Share to:

 

พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์
พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร
(องค์พระประธานพุทธมณฑลอุตรดิตถ์)[1]
แผนที่
ชื่อสามัญพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์
ที่ตั้ง285 หมู่ที่ 4 ถนนสัมพุทธปูชนีย์ 1 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ 53000
ประเภทพุทธมณฑลจังหวัด
พระประธานพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร
(นามประทานจากสมเด็จพระสังฆราช)
พระพุทธรูปสำคัญพระปฏิมาศิลาแกะสลัก ปางประสูติ (สูง 3 ม.), ปฐมเทศนา (สูง 3 ม.), ปรินิพพาน (ยาว 3 ม.) และพระพุทธสตปฏิมา (หน้าตัก 1 ม.) จำนวน 150 องค์
ความพิเศษสวนสังเวชนียสถาน 4 ตำบล, ต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา, ต้นอานันทโพธิ์จากวัดพระเชตวันมหาวิหาร, ต้นสาละอินเดีย, องค์พระประธานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร, สมเด็จพระสังฆนายกแห่งสหภาพพม่า และจากสาธารณรัฐอินเดีย
กิจกรรมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, กิจกรรมวันสำคัญและประเพณีต่าง ๆ
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา อยู่ในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีเนื้อที่ 72 ไร่ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองวาระพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2549 ปัจจุบันมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัก 10 เมตร เป็นพระประธานประจำพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับประทานนามจากเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก[1] พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเสร็จและฉลอง เมื่อ พ.ศ. 2563 คราวสมโภชวัดคุ้งตะเภาครบ 250 ปี[2]

พุทธมณฑลอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและจัดประเพณีกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะเขตอภัยทานติดริมแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางพุทธประวัติขนาดใหญ่ ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนได้อีกด้วย

ประวัติ

สถานที่ตั้งพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในอาณาบริเวณปริมณฑลเมืองฝางสวางคบุรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งของพระบรมธาตุฝาง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามความในพงศาวดารเหนือ ปัจจุบันบริเวณเมืองฝางสวางคบุรีคือที่ตั้งของตำบลคุ้งตะเภา ตำบลผาจุก และบางส่วนของตำบลป่าเซ่า รวมถึงบึงทุ่งกะโล่ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเมืองสวางคบุรีมานับแต่โบราณ[3]

การจัดหาสถานที่ตั้งพุทธมณฑลจังหวัด

คณะรัฐมนตรีไทย ในสมัยของทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2547 เห็นชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้มีการจัดตั้งพุทธศาสนสถานที่มีลักษณะเดียวกับพุทธมณฑลในส่วนภูมิภาคให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น โดยอาจใช้พื้นที่สวนสาธารณะ ที่วัด ที่ศาสนสมบัติกลาง ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่เอกชน ซึ่งยินดีให้ใช้ประโยชน์ และสถานที่ดังกล่าวควรเน้นการเป็นสวนสาธารณะที่สงบ ร่มรื่น ราษฎรใช้ออกกำลังกาย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สามารถใช้ประกอบพิธีการทางพุทธศาสนา ประชุมปรึกษาเรื่องทางศาสนา และใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมได้ โดยรัฐจะสนับสนุนทางคณะสงฆ์หรือท้องถิ่นในส่วนของงบประมาณ[4][5] จากนั้นในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 21/2548 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ได้มีมติที่จะสนับสนุนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล[6]

ในปี พ.ศ. 2549 ท่านเจ้าคุณพระสิทธิญาณมุนี (อุดม เขมธัมมมหาเถระ) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น จึงได้ดำริร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ และพุทธศาสนิกชน ดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นสถานที่ถวายเป็นพุทธบูชาในนามของศูนย์กลางในระดับจังหวัด ที่สามารถใช้จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งด้านการศึกษา อบรม ปฏิบัติธรรม การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสู่เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้มีลักษณะเหมือนกับพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม[7]

พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาโดยมีแนวคิดเดียวกับพุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2548 ภาคส่วนราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ริเริ่มนโยบายโครงการพัฒนาบึงทุ่งกะโล่ ให้เป็นศูนย์การศึกษา กีฬา และนันทนาการ[8] โดยมีหน่วยงานราชการในจังหวัดขอใช้หลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ และได้รับจัดสรรที่ดินในบึงกะโล่ จำนวน 150 ไร่ รวมถึงได้ดำเนินการออกแบบแผนผังโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลรูปหล่อลอยองค์ พระฝางทรงเครื่อง เนื้อกะไหลทอง จำนวน 6,300 องค์ ในพิธีอัญเชิญพระฝางทรงเครื่องจำลองประดิษฐาน ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตำบลผาจุก ในปี พ.ศ. 2551 และได้เข้าดำเนินการปรับพื้นที่บางส่วนเพื่อเตรียมจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธี[9]

ต่อมาภาคส่วนในชุมชนรอบบึงกะโล่ได้ยื่นคัดค้านโครงการของจังหวัด จึงได้ร้องศาลปกครองเป็นเหตุให้การดำเนินการในพื้นที่บึงกะโล่ต้องหยุดลง[10][11] ทำให้คณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยุติการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดในพื้นที่บึงทุ่งกะโล่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้มีความพยายามในการดำเนินการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ม่อนไม้ซาง ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ โดยมีเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม เป็นหน่วยงานขอใช้ที่ดิน จากที่ดินสาธารณประโยชน์ และที่ สปก. จำนวนเนื้อที่ 105 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา โดยใช้คำว่า "พุทธอุทยานเฉลิมพระเกียรติจังหวัดอุตรดิตถ์" แทนพุทธมณฑลจังหวัด ซึ่งมีอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง แต่การดำเนินการไม่คืบหน้า เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินสาธารณประโยชน์ (นสล.) และพื้นที่ ส.ป.ก. และได้รับอนุญาตจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินให้ใช้พื้นที่ Rest Area ที่จอดรถยนต์ เพียง 14 ไร่ เท่านั้น[12] รวมถึงการขาดทุนดำเนินการจัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ตามแผนงานให้แล้วเสร็จ ทำให้ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ดังกล่าวคงอยู่ในการดูแลของเทศบาลตำบลด่านนาขามในนาม "สวนสาธารณะเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม (ม่อนไม้ซาง)"[13]

การก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระสังฆราช ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

ในปี พ.ศ. 2555 พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา, ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับสนองงานคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลฉลองวาระพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2555 จึงได้ดำเนินการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 20 ไร่ เพื่อจัดสร้างสถานพุทธบูชาขนาดใหญ่ โดยพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ในพื้นที่โฉนดตราจองที่ 5172 ระวาง 92 น. 14 ฏ ที่ดิน 57 หน้า 72 เล่ม 52 ใช้ประโยชน์ในการเป็นที่ตั้งพุทธมณฑล สังเวชนียสถานสี่ตำบลจำลอง ศาลาปฏิบัติธรรม กุฎิสงฆ์ และสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ตามโฉนดรวมกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนในเขตพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา เป็นพื้นที่กว่า 72 ไร่ และเมื่อรวมกับโฉนดที่ตั้งวัดคุ้งตะเภา จะมีพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาทั้งหมด 87 ไร่[14]

โดยโครงการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ในพื้นที่ปัจจุบัน ได้รับพระเมตตาคุณจากสมเด็จพระสังฆราช ถึง 2 พระองค์ คือ ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระเมตตาธิคุณประทานแบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงเคยแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์[15]ให้แก่วัดคุ้งตะเภา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรจุสร้างพระประธานในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์[16]

การจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาภายในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

โดยได้รับเมตตาจากพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ และคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้การสนับสนุนดำเนินการตั้งให้วัดคุ้งตะเภาเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2559[17] จากนั้นได้มีการดำเนินงานวางผังออกแบบพื้นที่พุทธปูชนียสถานทั้งหมดโดยพระครูธรรมธรเทวประภาส, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา รวมถึงได้กราบอาราธนาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ฝ่ายมหานิกาย ไปประกอบพิธีปลูกต้นสาละอินเดีย และต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา กราบอาราธนาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ฝ่ายธรรมยุติ ไปประกอบพิธีเทหล่อองค์พระพุทธสตปฏิมา ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติระดับจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการบวชพระสงฆ์รวมกว่า 425 รูป ในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 วัดคุ้งตะเภา หลายวาระ เช่น ปัญญาสมวาร[18] , สตมวาร[19] , วาระถวายพระราชกุศล[20] , บรมราชาภิเษก[21]การก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น พระพุทธปฏิมาศิลาสังเวชนียสถาน กุฎิสงฆ์ และศาลาปฏิบัติธรรม ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ภายใต้ความรับผิดชอบของวัดคุ้งตะเภา ในนามสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 โดยการจัดสร้างได้ดำเนินการมาเรียบร้อยและได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมาด้วยดีโดยลำดับ[22]

พระพุทธปฏิมาปางปฐมเทศนาแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงมีพระเมตตาธิคุณโปรดประทานนามพระพุทธรูปประธาน ซึ่งคณะสงฆ์และคณะศรัทธาชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สำนึกในพระเมตตาธิคุณยิ่ง จึงได้พร้อมใจกันถวายสร้อยพระนามพระมหาปฏิมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า "พระสัมพุทธมุนี ศรีสุโขทัยไตรรัตนสวางคบุรีบพิธ สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร" แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระมุนี ผู้ทรงให้สิริมงคลและความสุขเกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์ สถาปนาโดยพุทธศาสนิกชนชาวสวางคบุรีผู้ประกอบด้วยองค์คุณคือความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพื่อประดิษฐานไว้ให้เป็นพระมหาปฏิมา อันนำมาซึ่งสิริมงคลแก่จังหวัดอุตรดิตถ์"[1][23]

พระพุทธสตปฏิมาที่จัดสร้างโดยภาคส่วนราชการองค์กรพ่อค้าและประชาชน จำนวน 150 องค์ ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

การสร้างพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นส่วนหนึ่งของการยกให้เป็นโครงการพุทธมณฑลของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพระปัญญากรโมลี, ดร. เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้นำคณะศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ถวายพระพุทธรูปทองคำแท้ บรรจุบนยอดพระเกศขององค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากรอีกด้วย ทั้งนี้จากการสำรวจบัญชีของคณะสักขีพยานบรรจุพระบรมธาตุและมงคลวัตถุพบว่า มีผู้ศรัทธาถวายทองคำ อัญมณี สินแร่มีค่า และวัตถุมงคลมากมายหลายพันรายการจากคณะศรัทธาพ่อค้าประชาชนและพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศ เพื่อบรรจุในองค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี คิดเป็นมูลค่านับกว่า 9 ล้านบาท[24]

การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2563 เมื่อสร้างองค์ "พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร" สำเร็จ โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอด เช่น เขตอภัยทาน สวนนกยูง สวนกวางมฤคทายวัน ศาลาปฏิบัติธรรมสองชั้น กุฎิกรรมฐาน รวมถึงในบริเวณริมแม่น้ำน่านของพุทธมณฑลอุตรดิตถ์ ยังได้รับประกาศให้เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำในการดูแลของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2563 อีกด้วย[2]

สิ่งก่อสร้าง

พื้นที่ในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับการออกแบบโดยมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้พุทธประวัติ โดยประกอบไปด้วยลุมพินีวันสรณียสถาน (โซน 1), สัมพุทธมุนีโพธิสถาน (โซน 2), สารนาถสรณียสถาน (โซน 3), เวฬุวันภาวนาสถาน (โซน 4), ชีวกัมพวันภาวนาสถาน (โซน 5), เชตวันภาวนาสถาน (โซน 6), บุพพารามภาวนาสถาน (โซน 7), สังฆิกาวาส (โซน 8), สาลวโนทยานสรณียสถาน (โซน 9), ศาลาจีรปุญญานุศาสก์ (โซน 10), เนินสวนสน (โซน 11) และลานมะเดื่อท่าน้ำเขตอภัยทาน (โซน 12) โดยมีพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร เป็นจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์[22]

พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร หรือชื่อที่นิยมเรียกติดปากของคนในพื้นที่ว่า หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี, หลวงพ่อใหญ่ทรงกลดปาฏิหาริย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ณ พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดคุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปลายพระเกศบุด้วยแผ่นทองคำจังโก มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดพระเกศ 19 เมตร เทียบเท่ากับตึก 8 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตัก 10 เมตร ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

พระปฏิมาปางประสูติแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัด ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล (จำลอง)

เป็นส่วนภูมิทัศน์ธรรมชาติในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งเป็น 4 โซน โดยในแต่ละโซน มีการปลูกต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ โดยแบ่งเป็น[22]

โซนประสูติ (สวนลุมพินีวันสรณียสถาน)

อยู่บริเวณสวนป่าสาละลังกา ด้านหน้าทางเข้าพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานพระปฏิมาปางประสูติแกะสลักจากหินทรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ความสูง 3 เมตร พร้อมดอกบัวแกะสลักจากหินทราย 7 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม.[22]

โซนตรัสรู้ (สวนสัมพุทธมุนีโพธิสถาน)

อยู่บริเวณโดยรอบองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ด้านซ้ายปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา นำเมล็ดสืบสันตติพันธ์มาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ด้านขวาปลูกต้นพระอานันทโพธิ์ ซึ่งพระครูธรรมธรเทวประภาส รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา นำเมล็ดสืบสันตติพันธ์มาจากวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย[22]

โซนแสดงปฐมเทศนา (สวนสารนาถสรณียสถาน)

วังปลาเขตอภัยทานริมแม่น้ำน่านในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

อยู่บริเวณก่อนถึงองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย ปางทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดเหล่าเบญจวัคคีย์ ขนาดความสูง 3 เมตร ด้านหลังเป็นสวนกวางมฤคทายวันจำลอง เขตอภัยทาน[22]

โซนปรินิพพาน (สวนสาลวโนทยานสรณียสถาน)

พระพุทธปฏิมาปางปรินิพพานแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัด ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

อยู่บริเวณหลังองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย ปางปรินิพพานทรงนอนตะแคงขวาในท่ามหาปรินิพพาน ขนาดความยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ด้านหลังเป็นสวนสาละอินเดีย ซึ่งเป็นต้นไม้มีพันธ์ตรงตามพุทธประวัติ และเป็นต้นที่สืบสันตติพันธ์มาจากสาละอินเดียต้นแรกที่นำมาปลูกในประเทศไทย โดยได้รับสนับสนุนกล้าพันธ์จากหัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 20 ต้น ซึ่งเป็นต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ตาของต้นสาละอินเดียดั้งเดิมที่สืบจากต้นแรกในไทย ตามโครงการต้นสาละอินเดียเฉลิมพระเกียรติถวายพระกุศลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2562[25]

พระพุทธสตปฏิมา 150 องค์

บรรยากาศภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ในพุทธประวัติ ที่หน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชนชาวอุตรดิตถ์ นำมาปลูกถวายเป็นพุทธบูชา จำนวนกว่า 3000 ต้น (โซนสวนไผ่เวฬุวัน)

พระพุทธรูปจำนวน 150 องค์ ในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะแบบคันธาระ ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล อายุ 1,800 ปี[26] มีขนาดหน้าตักองค์ละ 1 เมตร สูง 1.5 เมตร ประดิษฐานอยู่สองข้างทางเข้าสู่องค์พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ทั้งสองนิกาย โดยมีพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้เหนือ และพระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์-สุโขทัย (ธรรมยุติกนิกาย) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์จัดสร้าง และมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ หน่วยงาน ภาคส่วนราชการ สถานศึกษา รวมถึงพ่อค้าประชาชนในจังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียง เป็นเจ้าภาพจัดสร้าง เริ่มจัดสร้างในกลางปี พ.ศ. 2563 และแล้วเสร็จทั้ง 150 องค์ ในปีเดียวกัน[2]

ถนนสัมพุทธปูชนีย์

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร ศูนย์กลางของส่วนเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

ภายในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดสร้างถนนจำนวน 1 เส้น กว้าง 5 เมตร ความยาวจากต้นทางบริเวณสวนลุมพินีวันสรณียสถาน (โซนประสูติ) จนถึงสวนสาลวโนทยานธรรมสถาน (โซนปรินิพพาน) ริมแม่น้ำน่านท่าน้ำเขตอภัยทาน มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร โดยระยะจากโซนประสูติจนถึงโซนตรัสรู้ตลอดสองข้างทางนั้น ประดิษฐานพระพุทธสตปฏิมา จำนวนกว่า 150 องค์ โดยมีองค์พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานอยู่กลางวงเวียนบริเวณโซนตรัสรู้ โดยถนนเส้นนี้จัดสร้างในปี พ.ศ. 2559 ส่วนชื่อถนนสัมพุทธปูชนีย์ ได้มาจากพระนามขององค์พระประธานที่ได้รับประทานพระนามมาจากสมเด็จพระสังฆราชในปี พ.ศ. 2563[23]

หอประชุมสงฆ์

เป็นอาคารสองชั้น สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบศาลาโปร่ง ภายในปูด้วยแผ่นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ภายใน ชั้น 1 ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ตะเคียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนชั้นที่ 2 ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ตะเคียนท่อนเดียว ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 1 เมตร[27] ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563

อาคารประกอบ

บริเวณโดยรอบพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาคารประกอบที่เนื่องด้วยการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ด้านหลังองค์พระประธานหน้าตัก 10 เมตร ในโซนสังฆาวาส มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์หนึ่งชั้น จำนวน 4 หลัง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2563, พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อยู่บริเวณใต้ฐานพระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่ ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการพัฒนาการพระพุทธศาสนาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนที่ 3 จัดแสดงรูปเหมือนพระเกจิเถราจารย์ในอดีต, วังปลาเขตอภัยทาน อยู่ด้านทิศตะวันตก ใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือในแม่น้ำน่าน ใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ลอยกระทง และเป็นพื้นที่ส่วนแพปลาเขตอภัยทาน ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำในการดูแลของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ และ ศาลาอำนวยการ อยู่บริเวณด้านข้างพระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน และวัตถุมงคล[22]

ระเบียงภาพ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 หนังสือสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ สสร.๑๓๓/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๓ เรื่อง โปรดประทานนามพระพุทธรูป
  2. 2.0 2.1 2.2 กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). พิธีการสร้าง หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร หน้าตัก ๑๐ เมตร สูง ๑๙ เมตร ณ พุทธมณฑล ชุมชนคุณธรรมฯ วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.m-culture.go.th/th/article_view.php?nid=75162 เก็บถาวร 2022-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). 'สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ 245 ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา'. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
  4. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2547). หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๔/๖๑๙๔ ลงวันที่ ๓๐ เม.ย. ๒๕๔๗ เรื่อง การส่งเสริมเผยแพร่พุทธศาสนา. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2547/991972071.pdf
  5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2547). หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๔/ว(ล)๖๑๙๔ ลงวันที่ ๓๐ เม.ย. ๒๕๔๗ เรื่อง การส่งเสริมเผยแพร่พุทธศาสนา. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2547/991972072.pdf
  6. สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. (2549). มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๙ เรื่อง กิจกรรมการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัด. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/CCF01092551_00121.pdf
  7. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์. (2559). การประชุมคณะกรรมการโครงการพุทธอุทยานเฉลิมพระเกียรติจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://pr.prd.go.th/uttaradit/ewt_news.php?nid=2994 เก็บถาวร 2021-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. "อุตรดิตถ์กำหนดวางศิลาฤกษ์โครงการพัฒนาบึงกะโล่เพื่อเป็นอุทยานการศึกษาการกีฬาและนันทนาการใช้งบกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท," (2548, 28 กันยายน). สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 จังหวัดพิษณุโลก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://region4.prd.go.th/pubnews/detail.asp?ID=1463[ลิงก์เสีย]
  9. เว็บพระออนไลน์. (2551). รูปหล่อลอยองค์ พระฝางทรงเครื่อง. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.web-pra.com/auction/show/6993344
  10. ผู้จัดการออนไลน์. (2554). ค้านสร้าง“ราชภัฎอุตรดิตถ์” “คนลับแล” ยื่นฟ้องทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9540000014602
  11. ผู้จัดการออนไลน์. (2558). ศาลปกครองยกฟ้องชาวอุตรดิตถ์เบรกสร้าง มรภ.และวิทยาลัยพยาบาลในบึงทุ่งกะโล่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9580000024006
  12. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (2563). จ.อุตรดิตถ์ประชุมโครงการพุทธอุทยานเฉลิมพระเกียรติ. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG190314115637955 เก็บถาวร 2021-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์. (2563). จังหวัดอุตรดิตถ์ เตรียมอัญเชิญองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหินหยกขาวจากจีนมาประดิษฐาน ณ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปลายปีนี้. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG200821162249212 เก็บถาวร 2021-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  14. วัดคุ้งตะเภา. (2564). ข้อมูลพื้นฐาน'. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/general เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  15. วัดคุ้งตะเภา. (2555). พระบรมสารีริกธาตุหลวงส่วนพระองค์ รับประทานจากสมเด็จพระสังฆราช . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/puchaniyawatthu2/boromsaririkkathat/from_somdet_phra_nyanasamvara[ลิงก์เสีย]
  16. หนังสือสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ พ ๐๔๓๖/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เรื่อง ประทานพระบรมสารีริกธาตุ
  17. มหาเถรสมาคม. (2554). มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๙ มติที่ ๓๓๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓๐ พ.ค. ๒๕๕๙ เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ ๓. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/c_12300559_338%20%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B9%8C%20%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%203.pdf
  18. วัดคุ้งตะเภา. (2560). โครงการอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในโอกาสบำเพ็ญกุศลปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) ระดับจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/news/khorngkarxupsmbththwaypenphrarachkuslnixokasbapheykuslpayyasmwar50wanradabcanghwadxutrditth เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  19. วัดคุ้งตะเภา. (2560). 'โครงการอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในโอกาสบำเพ็ญกุศลสตมวาร (๑๐๐ วัน) ระดับจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/news/khorngkarxupsmbththwaypenphrarachkuslnixokasbapheykuslstmwar100wanradabcanghwadxutrditth เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  20. วัดคุ้งตะเภา. (2560). 'โครงการอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลฯ ในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ ระดับจังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/news/khorngkarxupsmbththwaypenphrarachkuslnixokasphithithwayphraphelingradabcanghwadxutrditth เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  21. วัดคุ้งตะเภา. (2562). จังหวัดอุตรดิตถ์รับสมัครอุปสมบทหมู่ ๗๙ รูป เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/home/forcoronationrama10 เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3. (2559). แผนผังพื้นที่ พุทธมณฑลอุทยานสังเวชนียสถานสี่ตำบล จังหวัดอุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/home/new-area-expand/layout-planning เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  23. 23.0 23.1 สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช. (๒๕๖๓). ประทานบัตรพระนามพระพุทธรูปพระสุมพุทธมุนีศรีสุโขทัย. ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
  24. ไทยรัฐออนไลน์. (2563). ฮือฮา! พระอาทิตย์ทรงกรดในพิธีหล่อหลวงพ่อองค์ใหญ่. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.thairath.co.th/clip/424019
  25. วัดคุ้งตะเภา. (2562). วัดคุ้งตะเภา รับมอบต้นสาละอินเดียดั้งเดิมที่สืบจากต้นแรกในไทยจากกรมป่าไม้. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/news/wadkhungtaphearabmxbtnsalaxindeiydangdeimthisubcaktnraeknithiycakkrmpami เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  26. วัดคุ้งตะเภา. (2562). พระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล อายุ ๑,๘๐๐ ปี. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/show/buddharupa/luangphomettagandhara เก็บถาวร 2020-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  27. ทีนิวส์ออนไลน์. (2561). สุดฮือฮา!! วัดคุ้งตะเภา อุตรดิตถ์ จัดสร้าง "พระยาพิชัยดาบหัก" จากไม้ตะเคียน ๑,๐๐๐ ปี เผย..พบโบราณวัตถุ อายุกว่า ๓๐๐ ปี เป็นจำนวนมาก (คลิป). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : https://www.tnews.co.th/religion/404684

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

17°39′25″N 100°08′14″E / 17.656827367376618°N 100.1372050107989°E / 17.656827367376618; 100.1372050107989

Kembali kehalaman sebelumnya