Share to:

 

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)

เจ้าพระยานิกรบดินทร์
(โต กัลยาณมิตร)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2392 - พ.ศ. 2406
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ถัดไปเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2373 - พ.ศ. 2394
ก่อนหน้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี)
ถัดไปพระยาราชสุภาวดี (ปาน สุรคุปต์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
โต แซ่อึ้ง

3 ตุลาคม พ.ศ. 2327
บ้านกุฎีจีน
เสียชีวิต20 กันยายน พ.ศ. 2406 (78 ปี)
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสท่านผู้หญิงลิ้ม
บุตรท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาอึ่ง ในรัชกาลที่ 3)
พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร)
เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร)
บุพการี
  • หลวงพิชัยวารี (มั่น แซ่อึ้ง) (บิดา)
สกุลกัลยาณมิตร

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (3 ตุลาคม พ.ศ. 2327 - 20 กันยายน พ.ศ. 2406) ชื่อเดิมว่า โต หรือ โต แซ่อึ้ง (黃道 จีนฮกเกี้ยน: n̂g tō จีนกลาง: Huáng Dào) เป็นสมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 3–4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นต้นสกุล "กัลยาณมิตร"

ประวัติ

เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. 2327[1] ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นบุตรของหลวงพิชัยวารี นามว่า มั่น แซ่อึ้ง[2][3] (黃緩 จีนฮกเกี้ยน: n̂g hoǎn จีนกลาง: Huáng Huǎn) ซึ่งนายมั่น แซ่อึ้ง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนเกิดที่ตำบลไซจั๋มกัวยิม เมืองเอ้หมึง[3] อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านกุฎีจีนในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมานายมั่นได้รับราชการเป็นหลวงพิชัยวารีในรัชกาลที่ 1 เมื่อหลวงพิชัยวารี (มั่น) ถึงแก่กรรมแล้ว นายโตจึงได้เข้ารับราชการต่อจากบิดาดำรงตำแหน่งเป็นพระพิชัยวารี[2] ผู้ช่วยราชการกรมท่า[1] ในรัชกาลที่ 2 พระพิชัยวารี (โต) ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทำราชการในกรมท่าเกี่ยวกับการค้าขายสำเภา ได้รับสมญานามว่า "เจ๊สัวโต" เจ๊สัวโตมีพี่น้องคนหนึ่งชื่อว่า "เจ๊สัวต่วน"[3]

รับราชการ

ในปี พ.ศ. 2367 เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งพระพิชัยวารี (โต) ขึ้นเป็นพระยาพิชัยวารี[4] พระยาพิชัยวารี (โต) ได้ยกที่บ้านเดิมและซื้อบ้านข้าราชการเจ้าสัวและนายภาษีอากรหลายคน[5] สร้างวัดขึ้นใน พ.ศ. 2368 ถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดฯ พระราชทานนามว่า"วัดกัลยาณมิตร" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมทั้งพระวิหารประดิษฐานพระราชทานเพื่อเป็นประธานแก่วัดนี้ด้วย[6]

ต่อมาใน พ.ศ. 2373 เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าที่สมุหนายกแล้ว พระยาพิชัยวารี (โต) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ในสงครามอานัมสยามยุทธ ใน พ.ศ. 2381 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ยกทัพจำนวน 10,000 คน ออกไปบูรณะปรับปรุงกำแพงเมืองเสียมราฐขึ้นใหม่[4] เพื่อป้องการการรุกรานจากญวน และใน พ.ศ. 2388 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพไปกัมพูชา พระยาราชสุภาวดี (โต) ออกไปตั้งอยู่ที่กบินทรบุรีทำหน้าที่คอยส่งเสบียงให้แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา[4]

พระยาราชสุภาวดี (โต) สร้างวัดสมุหประดิษฐารามเพื่ออุทิศให้แก่มารดา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง[7]

เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงแก่อสัญกรรมใน พ.ศ. 2392 ทำให้ตำแหน่งสมุหนายและตำแหน่งจางวางกรมพระคลังมหาสมบัติว่างลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (โต) เป็น พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก และว่าที่จางวางกรมพระคลังมหาสมบัติด้วย[1] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติใน พ.ศ. 2394 พระราชทานสุพรรณบัฏตั้งพระยาราชสุภาวดี (โต) ว่าที่สมุหนายกขึ้นเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร อเนกบุญฤทธิประสิทธิธาดา สาธุสิทธิคุณ วิบุลยศุภผล นิพัทธกุศลกิริยาภิรัต ธัญญธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ อดุลยเมตยาชวาธยาศัย ศรีรัตนตรัยสรณารักษ อุดมศักดิพิเศษ นาครามาตยเชษฐมหาสมุหนายก สยามโลกดิลกบรมราชมหิศร สกโลตรทิศประเทศาธิบดี มหาราชสีหมุรธาธร อัครมหาดทยวริศรเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ ที่สมุหนายก[8][9]

บั้นปลายชีวิต

ในพ.ศ. 2402 นายอีซีดูรู ฟรังซิสกู กุยมาราเอส (Isidoro Francisco Guimarães) เจ้าเมืองมาเก๊าของโปรตุเกส นำคณะทูตโปรตุเกสเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนฝ่ายสยามในการทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส[8] นำไปสู่สนธิสัญญาสยาม-โปรตุเกสซึ่งมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่โปรตุเกส

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีกุน พ.ศ. 2406 อายุ 79 ปี[2] ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2407 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยานิกรบดินทร์[8] อัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์บรรจุอยู่ที่เจดีย์วัดกัลยาณมิตร[5]

ครอบครัว

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สมรสกับท่านผู้หญิงลิ้ม ปรากฏบุตรธิดาดังนี้ [10]

นอกจากนี้ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ยังมีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่น ๆ ดังนี้

  • หลวงเดชนายเวร (ทองอยู่ กัลยาณมิตร) ร่วมในคณะทูตสยามไปกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2400
  • พระยาสระบุรี (สุ่ม)
  • นายด้วง
  • นายแตงโม
  • ธิดาชื่อ ม่วง
  • ธิดาชื่อ พลับ
  • ธิดาชื่อ สาลี่
  • ธิดาชื่อ กลาง
  • ธิดาชื่อ สุก
  • ธิดาชื่อ ทองจีน

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 ประวัติวัดกัลยาณมิตร เรียบเรียงโดย พระครูกัลยาณุกูล. นางสาวปลีก กัลยาณมิตร พิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเชื่อ เสวิกุล ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๖.
  2. 2.0 2.1 2.2 "เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. p. 26.
  3. 3.0 3.1 3.2 บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. "ภัยฝรั่ง" สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2550.
  4. 4.0 4.1 4.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  5. 5.0 5.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่าง สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2551.
  6. "ปฐมเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร และนัยที่สะท้อนว่าร.3 ทรงรัก "เจ้าสัวโต" สหายของพระองค์ยิ่ง". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. "วัดสมุหประดิษฐาราม". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
  8. 8.0 8.1 8.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
  9. ๑๗. ทรงแต่งตั้งขุนนาง วชิรญาณ.
  10. รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
Kembali kehalaman sebelumnya