Share to:

 

ตำบลคุ้งตะเภา

ตำบลคุ้งตะเภา
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Khung Taphao
คำขวัญ: 
ลูกหลานชาวท่าเหนือ ลือเลื่องภูมิปัญญา สองพระปฏิมาคู่บ้าน หาดน้ำน่านงามตา พิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภาล้ำค่า เลิศล้ำประเพณีงาม 9 เดือน
ตำบลคุ้งตะเภาตั้งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์
ตำบลคุ้งตะเภา
ตำบลคุ้งตะเภา
ที่ตั้งในจังหวัดอุตรดิตถ์
พิกัด: 17°39′24.444″N 100°8′54.564″E / 17.65679000°N 100.14849000°E / 17.65679000; 100.14849000
ประเทศไทย
จังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
พื้นที่
 • ทั้งหมด37.46 ตร.กม. (14.46 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (พฤศจิกายน 2550)[1]
 • ทั้งหมด8,735 คน
 • ความหนาแน่น233.18 คน/ตร.กม. (603.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 53000
รหัสภูมิศาสตร์530105
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย
เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา
ตราอย่างเป็นทางการของเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา
ตรา
คำขวัญ: 
คุ้งตะเภาดินแดนเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ ตำบลแห่งคุณภาพชีวิตและน่าอยู่
พิกัด: 17°39′24.444″N 100°8′54.564″E / 17.65679000°N 100.14849000°E / 17.65679000; 100.14849000
ประเทศ ไทย
จังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
รหัส อปท.05530109
ที่อยู่
สำนักงาน
สำนักงานเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา เลขที่ 1/1 ถนนพิฆเนศวร ถนนพิษณุโลก–เด่นชัย ม.1 บ้านป่ากล้วย ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
โทรศัพท์0-5544-8181, 0-5544-8126, 0-5544-8127
โทรสาร0-5544-8181 ต่อ 16
เว็บไซต์www.khungtapao.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ตำบลคุ้งตะเภา เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลคุ้งตะเภาเป็นตำบลขนาดใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าสองร้อยปี[2] เดิมการปกครองของตำบลคุ้งตะเภาขึ้นอยู่กับตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 จึงได้แยกการปกครองจากตำบลท่าเสามาตั้งเป็นตำบลใหม่[3] ปัจจุบันแบ่งหน่วยการปกครองเป็นหมู่บ้าน 6 หมู่บ้าน มีประชากร 8,735 คน เป็นชาย 4,265 คน หญิง 4,470 คน[4] ประชากรตำบลคุ้งตะเภาส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีศาสนสถานในเขตตำบล 7 แห่ง สถานีอนามัยประจำตำบล 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 6 โรง มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญคือ แม่น้ำน่าน เส้นทางคมนาคมหลักคือ ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 11) ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบัน นายสมชาย สำเภาทอง เป็นกำนันตำบลคุ้งตะเภา [5] ซึ่งในปัจจุบันตำบลคุ้งตะเภามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับ เทศบาลตำบล มีพื้นที่ตลอดทั้งตำบลคุ้งตะเภา

ประวัติและที่มาของชื่อ

คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา"[6] มาจากศัพท์ "คุ้ง" ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำฯ [7] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิมคือ "สำเภา" (เรือชนิดหนึ่ง)

โค้งสำเภาล่ม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภา

ความเป็นมาชื่อคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่ม[8]บริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภา) ชาวสวนที่อาศัยทำไร่นาอยู่แถบนั้นจึงเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ต่อมามีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้นและเพื่อความสะดวกปาก จึงกลายเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย

ชื่อ "คุ้งตะเภา" เป็นนามพระราชทาน เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เสด็จขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางประทับจัดการคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ พร้อมสถาปนาวัดคุ้งตะเภาขึ้น ในปี พ.ศ. 2313 หลังเสียกรุงศรีอยุธยาได้เพียง 3 ปี

ต่อมา เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 (พ.ศ. 2313) ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์เสด็จขึ้นมาปราบปรามชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล[9] พระองค์ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนในแถบคุ้งสำเภาที่อพยพลี้ภัยสงคราม ได้ย้ายกลับมาตั้งครัวเรือนเหมือนดังเดิม ทรงสร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภาล่ม พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[10][11][12] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อวัดคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน

จากข้อมูลคำประพันธ์ในขุนช้างขุนแผน พบหลักฐานว่า คนทั่วไปยอมรับนามวัด ที่ได้รับพระราชทานเมื่อคราวตั้งวัดคุ้งตะเภา เมื่อ จุลศักราช 1132 มาเรียกหมู่บ้านนี้ว่า คุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[6] ดังปรากฏในเสภาตอนหนึ่ง[13]ใน ขุนช้าง–ขุนแผน ดังนี้

"...อ้ายมอญมือด่างบางโฉลง      เมียชื่ออีโด่งเป็นชาวเหนือ
ลักถ้วนลักถี่ทั้งตีเรือ      ครกกระบากสากกะเบือไล่เก็บครบ
ถัดไปอ้ายทองอยู่หนอกฟูก      เมียชื่ออีดูกลูกตาจบ
กลางวันปิดเรือนเหมือนชะมบ      แต่พอพลบคนเดียวเที่ยวย่องเบา
อ้ายมากสากเหล็กเจ๊กกือ      เมียมันตาปรือชื่ออีเสา
ถัดไปอ้ายกุ้ง "คุ้งตะเภา"      ..."

ซึ่งตอนนี้เป็นตอนที่สมเด็จพระพันวษา พระราชทานนักโทษฉกาจให้แก่ขุนแผนเพื่อนำร่วมทัพไปรบกับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมี "อ้ายกุ้ง (ชาว) คุ้งตะเภา" ปรากฏตัวในรายชื่อ 35 นักโทษด้วย และเนื่องจากข้อความในขุนช้างขุนแผนดังกล่าว เป็นวรรณคดีที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นในสมัยของพระองค์ โดยมีเค้าโครงเรื่องเดิมจากสมัยอยุธยา

เขตตำบลที่ตั้งของแถบคุ้งตะเภานั้นตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับตำบลท่าเสา อันเป็นย่านชุมชนการค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญของภาคเหนือ แต่ในฝั่งคุ้งตะเภานั้นนับว่ายังไม่มีความเจริญนัก เพราะที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านจะมีสภาพเป็นเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากเสมอ ประกอบกับแถบนี้ยังมีป่าไม้เป็นส่วนใหญ่ และมีเพียงหมู่บ้านขนาดเล็กเป็นกลุ่มย่อม ๆ เรียงกันไปตามฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออก โดยในแถบหมู่บ้านตรงข้ามบ้านท่าเสาเมื่อวัดจากเส้นทางคมนาคมทางน้ำระหว่างหมู่บ้านที่ตั้งอยู่แถบริมฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออกในเขตตำบลท่าเสาในสมัยนั้น จะมีทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางในแถบตำบลนี้และหมู่บ้านคุ้งตะเภานับเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุดที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและมีประชากรมากที่สุดกว่าบ้านอื่นที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกในอดีต

และด้วยเหตุที่หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งมานานกว่า ประกอบกับในสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ คนทั่วไปจึงได้ใช้ชื่อคุ้งตะเภาเรียกขานย่านบริเวณตำบลแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกว่าย่านตำบลคุ้งตะเภามาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกแถบตำบลนี้ว่า "ตำบลคุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว โดยในสมัยนั้นตำบลคุ้งตะเภา อยู่ในเขตการปกครองของอำเภออุตรดิฐ แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก[14]

จนต่อมาช่วงหลัง ทางการได้รวมเขตปกครองตำบลคุ้งตะเภาเข้ากับตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ อำเภออุตตรดิตถ์ เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพราะเดิมหมู่บ้านในแถบนี้ยังไม่เจริญนัก และตำบลท่าเสานั้นนับเป็นย่านการค้าและชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่โบราณเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางในการดูแลหมู่บ้านในเขตปกครอง จนมาในปี พ.ศ. 2490 ทางกระทรวงมหาดไทยจึงได้แบ่งเขตการปกครองในแถบนี้แยกออกจากตำบลท่าเสากลับมาตั้งเป็นตำบลคุ้งตะเภาเหมือนเดิม และได้ใช้ชื่อ คุ้งตะเภา มาตั้งเป็นชื่อตำบลเช่นเดิมสืบมาจนปัจจุบัน[15]

ภูมิศาสตร์

ภูมิประเทศด้านทิศเหนือของตำบล (วัดหนองปล้อง)

ตำบลคุ้งตะเภาตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 10 กิโลเมตร ตำบลคุ้งตะเภามีสภาพเป็นที่ราบ มีแม่น้ำน่านไหลผ่านพื้นที่ มีหมู่บ้านจำนวน 8 หมู่บ้าน ย่านเจริญอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบลติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ส่วนด้านทิศตะวันออกเป็นแหล่งเกษตรกรรมหลักของตำบล[16]

อาณาเขต

ตำบลคุ้งตะเภา มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลงิ้วงามแม่น้ำน่านและอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
  • ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลป่าเซ่า หมู่ที่ 1 ตำบลผาจุก และอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลผาจุกและอำเภอเมืองอุตรดิตถ์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำน่านและเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์

สัญลักษณ์

ตรา

สัญลักษณ์ประจำตำบลคุ้งตะเภาคือ รูปเรือสำเภาทอง โดยมีที่มาจากประวัติของชื่อคุ้งตะเภาที่กล่าวถึงเรือสำเภา และอนุโลมจากพระนามของหลวงพ่อสุวรรณเภตรา ที่แปลว่า หลวงพ่อสำเภาทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวตำบลคุ้งตะเภา

สัญลักษณ์นี้ปรากฏในตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานสำคัญในตำบลคุ้งตะเภา เช่น ตราสัญลักษณ์ของวัดคุ้งตะเภา องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา ที่แม้ต่อมาเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา ก็ยังนำสัญลักษณ์นี้มาใช้ด้วย

คำขวัญ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำบลคุ้งตะเภา ใช้รูปเรือสำเภาทองเป็นตราสัญลักษณ์ประจำหน่วยงาน

ลูกหลานชาวท่าเหนือ
ลือเลื่องภูมิปัญญา
สองพระปฏิมาคู่บ้าน
หาดน้ำน่านงามตา
พิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภาล้ำค่า
เลิศล้ำประเพณีงาม ๙ เดือน

— คำขวัญประจำตำบลคุ้งตะเภา

คำขวัญดังกล่าว แสดงถึงจุดเด่นสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตำบลคุ้งตะเภา[17]

โดยคำว่า "ลูกหลานชาวท่าเหนือ" แสดงถึง การที่ตำบลคุ้งตะเภามีประวัติความเป็นมายาวนานนับ 300 ปี ในที่ตั้งทางผ่านสำคัญของย่านการค้าขายของหัวเมืองฝ่ายเหนือ ที่ทำให้มีผู้มาตั้งรกรากในแถบย่านตำบลนี้จนกลายมาเป็นชาวบ้านลูกหลานชาวตำบลคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

คำว่า "ลือเลื่องภูมิปัญญา" หมายถึง ตำบลคุ้งตะเภาเป็นชุมชนที่มีทุนทางภูมิปัญญาที่เข้มแข็งในหลายด้าน เช่น ด้านบุคคล มีปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณ ด้านแพทย์แผนไทยโบราณ, ด้านดนตรีและการละเล่นไทย, และนักภูมิปัญญาประดิษฐ์ในพิธีสำคัญทางศาสนาในแต่ละหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งรวมถึงในด้านสถานที่ด้วย เช่น มีศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยวัดคุ้งตะเภา ที่มีการอนุรักษ์สมุนไพรไทยหายากไว้กว่า 400 ชนิด แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางภูมิปัญญาโบราณของตำบลคุ้งตะเภาเป็นอย่างดี

คำว่า "สองพระปฏิมาคู่บ้าน" สื่อความหมายถึง องค์หลวงพ่อสุวรรณเภตรา และ หลวงพ่อสุโขทัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณอายุกว่า 800 ปี ที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญศูนย์รวมจิตใจของชาวตำบลคุ้งตะเภา และชาวจังหวัดอุตรดิตถ์มาช้านาน

คำว่า "หาดน้ำน่านงามตา" หมายถึง สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสำคัญของตำบลคุ้งตะเภา คือสวนสาธารณะหาดริมน้ำน่านบ้านคุ้งตะเภา แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนสำคัญที่เป็นที่นิยมแห่งหนึ่งของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

คำว่า "พิพิธภัณฑ์วัดคุ้งตะเภาล้ำค่า" หมายถึง ตำบลคุ้งตะเภามีทุนทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมความเป็นมาที่ยาวนาน มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนเป็นของตนเองในวัดคุ้งตะเภา เป็นแหล่งศูนย์กลางรูปธรรมที่แสดงออกซึ่งความเป็นมาและความเจริญทางวัตถุรวมถึงความเจริญทางจิตใจในอดีตของชาวตำบลคุ้งตะเภา

คำว่า "เลิศล้ำประเพณีงาม ๙ เดือน" หมายความถึง การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมดังเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาที่มีประเพณีสำคัญในแต่ละเดือนถึง 9 เดือน ตั้งแต่เดือน 3 ถึงเดือน 12 แสดงออกถึงความเจริญทางจิตใจและความผูกพันกับพระพุทธศาสนาของชาวตำบลคุ้งตะเภา และยังเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงทุนวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชาวตำบลคุ้งตะเภาอีกด้วย

เพลง

เพลงประจำตำบลคือ "คุ้งตะเภารำลึก"

คุ้งตะเภารำลึก
ตัวอย่างบทเพลง คุ้งตะเภารำลึก
  • หากไม่ได้ยินเสียง โปรดดูเพิ่มที่ วิกิพีเดีย:วิธีใช้สื่อ
  • ชาวคุ้งตะเภาได้มีการจัดทำเพลงประจำตำบลขึ้น โดยมี นายวิเชียร ครุฑทอง ปราชญ์ชุมชนของตำบลคุ้งตะเภา เป็นผู้แต่งบทเพลง - ทำนองเพลง รวมทั้งเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งได้มีการบันทึกเสียงดนตรีที่ห้องบันทึกเสียงคณะดนตรีวง "ไทไท" ในปี พ.ศ. 2547

    เพลงที่นายวิเชียร ครุฑทอง แต่งขึ้นมี 2 บทเพลง ทั้งสองเพลงเป็นเพลงขับร้องแบบลูกทุ่ง โดยมีชื่อตามลำดับดังนี้

    1. "เพลงคุ้งตะเภารำลึก" มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา
    2. "เพลงอรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

    ปัจจุบันทั้งสองเพลงได้มีการเปิดบรรเลงตาม "เสียงตามสาย" ของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ก่อนการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหมู่บ้าน เป็นเพลงที่คุ้นหู และเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของหมู่บ้านคุ้งตะเภามาจนปัจจุบัน[6]

    ประชากร

    จำนวนประชากรรวม 8,735 คน แบ่งเป็น ชาย 4,265 คน หญิง 4,470 คน [18]

    การปกครอง

    ตำบลคุ้งตะเภา แบ่งการปกครองตามรูปแบบหมู่บ้านออกเป็น 8 หมู่ คือ

    กำนัน

    ทำเนียบรายนามกำนันตำบลคุ้งตะเภา นับแต่สมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้[19]

    ทำเนียบรายนามกำนันตำบลคุ้งตะเภา
    ลำดับที่ รายนามกำนัน วาระการดำรงตำแหน่ง
    1. ขุนภูมิคุ้งตะเภา ปลายรัชกาลที่ 7
    2. กำนันครีบ รัตนสากล (ไม่ทราบ)
    3. กำนันต่วน คงตาม (ไม่ทราบ)
    4. กำนันหลง ฟักสด (ไม่ทราบ)
    5. กำนันคันโธ สิทธิชัย (ไม่ทราบ)
    6. กำนันปิ่น แสงจันทร์ (ไม่ทราบ)
    7. กำนันวิเชียร สรรค์เชื้อไพบูลย์ 8 ธ.ค. 2521 – 14 ก.ค. 2535
    8. กำนันไพทูรย์ พรหมน้อย ก.ค. 2535 – 30 ก.ย. 2565
    9. กำนันสมชาย สำเภาทอง 3 พ.ย. 2565 – ปัจจุบัน

    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กินพื้นที่ตลอดตำบลคุ้งตะเภา เทศบาลตำบลคุ้งตะเภาได้เปลี่ยนแปลงฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นเทศบาลตำบล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย [20] เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551 ปัจจุบันมี นายรุ่งศักดิ์ เลี้ยงประเสริฐ เป็นนายกเทศมนตรี

    การศึกษา

    การสาธารณสุข

    เนื่องจากตำบลคุ้งตะเภาอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ ทำให้การเข้ารับรักษาพยาบาลของคนในตำบลสามารถเดินทางไปได้โดยสะดวก อย่างไรก็ตาม เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง คือ

    • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่ที่ 4

    นอกจากนี้ เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน เพื่อช่วยในการดูแลรักษาคนในชุมชนอีกด้วย โดยกระจายไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ และมีลูกบ้านนั้น ๆ เป็นอาสาสมัคร

    การคมนาคม

    ถนน

    เศรษฐกิจ

    ศาสนสถาน

    ซุ้มวัดป่ากล้วย (หมู่ 1) ตัววัดติดกับที่ทำการเทศบาลตำบลคุ้งตะเภา

    เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ในตำบลคุ้งตะเภา นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท จึงปรากฏวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ในทุกหมู่บ้าน (ไม่ปรากฏศาสนสถานของศาสนาอื่น) ซึ่งวัดโดยส่วนใหญ่ตั้งตามชื่อของหมู่บ้านดังนี้

    วัฒนธรรมประเพณี

    ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ประเพณีต่าง ๆ ยึดถือปฏิบัติเหมือนกันกับาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบน เช่น บวชพระ ประเพณีแต่งงาน งานศพ ฯลฯ

    สถานที่สำคัญ

    หลวงพ่อสุวรรณเภตรา วัดคุ้งตะเภา

    หลวงพ่อสุวรรณเภตรา ประดิษฐานในอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

    หลวงพ่อสุวรรณเภตรา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดคุ้งตะเภา มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง สร้างโดยหลวงพ่อพระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม) เกจิอาจารย์รูปสำคัญของเมืองอุตรดิตถ์ (ยุคก่อนหลวงปู่ทองดำ) ในปี พ.ศ. 2489 ชาวบ้านคุ้งตะเภานับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก

    หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ วัดคุ้งตะเภา

    หลวงพ่อสุโขสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์บริสุทธิ์ สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สกุลช่างสุโขทัยยุคต้น-เชียงแสนปลาย มีอายุประมาณ 800 ปี เป็น 1 ใน 9 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญแห่งเมืองอุตรดิตถ์

    สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน

    สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา

    สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน หรือ ลานเอนกประสงค์หาดน้ำน่าน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านคุ้งตะเภาริมแม่น้ำน่านทางด้านเหนือสุดของตำบล ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เดิมบริเวณที่แห่งนี้เป็นหาดแม่น้ำกว้างสวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา โดยการนำของนายเอกสิทธิ์ พรหมน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา ได้ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ มีการจัดระเบียบร้านค้า จัดสร้างกำแพงกั้นและมีการจัดเก็บเงินค้าบำรุงสำหรับประชาชนที่มาพักผ่อนในช่วงเทศกาลสำคัญ[ต้องการอ้างอิง] รวมทั้งมีการฟื้นฟูกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีเทศน์มหาชาติ เป็นต้น[21]

    ด้วยความสวยงามของภูมิทัศน์และความสะดวกสะบายในการเดินทาง ปัจจุบัน สวนสาธารณะหาดน้ำน่านได้รับความสนใจจากประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลลอยกระทง

    พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

    เอกสารโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา

    พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา หรือ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่ กุฏิปั้นหยา วัดคุ้งตะเภา เป็นสถานที่จัดแสดงเอกสารและวัตถุโบราณของชุมชนคนบ้านคุ้งตะเภา เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมาของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

    ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ที่อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ ภายในวัดคุ้งตะเภา ใกล้กับจุดตัดสี่แยกคุ้งตะเภา ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ทางผ่านสำคัญก่อนขึ้นสู่จังหวัดแพร่ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมทุกวันธรรมสวนะ ตั้งแต่เวลา 8.20 - 17.30 น. โดยไม่เก็บค่าเข้าชม

    พระพุทธรูปปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัก 10 เมตร พระประธานประจำพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

    พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ 72 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองวาระพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัก 10 เมตร เป็นพระประธานประจำพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับประทานนามจากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2563 คราวสมโภชวัดคุ้งตะเภาครบ 250 ปี[22]

    พุทธมณฑลอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะเขตอภัยทานติดริมแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพุทธประวัติขนาดใหญ่ ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย

    ดูเพิ่ม

    อ้างอิง

    1. "ข้อมูลจำนวนประชากรและบ้านตำบลคุ้งตะเภา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.
    2. "ความเป็นมาหมู่บ้านและตำบลคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
    3. ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๖, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๒๕๑๖
    4. "ข้อมูลจำนวนประชากรและบ้านตำบลคุ้งตะเภา กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2007-11-07.
    5. ข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา จากเว็บไซด์บริษัท กำลังแผ่นดิน
    6. 6.0 6.1 6.2 เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. เอกสาร : ประวัติวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา . อุตรดิตถ์ : วัดคุ้งตะเภา , 2550.
    7. "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-25. สืบค้นเมื่อ 2007-12-07.
    8. เรื่องเรือสำเภานี้เคยมีคนขุดเจอโครงเรือสำเภาโบราณขนาดใหญ่ขณะที่กำลังขุดบ่อน้ำ ที่หลังวัดคุ้งตะเภาบริเวณที่เคยเป็นท้องน้ำเดิม ปัจจุบันคือที่ตั้งของกลุ่มบ้านบริเวณโรงงานหมี่เก่าหลังวัดคุ้งตะเภา ซึ่งหากขุดดินบริเวณนั้นลงไป 4-5 เมตร จะเจอพื้นทรายเดิมและจะมีน้ำซึมตลอดเวลา สันนิษฐานว่าบริเวณที่เป็นโค้งสำเภาล่มนั้นคงจะเป็นสถานที่ขุดเจอโครงเรือนี้ ปัจจุบันยังไม่ได้ขุดขึ้นมาอนุรักษ์ เนื่องจากเจ้าของพื้นที่ได้ถมบ่อน้ำนั้นไปแล้ว
    9. _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
    10. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
    11. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
    12. กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
    13. ขุนช้างขุนแผน ตอนที่ ๒๗ พลายงามอาสา
    14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ ประกาศบอกล่วงหน้าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดิน ในทุ่งบ้านวังหมู ตำบลวังหมู อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านป่าเซ่า ตำบลป่าเซ่า อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย, เล่ม ๒๔, ๑๕ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖, หน้า ๕๘๕
    15. ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๖, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๒๕๑๖
    16. แผนที่สภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต.คุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรของชุมชน กรมพัฒนาที่ดิน ภายใต้ความร่วมมือของศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เรียกข้อมูลเมื่อ 2-6-52
    17. คำขวัญประจำตำบลคุ้งตะเภาแต่งโดยพระมหาเทวประภาส วชิรญาณเมธี เดิมเป็นคำขวัญประจำหมูบ้านคุ้งตะเภา
    18. "สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐานของตำบลคุ้งตะเภา. เว็บไซต์เทศบาลตำบลคุ้งตะเภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2021-03-13.
    19. จรูญ พรหมน้อย. (2554). ทำเนียบกำนันตำบลคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : (ม.ป.ท.).
    20. "รายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 2 ครั้งที่ 21/2551.เว็บไซต์ สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2009-05-19.
    21. "คืนชีวิต "หาดน้ำน่าน" ผลงานชุมชน-อ.บ.ต.คุ้งตะเภา. เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-25. สืบค้นเมื่อ 2009-05-19.
    22. กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). พิธีการสร้าง หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร หน้าตัก ๑๐ เมตร สูง ๑๙ เมตร ณ พุทธมณฑล ชุมชนคุณธรรมฯ วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=75162 เก็บถาวร 2022-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

    แหล่งข้อมูลอื่น

    Kembali kehalaman sebelumnya