ไททัน (ดาวบริวาร)
ไททัน (อังกฤษ: Titan) คือ ดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ มีระยะห่างจากดาวเสาร์เป็นลำดับที่ 20 เป็นดาวบริวารดวงเดียวที่เป็นที่ทราบกันว่ามีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่น และเป็นวัตถุเพียงชนิดเดียวนอกจากโลกที่มีการค้นพบว่ามีร่องรอยของน้ำอยู่บนดาว ไททันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าดาวบริวารของโลกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และมีมวลมากกว่าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นดาวบริวารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในระบบสุริยะ รองจากดาวบริวารแกนีมีดของดาวพฤหัสบดี และมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ที่เล็กที่สุดซึ่งคือ ดาวพุธ (ถึงแม้ว่าจะมีมวลน้อยกว่าเพียงครึ่งเดียวก็ตาม) ผู้คนได้รู้ว่าไททันเป็นดาวบริวารดวงแรกของดาวเสาร์ หลังจากที่ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2198 (ค.ศ. 1655) โดยคริสตียาน เฮยเคินส์ (Christiaan Huygens) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ ไททันประกอบด้วยน้ำ น้ำแข็ง และหินเป็นหลัก ด้วยความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศของไททัน ทำให้เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพื้นผิวของมันมากนัก จนกระทั่งยานอวกาศ "กัสซีนี-เฮยเคินส์" (Cassini–Huygens) ได้เดินทางไปถึงในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) รวมถึงการค้นพบทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนเหลว บริเวณขั้วของดาวโดยดาวเทียม ลักษณะของพื้นผิวนั้น ทางธรณีวิทยาถือว่ายังค่อนข้างใหม่ ถึงแม้ว่าจะประกอบด้วยภูเขาและภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) ก็ตาม ชั้นบรรยากาศของไททันประกอบด้วยไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ สภาพอากาศจะมีเมฆมีเทนและอีเทน ลมและฝน ซึ่งทำให้เกิดสภาพพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายกับโลกของเรา เช่น ทะเลทราย และแนวชายฝั่ง วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ไททัน (ดาวบริวาร) |