เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรม 3 หรือ เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เรียกกันสั้นๆในชื่อ เรือนไทยจุฬาฯ เป็นชุดเรือนไทยหมู่จำนวน 5 หลัง[1] ออกแบบโดยอาจารย์ เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทย) และ รศ.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสครบรอบ 70 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[2] โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานในพิธียกเสาเอกเรือนไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จเพียงปีเดียว เรือนไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งหมดก่อสร้างขึ้นด้วยไม้เต็งรัง ใช้วิธีการการเข้าไม้ตามแบบโบราณทุกประการ ไม่มีการใช้การยึดด้วยตะปู แต่ใช้วิธียึดด้วยแท่งไม้ ปัจจุบันเนื่องจากป้องกันความเสียหาย และเพื่อต้องการรักษาสภาพเรือนไทยให้นานที่สุด จึงได้มีการเปลี่ยนไปใช้เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก แทนการใช้เสาไม้ ในส่วนของเรือน มีการใช้ระบบการวางพื้นห้อง 2 รูปแบบ คือ ระบบตงและคาน และระบบรอดกับรา ผังพื้นของเรือนไทยนี้ มีการจัดวางบันไดทางเข้าออกเป็น 3 ทาง และวางอาคารให้รวมเป็นหมู่ตามหลักนิยม โดยเรือนประธานทำหลังคาแฝด หน้าจั่วลายแสงอาทิตย์ ต่างจากเรือนอื่นๆ ซึ่งมีจั่วใบปรือ จั่วลูกฟักหน้าพรหม เป็นต้น[3] ส่วนอาคารสำนักงาน หรือเทียบกับเรือนครัว ได้แยกออกจากเรือนหมู่ออกไป เช่นเดียวกับ ศาลากลางน้ำหรือ หอกลาง ซึ่งเป็นเรือนเครื่องสับ แต่ตกแต่งด้วยเครื่องลำยอง หน้าบันประดับตราพระเกี้ยวปิดทอง ที่สร้างแยกออกมาจากเรือนหมู่ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการรับลมได้ดีกว่า ในชั้นใต้ถุน มีการขุดระดับดินเดิมลงไป เพื่อเพิ่มเนื้อที่ใช้สอยด้านล่าง ซึ่งไม่ทำลายระบบสัดส่วนเดิมของอาคาร ที่ไม่ต้องยกอาคารให้สูงขึ้น จนเกิดความชะลูด ปัจจุบัน ทุกวันศุกร์แรกของเดือนจะมีการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ ที่มีชื่อเรียกว่า "จุฬาวาทิต" ณ เรือนไทยแห่งนี้[1] องค์ประกอบเรือนไทยจุฬา
อ้างอิง
|