เทศบาลตำบลเกาะสีชัง
เทศบาลตำบลเกาะสีชัง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งในอำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มีชื่อเสียงจากการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล และเป็นแหล่งประมงดั้งเดิม[3] ใน พ.ศ. 2563 เทศบาลตำบลเกาะสีชังมีประชากรทั้งหมด 4,494 คน[2] ประวัติเดิมเทศบาลตำบลเกาะสีชังเป็นส่วนหนึ่งของตำบลท่าเทววงษ์ (เดิมคือตำบลเกาะสีชัง)[4][5] ในยุครัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงครามได้ประกาศยกฐานะพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าเทววงษ์จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลเกาะสีชัง กิ่งอำเภอเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2499[6] มีพื้นที่ทั้งหมด 7.96 ตารางกิโลเมตร[7] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ด้วยเหตุนี้สุขาภิบาลเกาะสีชัง จึงเปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบลเกาะสีชัง มาแต่นั้น[1] ต่อมากระทรวงมหาดไทยประกาศเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลเกาะสีชัง โดยทำการยุบองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเทววงษ์ซึ่งมีประชากรบนเกาะขามใหญ่ไม่ถึง 2,000 คน รวมเข้ากับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เมื่อวันทื่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551[8] ด้วยเหตุนี้เทศบาลตำบลเกาะสีชังจึงมีพื้นที่ทางทะเลเพิ่ม รวมเป็น 25.61 ตารางกิโลเมตร[7] ที่ตั้งและอาณาเขตเทศบาลตำบลเกาะสีชังอยู่กลางอ่าวไทย ห่างจากอำเภอศรีราชา 12 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองชลบุรี 39 กิโลเมตร[9] มีพื้นที่ทั้งหมด 25.61 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมตำบลท่าเทววงษ์ 7 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังต่อไปนี้[10]
เขตการปกครองเดิมเทศบาลตำบลเกาะสีชังครอบคลุมเพียงเกาะสีชังเพียงแห่งเดียว แต่หลังการยุบองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเทววงษ์รวมเข้ากับเทศบาล ทำให้เทศบาลตำบลเกาะสีชังครอบคลุมเกาะอื่น ๆ ได้แก่ เกาะขามใหญ่ เกาะขามน้อย (บ้างเรียกเกาะผี)[11][12] เกาะสัมปะยื้อ เกาะปรง เกาะร้านดอกไม้ เกาะยายท้าว เกาะค้างคาว และเกาะท้ายตาหมื่น[7][8] โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 ชุมชน ดังนี้[13]
ประชากรพ.ศ. 2562 เทศบาลตำบลเกาะสีชังมีประชากรทั้งหมด 4,538 คน[2] ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองเดิม[14] ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นริมชายฝั่งแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง โดยมากประกอบอาชีพประมง ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป[3] จากเอกสารของจอห์น ครอว์เฟิร์ดราชทูตอังกฤษที่เคยพักบนเกาะสีชังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อ พ.ศ. 2365 ระบุว่าเป็นชุมชนชาวไร่ขนาดเล็ก เพาะปลูกอย่างจำกัดเพราะขาดน้ำ ราษฎรมีทั้งจีนและลาว[15] ดังจะพบว่าชื่อเกาะสีชังอาจจะมาจากภาษาจีนว่า "ซีซัน" แปลว่า "สี่คนทำไร่"[16] แต่หลังการเสด็จไปประทับบนเกาะสีชังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคหลากหลาย[17] ทำให้บนเกาะสะดวกสบายขึ้น มีประชากรแฝงเพิ่มขึ้น และพัฒนาเป็นเมืองท่า[18] ใน พ.ศ. 2434 มีประชากรราว 1,700 คน[19] ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 95 ศาสนาอิสลามร้อยละ 4 ศาสนาคริสต์และอื่น ๆ ร้อยละ 1[10] มีศาสนสถานสำคัญได้แก่ วัดจุฑาทิศธรรมสภารามวรวิหาร[20] วัดอัษฎางคนิมิตร (ชื่อเดิมวัดเกาะสีชัง)[21] และวัดถ้ำยายปริก[22] พ.ศ. 2563 มีการเปิดมัสยิดอบูอุบัยดะห์ บิน ยัรรอฮ์ เกาะสีชัง เป็นมัสยิดแห่งแรกบนเกาะสีชัง[23] วัฒนธรรมในอดีตเกาะสีชังมีประเพณีที่เรียกว่าไอ้เมฆไอ้หมอก โดยจะให้ชาวบ้านสองคนแต่งตัวเป็นผี แล้วให้ชาวบ้านเอาของมาเซ่นไหว้ เมื่อได้เครื่องเซ่นมาแล้ว ผู้ที่แต่งตัวเป็นไอ้เมฆไอ้หมอกก็จะแย่งกินเครื่องเซ่นนั้น เมื่อกินเสร็จชาวบ้านที่ร่วมพิธีจะเอาไม้ทำเป็นไล่ตีไอ้เมฆไอ้หมอกลงทะเลไป ถือเป็นขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากเกาะ[24] ส่วนประเพณีที่มีชื่อเสียงที่สุดและยังดำรงอยู่ในปัจจุบันคือประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ จะมีในช่วงสงกรานต์ที่ผู้ชายสามารถอุ้มสาวบนเกาะลงทะเล ถือเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานร่วมกันอย่างหนึ่ง[24] อ้างอิง
|