Share to:

 

เบราน์ชไวค์

เบราน์ชไวค์
ธงของเบราน์ชไวค์
ธง
ตราราชการของเบราน์ชไวค์
ตราอาร์ม
ที่ตั้งของเบราน์ชไวค์ ในLower Saxony
ประเทศเยอรมนี
รัฐนีเดอร์ซัคเซิน
อำเภอนครปลอดอำเภอ
ก่อตั้งคริสต์ศตวรรษที่ 9
เขตการปกครอง19 เขต
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีอุลริช มาร์คัวร์ท (SPD)
พื้นที่
 • นคร192.13 ตร.กม. (74.18 ตร.ไมล์)
ความสูง75 เมตร (246 ฟุต)
ประชากร
 (2020-12-31)[2]
 • นคร248,561 คน
 • ความหนาแน่น1,300 คน/ตร.กม. (3,400 คน/ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล1,150,000[1] คน
เขตเวลาUTC+01:00 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+02:00 (CEST)
รหัสไปรษณีย์38100–38126
รหัสโทรศัพท์0531, 05307, 05309
ทะเบียนพาหนะBS
เว็บไซต์braunschweig.de

เบราน์ชไวค์ (เยอรมัน: Braunschweig; อังกฤษ, ฝรั่งเศส: Brunswick) เป็นเมืองหนึ่งในรัฐนีเดอร์ซัคเซิน ประเทศเยอรมนี มีฐานะเป็นเมืองอิสระ (kreisfreie Stadt) ตามการบริหารเขตปกครองของเยอรมนี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐ ปัจจุบันมีประชากรราว 247,000 คน ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของรัฐนีเดอร์ซัคเซินรองจากฮันโนเฟอร์ เมื่อรวมเขตปริมณฑลของเมืองเข้าด้วยจะมีประชากรราว 1 ล้านคน เบราน์ชไวค์เป็นเมืองศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและสหภาพยุโรป[4]

เบราน์ชไวค์เป็นส่วนหนึ่งของ เขตปริมณฑลฮันโนเฟอร์-เบราน์ชไวค์-เกิททิงเงน-ว็อลฟส์บูร์ก ซึ่งมีประชากรทั้งหมดราว 3.9 ล้านคน เมืองใหญ่แห่งอื่นที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงได้แก่ ว็อลฟส์บูร์ก (ประชากร 123,000) ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 30 กิโลเมตร ฮันโนเฟอร์ (ประชากร 518,000) ทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 70 กิโลเมตร และมัคเดอบวร์ค (ประชากร 230,000) ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของเบราน์ชไวค์ย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9[5] ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรียได้พัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่มีอิทธิพลและเข้มแข็งอย่างรวดเร็ว ทำให้ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 เบราน์ชไวค์มีฐานะเป็นเมืองสมาชิกในสันนิบาตฮันเซียติก ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารของเมืองการค้าและสมาคมพ่อค้าที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาเอกสิทธิ์ในการค้าขายตามชายฝั่งทะเลของยุโรปเหนือ

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เบราน์ชไวค์มีสถานะเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระเบราน์ชไวค์ ส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไวมาร์ จนกระทั่ง ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) เบราน์ชไวค์กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนีเดอร์ซัคเซินจนถึงปัจจุบัน

ภูมิศาสตร์

แม่น้ำโอเกอร์ขณะไหลผ่านสวนเบือร์เกอร์พาร์ก ทางทิศใต้ของเมืองเก่า

เมืองเบราน์ชไวค์ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางเหนือของประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่บนที่ราบเยอรมันเหนือ (Norddeutsches Tiefland) มีแม่น้ำโอเกอร์ (Oker) ยาว 128 กิโลเมตร[6] ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือผ่านเขตเมืองเก่า แม่น้ำสายนี้มีลักษณะพิเศษคือเมื่อเริ่มไหลเข้าเขตเมืองเก่าทางทิศใต้จะมีฝายกั้นน้ำแยกแม่น้ำออกเป็นสองส่วน และบรรจบกันอีกครั้งทางตอนเหนือ ทำให้เขตเมืองเก่าของเบราน์ชไวค์มีสภาพคล้ายเกาะกลางน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งในยุคกลางทำหน้าที่เป็นป้อมปราการธรรมชาติของเมือง แม่น้ำโอเกอร์บรรจบกับคลองมิทเทิลลันด์คานาล (Mittellandkanal) ทางทิศเหนือของเมือง แหล่งน้ำแห่งอื่นได้แก่ คลองวาเบ (Wabe, ยาว 26.5 กิโลเมตร) และคลองมิทเทิลรีเดอ (Mittelriede, ยาว 6 กิโลเมตร) ซึ่งคลองทั้งสองสายนี้ตั้งอยู่ห่างกันเพียง 100 เมตร ไหลขนานกันจากทิศใต้ขึ้นเหนือ ผ่านตัวเมืองด้านทิศตะวันออก คลองทั้งสองสายไหลบรรจบกับคลองชุนเทอร์ (Schunter) ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง

เมืองเบราน์ชไวค์มีพื้นที่ทั้งสิ้น 192.13 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตของพื้นที่เมืองยาว 98 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดระหว่างทิศเหนือ-ใต้ยาว 19.1 กิโลเมตร ระหว่างทิศตะวันออก-ตะวันตกยาว 15.7 กิโลเมตร พื้นที่ใจกลางเมืองมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 70 เมตร จุดที่สูงที่สุดของเมืองคือเนินเขาไกเทิลเดอร์แบร์ก (Geitelder Berg) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง มีความสูง 111 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนจุดที่ต่ำที่สุดเป็นแนวโค้งของแม่น้ำโอเกอร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง มีความสูง 62 เมตรจากระดับน้ำทะเล[7]

เบราน์ชไวค์มีภูมิอากาศก้ำกึ่งระหว่างอากาศแบบชายทะเลทางทิศตะวันตกและอากาศแบบแผ่นดินใหญ่ทางทิศตะวันออก อุณหภูมิปานกลางเฉลี่ยทั้งปีเท่ากับ 8.8 °C ปริมาณหยาดน้ำฟ้าอยู่ระหว่าง 600 ถึง 650 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นฤดูร้อนอยู่ที่ 17.5 °C ส่วนในเดือนมกราคมซึ่งเป็นฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ย 0.2 °C

ข้อมูลภูมิอากาศของเบราน์ชไวค์
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 2.8
(37)
3.7
(38.7)
8.1
(46.6)
13.1
(55.6)
18
(64)
21
(70)
22.6
(72.7)
22.3
(72.1)
18.9
(66)
13.2
(55.8)
7.5
(45.5)
4.1
(39.4)
13
(55)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) −2.3
(27.9)
−2.3
(27.9)
0
(32)
3.3
(37.9)
7.2
(45)
10.3
(50.5)
12.4
(54.3)
12
(54)
9.2
(48.6)
5.5
(41.9)
2.4
(36.3)
−0.7
(30.7)
4.8
(40.6)
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) 44
(1.73)
38
(1.5)
43
(1.69)
47
(1.85)
59
(2.32)
73
(2.87)
65
(2.56)
65
(2.56)
45
(1.77)
43
(1.69)
49
(1.93)
50
(1.97)
621
(24.45)
แหล่งที่มา: Klimadiagramm für Braunschweig (เยอรมัน)

การแบ่งเขตปกครอง

แผนที่เขตปกครองของเมืองเบราน์ชไวค์

เมืองเบราน์ชไวค์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 19 เขต[8] (Stadtbezirk) แต่ละเขตมีสภาเขต (Stadtbezirksrat) และผู้อำนวยการเขต (Bezirksbürgermeister) เป็นของตนเอง เขตทั้ง 19 แห่งมีดังนี้

  1. วาเบ-ชุนเทอร์-เบเบอร์บาค
    Wabe-Schunter-Beberbach
  2. ฮนเดอลาเกอ
    Hondelage
  3. โฟล์คมาโรเดอ
    Volkmarode
  4. เอิสท์ลิเชสริงเกบีท
    Östliches Ringgebiet
  5. อินเนินชตัดท์
    Innenstadt
  6. ฟีเว็กส์การ์เทิน-เบเบิลโฮฟ
    Viewegsgarten-Bebelhof
  7. ชเติคไฮม์-ไลแฟร์เดอ
    Stöckheim-Leiferde
  1. ไฮด์แบร์ก-เม็ลเฟโรเดอ
    Heidberg-Melverode
  2. ซึดชตัดท์-เราท์ไฮม์-มัชเชโรเดอ
    Südstadt-Rautheim-Mascherode
  3. เวสท์ชตัดท์
    Weststadt
  4. ทิมเมอร์ลา-ไกเทลเดอ-ชติดเดียน
    Timmerlah-Geitelde-Stiddien
  5. โบรทเซ็ม
    Broitzem
  6. รือนิงเงิน
    Rüningen
  1. เวสท์ลิเชสริงเกบีท
    Westliches Ringgebiet
  2. เลนดอร์ฟ-วาเทินบึทเทิล
    Lehndorf-Watenbüttel
  3. เฟลเทินโฮฟ-รือเมอ
    Veltenhof-Rühme
  4. เวนเดิน-ทูเนอ-ฮาร์กซ์บึทเทิล
    Wenden-Thune-Harxbüttel
  5. นอร์ดชตัดท์
    Nordstadt
  6. ชุนเทอร์เอาอา
    Schunteraue

การคมนาคม

สถานีรถไฟกลางเบราน์ชไวค์
ระบบขนส่งมวลชนภายในเมือง (รถรางสาย M1)

การคมนาคมเข้าสู่เมืองเบราน์ชไวค์ประกอบด้วย ทางรถยนต์ ซึ่งมีทางพิเศษหลักของประเทศสองสายวิ่งผ่าน ได้แก่ ออโตบาห์นหมายเลข 2 (เชื่อมเบอร์ลินฮันโนเฟอร์ดอร์ทมุนท์) และหมายเลข 38 (ซัลส์กิทเทอร์ว็อลฟส์บูร์ก) ทางรถไฟของเมืองสายหลักเชื่อมระหว่างแฟรงก์เฟิร์ตกับเบอร์ลิน และมีรถไฟความเร็วสูงอินเตอร์ซิตี-เอ็กซ์เพรส (ICE) ให้บริการ สถานีรถไฟประจำเมืองคือ สถานีรถไฟกลางเบราน์ชไวค์ (Braunschweig Hauptbahnhof) ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองชั้นในไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 3 กิโลเมตร สนามบินเบราน์ชไวค์ตั้งอยู่ทางตอนเหนือออกไปนอกเมือง สร้างตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930

การคมนาคมภายในเมือง นอกจากทางรถยนต์แล้วยังมีโครงข่ายทางจักรยานกระจายอยู่ทั่วเมือง ระบบขนส่งมวลชนประกอบด้วยรถรางและรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการโดยบริษัท Braunschweiger Verkehrs-GmbH ส่วนระบบขนส่งมวลชนในเขตปริมณฑลและพื้นที่ใกล้เคียงดำเนินการโดยบริษัท Verbundtarif Region Braunschweig (VRB) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Braunschweiger Verkehrs-GmbH ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันรถรางของเมืองมี 5 สาย ความยาวทั้งสิ้น 51 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงด้วยระบบไฟฟ้า เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี ค.ศ. 1897 ซึ่งต่อมามีการปรับปรุงยกระดับความทันสมัยและก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติม เช่น การก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมในปี 2007 ความยาว 3.2 กิโลเมตร[9] ส่วนรถโดยสารประจำทางมีให้บริการทั้งสิ้น 38 สาย ความยาวรวมทั้งสิ้น 489 กิโลเมตร เส้นทางรถรางที่ให้บริการในปัจจุบันทั้ง 5 สายได้แก่[10]

สาย สถานีต้นทาง สถานีปลายทาง
M1 เวนเดิน
Wenden
ชเติคไฮม์
Stöckheim
2 ซิกฟรีดเฟียร์เทิล
Siegfriedviertel
ไฮด์แบร์ก
Heidberg
M3 โฟล์คมาโรเดอ
Volkmarode
เวสท์ชตัดท์ เวเซอร์ชตราเซอ
Weststadt Weserstraße
4 ราเดอคลินท์
Radeklint
เฮล์มชเตดเทอร์ชตราเซอ
Helmstedter Straße
M5 สถานีรถไฟกลาง
Hauptbahnhof
โบรทเซ็ม
Broitzem

แหล่งท่องเที่ยว

Burgplatz
(ซ้าย) Burg Dankwarderode
(กลางฉากหลัง) ศาลากลางเมือง
(กลางฉากหน้า) Burglöwe
(ขวา) Braunschweiger Dom
Altstadtmarkt
(กลาง) ศาลากลางเมืองเก่า
(ขวา) Stechinelli-Haus
  • ลานจตุรัส "บูวร์กพลัทซ์" (Burgplatz, จตุรัสปราสาท) ใจกลางเมืองเก่าของเบราน์ชไวค์ ประกอบด้วยกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมือง ได้แก่ มหาวิหารเบราน์ชไวค์ (Braunschweiger Dom) สร้างช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ปราสาทบูร์กดังก์วาร์เดโรเดอ (Burg Dankwarderode) ศาลากลางเมืองยุคสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค บ้านกิลเดอเฮาส์ (Gildehaus) ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งสมาคมช่างฝีมือของเมือง กลางจตุรัสเป็นมีรูปปั้นบรอนซ์รูปสิงโต "บูร์กเลอเว" (Burglöwe, สิงห์ปราสาท) สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1166 ด้วยศิลปะแนวโรมาเนสก์ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเบราน์ชไวค์
  • ลาน "อัลท์ชตัดท์มาร์กท์" (Altstadtmarkt, ตลาดเมืองเก่า) รอบข้างเป็นที่ตั้งของศาลากลางเก่าซึ่งสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13–15 ด้วยสถาปัตยกรรมแนวกอทิก โบสถ์มาร์ตินี (Martinikirche) สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1195 บ้านโบราณเกวันด์เฮาส์ (Gewandhaus) ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ตั้งของสมาคมช่างทอผ้า บ้านชเทคคีเนลลีเฮาส์ (Stechinelli-Haus) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1690 และน้ำพุเก่าแก่สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1408
  • ลาน "โคห์ลมาร์กท์" (Kohlmarkt, ตลาดถ่านหิน) ล้อมรอบด้วยบ้านเก่าแก่และน้ำพุที่สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1869
  • ลาน "ฮาเกินมาร์กท์" (Hagenmarkt) บริเวณใกล้เคียงมีโบสถ์คาทารีเนน (Katharinenkirche) สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 และน้ำพุไฮน์ริชส์บรุนเนิน (Heinrichsbrunnen) สร้างเมื่อ ค.ศ. 1874
  • บริเวณ "มักนิเฟียร์เทิล" (Magniviertel) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเขตเมืองเก่า เป็นเขตที่เก่าแก่ที่สุดเขตหนึ่งของเบราน์ชไวค์ เลียบไปตามถนนที่ปูด้วยหินกรวด มีร้านค้าขนาดเล็กและร้านกาแฟตั้งเรียงไปตามถนน ช่วงกลางของถนนเป็นที่ตั้งของโบสถ์มักนิ (Magnikirche) สร้างราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ริซซีเฮาส์ (Rizzi-Haus) ซึ่งมีรูปลักษณ์ภายนอกโดดเด่นและสะดุดตาจากลวดลายการ์ตูน ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอเมริกัน เจมส์ ริซซี สำหรับงานเอ็กซ์โป 2000 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮันโนเฟอร์
  • โบสถ์อันเดรอัส (Andreaskirche) สร้างด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์และกอทิก สร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึง 16 งานกระจกสีรังสรรค์โดยชาร์เลส โครเดิล (1894–1973) ภายนอกเป็นที่ตั้งของ "ลิเบไร" (Liberei) ซึ่งเป็นอาคารหอสมุด (อาคารเดี่ยว) ที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี[11]
  • โบสถ์เอกีเดียน (Aegidienkirche) แนวสถาปัตยกรรมกอทิก สร้างเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 และมีอารามตั้งอยู่ติดกันซึ่งในปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์
  • โรงละครประจำรัฐ (Staatstheater Braunschweig) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่า สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1856 โรงละครเดิมสร้างเมื่อ ค.ศ. 1690
  • พระราชวังดยุกเบราน์ชไวค์ ใจกลางเมือง ซึ่งถูกทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและถูกรื้อถอนในปี ค.ศ. 1960 จากนั้นพื้นที่นี้กลายเป็นสวนสาธารณะของเมือง และในปี ค.ศ. 2005 โครงสร้างภายนอกเหมือนพระราชวังถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันภายในเป็นพิพิธภัณฑ์และศูนย์การค้า
  • พระราชวังริชมนด์ (Schloss Richmond) แนวบารอก ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1768–1769 ล้อมรอบด้วยสวนสาธารณะแนวอังกฤษ
  • แอบบีย์ริดดักส์เฮาเซิน (Kloster Riddagshausen) ตั้งอยู่ริมคลองวาเบ ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง เดิมเป็นอารามแห่งคณะซิสเตอร์เชียน รอบแอบบีย์เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ Riddagshäuser Teiche
(ซ้าย) Veltheimsches Haus
(ขวา) Gildehaus
(ซ้าย) Veltheimsches Haus
(ขวา) Gildehaus 
Martinikirche
Martinikirche 
Gewandhaus
Gewandhaus 
Kohlmarkt
Kohlmarkt 
(หลัง) Katharinenkirche
(หน้า) Heinrichsbrunnen
(หลัง) Katharinenkirche
(หน้า) Heinrichsbrunnen 
Magnikirche
Magnikirche 
Happy Rizzi House
Happy Rizzi House 
(ซ้าย) Andreaskirche
(ขวา) Alte Waage
(ซ้าย) Andreaskirche
(ขวา) Alte Waage 
Aegidienkirche
Aegidienkirche 
โรงละครแห่งรัฐ
โรงละครแห่งรัฐ 
Schlossmuseum Braunschweig
Schlossmuseum Braunschweig 
Schloss Richmond
Schloss Richmond 

สวนสาธารณะ

เบราน์ชไวค์มีพื้นที่สีเขียวในตัวเมืองหลายแห่ง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทคนิคเบราน์ชไวค์ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1840 โดยโยฮันน์ ไฮน์ริช บลาซิอุส นอกจากนี้ยังมีสวนเบือร์เกอร์พาร์ก (Bürgerpark, สวนประชาชน) ทางทิศใต้ของเมืองเก่า สวนเลอเวินวัลล์ (Löwenwall, กำแพงสิงห์) ซึ่งภายในมีเสาโอเบลิสก์ต้นหนึ่งตั้งอยู่ สวนพรินซ์อัลเบรกท์พาร์ก (Prinz-Albrecht-Park) ทางทิศตะวันออกของเมือง สวนอินเซิลวัลล์ (Inselwallpark) สวนมูเซอุมพาร์ก (Museumpark, สวนพิพิธภัณฑ์) สวนหลายแห่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกันกลายเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองชั้นใน

บุคคลสำคัญจากเมือง

คาร์ล ฟรีดริช เกาส์
ริการ์ดา ฮูค

บุคคลสำคัญที่เกิดในเมืองเบราน์ชไวค์คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากคือ คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ (1777–1855) นักคณิตศาสตร์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "เจ้าชายแห่งคณิตศาสตร์" และนักคณิตศาสตร์อีกท่านที่เกิดในยุคหลังคือ ริชาร์ด เดเดคินด์ (1831–1916) นักเขียนคนสำคัญได้แก่ แอร์นสท์ เอากุสท์ คลิงเงอมันน์ และริการ์ดา ฮูค (1864–1947) นักแสดง กุสตาฟ คนุท นักการทูตและนักการเมือง กึนเทอร์ เกาส์ (1929–2004) และวิลเฮล์ม บรัคเคอ (1842–1880) ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง Sozialdemokratische Arbeiterpartei (SDAP) ซึ่งเป็นพรรคดังเดิมของพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (SPD) ในปัจจุบัน สถาปนิก คาร์ล เทโอดอร์ อ็อทเมอร์ นักล่องบอลลูน วิลเฮลมีเนอ ไรช์อาร์ด (1788–1848) นักประพันธ์เพลงและนักดนตรี ลูอีส สพอร์ (1784–1859) นักประพันธ์เพลง นอร์แบร์ท ชุลท์เซอ (1911–2002) สำหรับบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบัน เช่น นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ เดนนิส ชเรอเดอร์ กรรมการตัดสินฟุตบอล ฟลอเรียน เมเยอร์

สำหรับบุคคลสำคัญที่ไม่ได้เกิดในเบราน์ชไวค์ แต่เคยใช้ชีวิตในเมืองหรือมีส่วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่ง ได้แก่ ไฮน์ริชที่ 12 ดยุกแห่งบาวาเรีย (มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12) ทิลล์ ออยเลนชปีเกล บุคคลในตำนานผู้สร้างความขบขันพอใจให้กับผู้คนทั่วไป นักการปฏิรูปศาสนา โยฮันเนส บูเกินฮาเกิน (1485–1558) นักภาษาศาสตร์และกวี ฮอฟมัน ฟอน ฟัลเลอร์สเลเบิน (1798–1874) ผู้ประพันธ์เพลงชาติเยอรมนี ดัสลีดแดร์ดอยท์เชิน

เมืองพี่น้อง

เบราน์ชไวค์มีเมืองพี่น้อง[12] ดังนี้

  • อินโดนีเซีย บันดุง อินโดนีเซีย (ตั้งแต่ ค.ศ. 1960)
  • ฝรั่งเศส นีม ฝรั่งเศส (ตั้งแต่ ค.ศ. 1962)
  • อังกฤษ บาธ สหราชอาณาจักร (ตั้งแต่ ค.ศ. 1971)
  • ตูนิเซีย Sousse ตูนีเซีย (ตั้งแต่ ค.ศ. 1980)
  • อิสราเอล Kiryat Tiv'on อิสราเอล (ตั้งแต่ ค.ศ. 1985/86)
  • เยอรมนี มัคเดอบวร์ค เยอรมนี (ตั้งแต่ ค.ศ. 1987)
  • รัสเซีย คาซาน รัสเซีย (ตั้งแต่ ค.ศ. 1988)
  • สหรัฐอเมริกา โอมาฮา สหรัฐอเมริกา (ตั้งแต่ ค.ศ. 1992)
  • จีน จูไห่ สาธารณรัฐประชาชนจีน (ตั้งแต่ ค.ศ. 2011)

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "Regionales Energiekonzept für den Großraum Braunschweig" (PDF). Zgb.de. สืบค้นเมื่อ August 16, 2012.
  2. Landesamt für Statistik Niedersachsen, LSN-Online Regionaldatenbank, Tabelle A100001G: Fortschreibung des Bevölkerungsstandes, Stand 31. Dezember 2020.
  3. Landesbetrieb für Statistik und Kommunikationstechnologie Niedersachsen (สำนักสถิติและเทคโนโลยีการสื่อสารรัฐนีเดอร์ซัคเซิน), 100 Bevölkerungsfortschreibung – Basis Zensus 2011, Stand 31. Dezember 2014 เก็บถาวร 2018-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เยอรมัน)
  4. Research and innovation statistics at regional level, Ec.europa.eu, 2014.
  5. Wolfgang Kimpflinger: Denkmaltopographie Bundesrepublik Deutschland. Baudenkmale in Niedersachsen. Band 1.1.: Stadt Braunschweig. Teil 1, S. 94. (เยอรมัน)
  6. C-Berichte 2005 der Oberflächengewässer, wasserblick.net. (เยอรมัน)
  7. Stadt Braunschweig, Fachbereich Stadtentwicklung und Statistik Statistische Angaben über Braunschweig (เยอรมัน)
  8. แผนที่เขตปัจจุบันของเบราน์ชไวค์ เก็บถาวร 2015-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, braunschweig.de
  9. Braunschweig (Germany): New light rail tram line to suburbs reverses Transit Holocaust, Light Rail Now, 2007-13-02.
  10. Tram and bus lines in Braunschweig เก็บถาวร 2012-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Braunschweiger-verkehrs-ag.de
  11. Tina Stadlmayer, Wo Braunschweigs erste Bücher standen, Merlin-Verlag, 2012, หน้า 7.
  12. Braunschweigs Partner und Freundschaftsstädte, Stadt Braunschweig, 2012 (เยอรมัน)

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya