Share to:

 

อิคิดนา

สำหรับ อีคิดนา ในเทพปกรณัมดูที่ อีคิดนา (เทพปกรณัม)
อีคิดนา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Monotremata
วงศ์: Tachyglossidae
Gill, 1872
สกุล

Tachyglossus
    T. aculeatus
Zaglossus
   Z. attenboroughi
   Z. bruijnii
   Z. hacketti (สูญพันธุ์)
   Z. robustus (สูญพันธุ์)

อีคิดนา (Echidna) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ ตัวกินมดหนาม (Spiky Anteater) เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของออสเตรเลีย พบในนิวกินีและออสเตรเลีย นอกจากตุ่นปากเป็ดแล้วมีเพียงอีคิดนาเท่านั้น ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงสองชนิดเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่

ลักษณะทั่วไป

อีคิดนามีรูปร่างคล้ายเม่นตัวเล็ก ๆ มีขนหยาบและขนหนาม (spine) ปกคลุมตลอดตัว เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณสามสิบเซนติเมตร จมูกเรียวยาว ขาสั้นแข็งแรง อุ้งเล็บใหญ่ ขุดดินได้ดี อีคิดนามีปากเล็ก ไม่มีฟัน หาอาหารโดยการฉีกท่อนไม้ผุ ขุดจอมปลวก ใช้ลิ้นเหนียว ๆ กวาดปลวก มด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ แล้วบดเหยื่อกับเพดานปากก่อนกลืน

อีคิดนาเป็นสัตว์ที่สันโดษมาก มักหากินไปตามลำพัง ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์มันจะตามกลิ่นไปหาคู่ อีคิดนาผสมพันธุ์ในช่วงกลางฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะมีขาสั้นอีคิดนาจึงเดินช้าและงุ่มง่าม แต่ว่ายน้ำเก่งจนน่าแปลกใจเนื่องจากอีคิดนานั้นสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่มีลักษณะคล้ายตุ่นปากเป็ด

พฤติกรรมทั่วไป

อีคิดนา ตาไว จมูกไว แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูน่าเกรงขามแต่อีคิดนาเป็นสัตว์ขี้อายและขี้กลัว ที่ข้อเท้าหลังของอีคิดนาตัวผู้มีเดือยยื่นออกมาคล้ายของตุ่นปากเป็ด ในขณะที่ตุ่นปากเป็ดสามารถใช้เดือยแทงและปล่อยพิษใส่ศัตรูได้ อีคิดนากลับไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว เมื่อต้องเผชิญหน้ากับผู้บุกรุกมันจะหลบมากกว่าสู้ อาจจะซ่อนตัวในพุ่มไม้ หรือแทรกตัวเข้าไปในโพรงขอนไม้ ซอกหิน หรือมุดลงในดิน หากไม่มีทางเลือกอื่นมันก็จะม้วนตัวกลมให้หนามยื่นออกไปรอบตัว

มีศัตรูไม่กี่ชนิดที่สามารถทำร้ายอีคิดนาได้ เช่น สุนัข หมาป่าดิงโก แมว หมู ศัตรูเหล่านี้ต้องเคยผ่านประสบการณ์กับอีคิดนามาก่อน จึงรู้ว่าเมื่ออีคิดนาวัยผู้ใหญ่ม้วนตัวจะมีจุดอ่อนที่ท้อง เพราะมันไม่สามารถม้วนจนกลมเป็นลูกบอลได้เหมือนอีคิดนาวัยอ่อน และเชื่อกันว่าสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดกินลูกอีคิดนา อีคิดนาวางไข่ครั้งละหนึ่งฟองเท่านั้น หลังผสมพันธุ์ยี่สิบสองวันอีคิดนาตัวเมียจะวางไข่เปลือกนิ่มออกมาหนึ่งฟอง แล้วใส่ไว้ในถุงหน้าท้องคล้ายของจิงโจ้ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นมาในระยะผสมพันธุ์ ฟักไข่ไว้ในถุงสิบวัน ลูกอีคิดนาจึงออกจากไข่ ลูกอ่อนของอีคิดนาเรียกว่า พักเกิ้ล (puggle) มีขนาดไม่เกินสองเซนติเมตร

เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับโมโนทรีมาตาไม่มีหัวนม มีเพียงฐานนมสองข้าง พักเกิ้ลจึงดูดนมจากท่อเล็ก ๆ ที่ฐานนมแม่ และอาศัยอยู่ในถุงหน้าท้องแม่สี่สิบห้าถึงห้าสิบห้าวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ขนหนามเริ่มขึ้นแล้ว แม่อีคิดนาจะขุดโพรงอนุบาลไว้ใส่ลูก และกลับมาให้นมทุกห้าวัน ลูกอีคิดนาหย่านมตอนอายุประมาณเจ็ดเดือน อีคิดนาเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนและปรับตัวเก่ง ในเขตภูเขาช่วงหน้าหนาวมันจะจำศีลอย่างกบ ในเขตทะเลทรายตอนกลางวันมันจะหลบร้อนอยู่ในอุโมงค์หรือหลืบหิน ออกหากินเฉพาะตอนกลางคืน ในเขตอากาศอบอุ่นส่วนใหญ่จะออกมาตอนพลบค่ำ แต่หากอากาศหนาวขึ้นมันก็จะออกมาหากินได้ทั้งวัน

การจำแนกประเภท

อีคิดนาแยกเป็น 2 สกุล คือ Zaglossus กับ Tachyglossus

  • สกุล Zaglossus เป็นอีคิดนาจมูกยาว มีจมูกยาวคล้ายตัวกินมด แบ่งออกเป็น 4 สปีชีส์ สูญพันธุ์ไปแล้ว 2 สปีชีส์
    1. สปีชีส์ Zaglossus attenboroughi
      • เป็นอีคิดนาจมูกยาวที่เรียกว่า Cyclops Long-beaked Echidna เพิ่งค้นพบได้ไม่นาน ในบางพื้นที่ของนิวกินี ซึ่งสูงกว่าเขตที่อีคิดนาจมูกยาวสปีชีส์ Zaglossus bruijnii อาศัยอยู่
    2. สปีชีส์ Zaglossus bruijnii
      • เป็นอีคิดนาจมูกยาวที่เรียกว่า Long-beaked Echidna อาศัยอยู่ในป่าแถบที่ราบสูง หรือภูเขาสูงในนิวกินี อาหารคือหนอนและแมลงที่ขุดคุ้ยได้จากกองใบไม้ที่ทับถมกันอยู่ในป่า
    3. สปีชีส์ Zaglossus hacketti สูญพันธุ์แล้ว ศึกษาจากฟอสซิล
    4. สปีชีส์ Zaglossus robustus สูญพันธุ์แล้ว ศึกษาจากฟอสซิล
  • สกุล Tachyglossus
    • เป็นอีคิดนาจมูกสั้น ที่เรียกว่า Short-beaked Echidna (ดูภาพประกอบ) มีเพียงสปีชี่ส์เดียว คือ Tachyglossus aculeatus พบในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของนิวกินี และทั่วทวีปออสเตรเลีย ตั้งแต่เขตภูเขาที่มีหิมะปกคลุมไปจนถึงเขตทะเลทราย อีคิดนาจมูกสั้นตัวเล็กกว่าอีคิดนาจมูกยาว แต่มีขน (hair) ยาวกว่า โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่อยู่ในแทสเมเนียจะมีขนยาวมากจนมองแทบไม่เห็นขนหนาม (spine)

สถานภาพ

แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าอีคิดนาจมูกสั้นมีจำนวนประมาณเท่าไร แต่เชื่อกันว่ามันอยู่ในสถานภาพที่ไม่มั่นคงนัก ลักษณะและพฤติกรรมของอีคิดนาจะแตกต่างกันออกไปตามถิ่นอาศัย การแยกกันอยู่อย่างกระจัดกระจายทำให้ถูกโจมตีจากสัตว์อื่นได้ง่าย พื้นที่อาศัยลดน้อยลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อจำนวนอีคิดนา อีคิดนาจมูกยาวอยู่ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว และอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะชาวนิวกินีล่ามันเป็นอาหารด้วย

เบ็ดเตล็ด

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya