เบนจา อะปัญ
เบนจา อะปัญ (ชื่อเกิด: เบญจมาพร อะปัญ; เกิด พ.ศ. 2542) ชื่อเล่น แพรว เป็นนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวชาวไทย หนึ่งในผู้นำของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่เริ่มต้นการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ทลายเพดานการเคลื่อนไหวแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ภายหลังเบนจาได้กลายเป็นผู้นำคนสำคัญของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมใน พ.ศ. 2564 ในช่วงการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 เบนจาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้จัดการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทยเพื่อกดดันพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 10,000 คน ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 เบนจาได้เป็นผู้นำการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมแบบ 'คาร์ม็อบ' เพื่อประท้วงในเรื่องการจัดการวัคซีนที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างเชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ การปราศรัยในวันนั้นทำให้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อจับกุมเบนจาโดยไม่ได้ออกหมายเรียก จากข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัว ทำให้เบนจาถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางโดยอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาทั้งหมด 100 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565 ชีวิตในช่วงแรกเบนจา อะปัญ เกิดและโตที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เข้าเรียนที่ระดับประถมที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา เข้าเรียนระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา เบนจาไม่ได้สนใจการเมืองตั้งแต่แรกเนื่องจากสมาชิกในครอบครัวนิยมเจ้า แต่เมื่อได้เข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เบนจาได้ทำกิจกรรมโรงเรียน และสนใจการเมืองตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งได้รู้จักกับนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญคือพริษฐ์ ชิวารักษ์ตั้งแต่ตอนนั้น[1] เบนจาสนใจการศึกษาอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงอยากเป็นนักบินอวกาศตั้งแต่เด็ก[2] เนื่องจากเบนจาอยากทำงานด้านอวกาศซึ่งในประเทศไทยยังไม่พัฒนาเรื่องนี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อจากเบญจมาพรเป็นเบนจาเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกชื่อเวลาได้ไปทำงานในระดับนานาชาติ[1] การเคลื่อนไหวทางการเมืองเบนจา อะปัญ เข้าเรียนที่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อศึกษาด้านวิศวกรรม.[2] ซึ่งทำให้ได้เข้าร่วมกับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ทลายเพดานการเคลื่อนไหวแบบเดิมอย่างสิ้นเชิงกับแกนนำอย่างปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลและเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์[3] ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ในขณะที่แกนนำการเคลื่อนไหวการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 อานนท์ นำภายังไม่ได้รับการปล่อยตัว เบนจาได้เป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนขบวนประท้วงในหน้าสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เพื่อกดดันพระมหากษัตริย์ที่กำลังอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมัน[4] การประท้วงนี้มีคนเข้าร่วมกว่า 10,000 คน จากการสังเกตของ Nikkei Asia[5] 3 วันให้หลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจทุ่งมหาเมฆได้ฟ้องเบนจาและแกนนำวันนั้นเช่น มายด์ ภัสราวลี ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น[6] เบนจาเริ่มต้นการปราศรัยครั้งแรกที่ม็อบตุ้งติ้ง2 ที่สีลม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ในเรื่องการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์[7] วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 เบนจาได้ไปประท้วงถือป้าย "ผูกขาดวัคซีน หาซีนให้เจ้า" ที่ไอคอนสยาม ศูนย์การค้าที่สยามพิวรรธน์ (ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น) และเครือซีพีเป็นเจ้าของ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นเจ้าของบริษัทสยามไบโอไซน์ที่ผลิตวัคซีน เบนจาถูกคุกคามและทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของไอคอนสยาม ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อ[8][9] วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 เบนจาและกลุ่มนักเรียนนักศึกษาไปประท้วงที่หน้าศาลอาญาเพื่อส่งจดหมายเรียกร้องการประกันตัวนักเคลื่อนไหวที่กำลังอดอาหารในเรือนจำ เช่น พริษฐ์ โดยนำเอกสารที่ล่ารายชื่อผู้สนับสนุนกว่า 10,000 ชื่อ แนบมาด้วย เบนจาได้เรียกร้องให้ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่ไม่ให้ประกันตัว ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวออกมา เบนจาได้โปรยกระดาษที่มีรายชื่อนั้นบนบันไดหน้าศาล และกล่าวว่านักศึกษาไม่ใช่ภัยความมั่นคงแต่อย่างใด แต่อยากที่จะพัฒนาสังคมไทยและสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย [10] เบนจานำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯจัดคาร์ม็อบที่แยกราชประสงค์ขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม และเคลื่อนขบวนไปหน้าอาคารซิโนไทยของรองนายกรัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล และได้ปราศรัยเกี่ยวกับการจัดการวัคซีนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เอื้อให้กับนายทุนโครงสร้างของเขาเอง ซึ่งกล่าวโยงไปถึงพระมหากษัตริย์[11] เบนจาถูกจับกุมในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ในข้อหาความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย ในประเด็นการปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์วันที่ 10 สิงหาคม และไม่ได้รับการประกันตัวอีกครั้ง ด้วยเนื่องจากผิดเงื่อนไขในการประกันตัว จากการได้รับประกันตัวก่อนหน้านี้ จึงถูกนำตัวคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง[12] จนกระทั่งได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565 โดยรวมเป็นระยะเวลาทั้งหมด 100 วันในเรือนจำ โดยใช้เงินประกันตัวรวมทั้งหมดสองคดี 200,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์[13] ศาลสั่งเบนจาให้ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ ให้อยู่ในเคหสถานตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า และห้ามออกนอกประเทศหากศาลไม่อนุญาต[14] ดูเพิ่มอ้างอิง
|