Share to:

 

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

วิทยาลัยแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต
College of Medicine,
Rangsit University
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ชื่อย่อMDRSU
สถาปนา1 พฤษภาคม พ.ศ. 2532
(ในชื่อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต)
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2545
(ในชื่อ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต)
อธิการศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ เจษฎา โชคดำรงสุข
ที่อยู่
อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต
เลขที่ 2 โรงพยาบาลราชวิถี ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
สี███ สีเขียวหัวเป็ดแมนดารินเพศผู้
มาสคอต
งูพันเลื้อยรอบคบเพลิง
ภายใต้โลกุตระ และดวงอาทิตย์
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลราชวิถี
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
โรงพยาบาลเลิดสิน
เว็บไซต์วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (อังกฤษ: College of Medicine, Rangsit University) เป็นสถาบันแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ลำดับที่ 9 ในจำนวนโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ 21 สถาบัน ได้รับการรับรองจากแพทยสภาเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์โดยสมบูรณ์[1]

ด้วยปณิธานของมหาวิทยาลัยรังสิตที่จะผลิตผลิตบัณฑิตในสาขาที่ประเทศขาดแคลนต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์ให้เพียงพอโดยการร่วมกันผลิตแพทย์ระหว่างภาครัฐคือ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเอกชน คือมหาวิทยาลัยรังสิต ในปัจจุบันวิทยาลัยนี้มีนักศึกษาจบไปแล้วทั้งสิ้น 29 รุ่น

ประวัติ

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตก่อตั้งโดยมติที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2532 และทบวงมหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้ดำเนินการรับนักศึกษาและเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2532 จึงถือเป็นคณะ/วิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 9 ของประเทศไทย เริ่มเปิดรับนักศึกษาแพทย์ รุ่นที่ 1 ปีการศึกษา 2532 ซึ่งต่อมาแพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 2/2537 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2537 โดยกำหนดหลักการให้มีการจัดตั้งมูลนิธิเป็นเงื่อนไขในการเปิดดำเนินการของโรงเรียนแพทย์เอกชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ให้ผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพตามที่กำหนด เป็นผลให้ในเวลาต่อมา ได้มีการลงนามข้อตกลงการร่วมผลิตแพทย์ภาคคลินิก ระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต ในวันที่ 15 มีนาคม 2537 โดยร่วมกันจัดตั้งสถาบันร่วมผลิตแพทย์ระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในภาควิชาคลินิก (นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ชั้นปีที่ 4, 5 และ 6) ทั้งหมด และการจัดตั้งมูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์และมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นกองทุนรับผิดชอบในการดำเนินการร่วมผลิตแพทย์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต [2]จึงถือเป็นสถาบันแพทยศาสตร์ของประเทศไทยโดยสมบูรณ์

เดือนกุมภาพันธ์ 2539 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำสัญญาความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และได้จัดสัมมนาเรื่อง "การประกันคุณภาพแพทยศาสตรศึกษา" ระหว่างคณาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับคณะแพทยศาสตร์ ทุกคณะในประเทศไทย

เดือนตุลาคม 2539 ได้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนตามหลักสูตร เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาการของวิชา และความก้าวหน้าของวิทยากร ทบวงมหาวิทยาลัยจึงอนุญาตให้รับนักศึกษาเพิ่มจากปีละ 48 คน เป็นปีละ 100 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539

พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยรังสิต มีนโยบายปรับปรุงวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไปของหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตให้อยู่ในโครงสร้างอันเดียวกัน และปรับปรุงระบบการศึกษาจากระบบทวิภาคเป็น ระบบไตรภาค วิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้ปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่จากระบบทวิภาคเป็นระบบไตรภาคตามโครงการที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อให้เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ในปีการศึกษา 2542 ได้รับอนุมัติตลอดหลักสูตร 6 ปี เท่ากับ 263 หน่วยกิต ตามระบบทวิภาคซึ่งจะเท่ากับ 328 หน่วยกิต ตามระบบไตรภาค

พ.ศ. 2544 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ปรับระบบการศึกษาจากระบบไตรภาคเป็นระบบทวิภาค วิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใหม่จากระบบ ไตรภาคเป็นทวิภาคตามเดิมคือ 263 หน่วยกิต ตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 คณะแพทยศาสตร์ ได้ยกระดับเป็น วิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพื่อให้มีการบริหารงาน การจัดการและการพัฒนาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนระดับโลก ตามประกาศของมหาวิทยาลัยรังสิต เรื่อง ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารและการบังคับบัญชา

ในปีการศึกษา 2549 ได้ปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2548 และมีหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 251 หน่วยกิต

ปีการศึกษา 2550 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้เพิ่มแนวทางการรับนักศึกษาแพทย์จากจากเดิมเพียงผ่านระบบการคัดเลือกส่วนกลาง โดยเข้าร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เก็บถาวร 2008-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และยังคงมีสัดส่วนจำนวนรับร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)เช่นเดิม

ปีการศึกษา 2556 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันสมทบแห่งที่ 2 ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ภาคคลินิก ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แพทย์รังสิต และเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นละ 30 คน

ปีการศึกษา 2564 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันสมทบแห่งที่ 3 ในการผลิตบัณฑิตแพทย์ภาคคลินิก และมีความพร้อมในการเปิดรับนักศึกษาแพทย์รุ่นละ 30 คน (นักศึกษาแพทย์รุ่นแรกของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จะเริ่มศึกษาในชั้นคลินิกปีการศึกษา 2567 สำหรับรุ่นปีการศึกษา 2564)

ปัจจุบัน มีบัณฑิตแพทย์จำนวนมากมายที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปฏิบัติงานในการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ในหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารบก โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทหารอากาศ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โรงพยาบาลในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน

หลักสูตร

ชื่อหลักสูตร

  • หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแพทยศาสตร์ (Doctor of Medicine Program)

ชื่อปริญญา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต : พ.บ.
  • Doctor of Medicine : M.D.

โครงสร้างหลักสูตร

  • ระยะเวลาศึกษาตลอดหลักสูตร 6 ปี
  • จำนวนหน่วยกิต รวม 260 หน่วยกิต
    หมวดวิชาศึกษาทั่วไป 30 หน่วยกิต
    หมวดวิชาเฉพาะ 223 หน่วยกิต
    หมวดวิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต

สำนักงานวิทยาลัยแพทยศาสตร์

ทำเนียบคณบดี และ อธิการ

รายนามคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รายนามอธิการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา พ.ศ. 2532 - 1 พฤษภาคม 2545

คณบดีคนแรก ผู้วางรากฐานคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
อดีตนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย

อดีตหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล

คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา 1 พฤษภาคม 2545 - พ.ศ. 2548
มีการยกฐานะคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ขึ้นเป็นวิทยาลัย
2. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์กิจประมุข ตันตยาภรณ์ มกราคม พ.ศ. 2548 - พฤษภาคม พ.ศ. 2548
3. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ แพทย์หญิงบุญเชียร ปานเสถียรกุล 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 - 14 กันยายน พ.ศ. 2551
ร่วมกับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ
4. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2561
อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี
อธิการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รายนามอธิการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุรวิทย์ เตชธุวานันท์ พ.ศ. 2561 - 2564
(อธิการวิทยาลัยคนแรก เนื่องจากมีการเปลี่นชื่อตำแหน่งจากคณบดี มาเป็น อธิการ)
2.ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน
อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ผู้บริหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รายนามผู้บริหารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตปัจจุบันมีดังนี้

ผู้บริหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นาม ตำแหน่ง
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิการ
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงยุพิน ไทยพิสุทธิกุล รองคณบดีฝ่ายบริหารและพัฒนาคุณภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงทัศนีย์ กิจอำนวยพงศ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา
ผู้ช่วศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม เสรีพรเจริญกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยสิทธิ์  แสงทวีสิน รองคณบดีฝ่ายปรีคลินิก

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต

การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ของทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีจำนวนทั้งสิ้น 4 โครงการ และอีก 1 โครงการย่อย ดังนี้

  • โครงการสอบตรงผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 1

เป็นการสอบเข้าโดยใช้ข้อสอบที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นผู้ออกข้อสอบเอง และจัดสอบเอง ไม่เกี่ยวข้องกับส่วนกลาง โดยจะเปิดรับสมัครประมาณเดือนกันยายน และจะทำการสอบในปลายเดือนตุลาคม ของทุกปี

  • โครงการรับตรงสำหรับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ

เป็นโครงการย่อยที่อยู่ในโครงการรับตรง ครั้งที่ 1 โดยจะรับสมัครนักเรียนที่จบหลักสูตรจากโรงเรียนนานาชาติ หรือต่างประเทศ โดยใช้ผลการเรียน การสัมภาษณ์ และการทำข้อสอบวิชาเฉพาะแพทย์ เพื่อคัดบุคคลเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัย

  • ระบบแอดมิดชันตรง ร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)[3]

เป็นโครงการที่เปิดเพิ่มเติมขึ้นมาอีกโครงการรบนักศึกษาแพทย์ ในปีการศึกษา 2550 โดยจะใช้คะแนน TCAST เป็นหลักในการคำนวณคะแนน และใช้คะแนน O-Net เป็นข้อบังคับพื้นฐาน 60% จากนั้นจะยื่นผ่าน กสพท. เข้ามา

  • โครงการสอบตรงผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 2

ลักษณะของโครงการรับนักศึกษาจะเหมือนกัน โครงการรับตรงผ่านการสอบเข้าของมหาวิทยาลัยรังสิต ครั้งที่ 1 แต่จะเปิดรับสมัครในเดือนพฤศจิกายน และทำการสอบในเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

การศึกษา

การเรียนการสอนในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ดังนี้

การเรียนในภาคปรีคลินิก

ชั้นปีที่ 1 ถึง ชั้นปีที่ 3 เทอม 1 การเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เป็นการปูพื้นฐานเพื่อจะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในภาคคลินิก ซึ่งรับผิดชอบโดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สอนเป็นหลัก โดยอาจารย์แพทย์จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมสอนด้วย นอกจากนี้ยังมีอาจารย์พิเศษจากโรงเรียนแพทย์ต่างๆมาบรรายายในหัวข้อต่างๆ ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่เรียนในอาคารรังสิตประยูรศักดิ์ (อาคาร 12) และอาคารวิทยาศาสตร์ (อาคาร 4, 4/1, 4/2) ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยรังสิต

ชั้นปีที่ 3 เทอม 2 นักศึกษาแพทย์จะย้ายมาเรียนที่อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ภายในพื้นที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นชั้นคลินิก

การเรียนในภาคคลินิก

การเรียนในภาคคลินิกรับผิดชอบโดย สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขทั้ง ซึ่งเดิมเป็นสถาบันฝึกอบรมแต่เพียงแพทย์ประจำบ้าน (แพทย์เฉพาะทาง) ทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) โรงพยาบาลเลิดสิน เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนทางวิชาการและฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย ภายใต้การดูแลของคณาจารย์แพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขาในโรงพยาบาล

นอกจากนี้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 จะได้ฝึกประสบการณ์เพิ่มเติม ในต่างจังหวัด เสมือนการฝึกภาคสนาม ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา โดยแบ่งการเรียนเป็น 2 ระดับคือ การฝึกระดับในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ (รพศ./รพท./รพช.ขนาดใหญ่) ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว จังหวัดสระแก้วและ โรงพยาบาลกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี การฝึกในระดับโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ โรงพยาบาลสนามชัยเขต โรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว โรงพยาบาลแปลงยาว โรงพยาบาลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงพยาบาลกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

สถานที่จัดการเรียนการสอน

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีพื้นที่ในส่วนต่างๆ ดังนี้ ้

สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต

  • ห้องสโมสรนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต
ห้องสโมสรนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ห้องสโมสรนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ภายในอาคารรูปสี่เหลี่ยมที่ตั้งระหว่างอาคารวิทยาศาสตร์ (ตึก 4) และอาคารวิษณุรัตน์ (ตึก 5) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารวิษณุรัตน์ (ตึก 5/1) โดยอาคารแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปีการศึกษา 2550 เพื่อใช้เป็นห้องสโมสรของนักศึกษาคณะต่างๆ ทั้งสิ้น 4 คณะ โดยที่ทางมหาวิทยาลัยได้มอบห้องสโมสรนักศึกษาให้แก่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ทั้งหมด 3 ห้อง เพื่อใช้ทำกิจกรรม, ประชุมงาน หรือเป็นที่อ่านหนังสือสำหรับนักศึกษาแพทย์โดยเฉพาะ

ปัจจุบัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ส่งคืนพื้นที่ดังกล่าวคืนให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อใช้ประโยชน์เป็นห้องพักของตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต

  • อาคารรังสิตประยูรศักดิ์ (อาคาร 12)

เป็นอาคารที่ใช้ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้พื้นที่ในส่วนด้านตะวันออก อาคารนี้สร้างเสร็จเมื่อปลายปีการศึกษา 2550 และพร้อมใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งทางวิทยาลัยแพทยศาสตร์วางแผนที่จะเปิดสำนักงานถาวรของวิทยาลัยฯ ในอาคารนี้ และนอกจากนี้จะมีห้องไว้สำหรับอ่านหนังสือ, ประชุม, สืบค้นข้อมูล และอื่นๆ สำหรับนักศึกษาแพทย์

สถานที่ภายในโรงพยาบาลราชวิถี

อาคารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ หรือ อาคารประสิทธิ์ อุไรรัตน์ เป็นสถานที่ของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ไม่ได้ถือเป็นสถานที่ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์โดยตรง แต่สร้างโดยงบประมาณของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มอบเป็นทุนประเดิมให้แก่ มูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรียนการสอน และประสานงานระหว่างกรมการแพทย์และมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาแพทย์ ในระยะยาวที่ส่งเข้ามาเรียนในความรับผิดชอบของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในเขต โรงพยาบาลราชวิถีบริเวณด้านฝั่งถนนพญาไท ติดกับทางด้านสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีลักษณะโครงสร้างเป็นอาคารสูง 6 ชั้น หลังก่อสร้างเสร็จคุณพ่อประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ได้มอบ พระพุทธรูปปางป่าเรไรประทานพร ประดิษฐานเป็นศูนย์รวมจิตใจของนักศึกษาแพทย์ ที่โถงชั้นล่างของอาคาร แต่ละชั้นแบ่งพื้นที่การใช้สอยโดยโดยแบ่งดังนี้

  • ชั้นที่ 1 เป็นห้องเรียนภาคบรรยาย จำนวน 3 ห้องเรียน และมีห้องเรียนภาคปฏิบัติ "ห้องปฏิบัติการ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา"จำนวน 1 ห้อง และร้านถ่ายเอกสาร
  • ชั้นที่ 2 เป็นสำนักงานของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ และห้องประชุมย่อย จำนวน 1 ห้อง
  • ชั้นที่ 3 เป็นสำนักงานวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ห้องสมุดสถาบันร่วมฯ และห้องประชุมอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นห้องประชุมพื้นยกระดับขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน การประชุมต่างๆ ของสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ
  • ชั้นที่ 4 เป็นห้องสำนักงาน และห้องประชุมวิทยาลัยแพทศาสตร์, ห้องอธิการวิทยาลัย, ห้องผู้อำนวการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ฯ
  • ชั้นที่ 5 เป็นบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ห้องอ่านหนังสือ และหอพักชาย
  • ชั้นที่ 6 เป็นหอพักหญิง

สถานที่ภายในโรงพยาบาลเลิดสิน

  • อาคารศูนย์แพทศาสตร์ชั้นคลินิก

อาคารอาคารศูนย์แพทศาสตร์ชั้นคลินิก อยู่ติดกับอาคาร 33 ปีโรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งเป็นส่วนแยกจากพื้นที่โรงพยาบาลเลิดสิน จัดสร้างโดยงบประมาณของมหาวิทยาลัยรังสิต โดยใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาแพทย์ทั้งห้องเรียนบรราย และห้องปฏิบัติการ Skill Lab รวมถึงห้องสำนักงานศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิกโรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต และห้องสมุด

เป็นหน่วยงานราชการสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อจัดการศึกษาในชั้นคลินิกให้แก่นักศึกษาแพทย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


ประวัติการจัดตั้ง [4] วิทยาลัยรังสิต มีหนังสือที่ วรส 595/2531 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 ถึงทบวงมหาวิทยาลัย ขออนุญาตเปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และได้มีหนังสือที่ วรส. 216/2531 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 ถึงสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือ ให้นักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เข้าฝึกปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลเด็ก (ปัจจุบันเป็น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัยต่างๆ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุมัติในหลักการให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน สำหรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ สำหรับโรงพยาบาลเด็ก และโรงพยาบาลราชวิถี นั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือไปยังกรมการแพทย์ ในการอนุมัติสถานที่ดังกล่าวแล้ว โดยแจ้งให้มหาวิทยาลัยรังสิตทราบ ตามหนังสือ ที่ สธ 0212/4 - 4/636 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2531 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้วิทยาลัยรังสิต (ต่อมาได้รับการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2533) เปิดดำเนินการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2532 ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ สธ 0301/5339 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2532 แจ้งให้ทราบโดยสรุปว่า
1.ควรให้โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลเด็ก (ปัจจุบันเป็น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี) เป็นสถานที่สมทบในการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต
2.โรงพยาบาลทั้งสองของกรมการแพทย์ มีความสามารถเฉพาะในการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานทางคลินิกของนักศึกษา
3.กรมการแพทย์ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ให้ข้าราชการของกรมการแพทย์ ไปบรรยายนอกสถานที่ให้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ ตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0201/ว 144 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2518 โดยจะอนุญาตให้ข้าราชการไปสอนพิเศษในมหาวิทยาลัยเอกชนในเวชาราชการได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมงสอนต่อสัปดาห์
4.กรมการแพทย์ได้มีหนังสือที่ สธ 0305/8385 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2534 ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี มอบหมายให้โรงพยาบาลราชวิถี ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ในหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าว

เมื่อแรกเริ่มมีการเรียนในภาคคลินิกในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในภาคคลินิก และจัดประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งในสมัยนั้น มี นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สุจินต์ ผลากรกุล อธิบดีกรมการแพทย์ ได้มีแนวคิดในการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการประสานความมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลิตแพทย์ตามรูปแบบแนวคิดการผลิตแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์เอกชนที่ร่วมมือในการผลิตแพทย์กับภาครัฐ และได้มีการประชุมประสานงานอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 กรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้ง สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ในขณะนั้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2536-2538) และได้มีการร่วมลงนามในข้อตกลงการร่วมผลิตแพทย์ระหว่างกรมการแพทย์ (โดย พล.รต.ศ.นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว อธิบดีกรมการแพทย์ในสมัยนั้น) กับมหาวิทยาลัยรังสิต (โดยนายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ นายกสภามหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นผู้ลงนาม) เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537 ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาและเปิดดำเนินนการเรียนกการสอนในภาคคลินิกได้อย่างสมบูรณ์และผลิตแพทย์เอกชน ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพจากอาจารย์ของกรมการแพทย์

ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดตั้งเป็นสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต โดยโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง ซึ่งสังกัดกรมการแพทย์ จึงเป็นสถานที่เรียนในภาคทฤษฎีและหัตถการต่างๆ ในภาคคลินิก พร้อมทั้งอาจารย์แพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งจำนวนกว่า 258 ท่าน ได้อุทิศทุ่มเทกำลังเป็นหลักในการสอนนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะที่บุคลากรของกรมการแพทย์ด้วยใจและจิตวิญญาณของความเป็นอาจารย์แพทย์ นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอีก 4 แห่ง ที่ร่วมเป็นสถานที่ฝึกภาคสนามเฉพาะของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 (extern) ในต่างจังหวัด พร้อมทั้งมีอาจารย์แพทย์คอยถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาแพทย์ด้วยประสบการตรง ชึ่งจะเวียนออกฝึกภาคสนามเป็นผลัด ผลัดละ 2 เดือน ในปีการศึกษาสุดท้าย

ปัจจุบันมีศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก รวมทั้งสิ้น 3 แห่ง ประกอบด้วย

ศูนย์แพทยศาสตร์ชั้นคลินิก จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ผู้บริหาร สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต

รายนามผู้บริหารสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันมีดังนี้

ผู้บริหาร สถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต
นาม ตำแหน่ง
นายแพทย์ ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ (รองอธิบดี กรมการแพทย์) ผู้อำนวยการสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
นายแพทย์มนต์ชัย ศิริบำรุงวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักสูตร
แพทย์หญิงศิริพร ฐิติสกุลวงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการสอบประมวลความรอบรู้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ
ผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
นาม ตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระชัย อุกฤษฎ์มโนรถ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
นายแพทย์จีรศักดิ์ วรรณประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
นายแพทย์สมชาย ศิริเจริญไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์ รองอำนวยการฝ่ายพัฒนาอาจารย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ แพทย์หญิง เด่นนพพร สุดใจ รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ
แพทย์หญิงกรทิพย์ ผลโภค รองอำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา
ผู้บริหารศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน
นาม ตำแหน่ง
นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเลิดสิน
นพ.ชัยโรจน์ เอื้อไพโรจน์กิจ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
แพทย์หญิงเสาวนินทร์ อินทรภักดี รองผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา
นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ
นายแพทย์มนต์ชัย ศิริบำรุงวงศ์ รองอำนวยการฝ่ายพัฒนาอาจารย์
นายแพทย์คุณากร ภูรีเสถียร รองอำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา

กิจกรรมและประเพณีของวิทยาลัย

คณะกรรมการนักศึกษา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการประจำชั้นปี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของวิทยาลัย ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัด โดยมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์เข้าร่วม, กิจกรรมและประเพณีอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์เอง และกิจกรรมที่เข้าร่วมกับสถาบันแพทยศาสตร์อื่นในประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ค่ายและการรับน้องใหม่

  • งานแรกพบ สพท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย)

เป็นงานที่จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะจัดประมาณเดือนกรกฎาคมของทุกปี ภายหลังจากเสร็จสิ้นการรับสมัครนักศึกษาแพทย์เรียบร้อยแล้ว โดยจะรวมเอานิสิตนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันของประเทศไทย มาทำกิจกรรมสันทนาการและวิชาการร่วมกัน เพื่อให้รู้จักกันระหว่างสถาบันมากยิ่งขึ้น โดยครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2562) จัดที่ศูนย์กีฬาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

  • กิจกรรมรับน้องใหม่

กิจกรรมนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมแรกหลังจากที่นักศึกษาแพทย์ได้เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปกติจะจัดในช่วง 1 เดือนแรกของภาคเรียน โดยจะมีพี่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 เป็นหัวหน้าหลักในการทำกิจกรรมครั้งนี้ กิจกรรมส่วนใหญ่เน้นในด้านสันทนาการ อาจมีการแทรกวิชาการเข้ามาบ้างตามสมควร

  • กิจกรรมเฟรชชี่เดย์ และ เฟรชชี่ไนท์ (Freshy Day & Freshy Night)

เป็นกิจกรรมที่จะจัดในวันสุดท้ายของกิจกรรมรับน้องใหม่ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคนจะไม่มีการเรียนการสอน เพื่อที่จะไปรับน้องทั้งมหาวิทยาลัยในตอนกลางวัน ซึ่งจะเป็นฐานกิจกรรมต่างๆ มากมาย ส่วนในตอนกลางคืนจะเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินและดาราต่างๆ และจัดการประกวดดาว-เดือนของมหาวิทยาลัย

  • ค่ายพันธกิจทางการแพทย์

ค่ายนี้จะเป็นค่ายที่พี่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 จัดขึ้นเพื่อรับน้องนอกสถานที่ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งค่ายนี้ได้รับอนุญาตจากคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อย่างถูกต้อง จุดประสงค์หลักของค่ายนี้ คือ จัดเพื่อให้น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อให้เกิดสามัคคีขึ้นภายในชั้นปี อีกทั้งเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ทุกชั้นปีได้ทำความรู้จักกันผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นภายในค่าย และนอกจากนี้ค่ายพันธกิจฯ ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Medicine) อีกด้วย

  • 11 วิทย์สัมพันธ์ (11 Health Sciences RSU)

ค่ายนี้นักศึกษามหาวิทาลัยรังสิต ในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ 11 คณะ ประกอบด้วย แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ กายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา เทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนตะวันออก ทัศนมาตรศาสตร์ รังสีเทคนิค และวิศวกรรมชีวการแพทย์ ได้มาจัด Day-camp ร่วมกันในภาคเรีนยที่ 1 เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ คณะในสายเดียวกัน และเป็นคณะที่ต้องใช้อาคาร 4 ในการเรียนการสอนร่วมกัน

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน Open House ในปี 2551
  • งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ (Open House)

เป็นงานที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ สพท. ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนชั้นมัธยมที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อในสาขาแพทยศาสตร์ ได้เข้ามารับประสบการณ์ตรงจากพี่ๆ จากทุกสถาบัน อีกทั้งยังมีการเปิดฉายวีดิทัศน์แนะนำแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งในปีนี้งานจัดที่โรงพยาบาลราชวิถีอีกด้วย[5]

  • งานเมดไนท์ (Med Night)

งานนี้เป็นงานที่นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 จัดขึ้นเพื่อขอบคุณพี่ๆ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีอื่นๆ ที่ช่วยกันรับน้องใหม่เข้าสู่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การแสดงจากน้องปี 1 การแต่งชุดแฟนซี ตามคอนเซปต์หรือธีมที่กำหนดขึ้นในปีนั้นๆ การสังสรรไร้แอลกอฮอล์ และที่ขาดไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นไฮไลท์ของงานคือ การประกวดมิสเมด (Miss Med) โดย ผู้เข้าประกวดจะเป็นน้องปี 1 ที่เป็นชาย แล้วแต่งกายเป็นหญิง มาแสดงความสามารถพิเศษให้พี่ๆ ได้เพลิดเพลินกัน โดยงานนี้จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ของทุกปี

  • ค่ายเวชศาสตร์ชุมชน (Community Medicine)

ค่ายนี้จัดขึ้นในภาคฤดูร้อน ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และเป็นภาคปฏิบัติของวิชาเวชศาสตร์ชุมชน หนึ่งในวิชาเฉพาะของนักศึกษาแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชุมชน เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และเข้าใจความรู้สึก/ความคิดของคนในชุมชนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับระบบการสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมูลฐานในระดับหมู่บ้านและตำบลอีกด้วย

กิจกรรมกีฬา

  • เฟรชชี่ เกม (Freshy Games)

เป็นงานกีฬาที่มหาวิทยาลัยรังสิตจัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มาร่วมแข่งขันกีฬา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคณะ/วิทยาลัยต่างๆ และนอกจากนี้ยังมีการแข่งขันประกวดสแตนเชียร์จากคณะต่างๆ อีกด้วย ซึ่งปกติจะจัดในช่วงของการรับน้องใหม่ในเดือนมิถุนายนของทุกปี

  • กีฬาเมดคัพ (Med Cup)

งานกีฬาที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ภายในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จัดขึ้นในภาคการศึกษาที่ 1 ของทุกปี

  • กีฬาเดนท์เมดฟาร์ม (Dent-Med-Pharm)

เป็นงานกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กับวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตซึ่งเป็นคณะในสายงานเดียวกัน โดยจะจัดในช่วงภาคการเรียนที่ 1 ของทุกปี

  • กีฬาเข็มสัมพันธ์ (Syringe Games)

มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของนักศึกษาแพทย์ เพราะเป็นการรวมนักศึกษาแพทย์จากทุกสถาบันมาแข่งกีฬา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างมหาวิทยาลัย โดยที่เจ้าภาพการจัดการแข่งขันจะสลับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทุกปี ซึ่งในปีการศึกษา 2553 จะมีวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าและวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเจ้าภาพ

กิจกรรมวิชาการ

  • งานโอเพ่นเฮาส์ของมหาวิทยาลัย (Open House)

จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตช่วงเดือนมกราคม เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ รวมทั้งผู้ประกอบการ เยี่ยมชมกิจกรรมทางวิชาการ งานวิจัยนวัตกรรม และผลงานต่างๆ โดยมุ่งเน้นการนำเสนอข้อมูลทางการศึกษา พร้อมกิจกรรมเสริมทักษะที่มีสีสันหลากหลายแนวทางของสาขาวิชาชีพ รวมทั้งปูพื้นฐานพร้อมสร้างทางเลือกให้แก่นักเรียนที่จะก้าวสู่ระดับอุดมศึกษาในอนาคต

กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

  • พิธีถวายราชสักการะพระบิดาแห่งการแพทย์

พิธีไหว้พระบิดาหรือพระบรมราชชนกเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของการมาเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งพระบรมราชชนกถือว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้นักศึกษาแพทย์ให้ความเคารพนับถือพระบิดาเป็นอย่างมาก โดยพิธีนี้จะจัดในวันพฤหัสช่วงการรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย

  • งานทำบุญและพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่

งานนี้ก็ถือว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งของการมาเป็นนักศึกษาแพทย์เช่นกัน โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่เรียนในวิชามหกายวิภาคศาสตร์ (หรือ Gross Anatomy) จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ โดยที่งานทำบุญอาจารย์ใหญ่จะจัดในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่จะจัดภายหลังจากเรียนวิชามหกายวิภาคศาสตร์จบแล้ว หรือประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี

อ้างอิง

  1. "สถาบันแพทยศาสตร์ในประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-24.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-22. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
  3. "กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-22. สืบค้นเมื่อ 2009-03-24.
  5. "งานเปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2551". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-22. สืบค้นเมื่อ 2008-07-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya