ราชวงศ์โชซ็อน
ราชวงศ์โชซ็อน (เกาหลี: 조선) เป็นราชวงศ์สุดท้ายของรัฐเกาหลีมีอายุมากกว่า 500 ปี[4][5] ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า มหาประเทศโชซ็อน (대조선국; 大朝鮮國; /tɛ.tɕo.sʌn.ɡuk̚/)[6]สถาปนาโดย พระเจ้าแทโจแห่งโชซ็อนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1392 และแทนที่ด้วยจักรวรรดิเกาหลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1897[7] อาณาจักรก่อตั้งขึ้นหลังจากการโค่นล้มราชวงศ์โครยอที่เมืองแกซองในปัจจุบัน เมืองหลวงได้ถูกย้ายไปยังฮันยังหรือกรุงโซลในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สถาปนาราชวงศ์ราชวงศ์โครยอเดิมปกครองคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นเวลาประมาณสี่ร้อยปีโดยมีราชธานีอยู่นครแคซ็อง อี ซ็อง-กเย เป็นขุนศึกผู้มีอำนาจและมีผลงานในรัชกาลของพระเจ้าคงมิน (เกาหลี: 공민왕, 恭愍王) ในค.ศ. 1388 พระเจ้าอูแห่งโครยอมีพระราชโองการให้แม่ทัพ อี ซ็อง-กเย ยกทัพไปต้านทานการรุกรานจากจีนราชวงศ์หมิง แต่เมื่ออี ซ็อง-กเย เดินทัพถึงเกาะวีฮวา (เกาหลี: 위화도, 威化島) บนแม่น้ำยาลู อี ซ็อง-กเย หันทัพกลับมายังเมืองแคซ็องกระทำรัฐประหารยึดอำนาจจากนั้นตั้งกษัตริย์หุ่นเชิดขึ้นครองโครยออีกสองพระองค์ จนกระทั่งในค.ศ. 1392 อี ซ็อง-กเย ก็บังคับให้พระเจ้าคงยาง (เกาหลี: 공양왕, 恭讓王) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งโครยอสละราชบัลลังก์ แล้วอี ซ็อง-กเย จึงปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ และได้รับชื่อพระราชทานจากจักรพรรดิหงหวู่ว่า "ราชวงศ์โชซ็อน" อี ซ็อง-กเยขึ้นเป็น พระเจ้าแทโจ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซ็อน พระเจ้าแทโจทรงย้ายราชธานีของเกาหลีไปยังเมืองฮันยัง (เกาหลี: 한양, 漢陽) หรือฮันซ็อง (เกาหลี: 한성, 漢城 ปัจจุบันคือกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้) บนแม่น้ำฮัน การก่อสร้างพระราชวังและเมืองหลวงแห่งใหม่ ได้รับการออกแบบโดยช็อง โด-จ็อน (เกาหลี: 정도전, 鄭道傳) พระเจ้าแทโจทรงส่งเสริมลัทธิขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติแทนที่พุทธศาสนามหายานเดิม หลังจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเจ้าชาย ในรัชสมัยพระเจ้าแทจงราชวงศ์โชซ็อนจัดตั้งรากฐานการเมืองการปกครองขึ้น พระเจ้าแทจงทรงตั้งสภาอีจอง (เกาหลี: 의정부, 議政府) เป็นสภาขุนนางสูงสุด จัดตั้งหกกระทรวงตามแบบจีนยุคราชวงศ์ซ่ง จัดตั้งระบบราชการซึ่งจะดำรงอยู่ไปตลอดยุคราชวงศ์โชซ็อน ราชวงศ์หมิงยอบรับราชวงศ์โชซ็อนอย่างเป็นทางการในค.ศ. 1402 ทำให้เกาหลีสมัยราชวงศ์โชซ็อนเป็นประเทศราชของจีนและเข้าสู่ระบบบรรณาการ ในค.ศ. 1419 พระเจ้าแทจงทรงส่งทัพเรือนำโดยแม่ทัพ อี จง-มู (เกาหลี: 이종무, 李從茂) เข้ารุกรานเกาะสึชิมะของญี่ปุ่นในยุคมูโรมาจิเพื่อปราบโจรสลัดญี่ปุ่น เรียกว่า การรุกรานทางตะวันออกในปีคีแฮ (เกาหลี: 기해동정, 己亥東征) นำไปสู่การเจรจาระหว่างโชซ็อนและญี่ปุ่นในสนธิสัญญาปีกเย-แฮ (เกาหลี: 계해조약, 癸亥條約) จัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชสำนักโชซ็อนและรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ความรุ่งเรืองของลัทธิขงจื๊อใหม่และการกวาดล้างนักปราชญ์รัชสมัยของพระเจ้าเซจงมหาราชมีการส่งเสริมลัทธิขงจื๊อและวัฒนธรรมจีนให้แพร่หลาย ทรงก่อตั้งชิบฮย็อนจอน (เกาหลี: 집현전, 集賢殿) เป็นสำนักศึกษาปราชญ์ขงจื้อ พระเจ้าเซจงมีพระราชโองการให้ปรับเปลี่ยนขนบธรรมเนีนมประเพณีดั้งเดิมของเกาหลีให้สอดคล้องกับลัทธิขงจื๊อ เช่น ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการไว้ทุกข์ นำไปสู่การกำเนิดของชนชั้นนักปราชญ์ขงจื๊อหรือชนชั้นยังบันซึ่งมีบทบาทและอำนาจในการปกครองประเทศ พระเจ้าเซจงทรงได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ที่ห่วงใยราษฎร ในค.ศ. 1446 พระเจ้าเซจงทรงประกาศใช้อักษรฮันกึล ซึ่งเป็นอักษรที่ง่ายต่อการเรียนรู้ ผ่านทางวรรณกรรมเรื่องฮุนมินจ็องอึม (เกาหลี: 훈민정음, 訓民正音) เพื่อให้ราษฎรทุกชนชั้นสามารถอ่านออกเขียนได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อักษรจีน ในรัชสมัยของพระเจ้าเซจงขุนนางชื่อว่า ชัง ย็อง-ชิล (เกาหลี: 장영실, 蔣英實) เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ประดิษฐ์มาตรวัดน้ำฝน หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าเซจงเป็นยุคแห่งความขัดแย้ง ในค.ศ. 1455 เจ้าชายซูยัง (เกาหลี: 수양대군, 首陽大君) ทำการยึดอำนาจ ปลดเจ้าชายโนซัน (เกาหลี: 노산군, 魯山君) ออกจากราชสมบัติแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าเซโจ ในการรัฐประหารปีคเยยู (เกาหลี: 계유정난, 癸酉靖難) ต่อมาในค.ศ. 1456 ขุนนางผู้ภักดีต่อเจ้าชายโนซันทั้งหกคนก่อการกบฏเพื่อถวายราชสมบัติคืนแก่เจ้าชายโนซันแต่ไม่สำเร็จ เรียกว่า ซายุกชิน หรือขุนนางผู้พลีชีพทั้งหก (เกาหลี: 사육신, 死六臣) เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดนักปราชญ์กลุ่มซาริม (เกาหลี: 사림, 士林) หรือนักปราชญ์ตามป่าเขา เกิดจากกลุ่มขุนนางผู้สูญเสียอำนาจจากการยึดอำนาจของพระเจ้าเซโจและถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนกลาง นักปราชญ์กลุ่มซาริมยึดถือในลัทธิขงจื๊อแบบบริสุทธิ์และตีความปรัชญาลัทธิขงจื๊อแบบตรงตัว ในรัชสมัยพระเจ้าเซโจมีการปฏิรูปการปกครอง มีการส่งเสริมศาสตร์อื่นนอกเหนือจากวรรณกรรมขงจื๊อ และมีการชำระกฎหมายเรียกว่า คย็องกุกแดจ็อน (เกาหลี: 경국대전, 經國大典) ในสมัยพระเจ้าซ็องจงขุนนางกลุ่มซาริมกลับเข้ามารับราชการในราชสำนักอีกครั้งทำให้ลัทธิขงจื๊อกลับมามีความสำคัญ ขุนนางซาริมรับราชการในสามกรมหรือ ซัมซา (เกาหลี: 삼사, 三司) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของขุนนาง ในค.ศ. 1498 เจ้าชายย็อนซันค้นพบว่าขุนนางซาริมชื่อว่าคิมจงจิกเขียนประวัติศาสตร์ลบหลู่พระเจ้าเซโจ จึงเกิดการกวาดล้างลงโทษขุนนางกลุ่มซาริมจำนวนมากเรียกว่า การสังหารหมู่ปราชญ์ปีมูโอ (เกาหลี: 무오사화, 戊午士禍) และในค.ศ. 1504 เจ้าชายย็อนซันค้นพบว่าพระมารดาคืออดีตพระมเหสีตระกูลยุนต้องโทษทางการเมืองทำให้ถูกสำเร็จโทษด้วยยาพิษ เจ้าชายย็อนซันจึงทำการกวาดล้างขุนนางผู้มีส่วนรู้เห็นการสำเร็จโทษพระมารดาในอดีตเรียกว่า การสังหารหมู่ปราชญ์ปีคัปจา (เกาหลี: 갑자사화, 甲子士禍) รัชสมัยของเจ้าชายย็อนซันเป็นกลียุคเต็มไปด้วยการนองเลือด ในค.ศ. 1506 กลุ่มขุนนางทำการยึดอำนาจและปลดเจ้าชายย็อนซันออกจากราชสมบัติ และอัญเชิญพระเจ้าชุงจงขึ้นครองราชสมบัติแทนที่เจ้าชายย็อนซัน ในรัชสมัยของพระเจ้าชุงจงขุนนางกลุ่มซาริมกลับเข้ารับราชการอีกครั้งโดยมีผู้นำคือโช กวัง-โจ (조광조, 趙光祖) โช กวัง-โจ ต้องการปฏิรูปการปกครองตามอย่างลัทธิขงจื๊อแท้บริสุทธิ์ทำให้เกิดความขัดแย้งกับขุนนางกลุ่มเก่า จนกระทั่งเกิดการใส่ร้ายโช กวัง-โจ ว่าเป็นกบฏและโช กวัง-โจ ถูกประหารชีวิตในค.ศ. 1519 ตามมาด้วยการกวาดล้างขุนนางกลุ่มซาริมอีกครั้งเรียกว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ปราชญ์ปีคี-มโย (เกาหลี: 기묘사화, 己卯士禍) ในสมัยของพระเจ้าอินจงขุนนางกลุ่มยุนใหญ่ (เกาหลี: 대윤, 大尹) นำโดยยุนอิม (เกาหลี: 윤임, 尹任) ซึ่งเป็นพระอัยกาของพระเจ้าอินจงขึ้นมามีอำนาจ เมื่อพระเจ้าอินจงสวรรคตในค.ศ. 1545 พระเจ้ามย็องจงเป็นกษัตริย์องค์ต่อมาทำให้ฝ่ายยุนใหญ่สูญเสียอำนาจและฝ่ายยุนเล็ก (เกาหลี: 소윤, 小尹) นำโดยยุน ว็อน-ฮย็อง (เกาหลี: 윤원형, 尹元衡) ซึ่งเป็นพระปิตุลาของพระเจ้ามย็องจงขึ้นมามีอำนาจแทน เนื่องจากพระเจ้ามย็องจงยังพระเยาว์พระพันปีมุนจ็องพระชนนีของพระเจ้ามย็องจงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ฝ่ายยุนเล็กกวาดล้างขุนนางฝ่ายยุนใหญ่ยุนอิมถูกประหารชีวิต พระพันปีมุนจ็องฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ถูกกดขี่มานาน เมื่อพระพันปีมุนจ็องสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1565 ทำให้อำนาจของตระกูลยุนสิ้นสุดลงนำไปสู่การประหารชีวิตยุน ว็อน-ฮย็อง การรุกรานของญี่ปุ่นและการแบ่งฝ่ายในรัชสมัยของพระเจ้าซ็อนโจขุนนางกลุ่มซาริมกลับมามีอำนาจในราชสำนักโชซ็อนอย่างถาวร ความขัดแย้งระหว่างขุนนางสองคนได้แก่ชิม อี-กย็อม (เกาหลี: 심의겸, 沈義謙) และคิม ฮโย-ว็อน (เกาหลี: 김효원, 金孝元) ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งขุนนางตำแหน่ง อีโจจ็องรัง ในค.ศ. 1575 ลุกลามไปสู่การแบ่งขุนนางกลุ่มซาริมเป็นสองฝ่ายได้แก่
ในค.ศ. 1589 ขุนนางฝ่ายตะวันออกชื่อว่าช็อง ยอ-ริป (เกาหลี: 정여립, 鄭汝立) ซึ่งมีความคิดว่าอำนาจการปกครองควรเป็นของราษฏร ถูกขุนนางฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ทำให้ช็อง ยอ-ริป และขุนนางฝ่ายตะวันออกจำนวนมากถูกประหารชีวิตหรือเนรเทศ เหตุการณ์นี้ทำให้ฝ่ายตะวันออกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่
ในขณะที่โชซ็อนกำลังเกิดความขัดแย้งภายในและการแบ่งฝ่าย โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (ญี่ปุ่น: 豊臣 秀吉; โรมาจิ: Toyotomi Hideyoshi) รวบรวมญี่ปุ่นในยุคเซงโงกุได้เป็นปึกแผ่น ในค.ศ. 1587 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ส่งทูตมายังราชสำนักโชซ็อนที่เมืองฮันซ็องประกาศว่าจะทำการรุกรานจักรวรรดิจีนราชวงศ์หมิงโดยใช้คาบสมุทรเกาหลีเป็นทางผ่าน และร้องขอให้อาณาจักรโชซ็อนเปิดทางให้ทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานจีน เมื่อทางฝ่ายโชซ็อนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำขอของฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ จึงจัดตั้งกองทัพขนาดมหึมาเข้าทำการรุกรานโชซ็อน นำไปสู่การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (Japanese Invasions of Korea) กองทัพฝ่ายญี่ปุ่นมีความได้เปรียบเนื่องจากประกอบไปด้วยซามูไรซึ่งมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการรบ รวมทั้งญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีด้านอาวุธปืนซึ่งรับมาจากชาวตะวันตก ในขณะที่กองทัพฝ่ายโชซ็อนประกอบไปด้วยชาวบ้านซึ่งถูกเกณฑ์มารบและมีเพียงหอกดาบธนูเป็นอาวุธ ในค.ศ. 1592 กองทัพแนวหน้าของญี่ปุ่นนำโดยโคนิชิ ยูกินางะ (ญี่ปุ่น: 小西 行長; โรมาจิ: Konishi Yukinaga) และคาโต คิโยมาซะ (ญี่ปุ่น: 加藤 清正; โรมาจิ: Katō Kiyomasa) ยกพลขึ้นบกที่เมืองท่าปูซานและสามารถยึดเมืองปูซานได้อย่างรวดเร็ว โชซ็อนส่งกองทัพไปรับมือกับทัพญี่ปุ่นแต่ไม่สามารถต่อกรกับอาวุธปืนของญี่ปุ่นได้ หลังจากที่ยกพลขึ้นบกได้เพียงหนึ่งเดือนกองทัพญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดนครหลวงฮันซ็องได้สำเร็จและปล้มสะดมเผาทำลายพระราชวังคย็องบกจนพินาศวอดวาย พระเจ้าซ็อนโจพร้อมทั้งพระราชวงศ์โชซ็อนและขุนนางทั้งหลายเสด็จหลบหนีไปยังเมืองเปียงยาง โคนิชิ ยูกินางะ นำทัพญี่ปุ่นตามไปยึดเมืองเปียงยางทำให้พระเจ้าซ็อนโจต้องเสด็จลี้ภัยไปยังนครปักกิ่ง ทัพญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดโชซ็อนได้เกือบทั้งหมดยกเว้นมณฑลช็อลลาทางตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งอี ซุน-ชิน (เกาหลี: 이순신, 李舜臣) ตั้งมั่นเป็นฐานทัพเรือคอบุกซ็อน (เกาหลี: 거북선) หรือเรือเต่า เข้าโจมตีเส้นทางการขนส่งเสบียงของญี่ปุ่น ฝ่ายราชวงศ์หมิงส่งกองทัพนำโดยหลี่ หรูซ่ง (จีน: 李舜臣; พินอิน: Lǐ Rúsòng) ยกทัพมาเพื่อปลดแอกโชซ็อนจากการยึดครองของญี่ปุ่น ทัพจีนเข้ายึดเมืองเปียงยางคืนได้ในค.ศ. 1593 นำไปสู่การเจรจาสงบศึกระหว่างจีนราชวงศ์หมิงและญี่ปุ่นในค.ศ. 1594 เมื่อการเจรจาระหว่างจีนและญี่ปุ่นไม่ประสบผล โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ จึงให้กองทัพเข้ารุกรานโชซ็อนอีกครั้งในค.ศ. 1597 ซึ่งทัพของจีนและโชซ็อนสามารถต้านทานการรุกรานของญี่ปุ่นในครั้งนี้ได้ เมื่อโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถึงแก่กรรมในค.ศ. 1598 ฝ่ายญี่ปุ่นจึงถอนทัพออกจากโชซ็อน ในยุทธการที่โนรยาง (Battle of Noryang Point) อี ซุน-ชิน สามารถนำทัพเรือเข้าทำลายทัพเรือญี่ปุ่นได้แต่อี ซุน-ชิน เสียชีวิตในที่รบ หลังจากการรุกรานของญี่ปุ่นสิ้นสุดลง ขุนนางฝ่ายเหนือมีอำนาจในราชสำนักโชซ็อน ในระหว่างสงครามกับญี่ปุ่นนั้นพระเจ้าซ็อนโจทรงตั้งเจ้าชายควังแฮ (เกาหลี: 광해군, 光海君) ให้เป็นเจ้าชายรัชทายาท ในค.ศ. 1606 พระมเหสีอินมกประสูติพระโอรสคือเจ้าชายย็องชัง (เกาหลี: 영창대군, 永昌大君) เจ้าชายย็องชังมีสิทธิ์ขึ้นครองบัลลังก์โชซ็อนมากกว่าเจ้าชายควังแฮ เนื่องจากเจ้าชายย็องชังประสูติแต่พระมเหสีในขณะที่เจ้าชายควังแฮประสูติแต่พระสนม ทำให้ขุนนางฝ่ายเหนือแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่ ฝ่ายเหนือใหญ่หรือ แทบุก (เกาหลี: 대북, 大北) ให้การสนับสนุนแก่เจ้าชายควังแฮ มีผู้นำคือช็อง อิน-ฮง (เกาหลี: 정인홍, 鄭仁弘) และฝ่ายเหนือเล็กหรือ โซบุก (เกาหลี: 소북, 小北) ให้การสนับสนุนแก่เจ้าชายย็องชัง เมื่อพระเจ้าซ็อนโจสวรรคตในค.ศ. 1608 เจ้าชายควังแฮขึ้นครองราชย์ต่อมาทำให้ฝ่ายเหนือใหญ่ขึ้นมามีอำนาจ เจ้าชายควังแฮสร้างพระราชวังชังด็อกขึ้นเป็นพระราชวังแห่งใหม่แทนที่พระราชวังคย็องบกที่ถูกทำลายไป ขุนนางฝ่ายเหนือใหญ่ทำการปราบปรามขุนนางฝ่ายเหนือเล็กอย่างรุนแรง นำไปสู่การสำเร็จโทษประหารเจ้าชายย็องชังในค.ศ. 1614 ในค.ศ. 1623 กลุ่มขุนนางฝ่ายตะวันตกนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ ปลดเจ้าชายควังแฮออกจากราชสมบัติ ทำให้อำนาจของฝ่ายเหนือสิ้นสุดลง และอัญเชิญพระเจ้าอินโจขึ้นครองบัลลังก์ต่อมา เรียกว่า การรัฐประหารของพระเจ้าอินโจ (เกาหลี: 인조반정 仁祖反正) ฝ่ายตะวันตกขึ้นมามีอำนาจแทนฝ่ายเหนือ ยุคฝ่ายตะวันตกเรืองอำนาจและการรุกรานของแมนจูในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวแมนจูทางตอนเหนือของจีนเรืองอำนาจขึ้นและเป็นภัยคุกคามต่อจีนราชวงศ์หมิง โชซ็อนในสมัยของเจ้าชายควังแฮดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง เมื่อพระเจ้าอินโจขึ้นครองราชย์จากการยึดอำนาจขุนนางฝ่ายตะวันตกมีอำนาจ ขุนนางฝ่ายตะวันตกมีนโยบายสนับสนุนราชวงศ์หมิงต่อต้านชาวแมนจู ในค.ศ. 1627 ฮงไทจิ (แมนจู: Hong Taiji) ผู้นำของชาวแมนจูส่งทัพเข้ารุกรานโชซ็อนเกิดเป็นการรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่หนึ่ง (First Manchu Invasion of Korea) หลังจากการเจรจาโชซ็อนยินยอมดำเนินนโยบายที่เป็นกลางทัพแมนจูจึงกลับไป แต่ทว่าราชสำนักโชซ็อนมิได้ทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับแมนจู ยังคงเชิดชูและช่วยเหลือราชวงศ์หมิงเช่นเดิม ต่อมาเมื่อฮงไทจิประกาศก่อตั้งราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) ต้องการให้โชซ็อนเป็นเมืองขึ้นส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์ชิง นำไปสู่การรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่สอง (Second Manchu Invasion of Korea) ในค.ศ. 1636 ปีต่อมาค.ศ. 1637 ปีต่อมาพระเจ้าอินโจทรงยอมจำนนต่อแมนจู พระจักรพรรดิหฺวังไถจี๋แห่งราชวงศ์ชิงให้สร้างอนุสรณ์สถานรำลึกชัยชนะของแมนจูเหนือโชซ็อน เรียกว่า อนุสรณ์ซัมจ็อนโด (เกาหลี: 삼전도비 三田渡碑) และให้พระเจ้าอินโจแห่งโชซ็อนคำนับห้าครั้งและเอาพระเศียรโขกกับพื้นสามครั้งให้แก่จักรพรรดิหฺวังไถจี๋ เพื่อเป็นการแสดงการสวามิภักดิ์ต่อแมนจู สงครามครั้งนี้ทำให้อาณาจักรโชซ็อนเปลี่ยนจากการเป็นประเทศราชของราชวงศ์หมิงกลายมาเป็นประเทศของราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยของพระเจ้าฮย็อนจงเกิดความขัดแย้งเรื่องการไว้ทุกข์ (เกาหลี: 예송논쟁, 禮訟論爭) ของพระอัยยิกาชาอี (เกาหลี: 자의대비, 慈懿大妃) ทำให้ฝ่ายตะวันตกซึ่งมีซง ชี-ย็อล (เกาหลี: 송시열, 宋時烈) เป็นผู้นำ และฝ่ายใต้ซึ่งมีผู้นำคือ ฮอ มก (เกาหลี: 허목, 許穆) ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ ในค.ศ. 1680 ฝ่ายใต้ถูกทำลายอำนาจทำให้ ฮอ มก เสียชีวิต ในค.ศ. 1689 ขุนนางฝ่ายใต้เสนอให้แต่งตั้งพระโอรสที่เกิดแต่พระสนมชังฮีบิน (เกาหลี: 희빈장씨, 禧嬪張氏) เป็นรัชทายาทในขณะที่ฝ่ายตะวันตกคัดค้านทำให้ฝ่ายตะวันตกถูกลงโทษซง ชี-ย็อล ผู้นำฝ่ายตะวันตกถูกประหารชีวิต ต่อมาค.ศ. 1701 พระเจ้าซุกจงทรงค้นพบว่าพระสนมชังฮีบินทำไสยศาสตร์แก่พระมเหสีอินฮย็อน (เกาหลี: 인현왕후, 仁顯王后) จนสิ้นพระชนม์ ทำให้ขุนนางฝ่ายใต้ถูกลงโทษอีกครั้ง ฝ่ายตะวันตกกลับขึ้นมามีอำนาจอย่างถาวร ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าซุกจงเกิดความขัดแย้งระหว่างซง ชี-ย็อลกับศิษย์ ทำให้ฝ่ายตะวันตกแบ่งเป็นสองฝ่ายได้แก่
พระโอรสของพระสนมชังฮีบินขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าคย็องจงในค.ศ. 1720 ฝ่ายโซรนขึ้นมามีอำนาจ แต่เนื่องจากพระเจ้าคย็องจงประชวร ขุนนางฝ่ายโนรนจึงให้มีการแต่งตั้งเจ้าชายย็อนอิงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ขุนนางฝ่ายโซรนกล่าวหาฝ่ายโนรนว่าเป็นกบฏต้องการยึดราชสมบัติให้เจ้าชายย็อนอิง ขุนนางฝ่ายโนรนจึงถูกกวาดล้างลงโทษอย่างมากในค.ศ. 1721 เมื่อพระเจ้าคย็องจงสวรรคตในค.ศ. 1724 เจ้าชายย็อนอิงครองราชสมบัติต่อมาเป็นพระเจ้าย็องโจ ทำให้ขุนนางฝ่ายโซรนเสียอำนาจและฝ่ายโนรนขึ้นมามีอำนาจแทน พระเจ้าย็องโจและพระเจ้าช็องโจพระเจ้าย็องโจทรงดำเนินนโยบายทังพย็อง (เกาหลี: 탕평책, 蕩平策) หรือนโยบายเพื่อความสมานฉันท์เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ พระเจ้าย็องโจทรงให้ขุนนางทั้งฝ่ายโนรนและโซรนมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างเท่าเทียม รัชสมัยของพระเจ้าย็องโจเป็นรัชสมัยที่ยาวนานและสงขสุข พระเจ้าย็องโจได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ผู้ห่วงใยอาณาประชาราษฎร์ อย่างไรก็ตามในปลายรัชสมัยพระเจ้าย็องโจเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระโอรสของพระเจ้าย็องโจคือเจ้าชายรัชทายาทซาโด (เกาหลี: 사도세자, 思悼世子) มีพระสติวิปลาสนำไปสู่การสำเร็จโทษประหารชีวิตเจ้าชายซาโดในค.ศ. 1762 ทำให้ขุนนางแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอีกครั้งได้แก่
ในค.ศ. 1775 กลุ่มพย็อกปาคัดค้านการแต่งตั้งพระนัดดารัชทายาทลีซันซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายซาโดให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เมื่อเจ้าชายลีซันขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าช็องโจในค.ศ. 1776 จึงทำการลงโทษขุนนางฝ่ายพย็อกปาไปจำนวนมากและนำขุนนางชิปาขึ้นมามีอำนาจ พระเจ้าช็องโจทรงสานต่อนโยบายทังพย็องเพื่อความสมานฉันท์ของพระเจ้าย็องโจพระอัยกา พระเจ้าช็องโจใช้อุบายทางการเมืองเพื่อคานอำนาจระหว่างขุนนางกลุ่มโนรนและโซรน และฟื้นฟูขุนนางฝ่ายใต้ให้ขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งภายใต้การนำของแช เจ-กง (เกาหลี: 채제공, 蔡濟恭) ในรัชสมัยของพระเจ้าช็องโจเป็นยุคแห่งการเรียนรู้ มีการสร้างคยูจังกัก (เกาหลี: 규장각, 奎章閣) หรือหอสมุดหลวงในค.ศ. 1776 นำไปสู่การเกิดชิลฮัก (เกาหลี: 실학, 實學) หรือ "ศาสตร์ที่แท้จริง" ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่นอกเหนือไปจากการศึกษาลัทธิขงจื๊อแบบเดิม หนึ่งในการศึกษาชิลฮักประกอบด้วยซอฮัก (เกาหลี: 서학, 西學) ซึ่งหมายถึงการศึกษาวิทยาการตะวันตก เจริญรุ่งเรืองขึ้นในโชซ็อน โดยเฉพาะในกลุ่มนักปราชญ์ฝ่ายใต้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ศึกษาวิทยาการตะวันตก และมีขุนนางฝ่ายใต้บางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ขุนนางฝ่ายใต้คนสำคัญคือช็อง ยัก-ย็อง (เกาหลี: 정약용, 丁若鏞) ผู้ศึกษาศาสตร์วิทยาการจนรอบรู้ นอกจากนี้พระเจ้าช็องโจยังทรงปฏิรูปสังคมโชซ็อน ได้แก่การยกสถานะของบุตรภรรยารองให้มีฐานะเท่าเทียมกับบุตรที่เกิดกับภรรยาเอก พระเจ้าช็องจงทรงสร้างป้อมปราการเมืองซูว็อนหรือป้อมฮวาซ็องขึ้นในค.ศ. 1794 และทรงวางแผนจะย้ายราชธานีของโชซ็อนไปยังซูว็อน แต่เมื่อพระเจ้าช็องโจสวรรคตไปเสียก่อนในค.ศ. 1800 ทำให้แผนการต้องหยุดไป ยุคการปกครองของราชินิกุลและการปราบปรามชาวคริสเตียนเมื่อพระเจ้าช็องโจสวรรคตในค.ศ. 1800 พระโอรสคือพระเจ้าซุนโจยังทรงพระเยาว์พระปัยยิกาตระกูลคิมจึงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระปัยยิกาตระกูลคิมให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมโนรน-พย็อกปาจึง เกิดการกวาดล้างขุนนางฝ่ายใต้ทำให้ขุนนางฝ่ายใต้สูญสิ้นอำนาจไป ในปีค.ศ. 1801 ขุนนางฝ่ายใต้ชื่อว่าฮวัง ซาย็อง (เกาหลี: 황사영, 黃嗣永) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เขียนจดหมายถึงมิชชันนารีฝรั่งเศสที่กรุงปักกิ่งร้องขอให้จีนราชวงศ์ชิงยกทัพเข้าบุกยึดอาณาจักรโชซ็อนเพื่อปลดแอกชาวคริสเตียนในโชซ็อน จดหมายฉบับนี้ถูกทางการยึดได้เมื่อราชสำนักโชซ็อนและพระปัยยิกาตระกูลคิมทรงทราบจึงเกิดปราบปรามและสังหารผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงเรียกว่า การปราบปรามชาวคริสเตียนปีชินยู (เกาหลี: 신유박해, 辛酉迫害) เหตุการณ์นี้ทำให้ซอฮักหรือการศึกษาความรู้วิทยาการตะวันตกและศาสนาคริสต์กลายเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมายของโชซ็อน เมื่อพระปัยยิกาคิมสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1805 อำนาจของฝ่ายโนรน-พย็อกปาจึงสิ้นสุดลง ชาวเกาหลีซึ่งต่างเสียชีวิตในช่วงการปราบปรามชาวคริสเตียนของราชวงศ์โชซ็อนในระหว่างปีค.ศ. 1791 ถึง ค.ศ. 1888]] ในรัชสมัยของพระเจ้าซุนโจอำนาจการปกครองอยู่ที่พระสัสสุระคิม โจ-ซุน (เกาหลี: 김조순, 金祖淳) ซึ่งเป็นบิดาของพระมเหสีซุนว็อนจากตระกูลคิมแห่งอันดง (เกาหลี: 안동김씨, 安東金氏) ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระเจ้าซุนโจ ตระกูลคิมแห่งอันดงจึงขึ้นมามีอำนาจเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการปกครองของราชินิกุล (เกาหลี: 세도정치, 勢道政治) เมื่อพระเจ้าซุนโจสวรรคตในค.ศ. 1834 พระเจ้าฮ็อนจงพระนัดดาของพระเจ้าซุนโจได้ราชสมบัติต่อมา เนื่องจากพระเจ้าฮ็อนจงยังทรงพระเยาว์พระอัยยิกาซุนว็อนจากตระกูลคิมแห่งอันดงจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระพันปีชินจ็องจากตระกูลโชแห่งพุงยัง (เกาหลี: 풍양조씨, 豊壤趙氏) ซึ่งเป็นพระชนนีของพระเจ้าฮ็อนจงเริ่มสะสมอำนาจขึ้นมาแข่งขันกับพระอัยยิกาคิม โช มัน-ย็อง (เกาหลี: 조만영, 趙萬永) ซึ่งเป็นบิดาของพระพันปีชินจ็อง ผลักดันให้มีการปราบปรามชาวคริสเตียนปีคิแฮ (เกาหลี: 기해박해, 己亥迫害) ในค.ศ. 1839 ตระกูลโชแห่งพุงยังกล่าวหาตระกูลคิมว่าให้การสนับสนุนแก่ศาสนาคริสต์ ทำให้ตระกูลคิมสูญเสียอำนาจและตระกูลโชแขึ้นมามีอำนาจแทน เมื่อพระเจ้าฮ็อนจงสวรรคโดยปราศจากพระโอรสในค.ศ. 1849 พระอัยยิกาตระกูลคิมจึงอัญเชิญพระเจ้าช็อลจงให้มาขึ้นครองราชสมบัติโดยมีพระอัยยิกาคิมเป็นผู้สำเร็จราชการ ทำให้ตระกูลคิมกลับมามีอำนาจอีกครั้ง เมื่อพระอัยยิกาตระกูลคิมสิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1857 ทำให้อำนาจของตระกูลคิมสิ้นสุดลงอย่างถาวร เมื่อพระเจ้าช็อลจงสวรรคตในค.ศ. 1863 โดยไม่มีรัชทายาท ชายสามัญชนผู้หนึ่งชื่อว่าอี ฮา-อึง (เกาหลี: 이하응 李昰應) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินโจ เข้าเฝ้าพระพันปีชินจ็องตระกูลโชทูลเสนอให้ยกบุตรชายของตนเองชื่อว่าอี มย็อง-บก (เกาหลี: 이명복, 李命福) ขึ้นเป็นกษัตริย์หุ่นเชิดโดยมีพระพันปีตระกูลโชเป็นผู้สำเร็จราชการ พระพันปีตระกูลโชทรงยินยอมตั้งนายอี มย็อง-บก ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าโคจง และนายอี ฮา-อึง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน (เกาหลี: 흥선대원군, 興宣大院君) ปรากฏว่าเมื่อพระเจ้าโคจงครองราชสมบัติฝ่ายตระกูลโชสูญเสียอำนาจไปยุคการปกครองของราชินิกุลจึงสิ้นสุดลง เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ขึ้นมามีอำนาจแทนในฐานะพระชนกาธิราชของพระเจ้าโคจง อาณาจักรฤๅษีเปิดประตูและสงครามจีน-ญี่ปุ่นเนื่องจากพระเจ้าโคจงขึ้นครองราชสมบัติเมื่อยังพระเยาว์ เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ซึ่งเป็นพระชนกของพระเจ้าโคจงจึงมีอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ปฏิรูปการเมืองการปกครองของโชซ็อนเสียใหม่โดยหยุดยั้งการแบ่งฝ่ายของขุนนาง มีการทำลายซอว็อน (เกาหลี: 서원, 書院) หรือสำนักศึกษาท้องถิ่นๆต่างซึ่งปลูกฝังคติการแบ่งฝ่ายให้แก่บัณฑิต พระราชวังคย็องบกได้รับการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในค.ศ. 1867 หลักจากที่ถูกเผาทำลายลงเมื่อสองร้อยห้าสิบปีก่อน ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาแห่งจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจตะวันตก เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ทรงยึดมั่นในลัทธิขงจื๊อดำเนินนโยบายความเป็นเอกเทศ ปฏิเสธอารยธรรมตะวันตกรวมทั้งศาสนาคริสต์และปฏิเสธการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเพื่อรักษาจารีตประเพณีและโครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมของโชซ็อนไว้ ชาติตะวันตกทั้งหลายต่างพยายามเข้ามาเจรจาสร้างสัมพันธ์ต่างการค้ากับโชซ็อนแต่ล้มเหลวและราชสำนักโชซ็อนมีปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรง ทำให้อาณาจักรโชซ็อนได้รับสมยานามว่า "อาณาจักรฤๅษี" (Hermit Kingdom) ในค.ศ. 1866 เจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน มีคำสั่งให้นำตัวมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในโชซ็อนอย่างเป็นความลับไปประหารชีวิต และเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน เรือสินค้าของสหรัฐอเมริกาจอดเทียบท่าที่เมืองเปียงยางโดยไม่ได้รับอนุญาต กองกำลังป้องกันของโชซ็อนจึงทำทหารเข้าสังหารชาวอเมริกันของเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน จนหมดสิ้น เรียกว่า เหตุการณ์เรือเจอร์เนอรัลเชอร์แมน (General Sherman Incident) นายปิแอร์ ฌุซตาฟ โรเซอ (Pierre-Gustave Roze) แม่ทัพเรือของฝรั่งเศสซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงปักกิ่งยกทัพเรือฝรั่งเศสเข้ารุกรานโชซ็อนเพื่อตอบโต้ที่โชซ็อนสังหารมิชชันนารีฝรั่งเศส เรียกว่า การรุกรานของชาวตะวันตกปีพย็องอิน (เกาหลี: 병인양요, 丙寅洋擾) ทัพเรือฝรั่งเศสเข้ายึดเกาะคังฮวาแต่ฝ่ายโชซ็อนสามารถขับไล่ทัพฝรั่งเศสออกไปได้ ในค.ศ. 1871 ทัพเรือสหรัฐอเมริกาเข้ารุกรานโชซ็อนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่กรณีเรือเจอร์เนอรัล เชอร์แมน เรียกว่า การรุกรานของชาวตะวันตกปีชินมี (เกาหลี: 신미양요, 辛未洋擾) แม้ว่าทัพเรืออเมริกาสามารถเอาชนะทัพของโชซ็อนที่เกาะคังฮวาได้ แต่การเจรจาเพื่อเปิดการค้าไม่ประสบผลฝ่ายอเมริกาจึงถอยกลับไป รัฐบาลเมจิของญี่ปุ่นส่งสาสน์จากพระจักรพรรดิเมจิมายังโชซ็อนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี แต่ราชสำนักโชซ็อนให้การยอมรับพระจักรพรรดิเพียงพระองค์เดียวคือพระจักรพรรดิจีนราชวงศ์ชิงจึงปฏิเสธไมตรีของญี่ปุ่น ในค.ศ. 1874 พระมเหสีจากตระกูลมิน หรือพระมเหสีมย็องซ็อง พระมเหสีของพระเจ้าโคจง ทำการยึดอำนาจจากเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน ด้วยการประกาศว่าพระเจ้าโคจงเจริญพระชันษาสามารถว่าราชการได้ด้วยพระองค์เอง ทำให้พระมเหสีมย็องซ็องขึ้นมามีอำนาจในการปกครองและเจ้าชายแทว็อน ฮึงซ็อน สูญเสียอำนาจไป ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโชซ็อนเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นใช้นโยการการทูตเรือปืน (Gunboat diplomacy) โดยการส่งเรือรบอูนโย (ญี่ปุ่น: 雲揚; โรมาจิ: Un'yō) เข้ามายังเกาะคังฮวาเพื่อปิดทางออกของแม่น้ำฮันไว้ในค.ศ. 1875 เป็นการกดดันให้ราชสำนักโชซ็อนยินยอมตกลงสนธิสัญญาการค้า นำไปสู่สนธิสัญญาคังฮวา (Treaty of Ganghwa Island เกาหลี: 강화도 조약) ในค.ศ. 1876 โชซ็อนยินยอมให้ชาวญี่ปุ่นสามารถเข้ามาทำการค้าในภายในอาณาจักรได้ เปิดเมืองท่าสามเมืองได้แก่ปูซาน อินช็อน และว็อนซันให้แก่เรือญี่ปุ่น และยังมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่ญี่ปุ่นอีกด้วย การปิดประเทศและการแยกตัวของโชซ็อนจึงสิ้นสุดลง พระมเหสีมย็องซ็องทรงสนับสนุนการรับวิทยาการตะวันตกเข้ามาปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย มีการฝึกทหารตามแบบตะวันตกซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ทหารดั้งเดิม กลุ่มทหารดั้งเดิมจึงทำการยึดอำนาจเข้ายึดพระราชวังคย็องบกในค.ศ. 1882 เรียกว่าการกบฎปีอิมโอ (Imo Incident เกาหลี: 임오군란) ทำให้พระเจ้าโคจงและพระมเหสีมย็องซ็องต้องเสด็จหลบหนีออกจากกรุงโซล กลุ่มทหารดั้งเดิมถวายอำนาจคืนแด่เจ้าชายแทว็อน ฝ่ายจีนราชวงศ์ชิงเมื่อทราบการยึดอำนาจในโชซ็อนจึงส่งกองกำลังนำโดยแม่ทัพหลี่ หงจาง (จีน: 李鴻章; พินอิน: Lǐ Hóngzhāng) ยกทัพจีนเข้ามาปราบกบฎและจับเจ้าชายแทว็อนกลับไปยังกรุงปักกิ่ง พระมเหสีมย็องซ็องจึงหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง ในสมัยของพระมเหสีมย็องซ็องขุนนางแบ่งออกเป็นสองฝ่ายได้แก่
คาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นสถานที่แข่งขันอำนาจกันระหว่างจีนและญี่ปุ่น พระมเหสีมย็องซ็องทรงให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายซาแด ในค.ศ. ขุนนางฝ่ายก้าวหน้าซึ่งได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่นนำกองกำลังเข้ายึดอำนาจภายในพระราชวังสังหารขุนนางฝ่ายซาแดไปจำนวนมากเรียกว่า รัฐประหารปีคัปชิน (เกาหลี: 갑신정변, 甲申政變) ทำให้พระมเหสีมย็องซ็องทรงต้องขอความช่วยเหลือจากกองกำลังของจีนนำโดยหยวนซื่อไข่ นำทัพเข้ายึดอำนาจคืนจากฝ่ายก้าวหน้า ทำให้ขุนนางฝ่ายก้าวหน้าถูกสังหารและหลบหนีออกนอกประเทศ รัฐประหารปีคัปชินนำไปสู่ข้อตกลงเทียนจิน (Convention of Tianjin) ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งตกลงว่าต่างฝ่ายจะไม่ให้กำลังทหารเข้าแทรกแซงการเมืองภายในของโชซ็อน ลัทธิทงฮัก (เกาหลี: 동학, 東學) หรือ "บูรพศึกษา" ถือกำเนิดขึ้นจากแนวความคิดของชเว เช-อู (เกาหลี: 최제우, 崔濟愚) ซึ่งมีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าสูงสุดประกอบกับคติขงจื๊อ ในค.ศ. 1894 ชาวบ้านเมืองโคบู (อำเภอพูอัน จังหวัดช็อลลาเหนือในปัจจุบัน) ผู้ยึดมั่นในลัทธิทงฮักก่อการจลาจลต่อต้านการปกครองที่กดขี่ของขุนนางท้องถิ่นเรียกว่า การปฏิวัติของชาวบ้านลัทธิทงฮัก (Donghak Peasant Revolution) ชาวบ้านทงฮักเข้ายึดเมืองช็อนจูและมณฑลช็อลลาได้ทำให้พระมเหสีมย็องซองต้องทรงขอความช่วยเหลือจากหยวนซื่อไข่ในการยกทัพจีนเข้ามาปราบกบฎทงฮัก ฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อเห็นว่าฝ่ายจีนละเมิดข้อตกลงเทียนจินจึงยกทัพเข้ามายึดอำนาจ นำไปสู่สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (First Sino-Japanese War) ซึ่งเกิดขึ้นในคาบสมุทรเกาหลีเป็นหลัก ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ (Treaty of Shimonoseki) โชซ็อนสิ้นสุดการเป็นประเทศราชของจีนราชวงศ์ชิง ในค.ศ. 1895 กลุ่มทหารญี่ปุ่นนำโดยนายมิอูระ โกโร (ญี่ปุ่น: 三浦梧楼; โรมาจิ: Miura Gorō) ลอบสังหารพระมเหสีมย็องซ็องอย่างโหดเหี้ยมเรียกว่า เหตุการณ์ปีอึลมี (เกาหลี: 을미사변, 乙未事變) เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีอำนาจในโชซ็อนอย่างเบ็ดเสร็จ ในช่วงค.ศ. 1894-96 การปฏิรูปปีคัปโอ (Gabo Reform เกาหลี: 갑오개혁, 甲午改革) โชซ็อนยกเลิกธรรมเนียมโบราณต่างๆ ยกเลิกระบบชนชั้นยังบันและทาส ริเริ่มการแต่งกายอย่างตะวันตก พระเจ้าโคจงทรงประกาศให้อาณาจักรโชซ็อนเลื่อนสถานะขึ้นเป็นจักรวรรดิเกาหลี (Korean Empire เกาหลี: 대한제국, 大韓帝國) ในปีค.ศ. 1897 พระจักรพรรดิโคจงทรงหันไปขอความช่วยเหลือจากรัสเซียในการคานอำนาจกับญี่ปุ่นนำไปสู่งสงครามรัสเซียญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) รัสเซียพ่ายแพ้และไม่สามารถปกป้องเกาหลีจากอิทธิพลของญี่ปุ่นได้ ในค.ศ. 1907 พระจักรพรรดิโคจงทรงถูกญี่ปุ่นบังคับให้สละราชสมบัติให้แก่พระโอรสจักรพรรดิซุนจงซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โชซ็อน ในค.ศ. 1910 สนธิสัญญาผนวกเกาหลีของญี่ปุ่น (Japan-Korea Annexation Treaty) จักรวรรดิญี่ปุ่นผนวกเกาหลีให้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นและยุติการปกครองราชาธิปไตยของเกาหลี ทำให้ราชวงศ์โชซ็อนซึ่งดำรงมาเป็นเวลาประมาณห้าร้อยปีสิ้นสุดลงแต่บัดนั้น สังคมโชซ็อนในยุคโชซ็อนสังคมเกาหลีมีการแบ่งชนชั้นที่เข้มงวดและได้รับการรับรองจากกฎหมาย เนื่องจากชาวเกาหลีมีคติเรื่องการสืบทอดทางสายเลือดมาแต่ยุคโบราณ แม้ว่าหลักของขงจื๊อสอนว่าบุคคลสามารถพัฒนาตนเองได้ แต่ในโชซ็อนการสืบทอดสถานะทางสาแหรกตระกูลยังคงมีความสำคัญ อาณาจักรโชซ็อนปกครองโดยราชาธิปไตยมีกษัตริย์แห่งโชซ็อนเป็นประมุขสูงสุด ภายใต้กษัตริย์คือชนชั้นขุนนาง สังคมโชซ็อนแบ่งออกเป็นชนชั้นต่างๆดังนี้
การแบ่งชนชั้นทางสังคมโชซ็อนนั้นเข้มงวดมากในต้นสมัยโชซ็อน แต่หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นและการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกแล้ว ชนชั้นล่างก็เริ่มที่จะลืมตาอ้าปากได้ขณะที่ชนชั้นบนก็ยากจนขัดสนลง สตรียังบันนั้นจะต้องเชื่อฟังสามี เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านออกนอกบ้านได้นาน ๆ ครั้ง เมื่อออกนอกบ้านต้องปกปิดหน้าตา แต่สตรีในระดับชั้นล่างกลับมีอิสรภาพมากกว่า สามารถไปไหนมาไหนก็ได้ พระราชวังทั้งห้าและป้อมฮวาซ็องราชวงศ์โชซ็อนนั้นมีพระราชวังที่อยู่ในเมืองหลวงทั้งหมดห้าแห่ง คือ
รายพระนามกษัตริย์ จักรพรรดิ และผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์กษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซ็อน
จักรพรรดิและผู้อ้างสิทธิแห่งราชบัลลังก์ราชวงศ์โชซ็อนหลังจากการสถาปนาเป็นจักรวรรดิโชซ็อนของสมเด็จพระเจ้าควังมู (พระเจ้าโคจง) ราชวงศ์โชซ็อนเดิมได้ถูกเปลี่ยนเป็นราชวงศ์อี[ต้องการอ้างอิง] จนกระทั่งถูกญี่ปุ่นยึดครองเมื่อปี ค.ศ.1910 และพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1945 นำไปสู่การปกครองเกาหลีที่แยกออกเป็น 2 รัฐเนื่องจากสงครามโชซ็อน แต่ก็ยังคงมีการสืบราชบัลลังก์อยู่จนถึงปัจจุบันในประเทศเกาหลีใต้ซึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
ฐานันดรศักดิ์ราชวงศ์โชซ็อนสมัยอาณาจักรโชซ็อน
การกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินในฐานะบุคคลที่สามสำหรับฝ่ายใน มักขานแทนพระนามว่า "กึมซาง" (今上 금상) - ฝ่าบาท, ขานแทนด้วยรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินว่า (主上 주상 "จูซาง" หรือ 上監 상감 "ซางกัม"), หรืออาจขานแทนด้วยพระตำหนักที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นตำหนักใหญ่ของพระราชวังว่า "แดจอน" (大殿 대전-ตำหนักใหญ่)
สมัยจักรวรรดิเกาหลี
ดูเพิ่มแหล่งอ้างอิงและเชิงอรรถ
|