Share to:

 

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Architecture,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์
สถาปนา23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476; 91 ปีก่อน (2476-05-23)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข
ที่อยู่
สี  สีน้ำตาล[1]
มาสคอต
เสาหัวเม็ด
เว็บไซต์www.arch.chula.ac.th
อาคารสถาปัตยกรรม 1 เมื่อปี พ.ศ. 2560

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 1 ใน 4 คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่ติดกับถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ในฐานะแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้แยกตัวมาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2482

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย 6 ภาควิชาหลัก ได้แก่ ภาควิชาสถาปัตยกรรม ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ภาควิชาเคหการ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม และภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน[2]

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ร่วมของไทยในสาขาสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (อันดับที่ 101 – 150 ของโลก) จากการจัดอันดับของคิวเอสแบ่งตามรายวิชา[3]

ประวัติ

การศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมนั้นเริ่มขึ้นที่โรงเรียนเพาะช่าง มีอาจารย์นารถ โพธิประสาท ผู้ซึ่งได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษกลับมารับราชการสอนและได้เป็นผู้วางหลักสูตรสถาปัตยกรรมขั้นทดลองเมื่อ พ.ศ. 2473 รับนักเรียนเพาะช่างที่เรียนวิชาวาดเขียนเข้าเรียน 2 รุ่นรวม 30 คน

การทดลองสอนปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงธรรมการจึงมีคำสั่งที่ 75/12679 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2475 ให้โอนแผนกสถาปัตยกรรมของโรงเรียนเพาะช่างไปขึ้นกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะฯ ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เป็นแผนกวิชาสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่เนื่องลักษณะวิชาและการเรียนการสอนแตกต่างกัน มหาวิทยาลัยจึงแยกแผนกวิชาสถาปัตยกรรมเป็นแผนกอิสระหลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยและแต่งตั้งพระเจริญวิศวกรรมรักษาการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระสถาปัตยกรรมดังกล่าว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้ยกจากแผนกวิชาขึ้นเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และปรับเป็นหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. 2486 กำหนดให้คณะสถาปัตยกรรมประกอบด้วย 3 วิชา คือแผนกวิชาสถาปัตยกรรม แผนกวิชาศิลปกรรม และแผนกวิชาผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงนับเป็นโรงเรียนระดับอุดมศึกษาทางสถาปัตยกรรมแห่งแรกที่ทำหน้าที่ผลิตสถาปนิกให้แก่สังคมไทย

ปัจจุบันการเรียนการสอนได้ขยายขอบเขตความรับผิดชอบออกไปสู่การผลิตนักออกแบบสาขาอื่น ๆ รวมทั้งผลิตและส่งเสริมการสร้างสรรค์งานทางวิชาการและงานวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบแทบทุกสาขา รวมทั้งสถาปัตยกรรมและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีจุดประสงค์หลัก ในอันที่จะสร้างให้บัณฑิตของสถาบันแห่งนี้ มีความรู้และความสามารถที่จะปฏิบัติวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม หรืออาจสามารถค้นคว้าและวิจัย เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบแทบทุกสาขา รวมทั้งสถาปัตยกรรมและศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสนองความต้องการของสังคมไทย

ลำดับเหตุการณ์โดยสังเขป

อาคารนารถ โพธิประสาท
  • พ.ศ. 2475 ได้มีคำสั่งโอนแผนกสถาปัตยกรรมของโรงเรียนเพาะช่างไปสมทบขึ้นอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดตั้งแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นแผนกหนึ่งในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2477 มีการแยกแผนกสถาปัตยกรรมแยกออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีฐานะเป็นแผนกอิสระขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ได้ขอยืมสถานที่ของกรมศิลปากรเป็นที่เรียนชั่วคราว
  • พ.ศ. 2482 แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ยกฐานะขึ้นเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปรับปรุงหลักสูตรเป็นขั้นปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ใช้เวลาเรียน 5 ปี
  • พ.ศ. 2486 ได้มีการประกาศให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ประกอบด้วย 3 แผนกวิชา คือ แผนกสถาปัตยกรรม แผนศิลปกรรม และแผนกผังเมือง โดยจัดให้วิชาในแผนกศิลปกรรมและแผนกผังเมืองเป็นวิชาประกอบ ซึ่งนิสิตจะต้องศึกษาเพื่อรับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ในเวลาต่อมา แผนกเหล่านี้ได้เปลี่ยนฐานะเป็นภาควิชาในที่สุด

ทำเนียบคณบดี

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ดังต่อไปนี้

ทำเนียบคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[4]
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

1. พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนวณิชย์) พ.ศ. 2486พ.ศ. 2497
2. ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ พ.ศ. 2497พ.ศ. 2508
3. ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์แหลมฉาน หัสดินทร พ.ศ. 2508พ.ศ. 2517
4. ศาสตราจารย์ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. 2517พ.ศ. 2521
5. รองศาสตราจารย์ หม่อมหลวงประทีป มาลากุล พ.ศ. 2521พ.ศ. 2524
6. รองศาสตราจารย์ เฉลิม สุจริต พ.ศ. 2525พ.ศ. 2531
7. รองศาสตราจารย์ ต่อพงศ์ ยมนาค พ.ศ. 2531พ.ศ. 2539
8. ศาสตราจารย์ เดชา บุญค้ำ พ.ศ. 2539พ.ศ. 2543
9. รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ สัจกุล พ.ศ. 2543พ.ศ. 2547
10. ศาสตราจารย์ เลอสม สถาปิตานนท์ พ.ศ. 2547พ.ศ. 2551
11. ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย พ.ศ. 2551พ.ศ. 2555
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ พ.ศ. 2555พ.ศ. 2558
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2566
14. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข พ.ศ. 2566 – ปัจจุบัน

หน่วยงานและหลักสูตร


หน่วยงาน ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

ภาควิชาสถาปัตยกรรม

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
    • กลุ่มวิชาสถาปัตยกรรมไทย
    • กลุ่มวิชาประวัติศาสตร์และทฤษฎีสถาปัตยกรรม
    • กลุ่มวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม
    • กลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม
    • กลุ่มวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม
    • กลุ่มวิชาการจัดการสถาปัตยกรรม

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรม

ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต

ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน

ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม

หลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต

หลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรมมหาบัณฑิต

ภาควิชาเคหการ

หลักสูตรเคหพัฒนศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย
  • สาขาวิชาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง

หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาการวางผังและออกแบบเมือง

หลักสูตรการวางแผนภาคและเมืองดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาการวางผังและออกแบบเมือง

วิทยาศาสตร์ การออกแบบสถาปัตยกรรม (INDA)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

ศิลปกรรมศาสตร์ การออกแบบนิเทศศิลป์ (CommDe)

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต

  • สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ (หลักสูตรนานาชาติ)

เกียรติประวัติ

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปูชนียาจารย์ที่มีชื่อเสียง

คำนำหน้าชื่อ รายชื่อ สาขา เกียรติประวัติ อ้างอิง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย)
อาจารย์ นารถ โพธิประสาท ผู้ก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาด้านสถาปัตยกรรม ระดับปริญญาแห่งแรกของประเทศไทย
รองศาตราจารย์ ปิยานันท์ ประสารราชกิจ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ
ศาสตราจารย์ พระพรหมพิจิตร (พรหม พรหมพิจิตร) คณาจารย์ผู้สอนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิในด้านสถาปัตยกรรมไทย
ศาสตราจารย์ เลอสม สถาปิตานนท์ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ อดีตคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [5][6]

กิจกรรมของคณะ

"คอร์ทบอล" ตั้งอยู่ระหว่างถ้ำเสื้อ (โถงใต้ห้องสมุดคณะ) และโถงอาคารนารถ โพธิประสาท
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2566 ได้รับการออกแบบปรับปรุงโดยสำนักงานออกแบบ Department of ARCHITECTURE
  • การประชุมทางวิชาการประจำปี สาระศาสตร์ สถาปัตยกรรม
  • กิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิต: ละครเวทีประจำปีของนิสิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ – ละคอนถาปัด, ค่ายอาสาพัฒนาชนบท, หนังสือเรือนไทย, พิธีศีลจุ่ม

เรือนไทย

เรือนไทย เป็นหนังสือแนวตลกขบขัน ที่จัดทำขึ้นโดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรอีกอย่างหนึ่งของนิสิตคณะสถาปัตย์ฯ ที่มีประวัติการทำสืบทอดกันมายาวนานต่อเนื่องเกือบ 50 ปี

โดยในปัจจุบัน หนังสือเรือนไทย มีกำหนดออกวางจำหน่ายปีละหนึ่งครั้ง บริเวณหน้างานละคอนถาปัด หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีนิสิตชั้นปีที่ 2 ขึ้นปีที่ 3 ร่วมกันจัดทำระหว่างปิดภาคเรียนฤดูร้อน เพื่อฝึกฝนประสบการณ์ของนิสิตในการร่วมทำงานเป็นทีม รับผิดชอบบริหารจัดการโครงงาน และนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ผลิตชิ้นงาน ให้สำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ และนำรายได้จากการขายหนังสือไปใช้ในกิจกรรมของคณะ

ละคอนถาปัด

ละคอนถาปัด หรือ ละครสถาปัตย์ เป็นกิจกรรมประจำปีของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีนิสิตชั้นปีที่ 3 ขึ้นปีที่ 4 เป็นแม่งาน[7] ร่วมกับนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันของคณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ นำความคิดสร้างสรรค์มาทำกิจกรรม เพื่อหารายได้สำหรับใช้ในกิจกรรมของนิสิตหลังจากสิ้นสุดยุคของกิจกรรม "ลูกทุ่งถาปัด" ในอดีตก่อนหน้านี้ลงไป ละคอนถาปัดเป็นกิจกรรมที่นิสิตสถาปัตย์ฯทำกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี ระหว่างช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีของคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ในปัจจุบันละคอนถาปัดมีจำนวน 10 รอบ โดยจัดการแสดงช่วงเดือนพฤษภาคมก่อนเปิดเทอมที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบริเวณหน้างานมีของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับละคอนที่ทำขึ้นโดยนิสิตวางจำหน่ายด้วย เช่น เสื้อ ซีดีเพลงละคอน และหนังสือเรือนไทย เป็นต้น ในวาระพิเศษอาจมีการจัดการแสดงละครเพิ่มจากปกติ เช่น ในช่วงงานจุฬาวิชาการ

ละคอนถาปัด มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 นักแสดงและบุคคลในวงการบันเทิงหลายคน เริ่มจากการแสดงละคอนถาปัด เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, ภิญโญ รู้ธรรม และบรรดาเหล่าซูโม่จากรายการเพชฌฆาตความเครียด[8]

ในปัจจุบันนี้ นอกจากละคอนถาปัดที่จุฬาแล้ว ก็ยังมีละคอนถาปัดที่อื่นๆด้วย เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น[9]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๑ , เล่ม ๑๑๕, ตอน ๒๑ก, ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2021). หลักสูตรที่เปิดสอน.
  3. Architecture / Built Environment
  4. รายนามคณบดี (2551). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 17 พฤศจิกายน 2552).
  5. สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. สถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. "Mulan" ละครใหม่จากถาปัดการละคอน[ลิงก์เสีย] วอยซ์ทีวี
  8. กลับมาอีกครั้ง ละคอนถาปัด เสนอเรื่อง “ทวิภพ” กระจกนำพา กาลเวลาหวนคืน มติชน
  9. ถาปัดการละคอน 51แผลงฤทธาพาเสนอ "เกราะเพชรเจ็ดสี" เก็บถาวร 2008-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน entertainment.impaqmsn.com

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′24″N 100°31′51″E / 13.739890°N 100.530885°E / 13.739890; 100.530885

Kembali kehalaman sebelumnya