เอกมัยเอกมัย หรือ ซอยสุขุมวิท 63 เป็นชื่อย่านและถนนที่เชื่อมต่อถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรี ในพื้นที่แขวงคลองตันเหนือและแขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร อาจแบ่งได้เป็น 2 พื้นที่ คือ เอกมัยเหนือและเอกมัยใต้ โดยมีแยกเจริญใจ (จุดตัดถนนเอกมัย, ซอยเอกมัย 12/ทองหล่อ 10 และซอยเอกมัย 5/ปรีดี พนมยงค์ 31) เป็นจุดแบ่ง เอกมัยเหนือนับจากวัดภาษี และซอยเอกมัย 30 ไล่ลงมาถึงแยกเจริญใจ ส่วนเอกมัยใต้เริ่มจากแยกเจริญใจ ไปจนถึงบริเวณถนนสุขุมวิท ประวัติชุมชนสันนิษฐานว่าชุมชนย่านเอกมัยน่าจะเกิดขึ้นริมคลองแสนแสบ คลองขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ได้ผลประโยชน์ทางด้านการค้าด้วยเช่นกันคือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางการเกษตร อย่างน้ำตาล และข้าว รวมถึงสินค้าต่าง ๆ รัฐมีการตั้งด่านภาษีขึ้นบริเวณวัดภาษี[1] บริเวณนั้นเป็นผืนนาของกำนันเพชร ซึ่งท่านได้ตั้งด่านเก็บค่าหัวนา (ค่าผ่านทาง) จากพ่อค้าแม่ขายที่ขนสินค้าจากแถบมีนบุรี หนองจอก เมื่อได้เก็บค่าผ่านทางได้จำนวนมาก กำนันเพชรจึงได้สร้างศาสนสถานขึ้นราว พ.ศ. 2390 และตั้งชื่อว่า "วัดภาษี" ในช่วงปลายสมัยการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทางราชการใช้พื้นที่ป่าช้าท้ายวัดหรือปัจจุบันคือ โรงเรียนวัดภาษี เป็นแดนประหารชีวิตนักโทษฉกรรจ์ ด้วยการใช้ดาบตัดคอ นักโทษคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ ณ ป่าช้าท้ายวัดภาษี คือ บุญเพ็งหีบเหล็ก ในปี พ.ศ. 2461[2] ตัดถนนสุขุมวิทตั้งแต่ พ.ศ. 2479 มีการเปิดใช้ถนนกรุงเทพ-สมุทรปราการ ภายหลังเรียกว่า ถนนสุขุมวิท เกิดชุมชนริมถนน เช่น ชุมชนตลาดพระโขนง ชุมชนตลาดอ่อนนุช ชุมชนถนนทองหล่อ รวมถึงชุมชนถนนเอกมัย[3] แต่เดิมที่ดินบริเวณเอกมัยช่วงคลองแสนแสบเป็นที่ดินที่พระราชทานให้กับชาวมุสลิม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีกลุ่มข้าราชการเข้ามาจับจองพื้นที่ย่านนี้ เมื่อ พ.ศ. 2481 มีการตั้งวัดธาตุทอง สันนิษฐานว่ารัฐบาลได้ยุบรวมวัดหน้าพระธาตุและวัดทอง บริเวณพระประแดงเดิมหรือท่าเรือคลองเตยในปัจจุบันที่ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2480 แล้วย้ายมาตั้งเป็นวัดธาตุทอง[4] ในช่วง พ.ศ. 2499 พื้นที่บริเวณโรงพิมพ์สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นทุ่งนา มีสลัม ตึกแถวเตี้ย ๆ แต่ผู้คนหนาแน่นมาตั้งแต่ระยะนั้นแล้ว[5] ต่อมาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 บริเวณแยกเอกมัยใต้บนถนนสุขุมวิท เมื่อแรกเปิดเป็นดินลูกรัง บริเวณใกล้กันมีท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507 มีโครงการสร้างสะพานข้ามคลองแสนแสบในช่วงถนนเอกมัยหลัง พ.ศ. 2521[6] ต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมเข้ากับทางพิเศษฉลองรัชและถนนประดิษฐ์มนูธรรม กำเนิดแหล่งบันเทิงในช่วงที่มีฐานทัพอเมริกันมาตั้งอยู่ในไทยทำให้เกิดสถานบันเทิงเป็นจำนวนมาก เกิดอาชีพใหม่เพื่อรองรับทหารอเมริกัน คือ อาชีพเมียเช่า หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ พิมพ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 ระบุว่า "ในซอยเอกมัยมีบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ รูปทรงคล้ายคลึงกัน ตั้งเรียงรายอยู่กลุ่มหนึ่ง ชาวบ้านแถบนั้นเรียกคนกลุ่มนี้ว่า หมู่บ้านเมียเช่า"[7] ในช่วงปี พ.ศ. 2526–2535 สถานบันเทิงเป็นวิถีบริโภคนิยมของชาวกรุงเทพมหานคร อันเกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ย่านทองหล่อและเอกมัยถือเป็นแหล่งบันเทิงที่มีระดับสูงกว่าที่อื่น ทั้งความหรูหราและการตกแต่งสถานที่ และค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ซึ่งมีทั้งผับระดับสูงและคอกเทลเลานจ์ ในลักษณะของเมมเบอร์คลับ[8] เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เกิดเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ โดยในเบื้องต้นพบศพในที่เกิดเหตุรวม 55 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาลกว่า 229 ราย แยกเป็นชาวไทย 188 ราย ชาวต่างชาติ 41 ราย โดยมีผู้ที่อาการสาหัสอยู่ในห้องไอซียูถึง 34 ราย ซึ่งต่อมามีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเพิ่มเติมอีก 11 ราย ทำให้ในที่สุดยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 66 ราย[9] หลังจากนั้นที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ ในบริเวณนี้ก็ปล่อยเป็นที่ดินร้าง[10] ปัจจุบันพ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยมีสถานีเอกมัยตั้งอยู่บริเวณแยกเอกมัยใต้ ทำให้เอกมัยกลายเป็นย่านการค้าและที่อยู่อาศัยรองรับผู้คนได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากข้อมูลของกรมธนารักษ์ ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชี พ.ศ. 2559–2562 ราคาประเมินที่ดินย่านเอกมัยอยู่ระหว่าง 280,000–350,000 บาท/ตารางวา[11] ปากซอยเอกมัยมีศูนย์การค้าอยู่ 2 แห่ง คือ เกทเวย์ เอกมัย (ซึ่งตั้งอยู่ปากซอยสุขุมวิท 42) และเมเจอร์สุขุมวิท ช่วงกลางซอยมีศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง เช่น แอทเอกมัย, เชอร์เบต, บ้านเพื่อนเอกมัย, THAY, นั่งเล่นเอกมัย, The Cassette Music Bar, (Un) fashion, Ink & lion Cafe, ร้านกาแฟและอาหารเอกมัยมัคคิอาโต้, และร้านอาหารเหนือหอมด่วน เป็นต้น รวมถึงมีร้าน "ข้าว" ซึ่งได้รับดาวมิชลินหนึ่งดวง[12] และร้าน "เฮียให้" ซึ่งได้รับรางวัลมิชลินบิบกูร์มองด์ด้วย[13] ช่วงกลางยังเป็นที่ตั้งของดองกี้ มอลล์ ทองหล่อ ร้านค้าปลอดภาษีจากญี่ปุ่น ส่วนช่วงตอนเหนือของซอยส่วนใหญ่เป็นชุมชนเก่า อาคารพาณิชย์ อพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่า[14] รวมถึงที่ตั้งของวัดภาษีและมีมัสยิดอัลคอยรียะห์ในซอยนวลน้อย นอกจากนั้น ยังมีคอนโดมิเนียมตั้งแต่ตอนต้นไปจนถึงเอกมัยช่วงท้าย มีการสร้างคอนโดมิเนียมแห่งแรก ๆ ของประเทศไทย คือ อาคารไทปิงทาวเวอร์ ดำเนินการโดยบริษัทอุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2522 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2527[15] ความสูง 33 ชั้น จำนวน 300 ยูนิต และคอนโดมิเนียมอื่น ได้แก่ Taka Haus Ekamai 12, Maru Ekamai 2, XT Ekkamai, The Fine Bangkok Thonglor - Ekkamai, C Ekkamai และ PITI Ekkamai เป็นต้น[16] อ้างอิง
|