Share to:

 

โผน กิ่งเพชร

โผน กิ่งเพชร
(Pone Kingpetch)
เกิดมานะ สีดอกบวบ
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478
หัวหิน
ประเทศสยาม
เสียชีวิต31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 (47 ปี)
โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สถิติ
น้ำหนักฟลายเวท
ส่วนสูง169 cm (5 ft 6½ in)[1]
เทรนเนอร์{{{trainer}}}
สถิติขึ้นชก
ชกทั้งหมด35
ชนะ28
ชนะน็อก9
แพ้7 ( แพ้น็อก 3 )

โผน กิ่งเพชร (12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525) แชมป์โลกชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ โผนเป็นนักมวยรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนติดสุราจนการชกตกต่ำลง จนเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก โผนถือเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย วันที่โผนชิงแชมป์โลกได้ถูกกำหนดให้เป็นวันนักกีฬาไทย และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของโผนที่หัวหินหลังจากที่โผนเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี

ประวัติ

ชีวิตวัยเด็ก

โผนเป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวน 9 คน ของนายห้อย และนางริ้ว สีดอกบวบ มีชื่อจริงว่า มานะ สีดอกบวบ มีชื่อเล่นว่า แกละ เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมสาธุการจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วจึงเรียนต่อที่โรงเรียนประจำอำเภอหัวหินจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้น จึงไปเรียนที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัยจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6[2] ด้วยความเป็นคนรักกีฬา ชอบเล่นกีฬาทุกประเภท แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ มวยสากล ถึงขนาดเคยลั่นวาจาต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่า เขาจะเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยให้ได้[2] (เนื่องด้วยก่อนหน้านั้น จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เคยชิงแชมเปี้ยนโลกมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย)

หลังจากนั้นโผนหันมาชกมวยสากลอาชีพอย่างจริงจัง จนได้ครองแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท และได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทกับ ปัสกวล เปเรซ เจ้าของตำแหน่งแชมป์โลก NBA เดอะริงและไลนีลในขณะนั้นชาวอาร์เจนตินา ซึ่งโผนชนะคะแนนได้เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยตามที่ตั้งใจไว้ แม้จะเสียตำแหน่งไป โผนก็ยังชิงแชมป์คืนกลับมาได้ ได้เป็นแชมป์โลกถึงสามสมัยก่อนจะแขวนนวมไป

ชีวิตครอบครัว

หลังจากได้เป็นแชมป์โลกแล้ว โผนจึง รู้จักกับ นางสาว มณฑา เพ็ชร์ไทย (นาง มณฑา สีดอกบวบ) ซึ่งเป็นบุตรสาวของ พันตำรวจตรี พยุง เพชรไทย แต่งงานกันเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ก่อนที่โผนจะไปป้องกันแชมป์โลกกับไฟติ้ง ฮาราด้า โผนมีบุตรสาว 2 คน คือ นางสาวโชติมา สีดอกบวบ และ นางสาวพัชรัช สีดอกบวบ (ปัจจุบันบุตรสาวทั้ง 2 คนเสียชีวิตแล้ว) โดยนางสาวโชติมา มีบุตรเพียงคนเดียว คือ นางจียอง ปาร์ค ขณะที่นางสาวพัชรัชไม่มีทายาทสืบเชื้อสาย [2]

บั้นปลายชีวิต

หลังจากแขวนนวม ทรัพย์สินเงินทองเมื่อครั้งได้จากการชกมวยได้เอาไปทำกิจการอื่น แม้แต่โรงเรียนมานะวิทยา ที่เคยสร้างไว้ที่บ้านเกิด เมื่อครั้งรุ่งเรือง ก็ต้องขายทิ้ง ประกอบอาชีพค้าขายก็ขาดทุน เพราะไม่เจนจัดเล่ห์เหลี่ยมการค้า ส่วนตัวโผนเองก็มีโรคประจำตัวเรื้อรังคือ โรคเบาหวาน ท้ายที่สุด ขณะรับประทานอาหารกับครอบครัวที่บ้านหัวหิน อาหารเกิดสำลักเข้าไปติดอยู่ในหลอดลม ทำให้เกิดการบูดเน่าและโลหิตเป็นพิษ อาการของโผนทรุดหนัก เพราะเป็นหวัดอยู่ด้วยและเป็นโรคปอดแทรกซ้อนเข้ามา ครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นการด่วน อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุด เวลา 5 ทุ่ม ของคืนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โผนก็ได้เสียชีวิตลง ด้วยวัยเพียง 47 ปี 3 เดือน 20 วัน [2] และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดตรีทศเทพ

ผลงานด้านการชกมวย

โผนมีความฝันที่อยากจะเป็นนักมวยตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยสภาพร่างกายที่อ่อนแอ จึงถูกพ่อแม่และพี่น้องกีดกัน แต่โผนก็ได้ชกมวยตามใจหมาย ซึ่ง สง่า สีดอกบวบ พี่ชายคนโต ไม่เห็นชอบด้วย จึงนำโผนมาฝากไว้กับ นายห้างทองทศ อินทรทัต เจ้าของบริษัทเทวกรรม โอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของค่าย "กิ่งเพชร" ในซอยชื่อเดียวกับค่าย ย่านถนนเพชรบุรี (ซอยเพชรบุรี 10) เมื่อ พ.ศ. 2497[2] ซึ่งโผนได้รับการฝึกสอนและขึ้นชกสม่ำเสมออย่างจริงจัง โดยที่มาของชื่อ "โผน" นั้น เป็นชื่อของน้องชายนายห้างทองทศ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ก่อนหน้านี้ (โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทย และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ในขณะนั้น)

โผนขึ้นชกมวยสากลครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2498 ชนะน็อก นกนิด ท.ส. ยก 2 และพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในการชกครั้งที่ 3 โดยเป็นฝ่ายแพ้คะแนนสุวรรณ นภาพล [3] จากนั้นการชกของโผนดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนะน็อก กู้น้อย วิถีชัย แชมป์ฟลายเวทของเวทีราชดำเนิน ได้อย่างงดงามเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ทั้ง ๆ ที่โผนมีประสบการณ์น้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด และเคยชกแพ้มาก่อนในการเจอกันครั้งแรก ต่อมาเมื่อมีการแก้มือกันเป็นครั้งที่สาม โผนก็ชนะคะแนนไปได้อีกครั้งเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ก่อนจะขึ้นครองแชมป์เวทีราชดำเนิน โผนชกชนะนักมวยชื่อดังในรุ่นฟลายเวตและแบนตัมเวทในยุคนั้นมาแล้วหลายคน เช่น บุญธรรม วิถีชัย พร พัลธุมเกียรติ สมยศ สิงหพัลลภ ประยุทธ ยนตรกิจ เป็นต้น[4] โผนขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ชนะน็อคมินธัม กัมพุช แชมป์รุ่นแบนตัมเวทของกัมพูชา[3] ต่อมา โผนได้ขึ้นชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลฯ (OPBF) โดยชนะคะแนน แดนนี่ คิด เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ โผนจึงได้มีชื่อติดอันดับโลก และเป็นการกรุยทางสู่การชิงแชมป์โลก

หลังจากที่โผนชนะแดนนี่ คิด ก็ได้เข้าสู่อันดับโลก แต่โผนก็กรามหักจนต้องหยุดชกไป 6 เดือน หลังจากนั้น จึงขึ้นชิงแชมป์ภาครุ่นแบนตัมเวทแต่เป็นฝ่ายแพ้คะแนน เลโอ เอสปิโนซ่า โผนจึงกลับมาชกในรุ่นฟลายเวทดังเดิม ป้องกันแชมป์ภาคได้สองครั้งก่อนจะสละตำแหน่งเพื่อรอชิงแชมป์โลก แต่หลังจากที่โผนชกชนะคะแนน มานูเอล อาร์เมนตรอส นักมวยระดับรองแชมป์โลกเมื่อ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โผนขับรถชนท้ายรถบรรทุก ต้องเข้าโรงพยาบาลอาการสาหัส ต้องหยุดชกไปทั้งปี[5] เมื่อขึ้น พ.ศ. 2503 โผนกลับมาชกชนะนักมวยฟิลิปปินส์อีกครั้ง ก็ได้กำหนดชิงแชมป์โลกกับปัสกวล เปเรซ

แชมป์โลกคนแรกของไทย

โผนชกแก้มือกับ ปัสกวล เปเรซ

การชิงแชมป์โลกของโผนกับปัสกวล เปเรซ เจ้าของแชมป์โลก NBA เดอะริงและไลนีลชาวอาร์เจนตินาสนามมวยเวทีลุมพินี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วย โดยมีการจัดที่ประทับที่ชั้น 2 ของอัฒจันทร์ด้านทิศใต้[6] การชกในวันนั้นไม่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เนื่องจากประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ แต่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง และมีการบันทึกการชกเป็นหนังสารคดีฉายตามโรงภาพยนตร์ในภายหลังแทน[7][2] ในตอนแรกกำหนดการชิงแชมป์โลกของโผน คือ 2 เมษายน แต่เลื่อนออกมาเป็น 16 เมษายน มีการแต่งเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงด้วยทำนองเพลงกราวกีฬาว่า[8]

วันที่ 2 เมษามหาฤกษ์ ชาวไทยเอิกเกริกกันทั่วหน้า โผนจะได้ชิงมงกุฏสุดโสภา เป็นมิ่งขวัญประชาชาติไทย

ก่อนถึงวันชก มีการโปรโมตตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น แต่งเพลงเชียร์โผนเป็นทำนองเพลงมาร์ช ปลุกใจ ตามวิทยุ หรือ รถกระจายเสียง ซึ่งผู้แต่ง คือ สุรพล โทณะวณิก และผู้ขับร้อง คือ มีศักดิ์ นาครัตน์ มีเนื้อร้องบางช่วงว่า

เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน..โผน...โผน...โผน...โผน เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทย....ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า.....

แต่ก็มีเด็ก ๆ ไปแปลงเนื้อเป็น[9]

โผน กิ่งเพชร เปเรซ กิ่งไผ่ โผน มือไวต่อยไข่ เปเรซ

สำหรับ เปเรซ นั้น เคยครองเหรียญทองโอลิมปิกมาแล้ว จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นที่กรุงลอนดอน ในปี พ.ศ. 2491 และก่อนหน้าจะมาป้องกันตำแหน่งกับโผนนั้นได้ป้องกันตำแหน่งได้แล้วถึง 10 ครั้ง ครองแชมป์อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ปี โดยอายุของเปเรซขณะนั้นได้ 33 ปี ขณะที่โผนอายุเพียง 25 ปี ผ่านการชกมาแค่ 22 ไฟท์ เมื่อมาถึงคนไทยก็ให้ฉายาเปเรซว่า "ยักษ์แคระ" เพราะเป็นนักมวยรูปร่างเล็ก แต่มีช่วงแขนที่ใหญ่บึกบึน

ผลการแข่งขันในการชกในครั้งนั้น ปรากฏว่าโผนชนะคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยกรรมการ โลเรนโซ โตร์เรโออัลบา กรรมการห้ามบนเวทีชาวอาร์เจนตินา ชาติเดียวกับเปเรซ ให้เปเรซชนะ 145 - 143 กรรมการชาวไทย วงศ์ หิรัญยเลขา ให้โผนชนะ 148 - 137 และ แน็ต ฟลายเชอร์ กรรมการจากเดอะริง ให้โผนชนะ 146 - 140 ได้ครองแชมป์โลกของ NBA สถาบันเดอะริง (The Ring) และไลนีล รุ่นฟลายเวทเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทย ภายหลังการรู้ผลการชกที่อำเภอหัวหินบ้านเกิดของโผนได้มีการจุดพลุฉลองทั่วทั้งเมืองทันที ต่อมา สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี เป็น วันนักกีฬายอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ วันนักกีฬาไทย[10] โดยมีการมอบรางวัลถ้วยพระราชทานเป็นประจำทุกปี (คนละวันกับ วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ที่กำหนดตามวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้เหรียญทองกีฬาซีเกมส์)

ในชกในครั้งนี้ ราคาค่าเข้าชมอยู่ที่ 60 บาท 150 บาท และ 350 บาท และเก็บค่าเข้าชมได้ถึง 1,600,000 บาท ถือว่าเป็นรายได้ที่สูงมากในสมัยนั้น[6]

โผนชนะคะแนน ปัสกวล เปเรซ ที่เวทีมวยลุมพินี

ในการชกครั้งต่อ ๆ มา เมื่อโผน กิ่งเพชร เสียตำแหน่งไปก็สามารถชิงกลับมาได้ถึง 3 ครั้ง โดยมีหลายไฟท์ในความทรงจำ เช่น การแก้มือกับ ปัสกวล เปเรซ ที่ลอสแอนเจลิส โดยชนะทีเคโอไปอย่างหายสงสัย และชนะคะแนน "เสือหมัดซ้าย" มิตสึโนริ เซกิ ถึงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โผนเสียแชมป์สมัยแรกให้กับไฟติง ฮาราดะ นักมวยดาวรุ่งจากญี่ปุ่น ก่อนการชก โผนเป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งในด้านประสบการณ์และฝีมือ และการชกในครั้งนี้เป็นการชกชิงแชมป์โลก WBA ครั้งแรกในเอเชีย (สมาคมมวยแห่งชาติสหรัฐ (NBA) ได้เปลี่ยนมาเป็นสมาคมมวยโลก (WBA) แทน)​ แต่เมื่อชกกันจริง ปรากฏว่าฮาราดะใช้ความหนุ่มแน่นบุกตะลุยเข้าชกตั้งแต่ยกแรกจนโผนตั้งตัวไม่ติด อ่อนแรงลงจนถูกชกลงไปให้กรรมการนับถึงสิบและเป็นฝ่ายแพ้น็อกไปในที่สุด[11]

โผนได้ชกแก้มือกับฮาราดะอีกครั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วย การชกครั้งนั้นจัดที่อาคารยิมเนเซียม 1 (อาคารกีฬานิมิบุตรในปัจจุบัน) เป็นศึกชิงแชมป์โลกครั้งที่ 4 ที่จัดในเมืองไทย ในวันนั้นคนดูเข้าซื้อตั๋วที่สนามจนแน่น ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และมีคนดูที่ซื้อตั๋วแล้วแต่เข้าสนามไม่ได้อีกมาก[12] การชกในยกแรก ๆ โผนใช้เชิงชกที่เหนือกว่าและหมัดแย็ป เก็บคะแนนไปเรื่อย ๆ ส่วนฮาราดะยังบุกตะลุยเข้ามาในแบบเดิม จนโผนเริ่มหมดแรง ยืนขาตายหนีไม่ออก ถูกฮาราด้าไล่ถลุง ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จถึงสนามมวยพอดี เมื่อโผนทราบว่าพระองค์เสด็จมาถึงก็เกิดกำลังใจออกไปชกกับฮาราดะได้ในรูปแบบเดิมใช้จังหวะฝีมือที่เหนือกว่าหลอกล่อฮาราดะ แทบจะเป็นฝ่ายชกข้างเดียวครบ 15 ยก โผนจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนน ได้ครองแชมป์โลกสมัยที่ 2[11]

โผนถูก ไฟติง ฮาราดะ ชกขวาตรงเข้าใบหน้า แต่เป็นฝ่ายชนะคะแนนเมื่อครบ 15 ยก ที่กรุงเทพ ในไฟท์แก้มือ

หลังจากชิงแชมป์คืนมาจากฮาราดะ โผนว่างเว้นจาการชกไปนานเนื่องจากโผนไม่ยอมเข้าค่ายซ้อม แม้จะมีผู้ท้าชิงจากญี่ปุ่น คือ ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ ติดต่อมา แต่ก็ต้องเลื่อนกำหนดการชกออกไปหลายครั้ง ระหว่างนี้ นิยม ทองชิตร ถอนตัวจากการเป็นเทรนเนอร์ หิรัญ สีดอกบวบ พี่ชายเข้ามาเป็นผู้จัดการแทน ในที่สุดกำหนดการชกระหว่างโผนกับเอบิฮาระมีขึ้นเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2506 และโผนเป็นฝ่ายแพ้น็อกแค่ยกแรกเท่านั้น[13]

โผนถูกหมัดของเอบิฮาระจนแพ้น็อกในยก 1 ที่ญี่ปุ่น

แต่ก็สามารถชกแก้มือ ชิงแชมป์โลกคืนจากเอบิฮาระ เป็นสมัยที่สาม หลังจากนั้น ชื่อเสียงของโผนเริ่มตกต่ำลง การชกมวยของโผนไม่เป็นที่ราบรื่น เพราะขัดแย้งกับเทรนเนอร์ และผู้จัดการเสมอ ๆ จนต้องมีการเปลี่ยนตัวบ่อยครั้ง ประกอบกับโผนเองก็ติดสุราอย่างหนัก จนเกือบเป็นสุราเรื้อรัง หนีซ้อม ผลการชกก็ตกลงเรื่อย ๆ จนเสียแชมป์ให้กับซัลวาโตเร บูร์รูนี ที่อิตาลี จากนั้น โผนไม่มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกเลย กลับมาชกไต่อันดับก็แพ้คะแนน เบบี โรโรน่า (ฟิลิปปินส์) เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[3] โผนจึงแขวนนวมในปี พ.ศ. 2509 เมื่ออายุได้ 31 ปี

เกียรติประวัติ

ชนะ 35 ครั้ง (ชนะน็อก 9 ครั้ง, ชนะคะแนน 26 ครั้ง), แพ้ 7 ครั้ง (แพ้น็อก ครั้ง, แพ้คะแนน ครั้ง)
ครั้งที่ ผลการชก สถิติ ผู้ท้าชิง ประเภท ยก., เวลา วันที่ สถานที่ หมายเหตุ
แชมป์ประเทศไทยรุ่นฟลายเวท
ชิง ชนะ 5-5-0 ไทย กู้น้อย วิถีชัย ชนะคะแนน 15 1956-10-14 ไทย สนามมวยราชดำเนิน ขึ้นชกมวยสากลครั้งแรก
สละแชมป์
แชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท (2500)
ชิง ชนะ 18-10-5 ฟิลิปปินส์ แดนนี่ คิด ชนะคะแนน 15 1956-01-06 ไทย สนามมวยราชดำเนิน ขึ้นชิงแชมป์ในระดับนานาชาติครั้งแรก.
ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1 ชนะ 29-12-5 ญี่ปุ่น ฮิโตชิ มิซาโกะ ชนะคะแนน 15 1957-09-14 ไทย สนามมวยราชดำเนิน
แชมป์โลก NBA เดอะริงและไลนีลรุ่นฟลายเวท (2503–2505)
ชิง ชนะ 54-1-1 อาร์เจนตินา ปัสกวล เปเรซ ชนะคะแนน 15 1960-04-16 (ไทย สนามมวยเวทีลุมพินี
ป้องกันครั้งที่ 1 ชนะ 54-2-1 อาร์เจนตินา ปัสกวล เปเรซ ชนะน็อกโดยเทคนิค 8 (15) 1960-09-22 (สหรัฐอเมริกา โอลิมปิก ออดิทอเรียม ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
ป้องกันครั้งที่ 2 ชนะ 21-2-1 ญี่ปุ่น มิตสึโนริ เซกิ ชนะคะแนน 15 1961-06-27 (ญี่ปุ่น) สนามกีฬาแห่งชาติคูรามาเอะ โตเกียว
ป้องกันครั้งที่ 3 ชนะ 36-6-5 ญี่ปุ่นเคียว โนงูจิ ชนะคะแนน 15 1962-05-30 (ญี่ปุ่น) สนามกีฬาแห่งชาติคูรามาเอะ โตเกียว
เสียแชมป์ แพ้ 26-1-0 ญี่ปุ่นไฟติง ฮาราดะ แพ้น็อก 11 (15) 1962-10-10 (ญี่ปุ่น) สนามกีฬาแห่งชาติคูรามาเอะ โตเกียว [14] ชิงแชมป์โลก WBA ที่ว่างไม่สำเร็จ
แชมป์โลก WBA รุ่นฟลายเวท สมัยที่ 1 แชมป์โลกเดอะริงและไลนีลรุ่นฟลายเวท สมัยที่ 2 (2506)
ชิง ชนะ 27-1-0 ญี่ปุ่น ไฟติง ฮาราดะ ชนะคะแนน 15 1963-01-12 (ไทย อาคารกีฬานิมิบุตร ภายในกรีฑาสถานแห่งชาติ เขตปทุมวัน [15]
เสียแชมป์ แพ้ 36-1-1 ญี่ปุ่นฮิโรยูกิ เอบิฮาระ แพ้น็อก 1 (15) 1963-09-18 (ญี่ปุ่น) ศูนย์กีฬาในร่มโตเกียว โตเกียว [16] ชิงแชมป์โลก WBC ที่ว่างไม่สำเร็จ
แชมป์โลก WBA สมัยที่ 2 แชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวท สมัยที่ 1 แชมป์โลกเดอะริงและไลนีลรุ่นฟลายเวท สมัยที่ 3 (2507–2508)
ชิง ชนะ 38-1-1 ญี่ปุ่น ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ ชนะคะแนน 15 1964-01-23 (ไทย เวทีราชดำเนิน
เสียแชมป์ แพ้ 76-3-1 อิตาลีซัลวาโตเร บูร์รูนี แพ้คะแนน 15 1965-04-23 (อิตาลี) พาลาสโซเดลโลสปอร์ต แคว้นลัตซีโย โรม
เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
ชิงแชมป์ OPBF รุ่นแบนตัมเวท แพ้ 17-3-2 ฟิลิปปินส์ เลโอ เอสปีโนซา แพ้คะแนน 15 1965-04-23 (ไทย) สนามมวยราชดำเนิน

ผลงานด้านอื่น

การแสดงภาพยนตร์

เมื่อยังเป็นแชมป์โลกอยู่นั้น โผน กิ่งเพชร เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง "เทพบุตรนักเลง" ในปี พ.ศ. 2508 ด้วย นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ โดยโผนแสดงเป็นตัวประกอบ เนื่องจากเป็นบุคคลที่โด่งดังอยู่ในเวลานั้น และมี อภิเดช ศิษย์หิรัญ นักมวยไทยชื่อดังร่วมสมัยแสดงด้วย นอกจากนี้ เมื่อโผนเสียชีวิตไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2529 กันตนาจึงได้ผลิตละครชีวประวัติของโผน กิ่งเพชร ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5[17][18]นำแสดงโดย โกวิท วัฒนกุล

การฝึกสอนมวยสากล

โผนเป็นนักมวยที่มีจุดเด่นที่หมัดแยปรวดเร็ว ฟุตเวิร์กคล่องแคล่ว หาจังหวะชกฉาบฉวยได้ดี และมีปฏิภาณไหวพริบในการชก ไม่ใช่มวยหมัดหนักแบบ "โป้งเดียวจอด"[8] เมื่อโผนเลิกชกมวยแล้ว เคยมีนักมวยรุ่นหลังมาฝึกมวยกับโผนหลายคน รวมทั้ง พเยาว์ พูนธรัตน์ ส่วน ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกคนที่ 2 เคยมาเป็นคู่ซ้อมของโผนอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2519 - 2520 มีชาวญี่ปุ่นมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลที่ญี่ปุ่น แต่โผนปฏิเสธ โดยกล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้วิชามวยนี้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่มีหน่วยงานใด ๆ ในไทยมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีฟิล์มภาพยนตร์บันทึกภาพการชกของโผนไว้ศึกษาในพิพิธภัณฑ์[2]

กิจกรรมด้านสังคม

เมื่อโผนได้เป็นแชมป์โลก และเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง โผนได้สร้างโรงเรียนที่อำเภอหัวหินชื่อ "โรงเรียนมานะวิทยา" เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้เรียน โดยเซ้งกิจการต่อจากโรงเรียนจีนที่ใกล้จะปิดกิจการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 แต่เปิดอยู่ได้ไม่นาน ก็ซบเซาจนต้องปิดกิจการ และถูกกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดเมื่อ พ.ศ. 2520[2]

อนุสรณ์สถาน

อนุสาวรีย์ โผน กิ่งเพชร ที่ชายหาดหัวหิน ที่เทศบาลเมืองหัวหินสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2535

แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานของโผน กิ่งเพชรเริ่มขึ้นตั้งแต่โผนเสียชีวิต แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2532 หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดฉายภาพยนตร์การชกระหว่างโผนกับเปเรซ เก็บเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการสร้างอนุสรณ์สถาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 สมาคมกิจวัฒนธรรมได้เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานอีกครั้ง และได้เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ของโผนที่หาดหัวหิน เทศบาลตำบลหัวหินได้จัดงานแสดงดนตรีเพื่อระดมทุนก่อสร้างเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2534 จากนั้น จึงเริ่มการสร้างและมีพิธีเปิดเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2535[10] ลักษณะรูปปั้น สูง 2 เมตร 20 เซนติเมตร อยู่ในท่ายืน มือขวาชูกำปั้น มือซ้ายถือเข็มขัดแชมป์โลก[19] โดยประติมากรผู้ปั้นรูปโผน คือ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2549[20]

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ที่ตั้งชื่อให้เกียรติกับโผน คือ "น้ำตกโผนพบ" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยโผนได้เคยมาฟิตซ้อมบนภูกระดึงเพื่อให้เคยชินกับอากาศของต่างประเทศ ก่อนเดินทางไปแข่งขัน จึงได้ตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่โผน กิ่งเพชร[21]

ทั้งนี้ ภาพยนตร์การชกมวยชิงแชมเปี้ยนโลกระหว่างโผน กิ่งเพชร-ปาสคาล เปเรซ พ.ศ. 2503 เวทีมวยลุมพินี กรุงเทพ ยังเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ 25 เรื่อง ที่กระทรวงวัฒนธรรม เลือกให้เป็นมรดกของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2555 ด้วยเช่นกัน[22]

การสร้างเป็นละครโทรทัศน์

อ้างอิง

  1. boxrec.com
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 ทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์. โผน กิ่งเพชร ผู้บุกเบิกตำแหน่งแชมป์โลกของไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (6) : เมษายน 2527 หน้า 88-97
  3. 3.0 3.1 3.2 สมพงษ์ แจ้งเร็ว. สังเขปชีวิตการต่อสู้ของโผน กิ่งเพชร แชมป์โลกขวัญใจชาวไทย.ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 หน้า 98 - 99 เมษายน 2527
  4. อาว์สังข์ สุดเสียง. เรื่องเก่าเล่าใหม่:สนอง ร.ส.พ. หนึ่งเดียวที่โผนกิ่งเพชรไม่กล้าทาบ. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1128 เมษายน 2539 หน้า 40 - 43
  5. ชายพจน์. โผน กิ่งเพชร ราชันฟลายเวทขวัญใจชาวไทยคนแรก! (จบ) . นิตยสารมวยโลก. ปีที่ 30 เล่มที่ 1441 18 – 24 เมษายน 2555 หน้า 44 – 46
  6. 6.0 6.1 "มวย 20 ธันวาคม 2557 ฮวน การ์โลส เรเบโก VS ยอดมงคล ซีพีเฟรชมาร์ท ดูมวยย้อนหลัง". watchlakorn.in. สืบค้นเมื่อ 22 December 2014.
  7. รายชื่อภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2503
  8. 8.0 8.1 อัศศิริ ธรรมโชติ. โผนรำลึก. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 (6) เมษายน 2527 หน้า 100 - 103
  9. "พล นิกร กิมหงวน ตอน ไปเชียร์โผน". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2002-11-24. สืบค้นเมื่อ 2002-11-24.
  10. 10.0 10.1 โดม สุขวงศ์. เปิดอนุสาวรีย์ โผน กิ่งเพชร 16 เมษายน 2535. ศิลปวัฒนธรรม. ปี่ที่ 13 (6) : 121-126 เมษายน 2535
  11. 11.0 11.1 คนเหล็ก. ย้อนอดีตมวยดัง:มาซาฮิโกะ ไฟติง ฮาราดะ ผู้เขี่ยโผนหล่นจากบัลลังก์โลก. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1197 สิงหาคม 2550 หน้า 40 -41
  12. ท่านปลัด. เรื่องเก่าเล่าใหม่: 2 ศึกชิงแชมป์โลกที่ลืมไม่ลง. นิตยสารมวยโลก. เล่มที่ 1132 พฤษภาคม 2549 หน้า 19-21
  13. อาว์สังข์ สุดเสียง. เรื่องเก่าเล่าใหม่:โผน VS เอบิฮาระที่โตเกียว ...โผนถูกน็อกยกแรก. นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 1135 หน้า 18-21 มิถุนายน 2549
  14. รวมเทปการชกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC โผน กิ่งเพชร V.S. ไฟติง ฮาราดะ ครั้งที่1 (ตอนที่1-5)
  15. รวมเทปการชกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA โผน กิ่งเพชร V.S. ไฟติง ฮาราดะ ครั้งที่2 (ตอนที่1-5)
  16. "เทปการชกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC โผน กิ่งเพชร V.S. ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-19. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  17. ตัวอย่างละครชีวประวัติของโผน กิ่งเพชร
  18. ขอเชิญร่วมระลึกละครกันตนา-ททบ.5 ก่อนที่สิ่งดีๆจะมาถึง
  19. เอกรินทร์ พึ่งประชา. โผน กิ่งเพชร "เพชร" เฉิดฉายที่ชายหาดหัวหิน. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 13 (6) : 128-132. เมษายน 2535
  20. "ลำดับเหตุการณ์กว่าจะเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-02. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
  21. คำเล่าขานกับตำนานภูกระดึง เก็บถาวร 2007-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน se-ed.net
  22. ซิเดอร์ บางนา. มายาประเทศ. เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1063. วันที่ 12 ตุลาคม 2555. ISSN 15135705. หน้า 35

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า โผน กิ่งเพชร ถัดไป
ปัสกวล เปเรซ แชมป์โลกเดอะริงรุ่นฟลายเวท
(16 เม.ย. 2503 - 10 ต.ค. 2505)
ไฟติง ฮาราดะ
ไฟติง ฮาราดะ แชมป์โลก WBC,WBA รุ่นฟลายเวท
(12 ม.ค. 2506 - 18 ก.ย. 2506)
ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ
ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ แชมป์โลก WBC,WBA รุ่นฟลายเวท
(23 ม.ค. 2507 - 23 เม.ย. 2508)
ซัลวาโตเร บูร์รูนี
Kembali kehalaman sebelumnya