ความพยายามรัฐประหารในสหภาพโซเวียต พ.ศ. 2534
ความพยายามรัฐประหารในสหภาพโซเวียต พ.ศ. 2534 หรือเรียกรัฐประหารเดือนสิงหาคม (รัสเซีย: Августовский путч, อักษรโรมัน: Avgustovsky putch) เป็นความพยายามรัฐประหารโดยสมาชิกรัฐบาลของสหภาพโซเวียตกลุ่มหนึ่งเพื่อควบคุมประเทศจากประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟของสหภาพโซเวียต ผู้นำรัฐประหารเป็นสมาชิกที่ยึดมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตซึ่งคัดค้านโครงการปฏิรูปของกอร์บาชอฟ และสนธิสัญญาสหภาพใหม่ที่เขาเจรจาซึ่งกระจายอำนาจการปกครองของรัฐบาลกลางให้แก่สาธารณรัฐต่าง ๆ รัฐประหารถูกคัดค้าน ส่วนใหญ่ในกรุงมอสโก โดยการรณรงค์การขัดขืนของพลเมืองที่สั้นแต่สัมฤทธิ์ผล[6] แม้รัฐประหารล้มในเวลาเพียงสองวันและกอร์บาชอฟคืนสู่รัฐบาล แต่เหตุการณ์นี้ทำลายเสถียรภาพของสหภาพโซเวียตและถูกพิจารณาอย่างกว้างขวางว่า ช่วยเสริมทั้งการสิ้นสุดของพรรคคอมมิวนสิต์สหภาพโซเวียตและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เบื้องหลังนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1985 กอร์บาชอฟได้เริ่มดำเนินโครงการปฏิรูปที่มีความทะเยอทะยานซึ่งรวมอยู่ในแนวคิดสองประการของเปเรสตรอยคาและกลัสนอสต์ หรือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ/การเมืองและการเปิดกว้าง การเคลื่อนไหวเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการต่อต้านและความสงสัยในส่วนของ Nomenklatura ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคสายแข็ง การปฏิรูปยังปลดปล่อยกองกำลังและการเคลื่อนไหวที่กอร์บาชอฟไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความปั่นป่วนของกลุ่มชาตินิยมในส่วนของชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่ชาวรัสเซียของสหภาพโซเวียตที่เพิ่มขึ้น และมีความกลัวว่าสาธารณรัฐสหภาพบางส่วนหรือทั้งหมดอาจแยกตัวออกจากกัน ใน ค.ศ. 1991 สหภาพโซเวียตประสบวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรุนแรง การขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เป็นที่แพร่หลาย,[7] ผู้คนต้องต่อแถวยาวเพื่อซื้อของที่จำเป็น[8] สต็อกเชื้อเพลิงต่ำกว่าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ที่จำเป็นสำหรับฤดูหนาวที่ใกล้จะมาถึง และอัตราเงินเฟ้อก็เกิน 300 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยโรงงานต่าง ๆ ขาดเงินสดที่จำเป็นในการจ่ายเงินเดือน[9] ใน ค.ศ. 1990 เอสโตเนีย[10] ลัตเวีย[11] ลิทัวเนีย[12] และอาร์มีเนีย[13] ได้ประกาศการฟื้นฟูเอกราชจากสหภาพโซเวียต ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 มีความพยายามในการนำลิทัวเนียคืนสู่สหภาพโซเวียตโดยใช้กำลังเกิดขึ้น ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ความพยายามที่คล้ายคลึงกันนี้ได้รับการออกแบบโดยกองกำลังสนับสนุนโซเวียตในท้องถิ่นเพื่อโค่นล้มทางการลัตเวีย และยังมีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ติดอาวุธอย่างต่อเนื่องในนากอร์โน-คาราบัคและเซาท์ออสซีเชีย รัสเซียประกาศอำนาจอธิปไตยในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1990 และหลังจากนั้นก็จำกัดการบังคับใช้กฎหมายของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ควบคุมการเงินและเศรษฐกิจในดินแดนของรัสเซีย สภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซียใช้กฎหมายที่ขัดแย้งกับกฎหมายของสหภาพโซเวียต (ที่เรียกว่าสงครามกฎหมาย) ในการลงประชามติทั่วทั้งสหภาพเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1991 ซึ่งรัฐบอลติก อาร์เมเนีย จอร์เจีย และมอลเดเวีย คว่ำบาตรการลงประชามติ ประชากรส่วนใหญ่ในสาธารณรัฐอื่น ๆ แสดงความประสงค์ที่จะรักษาสหภาพโซเวียตที่ได้รับการต่ออายุใหม่ โดยมีคะแนนเสียงเห็นด้วย 77.85 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการเจรจา สาธารณรัฐ 8 ใน 9 แห่ง (ยกเว้นยูเครน) ได้อนุมัติสนธิสัญญาสหภาพใหม่โดยมีเงื่อนไขบางประการ สนธิสัญญากำหนดให้สหภาพโซเวียตเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐอิสระที่เรียกว่าสหภาพสาธารณรัฐอธิปไตยโซเวียต โดยมีประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศ และการทหารร่วมกัน โดยรัสเซีย คาซัคสถาน และอุซเบกิสถานจะลงนามในสนธิสัญญาที่กรุงมอสโก โดยกำหนดการลงนามคือวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1991[14][15] ลำดับเหตุการณ์สมาชิกคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งรัฐ (GKChP) จำนวนแปดคน (ต่อมาเรียก "แก๊งแปด") ประชุมกันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีเกนเนดี ยานาเยฟ รองประธานาธิบดีโซเวียต เป็นหัวหน้า เขาผ่านกฤษฎีกาแต่งตั้งตนเองเป็นรักษาการประธานาธิบดีเนื่องจากประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ "ป่วย"[16] 19 สิงหาคมเอกสารทั้งหมดของ GKChP มีการแพร่สัญญาณทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐ มีการนำหน่วยยานเกราะของกองพลตามันสกายาและกองพลคันตามีรอฟสกายาเข้าสู่กรุงมอสโก ร่วมกับทหารส่งทางอากาศ ผู้แทนประชาชนของโซเวียตรัสเซียถูกเคจีบีควบคุมตัวจำนวนสี่คน[17] ผู้สมคบคิดพิจารณาควบคุมตัวประธานาธิบดีรัสเซียเยลต์ซินด้วยแต่ไม่ได้ลงมือด้วยเหตุใดไม่ทราบ การไม่จับกุมเยลต์ซินจะทำให้แผนรัฐประหารล้มเหลวในเวลาต่อมา[17][18][19] เยลต์ซินเดินทางถึงทำเนียบขาว อาคารรัฐสภาของรัสเซีย ในเวลา 9.00 น. ออกแถลงการณ์ร่วมประณามคณะรัฐประหาร มีการเรียกร้องให้กองทัพไม่เข้าร่วม และให้ประชาชนนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อให้กอร์บาชอฟสื่อสารกับประชาชน[20] มีการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวในรูปใบปลิวในกรุงมอสโก ในเวลาบ่าย พลเมืองกรุงมอสโกเริ่มชุมนุมกันรอบทำเนียบขาวแล้วตั้งสิ่งกีดขวางไว้โดยรอบ เกนเนดีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงมอสโกในเวลา 16.00 น. ขณะเดียวกัน พันตรีเอฟโกคิมอฟ เสนาธิการกองพันรถถังของกองพลตามันสกายาที่เฝ้าทำเนียบขาวอยู่ ประกาศภักดีต่อผู้นำโซเวียตรัสเซีย[20][21] เยลต์ซินปีนรถถังแล้วกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่งออกข่าวในสื่อของรัฐด้วย[22] 20 สิงหาคมเวลาเที่ยง พลเอกคาลินิน ผู้นำมณฑลทหารมอสโก ซึ่งเกนเนดีแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารกรุงมอสโก ประกาศเคอร์ฟิวในเมืองหลวงตั้งแต่เวลา 23.00 น. ถึง 5.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม[23][24][20] เป็นสัญญาณว่ากำลังจะมีการโจมตีทำเนียบขาว ฝ่ายป้องกันทำเนียบขาวเตรียมการ ทั้งที่ไม่มีอาวุธ รถถังของเอฟโดคิมอฟถูกนำออกจากทำเนียบขาวในเวลาเย็น[25][26] ในเวลาบ่าย คณะรัฐประหารตัดสินใจโจมตีทำเนียบขาว แต่ผู้บังคับบัญชาภาคสนามพยายามโน้มน้าวว่าปฏิบัติการนี้จะมีการนองเลือดและควรยกเลิก[17][23][27][28] สภาสูงสุดของเอสโตเนียตัดสินใจในเวลา 23.03 น. ประกาศเอกราชเป็นครั้งแรกในรอบ 41 ปี 21 สิงหาคมในเวลา 1.00 น. มีพลเรือนเสียชีวิต 3 คนในเหตุปะทะระหว่างสองฝ่ายไม่ใกล้จากทำเนียบขาวมากนัก[29][25][30][31] ทหารไม่เคลื่อนเข้าทำเนียบขาวตามแผนและมีการสั่งถอนทหารออกจากกรุงมอสโก เมื่อคณะรัฐประหารเข้าพบกอร์บาชอฟ กอร์บาชอฟประกาศให้คำสั่งของ GKChP เป็นโมฆะและปลดทั้งหมดออกจากตำแหน่ง อัยการสูงสุดเริ่มต้นสอบสวนรัฐประหาร[27][20] ในช่วงเดียวกัน สภาสูงสุดของลัตเวียประกาศเอกราช อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|