ชีวกโกมารภัจจ์
ชีวกโกมารภัจจ์ (คำอ่าน:ชี-วก-โก-มา-ระ-พัด[1];บาลี: Jīvaka Komārabhacca) หรือ ชีวกกุมารภฤต (สันสกฤต: Jīvaka Kumārabhṛta) มักย่อว่า หมอชีวก (Jīvaka) เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระโคตมพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ อาศัยอยู่ในราชคฤห์ช่วง 600–500 ปีก่อนคริสตกาล มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะแพทย์ตัวอย่างในตำนานของเอเชีย ทั้งได้รับยกย่องให้เป็นแพทย์ต้นแบบของแพทย์แผนโบราณในหลายประเทศแถบเอเชีย เรื่องราวของชีวกพบได้ในเอกสารพุทธสมัยเริ่มแรกของหลาย ๆ วัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมบาลีและวัฒนธรรมมูลสรวาสติวาท ตลอดจนเอกสารสมัยหลังอย่างพระสูตรและอปทาน เอกสารเหล่านี้ระบุสอดคล้องกันว่า ชีวกเป็นบุตรของหญิงงามเมืองผู้หนึ่ง ถูกมารดาทิ้งแต่กำเนิด ชาววังพระเจ้าพิมพิสารมาพบเข้าจึงเก็บไปเลี้ยง ครั้นเติบใหญ่ขึ้น เขาเดินทางไปตักศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์เจ็ดปี สำเร็จแล้วก็เริ่มรักษาคนในราชคฤห์ ความสำเร็จในการรักษาของเขาทำให้เขามีชื่อเสียงเลื่องลือ ทั้งได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสารและพระโคตมพุทธเจ้า ยิ่งเขาถวายงานต่อพระพุทธเจ้า เขาก็ยิ่งเลื่อมใสในพุทธศาสนา ที่สุดจึงได้เป็นอุปถัมภกคนสำคัญของศาสนานี้ ทั้งได้สร้างวัดนามว่า "ชีวการามวิหาร" ถวายพระพุทธเจ้าด้วย ภายหลังพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเพื่อชิงบัลลังก์ ชีวกก็มีบทบาทในการทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูยอมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระเจ้าอชาตศัตรูสำนึกในบาปกรรม เอกสารข้างต้นมักพรรณนาวิธีการซับซ้อนที่ชีวกใช้ในการแพทย์ เช่น วิธีการบางอย่างที่อาจตีความได้ว่า เป็นการผ่าตัดสมอง แต่คุณค่าในทางประวัติศาสตร์ของเนื้อหาเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานในหมู่นักวิชาการ ถึงกระนั้น ชาวพุทธก็ยกย่องชีวกตลอดมาในหน้าประวัติศาสตร์ของเอเชีย ทั้งแพทย์ที่มิใช่ชาวพุทธก็นับถือเขาในระดับหนึ่งโดยยกย่องเป็นแพทย์ตัวอย่างและเป็นนักบุญ นอกจากนี้ มีเอกสารการแพทย์จำนวนหนึ่งจากยุคกลางของอินเดียและจีนที่เชื่อว่า ชีวกเป็นผู้แต่ง ปัจจุบัน ชาวอินเดียและชาวไทยยกย่องเขาเป็นผู้โอบอุ้มการแพทย์แผนโบราณ ทั้งเขายังมีบทบาทหลักในพิธีกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทย อนึ่ง ที่ผ่านมา บทบาทของชีวกในทางตำนานก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยดึงดูดผู้เลื่อมใสและสร้างความชอบธรรมให้แก่พุทธศาสนา โดยมีการปรับปรุงรายละเอียดบางประการให้สอดรับกับบริบทของแต่ละท้องที่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 พระถังซัมจั๋งรับราชโองการจักรพรรดิถังไท่จงไปเชิญพระไตรปิฎกมาจากอินเดีย ได้พบวัดแห่งหนึ่ง และระบุว่า เป็นวัดชีวการามวิหารของหมอชีวก สถานที่ที่พระถังซัมจั๋งค้นพบนั้นได้รับการขุดค้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และถือเป็นหนึ่งในพุทธสถานอันเก่าแก่ที่สุดที่ยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน แหล่งข้อมูลชีวิตของชีวกนั้นปรากฏในเอกสารพุทธสมัยเริ่มแรกหลายฉบับ เช่น พระไตรปิฎกภาษาบาลี, เอกสารภาษาสันสกฤต, เอกสารภาษาจีน (อย่าง ธรรมคุปตกะ, มหีศาสกะ, และสรวาสติวาท ที่แปลจากต้นฉบับภาษาอินเดียเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล), และเอกสารภาษาทิเบต[2] เอกสารเก่าแก่ที่สุดที่ว่าด้วยชีวิตของชีวกนั้น คือ พระวินัยในพระไตรปิฎก ซึ่งสามารถกำหนดอายุย้อนไปได้ถึงราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล พระวินัยนี้นอกจากมีส่วนที่ว่าด้วยกฎระเบียบทางการแพทย์แล้ว ยังบรรยายชีวิตและผลงานของชีวก ซึ่งได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา[3] ส่วนพระไตรปิฎกภาษาจีนที่เรียกว่า "พระไตรปิฎกไทโช" นั้น มีเนื้อหาสองส่วนที่เกี่ยวกับชีวกและไม่ได้อยู่ในพระวินัย คือ พระสูตรสองบทที่เรียกว่า "อามรปาลิชีวกสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นก่อนศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล กับ "อามรปาลิชีวกอวทานสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7–10 พระสูตรทั้งสองใช้เอกสารภาษาสันสกฤตหรือเอกสารจากเอเชียกลางเป็นแหล่งข้อมูล เชื่อกันมาตลอดว่า ผู้ประพันธ์พระสูตรทั้งสอง ได้แก่ อาน ชื่อเกา (安世高) แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า ความเชื่อนี้เป็นเพียงความพยายามจะทำให้พระสูตรดูเก่าแก่และมีความชอบธรรม นักวิชาการอย่าง C. Pierce Salguero เห็นว่า พระสูตรดังกล่าวน่าจะใช้แหล่งข้อมูลที่จู๋ ฝ่าฮู่ (竺法護) แปลมา รวมถึงพระวินัย และเอกสารพุทธสมัยหลังพระไตรปิฎก มากกว่า โดยเป็นการปรับปรุงให้เข้าถึงผู้อ่านที่เป็นฆราวาสมากขึ้น เพราะเนื้อหาในพระวินัยนั้นเน้นให้พระสงฆ์อ่าน อนึ่ง เป็นไปได้ว่า เนื้อหาของอามรปาลิชีวกสูตรนั้นประพันธ์ขึ้นโดยรวมเอาและบางทีตั้งใจจะใช้ทดแทนเรื่องราวจากพระวินัยในสมัยแรก ๆ ที่พบในมหีศาสกะและสรวาสติวาท ส่วนอามรปาลิชีวกอวทานสูตรก็น่าจะอ้างอิงอามรปาลิชีวกสูตรอีกที แต่ขยายความโดยใช้พระวินัยฉบับธรรมคุปตกะเป็นแหล่งข้อมูล[4] นอกจากเอกสารข้างต้นแล้ว ยังมีเอกสารประเภทอวทานอีกหลายฉบับที่ว่าด้วยชีวก ทั้งยังปรากฏการอ้างถึงเขาในวรรณกรรมอินเดียหลายเรื่องที่ไม่ใช่ของพุทธศาสนา เช่น มาฐรวฤตติ ซึ่งเป็นคำอธิบายขยายความสางขยสูตร ตลอดจนกวีนิพนธ์แนวเสียดสีเรื่อง กเษเมนทระ ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นภาษากัศมีร์[5] นักวิชาการอย่าง Kenneth Zysk และ C. Pierce Salguero เปรียบเทียบเนื้อหาฉบับต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของชีวกแล้ว เชื่อว่า ไม่มีฉบับไหนที่เป็นเนื้อหาดั้งเดิมเลย ชีวประวัติดั้งเดิมของชีวกเป็นอย่างไรนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ นอกจากนี้ ทั้งสองยังเห็นว่า เนื้อหาฉบับต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับความนิยมในท้องถิ่น[6][3] ตัวอย่างเช่น Salguero เห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในพระสูตรเกี่ยวกับชีวกซึ่งอยู่นอกพระวินัยนั้นเขียนขึ้นโดยอาศัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน ทั้งวิธีทางแพทย์ที่ทั้งพระวินัยและพระสูตรบรรยายว่า เป็นของชีวกนั้น ก็ดูจะเป็นการแพทย์แผนจีนมากกว่าแผนอินเดีย[7][2] อนึ่ง คติสอนใจหลาย ๆ อย่างในเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของชีวกนั้นก็ปรากฏว่า ดึงมาจากตำนานเกี่ยวกับแพทย์ชาวจีนหลายคน[8] Zysk เห็นว่า เอกสารฉบับภาษาบาลีนั้นมีความเป็นจริงมากกว่าเอกสารที่ได้รับอิทธิพลจากคติมหายานที่มีเนื้อหาไปในเชิงเวทมนตร์ปาฏิหาริย์เสียมาก เขายังเห็นว่า เอกสารภาษาทิเบตและสันสกฤตพรรณนาการรักษาโรคไว้มากกว่าที่ปรากฏในเอกสารอินเดียดั้งเดิมอย่างอายุรเวท เนื้อหาแต่ละฉบับยังบรรยายโรคภัยไว้ตามความเข้าใจในท้องถิ่นแล้วดำเนินเรื่องโดยให้หมอชีวกมารักษา แต่ข้อความที่บรรยายในแต่ละฉบับก็คล้ายคลึงกันในหลายส่วนอยู่[9] เรื่องราวบุตรที่ถูกทิ้งเอกสารภาษาบาลีซึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่ที่สุด[10][3] รวมถึงเอกสารภาษาจีนอย่างธรรมคุปตกะและอามรปาลิชีวกอวทานสูตร[11] ระบุว่า ชีวกเกิดในราชคฤห์ เมืองหลวงของมคธซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์ มารดาของชีวกเป็นหญิงงามเมือง พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับธรรมคุปตกะระบุนามของนางว่า "สลาวตี" (หรือ "สาลวดี" ในฉบับภาษาไทย) หญิงงามเมืองนั้นเมื่อคลอดบุตรชายแล้วก็ให้คนรับใช้นำบุตรไปทิ้งขยะ Jonathan Silk มองว่า เหตุผลที่นางทิ้งบุตรชาย คงเพราะเห็นว่า มีประโยชน์น้อยกว่าบุตรหญิง (ที่จะได้เอามาเลี้ยงเป็นหญิงงามเมืองเหมือนกัน)[12] ส่วน Y.B. Singh อธิบายว่า นางคงเกรงว่า การมีบุตรจะทำให้ชื่อเสียงและรายได้ในฐานะหญิงงามเมืองของนางถดถอย[13] เอกสารบาลีว่า เมื่อชีวกถูกมารดานำมาทิ้งไว้บนกองขยะแล้ว อภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้า และตรัสถามคนรอบข้างว่า เด็กนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือ ผู้คนทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าชายอภัยราชกุมารจึงทรงเก็บเด็กนั้นมาเลี้ยง ประทานนามว่า "ชีวก" แปลว่า "ผู้มีชีวิต"[10][14] เอกสารภาษาบาลีกล่าวอีกว่า ชีวกได้ชื่อที่สองว่า "โกมารภัจจ์" อันแปลว่า "ผู้รับใช้กุมาร" นั้น เนื่องจากพระราชกุมารทรงเลี้ยงดูอุ้มชูมา แต่นักวิชาการแย้งว่า ชื่อนี้น่าจะมีที่มาจากคำเรียกกุมารแพทย์ตามตำราอายุรเวทของอินเดียโบราณ มากกว่า[2][15] ตามเอกสารบาลี เมื่อชีวกเติบใหญ่ขึ้น เขาค้นพบชาติกำเนิดอันต่ำต้อยของตน และตกลงใจจะเรียนให้สูงเพื่อทดแทนภูมิหลังดังกล่าว[14] เขาจึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์ โดยมิได้แจ้งเจ้าชายอภัยราชกุมาร[16][10] เอกสารสมัยต่อ ๆ มา เช่น ชีวกสูตรของจีน เจียระไนเรื่องให้ดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น โดยระบุว่า อามรปาลี หญิงงามเมืองซึ่งภายหลังได้เป็นสาวกของพระโคตมพุทธเจ้านั้น เป็นมารดาของชีวก ส่วนบิดาของชีวกซึ่งไม่ปรากฏชื่อในเอกสารสมัยก่อนหน้านั้นก็กลายเป็นพระเจ้าพิมพิสาร[17] เช่น เอกสารสันสกฤตและเอกสารทิเบตสมัยแรกที่แปลมาจากวัฒนธรรมมูลสรวาสติวาทระบุว่า ชีวกเป็นโอรสลับของพระเจ้าพิมพิสารกับภริยาของพ่อค้าคนหนึ่ง[14][12][11] แต่เอกสารสันสกฤตและทิเบตไม่ระบุนามของภริยาพ่อค้าดังกล่าว และระบุว่า อามรปาลีเป็นมารดาของอภัยราชกุมาร พระโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร แทนที่จะเป็นมารดาของชีวก[11] เอกสารกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์ลับกับหญิงที่เป็นภริยาพ่อค้านั้น เมื่อทรงทราบว่า นางตั้งครรภ์ ก็ตรัสต่อนางว่า ถ้าคลอดเป็นชาย ให้นำมาถวายตัว จะได้ทรงชุบเลี้ยงในราชสำนัก เมื่อนางคลอดออกมาเป็นชาย คือ ชีวก นางจึงเอาทารกชายนั้นใส่หีบมาทิ้งไว้หน้าพระราชวัง พระเจ้าพิมพิสารก็ให้นำหีบนั้นเข้ามา และตรัสถามว่า เด็กในนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือ เมื่อข้าราชสำนักทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าพิมพิสารจึงเรียกเด็กนั้นว่า "ชีวก" อันแปลว่า "ผู้มีชีวิต"[12][11] นอกจากนี้ เอกสารสันสกฤตและทิเบตยังพยายามพรรณนาให้ชีวกกลายเป็น "หมอเทวดา" เหมือนแพทย์จีนอย่างเปี่ยน เชฺว่ (扁䳍) และหฺวา ถัว (華佗) โดยใส่ปาฏิหาริย์เข้าไป เช่น กล่าวว่า ชีวกเกิดมามีเข็มฉีดยาและสมุนไพรอยู่ในมือ[18] เอกสารสันสกฤตและทิเบตพรรณนาอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงอุ้มชูชีวกให้อยู่ในราชสำนักจนเติบใหญ่ เมื่อชีวกพบแพทย์หลวงคนหนึ่ง ก็สนใจในวิชาแพทย์ จึงตัดสินใจไปตักษศิลาเพื่อเรียนแพทย์[19] ส่วนพระวินัยของธรรมคุปตกะและชีวกสูตรของจีนกล่าวว่า ชีวกเห็นว่า แพทย์ในวังหลวงมีความรู้น้อยกว่าตน จึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ที่เก่งกาจ[20] ดูเพิ่มอ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น
|