Share to:

 

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู

ปราสาทเขาน้อยสีชมพู
Prasat Khao Noi Si Chomphu
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทปราสาทหิน
สถาปัตยกรรมขอม แบบสมโบร์ไพกุก
เมืองอำเภออรัญประเทศ, จังหวัดสระแก้ว
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 12
ปรับปรุงราวพุทธศตวรรษที่ 15
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างใช้ก่ออิฐ ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นหินศิลาแลง หินทราย

ปราสาทเขาน้อย หรือ ปราสาทเขาน้อยสีชมพู เป็นปราสาทหินที่เชื่อว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู สันนิษฐานว่าปราสาทนี้สร้างในพุทธศตวรรษที่ 12 และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 15 และคงความสำคัญจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16[1] ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อยสีชมพู ในเขตตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ห่างจากพรมแดน ไทย-กัมพูชา ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 มีเนื้อที่เขตโบราณสถานทั้งสิ้นประมาณ 50 ไร่ ปัจจุบันที่เชิงเขาข้าง ๆ ปราสาทเขาน้อยสีชมพู ได้กลายเป็นที่ตั้งของวัดเขาน้อยสีชมพูซึ่งปรับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง

ปราสาทหลังนี้เป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูน (ไม่ผสมปูน) เดิมทีมี 3 หลัง พังทลายลงคงเหลือแต่ปรางค์องค์กลางกับเนินดินอีก 2 เนิน ได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้นบริเวณ โบราณสถานแห่งนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ทับหลังเขาน้อย มีลักษณะศิลปเขมรแบบสมโบร์ไพกุก ติดอยู่เหนือกรอบประตูทางเข้าปรางค์องค์กลาง จารึกเขาน้อย (เป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในไทย) จารึกด้วยอักษรปัลวะโดยจารึกบนแผ่นวงกบประตูปรางค์องค์กลางด้านขวามือของประตู ระบุมหาศักราช 559 ตรงกับ พุทธศักราช 1180 เสาประดับประกอบประตู เป็นเสารูปแปดเหลี่ยม มีลายใบไม้ตามลักษณะศิลปะเขมรแบบกุเลน ประติมากรรมรูปบุคคลมี 4 กร ยืนอยู่เหนือศีรษะกระบือ

สันนิษฐานว่าเป็นรูปนางทุรคาตอนปราบอสูรควาย หรือมหิษาสุรมรรธนี โบราณวัตถุเหล่านี้ บางส่วนได้สูญหายและถูกโยกย้ายไปเก็บรักษาจนหมดสิ้น ในปีพุทธศักราช 2532 กรมศิลปากรได้มอบหมายให้หน่วยศิลปากรที่ 5 ดำเนินการขุดแต่งปราสาทเขาน้อยซึ่งเมื่อขุดลอกดินที่ทับถมออกจากปราสาทเขาน้อยทั้งหมด พบว่า ปรางค์ทิศเหนือและปรางค์องค์กลางตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน แต่ปรางค์ทิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก อาคารทิศใต้ตั้งอยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อยมีเพียงแนวฐานอิฐด้านหลังทำมาเชื่อมกัน

โบราณสถานทั้งหมดมีทางออกทางเดียวคือทางทิศ ตะวันออก ด้านหน้าของปราสาทมีบันไดทอดขึ้นสู่ตัวอาคารทั้ง 3 หลัง และที่ขั้นบันไดบางขั้นของทั้ง 3 หลัง มีรอยบากเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้ที่ปลายทั้งสองข้าง อาจมีไว้เพื่อเสียบเสาไม้ซึ่งต่อหลังคาเครื่องไม้จากซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน แต่ทำเป็นประตูหลอก 3 ด้าน ฐานปรางค์ตั้งบนฐานสูงอีกชั้นหนึ่งของฐานปัทม์ ประกอบด้วยหน้ากระดานบัวคว่ำ บัวหงาย ถัดขึ้นมาเป็นเรือนธาตุ เครื่องบนของปรางค์เป็นแบบจำลองของชั้นล่างขึ้นไปอีก 2 ชั้น บันไดทางขึ้นมี 7 ขั้น ขั้นล่างสุดและขั้นที่ 6 เป็นอัฒจันทร์ทำเป็นรูปปีกกา ขั้นที่ 4 เป็นที่พักบันได ทำเป็นลานอิฐ และขั้นที่ 7 เป็น ธรณีประตู มีรูเดือยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับเสียบวงกบประตูทั้ง 2 ข้าง ภายในองค์ปรางค์เป็นห้องสี่เหลี่ยม จัตุรัสกว้าง 6.60 เมตร ยาว 7.90 เมตร มีซุ้มประตูยื่นออกทุกด้าน และเป็นประตูหลอก 3 ด้านเช่น เดียวกัน ส่วนปรางค์องค์กลางฐานปรางค์องค์นี้มีรายละเอียดประณีตซับซ้อนมาก มีการย่อมุม เว้นช่องและเรียงอิฐลดหลั่นกันมากมาย ตั้งแต่ฐานจนถึงเรือนธาตุซึ่งคงเหลือเฉพาะช่วงล่าง บันไดทางขึ้นมี 7 ขั้น ขั้นที่ 4 เป็นที่พักบันได ปลายอีกด้านของที่พักบันไดมีแผ่นหินชนวนบาง ๆ รูปครึ่งวงกลมวางอยู่ ซึ่งอาจนับเป็นขั้นที่ 5 บนบันไดขั้นที่ 6 มีฐานเสาสี่เหลี่ยมทั้ง 2 ข้าง วางหันหน้าออก ด้านบนมีรูปเดือยด้านข้างมีเดือยยื่นเสียบเข้าไปใวนผนังซุ้ม ด้านหน้าสลักนูนสูงเป็นรูปช้างอยู่ภายในซุ้มลายใบไม้ ตรงข้ามกับเดือยสลักนูนต่ำเป็นรูปคชสีห์ บันไดขั้นที่ 7 เป็นธรณีประตู ภายในอาคารเป็นห้องสี่เหลี่ยม ผืนผ้าย่อมุม ขนาดกว้าง 3.60 เมตร ยาว 5.60 เมตร

บริเวณหน้าซุ้มประตูของปรางค์ทิศเหนือทุกซุ้มพบทับหลัง ลักษณะทับหลังจากประตูซุ้มด้านเหนือเป็นทับหลังที่มีศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุกอย่างแท้จริง ทับหลังจากซุ้มประตูทางด้านใต้ก็มีลักษณะเป็นศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุกเช่นเดียวกัน แต่รูปคนขี่ม้าและช้างในวงรูปไข่เปลี่ยนมาเป็นรูปสัตว์ปีกอาจเป็นหงส์และนกยูง ทับหลังจากซุ้มประตูด้านหน้ามีลักษณะเป็นศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง แต่ยังคงมีลายใบไม้ ม้วนออกคล้ายจะแทนที่ส่วนของหางมกร ส่วนตัวมกรถูกแทนที่ด้วยรูปเทพประนมทำท่าเหาะเข้าหากึ่งกลางทับหลัง

อ้างอิง

Kembali kehalaman sebelumnya