ปราสาทปลายบัด
ปราสาทปลายบัด หรือ ปราสาทเขาปลายบัด ประกอบด้วยโบราณสถานในคติความเชื่อของขอมสองหลัง ได้แก่ ปราสาทเขาปลายบัด 1 และ 2 ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันราว 1 กิโลเมตร[1] ตั้งอยู่ที่อำเภอประโคนชัย และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์[2] ห่างจากปราสาทพนมรุ้งไปทางทิศใต้ประมาณ 5.5 กิโลเมตร จากปราสาทเมืองต่ำไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 1.4 กิโลเมตร และห่างจากเมืองบุรีรัมย์ประมาณ 62 กิโลเมตร[3] เป็นศาสนบรรพตหรือศาสนสถานที่สร้างบนเขาปลายบัดที่มีความสูง 289 เมตร[4] ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้วเช่นเดียวกับเขาพนมรุ้ง ปราสาทปลายบัดสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูลัทธิไศวนิกาย และพุทธสถานนิกายมหายาน[5] มีความโดดเด่นในเรื่องการสร้างระบบการจัดการน้ำเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญ ด้วยการดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟเป็นสระน้ำ มีการสร้างคันบังคับน้ำเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้ไหลลงสู่บารายของปราสาทเมืองต่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ราบ และเป็นภูเขาลูกโดดเพียงลูกเดียวที่พบปราสาทขอมบถึง 2 ปราสาท ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในปราสาทที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม[6] ปราสาทปลายบัด 1ปราสาทปลายบัด 1 ตั้งอยู่บนยอดเขาปลายบัด ในเขตบ้านโคกเมือง ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย ปัจจุบันพบเพียงปราสาทประธานและอาคารบริวารที่ตั้งอยู่ด้านหน้า 2 หลัง ตัวปราสาทมีลักษณะเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมสร้างด้วยหินทรายและอิฐ มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก ขอบประตูมีลวดลายบางตอนเข้าใจว่าเป็นปราสาทที่สร้างไม่แล้วเสร็จ ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า จึงสันนิษฐานว่าด้านข้างทั้งสองของปราสาทประธานเคยมีปราสาททรงปราสาทอีกสองหลังที่สร้างด้วยอิฐและพลังทลายแล้ว[6] บนยอดเขาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทยังพบหลักฐานคล้ายเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะแบบคลัง เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทคลังใต้ ปราสาทคลังเหนือ เป็นต้น[6] ปราสาทปลายบัด 2ปราสาทปลายบัด 2 ตั้งอยู่บนสันเขา ห่างจากปราสาทปลายบัด 1 ไปทางทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร อยู่ในเขตบ้านยายแย้ม ตำบลยายแย้มพัฒนา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยอิฐ มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออกในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก รูปแบบผังเป็นแบบเดียวกับปราสาทปลายบัด 1 ร่วมสมัยกับศิลปะแบบบาปวน[6][7] บริเวณด้านหน้าทางทิศตะวันออกพบชิ้นส่วนปราสาทจำลองแกะสลักจากหินภูเขาไฟ พื้นที่โดยรอบมีกำแพงแก้วก่อสร้างด้วยศิลาแลง และพบร่องรอยหลุมลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบศิลาจารึกซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรได้อ่านแปลจารึกหลักนี้ได้ความว่าเป็นจารึกอักษรของโบราณภาษาเขมร-สันสกฤต ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1468 เกี่ยวกับพระบรมราชโองการของพระเจ้าศรีอีสานวรมันถึงขุนนางท้องถิ่น[8][2][9] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |