ฉัตรมงคล
ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน; อังกฤษ: Coronation Day) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งจะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก[1] ประเทศไทยพระราชพิธีฉัตรมงคลเฉลิมราชสมบัติสิริรัชพรรษา[2] เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13 14 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4 ต่อมา จนกระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง ในวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า "การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร" มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน ในเดือน 12 แรม 10 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ[3] ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองคราว คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 พระราชพิธีฉัตรมงคลส่วนใหญ่จัดในวันที่ 11 พฤศจิกายน พร้อมกับการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยกเว้นบางปีที่โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนงานพระราชพิธีฉัตรมงคลทำพร้อมกับงานเฉลิมพระชนมพรรษาในวันที่ 31 ธันวาคม และยังโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน หรืออุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชด้วยอีกส่วนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 การพระราชพิธีฉัตรมงคลจัดในวันดังกล่าว แต่การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้นส่วนใหญ่พระราชทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 8 พฤศจิกายน ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น ทำในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 20 กันยายน[4] ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชพิธีฉัตรมงคลจึงจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493[5] และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษายกเลิกวันนี้ลง[6] และกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันหยุดเพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป[7] เนื่องจากวันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดังนั้นวันฉัตรมงคลในปัจจุบันจึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี ในปี พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชพิธีดังกล่าว เนื่องจากพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงร่วมงานพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในวันที่ 6 พฤษภาคม[8][9] ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูป[10] อีกทั้งรัฐบาลไทยยังจัดงานสโมสรสันนิบาตในวันฉัตรมงคลเป็นครั้งแรกในรัชกาลด้วย[11] พระราชพิธีรัชมงคลพระราชพิธีรัชมงคล มีลักษณะคล้ายกับพระราชพิธีฉัตรมงคล แต่จะกระทำในวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระราชพิธีนี้เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เนื่องด้วยพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแต่ทรงพระเยาว์ จึงให้มีพิธีที่ลักษณะคล้ายคลึงกับพระราชพิธีฉัตรมงคล (พิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ผ่านการบรมราชาภิเษกแล้ว) เรียกว่า "พระราชพิธีรัชมงคล" โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ (หรือ 29 กุมภาพันธ์ หากเป็นปีอธิกสุรทิน) วันที่ 1 และ 2 มีนาคม (วันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 7)[12] ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ยังคงมีการพระราชพิธีนี้อยู่ โดยตั้งการพระราชพิธีระหว่างวันที่ 7 - 9 มิถุนายน (วันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากรัชกาลที่ 8)[13] แต่เมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปี 2493 ก็งดการพระราชพิธีนี้ไป ดูเพิ่มอ้างอิง
|