พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (20 กันยายน พ.ศ. 2468 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีสมเด็จพระเชษฐภคินีคือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชาคือพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเป็นพระบรมราชปิตุลาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี และเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 52 ตามประวัติศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับแบบปัจจุบัน) ขณะที่มีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา และประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าพระองค์จะทรงบรรลุนิติภาวะ พระองค์เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกภายหลังทรงราชย์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 แต่ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน พระองค์ก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยทรงต้องพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง รวมระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 12 ปี โดยพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียวในราชวงศ์จักรีที่มิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู สัปตศก จ.ศ. 1287 ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดิลแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชชนกทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล [3][4] โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท [5] พระองค์มีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ[7] การขึ้นทรงราชย์วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับแบบปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลที่มีพระชันษาเพียง 9 ปี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478[8] และได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[9][10] ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษาเพียง 8 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) [11] เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[12] และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน[13] หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว[14] จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร[15] การเสด็จนิวัตพระนครรัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์แข็งแรงจึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัตพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด[16] หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และทรงประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[16] เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัตประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก[15] ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ร่วมกับเหตุการณ์การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ กองทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานและเข้ายึดครองประเทศไทย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จออกนอกประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และนาย ปรีดี พนมยงค์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2485 ไทยที่ถูกยึดครองได้กลายเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิญี่ปุ่นและเป็นสมาชิกของฝ่ายอักษะ ภายใต้การนำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้สำเร็จราชการได้ปฏิเสธที่จะลงนามในปฏิญญาฉบับนี้จึงทำให้ตกเป็นโมฆะตามกฎหมาย สมาชิกจำนวนมากของรัฐบาลไทย รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยในญี่ปุ่น ได้ทำหน้าที่เป็นสายลับโดยพฤตินัยในขบวนการใต้ดินเสรีไทยที่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ได้คอยส่งข้อมูลลับไปยังหน่วยข่าวกรองบริติช และสำนักบริการด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐ ใน พ.ศ. 2487 ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าญี่ปุ่นกำลังจะพ่ายแพ้สงคราม กรุงเทพมหานครถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักโดยฝ่ายสัมพันธมิตร บวกเข้ากับความยากลำบากทางเศรษฐกิจทำให้สงครามและรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่เป็นที่นิยมอย่างมาก ในเดือนกรกฎาคม จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกขับไล่โดยรัฐบาลไทยที่ถูกเสรีไทยเข้าแทรกซึม รัฐสภาไทยได้เรียกการประชุมและแต่งตั้งให้ทนายความฝ่ายเสรีนิยม นาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นได้ยอมจำนน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และความรับผิดชอบทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรสำหรับประเทศไทยได้ตกเป็นของบริติช หลังสงครามภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลงทำให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร นี่จึงเป็นการเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่สองในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 พร้อมกับปริญญาด้านนิติศาสตร์ แม้ว่าพระองค์จะยังทรงพระเยาว์และไร้ประสบการณ์ แต่กลับเอาชนะใจของปวงชนชาวไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งยังคงให้ความเคารพเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดช่วงยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2473 และ พ.ศ. 2483 ชาวไทยรู้สึกยินดีปรีดาที่มีพระเจ้าอยู่หัวมาอยู่ท่ามกลางพวกเขาอีกครั้ง พระราชกรณียกิจซึ่งเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดีของพระองค์คือ การเสด็จเยือนย่านสำเพ็ง (ซอยสำเพ็ง) ไชนาทาวน์ในกรุงเทพ ซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับเสด็จอย่างล้นหลาม โดยมีพระราชประสงค์เพื่อคลี่คลายความตึงเครียดหลังสงครามที่ดูอ้อยอิ่งระหว่างชาวไทยและชาวจีนในกรุงเทพ เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชาวไทยตระหนักถึงเกียรติภูมิของชาติว่าจำเป็นต้องรักษา คือ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน แห่งกองทัพอังกฤษ ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้ามาในพระนครและมีการตรวจพลสวนสนามกองฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 พระบามสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จออกทรงรับการตรวจพลสวนสนามในฐานะองค์พระประมุขของประเทศพร้อมกับ ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน เป็นการเสด็จออกอย่างสง่างามสมพระเกียรติ ในฉลองพระองค์จอมทัพไทย ส่งผลให้ความขัดข้องในจิตใจคนไทยว่าเมืองไทยจะอยู่ในฐานะถูกยึดครองนั้นหมดไปทันที และมีกำลังใจในการต่อสู้กับความทุกข์ยากอันเกิดจากผลของสงครามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ เชื่อกันว่าอานันทมหิดลทรงไม่ต้องการที่จะเป็นพระเจ้าอยู่หัวและมีพระราชฤทัยว่าการครองราชย์ของพระองค์คงจะอยู่ได้ไม่นาน หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนที่ 1 แห่งพม่า ผู้บัญชาการกองทัพบริติชในเอเชียตะวันออกได้เยือนสู่กรุงเทพในเดือนมกราคม พ.ศ. 2489 และได้พรรณาถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า "ทรงเป็นเด็กผู้ชายที่มีสายตาสั้นที่ดูขวัญอ่อน ไหล่ที่ลาดเอียงและหน้าอกบอบบางซึ่งประดับด้วยเครื่องประดับเพชรที่สวยงาม รูปร่างที่น่าสงสารและอ้างว้าง" ในงานสาธารณะ เมานต์แบ็ตเทนได้เขียนว่า 'ด้วยความวิตกกังวลของเขาได้เพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนเขาในกรณีที่พระองค์เกิดหมดพระสติ" สวรรคตสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรและจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน คณะแพทย์ผู้ชันสูตรกว่าสามในสี่ลงความเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์[17] และเป็นสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับในคำพิพากษาศาลฎีกา[18] หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[19] วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร[20] การเฉลิมพระปรมาภิไธย
การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทำให้เกิดปัญหาในการเรียกขานพระนาม เนื่องจากพระองค์ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แต่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงทูลเกล้าฯ ถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เพื่อถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2489 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) จึงออกประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นใหม่ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย[1] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เป็นพระปรมาภิไธยอันวิเศษตามแบบแผนโบราณราชประเพณีว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฏศักตอัครนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร [21] นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขานพระปรมาภิไธยอย่างมัธยมว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร และอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชลัญจกรประจำพระองค์ในปี พ.ศ. 2481 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้สำนักพระราชวังจัดสร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรขึ้น ซึ่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) สมุหพระราชวัง ได้ปรับปรุงพระราชลัญจกรรูปพระโพธิสัตว์สวนดุสิต ที่เคยใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ โดยการสร้างพระราชลัญจกรนั้น ใช้แนวคิดจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "อานันทมหิดล" ซึ่งหมายถึง เป็นที่ยินดีแก่แผ่นดิน ดังนั้น จึงได้ใช้รูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งมีหมายความเดียวกันว่า เป็นความยินดีและเป็นเดชยิ่งในพื้นพิภพ มาเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 8 นั้น เป็นตรางา ลักษณะกลมศูนย์กลางกว้าง 7 เซนติเมตร มีรูปพระโพธิสัตว์ประทับอยู่เหนือบัลลังก์ดอกบัว พระบาทขวาห้อยอยู่เหนือบัวบาน ซึ่งหมายถึง แผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม มีเรือนแก้วอยู่ด้านหลังแถบรัศมี ซึ่งมีข้อแตกต่างจากพระราชลัญจกรที่ใช้ในรัชกาลที่ 5 คือ มีการเพิ่มรูปฉัตรตั้งไว้ข้างแท่นที่ประทับของพระโพธิสัตว์ [22] พระราชกรณียกิจการปกครองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง มีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป การศาสนาในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้[16] พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้[16] นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร[23] การศึกษาในการเสด็จนิวัตพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489[24] และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6] หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต[25] ชีวิตส่วนพระองค์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เขียนว่า พระองค์ทรงคบกับหญิงชาวสวิส ชื่อ แมรีลีน เฟอร์รารี เป็นคนรัก แต่ทรงถูกพระราชชนนีตักเตือน[26] พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจสำคัญน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น
วัดสุทัศนเทพวรารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ดังนั้น จึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ บริเวณลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนยกพื้นสูง มีแผ่นทองเหลืองจารึกเกี่ยวกับกำหนดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เบื้องหลังเป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้ง ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ "อปร" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ[27]
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2475 เลขประจำพระองค์ 2329 หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี พระองค์เจ้าอานันทมหิดลก็ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีความผูกพันกับโรงเรียนเทพศิรินทร์มาโดยตลอด มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมาคมนักเรียนเก่าฯ ตลอดจนมวลหมู่ลูกแม่รำเพยทุกคน ซึ่ง พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน เช่นเดียวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้วยพระองค์เอง
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง หอประชุม 1 หลังพร้อมบ้านพักครูอีก 20 หลัง และในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์เสด็จมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี และพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล[28] หลังจากการสร้างแล้วเสร็จ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ดังนั้น คณะกรรมการโรงพยาบาลจึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ หน้าตึกอำนวยการของโรงพยาบาล
เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระราชปรารภต่อรัฐบาลในสมัยนั้น เรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อประชาชน อันเป็นจุดกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ติดต่อให้ คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระบรมรูปหล่อด้วยส่วนผสมของทองเหลืองและทองแดง มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องขวาเล็กน้อย ประดิษฐาน ณ ลานหน้าอาคาร อานันทมหิดล ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[29]
สวนหลวงพระราม 8 เป็นสวนสาธารณะเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรว่า "สวนหลวงพระราม 8" ณ สวนแห่งนี้ มีพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทางกรุงเทพมหานคร สร้างร่วมกับกรมศิลปากร ความสูงขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง คือ ประมาณ 5.4 เมตร พระอิริยาบถทรงยืน ประดิษฐานบนแท่นที่ความสูงระดับเดียวกันกับราวสะพานพระราม 8 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สวนแห่งนี้ด้วย นอกจากนั้น บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติข้างใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ยังจัดให้มีห้องรวบรวมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจขององค์รัชกาลที่ 8 เพื่อให้ประชาชนที่สนใจพระราชประวัติเข้าไปทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องราว[30] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสวนหลวงพระราม 8 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555[31] พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองทุนอานันทมหิดลขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์มีพระราชดำริที่จะพระราชทานทุนให้นักทรงศึกษาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ไปทรงศึกษาต่อให้ถึงระดับความรู้ชั้นสูงสุดยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศชาติและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ หลังจากนั้น ได้จัดตั้งขึ้นเป็น มูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 เดิมทุนนี้จะพระราชทานให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ แต่เมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ มีเพิ่มมากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาอื่น ๆ ปัจจุบัน การพระราชทานทุนนั้นสามารถแบ่งออกเป็นแผนกต่าง ๆ ได้ ดังนี้ แผนกแพทยศาสตร์ แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกวิศวกรรมศาสตร์ แผนกเกษตรศาสตร์ แผนกธรรมศาสตร์ แผนกอักษรศาสตร์ แผนกทันตแพทยศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ [6]
สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นประจำ จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อเป็นทุนสำหรับบูรณปฏิสังขรณ์วัด และส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณรคณะกรรมการจึงได้จัดตั้งเป็น มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2518 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร[16][32]
สืบเนื่องจากความไม่เพียงพอของแพทย์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่งผลิตแพทย์เพิ่ม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างตึกใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนิสิตแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 90 คนต่อปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2536 และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญอักษรพระปรมาภิไธย "อปร" มาเป็นชื่ออาคาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ซึ่งได้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2539 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย "อ.ป.ร." เป็นชื่ออาคาร เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเปิดอาคารเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของรัชกาลที่ 8 อาคารดังกล่าวเป็นย่อมุม 8 มุม สูง 19 ชั้น บนยอดอาคารประดับอักษรพระปรมาภิไธย "อ.ป.ร." ตั้งอยู่ริมถนนราชดำริ[33] นอกจากนี้ ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ยังมีอาคารอานันทมหิดลอีกด้วย
ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำริจัดงานเป็นประจำทุกปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านซึ่งได้สร้างคุณูปการด่อวงการแพทย์และการศึกษา ในวันอานันทมหิดล มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ของนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์, พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ณ อาคารวชิรญาณวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, การจัดทำเข็มกลัดที่ระลึก, การจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชิงโล่พระราชทาน, การจัดงานเสวนาเนื่องสัปดาห์วันอานันทมหิดล และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล นอกจากนี้ในวันอานันทมหิดลยังได้ถือเป็นวันสำคัญของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีกิจกรรมได้แก่ พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เช่นเดียวกัน พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศพระบรมราชอิสริยยศ
ภายหลังการสวรรคต
เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระองค์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ/หรือ ได้รับพระราชทานก่อนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดังนี้
พระยศทหาร
พงศาวลี
แผนผังอ้างอิง
ดูเพิ่มวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
แหล่งข้อมูลอื่น
|