Share to:

 

แม่หยัว

แม่หยัว
แนวดราม่า อิงประวัติศาสตร์
บทละครโทรทัศน์ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์
กำกับโดยสันต์ ศรีแก้วหล่อ
แสดงนำ
ดนตรีแก่นเรื่องปิดแลกด้วยหัวใจ (Unspoken Truth) - KLEAR
จำนวนตอน10
การผลิต
ควบคุมงานสร้าง
สถานที่ถ่ายทำเมืองโบราณ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
บริษัทผู้ผลิตเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์
ออกอากาศ
สถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31, วันดี, เน็ตฟลิกซ์
ออกอากาศ24 ตุลาคม 2567 (2567-10-24) –
27 พฤศจิกายน 2567
ละครเรื่องก่อนหน้าทองประกายแสด
ละครเรื่องถัดไปการุณยฆาต​

แม่หยัว (อังกฤษ: The Empress of Ayodhaya) เป็นละครโทรทัศน์ไทย ดัดแปลงเค้าโครงจากประวัติศาสตร์ของท้าวศรีสุดาจันทร์ เขียนบทละครโทรทัศน์โดย ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ กำกับโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ และนำแสดงโดย ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทแม่หยัวศรีสุดาจันทร์, ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ ในบทขุนวรวงศาธิราช, ตุ้ย ธีรภัทร์ สัจจกุล ในบทสมเด็จพระไชยราชาธิราช ร่วมด้วย เฟิร์น นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล, บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์, พ้อยท์ ชลวิทย์ มีทองคำ และเป้ย ปานวาด เหมมณี เป็น 1 ใน 5 ละครโทรทัศน์ที่เป็นผลงานต้นฉบับของวันดีในชุดแรก เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ทางช่องวัน 31 ในรูปแบบตัดเนื้อหาสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ และออกอากาศพร้อมกันแบบ Simulcast ที่แอปพลิเคชันวันดี และ เน็ตฟลิกซ์ ในรูปแบบเต็มไม่มีการตัดฉาก[1]

เนื้อเรื่องมีการตีความเนื้อหาใหม่ในมุมมองของแม่หยัวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอกใน สมเด็จพระไชยราชาธิราช ว่าก็มีอีกมุมที่คนอื่นไม่เคยรู้[2] อย่างไรก็ตาม ละครเรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกรณีวางยาสลบแมวดำ จนเกิดกระแสความไม่พอใจขึ้น ผ่านการแสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ในเอ็กซ์ และกรมปศุสัตว์ยังดำเนินการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกด้วย

นักแสดง

ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2567
ตัวละคร นักแสดงหลัก
จินดา (ท้าวศรีสุดาจันทร์ / นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์) ดาวิกา โฮร์เน่
วามน (พันบุตรศรีเทพ / ขุนชินราช / ขุนวรวงศาธิราช) ธนภัทร กาวิละ
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ธีรภัทร์ สัจจกุล
จิตรวดี (ท้าวอินทรสุเรนทร์) ปานวาด เหมมณี
ละอองคำ (ท้าวศรีจุฬาลักษณ์) สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์
ท้าวอินทรเทวี (ตันหยง / น้อย) นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล
ขุนพิเรนทรเทพ (เขม) ชลวิทย์ มีทองคำ
ตัวละคร นักแสดงสมทบ
ทับทิม ราศี ดิศกุล ณ อยุธยา
วาสุเทพ กลศ อัทธเสรี
ออกพระลพบุรี ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี
สมเด็จพระยอดฟ้า พันธ์ชนกชนม์ พันธ์สังข์
คุณเฒ่าแก่แส ภัทรสุดา อนุมานราชธน
เฮือง สวนีย์ อุทุมมา
ทองดี โมฬีวรรณ พันธรักษ์
มหาอุปราช (จัน) พศุฑย์ พงศ์พศุตม์
หมื่นเดโช (แสน) ชนาธิป พิสุทธิ์เสรีวงศ์
ชื่น ปรียานัฐ ปะติเต
พระโลกทีป บุญส่ง นาคภู่
พระโหราธิบดี พิบูลย์ ท้ายห้วน
เจ้าพระยามหาเสนา (ออกญากลาโหม) วัชรชัย สุนทรศิริ
นุ้ย วรรณภา แย้มภู่
ตัวละคร นักแสดงรับเชิญ
หมื่นราชเสน่หา​ เพชร โบราณินทร์

ข้อวิจารณ์

ละครแม่หยัวถูกวิจารณ์อย่างมากในตอนที่ 5 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จากการแสดงฉากที่แมวสีดำถูกวางยาตาย โดยภาพที่ปรากฎทางช่องวัน 31 ปรากฎแค่ภาพขย้อนออกและนิ่งไป แต่กลับกันภาพที่ปรากฎทางแอปพลิเคชันวันดีและเน็ตฟลิกซ์ซึ่งเป็นเวอร์ชันไม่มีการตัดฉาก พบว่าในฉากดังกล่าวแมวมีอาการกระตุก ขย้อน และตัวเกร็ง ทำให้ผู้ชมหลายคนเกิดความเป็นห่วงและตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการถ่ายทำ ต่อมามีการชี้แจงว่าฉากดังกล่าวมีการวางยาสลบแมว และแมวไม่ได้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สื่อสังคมรวมถึงสัตวแพทย์ก็ยังแสดงความคิดเห็นว่า การวางยาสลบแมวเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ เพราะเป็นการกดระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด อาจทำให้สัตว์สำลักได้ เพราะสัตว์ไม่สามารถควบคุมการอาเจียนได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต[3] ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจขึ้น ผ่านการแสดงความคิดเห็นพร้อมติดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว จนได้รับความนิยมในเอ็กซ์[4] ในเวลาต่อมา สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับการแสดง ได้ระบุว่ามีการวางยาสลบแมวจริง แต่ได้รับการดูแลจากเจ้าของแมวและผู้เชี่ยวชาญอย่างดี และมีการขอคลิปสุขภาพของแมวตัวดังกล่าวอีกหลายครั้ง ส่วนใบรับรองแพทย์จะนำมาแสดงในภายหลีง[5] นอกจากนี้ ยังมีการตำหนิบิ๊นท์ - สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ หนึ่งในนักแสดงในเรื่องซึ่งเคยเป็นเภสัชกรมาก่อน แต่กลับโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับฉากแมวว่า "ต้องมีชื่อเข้าชิง!!" ซึ่งต่อมาบิ๊นท์ได้โพสต์ขอโทษ และประกาศไม่สนับสนุนการทารุณกรรมสัตว์ทุกประเภท นอกจากนี้ยังเสนอว่าหลังจากนี้ควรใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกส์หรือแมวจำลองแทน[6]

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ช่องวัน 31 ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางช่องคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสัตว์เป็นสำคัญ โดยนำแมวต้นเหตุดังกล่าวมาจากบริษัทโมเดลลิ่งสัตว์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำสัตว์มาร่วมถ่ายทำละครและภาพยนตร์โดยเฉพาะเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี รวมถึงเป็นผู้ดูแลแมวตลอดระยะเวลาการถ่ายทำในทุกขั้นตอน พร้อมระบุว่าทางช่องรู้สึกเสียใจและขอโทษที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะนำข้อชี้แนะและความคิดเห็นกลับไปพิจารณาการทำงานร่วมกับสัตว์ในครั้งต่อไป และระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก[7] วันถัดมา (11 พฤศจิกายน) ฉากดังกล่าวได้ถูกตัดออกจากแอปพลิเคชันวันดีและเน็ตฟลิกซ์ให้มาใช้ภาพเดียวกันกับของที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามกระแสสังคมยังไม่ยอมรับต่อการปฏิบัติของช่อง โดยระบุว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงได้เริ่มมีการรณรงค์ติดแฮชแท็ก #แบนช่องวัน31 จนได้รับความนิยมบนเอ็กซ์ในระยะเวลาหนึ่ง และโพสต์โปรโมทรายการบนเฟซบุ๊กถูกตำหนิต่อว่าอย่างรุนแรงแทบทุกโพสต์รวมถึงโพสต์ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงแบนนักแสดงในเรื่อง และลามไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่จากการตอบรับในแง่ลบอย่างรุนแรง รวมถึงเริ่มบานปลายไปยังคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ ทำให้ ใหม่ - ดาวิกา โฮร์เน่ ประกาศยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อผู้ที่ตำหนิว่าร้ายอย่างรุนแรง[8] รวมถึง บริษัท เอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทดูแลศิลปินของช่องวัน 31 และเป็นต้นสังกัดของ ฟิล์ม - ธนภัทร กาวิละ, เฟิร์น - นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล, และบิ๊นท์ ได้ออกแถลงการณ์แจ้งว่านักแสดงในเรื่องที่มีสถานะเป็นนักแสดงในสังกัดซึ่งถือเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัทไม่ได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการถ่ายทำฉากดังกล่าว[9] ในขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากวอทซ์ด็อกไทยแลนด์ ได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นและได้ออกหนังสือด่วนที่สุดถึง นายเดียว วรตั้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ในฐานะนายสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ให้เข้ามาชี้แจงถึงการออกอากาศละครแม่หยัวที่ปรากฎฉากดังกล่าว รวมถึงกรณีที่นายสันต์ ศรีแก้วหล่อ ได้โพสต์แจ้งว่าแมวในเรื่องถูกวางยาสลบโดยผู้เชี่ยวชาญต่อกรมปศุสัตว์ โดยระบุว่าอาจมีความผิดเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557[10] ซึ่งต่อมาทีมผู้บริหาร และทีมงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงได้นำแมวตัวดังกล่าวมาให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตรวจสอบเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวลัญช์ ตุนาค ผู้อำนวยการกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เป็นผู้สอบสวนและนำแมวไปตรวจสุขภาพทั้งหมดด้วยตนเอง[11]

ที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน กรมปศุสัตว์ ได้เผยผลการตรวจสอบแมวดังกล่าว พบว่าเป็นแมวตัวเดียวกันกับที่ปรากฎในเรื่อง มีชื่อว่า "สำลี" อายุ 5 ปี น้ำหนัก ณ วันตรวจสอบ (13 พฤศจิกายน) คือ 5.5 กิโลกรัม สัตวแพทย์ได้ดำเนินการตรวจร่างกายโดยทั่วไป (physical examination) และตรวจเลือดดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ตรวจการทํางานของตับและไต รวมทั้งเอกซเรย์ช่องอกเพื่อดูความผิดปกติของปอดและตรวจวัดขนาดของหัวใจ ตลอดจนเอกซเรย์ช่องท้อง ณ สถานพยาบาลสัตว์ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ศูนย์ราชการกรมปศุสัตว์จังหวัดปทุมธานี พบว่าแข็งแรงสมบูรณ์ ผลเลือดปกติ และไม่พบความผิดปกติใด ๆ และจากการสอบสวนและชี้แจงโดยละเอียดของช่องวัน 31 โมเดลลิ่งดังกล่าวเป็นผู้นำพาสำลีมาเข้าฉากที่สถานที่ถ่ายทำละคร ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้วางยาไม่ใช่สัตวแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่เป็นทีมงานของโมเดลลิ่งที่ดำเนินการเรื่องนี้เอง ฉะนั้นแล้วกรมปศุสัตว์จะดำเนินการรวบรวมหลักฐานและผลการตรวจสุขภาพสำลีทั้งหมด ยื่นแจ้งความต่อโมเดลลิ่งในความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 ณ สถานีตำรวจภูธรบางปู จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจในความรับผิดชอบของพื้นที่เกิดเหตุต่อไป[12]

อ้างอิง

  1. "แม่หยัว" เปิดตัวทรงพลัง "ใหม่ ดาวิกา" เป็น "ท้าวศรีสุดาจันทร์" แม่อยู่หัวองค์เดียวแห่งอโยธยา
  2. เปิดประวัติ “แม่หยัว” สตรีที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดแห่งกรุงศรีอยุธยา
  3. ชุติอังกูร, ใยรัก (9 พฤศจิกายน 2024). "แม่หยัวถูกตั้งคำถามถึงขั้นตอนการถ่ายทำ หลังมีฉากแมวดำถูกวางยาเสียชีวิต". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "แฮชแท็ก #แบนแม่หยัว พุ่งติดเทรนด์ X หลังชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์". สยามรัฐ. 9 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. ชุติอังกูร, ใยรัก (9 พฤศจิกายน 2024). "ผู้กำกับ แม่หยัว ชี้แจงฉากแมวดำตาย วางยาสลบจริง แต่ได้รับการดูแลจากเจ้าของและผู้เชี่ยวชาญ". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "บิ๊นท์ สิรีธร ขอโทษโพสต์ "ต้องมีชื่อเข้าชิง" ปมร้อนละคร แม่หยัว วางยาสลบแมว". ไทยรัฐ. 9 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "ช่อง one31 แถลงการณ์ดราม่าแม่หยัว ยันคำนึงสวัสดิภาพสัตว์เป็นสำคัญ". ข่าวสด. 10 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. ""ใหม่ ดาวิกา" เตรียมฟ้องคนด่าแรงปมร้อนแม่หยัว วางยาสลบแมว ลั่นเอาเงินมาช่วยสัตว์". ข่าวสด. 12 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. ""เอ็กแซ็กท์" ยืนยัน นักแสดงแม่หยัว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุวางยาสลบแมว". พีพีทีวี. 11 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "ปศุสัตว์ นัดผู้บริหารช่องวัน-ผู้กำกับ "แม่หยัว" แจงวางยาสลบแมว 18 พ.ย.นี้". ประชาชาติธุรกิจ. 12 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. "ผลตรวจเลือดออกแล้ว? ผู้บริหารช่อง one – ทีมละครแม่หยัว นำแมวถูกวางยาสลบ เข้าแจงกรมปศุสัตว์". มติชน. 13 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. ""ปศุสัตว์" เตรียมส่งข้อมูลตำรวจดำเนินคดีวางยาแมวในละครแม่หยัว". สำนักข่าวไทย อสมท. 15 พฤศจิกายน 2024. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
Kembali kehalaman sebelumnya