การสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์การสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์[Note 1] (อังกฤษ: presumption of innocence) เป็นหลักกฎหมายซึ่งถือว่า ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา จะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง ตามหลักนี้ผู้กล่าวหามีภาระต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหานั้นด้วยการเสนอพยานหลักฐานที่ทำให้ผู้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อมั่นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดจริง ถ้าไม่สามารถพิสูจน์เช่นนั้นจนสิ้นข้อสงสัยตามสมควร ก็จะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีผิด และปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไป[1] หลักนี้มีหลักตรงกันข้าม คือ การสันนิษฐานว่าผิด ในทางประวัติศาสตร์ หลักกฎหมายนี้ปรากฏในระบบกฎหมายของหลายอารยธรรม เช่น ใน ประชุมกฎหมายแพ่ง ของพระเจ้าจัสติเนียนที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 นั้น มีหลักทั่วไปในเรื่องพยานหลักฐานว่า "การพิสูจน์ตกอยู่กับผู้กล่าวอ้าง มิใช่ผู้ปฏิเสธข้อกล่าวอ้าง"[2][3] และต่อมาจักรพรรดิอันโตนีนุส ปิอุสแห่งจักรวรรดิเดียวกัน ได้นำหลักการนี้เข้าบรรจุไว้ในกฎหมายอาญา[4] ในปัจจุบันหลายประเทศที่ใช้กฎหมายระบบซีวิลลอว์ซึ่งแตกแขนงออกมาจากกฎหมายโรมันนั้น ได้รับหลักกฎหมายนี้ไว้ในกฎหมายของตน ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศจีน[5] ประเทศบราซิล[6] ประเทศโปแลนด์[7] ประเทศฝรั่งเศส[8] ประเทศฟิลิปปินส์[9] ประเทศโรมาเนีย[10] ประเทศสเปน[11] และประเทศอิตาลี[12][13] ส่วนในประเทศไทยนั้น ถือหลักตรงกันข้ามมาแต่โบราณว่า "ให้สันนิษฐานว่าผิดไว้ก่อน" ทำให้ทันทีที่บุคคลถูกกล่าวหาก็จะถูกปฏิบัติราวกับเป็นผู้ผิด และมีการพิสูจน์ความผิดด้วยการทรมานอันเรียกว่า จารีตนครบาล หรือการอ้างอำนาจเหนือธรรมชาติ[14][15] จนกระทั่งยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อ พ.ศ. 2439 โดยทรงเห็นว่า เป็นวิธีที่ "เสื่อมเสียยุติธรรม"[16] แต่ก็มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยในปัจจุบันยังมีการปฏิบัติต่อบุคคลโดยขัดต่อหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์[17][18] ในระดับสากลนั้น การสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์เป็นสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11[19] หมายเหตุอ้างอิง
|