ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานนับร้อยปี และมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 การค้าญี่ปุ่น-ไทยเมื่อปี พ.ศ. 2548 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าทั้งสิ้น 41,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าสองฝ่ายเมื่อปีก่อน ร้อยละ 14.9 ซึ่งทางไทยได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 15,096 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 และนำเข้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 26,036 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบรถยนต์ เหล็กแผ่นรีดร้อน ไดโอด ทรานซิสเตอร์ ส่วนประกอบ เครื่องยนต์ เครื่องจักรที่ทำงานเป็นเอกเทศ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เหล็กแผ่นชุบ รถบรรทุก แบบหล่อสำหรับโลหะและวัสดุ และอื่น ๆ สินค้าส่งออกจากไทยมี เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางธรรมชาติ แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบเครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม ไก่สดแช่เย็น เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารทะเลแปรรูป ไดโอด ทรานซิสเตอร์ เครื่องรับโทรศัพท์และส่วนประกอบ เนื้อปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และอื่น ๆ การลงทุนปีเมื่อปี 2548 ญี่ปุ่นได้ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,613.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2,680.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2547 ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะ รถยนต์ และเครื่องจักร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.1 รองลงมาคือสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 12.3 (ข้อมูลจากสำนักงาน BOI กรุงโตเกียว) ความสัมพันธ์ทวิภาคีญี่ปุ่น-ไทยในภาพรวมที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ไทยได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership) การเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ คือ การเสด็จฯ เยือนไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 11 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เพื่อทรงเข้าร่วมในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นการเยือนไทยเป็นครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินี ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และเป็นการเสด็จเยือนซ้ำประเทศที่เคยเสด็จเยือนแล้วเป็นครั้งแรก ในขณะเดียวกัน ในปีเดียวกันนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ของไทยก็ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นหลายครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ (พระอิสรียยศ ในขระนั้น) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นเป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 14 - 19 มกราคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมเรื่อง Globalization: Challenges and Opportunities for Science and Technology จัดโดยมหาวิทยาลัยสหประชาชาติและองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 21 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2549 และศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเป็นองค์ Keynote Speaker and Lecturer ในการประชุมวิชาการ “1st International Conference on Cutting-Edge Organic Chemistry in Asia” ที่จังหวัดโอกินาวา ระหว่างวันที่ 14 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2549 และเสด็จเยือนญี่ปุ่น เพื่อทรงเข้าร่วมในการประชุม Members of President’s Council ของมหาวิทยาลัยโตเกียว ระหว่างวันที่ 12 - 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น ปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่น ประมาณ 50,000 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 40,000 คน ในปี พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 120 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงให้มีการเฉลิมฉลอง โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วม ไทย - ญี่ปุ่น ว่าด้วยการฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์การทูตขึ้นเพื่อกำกับและเตรียมการกิจกรรมเฉลิมฉลองขึ้นทั้งที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยมีกิจกรรมตลอดทั้งปีและมีกิจกรรมหลักร่วมกัน 3 กิจกรรม คือ พิธีเปิด (Curtain Raiser) ในประเทศไทยในวันที่ 16 มกราคม และในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ สำหรับในวันที่ 26 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามในปฏิญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. 2430 ฝ่ายไทยมอบศาลาไทยให้เป็นของขวัญแก่ฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งถูกจัดตั้งเป็นการถาวรที่สวนสาธารณะอุเอะโนะ ในกรุงโตเกียว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะจัดงานเทศกาลไทย (Thai Festival) ครั้งที่ 8 ที่สวนสาธารณะโยะโยะงิ ในกรุงโตเกียว ตามด้วยกิจกรรมส่งเสริมความมั่นใจต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นจัดงาน Japan Festival ในกรุงเทพฯ ขึ้นในเดือนธันวาคม ด้านนโยบายต่างประเทศญี่ปุ่นต้องการเพิ่มบทบาทและส่วนร่วมในประชาคมระหว่างประเทศอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ความประสงค์ที่จะเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การแก้ไขปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และการผลักดันให้มีการเจรจาการค้ารอบใหม่ขององค์การการค้าโลก เป็นต้น โดยยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอาเซียน ไทยสนับสนุนบทบาทดังกล่าวของญี่ปุ่น โดยเห็นว่าจะเป็นการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงทั้งในภูมิภาค และเวทีโลก แต่กระนั้น ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกมายิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จีน และสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มมากขึ้น และญี่ปุ่นยังมีข้อพิพาทซึ่งเกิดจากเขตแดนและการแย่งชิงแหล่งพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติกับจีน สาธารณรัฐเกาหลีและรัสเซีย ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ระหว่าง 11 - 12 ธันวาคม 2546 ญี่ปุ่นได้ประกาศจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งครึ่งกันระหว่างอาเซียนกับการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นได้ลงนามปฏิญญาโตเกียวว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่มีพลวัตและยั่งยืนระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในสหัสวรรษใหม่ ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายไทยต่อกรณีธรณีพิบัติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 โดยญี่ปุ่นได้ประกาศให้ความช่วยเหลือจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศที่ประสบภัย สำหรับประเทศไทยนั้นญี่ปุ่นได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือและกู้ภัย ทีมชันสูตรศพ และเครื่องอุปโภคและเวชภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือฝ่ายไทย โดยความช่วยเหลือดังกล่าวมาจากทั้งทางภาครัฐบาลและภาคเอกชน ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2548 มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเยือนไทยจำนวน 1,196,654 คน คิดเป็นร้อยละ 10.35 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทย คิดเป็นลำดับที่ 2 รองจากมาเลเซีย และมีชาวไทยเดินทางเยือนญี่ปุ่นจำนวน 168,456 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.68 คิดเป็นร้อยละ 5.53 ของชาวไทยที่เดินทางเยือนต่างประเทศ คิดเป็นลำดับที่ 6 กรอบความร่วมมือทวิภาคีสำคัญ
ภายหลังการศึกษาร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยและญี่ปุ่นซึ่งมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และนักวิชาการเข้าร่วม ในช่วงปี 2545 - 2546 การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น จึงได้เริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และหลังจากการเจรจาหลายครั้ง ไทยกับญี่ปุ่นสามารถบรรลุความตกลงในหลักการขององค์ประกอบที่สำคัญของ JTEPA ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประกาศการบรรลุความตกลงในหลักการดังกล่าวที่กรุงโตเกียวเมื่อ 1 กันยายน 2548 ความตกลง JTEP มีสาระครอบคลุม 21 บท ทั้งในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนที่ของบุคคล และด้านความร่วมมือในสาขาต่างๆ อาทิ การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว การส่งเสริมการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการเกษตร ประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเจรจา ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้าเกษตร การค้าบริการและการเคลื่อนที่ของบุคคล และการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อพิจารณาการจัดส่งแรงงานทักษะในสาขาที่ญี่ปุ่นต้องการและไทยมีศักยภาพ ขณะเดียวกัน ไทยได้เปิดเสรีเหล็ก ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และการค้าบริการสาขาต่างๆ อาทิ สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต ในระดับและระยะเวลาทยอยเปิดเสรีที่เอกชนไทยน่าจะรับได้ เพื่อประโยชน์ในการปรับตัวของโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทย นอกจากการลงนามในร่างความตกลงฯ แล้ว ไทยกับญี่ปุ่นได้ตกลงให้มีการลงนามในเอกสารเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือ 7 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนครัวไทยสู่โลก ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การอนุรักษ์พลังงาน เศรษฐกิจสร้างมูลค่า และหุ้นส่วนภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเกษตร สำนักงานเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่าการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นน่าจะมีผลบวกทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยในมิติยุทธศาสตร์จะทำให้ไทยเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียมใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับญี่ปุ่น ขณะที่ในมิติเศรษฐกิจ จะส่งผลในการขยายตลาดและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยในญี่ปุ่น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ตอกย้ำการเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทย สนับสนุนการปรับโครงสร้างเพื่อความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และขยายโอกาสทางด้านตลาดแรงงานฝีมือของไทยในญี่ปุ่น และในมิติการพัฒนา จะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชนได้กล่าวถึงผลกระทบรุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยจากเรื่องขยะ ของเสียอันตรายที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากความตกลงนี้ เช่น การใช้มาตรการปกป้องสองฝ่ายที่กำหนดไว้ใน JTEPA นั้น สามารถใช้ได้เพียงกรณีที่เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน ไม่ได้รวมถึงความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หากมีปัญหามลพิษเกิดขึ้นจากการนำเข้าขยะของเสียอันตราย ก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะใช้มาตรการปกป้องได้ [1] การเปรียบเทียบ
อ้างอิงข้อมูล
อ่านเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น |