Share to:

 

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี

วิลเฮ็ล์มที่ 1
วิลเฮ็ล์มที่ 1 ในปี 1884
พระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซีย
ครองราชย์2 มกราคม 1861 – 9 มีนาคม 1888
ราชาภิเษก18 ตุลาคม 1861
ก่อนหน้าพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4
ถัดไปจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3
องค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
ดำรงตำแหน่ง1 กรกฎาคม 1867 - 31 ธันวาคม 1870
ก่อนหน้าฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
ในตำแหน่ง องค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมัน
จักรพรรดิเยอรมัน
ครองราชย์18 มกราคม 1871– 9 มีนาคม 1888
ถัดไปจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3
อัครมหาเสนาบดีอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค
พระราชสมภพ22 มีนาคม ค.ศ. 1797
เบอร์ลิน, ราชอาณาจักรปรัสเซีย
สวรรคต9 มีนาคม ค.ศ. 1888 (90 ปี)
เบอร์ลิน
คู่อภิเษกเอากุสทาแห่งซัคเซิน-ไวมาร์
พระราชบุตรจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3
เจ้าหญิงลูอีสแห่งปรัสเซีย
ราชวงศ์โฮเอินท์ซ็อลเลิร์น
พระราชบิดาพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 3
พระราชมารดาลูอีเซอแห่งมัคเลิคบวร์ค-ชเตรลิทซ์
ศาสนาลูเทอแรน
ลายพระอภิไธย

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 (เยอรมัน: Wilhelm I) หรือพระนามเต็มคือ วิลเฮ็ล์ม ฟรีดริช ลูทวิช แห่งโฮเอินท์ซ็อลเลิร์น (เยอรมัน: Wilhelm Friedrich Ludwig von Hohenzollern) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งปรัสเซียและจักรพรรดิเยอรมันพระองค์แรก ภายใต้การปกครองของพระองค์ร่วมกับมุขมนตรีอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค สามารถนำพาราชอาณาจักรปรัสเซียมีชัยเหนือสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียและนำไปสู่การรวมชาติเยอรมันขึ้นเป็นจักรวรรดิเยอรมันในปีค.ศ. 1871 พระองค์กลายเป็นพระประมุของค์แรกของเยอรมันหลังการรวมชาติ จักรวรรดิเยอรมันในรัชสมัยของพระองค์ได้กลายเป็นมหาอำนาจของยุโรป มีแสนยานุภาพทางบกไม่เป็นสองรองใคร มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและขยายโครงข่ายทางรถไฟอย่างรวดเร็วในบรรดารัฐเยอรมัน

พระราชประวัติ

พระนางลูอีเซอแห่งปรัสเซียกับพระโอรสองค์ใหญ่ทั้งสอง (พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 กับจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1)

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1797 ที่วังมกุฎราชกุมารในกรุงเบอร์ลิน ราชอาณาจักรปรัสเซีย เมื่อแรกประสูติทรงพระนามว่า วิลเฮ็ล์ม ฟรีดริช ลูทวิช แห่งปรัสเซีย (Wilhelm Friedrich Ludwig von Preußen) เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองในมกุฎราชกุมารฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม กับเจ้าหญิงลูอีเซอแห่งมัคเลิคบวร์ค-ชเตรลิทซ์ เมื่อพระอัยกาคือพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 เสด็จสวรรคตในค.ศ. 1797 พระราชบิดาของพระองค์ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อเป็นพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 3 ในขณะที่เจ้าชายฟรีดริช วิลเฮ็ล์ม พระเชษฐาของพระองค์ก็ได้ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารต่อ

ในช่วงสงครามปลดแอกจากฝรั่งเศส พระองค์เข้ารับราชการทหารในกองทัพในปี ค.ศ. 1814 ขณะมีพระชนมายุ 17 พรรษา เช่นเดียวกับพระราชบิดาที่นำทัพต่อสู้ในศึกครั้งนี้ ความองอาจของพระราชบิดาเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ทหารและนั่นเป็นแรงบันดาลใจแก่พระองค์ ศึกครั้งนี้ทำให้พระองค์ติดภาพฝรั่งเศสในฐานะศัตรู[1] ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 พระองค์อยู่ในกองพลของเก็พฮาร์ท ฟ็อน บลึชเชอร์ และเข้าร่วมในยุทธการที่ลิงนีกับยุทธการที่วอเตอร์ลู[1]

ในปี ค.ศ. 1829 พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอากุสทาแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค พระธิดาในคาร์ล ฟรีดริช แกรนด์ดยุกแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค การสมรสครั้งนั้นเป็นการสมรสทางการเมืองโดยที่ทั้งสองพระองค์ไม่ได้ยินดีมากนัก[2] ในปี ค.ศ. 1840 พระราชบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคต ทำให้พระเชษฐาขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 และเนื่องจากพระเชษฐายังไม่มีพระราชบุตร ทำให้ตำแหน่งรัชทายาทลำดับที่หนึ่งตกเป็นของพระองค์และทรงได้พระอิสริยยศ "เจ้าชายแห่งปรัสเซีย" (Prinz von Preußen)

ในช่วงการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1848 เจ้าชายวิลเฮ็ล์มนำกำลังทหารและปืนใหญ่ปราบผู้ก่อความไม่สงบในกรุงเบอร์ลินได้อย่างราบคาบตามคำสั่งของพระเชษฐา พระองค์ตกเป็นที่รังเกียจของประชาชนและถูกตั้งฉายาให้ว่า "เจ้าชายกระสุนปืน" (Kartätschenprinz) พระองค์ปลอมตัวเป็นพ่อค้าและหลบไปประทับในอังกฤษอย่างเงียบ ๆ ราวหนึ่งปี ก่อนที่จะเสด็จกลับมาช่วยปราบความไม่สงบในบาเดินซึ่งพระองค์เป็นมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลอยู่ที่นั่น หลังความไม่สงบหมดไป ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1849 พระองค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลไรน์ลันท์และมณฑลเว็สท์ฟาเลิน[1][2] และต่อมาในค.ศ. 1854 พระองค์ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพลและเป็นผู้ว่าการป้อมปราการไมน์[3]

ใน ค.ศ. 1857 พระเชษฐาประชวรด้วยโรคหลอดเลือดสมองและไม่สามารถทรงงานได้อีกตลอดพระชนม์ ทำให้พระองค์กลายเป็นผู้สำเร็จราชการ เมื่อพระเชษฐาเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1861 โดยไร้พระราชบุตร ทำให้พระองค์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อเป็นพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซียขณะมีพระชนมายุ 63 พรรษา

กษัตริย์แห่งปรัสเซีย

พิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งปรัสเซียของวิลเฮ็ล์มที่ 1 ในปีค.ศ. 1861

2 มกราคม ค.ศ. 1861 พระองค์ขึ้นครองราชสมบัติเป็น พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ต่อมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พระองค์ถูกลอบทำร้ายจากนักศึกษาชาวเมืองไลพ์ซิชโดยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย[1] พระองค์โปรดให้มีการตั้งพิธีราชาภิเษกที่นครเคอนิชส์แบร์ค เจริญรอยตามพระเจ้าฟรีดริชที่ 1 แห่งปรัสเซีย[2] โดยทรงเลือกวันที่ 18 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่ระลึกยุทธการที่ไลพ์ซิช เป็นวันราชาภิเษกของพระองค์ พิธีครั้งนี้ถือเป็นพิธีราชาภิเษกปรัสเซียครั้งแรกนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1701 และถือเป็นพิธีราชาพิเษกเพียงครั้งเดียวของกษัตริย์เชื้อสายเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19[1]

หนึ่งในมรดกที่พระเชษฐาของพระองค์ทิ้งไว้ให้ คือปัญหาความขัดแย้งกับสภาที่เต็มไปด้วยนักการเมืองหัวเสรี พระองค์ดูจะวางองค์เป็นกลางทางกลางเมือง เห็นได้จากทรงแทรกแทรงฝ่ายการเมืองน้อยกว่าพระเชษฐามาก ในปี 1862 สภาได้คว่ำร่างกฎหมายเพิ่มงบประมาณทางทหารที่จำเป็นต้องใช้จ่ายแก่กองทัพปรัสเซียหลังปฏิรูปซึ่งมีกำลังพลกว่า 200,000 นาย การถูกสภาคว่ำร่างกฎหมายนี้ทำให้พระองค์ถึงกับคิดจะสละราชสมบัติ แต่มกุฎราชกุมารฟรีดริชยืนกรานคัดค้านอย่างหนักหน่วง และด้วยคำแนะนำจากรัฐมนตรีการสงครามอัลเบร็ชท์ ฟ็อน โรน พระองค์จึงแต่งตั้งอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค เป็นมุขมนตรีปรัสเซียเพื่อผลักดันข้อราชการของพระองค์[1] ซึ่งตามธรรมนูญแห่งปรัสเซียแล้ว มุขมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกษัตริย์โดยตรง ไม่ใช่ต่อสภา บิสมาร์คเป็นขุนนางหัวอนุรักษ์นิยมที่มีความจงรักภักดี เขารับใช้องค์กษัตริย์เสมือนบ่าวรับใช้เจ้านาย อย่างไรก็ตาม บิสมาร์คกลับกลายเป็นดั่ง "รัฐบาลหนึ่งบุรุษ" และเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อองค์กษัตริย์มาก เมื่อใดที่ขัดแย้งกับองค์กษัตริย์ บิสมาร์คมักจะขู่องค์กษัตริย์ว่าจะลาออกอยู่ร่ำไป และนั่นก็ทำให้พระองค์ต้องยอมบิสมาร์คเสมอมา[4]

ระหว่างที่ทรงราชย์ พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 ทรงเป็นผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพปรัสเซียในสงครามชเลสวิชครั้งที่สองกับประเทศเดนมาร์กในปีค.ศ. 1864 และสงครามออสเตรีย-ปรัสเซียในปีค.ศ. 1866 ในช่วงปลายสงครามครั้งหลังนี้ พระองค์ถึงกับคิดจะยกทัพไปกรุงเวียนนาแล้วผนวกออสเตรียให้รู้แล้วรู้รอด แต่ความคิดดังกล่าวถูกคัดค้านโดยบิสมาร์คและมกุฎราชกุมารฟรีดริช[1] บิสมาร์คต้องการจบสงครามโดยเร็ว และยังต้องการรักษาไมตรีกับออสเตรียไว้เผื่อจะได้เป็นพันธมิตรกันในอนาคต บิสมาร์คขู่ว่าจะลาออกถ้าทรงยืนกรานจะยกทัพไปตีเวียนนา พระองค์จึงต้องยอมบิสมาร์ค

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (ซ้าย) ยอมแพ้ต่อพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 กับมกุฎราชกุมารฟรีดริช ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ค.ศ.1870

ค.ศ. 1867 ปรัสเซียได้ตั้งสหภาพระหว่างบรรดาแคว้นเยอรมันเหนือกับเยอรมันตอนกลางที่ชื่อว่าสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นมา โดยมีพระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 ทรงเป็นองค์ประธานสมาพันธ์ (Bundespräsidium) เปรียบได้กับตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยพฤตินัย รัฐธรรมนูญแห่งสมาพันธ์ยังกำหนดให้ทรงเป็น "จอมทัพสมาพันธ์" (Bundesfeldherr) ผู้มีอำนาจบัญชากองทัพสมาพันธ์ทั้งหมด ในปี 1870 ทรงเป็นแม่ทัพกองทัพผสมเยอรมันในยุทธการที่เซด็องในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย

จักรพรรดิเยอรมัน

ในช่วงสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย บรรดารัฐเยอรมันทางใต้เข้าร่วมกับสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ สมาพันธ์ถูกเปลี่ยนชื่อทางการเป็นไรช์เยอรมัน (Deutsches Reich) และตำแหน่งองค์ประธานสมาพันธ์ (Bundespräsidium) ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตำแหน่งจักรพรรดิเยอรมัน (Deutscher Kaiser) นี่เป็นข้อมติร่วมกันของสภาไรชส์ทาคและสภาบุนเดินรัท ซึ่งพระเจ้าวิลเฮ็ล์มตกลงตามข้อมตินี้ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1870 รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับใหม่และตำแหน่งจักรพรรดิเริ่มมีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1871[5]

พระราชบุตร

จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 และพระนางเอากุสทา มีพระราชบุตรด้วยกันสองพระองค์คือ:

ภาพ พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ คู่สมรส พระบุตร
จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 18 ตุลาคม 1831 15 มิถุนายน 1888
(ชันษา 56)
เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระราชกุมารี 8 พระองค์
เจ้าหญิงลูอีเซอแห่งปรัสเซีย 3 ธันวาคม 1838 23 เมษายน 1923
(ชันษา 84)
ฟรีดริชที่ 1 แกรนด์ดยุกแห่งบาเดิน 3 พระองค์

ฐานันดรและพระอิสริยยศ

  • 22 มีนาคม 1797 – 2 มกราคม 1861: เจ้าชายวิลเฮ็ล์มแห่งปรัสเซีย
  • 2 มกราคม 1861 – 18 มกราคม 1871: กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
  • 18 มกราคม 1871 – 9 มีนาคม 1888: จักรพรรดิเยอรมัน กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
ธงพระยศไกเซอร์ ธงพระยศกษัตริย์แห่งปรัสเซีย

พงศาวลี

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 "Biografie Wilhelm I (German)". Deutsches Historisches Museum. สืบค้นเมื่อ 12 June 2013.
  2. 2.0 2.1 2.2 Feldhahn, Ulrich (2011). Die preußischen Könige und Kaiser (German). Kunstverlag Josef Fink, Lindenberg. pp. 24–26. ISBN 978-3-89870-615-5.
  3.  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "William I. of Germany" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 28 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. pp. 665–667.
  4. Munroe Smith (1898). Bismarck and German Unity: A Historical Outline. Macmillan. pp. 80–81.
  5. Ernst Rudolf Huber: Deutsche Verfassungsgeschichte seit 1789. Vol. III: Bismarck und das Reich. 3rd edition, W. Kohlhammer, Stuttgart 1988, pp. 750/751.
ก่อนหน้า จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี ถัดไป
ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
(2 มกราคม ค.ศ. 1861 – 9 มีนาคม ค.ศ. 1888)
ฟรีดริชที่ 3
ฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย
ในตำแหน่งองค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมัน
องค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
(1 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 - 31 ธันวาคม ค.ศ. 1870)
ไม่มี; ทรงยุบสมาพันธ์และสถาปนาเป็นจักรวรรดิ
ไม่มี; ทรงเป็นองค์แรก จักรพรรดิเยอรมัน
(18 มกราคม ค.ศ. 1871– 9 มีนาคม ค.ศ. 1888)
ฟรีดริชที่ 3
Kembali kehalaman sebelumnya