อาด็อล์ฟ บูเทอนันท์
อาด็อล์ฟ ฟรีดริช โยฮัน บูเทอนันท์ (เยอรมัน: Adolf Friedrich Johann Butenandt; 24 มีนาคม ค.ศ. 1903 – 18 มกราคม ค.ศ. 1995) เป็นนักชีวเคมีชาวเยอรมัน เกิดที่ใกล้เมืองเบรเมอร์ฮาเฟิน เป็นบุตรของอ็อทโท ลูอี มัคส์ บูเทอนันท์ และวิลเฮ็ลมีนา ท็อมฟอร์เดอ บูเทอนันท์ เรียนที่มหาวิทยาลัยมาร์บวร์คและมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน บูเทอนันท์มีโอกาสได้เรียนกับอาด็อล์ฟ วินเดาส์ นักเคมีรางวัลโนเบลที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน หลังเรียนจบ บูเทอนันท์เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงินและดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคนิคดันท์ซิช ในปี ค.ศ. 1936 บูเทอนันท์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันชีวเคมีไคเซอร์วิลเฮ็ล์ม (ปัจจุบันคือ สถาบันชีวเคมีมักซ์พลังค์)[1] วินเดาส์แนะนำให้บูเทอนันท์ศึกษาฮอร์โมนที่สกัดจากรังไข่ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบฮอร์โมนเอสโทรนและฮอร์โมนเพศหญิงอื่น ๆ ผลงานนี้ทำให้บูเทอนันท์และเลโอพ็อลท์ รูฌิทช์คา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1939 ในครั้งแรก บูเทอนันท์ถูกสั่งให้ปฏิเสธรางวัล แต่ภายหลังเขารับรางวัลนี้[2] บูเทอนันท์เข้าร่วมพรรคนาซีในปี ค.ศ. 1936 และมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันที่พัฒนาโครงการทางทหาร เมื่อสถาบันดังกล่าวย้ายไปอยู่ที่เมืองทือบิงเงิน บูเทอนันท์ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน ต่อมาเมื่อสถาบันได้ย้ายอยู่ที่เมืองมาร์ทีนส์รีท ใกล้เมืองมิวนิก บูเทอนันท์ได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิก ระหว่างปี ค.ศ. 1960–1972 บูเทอนันท์ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมมักซ์พลังค์เพื่อวิทยาศาสตร์ชั้นสูง[3] ในปี ค.ศ. 1959 บูเทอนันท์ค้นพบบอมบีคอล ซึ่งเป็นฟีโรโมนของผีเสื้อกลางคืนไหม[4] ด้านชีวิตส่วนตัว บูเทอนันท์แต่งงานกับเอริกา ฟอน ซีกเนอร์ในปี ค.ศ. 1931 มีบุตรด้วยกัน 7 คน บูเทอนันท์เสียชีวิตที่เมืองมิวนิกในปี ค.ศ. 1995[5] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|