นิยม ทองชิตรรองอำมาตย์ตรี นิยม ทองชิตร์ เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2452 ที่กรุงเทพมหานคร ในวัยเด็กเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ร่วมห้องเดียวกับ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในชั้น ม.ศ. 5 ในปี พ.ศ. 2464 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "นายหมู่ลูกเสือเอก" นิยม ทองชิตร์ เป็นนักเรียนที่เชี่ยวชาญในเรื่องกีฬาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกีฬาประเภทศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย, มวยสากล และยูโด โดยในขณะนั้นทางโรงเรียนได้ริเริ่มสร้างสนามมวยขึ้น ซึ่งนับเป็นยุคเริ่มแรกของมวยสากลในประเทศไทยด้วย โดยมีพระยานนทธิเสนสุเรนทร์ภักดีเป็นนายสนาม และระดมนักมวยฝีมือดีจากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาชกแข่งขันกัน ทาง นิยม ทองชิตร์ เป็นนักมวยระดับแชมป์ของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เป็นนักมวยในสังกัดของพระยาโอวาทหัตถกิจ ได้จัดให้นิยมชกกับ ยัง หาญทะเล ในแบบมวยคาดเชือก ที่สนามของโรงเรียน ซึ่งนิยมเอาชนะไปได้เพียงยกแรก ด้วยการจับคอหาญล็อกคอไม่ยอมปล่อย จึงทำให้มีบรรดานักเรียนรุ่นใหญ่ที่เก่งทางยูโด หันมาชกมวยสากลกันเป็นจำนวนมาก เช่น ทิม อติเปรมานนท์, จีน พลจันทร์, เธียร ทองจู, ประสิทธิ์ บุญญารมย์ เป็นต้น ซึ่งหลายคนต่อมากลายเป็นนักมวยชื่อดังในเวลาต่อมา ทางด้าน นิยม ทองชิตร์ ได้ชกมวยไทยคาดเชือกอีกครั้งกับผู้คุมนักโทษในเรือนจำอยุธยาชื่อ ครูขันธ์ และสามารถเอาชนะน็อกครูขันธ์ได้ไปอย่างสวยงาม ได้ชื่อเสียงและเงินรางวัลมากมาย ซึ่งก็นำไปบำรุงกิจการกองลูกเสือของโรงเรียนเสียหมด ทางนั้นจึงได้ทุนไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ โดยพักอยู่ในกรุงลอนดอน ค่าใช้จ่ายกินอยู่ทั้งหมดเป็นคนออกเอง และได้ฝึกฝนวิชามวยสากลอย่างเป็นทางการอย่างจริงจัง และขึ้นชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสรที่สังกัดอยู่ร่วม 10 กว่าครั้ง มีแพ้เพียง 3 ครั้ง เมื่อกลับมา ได้รับราชการเป็นครูพลศึกษาสอนทั้ง มวยสากล, ยูโด, บาสเก็ตบอล ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนปทุมคงคา และโรงเรียนบ้านสมเด็จ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) มียศที่รองอำมาตย์ตรี[1] จนถึงปี พ.ศ. 2497 ได้ลาออกจากราชการและมาทำงานอยู่ที่บริษัทเทวกรรมโอสถ ในซอยกิ่งเพชร ถนนเพชรบุรี จึงได้ร่วมกับนายห้าง ทองทศ อินทรทัต ก่อตั้งค่ายมวย "กิ่งเพชร" ขึ้นมา และได้ทำการฝึกสอน โผน กิ่งเพชร จนกลายเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยในที่สุด นอกจากนี้ นิยม ทองชิตร์ ยังได้ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ให้นักมวยร่วมสมัยอีกหลายคน เช่น ศุภชัย พิณฑุวัฒนะ, ไท กิ่งเพชร, เปลี่ยน กิ่งเพชร, ศักดิ์ชาย อารุณ, สาริกา ยนตรกิจ เป็นต้น ต่อมาได้เกิดขัดใจกับโผนและนายห้างทองทศ จึงได้แยกออกตัวออกมา คิดจะตั้งค่ายมวยเป็นของตัวเอง แต่ก็ประสบกับปัญหาบาดเจ็บที่ชายโครง ถึงขนาดต้องรับการผ่าตัดหลายครั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และท้ายที่สุดก็เสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนน้ำท่วมปอดในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2529 สิริอายุได้ 77 ปี นิยม ทองชิตร์ ถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลสำคัญในวงการมวยและวงการกีฬาของไทยคนหนึ่ง ซึ่งบุคคลในวงการมวยและสื่อมวลชนมักเรียกชื่อติดปากว่า ครูนิยม หรือ อาจารย์นิยม ขณะที่โผนและภรรยาจะเรียกว่า พ่อ[2] อ้างอิง
|