Share to:

 

พระเจ้าจานซิต้า

จานซิต้า
ကျန်စစ်သား
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าจานซิต้าภายในอานานดาพะย่า
พระเจ้ากรุงพุกาม
ครองราชย์21 เมษายน ค.ศ. 1084[1] – 1112/13
รัชกาลก่อนพระเจ้าซอลู
รัชกาลถัดไปพระเจ้าอลองสิธู
พระราชสมภพ21 กรกฎาคม ค.ศ. 1030
สะกาย
สวรรคตค.ศ. 1112/13 (ประมาณ 82 พรรษา)
พุกาม
คู่อภิเษกพระนางอะแป่รัตนา
พระนางตั่นบู่ละ
พระนางขิ่นตั่น
พระนางมณิจันทา
พระราชบุตรเจ้าหญิงเฉว่เอ่งแต่
พระราชกุมาร
พระนามเต็ม

ศรีตรีภูวานาดีตยาธรรมมะราจาปารามีสวาราบาลาจักกระวา
ราชวงศ์ราชวงศ์อโนรธา
พระราชบิดาพระเจ้าอโนรธามังช่อ
พระราชมารดาพระนางปัญจกัลยาณี
ศาสนาพุทธเถรวาท

จานซิต้า (อังกฤษ: Kyanzittha, พม่า: ကျန်စစ်သား; พ.ศ. 1627 - 1656) หรือ พระเจ้าจันสิตถา (บ้างเรียกพระนามว่า พระเจ้าครรชิต หรือพระเจ้าจันสิต) เป็นพระเจ้ากรุงพุกาม และถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์พม่าไม่แพ้พระเจ้าอโนรธามังช่อ เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นธรรมกษัตริย์ที่ทำนุบำรุงศาสนาพุทธจนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด จนเป็นที่ยอมรับทั้งจากชาวพม่าและชาวมอญ

พระเจ้าจานซิต้าเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา เมื่อพระเจ้าซอลูพระราชโอรสของพระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์ พระองค์มิได้ประกอบภารกิจอันใดด้วยความสามารถพระองค์เอง แต่จะทรงใช้และปรึกษาเหล่าเสนาอำมาตย์อยู่บ่อย ๆ ในปลายรัชสมัยพระเจ้าซอลู งะรมัน เจ้าเมืองพะโค ซึ่งเป็นชาวมอญได้ก่อกบฏขึ้นจับตัวพระเจ้าซอลูเป็นตัวประกัน จานซิต้าซึ่งครองเมืองถิเลงอยู่ ไม่สามารถยกทัพกลับมาช่วยพระองค์ได้ทัน งะรมันได้สังหารพระเจ้าซอลูที่เมืองพวาสอ และพยายามเข้ายึดครองอาณาจักรพุกามแต่จานซิต้าได้เข้าขัดขวาง เหล่าเสนาอำมาตย์ และพระธัมมทัสสีมหาเถระที่ปรึกษาองค์สำคัญของพระเจ้าอโนรธา จึงได้อัญเชิญจานซิต้าขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

เมื่อขึ้นครองราชย์ จานซิต้ามีพระนามว่า ศรีตรีภูวนาทิตยธัมมมราชา[2] ในภาษาสันสกฤต ในจารึกพม่าเรียกพระองค์ว่า "ถิลุงมัง" (T’iluin Man) แปลว่า "กษัตริย์แห่งถิเลง" แต่เนื่องจากจานซิต้ามิได้มีเชื้อสายของกษัตริย์ พระองค์จึงอ้างสิทธิธรรมในการครองราชสมบัติว่าพระองค์ทรงเป็นภาคหนึ่งของพระโพธิสัตว์ และเป็นองค์อวตารของพระวิษณุของชาวปยูอีกด้วย สมัยนี้จึงถือเป็นรัชสมัยที่ศิลปศาสตร์แบบมอญเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในพุกาม

ในรัชสมัยของพระเจ้าจานซิต้า ทรงติดต่อกับต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 1638 พระองค์ทรงส่งคณะทูตและช่างฝีมือเดินทางไปพุทธคยา เพื่อไปซ่อมแซมวัดศรีพัชรัส หรือ วัดวัสชราสนะ ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ที่ใต้ต้นมหาโพธิ์ พระเจ้าจานซิต้าทรงซื้อที่ดินกัลปนาให้แก่วัด ขุดอ่างเก็บน้ำ สร้างเขื่อน เพื่อประโยชน์ในการปลูกข้าว ถวายตะเกียงเทียนจำนวนมาก และทรงกัลปนาข้าทาสให้กับวัดอีกด้วย ซึ่งได้ปรากฏความตอนนี้และปรากฏนามของพระองค์ในจารึกซ่อมแซ่มพุทธคยาด้วย

นอกจากนี้แล้วมีภิกษุมหายานจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียหลบหนีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม เพื่อมาขอความช่วยเหลือจากพระองค์ พระองค์ทรงให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์เหล่านี้ โดยการสร้างวัดเล็ก ๆ ถวายเป็นที่พำนัก อยู่ระหว่างเจดีย์ชเวซีโกนกับหมู่บ้านมินดาตุ

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศจีน ในปี พ.ศ. 1649 ทรงส่งคณะทูตไปยังเมืองไคเฟิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง จักรพรรดิจีนทรงให้การต้อนรับคณะทูตจากอาณาจักรพุกามเทียบเท่ากับทูตของอาณาจักรเจนละ ในรัชสมัยนี้จึงถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้พุกามเป็นที่รู้จักของดินแดนต่าง ๆ

พระเจ้าจานซิต้าถึงแก่สวรรคตในปี พ.ศ. 1656 ผู้ที่ได้ครองราชย์เป็นลำดับถัดไปคือพระเจ้าอลองสิธูซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ของพระองค์

ในกลางปี พ.ศ. 2551 ทางพม่าได้มีการสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติของพระองค์ ในชื่อเรื่อง "Kyansit Min" นับเป็นภาพยนตร์ในแบบสากลเรื่องแรกของพม่าอีกด้วย

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. (Yazawin Thit Vol. 1 2012: 111, footnote 2): Full moon of 446 ME = 21 aPRIL 1084
  2. Taw, Blagden 1911: 216
บรรณานุกรม
  • หนังสือบุเรงนอง กะยอดินนรธา โดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ISBN 974-323-512-4
  • 2550 - แบคแพค ตะลุยพม่า!!
  • Maha Sithu (1798). Myint Swe (1st ed.); Kyaw Win, Ph.D.; Thein Hlaing (2nd ed.) (บ.ก.). Yazawin Thit (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2012, 2nd printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.
  • Taw, Sein Ko; Blagden, C.O. (1911). "Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland". The Journal of the Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland. Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland: 209–216. JSTOR 25189843.
ก่อนหน้า พระเจ้าจานซิต้า ถัดไป
พระเจ้าซอลู พระเจ้ากรุงพุกาม
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 1)

(พ.ศ. 1627 - 1656)
พระเจ้าอลองสิธู
Kembali kehalaman sebelumnya