Share to:

 

พระปรางค์สามยอด

พระปรางค์สามยอด
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระปรางค์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมลพบุรี, ขอมโบราณ
เมืองตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ประเทศไทย ประเทศไทย
พิกัด14°48′10″N 100°36′50″E / 14.80278°N 100.61389°E / 14.80278; 100.61389
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18[1]
ปรับปรุงไม่ทราบแน่ชัด
ความสูง21.5 เมตร[2]
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างอิฐศิลาแลง
พื้นที่3 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา[2]
  • ความยาวจากทิศเหนือ-ทิศใต้ ประมาณ 45.6 เมตร[1]
  • ความยาวจากทิศตะวันออก-ทิศตะวันตกประมาณ 48.0 เมตร[1]

พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานและ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทขอมในศิลปะบายน (พ.ศ. 1720 – 1773) โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 – ป. 1757) เพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมร นับว่าเป็นปราสาทขอมโบราณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรมแบบขอมโบราณที่ยังคงสมบูรณ์และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

พระปรางค์สามยอดในอดีต (ราว พ.ศ. 2501 ด้านทิศตะวันออก)

สถานที่ตั้งและลักษณะทางกายภาพ

ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี บนเนินดินด้านตะวันตกของทางรถไฟ ใกล้กับศาลพระกาฬ เป็นปราสาทศิลาแลงแบบขอมเรียงต่อกัน 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ภายในบริเวณนอกจากปราสาททั้ง 3 องค์นี้แล้ว ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานมีการต่อเติมวิหารก่ออิฐถือปูนเชื่อมต่อกับปราสาทประธาน เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199 – 2231)

ประวัติ

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 และได้กำหนดเขตที่ดินให้มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 2 งาน 54 ตารางวา ตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2545[3]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

พระปรางค์สามยอดในปัจจุบัน (ด้านทิศตะวันออก)

เป็นปราสาทขอม 3 องค์ เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน (อันตรละ) โดยวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ปราสาทประธานมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 องค์ โครงสร้างของปราสาททำจากศิลาแลงฉาบปูน มีการประดับประดาตามส่วนต่าง ๆ ของปราสาทด้วยปูนปั้น อันเป็นลักษณะของงานสถาปัตยกรรมในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เช่น ปรางค์พรหมทัตที่ปราสาทพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประดิษฐานพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ที่สร้างเป็นปราสาทศิลาแลง 3 องค์เรียงกันในลักษณะเดียวกับพระปรางค์สามยอด และปรางค์องค์กลางของวัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

ลวดลายประดับ

ส่วนยอดหรือศิขระ สร้างด้วยหินทรายเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดลงมาเป็นการยกเก็จสามเก็จตรงด้านและมุมประดับด้วยกลีบขนุนทำจากศิลาแลง และบางส่วนทำจากปูนปั้นเป็นรูปบุคคลยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนที่ยกเก็จชั้นที่ 4 เดิมทั้ง 4 ทิศ จะมีการปั้นเทพประจำทิศอยู่ในกลีบขนุนและตอนล่าง ได้แก่ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณประจำทิศตะวันออก พระวรุณทรงหงส์ ประจำทิศตะวันตก ท้าวกุเวรทรงมกร ทิศเหนือ และ พระยมทรงกระบือ ทิศใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วน สันหลังคาของมุขกระสันประดับด้วยบราลีศิลาแลงปั้นเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ในซุ้มเรือนแก้ว ปัจจุบันเสียหายทั้งหมด

  • บัวรัดเกล้าเรือนธาตุ

มีการประดับลวดลายปูนปั้นประกอบไปด้วย แถวบนสุดเป็นลายดอกไม้กลม ถัดลงมาปั้นปูนเป็นรูปกลีบบัวหงาย แถวถัดลงมาเป็นลายดอกซีกดอกซ้อน รูปหงส์ ลายกลีบบัวหงาย ลายก้านขด และดอกบัวตูม เรียงเป็นแถว ลวดลายละ 1 แถวรวมเป็น 3 แถว จบด้วยลายกรวยเชิงเป็นรูปเกียรติมุข (หน้ากาล) คายเฟื่องอุบะ

  • ตอนกลางของเรือนธาตุ

มีลายปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขดที่แถวบนสุด ถัดลงมาเป็นบัวฟันยักษ์คว่ำ หน้ากระดานเป็นลายกระจังประกอบกันเป็นลายกากบาทแทรกด้วยลายประจำยามลายเล็กและลายดอกซีกดอกซ้อน ถัดลงมาเป็นลายกลีบบัวหงาย ลายกระหนกวงโค้ง ลายดอกบัว ตอนล่างสุดเป็นลายกรวยเชิงตามลำดับ

  • บัวเชิงเรือนธาตุ

ด้านบนสุดเป็นรูปใบหน้าของชาวจามที่เป็นศัตรูกับชาวเขมรที่ถูกประดิษฐ์เป็นใบหน้าของยักษ์ประกอบกับลายกรวยเชิง อันเป็นที่นิยมมากในศิลปะแบบบายนของกัมพูชา ถัดลงมาเป็นลายดอกบัว สันลูกแก้วอกไก่เป็นลายรักร้อย และบัวฟันยักษ์คว่ำ ลายก้านขด และดอกซีกดอกซ้อน ลายละหนึ่งแถวตามลำดับ

ในส่วนของลวดลายหน้าบันและทับหลังนั้น ปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลักฐานเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการปั้นปูนประดับลงบนศิลาแลง เมื่อเวลาผ่านไปรูอากาศของศิลาแลงจะมีการขยายตัว ทำให้ลวยลายปูนที่ปั้นประดับอยู่นั้นกะเทาะออกมารวมถึงลิงที่มาอาศัยก็มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย[4]

นอกจากนี้ในสมัยอยุธยาตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และดัดแปลงพระปรางค์สามยอดเพื่อใช้เป็นพุทธศาสนสถานอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการซ่อมแซมส่วนที่เป็นเพดาน โดยยังคงเห็นร่อยรอยของการปิดทองเป็นรูปดาวเพดาน และการสร้างฐานภายในพระปรางค์สามยอดหลายฐานลักษณะคล้ายกับฐานชุกชีด้วยอิฐ อันเป็นวัสดุที่แตกต่างไปจากส่วนอื่น ๆ ของพระปรางค์สามยอดซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลาแลง

รูปเคารพในพระปรางค์สามยอด

พระพุทธรูปภายในพระปรางค์สามยอด

จากหลักฐานภาพถ่ายที่เก่าแก่ที่สุดในเวลานี้ที่ถูกถ่ายขึ้นในช่วงเวลาปี ค.ศ. 1908–1933 โดย Reginald S. Le May นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักการทูตชาวอังกฤษที่เคยรับราชการอยู่ในประเทศสยาม(ณ เวลานั้น) ทำให้ทราบว่าแต่เดิมภายในปราสาทประธานเคยประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย (ทะเบียน ล.2831) ณ ตำแหน่งรูปเคารพประธานของพระปรางค์สามยอด บนแท่นสนานโทรณิที่ใช้เป็นแท่นรองสรงภายในปราสาทประธาน ปัจจุบันรูปเคารพประธานองค์นี้เก็บรักษาอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จากรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาท 3 องค์ที่พบภายในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือที่นิยมเรียกกันว่า "พระพิมพ์รัตนตรัยมหายาน" ทำให้ทราบอีกทางว่า แต่เดิมภายในปราสาทประธานของพระปรางค์สามยอดนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก และอาจจะเคยประดิษฐานพระโพธิสัตว์องโลกิเตศวรในปราสาททิศใต้ และพระนางปรัชญาปารมิตาในปราสาททิศเหนือ ดังที่ปรากฏบนพระพิมพ์ โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นภายใต้คติความเชื่อพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานจากขอม[5]: 113, 116–117 

สำหรับรูปเคารพอื่นๆ ได้แก่ พระอาทิพุทธะ หรือพระมหาไวโรจนะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 6 ของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่จารึกของอาณาจักรเขมร เรียกว่า พระวัชรสัตว์[5]: 105  ในศิลปะเขมรนิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ส่วนพระโลเกศวรอันเป็นพระนามที่ปรากฏในจารึกของกัมพูชาใช้เรียกพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงเป็นบุคลาธิษฐานของความเมตตากรุณาและสัญลักษณ์ของอุบาย (อุปายะ) และพระนางปรัชญาปารมิตา เทวนารีผู้ทรงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาอันล้ำเลิศบุคลาธิษฐานของคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร รูปเคารพทั้ง 3 นี้นิยมสร้างในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน โดยประกอบกันเป็นความหมายเชิงพุทธปรัชญาของลัทธิวัชรยาน กล่าวคือ พระโลเกศวรทรงเป็นตัวแทนของอุบาย หรือวิธีการอันแนบเนียนซึ่งใช้ไขเข้าสู่ปราชฺญา หรือปัญญาที่มีพระนางปรัชญาปารมิตาเป็นสัญลักษณ์ อันจะนำไปสู่การบรรลุพุทธสภาวะหรือศูนฺยตา ซึ่งแทนด้วยพระวัชรสัตว์

สำหรับรูปเคารพอื่น ๆ ที่พบในพระปรางค์สามยอดนั้น ส่วนมากเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ซึ่งกรมศิลปากรได้อัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

วิหารหน้าพระปรางค์สามยอด

เป็นวิหารก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สภาพของวิหารคงเหลือเพียงผนังทั้ง 2 ข้างและผนังหุ้มกลองทางด้านทิศตะวันออก ส่วนเครื่องบนพังทลายไปหมดแล้ว ประตูของผนังหุ้มกลองด้านทิศตะวันออกก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) แบบตะวันตก ส่วนประตูทางเข้าที่ผนังด้านข้างของวิหารและหน้าต่างที่ผนังด้านหลังของวิหารก่ออิฐเป็นซุ้มโค้งกลีบบัว (pointed arch) แบบศิลปะอิสลาม ป้จจุบันเหลือเพียงซุ้มหน้าต่างด้านทิศเหนือเท่านั้น โครงสร้างผนังของก่ออิฐหนาทึบสลับกับศิลาแลงบางส่วน อันเป็นเทคนิคที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นเดียวกับกับอาคารที่สร้างขึ้นรัชสมัยนี้ที่นิยมก่อสร้างด้วยอิฐแทรกด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ เช่น พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาคารหลายหลังในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ด้านหลังของวิหารยกเก็จเป็นกะเปาะเชื่อมต่อกับประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ซึ่งการยกเก็จเป็นกะเปาะนี้เป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของวิหารซึ่งนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เช่น พระที่นั่งจันทรพิศาล ภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทำจากศิลา

อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด

อายุเวลาของพระปรางค์สามยอด พิจารณาจากรูปแบบการก่อสร้างที่ใช้ศิลาแลงเป็นโครงสร้างพอกด้วยปูนและประดับด้วยลวดลายปูนปั้น อันเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่นิยมมากในศิลปะบายนของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และยังสอดคล้องกับรูปแบบของพระพิมพ์รูปปราสาทสามยอด ที่ภายในแต่ละยอดประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก พระโลเกศวรสี่กร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่เคยประดิษฐานภายในปราสาททั้ง 3 หลังของพระปรางค์สามยอดด้วย โดยพระพิมพ์ดังกล่าวสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร จากเหตุผลดังกล่าว จึงสันนิษฐานได้ว่าพระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ที่ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1724 ถึงประมาณ 1757

ส่วนวิหารด้านหน้าของพระปรางค์สามยอดคงสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โดยพิจารณาจากเทคนิคการสร้างซุ้มโค้งของประตูและหน้าต่างที่ก่ออิฐตะแคงเป็นซุ้มโค้งหรืออาร์ช (arch) อันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มนิยมสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ดังตัวอย่างจากซุ้มโค้งของบ้านวิชาเยนทร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งสร้างในรัชสมัยดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ผนังของวิหารซึ่งมีการเสริมศิลาแลงเข้าไประหว่างอิฐเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น เป็นเทคนิคที่นิยมในรัชสมัยนี้เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในอาคารหลายหลังที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

อิทธิพลทางด้านศาสนาและการเมือง

จากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พระปรางค์สามยอดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิวัชรยานประจำเมืองละโว้ เพื่อประดิษฐานรูปพระวัชรสัตว์นาคปรก พระโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นรูปเคารพที่นิยมสร้างขึ้นในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่พุทธศาสนาลัทธิวัชรยานเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอาณาจักรเขมร เทียบได้กับศาสนาประจำอาณาจักรภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระองค์ ดังจารึกปราสาทพระขรรค์ที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ว่า หลังทรงครองราชย์ได้ 10 ปี ได้ทรงสร้างเทวรูปทำด้วยทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และศิลา เพื่อส่งไปพระราชทานยังเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์เป็นจำนวนถึง 20,400 องค์ และทรงส่งพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปนาคปรกอีก 23 องค์ไว้ตามเมืองใหญ่ ๆ ในอาณาจักร เช่นที่ “ละโว้ทยปุระ” (จังหวัดลพบุรี) “สุวรรณปุระ” (จังหวัดสุพรรณบุรี) “ศัมพูกปัฏฏนะ” (เมืองหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย) “ชยราชบุรี” (จังหวัดราชบุรี) “ชยสิงหบุรี” (เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี) “ชยวัชรบุรี” (จังหวัดเพชรบุรี) ซึ่งในขณะนั้นเมืองละโว้ในรัชสมัยของพระองค์ก็มีศักดิ์เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมรด้วย ดังปรากฏในจารึกของอาณาจักรเขมรว่า เจ้าชายอินทรวรมัน (ต่อมา คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2) พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับพระนางชัยราชเทวี ทรงครองเมือง “ละโว้”[6]

ต่อมาหลังการล่มสลายของพุทธศาสนาลัทธิวัชรยานในอาณาจักรเขมร พระปรางค์สามยอดจึงได้รับการดัดแปลงให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาท ดังเห็นได้จากการสร้างวิหารเชื่อมต่อกับปราสาทประธานในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์และบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองลพบุรี ในช่วงระยะเวลาที่เสด็จแปรพระราชฐานมายังเมืองลพบุรีเกือบตลอดรัชกาล

พระปรางค์สามยอดจำลอง

บนแผ่นฟิล์ม

สัญลักษณ์ (โลโก้) บริษัทละโว้ภาพยนตร์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พระบิดาของพระองค์ จากหลักฐานในใบปิดโฆษณา มีภาพลายเส้นองค์พระปรางค์กำกับชื่อบริษัทแนวโค้งขนาดใหญ่ เรื่อง นางทาษ พ.ศ. 2498[7]

ภาพสัญลักษณ์ที่หัวฟิล์มรุ่นไวด์สกรีน (พ.ศ. 2500–2505) องค์พระปรางค์รูปหล่อปูนปั้นขนาดย่อส่วน มีสีขาวและชื่อบริษัทสีทองแนวตรงที่ฐานสีแดง ส่วนรุ่นซีเนมาสโคป (พ.ศ. 2508–2523) มีสีทองสุกอร่ามทั้งองค์บนฐานสีแดง[8]

ปัจจุบันองค์สีทอง จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถ.ศาลายา จ.นครปฐม

อนึ่ง ชลหมู่ ชลานุเคราะห์ อดีตผู้อำนวยเพลงวงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร ศิษย์ของศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์ (ผู้ประพันธ์เพลงประจำตราบริษัท / แฟนแฟร์) กล่าวถึงองค์พระปรางค์จำลองดังกล่าวว่า อาจเป็นผลงานของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

แหล่งท่องเที่ยว

องค์พระปรางค์ขนาดจำลอง 2 แห่ง ได้แก่

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 "พระปรางค์สามยอด". การพัฒนาองค์ความรู้เขตเมืองเก่าลพบุรี. 22 เมษายน 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2017.
  2. 2.0 2.1 "พระปรางค์สามยอด". thailandtourismdirectory.go.th. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  3. "ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 119ง หน้า 10. 4 ธันวาคม 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-10-04.
  4. ณัฐพล อาจหาญ; วัชชพันธ์ บุญณลัย (2008). พระปรางค์สามยอด. การค้นคว้าประกอบการศึกษากระบวนวิชา 116400 ศิลปะในประเทศไทยสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (Report). สาขาศิลปะไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  5. 5.0 5.1 พิริยะ ไกรฤกษ์ (2001). อารยธรรมไทย พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม 1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: อมรินทร์. ISBN 978-974-272-339-2.
  6. Coedès George (1942). Inscriptions du cambodge (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 2. Hanoi & Paris: EFEO. p. 176. ISSN 0768-2530.
  7. "นางทาษ (2498)". thaibunterng. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  8. วีดิทัศน์หนังของละโว้ภาพยนตร์, โครงการทึ่งหนังไทย, มูลนิธิหนังไทย, 2540.

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya