แบกเตรียแบกเตรีย (อังกฤษ: Bactria) เป็นภูมิภาคในประวัติศาสตร์ ครอบคลุมพื้นที่ในเอเชียกลางตั้งแต่ทางใต้ของแม่น้ำอามูดาร์ยาจรดตอนเหนือของเทือกเขาฮินดูกูช[1] หรือบริเวณประเทศอัฟกานิสถาน ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถานในปัจจุบัน บางครั้งแบกเตรียในความหมายกว้าง ๆ คือพื้นที่ที่อยู่ทางเหนือของเทือกเขาฮินดูกูช ทางตะวันตกของเทือกเขาปามีร์ และทางใต้ของเทือกเขาเทียนชาน โดยมีแม่น้ำอามูดาร์ยาไหลผ่านตรงกลาง ชื่อแบกเตรียมาจากคำภาษากรีกโบราณ Βακτριανή (Baktriani)[2] แบกเตรียเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างยาวนานเนื่องจากอยู่ในเส้นทางการค้าและการทหาร จากการขุดสำรวจแหล่งโบราณคดีแบกเตรีย-มาร์เกียนาพบโบราณวัตถุที่บ่งชี้ถึงยุคสัมฤทธิ์ราว 2400–1600 ปีก่อนคริสตกาลและพบความเจริญทางอารยธรรมต่าง ๆ เช่น จารึก การชลประทาน การประดิษฐ์เกวียน และเครื่องโลหะที่ทำขึ้นอย่างวิจิตร[3] แหล่งโบราณคดีดังกล่าวมักถูกเชื่อมโยงกับการย้ายถิ่นอินโด-อารยันที่ชนชาวอินโด-อารยันอพยพจากแถบทะเลแคสเปียนมาที่อินเดียตอนเหนือเมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล[4] ราวศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าไซรัสมหาราชผนวกแบกเตรียเข้ากับจักรวรรดิอะคีเมนิดของพระองค์ ก่อนจะเสียให้แก่อเล็กซานเดอร์มหาราชในรัชสมัยพระเจ้าดาไรอัสที่ 3 หลังอเล็กซานเดอร์สวรรคตใน 323 ปีก่อนคริสตกาล แบกเตรียตกอยู่ใต้อำนาจของซิลูคัสที่ 1 ไนเคเตอร์แห่งจักรวรรดิซิลูซิด ราว 245 ปีก่อนคริสตกาล แบกเตรียเป็นอิสระจากจักรวรรดิซิลูซิดเมื่อไดโอโดตัสที่ 1 เซแทร็ปแห่งแบกเตรียประกาศเอกราชจากจักรวรรดิซิลูซิดและสถาปนาอาณาจักรกรีก-แบกเตรีย[5][6] จากนั้นแบกเตรียถูกครอบครองโดยหลายอาณาจักร เช่น จักรวรรดิกุษาณะ จักรวรรดิแซสซานิด รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ จักรวรรดิมองโกล และราชวงศ์ตีมูร์ ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 18[7] ภาษาที่ใช้ในภูมิภาคแบกเตรียคือภาษาแบกเตรีย ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน ใช้อักษรกรีกและอักษรมาณีกีในการเขียน ในอดีตภาษาแบกเตรียเคยใช้เป็นภาษาราชการของจักรวรรดิกุษาณะและเฮฟทาไลต์ ก่อนจะค่อย ๆ สูญหายเมื่อจักรวรรดิแซสซานิดยึดครองแบกเตรียและถูกแทนที่ด้วยภาษาเปอร์เซียกลางที่ใช้ในราชสำนักแซสซานิด[8] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |