อับดุล ฆาฟูร์ มูฮียุดดิน ชะฮ์แห่งรัฐปะหัง
สุลต่าน อับดุล ฆาฟูร์ มูฮียุดดิน ชะฮ์ (มลายู: Abdul Ghafur Muhiuddin Shah) เป็นสุลต่านแห่งรัฐปะหังองค์ที่ 12 ที่ครองราชย์ใน ค.ศ. 1592 ถึง 1614[1] เดิมดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชของอะฮ์มัด ชะฮ์ที่ 2 หลังพระราชบิดาสรรคตใน ค.ศ. 1590 จากนั้นพระองค์จึงโค่นและเข้ายึดอำนาจในอีกสองปีต่อมา[2][3] พระองค์ได้รับการระบุว่าเป็นผู้จัดตั้งฮูกุมกานุนปาฮัง (กฎหมายปะหัง) ที่ผ่านการรวบรวมและกลายเป็นพื้นฐานสำหรับฝ่ายกฎหมายไม่เฉพาะในรัฐปะหังเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรัฐสุลต่านยะโฮร์ในภายหลังด้วย พระราชประวัติพระองค์เสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ. 1567 เดิมมีพระนาม ราจา อับดุล ฆาฟูร์ พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์โตของอับดุล กาดีร์ อาลาอุดดีน ชะฮ์ สุลต่านแห่งรัฐปะหังองค์ที่ 10 กับมเหสีรอง[4] ส่วนพี่น้องต่างพระราชมารดา ได้แก่ ราจา ยามีร์, ราจา อะฮ์มัด, ปูเตอรี กามาลียะฮ์[5] และปูเตอรี ไครุล บารียะฮ์ หลังการรุกรานรัฐปะหังโดยรัฐสุลต่านอาเจะฮ์ใน ค.ศ. 1617 เชื้อพระวงศ์ปะหังส่วนหนึ่งถูกนำไปยังอาเจะฮ์ ปูเตอรี กามาลียะฮ์ กลายเป็นสมเด็จพระราชินีของอิซกันดาร์ มูดา ผู้ปกครองอาเจะฮ์ ส่วนไครุล บารียะฮ์ สมรสกับโกจะฮ์ ปะฮ์ลาวัน สุลต่านแห่งเดอลีองค์แรกในอนาคต[6] ใน ค.ศ. 1584 อับดุล ฆาฟูร์ สมรสกับรายาอูงู พระขนิษฐาในรายาฮีเยาแห่งปัตตานี[7][8] ทั้งคู่ให้กำเนิดพระราชธิดาองค์เดียวพระนาม รายากูนิง[9] ทั้งรายาอูงูและรายากูนิงปกครองปัตตานีอย่างต่อเนื่องใน ค.ศ. 1624 ถึง 1651 หลังรัชสมัยรายาฮีเยากับรายาบีรู[10] อับดุล ฆาฟูร์ ก็สร้างสายสัมพันธ์การสมรสกับบรูไนด้วยการสมรสกับเจ้าหญิงซาฮาระฮ์หรือโซฮ์รา พระราชธิดาในสุลต่านไซฟุล รีจัล[11] โดยทั้งคู่ให้กำเนิดเจ้าชาย อับดุลละฮ์[12] ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทหรือ ราจา มูดา[13] อับดุล ฆาฟูร์ ยังมีพระราชโอรสกับพระมเหสีไม่ทราบพระนาม ซึ่งไม่ปรากฏพระนามในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ถูกจารึกไว้ในพระราชลัญจกรในสนธิสัญญากับมะละกาของโปรตุเกส[14] พระองค์ได้รับการระบุเป็นอาลาอุดดีน รีอายัต ชะฮ์ ผู้ที่เชื่อว่าขึ้นครองราชย์หลังปลงพระชนม์พระราชบิดาและราจา มูดา อับดุลละฮ์ พระเชษฐา ใน ค.ศ. 1614[15] สวรรคตอับดุล ฆาฟูร์ สวรรคตร่วมกับราจา มูดา อับดุลละฮ์ พระราชโอรสองค์โต ใน ค.ศ. 1614 ที่น่าจะเกิดจากพระราชโอรสองค์ที่สองวางยาพิษ[16] ซึ่งภายหลังครองราชย์ด้วยพระนามอาลาอุดดีน รีอายัต ชะฮ์[17] พระองค์มีพระนามหลังสวรรคตว่า มาร์ฮุม ปาฮัง และฝังร่วมกับพระราชโอรสที่มีพระนามหลังสวรรคตว่า มาร์ฮุม มูดา ปาฮัง ที่สุสานหลวงจนดง เปอกัน[18] ก่อน ค.ศ. 1607 ราจา มูดา อับดุลละฮ์ สมรสกับเจ้าหญิงจากรัฐเประและให้กำเนิดพระราชธิดา 2 พระองค์ เมื่อราจา มูดา อับดุลละฮ์ ถูกปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1614 พระมเหสีหม้ายกับพระราชธิดาจึงถูกส่งไปที่เประ ภายหลัง อิซกันดาร์ มูดา จับกุมทั้งสองและส่งไปที่อาเจะฮ์ โดยในเวลานั้นพระราชธิดาองค์หนึ่งได้สมรสกับราจา ซูลง เชลยหลวงอีกพระองค์ ผู้ที่ภายหลังเป็นสุลต่าน มูซัฟฟาร์ รีอายัต ชะฮ์ที่ 2 แห่งรัฐเประ[19] ในวัฒนธรรมร่วมสมัยเจษฎาภรณ์ ผลดี แสดงเป็นราจา อับดุล ฆาฟูร์ ในภาพยนตร์ ปืนใหญ่จอมสลัด โดยในภาพยนตร์ พระองค์เป็นคู่หมั้นของรายาอูงู ผู้ปกป้องปัตตานีในรัชสมัยรายาฮีเยา อ้างอิง
บรรณานุกรม
|