กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย |
ชื่อย่อ | กสพท./COTMES |
---|
ก่อตั้ง | 7 เมษายน พ.ศ. 2532; 35 ปีก่อน (2532-04-07) |
---|
ประเภท | องค์กรอิสระที่ไม่เป็นส่วนราชการ |
---|
สํานักงานใหญ่ | ชั้น 8 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ |
---|
สมาชิก | 28 สถาบัน |
---|
เลขาธิการ | รศ.พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ |
---|
เว็บไซต์ | www.cotmes.net |
---|
กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Consortium of Thai Medical Schools;อักษรย่อ:กสพท.) เป็นองค์กรอิสระที่ไม่เป็นส่วนราชการ จัดตั้งขึ้นโดยการรวมกลุ่มกันของคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นระหว่างกัน เสนอแนะความเห็นไปยังรัฐบาลรวมทั้งจัดสอบคัดเลือกร่วมกันเพื่อรับบุคคลเข้าศึกษาต่อ
ประวัติ
กสพท.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2532 โดยเริ่มต้นจากการประชุมร่วมกันของคณบดีคณะแพทยศาสตร์จำนวน 9 แห่งจาก 7 สถาบันดังรายชื่อดังต่อไปนี้[1]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล[a]
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า[b]
โดยวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของกสพท.มีดังนี้[2]
- เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา วิจัย และบริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในทุกระดับ ให้สอดคล้องและสนองตอบต่อนโยบายและปัญหาการสาธารณสุขของประเทศ
- เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการด้านการศึกษาแพทยศาสตร์และศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางาน/บุคลากร และระบบข้อมูลกลางของงานทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
- เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อคิดเห็นและเสนอต่อรัฐบาล และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในด้านการพัฒนาการศึกษาแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการสาธารณสุขของประเทศไทย
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางาน บุคลากร และระบบข้อมูลกลางของงานทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้ทันสมัย ก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- เพื่อเป็นสถาบันทางวิชาการและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
นอกจากวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้นกสพท.ยังมีหน้าที่จัดสอบวิชาเฉพาะแพทย์หรือ TPAT 1 เพื่อประกอบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต สัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตและเภสัชศาสตร์บัณฑิตในการคัดเลือกผ่านระบบ TCAS รอบที่ 3 ของทปอ.อีกด้วย[3]
สถาบันสมาชิก
ปัจจุบันกสพท.มีโรงเรียนแพทย์เข้าเป็นสมาชิกจำนวน 28 สถาบัน ดังรายชื่อดังต่อไปนี้[4]
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- คณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ข้อวิพากษ์วิจารณ์
กรณีคัดลอกข้อสอบ BMAT มาใช้เป็นข้อสอบคัดเลือก
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดสอบวิชาเฉพาะแพทย์หรือ TPAT 1 ซึ่งกสพท.เป็นผู้จัดสอบ โดยหลังการสอบเสร็จสิ้นผู้เข้าสอบได้วิจารณ์ว่าข้อสอบฉบับที่ 1 จากทั้งหมด 3 ฉบับมีการคัดลอกข้อสอบ BMAT ซึ่งจัดสอบโดย Cambridge Assessment Admissions Testing มาใช้เป็นข้อสอบคัดเลือกโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของโจทย์ใดๆทั้งสิ้นเพียงแค่แปลโจทย์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเท่านั้น อาจส่งผลให้เกิดความได้เปรียบแก่ผู้เข้าสอบที่เคยเห็นโจทย์ดังกล่าวมาก่อนแล้ว อีกทั้งการคัดเลือกในระบบ TCAS รอบที่ 1 ได้นำผลคะแนนจากข้อสอบ BMAT มาใช้ในการคัดเลือกด้วยดังนั้นอาจมีผู้เข้าสอบบางคนได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว[5] [6] ต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2566 กสพท.ได้ออกแถลงการณ์กรณีข้อสอบดังกล่าวว่าจากการตรวจสอบพบว่ามีข้อสอบจำนวน 11 ข้อจากทั้งหมด 45 ข้อมีเนื้อหาคล้ายกับข้อสอบ BMAT จริง จึงมีมติตัดข้อสอบฉบับดังกล่าวออกทั้งฉบับและไม่นำมาคิดคะแนนในการคัดเลือก นอกจากนี้ยังแถลงว่าจะปรับปรุงกระบวนการออกข้อสอบไม่ให้มีเหตุการณ์เช่นนี้อีก[7] อีกทั้งประธานคณะอนุกรรมการจัดสอบคัดเลือกของกสพท.ได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ[8]
เชิงอรรถ
- ↑ ในขณะนั้นเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดลและย้ายมาสังกัดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในเวลาต่อมา
- ↑ เป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง