Share to:

 

แทว็อนกุนฮึงซ็อน

แทว็อนกุนฮึงซ็อน
พระบรมราชชนก (대원군)
ประสูติ24 มกราคม 1821
สิ้นพระชนม์22 กุมภาพันธ์ 1898 (พระชนมายุ 78 พรรษา)
พระชายาพูแดบูอินยอฮึง จากสกุลมินแห่งยอฮึง
พระราชบุตรอี แจ-มย็อน
พระเจ้าโคจง
อี แจ-ซ็อน
พระธิดา 3 พระองค์
พระนามเต็ม
อี ฮา-อึง
이하응 李昰應
ราชวงศ์ราชวงศ์โชซ็อน
พระราชบิดาเจ้าชายนัมย็อน

แทว็อนกุนฮึงซ็อน (เกาหลี흥선 대원군; ฮันจา興宣大院君) เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าโคจง และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนในรัชสมัยของพระโอรส แทว็อนกุนฮึงซ็อน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า แทว็อนกุน เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการเมืองสมัยราชวงศ์โชซอนตอนปลาย

พระราชวงศ์ตกอับ

แทว็อนกุนฮึงซ็อน พระราชบิดาในพระเจ้าโกจง(จักรพรรดิโกจง)

แทว็อนกุนฮึงซ็อนเดิมพระนามว่า อี ฮาอึง (เกาหลี: 이하응 李昰應) ประสูติเมื่อค.ศ. 1821 เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของเจ้าชายนัมย็อน (เกาหลี: 남연군 南延君) กับพระชายาจากตระกูลมินแห่งยอฮึง พระบิดาของเจ้าชายอี ฮาอึงคือเจ้าชายนัมย็อนนั้น เดิมชื่อว่า อี กู เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินโจมาแล้วหลายรุ่น ด้วยความห่างไกลทางสายพระโลหิตทำให้ตระกูลของอี กูมีสถานะเป็นเพียงขุนนาง ยังบัน ธรรมดา แต่ทว่าในค.ศ. 1815 อี กูได้เข้าเป็นบุตรบุญธรรมขององค์ชายอึนชิน (เกาหลี: 은신군 恩信君) พระโอรสของเจ้าชายรัชทายาทซาโด) เนื่องจากเจ้าชายอึนชินต้องพระอาญาถูกเนรเทศไปยังเกาะเชจูและสิ้นพระชนม์ที่นั่นทำให้ขาดทายาท อี กูได้รับสถานะเป็นเจ้าชายและได้รับพระนามว่า เจ้าชายนัมย็อน ค.ศ. 1843 เจ้าชายอี ฮาอึงได้รับพระนามว่า เจ้าชายฮึงซ็อน (เกาหลี: 흥선군 興宣君)

ราชสำนักโชซอนในสมัยนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของราชนิกูล หรือการปกครองแบบเซโด (เกาหลี: 세도정치 勢道政治) ซึ่งเป็นการปกครองโดยพระญาติของพระมเหสีหรือพระพันปี ได้แก่ ตระกูลคิมแห่งอันดง ตระกูลโจแห่งพุงยาง และตระกูลฮงแห่งนัมยาง ซึ่งตระกูลเหล่านี้คอยแก่งแย่งผลัดกันขึ้นมามีอำนาจและมักหาทางกำจัดเจ้าชายที่มีความสามารถไปให้พ้นทาง เจ้าชายฮึงซ็อนตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดีจึงทรงแสร้งทำองค์เหมือนคนวิปริตไร้ความสามารถ ขาดสติปัญญา เพื่อที่จะไม่เป็นที่สนใจของตระกูลคิมแห่งอันดงซึ่งมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น[1] จนกระทั่งค.ศ. 1863 พระเจ้าชอลจงสวรรคตโดยที่ไม่มีทายาท ทำให้ราชบัลลังก์ขาดผู้สืบทอด เจ้าชายฮึงซ็อนได้ทรงเข้าหาพระอัยยิกาตระกูลโจแห่งพุงยาง ผู้ทรงอาวุโสที่สุดในราชสำนักขณะนั้น โดยเสนอให้ยกบุตรชายของตนคือ อี มย็องบก (เกาหลี: 이명복 李命福) ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เนื่องจากเจ้าชายอี มย็องบกมีพระชนมายุเพียงแค่สิบเอ็ดพระชันษาพระอัยยิกาโจจึงสามารถกุมอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนได้[2] ซึ่งพระอัยยิกาตระกูลโจก็ทรงเห็นชอบจึงยกให้องค์ชายลีมยองบกเป็นกษัตริย์เกาหลีองค์ต่อมา คือ พระเจ้าโกจงแห่งโชซอน

เมื่อพระโอรสคือพระเจ้าโคจงได้ขึ้นครองราชย์แล้ว เจ้าชายฮึงซ็อนในฐานะเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าโคจงได้รับพระอิสริยยศเป็น แทว็อนกุน หรือ พระบรมราชชนก (เกาหลี: 대원군 大院君) อันเป็นตำแหน่งสำหรับพระราชบิดาของพระมหากษัตริย์โชซอนซึ่งมักจะล่วงลับไปแล้ว แทว็อนกุนฮึงซ็อน หรือ เจ้าชายฮึงซ็อน พระบรมราชชนก นั้น จึงเป็นแทว็อนกุนเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระอิสริยยศนี้ในขณะที่มีพระชนม์ชีพอยู่

ขึ้นสู่อำนาจ

เมื่อพระเจ้าโคจงขึ้นครองราชย์ ตระกูลคิมแห่งอันดงซึ่งครอบครองตำแหน่งระดับสูงต่าง ๆ อยู่ในขณะนั้นก็ถูกขับออกจากราชสำนักไปจนเกือบหมดสิ้น โดยที่มีตระกูลโจแห่งพุงยางนำโดยพระอัยยิกาตระกูลโจและโจโดซุน ขึ้นมามีอำนาจแทน อย่างไรก็ตามแทว็อนกุนก็ได้ทรงแสดงศักยภาพโดยการยึดอำนาจการปกครองจากตระกูลโจมาไว้แก่ตนเอง โดยแทว็อนกุนทรงสามารถดำเนินการปฏิรูปการปกครองของราชสำนักโชซอน ซึ่งเสื่อมลงและเต็มไปด้วยการทุจริตจากการปกครองของราชนิกูลแบบเซโด โดยมีพื้นฐานบนหลักของลัทธิขงจื้อ และแก้ไขปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนาง โดยแทว็อนกุนได้กำจัดต้นเหตุแห่งการแบ่งฝักฝ่ายของขุนนางคือ สำนักปราชญ์ขงจื้อต่าง ๆ ตามหัวเมืองเรียกว่า ซอวอน (เกาหลี: 서원 書院) โดยแทว็อนกุนทรงสั่งปิด ซอวอน ทั่วอาณาจักรโชซอนกว่าสี่ร้อยแห่ง ท่ามกลางการประท้วงของขุนนางและนักปราชญ์ต่าง ๆ เพราะนอกจากจะเป็นที่ปลูกฝังความคิดแบ่งฝ่ายแล้ว ซอวอน ยังเป็นสถานที่สำหรับเซ่นไหว้บูชานักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงชาวจีนและชาวเกาหลีต่าง ๆ ซึ่งแทวอนกุนได้ทำการตอบโต้ว่า "...ข้าจะไม่ยอมรับแม้แต่การฟื้นคืนชีพของขงจื้อ ถ้าหากว่านั่นจะเป็นการทำร้ายประชาชน..."[3] จึงกล่าวได้ว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนนางเกาหลีที่ดำเนินมานานหลายร้อยปี สิ้นสุดลงในสมัยของแทวอนกุนนั้นเอง

ค.ศ. 1865 แทว็อนกุนทรงมีโครงการที่จะย้ายพระราชวังจากพระราชวังชังด็อกกลับไปยังพระราชวังคย็องบก ซึ่งได้ถูกเผาทำลายเสียหายไปเมื่อครั้งการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141) เมื่อกว่าสามร้อยปีก่อนโดยที่มิได้มีการบูรณะ แต่ทว่าราชสำนักโชซอนไม่มีงบประมาณพอที่จะทำการซ่อมแซมบูรณะพระราชวังใหม่ แทว็อนกุนจึงทรงให้มีการเก็บภาษีจากชนชั้นขุนนาง ยังบัน ซึ่งแต่เดิมชนชั้นขุนนางได้รับการยกเว้นภาษีเสมอมา สร้างความไม่พอใจให้แก่ชนชั้น ยังบัน เป็นอย่างมากแต่เป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน และการเก็บภาษีนี้ยังทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้น ยังบัน อ่อนแอลง หลังจากที่ใช้เวลาบูรณะสองปี พระราชวังคย็องบกก็เสร็จสิ้นในค.ศ. 1867 พระเจ้าโคจง แทว็อนกุน และพระอัยยิกาตระกูลโจจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังใหม่

การรุกรานของชาวตะวันตก

ความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่สุดของราชสำนักเกาหลีในสมัยของแทว็อนกุนคือ ความพยายามของชาติตะวันตกในการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโชซอน ซึ่งอาณาจักรโชซอนยึดถือนโยบายปิดประเทศไม่ข้องแวะกับชาวต่าชาติใด ๆ (ยกเว้นราชวงศ์ชิงและญี่ปุ่น) จนได้รับฉายาว่า อาณาจักรฤๅษี (The Hermit Kingdom) และปัญหาการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเกาหลีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันจะเป็นภัยคุกคามต่อลัทธิขงจื้อที่ราชสำนักยึดถือเป็นหลักสำคัญมาช้านาน ทำให้ราชสำนักโชซอนนั้นมีทัศนคติที่ไม่สู้ดีนักกับชาวตะวันตกและวิทยาการตะวันตกโดยรวม

ในความพยายามที่จะกำจัดคริสต์ศาสนาออกไปจากเกาหลี ในค.ศ. 1866 หลังจากที่ราชวงศ์ชิงได้พ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ชาติตะวันตกเริ่มให้ความสนใจแก่อาณาจักรโชซอน โดยรัสเซียได้ส่งเรือรบเข้ามาหวังเปิดการเจรจาการค้า ทำให้ในปีนั้นแทว็อนกุนทรงตัดสินพระทัยดำเนินกวาดล้างชาวคริสเตียนในเกาหลี โดยมีการประหารชีวิตบาทหลวงซีเมอง-ฟรองซัว แบร์โนซ์ (Siméon-François Berneux) หัวหน้าสมาคมมิชชันนารีต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Société des Missions Étrangères de Paris) ในเกาหลี ชาวคริสเตียนที่หลุดรอดไปได้เดินทางไปพบปิแอร์-กุสตาฟ โรเซอ (Pierre-Gustave Roche) นายพลเรือฝรั่งเศสที่กรุงปักกิ่ง โรเชอจึงตัดสินใจรุกรานโชซอนในทันที ทัพเรือของโรเซอบุกยึดได้เกาะคังฮวา แต่กระแสน้ำแปรปรวนและแม่น้ำฮันตื้นเขินเกินกว่าจะล่องเรือไปได้ทำให้โรเซอยกทัพไปไม่ถึงเมืองฮันยาง โรเซอมีพยายามจะยกทัพขึ้นฝั่งอยู่หลายครั้งแต่ถูกกองทัพโชซอนต่อต้านอย่างรุนแรงจึงถอยกลับไปในที่สุด การบุกเกาหลีของฝรั่งเศสครั้งนี้เรียกว่า พยองอินยังโย (เกาหลี: 병인양요) หรือ การรุกรานของชาวตะวันตกในปีพยองอิน

ในปีค.ศ. 1866 เช่นกัน บริษัทอังกฤษแห่งหนึ่งในจีน ต้องการที่จะทำสัญญาการค้ากับโชซอน จึงส่งเรือรบชื่อว่าเจเนอรัล เชอร์แมน (General Sherman) ซึ่งเป็นเรือรบของสหรัฐอเมริกามายังโชซอน ซึ่งเรือเจเนอรัล เชอร์แมนถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากทางการโชซอนโดยการส่งทัพมาโจมตีและเผาเรือเจเนอรัล เชอร์แมน อีกห้าปีต่อมาในค.ศ. 1871 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทัพเรือส่วนหนึ่งจากกองกำลังภาคเอเชีย (Asiatic Squadron) นำโดยนายจอห์น ร็อดเจอร์ส (John Rodgers) มายังโชซอน เพื่อเจรจาขอชดเชยค่าเสียหายจากกรณีเรือเจเนอรัล เชอร์แมน แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่ได้ผลทำให้เมื่อทัพเรือสหรัฐอเมริกาเข้าสู่แม่น้ำฮัน ชาวโชซอนเข้าใจว่าทัพเรือสหรัฐฯ จะมาบุกยึดเมืองฮันยางจึงยิงปืนเข้าใส่ ทัพสหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการบุกยึดเกาะคังฮวา และโจมตีเมืองต่าง ๆ ของโชซอน และได้จับชาวโชซอนเป็นเชลยไว้จำนวนมาก จึงคิดจะให้เป็นข้อแลกเปลี่ยนในการทำสัญญาทางการค้า แต่ทางราชสำนักไม่สนใจชีวิตของตัวประกันและยังคงยืนยันจะปิดประเทศต่อไป เมื่อการเจรจาไม่ได้ผลทัพเรืออเมริกาจึงถอยทัพกลับ การบุกเกาหลีของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เรียกว่า ชินมียังโย (เกาหลี: 신미양요) การรุกรานของชาวตะวันตกในปีชินมี

สูญเสียอำนาจ

ค.ศ. 1866 เมื่อพระเจ้าโกจงมีพระชนมายุสิบห้าชันษาถึงเวลาอภิเษกสมรส พระอัยยิกาตระกูลโจและแทว็อนกุนฮึงซ็อน พระบิดาของพระเจ้าโกจงเป็นผู้คัดเลือกพระมเหสีองค์ใหม่ พระชายาของแทว็อนกุนคือ พระชายายอฮึง (เกาหลี: 여흥부대부인 驪興府大夫人) ได้แนะนำสตรีจากตระกูลของพระนาง เป็นบุตรสาวของมินชีรก (เกาหลี: 민치록 閔致祿) ให้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าโกจง ซึ่งแทว็อนกุนฮึงซ็อนนั้นก็เห็นด้วยเนื่องจากว่าเป็นตระกูลของพระชายาของเจ้าชายแทวอนเอง ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักน้อย ไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามต่อแทว็อนกุนในอนาคต แต่ปรากฏว่าพระมเหสีองค์ใหม่จากตระกูลมิน (จักรพรรดินีมย็องซ็อง) กลับเข้ามาแทรกแซงกิจการบ้านเมืองและนำตระกูลมินแห่งยอฮึงเข้ามามีอำนาจในราชสำนักแข่งขันกันกับแทว็อนกุน

ค.ศ. 1868 พระสนมควีอินระกูลลี (เกาหลี: 귀인이씨 貴人李氏) ประสูติพระโอรสองค์แรกแด่พระเจ้าโคจงพระนามว่า เจ้าชายวานฮวา (เกาหลี: 완화군 完和君) ซึ่งเจ้าชายแทวอนประสงค์จะแต่งตั้งเจ้าชายวานฮวาเป็นเจ้าชายรัชทายาท พระมเหสีมินประสูติพระโอรสองค์แรกของพระองค์เองแต่ทว่าสิ้นพระชนม์ลงเมื่อพระชนมายุเพียงสามวัน เจ้าชายแทวอนตำหนิพระมเหสีมินว่าทรงไม่อาจทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีได้ ในขณะที่พระมเหสีมินตรัสโทษโสมของเจ้าชายแทวอนที่ประทานแก่พระโอรสว่าเป็นต้นเหตุการสิ้นพระชนม์ ในค.ศ. 1873 กลุ่มขุนนางตระกูลมินได้สนับสนุนให้ขุนนางชื่อว่า ชเวอิกฮยอน (เกาหลี: 최익현 崔益鉉) ถวายฏีกาตำหนิการปกครองของเจ้าชายแทวอนว่ามีการทุจริตฉ้อฉล และร้องขอให้พระเจ้าโคจงทรงปกครองประเทศด้วยพระองค์เองเนื่องจากมีพระชนมายุเกินยี่สิบชันษาแล้ว พระเจ้าโคจงจึงทรงประกาศว่าจะว่าราชการด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้เจ้าชายแทวอนต้องทรงพ้นสภาพจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนไปโดยปริยาย[4] เมื่อทรงสูญเสียอำนาจให้แก่พระสุนิสา (ลูกสะใภ้) แล้ว แทว็อนกุนก็เสด็จย้ายไปประทับที่พระราชวังอุนฮยอน

หลังจากที่สูญเสียอำนาจไปแล้วนั้น แทว็อนกุนยังทรงหาทางกอบกู้อำนาจคืนจากพระมเหสีมินและตระกูลมินอยู่เสมอ ในค.ศ. 1881 แทว็อนกุนทรงร่วมกับขุนนางผู้สมรู้ร่วมคิดจำนวนหนึ่งวางแผนการก่อกบฏยึดอำนาจจากพระเจ้าโคจงและพระมเหสีมิน พร้อมทั้งยกให้องค์ชายวานึง (เกาหลี: 완은군 完恩君) พระโอรสองค์โตผู้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าโคจงเป็นกษัตริย์แทน แต่ทว่าแผนการกลับล่วงรู้ไปถึงพระมเหสีมินเสียก่อน จึงมีการจับกุมลงโทษประหารชีวิตผูสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งองค์ชายวานึงถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตไปเช่นกัน ส่วนแทว็อนกุนในฐานะพระราชบิดาจึงไม่มีผู้ใดสามารถเอาผิดได้

ในค.ศ. 1882 ในเหตุการณ์กบฏปีอีโม (เกาหลี: 임오군란) ทหารเก่าไม่พอใจการปฏิรูปของพระมเหสีมินได้ยกทัพเข้ายึดพระราชวังคย็องบก และถวายคืนอำนาจให้แด่แทว็อนกุน แต่ทว่าพระมเหสีได้ทรงร้องขอความช่วยเหลือจากจีนราชวงศ์ชิง ได้ส่งกองทัพจำนวน 4,500 นำโดยหลี่หงจาง (จีน: 李鴻章 Lǐ Hóngzhāng) เข้ามายังกรุงโซลเพื่อทำการปราบกบฏลงได้สำเร็จ แทว็อนกุนทรงต้องโทษและถูกจับกุมองค์ไปยังเมืองเทียนจิน หลังจากที่ประทับอยู่เมืองเทียนจินเป็นเวลาเกือบสามปี ทางราชสำนักชิงก็ได้ปลดปล่อยแทว็อนกุนกลับมาสู่โชซอน

ค.ศ. 1895 เหตุการณ์ปีอึลมี พระมเหสีมินทรงถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยกลุ่มทหารญี่ปุ่นทำโดย มิอุระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼โรมาจิMiura Gorō) ราชทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีในขณะนั้น เป็นที่คาดเดาว่า แทว็อนกุนทรงมีส่วนรู้เห็นในเหตุการณ์ครั้งนี้

แทว็อนกุนสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. 1898 ที่พระราชวังอุนฮยอน พระชนมายุ 78 ชันษา

พระราชวงศ์

  • พระราชบิดา
    • องค์ชายนัมยอง (1788-1836)
  • พระราชมารดา
    • ไม่ทราบพระนามแน่ชัด
  • พระชายา
    • พระชายายอฮึงจากตระกูลมิน (1818-1898)
    • อนุภรรยา กเย ซองวอล (계성월)
  • พระโอรสและธิดา
    • ลี แจมยอน (องค์ชายวอนฮึง) (1845-1912)- ประสูติในพระชายาตระกูลมิน
    • ลี มยอนบก (พระเจ้าโคจง) (1852-1919)- ประสูติในพระชายาตระกูลมิน
    • ลี แจซอน (องค์ชายวานึง) 완은군 (1842-1881) -ประสูติในอนุภรรยากเยซองวอล

ดูเพิ่ม

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-03-15.
  2. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C21/E2101.htm
  3. Jae-eun Kang. The Land of Scholars: Two Thousand Years of Korean Confucianism. Homa & Sekey Books, 2006.
  4. http://www.koreanhistoryproject.org/Ket/C22/E2204.htm
Kembali kehalaman sebelumnya