Share to:

 

อุดม สิทธิวิรัชธรรม

อุดม สิทธิวิรัชธรรม
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไทย
เริ่มดำรงตำแหน่ง
1 เมษายน พ.ศ. 2563[1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 (70 ปี)[1]
คู่สมรสสมจิตต์ สิทธิวิรัชธรรม
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ. 2517)[2]
อาชีพ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัด กองทัพเรือไทย
ประจำการพ.ศ. 2519 – พ.ศ. 2524
ยศ เรือโท

อุดม สิทธิวิรัชธรรม (เกิด 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497)[1] เป็นตุลาการชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งหลากหลายในวงการตุลาการ ซึ่งรวมถึงการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[1]

ชีวิตส่วนตัว

อุดมเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497[3]

อุดมสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใน พ.ศ. 2517[2] เป็นเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาใน พ.ศ. 2518[2] และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2525[2]

อุดมสมรสกับสมจิตต์ สิทธิวิรัชธรรม[4]

การทำงาน

อุดมเริ่มทำงานในวงการตุลาการด้วยการเป็นนายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ ในช่วง พ.ศ. 2519–2524[3]

จากนั้นอุดมย้ายไปอยู่ศาลยุติธรรม โดยเริ่มจากตำแหน่งในศาลชั้นต้นดังต่อไปนี้ คือ ช่วง พ.ศ. 2524–2534 เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ ตามลำดับ[3] พ.ศ. 2534–2540 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร ตามลำดับ[3] และ พ.ศ. 2540–2542 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา[3]

ต่อมาได้เลื่อนขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ โดยดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ตามลำดับ คือ พ.ศ. 2542–2549 เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6[3] พ.ศ. 2549–2550 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3[3] พ.ศ. 2550–2552 เป็นประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ ภาค 3[3] พ.ศ. 2552–2554 เป็นรองประธานศาลอุทธรณ์[3]

จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งในศาลหลายชั้นสลับกันดังนี้ คือ ในช่วง พ.ศ. 2554–2556 เป็นอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1 และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามลำดับ[3] พ.ศ. 2556–2557 เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา[3] พ.ศ. 2557–2559 เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5[3] พ.ศ. 2559–2561 เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา[3] และ พ.ศ. 2561–2563 เป็นประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา[3]

ภายหลัง วุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 ซึ่งมีที่มาจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557[5] ได้เห็นชอบให้อุดมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563[1]

ความเห็นในการวินิจฉัยคดี

การยุบพรรคก้าวไกล

ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล และห้ามกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี[6] ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 อุดม ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในที่สาธารณะเกี่ยวกับการที่พรรคดังกล่าวได้รับเงินบริจาคหลังถูกยุบพรรคว่า[7]

"จริง ๆ ต้องขอบคุณผมนะ มีการยุบพรรคเขา เห็นไหมครับ เขาได้เงินตั้งกี่ล้านน่ะ ภายในสองวัน ถ้าไม่ยุบเนี่ย เขาร้องไห้ฟรีเลยนะ ก่อนหน้านั้นน่ะ เงินไม่มีนะ ต้องขอบคุณผมนะทำให้เขามีเงินเข้าไปตั้ง 20–30 ล้าน ใช่ไหม สมาชิกเก่าเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกตามไปด้วยเห็นไหม ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนตรงไหนเลย ยุบปั๊บ เอ้า ไปเปิดพรรคใหม่ได้ เอ้า ไม่ข้องใจแล้วหรือ เมื่อวานร้องไห้อยู่ พรรคเราจะไปแล้ว อย่างนู้นอย่างนี้ โอ้ สองวันเลิก จากน้ำตาเป็นเสียงหัวเราะ ยักไหล่แล้วไปต่อ เงิน 20 ล้าน"

คำกล่าวข้างต้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการพูดเยาะเย้ยถากถาง และแสดงถึงวุฒิภาวะตลอดจนความไม่เป็นกลาง[8][9][10] นักกฎหมายและนักวิชาการหลายคน เช่น ธงทอง จันทรางศุ, ประจักษ์ ก้องกีรติ, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, และมุนินทร์ พงศาปาน ตั้งคำถามถึงพฤติกรรมของอุดมว่าขัดต่อจริยธรรมของฝ่ายตุลาการหรือไม่ ซึ่งเป็นจริยธรรมเดียวกับที่อุดมใช้ตรวจสอบผู้อื่น[11] นอกจากนี้ บางภาคส่วนในสังคมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อุดมลาออก[12] และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดจะยื่นญัตติต่อสภาฯ ให้ตรวจสอบอุดม เนื่องจากเห็นว่า "มีอคติ ไม่คู่ควรเป็นตุลาการ"[13]

ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน

ใน พ.ศ. 2567 มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเพราะฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อุดมเป็นตุลาการเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียงที่ให้รับคดีนี้ไว้พิจารณา และเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย 4 ต่อ 5 เสียงที่ให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณา และเป็นตุลาการเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียงที่ให้ความเป็นรัฐมนตรีเศรษฐาสิ้นสุดลง[2]

ทรัพย์สิน

จากการเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเมื่อเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2563 ปรากฏว่า อุดมมีทรัพย์สินรวม 8,656,369 บาท มีรายได้ต่อปีรวม 4,370,000 บาท และมีหนี้สินรวม 308,413 บาท ส่วนคู่สมรสของอุดมมีทรัพย์สินรวม 15,758,681 บาท มีรายได้ต่อปีรวม 210,000 บาท และมีหนี้สินรวม 6.7 แสนบาท[4]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 "ประวัติ "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ". pptvhd36.com. 2024-08-21.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "เปิดประวัติ 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สายนิติศาสตร์ ฟัน"เศรษฐา-ครม."ทั้งคณะ". thansettakij.com. 2024-08-14.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 "เปิดประวัติ "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ". komchadluek.net. 2024-08-21.
  4. 4.0 4.1 "เปิดทรัพย์สิน อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ". sanook.com. 2024-08-21.
  5. "'พฤฒสภา' สภาคู่อายุสั้นหลัง 2475 กำเนิด 'วุฒิสภา' มรดกรัฐประหาร 89 ปี เลือกตั้งได้ครั้งเดียว". plus.thairath.co.th. 2021-11-19.
  6. "ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ "เอกฉันท์" สั่งยุบพรรคก้าวไกล แบนกรรมการ 11 คน 10 ปี". ilaw.or.th. 2024-07-08.
  7. "ตุลาการศาลรธน. ชี้พรรคประชาชนต้องขอบคุณ เพราะยุบถึงได้บริจาค 20 ล้าน". matichon.co.th. 2024-08-21.
  8. "รังสิมันต์ชี้ การยุบพรรคไม่ใช่เรื่องตลกที่จะพูดเล่นได้ คำพูดถากถางสะท้อนว่าไม่เคารพอำนาจประชาชน". thestandard.co. 2024-08-21.
  9. ""วิโรจน์" แนะ "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" อ่านจริยธรรมตุลาการ หลังพูดติดตลก คดียุบก้าวไกล". thairath.co.th. 2024-08-21.
  10. ""อุดม" แซวแรงยุบก้าวไกล ต้องขอบคุณผม "อมรัตน์" ฟาด สามหาว! "ช่อ พรรณิการ์" ลั่น ขอบคุณที่ช่วยประชาสัมพันธ์". today.line.me. 2024-08-21.
  11. "ใครจะตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อตุลาการถูกตั้งคำถามจริยธรรมเสียเอง". bbc.com. 2024-08-22.
  12. "กป.อพช. จี้ 'อุดม สิทธิวิรัชธรรม' ลาออก จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ". theactive.net. 2024-08-22.
  13. ""อดิศร" ฟาด "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" อวดเบ่ง มีอคติ ไม่คู่ควรเป็นตุลาการ จ่อยื่นญัตติ". thairath.co.th. 2024-08-22.
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๒๓, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  16. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒ ข หน้า ๓๖๐, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
Kembali kehalaman sebelumnya