลก ยกทัพไปติดตามพม่าทางกำแพงเพชรอีกทัพหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ประทับอยู่ที่ค่ายบางข้าวตอก คอยรับราษฏรจากพิษณุโลกที่หลบหนีพม่ามาหลังจากการเสียเมือง อยู่เป็นเวลาสิบเอ็ดวัน[6] แล้วมีพระราชโองการให้พระยายมราช (หมัด) อยู่รักษาค่ายหลวงบางข้าวตอก เดือนหกแรมสิบสี่ค่ำ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จทัพหลวงนาวาทางชลมารค มาประทับที่เมืองนครสวรรค์ หลวงวังเมืองนครสวรรค์กราบทูลว่า เห็นทัพพม่าตั้งอยู่ที่บ้านโคนเมืองกำแพงเพชร จำนวนประมาณ 2,000 คนเศษ[6] จึงมีพระราชโองการ ให้พระยายมราช ยกทัพเลียบแม่น้ำปิงไปทางฝั่งตะวันตก ให้กองพระยาราชสุภาวดียกไปทางตะวันออก ไปสมทบกับทัพของเจ้าพระยานครสวรรค์และเจ้าพระยาสวรรคโลก ยกขึ้นไปบรรจบกันที่วังพระธาตุ เข้าตีพม่าพร้อมกันที่บ้านโคน

ฝ่ายทัพพม่าของกละโบ่ที่กำแพงเพชร[2] กำลัง 2,000 คน แยกกองเป็นสองกอง กองละ 1,000 คน กองหนึ่งกลับไปทางทิศตะวันตก กองหนึ่งยกลงมาทางทิศใต้ เมื่อพระยาสุรบดินทร์ยกทัพไปถึงกำแพงเพชร พบว่าทัพพม่ายกเลิกกลับไปทางตะวันตกหมดสิ้นแล้ว แต่หลวงวังเมืองนครสวรรค์ พบทัพพม่ายกมา 1,000 คน ลงมาที่บ้านสามเรือน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยานครสวรรค์เลิกทัพจากกำแพงเพชรกลับมา ทัพพม่า 1,000 คนนั้น ยกเข้าโจมตีเผาค่ายเมืองอุทัยธานี จึงมีพระราชโองการให้หม่อมอนุรุทธเทวาและหลวงเสนาภักดิ์ยกกองแก้วจินดาติดตามไป ติดตามตีทัพพม่าไปจนถึงด่านไทรโยค ในเดือนเจ็ดขึ้นสิบสี่ค่ำ สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยาตรานาวาทัพหลวงทางชลมารคกลับพระนครธนบุรี

ฝ่ายพระยายมราชและพระยาราชสุภาวดีที่บ้านโคน เห็นว่าทัพพม่ายกไปทางใต้ไปทางอุทัยธานี จึงยกติดตามมาผ่านด่านเขาปูนไปทางกาญจนบุรีพบกับทัพพม่าที่ด่านสลักพระ ได้สู้รบกันในการรบที่ด่านสลักพระ ทัพพม่าบางส่วนแยกไปที่นครสวรรค์ มีพระราชโองการให้ข้าหลวงไปหาพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม ตามให้เสด็จยกทัพกลับมาจากเพชรบุรี และมีพระราชโองการให้พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพจำนวน 1,000 คน ไปหนุนช่วยที่อุทัยธานี อีกสองวันต่อมา[6] ทรงให้กรมขุนอินทรพิทักษ์กลับมารักษาเมืองธนบุรี แล้วเสด็จพยุหยาตรานาวาทัพหลวงจากธนบุรีทางชลมารค ในเดือนเจ็ดแรมสี่ค่ำ ขึ้นไปประทับที่พลับพลาค่ายเมืองชัยนาทฝั่งตะวันออก ฝ่ายพระยายมราชและพระยาราชสุภาวดีที่สลักพระ ขัดสนเสบียงอาหารจึงล่าถอยทัพมาอยู่ที่ดอนไก่เถื่อน

หม่อมอนุรุทธเทวาและหลวงเสนาภักดิ์ ยกไปทางอุทัยธานี พบกับทัพพม่าที่เดิมบางนางบวช ได้สู้กับพม่าในการรบที่เดิมบางนางบวช ทัพพม่าพ่ายแพ้แตกหนีไปทางแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินดำรัสว่า ทัพพม่าที่เหลือกำลังจะยกทัพถอยออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์

  • ให้พระยารามัญวงศ์ (มะโดด) ยกไปช่วยพระยายมราชและพระยาราชสุภาวดี ยกลงไปทางเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี ติดตามทัพพม่า ถ้าพบทัพพม่าให้เข้าโจมตี ถ้าพบราษฏรซึ่งลี้ภัยอยู่ในป่าให้นำมาเข้ากรุงธนบุรี
  • ให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และเจ้าพระยามหาเสนา ยกไปโจมตีทัพพม่าที่นครสวรรค์

การรบที่นครสวรรค์

สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จยกทัพหลวงทางชลมารคกลับธนบุรีในเดือนแปดขึ้นสามค่ำ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และเจ้าพระยามหาเสนา ยกทัพเข้ารบกับพม่าที่นครสวรรค์ สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปที่ชัยนาทอีกครั้ง ในเดือนเก้าขึ้นสิบสองค่ำ พร้อมทั้งทหารสิบเอ็ดกองจากธนบุรี ปรากฏว่าพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ได้ตีทัพพม่าที่นครสวรรค์ พม่าพ่ายแพ้แตกหนีไปทางกำแพงเพชรแล้ว จึงทรงให้เจ้าพระยาอินทรอภัยรักษาเมืองนครสวรรค์ แล้วเสด็จยกทัพติดตามพม่าไปทางกำแพงเพชร ไปจนถึงแขวงเมืองตาก แม่ทัพนายกองทั้งหลายจับได้พม่าซึ่งแตกไปอยู่ในป่าดงนั้น จำนวน 330 คนเศษ มีพระราชโองการให้ติดตามทัพพม่าไปจนสุดเขตแดนด่านเมืองตาก ทอดพระเนตรเห็นต้นข้าวพม่าทำนาไว้ มีพระราชโองการให้ถอนต้นข้าวเหล่านั้นเสีย[6]

การรบที่บ้านนายม

เดือนสิบขึ้นหนึ่งค่ำ พระยาราชภักดี และพระยาพลเทพ ซึ่งยกติดตามพม่าไปทางเพชรบูรณ์นั้น ได้พบกับพม่าที่บ้านนายม (ตำบลนายม) และได้สู้รบกัน พม่าพ่ายแพ้แตกพ่ายหนีไปทางเหนือไปทางล้านช้างหลวงพระบาง

เชลยศึกพม่า

แม่ทัพนายกองทั้งข้าราชการทั้งหลายซึ่งได้ยกทัพติตามพม่าซึ่งถอยไปนั้น จับเชลยชาวพม่ากลับส่งลงมาถวายต่างๆดังนี้[6]

  • เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาธิเบศร์บดี ซึ่งยกติดตามพม่าไปทางสุโขทัยนั้น ได้เชลยพม่า 18 คน กับศัสตราวุธจำนวนมาก
  • พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยารามัญวงศ์ ยกติดตามพม่าไปทางสุพรรณบุรีจนถึงด่าน ได้เชลยพม่า 17 คน
  • เจ้าพระยานครสวรรค์ พระยาพิชัย ยกติดตามพม่าไปทางเมืองตาก ได้เชลยพม่า 49 คน
  • กรมขุนอนุรักษ์สงคราม และเจ้าพระยามหาเสนา ยกติดตามพม่าไปทางกำแพงเพชร ได้เชลพม่า 11 คน

เมื่อทัพพม่าถอยทัพออกจากสยามไปจนหมดสิ้น ไม่ยกลงมาติดพันถึงกรุงธนบุรีแล้ว ในเดือนสิบขึ้นสิบเบ็ดค่ำ จึงทรงมีตราให้กองทัพทั้งปวงเลิกกลับมายังพระนครธนบุรี สิ้นสุดสงครามยาวนานสิบเดือน

ฝ่ายพม่า ผู้นำสารไปแจ้งข่าวแก่แม่ทัพพม่าให้ถอยคืนกลับไปเมืองอังวะ ตามจอกะสูได้ที่เมืองอ่างทอง[1] ตามกละโบ่หรือปะกันโบได้ที่จุดซึ่งแม่น้ำสองสายบรรจบกัน[1] (นครสวรรค์?) แต่ผู้ส่งสารไม่สามารถตามตัวปันญีเยข่องจอได้ เนื่องจากปันญีเยข่องจอได้ยกทัพเลยขึ้นไปทางเพชรบูรณ์ ไปทางล้านช้างหลวงพระบางต่อไปเมืองเชียงแสนกลับไปพม่า เป็นเหตุให้ผู้นำสารถูกประหารชีวิต[1]

ผลลัพธ์และเหตุการณ์สืบเนื่อง

พิษณุโลกซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของภาคเหนือของสยาม ถูกพม่าทำลายล้างอย่างสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2319 อาคารและวัดทั้งหมดถูกเผา ยกเว้นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

สงครามอะแซหวุ่นกี้เป็นสงครามกับพม่าครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี[2][9] แม้ว่าฝ่ายสยามจะได้รับชัยชนะในทางยุทธวิธี (Tactical victory) เนื่องจากสุดท้ายแล้วฝ่ายพม่าจำต้องยุติสงครามถอยทัพกลับไป แต่ฝ่ายพม่าก็ประสบความสำเร็จในการทำลายสร้างความเสียหายให้แก่หัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะเมืองพิษณุโลก กวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินกลับพม่าไป ทำให้หัวเมืองเหนือโดยรวมยับเยินเกือบจะเป็นเมืองร้างหมดทุกเมือง[10] จึงอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายพม่าได้รับชัยชนะในทางยุทธศาสตร์[10] (Strategic Victory) พงศาวดารพม่ากล่าวในสงครามครั้งนี้อะแซหวุ่นกี้ได้รับความพ่ายแพ้[9] เอาไพร่พลพม่ามาล้มตายเป็นจำนวนมาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าศึกอะแซหวุ่นกี้ในครั้งนี้ไม่ได้ชัยชนะกันทั้งสองฝ่าย[2]

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์สงครามอะแซหวุ่นกี้ไว้ว่า;

ม่านอะแสหว่นคี มีคน ๕๐๐๐๐ มาทางแม่มะเลิงเข้ามาตีเมืองระแหง กำแพง สวัรคโลก สุกโขทัย แตกกระจัดกระจายไพเสี้ยง แล้วม่านเข้าล้อมเมืองพิสสนุโลก รบกันอยู่ได้ ๖ เดือน ส่วนว่ากระสัตรเจ้าตากสินแลเจ้าพระยาจักรีจักพลิกคืนมาแก้ไขเอาเมืองทั้งหลายฝูงนี้ค็บ่ได้ เหตุม่านค็เข้ามาบางกอก ค็ลวดเร่งรีบลงไพบางกอก ลวดออกไพต้อนรบโป่หลังดำที่ท่าดินแดง เจ้าพระยาสุรสีห์ลงลงไพเถิงบางกอก แล้วลวดออกไปทวยหากระสัตรเจ้ารบม่าน ด้วยเตชปารมีกระสัตรเจ้า ม่านต้านทานบ่ได้ ค็แตกหนีนับเสี้ยง หั้นแล

[11]

การรุกรานหัวเมืองเหนือในสงครามอะแซหวุ่นกี้ทำให้หัวเมืองเหนือตกอยู่ในสภาพทรุดโทรมว่างร้างผู้คน ในขณะที่ก่อนสงครามอะแซหวุ่นกี้ พงศาวดารไทยระบุจำนวนกำลังพลของหัวเมืองไว้ว่ามีจำนวนมาก พิษณุโลก 15,000 คน สุโขทัย 5,000 คน สวรรคโลก 7,000 คน ในเวลาอีกเก้าปีต่อมาในสงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพม่ายกทัพลงมาจากเชียงแสนล้านนาทางเหนือ ปรากฏว่าทั้งสามได้แก่เมืองพิษณุโลกซึ่งเคยเป็นเมืองเอกฝ่ายเหนือ รวมทั้งสุโขทัยและสวรรคโลกมีกำลังไม่เพียงพอที่จะต้านทานทัพพม่าได้ จึงจำต้องสละทิ้งเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2376 มีการเกณฑ์ทัพหัวเมืองได้กำลังพลพิษณุโลก 5,000 คน สวรรคโลก 500 คน สุโขทัย 600 คน พิชัย 500 คน[10]

หลังจากที่สิ้นสุดสงครามอะแซหวุ่นกี้พม่าเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินยังคงทรงพระปริวิตกอย่างมากว่าพม่าอาจจะยกทัพมาอีกในปีถัดไป ดังที่บาทหลวงกูเด (Joseph-Louis Coudé) ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ในจดหมายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2322 อีกสามปีต่อมาว่า

เมื่อพระเจ้าตากได้เสด็จกลับมาจากทัพ ดูพระกิริยาเชื่อมซึมและดูจะไม่สบายพระทัย เพราะทรงเกรงว่าพม่าข้าศึกจะยกเข้ามาถึงกรุง ถ้าพม่าเข้ามาตีกรุงอีกแล้ว เมืองไทยก็เปนอันสูญชื่อกันคราวนี้เอง

[12]

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงหันมาใช้ยุทธวิถีมาตั้งรับพม่าที่กรุงธนบุรี ดังปรากฏหลังจากสงครามอะแซหวุ่นกี้มีพระราชโองการให้กวาดต้อนราษฎรกำลังพลที่แตกพ่ายกระจัดกระจายไป และจัดเก็บเสบียงอาหารกลับเข้ามายังกรุงธนบุรี เพิ่มความเข้มแข็งของการป้องกันหัวเมืองชั้นใน[10]

การสืบราชสมบัติพม่า

พระเจ้าอลองพญาปฐมกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์คองบองมีพระราชโองการให้พระโอรสทุกพระองค์ได้สืบราชสมบัติก่อน ดังนั้นเมื่อพระเจ้ามังระสวรรคตในพ.ศ. 2319 ราชสมบัติจึงควรตกแก่อาเมียงสะแคง (Prince of Amyin) พระอนุชาของพระเจ้ามังระ แต่ปรากฏว่าเจ้าชายจิงกูจา (Singu Min) พระโอรสของพระเจ้ามังระได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจิงกูจากษัตริย์พม่าองค์ต่อมา ขัดกับพระราชโองการของพระเจ้าอลองพญา ทั้งนี้พระเจ้าจิงกูจามีพระมเหสีเป็นธิดาของอะแซหวุ่นกี้เอง จึงได้รับการสนับสนุนจากอะแซหวุ่นกี้ซึ่งเป็นขุนพลผู้กรำศึก เมื่ออะแซหวุ่นกี้ทราบข่าวการสวรรคตของพระเจ้ามังระ จึงรีบรุดเดินทางกลับไปยังกรุงอังวะเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมให้พระเจ้าจิงกูจาได้ราชสมบัติอย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วพระเจ้าจิงกูจาก็ทรงตัดสินพระทัยทำลายอำนาจของอะแซหวุ่นกี้ ด้วยการปลดพระมเหสีซึ่งเป็นธิดาของอะแแซหวุ่นกี้ออกจากตำแหน่ง และถอดยศหวุ่นยีออกจากอะแซหวุ่นกี้ รวมทั้งเนรเทศอดีตมเหสีรวมทั้งอะแซหวุ่นกี้ไปที่เมืองสะกาย[1] ในพ.ศ. 2320 พระเจ้าจิงกูจาทรงสำเร็จโทษประหารชีวิตพระเจ้าอาคือเจ้าชายอาเมียงสะแคงด้วยโทษกบฏ และในปีต่อมาพ.ศ. 2321 ทรงเนรเทศพระเจ้าอาอีกสามองค์ได้แก่เจ้าชายตะแคงปดุง ตะแคงปะกัน และตะแคงเบงตะเลไปอยู่นอกเมืองอังวะ[1][8]

ในพ.ศ. 2325 พระเจ้าจิงกูจาเสด็จออกไปนมัสการเจดีย์ที่นอกเมืองอังวะ เป็นโอกาสให้เจ้าชายมองหม่อง (Maung Maung) ผู้กินเมืองฟองกา (Phaungkaza) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามังลอก เข้ายึดอำนาจชิงราชสมบัติในขณะที่พระเจ้าจิงกูจาประทับอยู่นอกเมืองอังวะ พระเจ้ามองหม่องกษัตริย์พม่าองค์ใหม่พระราชทานอภัยโทษให้แก่พระเจ้าอาทั้งสามและขุนนางอื่นๆที่ถูกพระเจ้าจิงกูจาลงโทษรวมทั้งอะแซหวุ่นกี้ด้วย อะแซหวุ่นกี้จึงได้รับยศหวุ่นยีคืนอีกครั้ง ในขณะเดียวกันพระเจ้าจิงกูจาทรงยกกำลังพลเพื่อไปขอความช่วยเหลือจากจีนราชวงศ์ชิง ปรากฏว่าบรรดาขุนนางไพร่พลของพระเจ้าจิงกูจาอดีตกษัตริย์พม่าต่างพากันค่อยๆทะยอยละทิ้งหลบหนีจากพระเจ้าจิงกูจา จนสุดท้ายพระเจ้าจิงกูจงทรงเหลือกำลังพลเพียงเล็กน้อย ขุนนางที่ยังจงรักภักดีกราบทูลพระเจ้าจิงกูจาว่า ให้เสด็จลงไปเผชิญกับชะตากรรมที่เมืองอังวะแล้วแต่บุญกรรมตัดสิน[1]

พระเจ้ามองหม่องกษัตริย์พม่าพระองค์ใหม่ เกิดความขัดแย้งกับพระเจ้าอาทั้งสาม เสนาบดีของพระเจ้ามองหม่อง พระเจ้าอาทั้งสาม นำโดยเจ้าชายปดุง จึงเข้ายึดอำนาจปลดพระเจ้ามองหม่องออกจากราชสมบัติในพ.ศ. 2325 รวมทั้งสำเร็จโทษปลงพระชนม์พระเจ้ามองหม่องด้วย เจ้าชายปดุงขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าปดุง อีกสามวันต่อมาพระเจ้าจิงกูจาเสด็จถึงเมืองอังวะ พระเจ้าปดุงจึงมีพระราชโองการให้สำเร็จโทษประหารชีวิตพระเจ้าจิงกูจาไปในที่สุด[1][8]

ตำนานอะแซหวุ่นกี้ชมเจ้าพระยาจักรี

แม้อะแซหวุ่นกี้จะสามารถพิชิตเมืองพิษณุโลกได้ แต่ก็ชื่นชมแม่ทัพศัตรูเป็นอย่างมากที่สามารถมองแผนการของเขาออกแทบทุกอย่าง ตามบันทึกในพงศาวดารฝ่ายไทย (ฝ่ายเดียว) เล่าว่าโดยก่อนหน้านั้นฝั่งสยามและฝั่งพม่าได้หยุดพักรบ และอะแซหวุ่นกี้ได้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี พร้อมกับทำนายว่าในภายภาคหน้าจะได้เป็นกษัตริย์โดยมีเนื้อหาดังนี้
อะแซหวุ่นกี้ให้ล่ามถามเจ้าพระยาจักรีว่าอายุเท่าใด เจ้าพระยาจักรีให้บอกไปว่าอายุได้ 30 เศษ แล้วจึงให้ถามอายุอะแซหวุ่นกี้บ้าง บอกมาว่าอายุได้ 72 ปี อะแซหวุ่นกี้พิจารณาดูรูปลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า ท่านนี้รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้” แล้วให้เอาเครื่องม้าทองสำรับ 1 กับสักหลาดพับ 1 ดินสอแก้ว 2 ก้อน น้ำมันดิน 2 หม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี ๆ ก็ให้ของตอบแทนตามสมควร

  • เมื่อก่อนอะแซหวุ่นกี้จะกลับไปค่ายให้ล่ามบอกเจ้าพระยาจักรีว่า

"ท่านจงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ ต่อไปภายหน้าพม่าจะตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว" [13][14]

เรื่องอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี แล้วสรรเสริญชื่นชมว่าเป็นบุรุษที่รูปงาม ในอนาคตจะได้เป็นกษัตริย์นั้น เหตุการณ์นี้ไม่มีปรากฏในหลักฐานชั้นต้นของทางฝ่ายไทย แม้แต่หลักฐานของพม่าที่เป็นฝ่ายกล่าวชมก็ไม่ได้บันทึกเรื่องนี้เอาไว้ เรื่องนี้จึงน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากวรรณคดีเรืองสามก๊ก ที่แปลในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์[15]

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; July 25, 1919.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 2.25 2.26 2.27 2.28 2.29 2.30 2.31 2.32 2.33 2.34 2.35 2.36 2.37 2.38 2.39 2.40 2.41 2.42 2.43 2.44 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  3. 3.0 3.1 Phraison Salarak (Thien Subindu), Luang. Intercourse between Burma and Siam as recorded in Hmannan Yazawindawgyi. Bangkok; February 15, 1916.
  4. พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อดีตพระธานกรรมการมูลนิธิ"ทุนพระพุทธยอดฟ้า"ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิริรนทราวาส วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2558, ห้องสมุดรัฐสภา. Link
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๕ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 6.14 6.15 6.16 6.17 6.18 6.19 6.20 6.21 6.22 6.23 6.24 6.25 6.26 6.27 6.28 6.29 6.30 6.31 6.32 6.33 6.34 6.35 6.36 6.37 6.38 6.39 6.40 6.41 6.42 พระราชพงษาวดารกรุงเก่า (ฉบับหมอบรัดเล).
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Yincong Dai. A Disguised Defeat: The Myanmar Campaign of the Qing Dynasty. Modern East Asian Studies, Vol 34, Feb 2004.
  8. 8.0 8.1 8.2 ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๔: คำให้การชาวอังวะ
  9. 9.0 9.1 "สงครามประหลาด ไทย-พม่า แย่งกันแพ้!! อะแซหวุ่นกี้ถูกไล่ออกจากราชการ!!!". mgronline.com. 2015-09-30.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ; มติชน, พ.ศ. 2550.
  11. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, พ.ศ. 2538.
  12. ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙: เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศกับ ครั้งกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาคที่ ๖. มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าธำรงศิริ พิมพ์ในการบำเพ็ญกุศล อายุครบ ๕๐ ปี พิมพ์ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์
  13. พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่มที่ 3
  14. ตำนานนอกพงศาวดารและปาฏิหาริย์แห่งพระเจ้าตาก ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก - เล่มที่ 11 - หน้า 308
  15. สุเจน กรรพฤทธิ์:《กรุงธนบุรีผงาด》(นนทบุรี,สำนักพิมพ์สารคดี,เมษายน ปี 2018),หน้า230

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya