โรคลมชัก
โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู (อังกฤษ: epilepsy มีรากศัพท์จากกรีกโบราณ: ἐπιλαμβάνειν หมายถึง ยึด ครอบครอง หรือ ทำให้เจ็บป่วย[1]) เป็นกลุ่มโรคทางประสาทวิทยาซึ่งถูกจำกัดความโดยอาการชักอันมีต้นเหตุจากการทำงานอย่างสอดคล้องกันมากเกินไปของเซลล์ประสาท[2][3] ระยะเวลาและความรุนแรงของโรคลมชักสามารถมีได้ตั้งแต่แบบสั้นๆและแทบไม่มีอาการ ไปจนถึงอาการสั่นอย่างรุนแรงเป็นเวลานานๆ[4] อาการชักดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายเช่น กระดูกหัก[4] ลักษณะสำคัญของโรคลมชักคืออาการชักจะเกิดขึ้นซ้ำๆโดยไม่มีสิ่งเร้าหรือกระตุ้น[2] อาการชักซึ่งเกิดจากสิ่งเร้าอย่างใดหนึ่งอย่างชัดเจน (เช่น ภาวะขาดเหล้า) จะไม่ถือว่าเป็นโรคลมชัก[5] ผู้ป่วยโรคลมชักในบางประเทศมักถูกตีตราจากสังคมเนื่องจากอาการที่แสดงออกมา[4] โรคลมชักในผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด[4] อย่างไรก็ดีโรคลมชักสามารถเกิดขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บทางสมอง เป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีเนื้องอกในสมอง หรือ ได้รับการติดเชื้อทางสมอง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า อิพิเลปโตเจเนซิส[4][6][7] ความผิดปกติของพันธุกรรมมีส่วนเชื่อมโยงกับโรคลมชักในสัดส่วนเพียงเล็กน้อย[8][9] การชักจากโรคลมชักเป็นผลจากการทำงานที่ผิดปกติหรือมากเกินไปของเซลล์เปลือกสมอง[5] การวินิจฉัยมักจะทำโดยการตัดภาวะอื่นๆซึ่งอาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายคลึงกันออกไปก่อน เช่น เป็นลม นอกจากนี้การวินิจฉัยยังรวมไปถึงการพิจารณาว่ามีสาเหตุอื่นๆของการชักหรือไม่ เช่น การขาดแอลกอฮอล์ หรือ ความผิดปกติของปริมาณอิเล็กโตรไลต์ในเลือด ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจสมองผ่านการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก และ การตรวจเลือด บ่อยครั้งโรคลมชักสามารถได้รับการยืนยันด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่ผลการตรวจที่ปกติก็ไม่ได้ทำให้แพทย์สามารถตัดโรคดังกล่าวออกไปได้[8] ประมาณ 70% ของผู้ป่วยโรคลมชักสามารถควบคุมอาการของโรคได้ด้วยยา[10] ซึ่งบ่อยครั้งตัวเลือกที่ให้ผลการควบคุมอาการดีมีราคาถูก[4] ในกรณีที่อาการชักของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา อาจพิจารณาการผ่าตัด การกระตุ้นระบบประสาท และ การเปลี่ยนอาหารได้เป็นกรณีไป[11][12] โรคลมชักมิได้คงอยู่ตลอดไปในผู้ป่วยทุกราย มีผุ้ป่วยหลายรายที่อาการดีขึ้นจนถึงขั้นไม่ต้องใช้ยา[4] ข้อมูลในปี ค.ศ. 2015 ชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 39 ล้านคน[13] และเกือบ 80% ของผู้ป่วยอาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา[4] ในปี ค.ศ. 2015 โรคลมชักส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 125,000 คนโดยเพิ่มขึ้นจาก 112,000 คนในปี ค.ศ. 1990[14][15] โรคลมชักพบบ่อยขึ้นตามอายุ[16][17] ในประเทศที่พัฒนาแล้วผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กทารกและผู้สูงอายุ[18] ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ส่วนใหญ่ของประเทศที่กำลังพัฒนามักจะเป็นเด็กโตและผู้ใหญ่ตอนต้น ต้นเหตุของความแตกต่างนี้มาจากปริมาณความชุกของสาเหตุของโรคที่แตกต่างกัน[19] ประมาณ 5–10% ของประชากรทั้งหมดจะมีการชักที่เกิดจากการทำงานของร่างกายหรือภาวะโดยกำเนิด (unprovoked seizure) ก่อนอายุ 80 ปี[20] และโอกาสเกิดการชักครั้งที่สองอยู่ระหว่าง 40 ถึง 50%[21] ในหลายพื้นที่ของโลกผู้ที่เป็นโรคลมชักมักจะได้รับการจำกัดความสามารถในการขับขี่หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ขับยานพาหนะ แต่ส่วนใหญ่จะสามารถกลับไปขับขี่ได้หากผ่านช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีอาการชักเลย[22] อาการของโรคลักษณะเด่นของโรคลมชักคือ อาการชัก ที่เกิดขึ้นซ้ำๆในระยะยาว[23] อาการชักอาจแสดงออกได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีความผิดปกติของสมองและอายุของผู้ป่วย[23][24] อาการชักอาการชักที่พบได้บ่อยมากที่สุดประมาณ 60% คือการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ[24] โดยหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่มีอาการแบบนี้เป็นการชักแบบทั่วไป[24]ซึ่งเกิดจากการที่สมองทั้งสองซีกส่งสัญญาณผิดปกติ อีกสองในสามเป็นผลจากการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดซึ่งเกิดจากการที่สมองเพียงซีกเดียวส่งสัญญาณผิดปกติ ซึ่งการชักแบบนี้อาจพัฒนาจนกระทั่งสมองทั้งสองซีกส่งสัญญาณที่ผิดปกติ[24] ที่เหลืออีก 40% จะเป็นอาการชักแบบไม่มีการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างของอาการชักประเภทนี้เรียกว่าชักเงียบ โดยจะแสดงอาการในรูปแบบของความรู้สึกตัวที่ลดลงและมักมีเวลานานประมาณ 10 วินาที[6][25] การชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุด (partial seizure) มักมีอาการบางอย่างนำมาก่อนซึ่งอาการเหล่านั้นในทางการแพทย์เรียกว่าออร่า[26] ออร่าอาจมีผลกับประสาทรับรู้ (เช่นการมองเห็น การได้ยิน หรือ กลิ่น) จิตใจ ระบบประสาทส่วนกลาง หรือ ทางการทำงานของกล้ามเนื้อ[6] การกระตุกของกล้ามเนื้ออาจเริ่มที่กล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งและลามออกไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆโดยอาการเช่นนี้มีชื่อเรียกว่าแจ็คโซเนี่ยนมาร์ช[27] และอาจพบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติซ้ำๆเช่น การกระแทกลิ้น หรือ การที่ผู้ป่วยพยายามหยิบสิ่งของบางอย่างขึ้นมาเรื่อยๆ[27] การชักแบบทั่วไป (generalized seizure) มีอยู่ 6 ลักษณะได้แก่ เกร็ง-กระตุก เกร็ง กระตุก กล้ามเนื้อกระตุก ชักเงียบ และ ไม่เกร็ง[28] อาการชักทั้งหมดนี้จะเกิดร่วมกับการสูญเสียสติสัมปชัญญะและไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า อาการชักแบบเกร็ง-กระตุกเป็นภาวะการชักที่มีทั้งอาการเกร็งและกระตุกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่มีอาการเกร็งจะเห็นการแข็งตัวของกลัมเนื้อแขนขาและการโค้งขอของแผ่นหลังจนมีลักษณะเหมือนการทำท่าสะพานโค้งซึ่งมักกินเวลานานประมาณ 10-30 วินาที ในช่วงนี้อาจพบเสียงร้องจากผู้ป่วยได้เนื่องจากการเกร็งของกล้ามเนื้อทรวงอกทำให้อากาศถูกไล่ออกจากปอด และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีผิวเป็นสีน้ำเงินม่วงเนื่องจากการเกร็งนานๆทำให้ผู้ป่วยไม่หายใจ สำหรับช่วงที่มีอาการกระตุกจะพบว่าผู้ป่วยมีการเขย่าของแขนขาซ้ำๆ หลังจากการชักสิ้นสุดลงอาจใช้เวลาอีกประมาณ 10-30 นาทีจนกว่าสติของผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติ โดยในช่วงดังกล่าวมีชื่อว่าภาวะขาดสติสัมปชัญญะภายหลังจากอาการชัก การสูญเสียความสามารถในการควบคุมการขับถ่ายหรือปัสสาวะ[29]และการกัดส่วนปลายหรือด้านข้างของลิ้น[30]อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการชัก การกัดลิ้นบริเวณด้านข้างพบได้บ่อยในการชักแบบเกร็ง-กระตุก[30] อย่างไรก็ดีการกัดลิ้นสามารถพบในผู้ป่วยที่มีการชักด้วยสาเหตุทางจิตใจ[30]ได้เช่นเดียวกัน การชักแบบกล้ามเนื้อกระตุกหมายถึง การกระตุกเป็นระยะเวลาสั้นๆของกล้ามเนื้อบางส่วนหรือทั่วร่างกาย[31] การชักเงียบอาจมีอาการแสดงออกเพียงเล็กน้อยเช่น การหันศีรษะ หรือ กระพริบตา[6] ในระหว่างการชักแบบนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องล้มลงและอาจกลับมาเป็นปกติทันทีภายการชักหยุดลง[6] การชักแบบไม่เกร็งจะเห็นได้จากคือการสูญเสียความตึงตัวของกล้ามเนื้อซึ่งกินระยะเวลานานมากกว่า 1 วินาที[27] และมักจะแสดงอาการทั้งสองข้างของร่างกายพร้อมๆกัน[27] ประมาณ 6% ของผู้ที่เป็นโรคลมชักจะมีอาการชักซึ่งถูกเหนี่ยวนำโดยเหตุการณ์บางอย่างเรียกว่า การชักโดยปฏิกิริยา[32] ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักโดยปฏิกิริยาจะมีอาการชักซึ่งเกิดจากสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นบางประเภทเท่านั้น[33] ภาวะเหนี่ยวนำที่พบบ่อยได้แก่ การมองเห็นไฟกระพริบ และ การได้ยินเสียงดังๆที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว[32] โรคลมชักบางประเภทจะแสดงอาการบ่อยครั้งระหว่างการนอนหลับของผู้ป่วย[34] และโรคลมชักบางประเภทจะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาผู้ป่วยหลับเท่านั้น[35] ภาวะขาดสติสัมปชัญญะภายหลังจากอาการชักหมายถึงช่วงเวลาหลังจากการชักยุติลงแล้วแต่สติสัมปชัญญะของผู้ป่วยยังไม่กลับคืนมา[26] ภาวะดังกล่าวมักกินเวลาประมาณ 3-15 นาที[36] จนถึงหลายชั่วโมง[37] อาการอื่นๆที่สามารถพบร่วมได้แก่ ความรู้สึกเหนื่อย การปวดศีรษะ การมีปัญหาในการออกคำพูดที่พูด และ ความผิดปกติของพฤติกรรม[37] ภาวะโรคจิตสามารถเกิดขึ้นหลังจากการชักได้บ่อยครั้งและพบใน 6-10% ของผู้ป่วย[38] บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้[37] นอกจากนั้นภาวะอ่อนแรงเฉพาะส่วนซึ่งมีชื่อเรียกว่า ทอดด์พาราไรซิส สามารถเกิดขึ้นภายหลังจากการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดได้เช่นเดียวกันโดยจะมีมักจะมีอาการนานตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาที และมีน้อยรายที่อาการอยุ่นานเป็นวัน[39] ผลกระทบต่อจิตใจและสังคมโรคลมชักสามารถมีผลกระทบต่อสุขภาพทางสังคมและจิตใจของผู้ป่วย[24] ผลกระทบที่กล่าวถึงอาจแสดงออกในรูปแบบของการปลีกตัวจากสังคม การถูกตราหน้าโดยคนรอบข้าง และ ความพิการ[24] นอกจากนี้ยังอาจมีผลกับระดับความสำเร็จทางการศึกษาและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน[24] การเรียนรู้ช้า หรือ ความยุ่งยากในการเรียนรู้ เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก[24] การถูกตราหน้าจากสังคมจากการเป็นโรคลมชักยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน[29] ความผิดปกติบางอย่างสามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชัก (ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการของโรคลมชักที่ผู้ป่วยมี) ความผิดปกติที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ[40] และ โรคไมเกรน[41] ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคลมชักมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กทั่วไปประมาณ 3-5 เท่า[42] โรคสมาธิสั้น และ โรคลมชักมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ พฤติกรรม การเรียนรู้และ การพัฒนาทางสังคมของเด็ก[43] นอกจากนี้โรคลมชักยังพบมากในเด็กที่มีอาการเชิงออทิสติก[44] สาเหตุของโรคโรคลมชักอาจเป็นภาวะที่ได้มาแต่กำเนิด (จากพันธุกรรม) เป็นผลข้างเคียงจากโรคหรือภาวะอื่นๆซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หรืออาจเกิดจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยทั้งสองอย่าง[45] สาเหตุของโรคลมชักซึ่งไม่ได้มาจากกรรมพันธ์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วได้แก่ การได้รับบาดเจ็บทางสมองอย่างรุนแรง โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง และความผิดปกติซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในสมอง[45] มีผู้ป่วยประมาณ 60% ที่ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุของโรคลมชักได้[29][24] ในเด็กเล็กโรคลมชักมักมีเหตุจาก โรคทางพันธุกรรม ความผิดปกติแต่กำเนิด หรือ ความผิดปกติของพัฒนาการ ในขณะที่สาเหตุของโรคลมชักในคนสูงอายุมักจะเกิดจาก โรคหลอดเลือดสมอง และ เนื้องอกสมอง[24] การชักอาจเป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ[28] ถ้าอาการชักเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ชัดเจนเช่น โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ การกลืนสารพิษหรือ ความบกพร่องของเมตาโบลิซึม เราจะเรียกอาการที่เกิดขึ้นว่า การชักแบบเฉียบพลัน ซึ่งจะถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มของความผิดปกติที่ทำให้เกิดการชัก มากกว่าจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคลมชัก[46][47] พันธุกรรมมีความเชื่อว่าพันธุกรรมเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคลมชักไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงหรือทางอ้อม[9] โรคลมชักบางอย่างเป็นผลจากความผิดปกติของของยีนเพียงตัวเดียว (ประมาณ 1-2%) แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำงานร่วมกันของยีนหลายตัวผนวกกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม[9] ปัจจุบันมีกลุ่มอาการซึ่งเกิดจากความผิดปติของยีนเพียงตัวเดียวประมาณ 200 กลุ่มอาการที่สามารถทำให้เกิดอาการชักได้[48] โดยยีนส่วนใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของช่องไอออน[45] ตัวอย่างเช่น ยีนสำหรับช่องไอออนเอง เอนไซม์ กาบารีเซปเตอร์ และ จี โปรตีน-คัปเปิลด์รีเซปเตอร์[31] ในฝาแฝดร่วมไข่ ถ้าแฝดคนใดคนหนึ่งเป็นลมชักจะมีโอกาส 50-60% ที่แฝดอีกคนจะเป็นโรคเหมือนกัน[9] หากเป็นแฝดต่างไข่จะมีความเสี่ยงเพียง 15%[9] ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นหากเป็นการชักแบบทั่วไป[9] หากฝาแฝดทั้งสองเป็นโรคลมชักกลุ่มอาการชักที่แสดงออกมามักจะเหมือนกัน (70-90%)[9] ญาติสนิทของผู้ป่วยโรคลมชักจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคประมาณห้าเท่าของประชากรทั่วไป[49] ประมาณ 1 ถึง 10% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์และ 90% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการแอนเจลแมนจะเป็นโรคลมชัก[49] ภาวะอื่นๆที่ผู้ป่วยได้มาหลังกำเนิดโรคลมชักอาจเป็นผลข้างเคียงของภาวะอื่นๆเช่น เนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง และ เป็นผลมาจากความเสียหายของสมองในช่วงเวลาของการเกิด[29][28] ผู้ที่มีเนื้องอกในสมองประมาณ 30% จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก หรืออีกนัยหนึ่งเนื้องอกในสมองถือเป็นสาเหตุประมาณ 4% ของโรคลมชักทั้งหมด[49] ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักจะยิ่งสูงขึ้นหากก้อนอยู่ในตำแหน่งกลีบขมับ และ เป็นเนื้องอกที่เติบโตช้า[49] ก้อนอื่นๆซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเส้นเลือดอย่างเช่น ซีรีบรัล คาเวอร์นัส มาล์วฟอร์เมชั่น และ อาร์เทอริโอวินัส มาล์วฟอร์เมชั่น มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคลมชักสูงถึง 40-60%[49] ประมาณ 2-4% ของผู้ที่มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองจะพัฒนาโรคลมชักภายหลัง[49] ในสหราชอาณาจักรโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุประมาณ 15% ของโรคลมชักทั้งหมด และเชื่อว่าเป็นสาเหตุ 30% ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคลมชัก[24][49] มีความเชื่อว่าประมาณ 6-20% ของโรคลมชักอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ[49] การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเพียงเล็กน้อยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักประมาณสองเท่า หากเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงจะเพิ่มความเสี่ยงขึ้นเจ็ดเท่า[49] ในผู้ที่ถูกยิงปืนกำลังสูงบริเวณศีรษะมีความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 50%[49] มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคลมชักและโรคแพ้กลูเตน ในขณะที่หลักฐานอื่นๆชี้นำไปทิศทางตรงข้าม[50][51] การศึกษาในปี 2012 พบว่าประมาณ 1-6% ของผู้ป่วยโรคลมชักจะเป็นโรคแพ้กลูเตน ในขณะที่ 1% ของประชากรทั่วไปจะเป็นโรคแพ้กลูเตน[51] ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลมชักจากภายหลังจากการเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีน้อยกว่า 10% -- ในขณะที่อาการชักมักจะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินของโรค[49] ผุ้ป่วยที่เป็นโรคสมองอักเสบจากเริมมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการชักสูงถึง 50%[49] และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรคลมชักได้ถึง 25%[52][53] การติดเชื้อพยาธิตัวตืดซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อตัวตืดในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นสาเหตุประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคลมชักซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เฉพาะถิ่นของพยาธิ[49] โรคลมชักอาจเกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อในสมองอื่นๆเช่น โรคมาลาเรียขึ้นสมอง โรคทอกโซพลาสโมซิส และ โรคพยาธิตัวกลม[49] การดื่มสุราติดต่อกันเป็นเวลานานๆเพิ่มความเสี่ยงของโรคลมชัก โดยผู้ที่ดื่มหกหน่วยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวันจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักประมาณสองเท่าครึ่ง[49] ความเสี่ยงอื่นๆได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ทูเบอรัส สเคลอโรซิส และ โรคไข้สมองอักเสบจากภูมิต้านตนเอง[49] การได้รับการฉีดวัคซีนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชัก[49] ภาวะทุพโภชนาการเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคลมชักในประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าเป็นสาเหตุโดยตรงหรือทางอ้อม[19] ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตสมองใหญ่จะมีความเสี่ยงเพิ่มต่อการเป็นโรคลมชัก โดยมีการพบว่าครึ่งหนึ่งของป่วยอัมพาตสมองใหญ่ชนิด กล้ามเนื้อเกร็งอัมพาตแขนขาสองข้าง และ กล้ามเนื้อเกร็งอัมพาตครึ่งซีก ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก[54] กลไกการเกิดโรคโดยปกติคลื่นไฟฟ้าสมองจะมีลักษณะแบบไม่สอดคล้องกัน (non-synchronous)[6] คลื่นไฟฟ้าสมองจะถูกควบคุมโดยปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกเซลล์ประสาท ปัจจัยภายในเซลล์ประสาทรวมถึง ชนิดของเซลล์ประสาท จำนวนและการกระจายช่องไอออน การเปลี่ยนแปลงของตัวรับ และ การเปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีน[55] ปัจจัยภายในเซลล์ประสาทรวมถึง ความเข้มข้นของไอออน ความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงของจุดประสานประสาท และ การควบคุมการสลายตัวของสารสื่อประสาทโดยเซลล์เกลีย[55][56] โรคลมชักกลไกหลักที่ทำให้เกิดโรคลมชักยังไม่เป็นที่ทราบในปัจจุบัน[57] แต่มีข้อมูลที่ทราบแล้วบางส่วนเกี่ยวกับกลไกของเซลล์และโครงสร้างที่ทำให้เกิดโรค อย่างไรก็ดียังไม่เป็นที่ทราบว่าภายใต้สถานการณ์ใด สมองจึงเข้าสู่ภาวะการชักโดยการทำงานอย่างสอดคล้องกันมากจนเกินไป (excessive synchronization)[58][59] ในผู้ป่วยโรคลมชัก เซลล์ประสาทที่ถูกเร้าจะส่งผลให้เกิดศักยะงานได้ง่าย หรือ มีความต้านทานต่อการสร้างศักยะงานต่ำ[6] สาเหตุอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของช่องไอออน หรือ เซลล์ประสาทที่ถูกยับยั้งไม่ทำงานอย่างถูกต้อง[6] และจึงส่งผลให้เกิดพื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดของอาการชัก ซึ่งเรียกว่า "ศูนย์การชัก" (seizure focus)[6] กลไกการเกิดโรคลมชักอีกช่องทางอาจเกิดจากการเพิ่มวงจรเซลล์ประสาทที่ถูกกระตุ้น (excitatory circuits) หรือการลดของวงจรเซลล์ประสาทที่ถูกยับยั้ง (inhibitory circuits) ภายหลังจากการได้รับบาดเจ็บที่สมอง[6][7] โรคลมชักที่เกิดจากกลไกดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่า อิพิเลปโตเจเนซิส[6][7] ความเสียหายของตัวกรองกั้นระหว่างเลือดและสมองอาจเป็นหนึ่งในกลไกหลักของการเกิดโรคลมชักเนื่องจากเป็นการทำให้สารต่างๆในเลือดเข้าสู่สมองได้[60] อาการชักมีหลักฐานว่า อาการชักซึ่งเกิดจากโรคลมชักมักไม่ได้เป็นเหตุการณ์สุ่ม อาการชักมักเกิดขึ้นตามหลังปัจจัยต่างๆเช่น ความเครียด การดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด ไฟกระพริบ หรือ การขาดการนอนหลับ คำว่า ขีดเริ่มของการชัก มักใช้เพื่อสื่อถึง ปริมาณของสิ่งกระตุ้นที่จำเป็นต่อการเกิดอาการชัก ขีดเริ่มของการชักจะลดลงในผู้ป่วยโรคลมชัก[58] อาการชักซึ่งเกิดจากโรคลมชักจะเกิดจากการที่กลุ่มของเซลล์ประสาทเริ่มศักยะงานในปริมาณสูงอย่างผิดปกติ[24] และสอดคล้องกัน[6] ผลลัพธ์ทำให้เกิดคลื่นของการลดความต่างศักย์ เรียกว่า ดีโพลาไรซิ่ง ชิฟท์[61] โดยปกติหลังจากเซลล์ประสาทที่ได้รับการเร้า ทำงานหรือสร้างศักยะงาน ตัวของมันจะทนทานต่อการสร้างศักยะงานซ้ำในช่วงเวลาหนึ่ง[6] สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการทำงานของเซลล์ประสาทที่ถูกยับยั้ง การเปลี่ยนแปลงกระแสไฟฟ้าภายในเซลล์ประสาทที่ได้รับการเร้า และผลกระทบของอะดีโนซีน[6] การชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดจะเกิดขึ้นภายในสมองซีกใดซีกหนึ่ง ขณะที่การชักแบบทั่วไปจะเริ่มขึ้นในสมองทั้งสองซีก[28] อาการชักบางชนิดอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง ในขณะที่บางชนิดดูเหมือนจะไม่มีผลใด ๆ กับสมอง [62] การเกิดไกลโอซิส การสูญเสียเซลล์ประสาท และ การฝ่อของสมองในบางพื้นที่ มีความเชื่อมโยงกับโรคลมชัก แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าโรคลมชักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หรือ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคลมชัก[62] การวินิจฉัยการวินิจฉัยโรคลมชักจะมีพื้นฐานอยู่บนสาเหตุและอายุของผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการชัก[24] การตรวจโครงสร้างของสมองผ่านการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) และการตรวจการทำงานของสมองด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ถือเป็นพื้นฐานของการตรวจโรค[24] การค้นหากลุ่มอาการของโรคลมชักอาจจะไม่ประสพผลสำเร็จเสมอไป[24] การเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยผ่านกล้องวิดิโอและการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองในระยะยาวอาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่วินิจฉัยได้ยาก[63] คำจำกัดความโรคลมชักเป็นความผิดปกติทางสมองที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้[3]
นอกจากนี้โรคลมชักจะได้รับการพิจารณาว่าหายขาดในกรณีที่ผู้ป่วยมีกลุ่มอาการของโรคลมชักที่ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ปัจจุบันผู้ป่วยมีอายุมากกว่าอายุที่กลุ่มอาการนั้นๆได้ระบุไว้ หรือผู้ป่วยไม่มีอาการชักซ้ำนานอย่างน้อย 10 ปี โดยไม่มีการใช้ยารักษาโรคลมชักนานอย่างน้อย 5 ปี[3] คำจำกัดความในปี ค.ศ. 2014 นี้โดยสหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศ (ILAE)[3] มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความชัดเจนให้กับแนวคิดของนิยามเดิมที่บัญญัติไว้ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งกำหนดให้โรคลมชักหมายถึง "ความผิดปกติของสมองที่มีลักษณะเฉพาะโดยสามารถเห็นได้จาก ความโน้มเอียงของสมองที่จะส่งสัญญาณชักอย่างต่อเนื่อง และผลลัพธ์ทางด้านประสาทชีวะวิทยา การรับรู้ จิตใจ และสังคมจากการเป็นโรค โดยในนิยามนี้ผุ้ป่วยจำเป็นจะต้องมีอาการชักซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางสมองอย่างน้อย 1 ครั้ง"[64][65] ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยจะเจริญเติบโตจนพ้นจากโรคลมชัก หรือ ได้รับการรักษาจนทำให้หายขาดจากการเป็นโรคลมชัก แต่การหายจากการเป็นโรคลมชักไม่ได้เป็นการรับประกันว่าโรคจะไม่กลับคืนมาอย่างแน่นอน คำจำกัดความในปัจจุบันของโรคลมชักจะถือว่าลมชักเป็นโรคมากกว่าความผิดปกติ การตัดสินใจนี้เป็นของคณะกรรมการบริหารสหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศ เนื่องจากแม้ว่า "ความผิดปกติ" อาจจะถือเป็นการตราหน้าผู้ป่วยน้อยกว่าคำว่า "โรค" แต่อาจจะทำให้ความความรุนแรงของโรคลมชักไม่เป็นที่ประจักษ์[3] คำนิยามใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อให้ใช้งานได้จริงและถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานทางคลินิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะขยายความหมายของ "ความโน้มเอียงของสมองที่จะส่งสัญญาณชักอย่างต่อเนื่อง" ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในปี ค.ศ. 2005 นักวิจัย นักระบาดวิทยาทางสถิติ และ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษอื่นๆ อาจจะเลือกที่จะใช้คำนิยามเก่าหรือนิยามที่ตัวเองได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยสหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศได้พิจารณาแล้วว่าการทำเช่นนั้นเป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ ตราบเท่าที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าคำจำกัดความแบบใดได้ถูกนำมาใช้[3] การจำแนกประเภทเปรียบเทียบกับการจัดหมวดหมู่ของอาการชักที่เน้นถึงลักษณะท่าทางของผู้ป่วยที่แสดงออกมาระหว่างการชัก การจัดหมวดหมู่ของโรคลมชักจะมุ่งเน้นไปที่สาเหตุของการเกิดโรค ยกตัวอย่างเช่นเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหลังมีอาการชัก สิ่งแรกที่แพทย์จะต้องวินิจฉัยคือลักษณะของอาการชักเข้าได้กับอะไร (เช่น เกร็ง-กระตุก เกร็ง กระตุก หรือ ชักเงียบ) และสาเหตุของโรคมาจากไหน (เช่น ภาวะฮิปโปแคมปอล สเคลอโรซิส)[63] ดังนั้นชื่อที่ใช้การวินิจฉัย ก็จะขึ้นอยู่กับผลการตรวจและคำจำกัดความที่ใช้จำแนกประเภทของอาการชักและสาเหตุของโรคลมชัก สหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศได้จัดหมวดหมู่ของโรคลมชักและอาการของโรคลมชักในปี 1989 ไว้ดังต่อไปนี้[66]
การจัดหมวดหมู่นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแต่ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่มากเนื่องจากสาเหตุของโรคลมชัก (ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับการดำเนินและการพยากรณ์ของโรค) ยังไม่ได้รับครอบคลุมอย่างเพียงพอ[67] ดังนั้นในปี 2010 คณะกรรมการการจัดหมวดหมู่ของโลกลมชักโดยสหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศ จึงได้ตอบรับปัญหานี้โดยแบ่งโรคลมชักออกเป็นสามประเภท ได้แก่ พันธุกรรม โครงสร้าง/เมตาบอลิซึ่ม และ ไม่ทราบสาเหตุ[68] และการจัดหมวดหมู่ของโรคลมชักนี้ได้รับการขัดเกลาเพิ่มเติมในปี 2011 จนกลายเป็นสี่ประเภทร่วมกับการมีหมวดหมู่ย่อยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์[69]
กลุ่มอาการลมชักผู้ป่วยโรคลมชักสามารถได้รับการจัดหมวดหมู่ตามคุณลักษณะเฉพาะของโรคที่แสดงออกมาเรียกว่ากลุ่มอาการลมชัก คุณสมบัติเหล่านี้รวมถึงอายุที่เริ่มแสดงอาการชัก ชนิดของอาการชัก ผลการตรวจการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง และอื่น ๆ การค้นหากลุ่มอาการลมชักเถือป็นประโยชน์เนื่องจากสามารถช่วยให้ทราบถึงสาเหตุ และชนิดของยากันชักที่ผู้ป่วยควรได้ลองใช้[70][28] การจัดหมวดหมู่ของผู้ป่วยที่มีอาการชักออกเป็นกลุ่มอาการจะทำได้บ่อยกว่าในเด็กเนื่องจากการชักซ้ำเกิดขึ้นเร็ว[47] ตัวอย่างของกลุ่มอาการชักที่มีความร้ายแรงน้อยได้แก่ โรคลมชักโรแลนดิก (2.8 ต่อ 100,000) โรคลมชักแบบอับซองส์วัยเด็ก (0.8 ต่อ 100,000) และโรคลมชักแบบกล้ามเนื้อกระตุกสั่นในเด็กและเยาวชน (อิมพัลซีฟ เปอตีต์ มาล) (0.7 ต่อ 100,000)[47] กลุ่มอาการลมชักแบบรุนแรงที่ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของสมอง (โดยความผิดปกติมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากโรคลมชัก) จะถูกเรียกว่าโรคสมองลมชัก (epileptic encephalopathies) โดยกลุ่มอาการเหล่านี้มักทำให้เกิดอาการชักซึ่งทนทานต่อการรักษาและส่งผลให้เกิดกระบวนการการรับรู้ที่ผิดปกติอย่างรุนแรง เช่นกลุ่มอาการเล็นน็อกซ์-กาสเตาต์ และกลุ่มอาการเวสต์[71] มีความเชื่อกันว่าพันธุกรรมมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดโรคลมชักผ่านกลไกได้หลายช่องทาง กลไกการส่งกรรมพันธ์ (ทายกรรม) ทั้งแบบง่ายและซับซ้อนที่ก่อให้เกิดโรคลมชักบางประเภทได้รับการระบุไว้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตามการตรวจคัดกรองจีโนมขนาดใหญ่ในผู้ป่วยโรคลมชักทั้งตัวแบบไม่ทราบสาเหตุ ยังไม่พบการกลายพันธ์ของยีนเพียงตัวเดียวที่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมากต่อการเป็นโรคลมชักได้[72] การศึกษา เอ็กโซม และ จีโนม ในเร็วๆนี้แสดงให้เห็นถึงการกลายพันธ์ใหม่ (de novo gene mutations) ของยีนหลายตัวที่ก่อให้เกิดโรคสมองลมชัก ได้แก่ CHD2 และ SYNGAP1[73][74][75] และ DNM1, GABBR2, FASN และ RYR3[76] ยังเป็นการยากที่จะหาว่ากลุ่มอาการลมชักที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจนนั้นสามารถเข้าได้กับประเภทของโรคลมชักแบบใด (โดยใช้หลักการจำแนกฉบับปัจจุบัน) การจัดประเภทของผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการเหล่านี้ว่าสามารถเข้าได้กับโรคลมชักแบบใดจึงมักขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ประเมิน[69] โรคลมชักแบบไม่ทราบสาเหตุ (ตามการจำแนกโรคลมชักฉบับปี 2011) จะรวมถึงกลุ่มอาการซึ่งลักษณะทางคลินิกโดยทั่วไป และ/หรือ อายุของผู้ป่วยชี้ว่าสาเหตุของกลุ่มอาการนั้นๆน่าจะมาจากทางพันธุกรรม[69] ดังนั้นกลุ่มอาการลมชักในวัยเด็กบางชนิดยก ตัวอย่างเช่น โรคลมชักโรแลนดิก จึงถูกจำแนกให้เข้ากับโรคลมชักแบบไม่ทราบสาเหตุโดยใช้การสันนิษฐานว่าสาเหตุอาจมาจากพันธุกรรม (แทนที่จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตามอาการ) กลุ่มอาการลมชักบางอย่างถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตามอาการทั้ง ๆ ที่กลุ่มอาการเหล่านั้นน่าจะมีสาเหตุทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการเล็นน็อกซ์-กาสเตาต์[69] กลุ่มอาการบางชนิดที่ไม่ได้มีอาการลมชักเป็นองค์ประกอบหลัก (ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการแองเกลแมน) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตามอาการแต่ยังมีการถกเถียงให้ยกกลุ่มอาการนี้ไว้ในหมวดไม่ทราบสาเหตุ[69] การจำแนกโรคลมชักและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการลมชักจะเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าขององค์ความรู้จากการวิจัย การตรวจการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองสามารถช่วยแสดงกิจกรรมของสมองที่มีลักษณะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการชักและควรใช้เฉพาะกับผู้ที่มีอาการชักซึ่งเข้าได้กับโรคลมชักหลังจากประเมินอาการเสร็จสิ้นแล้ว การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองอาจช่วยแยกแยะประเภทของอาการชัก หรือ กลุ่มอาการลมชักได้[63] ในเด็กมักจะใช้การตรวจนี้หลังจากมีอาการชักครั้งที่สอง[63] อย่างไรก็ดีการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองไม่สามารถใช้เพื่อบอกว่าผู้ป่วยไม่โอกาสเป็นโรคลมชักและอาจให้ผลบวกเท็จในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรค[63] การตรวจในขณะที่ผู้ป่วยกำลังหลับ หรือ ขาดการนอนหลับอย่างเพียงพออาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยได้ในบางกรณี[63] การตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT) และ การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) มักจะถูกใช้ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีอาการชักครั้งแรกร่วมกับการไม่มีไข้เพื่อที่จะหาความผิดปกติทางโครงสร้างของสมอง[63] โดยทั่วไปการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กจะเป็นการตรวจที่ดีกว่า ยกเว้นกรณีที่สงสัยว่ามีเลือดออกในสมองการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์จะเป็นการตรวจที่มีความไวสูงและหาได้ง่ายกว่า[20] หากผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินด้วยอาการชักแต่เข้าสู่ ภาวะปกติอย่างรวดเร็วอาจไม่จำเป็นต้องตรวจโดยการถ่ายภาพในทันทีโดยสามารถนัดให้มาตรวจในภายหลัง[20] ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคลมชักและเคยได้รับการตรวจโดยการถ่ายภาพมาก่อน การส่งตรวจซ้ำมักไม่มีความจำเป็นถึงแม้ว่าจะมีอาการชักใหม่เกิดขึ้น[63] สำหรับผู้ใหญ่การตรวจค่าอิเล็กโทรไลต์ ระดับน้ำตาลในเลือด และปริมาณแคลเซียมในเลือด เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากจะช่วยประเมินว่าอาการชักมีสาเหตุจากระดับที่ผิดปกติของสารเหล่านี้หรือไม่[63] การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสามารถช่วยตัดสาเหตุที่มาจากการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ[63] การเจาะน้ำไขสันหลังอาจช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง แต่อาจไม่จำเป็นต้องทำในทุกกรณี[20] ในเด็กอาจจำเป็นต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมเช่น การตรวจปัสสาวะ และ เลือดเพื่อค้นหาความผิดปกติทางเมตะบอลิก[63][77] ระดับโพรแลกตินในเลือดที่ขึ้นสูงภายใน 20 นาทีแรกหลังเกิดอาการชักอาจช่วยยืนยันว่าอาการชักเกิดจากโรคลมชักจริง และไม่ได้เป็นอาการชักเหตุจิตใจที่ไม่ใช่โรคลมชัก[78][79] ระดับโพรแลกตินในเลือดมีประโยชน์น้อยในการตรวจจับการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุด[80] และในกรณีที่ผลเป็นปกติก็ยังเป็นไปได้ที่อาการชักที่เห็นเกิดจากโรคลมชัก[79] นอกจากนั้นยังไม่สามารถใช้แยกอาการชักจากโรคลมชักกับการเป็นลม[81] ดังนั้นจึงยังไม่แนะนำให้ส่งการตรวจนี้เป็นประจำเพื่อการวินิจฉัยโรคลมชัก [63] การวินิจฉัยแยกโรคการวินิจฉัยโรคลมชักอาจทำได้ยาก ความเจ็บป่วยหลาย ๆ อย่างอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการชัก เช่น ภาวะหมดสติชั่วคราว กลุ่มอาการหายใจเร็วกว่าปกติ โรคไมเกรน ภาวะง่วงเกิน อาการตื่นตระหนกกระทันหัน และ อาการชักเหตุจิตใจที่ไม่ใช่โรคลมชัก (psychogenic non-epileptic seizures, PNES)[82][83] ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่กำลังมีภาวะหมดสติชั่วคราวอาจแสดงอาการชักแบบสั้นๆ[84] ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักสมองส่วนหน้าตอนกลางคืนชนิดพันธุกรรมเด่นมักแสดงอาการเหมือนกับคนที่กำลังฝันร้าย จึงถูกวินิจฉัยว่าเป็นการละเมอ แต่มีหลายรายได้รับการระบุว่าเป็นกลุ่มอาการลมชักในภายหลัง[85] การเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถควบคุมได้ชนิดฉับพลันอาจถูกมองว่าเป็นอาการชักของโรคลมชัก[86] และหนึ่งในสาเหตุของการล้มกระทันหันอาจเป็นผลจากอาการชักชนิดไม่เกร็งได้เช่นเดียวกัน[83] เด็ก ๆ อาจแสดงพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับอาการชักของโรคลมชัก แต่จริงๆแล้วเป็นผลจากภาวะอื่น ๆ เช่น การกลั้นหายใจในเด็ก การปัสสาวะขณะหลับ ภาวะตกใจกลัวตอนกลางคืน อาการกล้ามเนื้อกระตุก และ อาการกล้ามเนื้อกระตุกรัว[83] เด็กทารกที่เป็นโรคกรดไหลย้อนซึ่งอาจแสดงการโค้งของแผ่นหลัง หรือมีภาวะคอบิด หรือ คอเอียง อาจถูกเข้าใจผิดว่ากำลังมีอาการชักแบบเกร็ง-กระตุก[83] การวินิจฉัยผิดพลาดพบได้บ่อยมาก (โอกาสประมาณ 5 ถึง 30%)[24] การศึกษาในหลายกรณีชี้ให้เห็นว่าอาการเสมือนชักที่ทนทานต่อการรักษามักมีสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือด[84][87] ประมาณ 20% ของผู้ป่วยที่มาคลินิกลมชักจะมีอาการชักเหตุจิตใจที่ไม่ใช่โรคลมชัก[20] และผู้ป่วยที่มีอาการชักเหตุจิตใจที่ไม่ใช่โรคลมชักประมาณ 10% จะถูกพบว่าเป็นโรคลมชักด้วย[88] การแยกโรคทั้งสองออกจากกันโดยดูจากอาการชักเท่านั้นโดยไม่มีการทดสอบเพิ่มเติมมักทำได้ยาก[88] การป้องกันถึงแม้ว่าการเกิดโรคลมชักในหลายกรณีนั้นจะไม่สามารถป้องกันได้ แต่ความพยายามที่จะลดการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ การดูแลทารกที่ดีในช่วงเวลาหลังคลอด และการลดปรสิต เช่นพยาธิตืดหมู (Taenia solium) ในสภาวะแวดล้อม อาจช่วยลดอัตราการเกิดโรคลมชักได้[29] ความพยายามในการลดจำนวนพยาธิตืดหมูในเขตอเมริกากลางสามารถลดอัตราการเกิดโรคลมชักรายใหม่ได้ถึง 50%[19] การรักษาผู้ป่วยโรคลมชักมักจะต้องรักษาโดยการใช้ยาทุกวันหลังจากมีการชักครั้งที่สอง[24][63] แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจเริ่มใช้ยาทันทีหลังมีอาการชักครั้งแรก[63] ในกรณีที่อาการชักของผู้ป่วยทนทานต่อการรักษาด้วยยา อาจลองใช้การรักษาทางเลือกอื่น ๆ เช่น การกินอาหารพิเศษ การปลูกถ่ายเครื่องมือกระตุ้นสมอง หรือ การผ่าตัดสมอง การปฐมพยาบาลผู้พบเห็นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังมีอาการชักแบบเกร็งกระตุกได้โดยจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนตะแคงหรือท่าพักฟื้นเพื่อป้องกันการสำลัก[89] ไม่แนะนำให้ใส่นิ้ว ที่กดลิ้น หรือวัสดุใดๆ เข้าไปในปาก เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียน ทำให้สำลักได้ง่ายขึ้น หรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ช่วยเหลือได้[26][89] การช่วยเหลืออื่นๆ ควรเน้นไปที่การป้องกันอันตรายจากวัตถุรอบตัว.[26] ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องตรึงกระดูกสันหลัง[89] หากผู้ป่วยชักนานกว่า 5 นาที หรือชักมากกว่า 2 ครั้ง ใน 1 ชั่วโมง โดยระหว่างนั้นผู้ป่วยไม่กลับฟื้นคืนสติ ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์เรียกว่าภาวะชักต่อเนื่อง (status epilepticus)[63][90] ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการปกป้องทางหายใจ[63] เช่น การใส่ท่อหายใจทางจมูก[89] ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักเป็นเวลานานในบ้านหรือที่อยู่อาศัย มิดาโซแลมจะเป็นยาตัวแรกที่ได้รับการแนะนำให้ใช้โดยให้กินทางปาก[91] หรืออาจใช้ไดอาซีแพมโดยสอดทางทวารหนัก[91] ส่วนในโรงพยาบาลนิยมให้ลอราซีแพมทางหลอดเลือดดำ[63] หากใช้ยาในกลุ่มเบ็นโซไดอาเซพีนสองขนาดยาแล้วยังไม่ตอบสนอง อาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่น เช่น เฟนิโทอิน[63] ผู้ป่วยภาวะชักต่อเนื่องแบบกระตุกที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้นส่วนใหญ่จำเป็นต้องรับไว้ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก เพื่อรักษาด้วยยาอื่นที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าเช่น ไทโอเพนทอล หรือ โปรโพฟอล เป็นต้น[63] ยาการรักษาโรคลมชักส่วนใหญ่จะทำโดยให้ผู้ป่วยทานยากันชักและอาจจำต้องกินไปตลอดชีวิต[24] การเลือกชนิดของยากันชักมักจะขึ้นอยู่กับ ชนิดของอาการชัก กลุ่มอาการลมชัก ยาอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยใช้อยู่ ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่มี จนไปถึงอายุและวิถีชีวิตของผุ้ป่วย[91] การรักษาขั้นแรกแนะนำให้เลือกใช้ยาเพียงตัวเดียว[92] หากไม่ได้ผลแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาตัวเดียวชนิดอื่น ๆ[63] การให้ยาสองชนิดพร้อม ๆ กันจะแนะนำให้ใช้ในกรณีที่การให้ยาตัวเดียวไม่ได้ผล[63] ตามสถิติประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะสามารถหยุดชักจากการใช้ยาตัวแรก การเปลี่ยนไปใช้ยาตัวที่สองสามารถช่วยหยุดการชักให้ผู้ป่วยอีกประมาณ 13% ในขณะที่การเปลี่ยนยาครั้งที่สาม หรือ การให้ยาสองตัวในคราวเดียวกันอาจช่วยเพิ่มการหยุดชักได้อีก 4%[93] ประมาณ 30% ของผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองกับยากันชัก[10] ยากันชักในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด จากการศึกษาพบว่ายาเช่น เฟนิโทอิน คาร์บามาเซพีน และ วัลโปรเอต มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในการยับยั้งการชักทั้งแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดและแบบทั่วไป[94][95] คาร์บามาเซพีนแบบควบคุมการปลดปล่อยมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับแบบออกฤทธิ์ทันทีและอาจมีผลข้างเคียงน้อยกว่าแบบออกฤทธิ์ทันที[96] ในสหราชอาณาจักร คาร์บามาเซพีน หรือ ลาโมไตรจีน จะเป็นยาทางเลือกแรกที่ใช้ในการรักษาการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุด ในขณะที่ ลีวีไตราซิแทม (Levetiracetam) และ วัลโปรเอต เป็นยาทางเลือกรองเนื่องจากปัญหาทางราคาและผลข้างเคียง[63] สำหรับการรักษาการชักแบบทั่วไป วัลโปรเอต ถือเป็นยาทางเลือกแรกในขณะที่ ลีวีไตราซีแทม เป็นยาทางเลือกที่สอง[63] เอตโทซักซิไมด์ (ethosuximide) หรือ วัลโปรเอต มักใช้ในผู้ป่วยที่การชักทั่วไปแบบชักเงียบ นอกจากนั้น วัลโปรเอต ยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการชักแบบกล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง และ ไม่เกร็ง ด้วยเช่นเดียวกัน[63] หากอาการชักได้รับการควบคุมอย่างดีจากยา การตรวจสอบระดับยาในเลือดเป็นประจำไม่ถือเป็นความจำเป็น[63] ยากันชักที่มีราคาถูกที่สุดคือ ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายอยู่ทีประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี[19] องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ยาชนิดนี้เป็นยาทางเลือกแรกในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเหล่านี้ก็มักใช้ยาชนิดนี้อย่างแพร่หลาย[97][98] อย่างไรก็ตามการเข้าถึงยาชนิดนี้ยังอาจเป็นเรื่องยากในบางประเทศเนื่องจากในประเทศนั้น ๆ มีการระบุให้ ฟีโนบาร์บิทัล เป็นยาควบคุม[19] รายงานผลงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับพบว่าโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยากันชักมีความแตกต่างกันมากโดยอยู่ระหว่าง 10 - 90% ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล[99] อาการข้างเคียงส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับปริมาณของยาที่ใช้ และ มีความรุนแรงน้อย[99] ยกตัวอย่างเช่น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความง่วง หรือ ภาวะเดินเซ[99] ผลข้างเคียงของยาบางชนิดไม่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณของยายกตัวอย่างเช่น ผื่น ตับอักเสบ หรือ โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ[99] ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยาเนื่องจากผลข้างเคียงของยา[99] ยาบางอย่างมีเกี่ยวข้องกับความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกเมื่อใช้ในหญิงตั้งครรภ์[63] มีการรายงานว่ายากันชักที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น วัลโปรเอต เฟนิโทอิน คาร์บามาเซพีน ฟีโนบาร์บิทัล และ กาบาเพนติน (gabapentin) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก[100] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์[101] อย่างไรก็ดีหากการรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจการให้ยามักจะดำเนินต่อไปเนื่องจากมีความเชื่อว่าผลเสียของการไม่ควบคุมโรคลมชักมีมากกว่าผลเสียที่ผู้ป่วยจะได้รับจากยา[101] ในบรรดายากันชักทั้งหมด ลีวีไตราซิแทม และ ลาโมไตรจีน มีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก[100] การหยุดยากันชักอย่างช้า ๆ อาจเป็นไปได้ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่แสดงอาการชักเป็นเวลาสองถึงสี่ปี อย่างไรก็ดีประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยที่หยุดยาจะมีอาการกำเริบภายในหกเดือนแรก[63][102] การหยุดยาสำเร็จพบได้ประมาณ 70% ของผู้ป่วยเด็กและ 60% ของผู้ใหญ่[29] การผ่าตัดการผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดที่การรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล[103] การรักษาอื่น ๆ รวมถึงการลองใช้ยาอย่างน้อยแล้วสองถึงสามตัว[104] เป้าหมายของการผ่าตัดคือการควบคุมอาการชักอย่างสมบูรณ์แบบ[105] แต่มีโอกาสสำเร็จเพียง 60-70%[104] ขั้นตอนทั่วไปรวมถึง การตัดฮิปโปแคมปัสออกจากสมองกลีบขมับส่วนหน้า การผ่าตัดเนื้องอกทิ้ง และ การผ่าเอาบางส่วนของคอร์เทกซ์ใหม่ออก[104] การผ่าตัดบางอย่างเช่น การผ่าแยกคอร์ปัส คาโลซัมให้ออกจากกันเป็นความพยายามที่จะลดจำนวนครั้งของการชักมากกว่าที่จะรักษาที่สาเหตุของโรค[104] หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นอาจค่อย ๆ ระงับการใช้ยาได้ในผู้ป่วยบางราย[104] การกระตุ้นระบบประสาทอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่สามารถได้รับการผ่าตัด[63] จากการศึกษาพบว่าการกระตุ้นระบบประสาทที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งอาการชักที่ไม่ตอบสนองต่อยามีอยู่สามประเภท ได้แก่ กระตุ้นเส้นประสาทเวกัส, การกระตุ้นกลีบขมับส่วนหน้า และ การใช้เครื่องกระตุ้นประสาทระบบปิดโดยฝังเครื่องมือภายในกระโหลกศีรษะของผุ้ป่วย[11] โภชนาการการกินอาหารแบบคีโตเจนิค (อาหารไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และ มีโปรตีนเพียงพอ) สามารถลดจำนวนการชักและยุติอาการชักในผู้ป่วยบางราย[12] ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยา และ ไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัด[12] มีผู้ป่วยเพียง 10% ที่สามารถใช้การรักษาแนวนี้ได้เกิน 1 - 3 ปีเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพ และ ความทนทานของผู้ป่วยในการควบคุมอาหารอย่างต่อเนื่อง[106] ผลข้างเคียงรวมถึงปัญหาทางกระเพาะอาหารและลำไส้ซึ่งพบได้ 30% นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงระยะยาวที่จะเกิดโรคหัวใจ[106] การควบคุมอาหารแบบไม่สุดโต่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยทนกับการปฏิบัติได้นานขึ้น และ อาจมีประสิทธิภาพดี[12] ยังไม่สามารถหาสาเหตุว่าทำไมการควบคุมอาหารชนิดนี้ถึงยับยั้งการเกิดอาการชักได้[107] การออกกำลังกายได้รับการเสนอว่าอาจมีประโยชน์ในการป้องกันการชัก[108] และมีข้อมูลพอสมควรที่สนับสนุนคำอ้างนี้[109] สำหรับคนที่มีโรคของซีลิแอ็ก หรือ ภาวะแพ้กลูเตนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโรคของซีลิแอ็ก และ ภาวะแคลเซียมเกาะสมองกลีบท้ายทอย (occipital calcifications) การทานอาหารปราศจากกลูเตน อาจช่วยลดความถี่ของการชักได้[51] การจัดการอื่น ๆการบำบัดโดยการหลีกเลี่ยงคือ การลด หรือ ขจัดตัวชักนำ ที่ก่อให้เกิดการชัก ตัวอย่างเช่น ในผู้ป่วยที่แสงชักนำให้เกิดอาการอาจได้ประโยชน์จากการดูโทรทัศน์ที่มีขนาดเล็ก หลีกเลี่ยงการเล่นวิดีโอเกม หรือ ใส่แว่นตาดำเพื่อป้องกัน[110] การสนองตอบทางชีวภาพโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางจากการเฝ้าดูการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยา[111] ทั้งนี้ทั้งนั้นในขณะนี้ยังไม่สนับสนุนให้ใช้วิธีทางจิตวิทยาแทนการใช้ยาเพื่อควบคุมอาการชัก[63] สุนัขบางตัว (มักเรียกว่า สุนัขสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก) อาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยในระหว่างที่มีการชัก หรือ การชักสิ้นสุดลง[112][113] ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าสุนัขมีความสามารถในการทำนายอาการชักก่อนที่จะเกิดได้หรือไม่[114] การแพทย์ทางเลือกในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์เพียงพอที่จะสนับสนุนให้ใช้การแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ กับผู้ป่วยโรคลมชัก ไม่ว่าจะเป็น การฝังเข็ม[115] การบำบัดทางจิตวิทยา[116] การกินวิตามินเสริมเป็นประจำ[117] หรือ การเล่นโยคะ[118] นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้กัญชา[119][120] หลักฐานที่มีทั้งหมดจนถึงปีค.ศ. 2016 ยังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้เมลาโทนิน[121] เนื่องจากพบว่าการทดลองทดลองส่วนใหญ่มีคุณภาพไม่ดีพอที่จะทำให้หาข้อสรุปได้[121] พยากรณ์โรค
การรักษาโรคลมชักให้หายขาดมักเป็นไปไม่ได้ แต่ประมาณ 70% ของผู้ป่วยสามารถอยู่โดยปราศจากอาการชักโดยการใช้ยา[10] การใช้ยามีประสิทธิภาพในการควบคุมการชักแบบทั่วไปได้มากกว่า 80% ในขณะที่สามารถคุมการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุดได้เพียง 50%[11] หนึ่งในตัวชี้วัดผลการรักษาในระยะยาวคือ จำนวนการชักที่เกิดขึ้นในช่วงหกเดือนแรก[24] ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลการรักษาที่ไม่ดี ได้แก่ การตอบสนองเพียงเล็กน้อยต่อการรักษาเบื้องต้น อาการชักแบบทั่วไป ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก อาการทางจิตเวช และ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองที่แสดงคลื่นแบบลมชักทั่วไป (เช่น คลื่นไฟฟ้าที่มีลักษณะเร็วและแหลมสูง)[122] ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาประมาณ 75% ไม่ได้รับการรักษา หรือ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง[29] ในแอฟริกา 90% ของผุ้ป่วยไม่ได้รับการรักษา[29] สาเหตุส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องเกิดจากการขาดแคลนยาที่เหมาะสม หรือ ยามีราคาแพงเกินไป[29] อัตราการตายผู้ป่วยโรคลมชักมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ[123] ประมาณ 1.6 ถึง 4.1 เท่า[124] โดยมักเกิดจากหลายสาเหตุเช่น ความผิดปกติของสมองที่เป็นสาเหตุของโรคลมชัก ภาวะชักต่อเนื่อง การฆ่าตัวตาย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะมีอาการชัก และ ความตายที่คาดไม่ถึงอย่างกะทันหันในโรคลมชัก (sudden unexpected death in epilepsy (SUDEP))[123] การตายจากภาวะชักต่อเนื่องมักเกิดจากปัญหาพื้นฐานของโรคมากกว่าการขาดยา[123] ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคลมชักจะมากกว่าคนปกติประมาณ 2 ถึง 6 เท่า[125][126] และในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้น[125] ความตายที่คาดไม่ถึงอย่างกะทันหันในโรคลมชักมีความสัมพันธ์บางส่วนกับความถี่ของการเกิดอาการชักแบบเกร็ง-กระตุก[127] และมีการรายงานว่าความตายที่คาดไม่ถึงอย่างกะทันหันเป็นสาเหตุการตายของผู้ป่วยโรคลมชักประมาณ 15%[122] โดยในขณะนี้ยังไม่มีวิธีที่จะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่จากสาเหตุนี้[127] ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเสียชีวิตจากโรคลมชัก[124] ในขณะที่ผู้ป่วยโรคลมชักแบบไม่ทราบสาเหตุจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย[124] ในสหราชอาณาจักรมีการประเมินว่า 40-60% ของผู้เสียชีวิตจากโรคลมชักตายจากสาเหตุที่สามารถป้องกันได้[24] ในประเทศกำลังพัฒนาผู้ป่วยส่วนมากเสียชีวิตเนื่องจากโรคลมชักที่ไม่ได้รับการรักษาซึ่งนำไปสู่การล้ม หรือ ภาวะชักต่อเนื่อง[19] ระบาดวิทยาโรคลมชักเป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทที่ร้ายแรงที่พบได้บ่อยที่สุด[128] โดยพบจำนวนผู้ป่วยประมาณ 39 ล้านคนในปี ค.ศ. 2015[13] หรือประมาณ 1% ของประชากรอายุไม่เกิน 20 และ 3% ของประชากรอายุไม่เกิน 75[17] พบได้บ่อยกว่าในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงแต่โดยรวมมีจำนวนแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย[19][47] และผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80%) อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา[29] ความชุกของผู้ป่วยโรคลมชักต่อเนื่อง (ในปี ค.ศ. 2012) จะอยู่ที่ประมาณ 3-10 คนต่อประชากร 1,000 คน โดยนิยามของผู้ป่วยโรคลมชักต่อเนื่องหมายถึง ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการชักโดยไม่มีสิ่งเร้าอย่างน้อย 1 ครั้งภายในช่วงเวลา 5 ปี[47][129] ผู้ป่วยโรคลมชักรายใหม่ในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 40-70 คนต่อประชากร 100,000 คนในประเทศพัฒนาแล้ว และ 80-140 คนต่อประชากร 100,000 คนในประเทศกำลังพัฒนา[29] ความยากจนถือเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมชักโดยรวมถึงการอาศัยอยู่ในประเทศยากจน และ หรือมีความยากจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ภายในประเทศของตน[19] ในส่วนของโลกที่พัฒนาแล้วโรคลมชักส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็ก หรือ ผู้สูงอายุ[19] ในประเทศกำลังพัฒนาโรคลมชักมักเกิดขึ้นในเด็กโต และ วัยหนุ่ม-สาวเนื่องจากมีอัตราการได้รับบาดเจ็บ และ โรคติดเชื้อที่สูง[19] สำหรับประเทศพัฒนาแล้วรายงานในช่วงปีค.ศ. 1970 ถึง 2003 พบว่าจำนวนผู้ป่วยต่อปีลดลงสำหรับเด็กแต่เพิ่มขึ้นในผู้สูงวัย[129] สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการรอดชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองของผู้สูงอายุที่มากขึ้น[47] ประวัติศาสตร์บันทึกทางการแพทย์ที่เก่าแก่ที่สุดแสดงให้เห็นว่า มีผู้ป่วยโรคลมชักตั้งแต่สมัยเริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์[130] คนในสมัยโบราณคิดว่าโรคลมชักเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับ ภูติผี และ วิญญาณ[130] คำอธิบายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งกล่าวถึงอาการชัก มาจากข้อความในภาษาอัคคาเดียน (ภาษาที่ใช้ในเมโสโปเตเมียยุคโบราณ) ซึ่งถูกเขียนประมาณ 2000 ปีก่อนคริสตกาล[1] ผู้ป่วยที่ถูกกล่าวถึงได้รับการวินิจฉัยว่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเทพแห่งดวงจันทร์ และรับการรักษาด้วยพิธีขับไล่ผี[1] อาการชักได้รับการระบุไว้ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (1790 ปีก่อนคริสตกาล) โดยเป็นหนึ่งในเหตุผลในการคืนทาสที่ถูกซื้อมาเพื่อที่จะขอเงินคืน[1] นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงใน พาไพรัส ของ เอ็ดวิน สมิธ (1700 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งบรรยายถึงผู้ป่วยที่มาด้วยอาการชัก[1] บันทึกรายละเอียดของโรคลมชักที่เก่าแก่ที่สุดพบใน ซาคิกคุ (Sakikku) ซึ่งเป็นตำราแพทย์เขียนโดยใช้อักษรรูปลิ่มของชาวบาบิโลเนียทำขึ้นระหว่างปี 1067 ถึง 1046 ก่อนคริสตกาล[130] ในบันทึกฉบับนี้มีการกล่าวถึงรายละเอียดของโรคลมชักเช่น ลักษณะอาการ รายละเอียดการรักษา และ ผลการรักษาที่พบ[1] นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายรูปแบบต่าง ๆ ของอาการชักไว้ด้วย[130] เนื่องจากชาวบาบิโลเนียไม่มีความรู้ด้านชีวการแพทย์เกี่ยวกับโรคลมชัก ดังนั้นจึงบรรยายสาเหตุของการชักว่าเกิดจากการถูกผีและวิญญาณร้ายเข้าสิง และนำไปสู่การรักษาทางจิตวิญญาณ[130] ประมาณ 900 ปีก่อนคริสตกาล ปุนรวสุ อตีรยะ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับโรคลมชักว่าเป็นเสมือนการสูญเสียสติ[131] คำนิยามนี้ถูกนำไปใช้ต่อในคำภีร์อายุรเวท ชื่อว่า จรกะ สัมหิตา (ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล)[132] ชาวกรีกโบราณมีมุมมองขัดแย้งกันเกี่ยวกับโรคลมชัก โดยคิดว่าโรคลมชักเป็นอาการของการถูกวิญญาณสิงร่างแต่มีความเกี่ยวข้องกับอัจฉริยะภาพและเทพเจ้า ดังนั้นจึงเรียกโรคลมชักว่า "โรคศักดิ์สิทธิ์" (sacred disease)(ἠἱερὰνόσος)[1][133] โรคลมชักปรากฏขึ้นภายในเทพปกรณัมกรีกโดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทพีแห่งดวงจันทร์ เซลีนีและอาร์ทิมิส ซึ่งจะคอยสาปผู้คนให้ป่วยเป็นโรคนี้หากทำให้ทั้งสองอารมณ์เสีย ชาวกรีกคิดว่าบุคคลสำคัญเช่น จูเลียส ซีซาร์ และ เฮอร์คิวลีส ต่างมีภาวะนี้[1] มุมมองแตกต่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมชักซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณมากจากแนวคิดของฮิปพอคราทีส เมื่อสมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล ฮิปพอคราทีสปฏิเสธความคิดที่ว่าโรคลมชักเกิดจากวิญญาณโดยอธิบายในวรรณกรรมสำคัญของเขาเรื่อง "โรคศักดิ์สิทธิ์" ว่าโรคลมชักไม่ได้เกิดจากวิญญาณแต่เป็นปัญหาทางการแพทย์ซึ่งเกิดขึ้นในสมองและสามารถรักษาได้[1][130] เขากล่าวหาผู้คนที่เชื่อมโยงความศักดิ์สิทธิ์ให้กับตัวโรคว่า เป็นการแพร่กระจายความเขลาผ่านความเชื่อทางไสยศาสตร์[1] ฮิปพอคราทีสอธิบายว่ากรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงหากเป็นตั้งแต่เด็ก นอกจากนั้นยังได้จดบันทึกลักษณะทางกายภาพ และ ความอัปยศทางสังคมที่ผู้ป่วยประสพหากพบว่าเป็นโรค[1] และแทนที่จะเรียกโรคลมชักว่า "โรคศักดิ์สิทธิ์" เขาใช้คำว่า "โรคที่ยิ่งใหญ่" (great disease) จึงเป็นที่มาของคำว่า "แกรนด์ มาล" (grand mal) ซึ่งใช้เรียกอาการชักแบบเกร็ง-กระตุกในปัจจุบัน[1] แม้ว่าจะมีการอธิบายสาเหตุของโรคว่ามาจากความผิดปกติทางกายภาพแต่มุมมองของเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับในเวลานั้น[130] วิญญาณชั่วร้ายยังคงถูกมองว่าเป็นสาเหตุจวบจนศตวรรษที่ 17[130] ในสมัยโรมโบราณผู้คนจะไม่กินหรือดื่มจากภาชนะเดียวกันกับคนที่เป็นโรคลมชัก[134] คนในสมัยนั้นจะบ้วนน้ำลายบนหน้าอกของตัวเองเพราะเชื่อว่าสามารถป้องกันการติดต่อของภาวะนี้ได้[134] จากคำบอกเล่าของอพูเลียส และ แพทย์ในยุคโบราณอื่น ๆ การตรวจสอบโรคลมชักสามารถทำได้โดยเผานิลซึ่งควันที่เกิดขึ้นจะทำให้อาการชักปรากฏ[135] และในบางครั้งก็สามารถใช้แป้นหมุนของช่างเครื่องดินเผาได้เช่นเดียวกัน (สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้ป่วยบางรายมีความไวกับแสงซึ่งสามารถชักนำให้เกิดอาการชักได้)[136] ผู้ป่วยโรคลมชักมักได้รับการตราหน้า รังเกียจ หรือ แม้แต่ถูกคุมขังในเกือบทุกอารยธรรม ฌอง มาแตง ชาโก พบผู้ป่วยโรคลมชักเคียงข้างกับป่วยจิตเวช ผู้ป่วยซิฟิลิสเรื้อรัง และ อาชญากรโรคจิตในโรงพยาบาลปีเต-ซัลแปตริแยร์ซึ่งเป็นสถานที่เกิดของวิชาประสาทวิทยาสมัยใหม่[137] ในสมัยโรมโบราณโรคลมชักมีชื่อว่า morbus comitialis แปลว่าโรคของหอประชุม (disease of the assembly hall) และถูกมองว่าเป็นคำสาปจากเทพพระเจ้า ในตอนเหนือของอิตาลีโรคลมชักเคยถูกเรียกว่า โรคของนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's malady)[138] ยาที่มีประสิทธิภาพในการกันชักชื่อว่า โบรไมด์ ได้ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19[99] ยารักษาแผนใหม่ ฟีโนบาร์บิทัล ได้รับการพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1912 ตามมาด้วยเฟนิโทอินซึ่งได้ถูกเริ่มใช้ในปี ค.ศ. 1938[139] สังคมและวัฒนธรรมการถูกตราหน้าผู้ป่วยโรคลมชักทั่วโลกมักได้รับการตราหน้าทางสังคม[140] และสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรมได้[140] ในประเทศอินเดีย และ จีน โรคลมชักสามารถถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะปฏิเสธการแต่งงาน[29] ในบางท้องถิ่นยังมีความเชื่อว่าโรคลมชักเป็นผลจากการถูกสาปแช่ง[19] ในประเทศแทนซาเนีย และ ส่วนอื่น ๆ ของทวีปแอฟริกา ยังมีความเชื่อว่าโรคลมชักเป็นผลจาก การถูกครอบงำโดยวิญญาณชั่วร้าย เวทมนตร์ หรือ การถูกยาพิษ และมีบางส่วนเชื่อว่าอาจเป็นโรคติดต่อ[137] ซึ่งไม่มีหลักฐานประกอบ[19] ก่อนปี ค.ศ 1970 สหราชอาณาจักรมีกฎหมายหลายบทที่ห้ามมิให้คนที่เป็นโรคลมชักสามารถแต่งงานได้[29] การถูกตราหน้าทางสังคมอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนปฏิเสธว่าเคยมีอาการชัก[47] เศรษฐศาสตร์การชักส่งผลโดยตรงทางเศรษฐกิจกับประเทศสหรัฐอเมริกาโดยคิดเป็นเงินประมาณ 1000 ล้านดอลลาร์[20] ในขณะที่โรคลมชักทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในยุโรปประมาณ 15500 ล้านยูโรในปี ค.ศ. 2014[24] ในอินเดียโรคลมชักส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่าย 1700 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.5% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)[29] และถือเป็นสาเหตุประมาณ 1% ที่ทำให้ผู้ป่วยมาแผนกฉุกเฉิน (2% สำหรับแผนกฉุกเฉินสำหรับเด็ก) ในสหรัฐอเมริกา[141] ยานพาหนะผู้ที่เป็นโรคลมชักมีความเสี่ยงประมาณสองเท่าของบุคคลทั่วไปที่จะมีส่วนร่วมในการชนกันของยานยนต์บนท้องถนน ดังนั้นในหลายพื้นที่ของโลกจึงไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยขับรถ หรือ ให้ขับได้ในกรณีผู้ป่วยมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขบางอย่าง [22] ในพื้นที่บางแห่งแพทย์จะถูกกฎหมายบังคับให้รายงานต่อสถาบันที่ออกใบอนุญาตขับขี่หากพบว่าบุคคลใด ๆ ก็ตามเกิดการชัก ในขณะที่บางแห่งจะกำหนดเพียงให้แพทย์สนับสนุนให้บุคคลนั้น ๆ ไปรายงานด้วยตัวเอง[22] ประเทศที่กำหนดให้แพทย์ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้แก่ สวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก และ สเปน[22] ประเทศที่ให้ผู้ป่วยรายงานตัวเองรวมถึง สหราชอาณาจักร และ นิวซีแลนด์ แต่แพทย์สามารถรายงานได้หากเชื่อว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่รายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่[22] ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการรายงานตัวแตกต่างกันไปในขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละจังหวัด หรือ รัฐ[22] หากอาการชักได้รับการควบคุมอย่างดีคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าการอนุญาตให้ขับขี่ได้มีเหตุผล[142] ระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องปราศจากอาการชักก่อนที่จะสามารถกลับไปขับรถได้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ[142] หลายประเทศกำหนดเวลาที่ปราศจากอาการชักอย่างน้อย 1-3 ปี[142] ในสหรัฐอเมริกาเวลาที่ปราศจากอาการชักจะถูกกำหนดโดยแต่ละรัฐ และ อยู่ระหว่างสามเดือนและหนึ่งปี[142] ผู้ที่เป็นโรคลมชักหรือมีอาการชักมักไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นนักบิน[143] ในแคนาดาหากบุคคลใด ๆ มีอาการชักไม่เกิน 1 ครั้ง บุคคลนั้นอาจได้รับการพิจารณาให้มีใบอนุญาตแบบจำกัด หลังจากเกิดอาการ 5 ปีและผลทดสอบอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นปกติ[144] ผู้ที่เคยมีอาการชักสาเหตุจากไข้ หรือ เคยเป็นโรคไข้ชัก และ อาการชักที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอาจได้รับการพิจารณาด้วย[144] ในสหรัฐอเมริกา สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติจะไม่ออกในอนุญาตนักบินพาณิชย์ให้ผู้ที่เป็นโรคลมชัก[145] แต่อาจมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่มีอาการชักครั้งเดียว หรือ เคยเป็นโรคไข้ชัก และต้องไม่มีอาการชักที่สืบเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ที่จำต้องทานยาซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก[146] ในสหราชอาณาจักรการขอใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคลแห่งชาติแบบเต็มจะใช้มาตรฐานทางการแพทย์เดียวกันกับใบอนุญาตขับรถยนต์แบบมืออาชีพ[147] ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องไม่มีอาการชักเลยนานอย่างน้อยสิบปีและไม่ใช้ยาในช่วงเวลาดังกล่าว[148] สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เข้าข่ายตามข้อกำหนดนี้อาจได้รับใบอนุญาตแบบจำกัด ในกรณีที่ไม่มีอาการชักเลยเป็นเวลาห้าปี[147] องค์กรสนับสนุนมีองค์กรหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนผู้ป่วยและครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคลมชัก การณรงค์ "นำผู้ป่วยออกจากเงามืด" (Out of the Shadows campaign) เป็นการร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก สหพันธ์ต่อต้านโรคลมชักระหว่างประเทศ และ สำนักงานโรคลมชักระหว่างประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือในระดับนานาชาติ[29] สภาร่วมเกี่ยวกับโรคลมชัก (Joint Epilepsy Council) ทำหน้าที่ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์[63] ในประเทศสหรัฐอเมริกา มูลนิธิโรคลมชักเป็นองค์กรแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อเพิ่มการยอมรับของผู้ป่วย และ ความสามารถการทำงานในสังคม และ ส่งเสริมการวิจัยเพื่อการรักษา[149] นอกจากนั้นมูลนิธิโรคลมชัก โรงพยาบาลบางแห่ง และ บุคคลบางกลุ่ม ยังช่วยสนุนองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับโรคลมชักในสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นเดียวกัน[150] การวิจัยการทำนายการชัก หมายถึง ความพยายามที่จะพยากรณ์การชักว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่โดยดูจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง[151] จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2011 กลไกที่มีประสิทธิภาพในการทำนายการชักดังกล่าวยังไม่ได้ถูกค้นพบ [151] แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์ที่กระตุ้นให้เกิดการชัก และ ทำให้การชักเกิดง่ายขึ้นเรื่อย ๆ (Kindling) สามารถทำได้สำเร็จในสิ่งมีชีวิตต้นแบบ[152] การบำบัดทางหน่วยพันธุกรรม กำลังอยู่ในช่วงการศึกษาสำหรับโรคลมชักบางชนิดเท่านั้น[153] ยาที่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานของภูมิคุ้มกัน เช่น อิมมิวโนโกลบูลินแบบฉีด ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าได้ผลจริง[154] การทำรังสีศัลยกรรมร่วมพิกัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบไม่เปิดผิวหนัง จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2012 ยังคงอยู่ในช่วงเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบมาตรฐานสำหรับโรคลมชักบางชนิด[155] จุดที่เป็นต้นกำเนิด และ โครงข่ายประสาทซึ่งเกี่ยวข้องกับการชักที่พบบ่อย ๆ ได้รับการค้นพบว่าเป็นกลไกหลักที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่[156] เริ่มมีการนำสมองส่วนต่าง ๆ และ เวลาที่สมองส่วนต่าง ๆ นั้นทำงานอย่างผิดปกติ มาเชื่อมโยงเพื่อหาคำตอบว่าโรคลมชักเกิดขึ้นได้อย่างไร.[157] สัตว์ชนิดอื่นโรคลมชักสามารถเกิดขึ้นในสัตว์อื่น ๆ รวมทั้งสุนัขและแมวและเป็นความผิดปกติทางสมองที่พบบ่อยที่สุดในสุนัข[158] การรักษาโดยปกติจะให้ยากันชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทัล หรือ โบรไมด์ ในสุนัข และ ฟีโนบาร์บิทัลในแมว[159] อิมอิพิโทอิน (Imepitoin) สามารถใช้ในสุนัขได้เช่นเดียวกัน[160] ในขณะที่การชักแบบทั่วไปในม้าสามารถถูกวินิจฉัยได้โดยง่าย การวินิจฉัยอาจเป็นเรื่องยากหากเป็นการชักแบบเริ่มต้นเฉพาะจุด และ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัย[161] อ้างอิง
|