ประเทศฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์ (อังกฤษ: Philippines; ฟิลิปปินส์: Pilipinas) หรือชื่อทางการว่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (อังกฤษ: Republic of the Philippines; ฟิลิปปินส์: Republika ng Pilipinas) เป็นประเทศเอกราชที่เป็นหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ประกอบด้วยเกาะ 7,641 เกาะ[8] ซึ่งจัดอยู่ในเขตภูมิศาสตร์ใหญ่ 3 เขตจากเหนือจรดใต้ ได้แก่ ลูซอน วิซายัส และมินดาเนา เมืองหลวงของประเทศคือมะนิลา ส่วนเมืองที่มีประชากรมากที่สุดคือนครเกซอน ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของเมโทรมะนิลา[9] ฟิลิปปินส์มีอาณาเขตติดต่อกับทะเลจีนใต้ทางทิศตะวันตก ทะเลฟิลิปปินทางทิศตะวันออก และทะเลเซเลบีสทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีพรมแดนทางทะเลร่วมกับไต้หวันทางทิศเหนือ ปาเลาทางทิศตะวันออก มาเลเซียและอินโดนีเซียทางทิศใต้ และเวียดนามทางทิศตะวันตก ฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ในแถบวงแหวนแห่งไฟและใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ทำให้มีแนวโน้มสูงที่จะประสบภัยจากแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่น แต่ก็ทำให้มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่งเช่นกัน ฟิลิปปินส์มีเนื้อที่ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตร (115,831 ตารางไมล์)[10] และมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน[11][12] นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ในเอเชีย และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก นอกจากนี้ ณ ปี พ.ศ. 2556 ยังมีชาวฟิลิปปินส์อีกประมาณ 10 ล้านคนอาศัยอยู่ในต่างประเทศ[13] รวมแล้วถือเป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมปรากฏให้เห็นตลอดทั้งหมู่เกาะ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์กลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในหมู่เกาะแห่งนี้คือกลุ่มชนนิกรีโต ตามมาด้วยกลุ่มชนออสโตรนีเซียนที่อพยพเข้ามาอย่างต่อเนื่อง[14] มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาวจีน มลายู อินเดีย และอาหรับ จากนั้นก็เกิดนครรัฐทางทะเลขึ้นมาหลายแห่งภายใต้การปกครองของดาตู ลากัน ราชา หรือสุลต่าน เฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน ได้มาขึ้นฝั่งที่เกาะโฮโมนโฮน (ใกล้กับเกาะซามาร์) ในปี พ.ศ. 2063 (ค.ศ. 1521) นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งอิทธิพลและอำนาจของสเปน ในปี พ.ศ. 2085 (ค.ศ. 1542) นักสำรวจชาวสเปนชื่อ รุย โลเปซ เด บิยาโลโบส ได้ตั้งชื่อเกาะซามาร์และเลเตรวมกันว่า "หมู่เกาะเฟลีเป" หรือ "อิสลัสฟิลิปินัส" (Islas Filipinas) เพื่อเป็นเกียรติแด่เจ้าชายเฟลีเปแห่งอัสตูเรียส (ต่อมา อิสลัสฟิลิปินัสได้กลายเป็นชื่อเรียกกลุ่มเกาะทั้งหมด) ในปี พ.ศ. 2108 (ค.ศ. 1565) มิเกล โลเปซ เด เลกัซปี ได้จัดตั้งนิคมสเปนแห่งแรกบนเกาะเซบู[15] ฟิลิปปินส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปนเป็นเวลานานกว่า 300 ปี ส่งผลให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกกลายเป็นศาสนาหลักของผู้คนในหมู่เกาะ ในช่วงเวลานี้ มะนิลามีฐานะเป็นศูนย์กลางการบริหารของจักรวรรดิสเปนในเอเชีย และยังเป็นศูนย์กลางทางทิศตะวันตกของการค้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเชื่อมโยงเอเชียเข้ากับเมืองอากาปุลโกในอเมริกาผ่านทางเรือใบมะนิลา[16] ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 (ปีท้าย ๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 19) ความพยายามต่อต้านการปกครองของสเปนได้ปะทุขึ้นเป็นการปฏิวัติฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่ 1 ได้รับการสถาปนาขึ้นแต่ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เพราะสเปนได้ยกฟิลิปปินส์ให้แก่สหรัฐอเมริกาหลังจากแพ้สงครามสเปน–สหรัฐ ความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลปฏิวัติกับสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดสงครามฟิลิปปินส์–สหรัฐอันนองเลือด โดยกองทัพสหรัฐเป็นฝ่ายมีชัย[17] นอกเหนือจากช่วงที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองแล้ว สหรัฐอเมริกาสามารถรักษาอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะนี้ไว้ได้จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฟิลิปปินส์ได้รับการรับรองว่าเป็นประเทศเอกราช ตั้งแต่นั้นมา ฟิลิปปินส์ก็ประสบความวุ่นวายทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงการล้มล้างผู้เผด็จการโดยการปฏิวัติที่ปราศจากความรุนแรง[18] ฟิลิปปินส์เป็นสมาชิกจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ องค์การการค้าโลก สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย[19] ปัจจุบันประเทศนี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่[20] ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบที่พึ่งพิงภาคเกษตรกรรมเป็นระบบที่พึ่งพิงภาคบริการและภาคการผลิตมากขึ้น[21] ประวัติศาสตร์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
หลักฐานทางโบราณคดีและโบราณชีววิทยาบ่งบอกว่ามีมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ เคยอาศัยอยู่ในเกาะปาลาวันตั้งแต่ประมาณ 50,000 ปีก่อน ชนเผ่าที่พูดภาษาในตระกูลออสโตรนีเซียนซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะฟอร์โมซา (Formasa) หรือไต้หวันในปัจจุบันได้อพยพโดยทางเรือเข้ามาตั้งรกรากในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และจัดตั้งเส้นทางเครือข่ายการค้ากับเอเชียอาคเนย์ส่วนที่เหลือทั้งหมดตั้งแต่ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล สภาพดั่งเดิมของฟิลิปปินส์ อยู่ในสภาพของยุคหินใหม่ ยังไม่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียและจีน ดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิมเป็นชนเชื้อสายอินโดนีเซีย – มลายูซึ่งอพยพเข้ามาตั่งถิ่นฐานบริเวณเกาะต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ การมาตั้งถิ่นฐานนั้น มาโดยเรือเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละกลุ่มแยกย้ายไปตั้งหมู่บ้านเรียกว่า บารังไก (Barangay) ตามชื่อเรือที่ใช้อพยพมา มีหัวหน้าหมู่บ้านเรียกว่า ดาดู (Datu) ซึ่งเคยเป็นกัปตันเรือ การตั้งหมู่บ้านจะกระจายไปตามเกาะ ทำให้การติดต่อระหว่างกันไม่ค่อยมี ส่วนในด้านการปกครองนั้นเป็นแบบพ่อปกครองลูก โครงสร้างทางการปกครองเป็นแบบง่าย ๆ มี 4 ชนชั้นคือ ดาตู และครอบครัว ขุนนาง อิสระชน ทาส ในส่วนของกฎหมายและกฎระเบียบการปกครองนั้นยังไม่มี สถาบันที่สำคัญคือ ศาสนา ซึ่งมีพ่อมดหมอผีเป็นผู้มีอิทธิพลในสังคม จากการนับถือศาสนาเป็นแบบ นับถือภูตผี บูชาธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่ามีพระผู้สร้างโลกสูงสุด คือ บาฮารา (Bathala) และบาอารามีสาวก ฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เรียกว่า ดิวาทาส (Diwatas) เป็นผู้กำหนดการประกอบพิธีบวงสรวง เทพฝ่ายดีและฝ่ายชั่วคือ พ่อมด หมอผี ว่าจะประกอบพิธีเมื่อไหร่ ที่ใด สถานที่ประกอบพิธีนั้นไม่มีเฉพาะ พ่อมด หมอผีจะเป็นผู้กำหนด ที่เป็นดังนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์ และสภาพธรรมชาติของหมู่เกาะ ซึ่งฟิลิปปินส์นั้นมีภัยธรรมชาติอยู่เนือง ๆ จึงทำให้พ่อมด หมอผีมีอิทธิพลต่อประชาชนมาก และมากกว่าหรือเท่ากับดาตู อีกทั้งยังได้รับค่าประกอบพิธี เครื่องเซ่นสังเวยจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ประชาชนทำการเกษตรและการประมง ไม่มีการค้าขาย มีแต่การแลกเปลี่ยนสินค้า และไม่มีการใช้เงินตรา นาน ๆ ครั้งจะมีพ่อค้าต่างชาติแวะมาจอดเรือแลกเปลี่ยนสินค้า ยุคของอิสลาม
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามได้แผ่เข้าสู่หมู่เกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์หรือมานบูลาส แล้วครั้นถึงปี ค.ศ. 1380 ชาวมุสลิมก็สามารถสถาปนารัฐอิสลามขึ้นในหมู่เกาะซูลู โดยมีนักเผยแผ่ศาสนาที่ชื่อ ชันค์ ชะรีฟ กะรีม มัคดุม เข้ามาเผยแผ่อิสลามในหมู่เกาะต่างๆ ของซูลู ก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน จนกระทั่ง ซัยยิด อบูบักร อิบนุ ชะรีฟ มุฮำหมัด อิบนิ อะลี อิบนี ซัยบิลอาบีดีน ได้เดินทางจากรัฐสุลต่านแห่งยะโฮร์ (Johor) มายังหมู่เกาะซูลูในราวปี ค.ศ. 1450 ซัยยิด อบูบักรได้มาถึงซูลูหลังจากรายา บะกินดา จากมินังกะเบา สุมาตรา ได้ลงพำนัก และเผยแผ่ศาสนาอิสลามในหมู่เกาะซูลูเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ซัยยิด อบูบักรได้สมรสกับบุตรีของรายาบะกินดา ที่มีนามว่า ประไหมสุหรี เมื่อรายาบะกินดา สิ้นชีวิต ซัยยิด อบูบักร ก็กลายเป็นผู้สืบทอดอำนาจและได้รับการขนานนามว่า สุลต่านแห่งซูลู ยุคอาณานิคมสเปนเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน มาถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1521 (พ.ศ. 2064) มีเกล โลเปซ เด เลกัซปี มาถึงฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108) และตั้งชุมชนชาวสเปนขึ้น ซึ่งนำไปสู่การตั้งอาณานิคมในเวลาต่อมา หลังจากนั้น นักบวชศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้แปรศาสนาของชาวเกาะทั้งหมดให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ในช่วง 300 ปีนับจากนั้น กองทัพสเปนได้ต่อสู้กับเหตุการณ์กบฏต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากชนพื้นเมืองและจากชาติอื่นที่พยายามเข้ามาครอบครองอาณานิคม ซึ่งได้แก่ อังกฤษ จีน ฮอลันดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโปรตุเกส สเปนสูญเสียไปมากที่สุดในช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองเมืองหลวงเป็นการชั่วคราวในช่วงสงครามเจ็ดปี (Seven Years' War) หมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่ใต้การปกครองของสเปนในฐานะอาณานิคมของสเปนใหม่ (New Spain) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108) ถึงปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) และนับจากนั้นฟิลิปปินส์ก็อยู่ใต้การปกครองของสเปนโดยตรง การเดินเรือมะนิลาแกลเลียน (Manila Galleon) จากฟิลิปปินส์ไปเม็กซิโก เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 และหมู่เกาะฟิลิปปินส์เปิดตัวเองเข้าสู่การค้าโลกในปี ค.ศ. 1834 รัฐอารักขาของสหรัฐอเมริกา
การเมืองการปกครองการแบ่งเขตการปกครองฟิลิปปินส์แบ่งเป็นหน่วยรัฐบาลท้องถิ่น (local government units, LGUs) โดยที่มีจังหวัดเป็นหน่วยหลัก ปัจจุบันมี 82 จังหวัด (provinces) แบ่งออกเป็น นคร (cities) และ เทศบาล (municipalities) ซึ่งหน่วยการปกครองทั้งสองยังประกอบไปด้วย บารังไก (barangay) อีกทอดหนึ่ง ถือเป็นหน่วยรัฐบาลท้องถิ่นที่เล็กที่สุด ฟิลิปปินส์แบ่งออกเป็น 17 เขต (regions) ซึ่งทุกจังหวัดได้ถูกจัดอยู่ใน 16 เขตเพื่อความสะดวกในการปกครอง ยกเว้นเขตนครหลวง (National Capital Region) ที่แบ่งออกเป็นเขตพิเศษ 4 แห่ง หน่วยงานของรัฐบาลส่วนใหญ่จะตั้งสำนักงานในแต่ละภูมิภาค เพื่อรับใช้ประชาชนในจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ ภูมิภาคไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นแยกต่างหาก ยกเว้นเขตปกครองตนเองบังซาโมโรในมินดาเนามุสลิมและเขตบริหารคอร์ดิลเลราซึ่งปกครองตนเอง ไม่ได้ให้ผู้อื่นปกครอง เขตและจังหวัด
ภูมิศาสตร์ฟิลิปปินส์เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วยเกาะ 7,641 เกาะ[22] มีเนื้อที่ทั้งหมด (รวมพื้นผิวแหล่งน้ำภายในแผ่นดิน) ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตร (115,831 ตารางไมล์)[23] ชายฝั่งทะเลยาว 36,289 กิโลเมตร (22,549 ไมล์) ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก[24][25] ฟิลิปปินส์มีที่ตั้งซึ่งกำหนดโดยพิกัดภูมิศาสตร์คือ ระหว่างลองจิจูด 116° 40' ตะวันออก ถึง 126° 34' ตะวันออก กับละติจูด 4° 40' เหนือ ถึง 21° 10' เหนือ มีอาณาเขตจรดทะเลฟิลิปปินทางทิศตะวันออก[26] จรดทะเลจีนใต้ทางทิศตะวันตก[27] และจรดทะเลเซเลบีสทางทิศใต้[28] เกาะบอร์เนียว[29] ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และไต้หวันตั้งอยู่ทางทิศเหนือโดยตรง หมู่เกาะโมลุกกะและเกาะซูลาเวซีตั้งอยู่ทางทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ และปาเลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะ[24] เกาะต่าง ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากภูเขาไฟและถูกปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น ภูเขาที่สูงที่สุดคือภูเขาอาโป มีความสูงถึง 2,954 เมตร (9,692 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลและตั้งอยู่ที่เกาะมินดาเนา[30][31] ร่องลึกแกละทีอาในร่องลึกฟิลิปปินส์เป็นจุดที่ลึกที่สุดของประเทศและลึกที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ร่องลึกดังกล่าวตั้งอยู่ในทะเลฟิลิปปิน[32] แม่น้ำที่ยาวที่สุดคือแม่น้ำคากายันในภาคเหนือของเกาะลูซอน[33] อ่าวมะนิลา (ชายฝั่งของอ่าวเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลาเมืองหลวง) เชื่อมต่อกับลากูนาเดบาอี (ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์) ผ่านแม่น้ำปาซิก อ่าวซูบิก อ่าวดาเบา และอ่าวโมโรเป็นอ่าวอื่น ๆ ที่สำคัญ ช่องแคบซันฮัวนีโคแยกเกาะซามาร์และเกาะเลเตออกจากกัน แต่ก็มีสะพานซันฮัวนีโคข้ามเหนือช่องแคบ[34] เนื่องจากตั้งอยู่บนขอบตะวันตกของวงแหวนไฟแปซิฟิก ฟิลิปปินส์จึงต้องเผชิญกับกิจกรรมแผ่นดินไหวและภูเขาไฟบ่อยครั้ง เนินใต้สมุทรเบ็นนัมในทะเลฟิลิปปิน (ทางทิศตะวันออกของกลุ่มเกาะ) เป็นภูมิภาคใต้สมุทรที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในเขตมุดตัวของเปลือกโลก[35] มีการตรวจพบแผ่นดินไหวประมาณ 20 ครั้งต่อวัน แต่การสั่นสะเทือนส่วนใหญ่เบาเกินกว่าที่มนุษย์จะรู้สึกได้ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่เกาะลูซอนเมื่อปี ค.ศ. 1990[36] ในฟิลิปปินส์มีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่หลายลูก เช่น ภูเขาไฟมาโยน ภูเขาปีนาตูโบ ภูเขาไฟตาอัล เป็นต้น การปะทุของภูเขาปีนาตูโบในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 ถือเป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20[37] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าภูมิลักษณ์ที่โดดเด่นทุกแห่งจะมีความรุนแรงหรือมีอำนาจทำลายล้างเสมอไป มรดกที่สงบเงียบแห่งหนึ่งจากความปั่นป่วนทางธรณีวิทยาคือแม่น้ำใต้ดินปูเวร์โตปรินเซซาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ยังมีระบบนิเวศจากภูเขาสู่ทะเลที่สมบูรณ์และมีป่าไม้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอีกด้วย[38] เนื่องจากธรรมชาติของเกาะต่าง ๆ เป็นภูเขาไฟ ฟิลิปปินส์จึงมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีผู้ประมาณว่าประเทศนี้มีแหล่งแร่ทองคำใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากแอฟริกาใต้ และเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก[39] นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยนิกเกิล โครไมต์ และสังกะสี อย่างไรก็ตาม การจัดการที่ไม่ดี ความหนาแน่นสูงของประชากร และความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ยังไม่มีการนำทรัพยากรส่วนใหญ่ขึ้นมาใช้[39] พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นผลผลิตจากกิจกรรมภูเขาไฟที่ฟิลิปปินส์สามารถควบคุมจัดการจนได้ผลสำเร็จมากกว่า โดยในปัจจุบัน ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ และพลังงานความร้อนใต้พิภพสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 18 ของประเทศ[40]
ความหลากหลายทางชีวภาพป่าดิบชื้นและชายฝั่งทะเลที่กว้างขวางของฟิลิปปินส์ทำให้กลุ่มเกาะนี้เป็นแหล่งรวมนก พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตในทะเลหลากชนิด[41] ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในสิบเจ็ดประเทศของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง (megadiverse country)[42][43][44] เราสามารถพบสัตว์บกที่มีกระดูกสันหลังได้ถึงประมาณ 1,100 ชนิด ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 100 ชนิด และนกกว่า 170 ชนิดที่คาดกันว่าไม่อาศัยอยู่ที่อื่น[45] ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีอัตราการค้นพบสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ 16 ชนิดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ อัตราสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของฟิลิปปินส์จึงเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มต่อไป[46] ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพื้นถิ่นฟิลิปปินส์ได้แก่ อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus) แมวดาววิซายัส (Prionailurus javanensis rabori) พะยูน (Dugong dugon) และทาร์เซียร์ฟิลิปปิน (Tarsius syrichta) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกาะโบโฮล เป็นต้น แม้ว่าบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์จะไม่มีผู้ล่าเหยื่อเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ แต่ก็มีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อยู่บางชนิด เช่น งูเหลือม งูเห่า รวมทั้งจระเข้น้ำเค็มขนาดยักษ์ จระเข้น้ำเค็มในที่เลี้ยงตัวใหญ่ที่สุดในโลกมีชื่อว่า โลลอง ถูกจับได้ในเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศ[47][48] นกประจำชาติที่รู้จักกันในชื่อนกอินทรีฟิลิปปิน (Pithecophaga jefferyi) มีลำตัวยาวที่สุดในบรรดานกอินทรีชนิดใด ๆ[49][50] น่านน้ำอาณาเขตของฟิลิปปินส์ครอบคลุมเนื้อที่กว้างขวางถึง 2,200,000 ตารางกิโลเมตร (849,425 ตารางไมล์) เป็นแหล่งกำเนิดชีวิตในท้องทะเลที่มีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลายอันเป็นส่วนสำคัญของสามเหลี่ยมปะการัง ประมาณกันว่ามีชนิดปะการังและปลาทะเลทั้งสิ้น 500 และ 2,400 ชนิดตามลำดับ[41][45] สถิติใหม่[51][52] และการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่[53][54][55] ได้เพิ่มตัวเลขเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของทรัพยากรทางทะเลในฟิลิปปินส์ได้อย่างชัดเจน พืดหินปะการังตุบบาตาฮาในทะเลซูลูได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1993 นอกจากนี้ น่านน้ำฟิลิปปินส์ยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตของปู หอยมุก และสาหร่ายทะเล[41][56] ด้วยชนิดพืชประมาณ 13,500 ชนิด ซึ่ง 3,200 ชนิดในจำนวนนี้พบเฉพาะในกลุ่มเกาะนี้เท่านั้น[45] ป่าดิบชื้นของฟิลิปปินส์จึงมีพรรณพืชหลากหลายซึ่งรวมถึงกล้วยไม้และบัวผุดหายากหลายพันธุ์[57][58] การทำลายป่าซึ่งมักเป็นผลจากการทำไม้ผิดกฎหมายถือเป็นปัญหาร้ายแรงของฟิลิปปินส์ พื้นที่ป่าลดลงจากร้อยละ 70 ของพื้นที่บนบกทั้งหมดของประเทศในปี ค.ศ. 1900 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 18.3 ในปี ค.ศ. 1999[59] สิ่งมีชีวิตจำนวนมากตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ และมีนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งฟิลิปปินส์) ต้องเผชิญกับอัตราการสูญพันธุ์ที่รุนแรงถึงร้อยละ 20 เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 21[60] ภูมิอากาศฟิลิปปินส์อยู่ในเขตภูมิอากาศภาคพื้นสมุทรเขตร้อนซึ่งโดยปกติจะมีอากาศร้อนและชื้น มีฤดูกาล 3 ฤดูกาล ได้แก่ ตักอีนิต (tag-init) หรือ ตักอาเรา (tag-araw) ซึ่งเป็นฤดูร้อนหรือฤดูที่มีอากาศแห้งร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ตักอูลัน (tag-ulan) หรือฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน และ ตักลามิก (taglamig) หรือฤดูที่มีอากาศแห้งเย็นตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นว่า ฮากาบัต (habagat) และลมแห้งของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน) มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นว่า อามีฮัน (amihan)[61] อุณหภูมิโดยทั่วไปอยู่ในพิสัยตั้งแต่ 21 องศาเซลเซียส (70 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 32 องศาเซลเซียส (90 องศาฟาเรนไฮต์) แต่อาจเย็นหรือร้อนกว่านี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เดือนที่มีอากาศเย็นที่สุดคือเดือนมกราคม ส่วนเดือนที่มีอากาศอบอุ่นที่สุดคือเดือนพฤษภาคม[24][62] อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ประมาณ 26.6 องศาเซลเซียส (79.9 องศาฟาเรนไฮต์)[61] ทั้งนี้ ทำเลที่ตั้งในแง่ละติจูดและลองจิจูดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอุณหภูมิ เพราะไม่ว่าจะอยู่เหนือสุด ใต้สุด ตะวันออกสุด หรือตะวันตกสุดของประเทศ อุณหภูมิที่ระดับน้ำทะเลก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในพิสัยเดียวกัน ระดับความสูงของพื้นที่มักจะส่งผลต่ออุณหภูมิมากกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของเมืองบากีโยที่ระดับความสูง 1,500 เมตร (4,900 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลคือ 18.3 องศาเซลเซียส (64.9 องศาฟาเรนไฮต์) ทำให้เมืองนี้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในฤดูร้อน[61] เนื่องจากตั้งอยู่ในแดนไต้ฝุ่น เกาะส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์จึงมีฝนตกกระหน่ำและพายุฟ้าคะนองตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี[63] ในแต่ละปีจะมีไต้ฝุ่นประมาณ 19 ลูกเข้าสู่เขตความรับผิดชอบของสำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ฟิลิปปินส์ โดยมี 8-9 ลูกในจำนวนนี้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง[64][65][66] ปริมาณน้ำฝนรายปีตรวจวัดได้สูงถึง 5,000 มิลลิเมตร (200 นิ้ว) ในเขตชายฝั่งตะวันออกซึ่งมีสภาพเป็นภูเขา แต่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร (39 นิ้ว) ในหุบเขาบางแห่งที่มีที่กำบัง[63] พายุหมุนเขตร้อนที่ทำให้ฝนตกมากที่สุดในฟิลิปปินส์เท่าที่ทราบกันคือพายุหมุนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งส่งอิทธิพลให้เกิดฝนตกหนักปริมาณถึง 1,168 มิลลิเมตร (46 นิ้ว) ภายในเวลา 24 ชั่วโมงที่เมืองบากีโย[67] อนึ่ง บักโย (bagyo) เป็นคำในภาษาฟิลิปปินส์ที่ใช้เรียกพายุหมุนเขตร้อน เศรษฐกิจเศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 34 ของโลก โดยในปี ค.ศ. 2017 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ราคาตลาด) โดยประมาณอยู่ที่ 348,593 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[68] สินค้าส่งออกหลักได้แก่ ผลิตภัณฑ์สารกึ่งตัวนำและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ บริภัณฑ์ขนส่ง เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ทองแดง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันมะพร้าว และผลไม้[3] คู่ค้ารายใหญ่ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง เยอรมนี ไต้หวัน และไทย[3] หน่วยเงินตราของประเทศคือเปโซฟิลิปปินส์ ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ระบบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนผ่านจากระบบที่พึ่งพิงเกษตรกรรมไปสู่ระบบที่เน้นการบริการและการผลิตมากขึ้น จากจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมดประมาณ 40.81[3] ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 30 และสร้างมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 14 และสร้างมูลค่าร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 47 เป็นแรงงานในภาคบริการซึ่งสร้างมูลค่าร้อยละ 56 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ[69][70] อัตราการว่างงานของฟิลิปปินส์ ณ วันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2014 อยู่ที่ร้อยละ 6.0[71][72] ในขณะเดียวกัน เนื่องจากสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานมีราคาถูกลง อัตราเงินเฟ้อจึงขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 3.7 ในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน[73] ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ณ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 มีมูลค่า 83,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[74] อัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติสูงสุดที่ร้อยละ 78 ในปี ค.ศ. 2004[75] มาอยู่ที่ร้อยละ 38.1 ณ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2014[76][77] ฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิ[70] แต่ก็เป็นประเทศเจ้าหนี้เช่นกัน[78] หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฟิลิปปินส์ได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น[79][80][81] จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษ 1960 สมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศจึงเริ่มถูกแซง เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงันภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของประธานาธิบดีเฟร์ดีนันด์ มาร์โคส เนื่องจากระบอบมาร์โคสได้บ่มเพาะปัญหาการจัดการเศรษฐกิจที่ไม่ดีและความผันผวนทางการเมืองเอาไว้[79][81] ระบบเศรษฐกิจเติบโตทางอย่างเชื่องช้าและประสบภาวะถดถอยเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษ 1990 จึงเริ่มฟื้นตัวตามแผนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ[79][81] ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ค.ศ. 1997 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ค่าเงินเปโซลดลงอย่างต่อเนื่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาหลายจุดในช่วงแรกของวิกฤตการณ์ แต่ผลกระทบที่ฟิลิปปินส์ได้รับนั้นไม่หนักเท่าในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยมของรัฐบาล และบางส่วนเป็นผลมาจากการเฝ้าระวังและการควบคุมดูแลทางการเงินเป็นเวลาหลายสิบปีโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ในขณะที่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้เงินมหาศาลเพื่อกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว[82] จากนั้นเป็นต้นมาระบบเศรษฐกิจก็ส่งสัญญาณกระเตื้องขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตขึ้นร้อยละ 6.4 ในปี ค.ศ. 2004 และร้อยละ 7.1 ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบสามทศวรรษ[83][84] อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายปีโดยเฉลี่ยต่อหัวในช่วงปี ค.ศ. 1966–2007 อยู่ที่ร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยร้อยละ 5.96 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโดยรวม รายได้ต่อวันของประชากรฟิลิปปินส์ร้อยละ 45 ยังคงน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ[85][86][87] การส่งเงินกลับของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมาก โดยมีมูลค่าเกินกว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในฐานะแหล่งเงินตราต่างประเทศ การส่งเงินกลับประเทศขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2010 โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ในปี ค.ศ. 2012 และในปี ค.ศ. 2014 ฟิลิปปินส์ได้รับเงินส่งกลับจากแรงงานในต่างประเทศทั้งสิ้น 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[88][89] อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในระดับภูมิภาคยังไม่เท่าเทียมกัน โดยมากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ยังกระจุกตัวอยู่ที่เกาะลูซอน (โดยเฉพาะเมโทรมะนิลา) จึงต้องแลกมากับโอกาสในการพัฒนาภูมิภาคอื่น ๆ[90][91] แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการกระจายความเจริญด้วยการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศแล้วก็ตาม ถึงจะมีข้อจำกัดต่าง ๆ แต่อุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว การจ้างคนนอกทำกระบวนการธุรกิจ ก็ได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีโอกาสดีที่สุดสำหรับการเติบโตของประเทศ[70][92] สถาบันการเงินโกลด์แมนซากส์ได้รวมฟิลิปปินส์อยู่ในรายชื่อ "11 ประเทศถัดไป" ที่มีศักยภาพสูงที่จะมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21[93][94] แต่จีนและอินเดียก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นกัน[95] โกลด์แมนซากส์ยังคาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 20 ของโลก[96] ส่วนธนาคารเอชเอสบีซีก็คาดการณ์ว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 เศรษฐกิจของประเทศนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 16 ของโลก ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย และที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[97][98][99] ฟิลิปปินส์เป็นประเทศสมาชิกธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองมันดาลูโยง) แผนโคลัมโบ กลุ่ม 77 และกลุ่ม 24 ในบรรดากลุ่มและสถาบันความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ[3] การท่องเที่ยวภาคการเดินทางและท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ระบบเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี ค.ศ. 2013[100] และสร้างตำแหน่งงาน 1,226,500 ตำแหน่ง หรือร้อยละ 3.2 ของการจ้างงานทั้งหมด[101] ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ฟิลิปปินส์ได้ต้อนรับผู้มาเยือนชาวต่างชาติทั้งหมด 2,882,737 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2016) ผู้มาเยือนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.72 ในขณะที่ผู้มาเยือนจากทวีปอเมริกาและจากทวีปยุโรปมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 18.52 และร้อยละ 11.26 ตามลำดับ[102] หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์คือกระทรวงการท่องเที่ยว ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศเป็นหนึ่งในบรรดาจุดดึงดูดความสนใจหลัก ๆ ของการท่องเที่ยว โดยมีชายหาด ภูเขา ป่าดิบชื้น เกาะ และจุดดำน้ำอยู่ในบรรดาสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เนื่องจากฟิลิปปินส์มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นกลุ่มของเกาะประมาณ 7,500 เกาะ จึงมีชายหาด ถ้ำ และการก่อตัวของหินรูปทรงแปลกตามากมาย โบราไคซึ่งมีหาดทรายขาวสะอาดได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่านนิตยสารแทรเวลแอนด์เลเชอร์ให้เป็นเกาะที่ดีที่สุดในโลกประจำปี ค.ศ. 2012[103] จุดเด่นด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่ นาขั้นบันไดบานาเวในจังหวัดอีฟูเกา นครประวัติศาสตร์วีกันในจังหวัดตีโมกอีโลโคส เนินเขาช็อกโกแลตในจังหวัดโบโฮล กางเขนของมาเจลลันในจังหวัดเซบู และพืดหินปะการังตุบบาตาฮาในจังหวัดปาลาวัน โครงสร้างพื้นฐานการศึกษา
หลังจากที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปนอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1571 ระบบการศึกษาในฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลจากนโยบายของจักรวรรดิสเปน สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในสมัยนั้น คือ ระบบการศึกษาแบบคาทอลิก โดยศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยภายในฟิลิปปินส์ เพราะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสเปนในการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในฟิลิปปินส์ ปัจจัยที่ส่งผลให้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์คือ ปัจจัยด้านการถือครองที่ดิน เหตุเพราะศาสนาโรมันคาทอลิกถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากภายในฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลให้นักบวชนิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลและมีอำนาจมากในการปฏิรูประบบการศึกษา และประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกภายในฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ได้ถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี ค.ศ.1863 ผ่านกฎหมายการศึกษา (Educational Decree) ที่เน้นให้ระบบการศึกษาภายในประเทศมีความเป็นระบบ มีหลักสูตรที่มีมาตรฐาน และก่อตั้งโรงเรียนเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับประชาชนทั่วไปภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการศึกษาของคนในประเทศยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ชายและผู้หญิง และความเหลื่อมล้ำระหว่างครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและยากจน นอกเหนือจากศาสนาและระบบการศึกษาที่เป็นระบบ ภาษาสเปนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สเปนได้ทิ้งไว้แก่ประเทศอาณานิคม ซึ่งเห็นได้จากร่องรอยของมรดกทางภาษาสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาตากาล็อกที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาสเปน เช่นเดียวกับการตั้งชื่อคนในประเทศ ถนนหนทาง หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ที่ยังคงถูกเรียกขานเป็นภาษาสเปนจนถึงปัจจุบัน นโยบายทางการศึกษาในยุคที่เป็นอาณานิคมของสหรัฐ ในการปฏิรูประบบการศึกษาภายในฟิลิปปินส์ภายใต้อาณานิคมของสหรัฐ ยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐ คือ ความพยายามที่จะทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความเป็นอเมริกันมากขึ้น (Americanization) ผ่านนโยบายการศึกษาที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวอเมริกัน ตลอดระยะเวลาที่สหรัฐปกครองฟิลิปปินส์ มีการสนับสนุนให้ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อลดบทบาทการใช้ภาษาท้องถิ่น โดยกว่า 5 ทศวรรษของระบบการศึกษาแบบอเมริกัน นักเรียนฟิลิปปินส์ต้องศึกษาบทประพันธ์ของกวีตะวันตกชื่อดังมากมาย อาทิ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ เป็นต้น ส่งผลทำให้ชาวฟิลิปปินส์ให้ความสนใจกับวรรณคดีท้องถิ่นน้อยลง และใช้ภาษาอังกฤษในชั้นเรียนและในชีวิตประจำวันมากขึ้น ถึงแม้ว่าสหรัฐ พยายามสอดแทรกวรรณกรรมตะวันตกในชีวิตประจำวันของชาวฟิลิปปินส์ แต่เมื่อเทียบกับยุคที่สเปนปกครองฟิลิปปินส์ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าชาวฟิลิปปินส์มีเสรีภาพในการแสดงผลงานด้านบทประพันธ์ กลอน และวารสารต่าง ๆ ในภาษาท้องถิ่นมากกว่าในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปน อย่างไรก็ตาม ผลงานวรรณกรรมของชาวฟิลิปปินส์กลับไม่ได้รับการบรรจุในวิชาภาษาและวรรณคดีในชั้นเรียนเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลทำให้ระบบการศึกษาแบบอเมริกันแตกต่างจากระบบการศึกษาในยุคที่เป็นอาณานิคมของสเปนโดยสิ้นเชิง นั่นคือ ชาวฟิลิปปินส์ในยุคที่ถูกปกครองโดยสหรัฐ ไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาประจำชาติของตัวเอง เพราะภาษาท้องถิ่นถูกใช้เป็นเพียงตัวช่วยในการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ เท่านั้น อีกทั้งสหรัฐยังผูกขาดการใช้ภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา จวบจน ค.ศ. 1940 ภายหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองฟิลิปปินส์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นไม่ได้มีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาภายในประเทศฟิลิปปินส์
ภายหลังจากที่ฟิลิปปินส์มีอิสระในการกำหนดนโยบายการศึกษาแล้ว ฟิลิปปินส์ยังคงให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา พิจารณาได้จากรัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์ฉบับปี ค.ศ.1987 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ภาษาทางการที่ใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนคือภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษ กระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์ได้กำหนดให้ใช้ภาษาทั้งสองในวิชาที่แตกต่างกันในการเรียนการสอน ในปัจจุบัน นโยบายการศึกษาของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นไปในรูปแบบอเมริกันที่เน้นภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน ในขณะเดียวกันสถาบันทางการศึกษาหลายต่อหลายแห่งยังคงขึ้นตรงต่อระบบการศึกษาแบบคาทอลิก อาทิ มหาวิทยาลัย ดา ลา ซาน (De La Salle University) และมหาวิทยาลัย อาเตเนโอ เด มานิล่า (Ateneo de Manila University) เป็นต้น โดยสรุป การที่นโยบายทางการศึกษาของฟิลิปปินส์ถูกควบคุมโดยประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างสเปนและ สหรัฐ ส่งผลดีและผลเสียแตกต่างกันไป ผลดีสำหรับฟิลิปปินส์คือ ระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์มีคุณภาพ มีมาตรฐานและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ผ่านการปฏิรูปทางการศึกษาของสเปน รวมไปถึงการที่ประชาชนภายในประเทศมีระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษที่สูงขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน ผลเสียภายใต้การปกครองโดยสเปนและสหรัฐ คือ การถูกลิดรอนอิสรภาพในการกำหนดทิศทางทางการศึกษาด้วยตัวเอง อาทิ ประชาชนฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลและกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้ระบบการศึกษาแบบคาทอลิก หรือการที่เอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณกรรมและภาษาท้องถิ่นได้รับการอนุรักษ์และให้ความสำคัญที่น้อยลงภายใต้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน ประชากรศาสตร์มีปัญหาชนกลุ่มน้อยมุสลิมในเกาะมินดาเนา ซึ่งต้องการแยกตัวเป็นอิสระ เรียกว่า "แนวปลดปล่อยแห่งชาติโมโร" ภาษามีการใช้ภาษามากกว่า 170 ภาษา โดยส่วนมากเกือบทั้งหมดนั้นเป็นตระกูลภาษาย่อยมาลาโย-โปลินีเซียนตะวันตก แต่ในปี พ.ศ. 2530 รัฐธรรมนูญได้ระบุให้ภาษาฟิลิปปินส์และภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ส่วนภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ที่ใช้กันมากในประเทศฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 8 ภาษา ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาจีนฮกเกี้ยน ภาษาจีนแต้จิ๋ว ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาซินด์ ภาษาปัญจาบ ภาษาเกาหลี และภาษาอาหรับ โดยฟิลิปปินส์นั้น มีภาษาประจำชาติคือ ภาษา ตากาล็อก ศาสนาในปี ค.ศ. 2014[104] ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรนับถือ แบ่งได้ดังนี้ ศาสนาคริสต์ 92% (นิกายโรมันคาทอลิก 82% นิกายโปรเตสแตนต์ 10%) ศาสนาอิสลาม 5 - 11% ศาสนาพุทธ 2% และศาสนาอื่น ๆ 1% เมืองที่มีประชากรมากที่สุดวัฒนธรรมฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตกก่อนจะได้มีโอกาสพัฒนาวัฒนธรรมของตัวเอง วัฒนธรรมฟิลิปปินส์จะมีส่วนคล้ายกับประเทศในลาตินอเมริกา โดยประชาชนแบ่งออกเป็นชุมชนทางเชื้อชาติและภาษาที่แตกต่างกัน อาหารอาโดโบ เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นที่นิยมของนักเดินทางหรือนักเดินเขา ทำจากหมูหรือไก่ที่ผ่านกรรมวิธีหมักและปรุงรสโดยจะใส่ซีอิ๊วขาว น้ำส้มสายชู กระเทียมสับ ใบกระวาน พริกไทยดำ นำไปทำให้สุกโดยใส่ในเตาอบหรือทอด และรับประทานกับข้าว หมายเหตุ
ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|