Share to:

 

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
ครองราชย์ค.ศ. 1327 – ค.ศ. 1377
ราชาภิเษก1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327
ก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
ถัดไปสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระราชสมภพ13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1312
พระราชวังวินด์เซอร์ ลอนดอน
สวรรคต21 มิถุนายน ค.ศ. 1377 (64 ปี)
พระราชวังริชมอนด์ ริชมอนด์
คู่อภิเษกฟิลลิปปาแห่งเอโนลต์ สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
พระราชบุตรเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (เจ้าชายดำ)

อิสซาเบลลาแห่งโคซึ
เลดี้โจนแห่งอังกฤษ
ไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ป ดยุกที่ 1 แห่งแคลเรนซ์
จอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์
เอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งยอร์ก
แมรีดัชเชสแห่งบริตานี
มาร์การเร็ต แพลนทาเจเน็ท เคานเทสแห่งเพมโบรค

ทอมัสแห่งวูดสตอก ดยุคที่ 1 แห่งกลอสเตอร์
ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระราชมารดาอิสซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Edward III of England; ฝรั่งเศส: Édouard III d'Angleterre; 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1312 – 21 มิถุนายน ค.ศ. 1377) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทของราชอาณาจักรอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1327 ถึงปี ค.ศ. 1377 พระองค์นับเป็นกษัตริย์อังกฤษผู้ประสบความสำเร็จที่สุดพระองค์หนึ่งในยุคกลาง โดยทรงฟื้นฟูความมั่นคงของราชบัลลังก์ หลังจากที่เสื่อมโทรมลงไปมากในรัชสมัยของพระราชบิดา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และทรงเป็นผู้ที่ทำให้ราชอาณาจักรอังกฤษเป็นรัฐที่มีอำนาจทางทหารมากที่สุดในยุโรป และเป็นรัชสมัยที่มีการวิวัฒนาการทางการปกครองทางนิติบัญญัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิวัฒนาการของระบบรัฐสภา แต่ในสมัยเดียวกันนี้พระองค์ก็ทรงต้องเผชิญกับความหายนะจากกาฬโรคระบาดในยุโรป พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงครองราชย์เป็นเวลานานถึง 50 ปีซึ่งไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดที่ครองราชย์นานเช่นนั้นตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 และต่อจากนั้นก็ไม่มีพระองค์ใดจนมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ในฐานะกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุได้เพียง 14 พรรษา หลังจากที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 พระราชบิดา ทรงถูกถอดจากการเป็นกษัตริย์ เมื่อพระชนมายุได้ 17 พรรษา พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำในรัฐประหารโค่นล้มโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 1 ผู้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงเริ่มครองราชย์ด้วยพระองค์เอง หลังจากที่ทรงได้รับชัยชนะต่อราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ก็ทรงประกาศอ้างสิทธิ์ของพระองค์ว่าเป็นผู้สืบทอดอันชอบธรรมต่อราชบัลลังก์ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1340 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามซึ่งเรียกกันว่า สงครามร้อยปี หลังจากที่เพลี่ยงพล้ำในระยะแรกของสงคราม สถานการณ์ก็ดีขึ้นมากสำหรับฝ่ายอังกฤษ ชัยชนะที่เครซีและปัวติเยร์ทำให้อังกฤษได้รับผลประโยชน์เป็นอย่างมากจากสนธิสัญญาเบรตีญี (Treaty of Brétigny) แต่ตอนปลายรัชสมัย ก็ทรงประสบกับความล้มเหลวในกิจการระหว่างประเทศและการเมืองภายใน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะความเฉื่อยชาและพระสุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรมลงอย่างมาก

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระอารมณ์ร้ายแต่ก็ทรงเป็นผู้มีความกรุณาเป็นอันมากเช่นกัน ทรงเป็นกษัตริย์ตามสมัยคือทรงมีความสนพระทัยทางทหารและทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่ยกย่องเป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา แม้ว่าต่อมาจะทรงถูกประณามว่าเป็นนักผจญภัยผู้ไร้ความรับผิดชอบโดยนักประวัติศาสตร์วิก แต่ภาพพจน์ของพระองค์ก็เปลี่ยนไปในทางดีอีกครั้งในปัจจุบัน[1]

พระราชประวัติ

เบื้องต้น

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังวินด์เซอร์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1312 เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงพระนามว่า “เอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์” สมัยการปกครองของพระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 เป็นสมัยที่เต็มไปด้วยความพ่ายแพ้ทางทหาร ความขัดแย้งกับขุนนางผู้มีอำนาจ การฉ้อโกงของข้าราชสำนัก แต่การทรงมีรัชทายาทที่เป็นผู้ชายในปี ค.ศ. 1312 ก็เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับราชบัลลังก์อยู่ชั่วระยะหนึ่ง[2] เพื่อให้ความความมั่นคงยั่งยืนต่อไปพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จึงทรงแต่งตั้งเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์ขึ้นเป็น “เอิร์ลแห่งเชสเตอร์” เมื่อพระชนมายุเพียง 12 วันและอีกสองเดือนต่อมาก็พระราชทานข้าราชบริพารครบชุดสำหรับการมีราชสำนักเป็นการส่วนพระองค์ให้แก่พระราชโอรส เพื่อให้ทรงมีความอิสระในการเป็นขุนนางเต็มตัวด้วยพระองค์เองราวกับเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว[1]

เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1327 เมื่อเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์มีพระชนมายุได้ราว 14 พรรษา พระนางอิสซาเบลลาแห่งฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษพระราชมารดาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์และรัฐสภาก็ปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 จากราชบัลลังก์ และยกเอ็ดเวิร์ดแห่งวินด์เซอร์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ โดยทรงเข้าพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327 โดยมีสมเด็จพระราชินีอิสซาเบลลาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มอร์ติเมอร์ถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองอังกฤษโดยพฤตินัย อีกทั้งยังข่มเหงน้ำพระทัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดโดยไม่ให้ความนับถือต่อพระองค์และทำให้ทรงเสียพระพักตร์โดยตลอด เมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1328 ในขณะมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา ก็ได้ทรงเสกสมรสกับฟิลิปปาแห่งเฮนอลต์ วัย 16 พรรษา ณ ยอร์กมินสเตอร์[3]

มอร์ติเมอร์ทราบว่าฐานะของตนเองออกจะไม่มั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และพระนางฟิลิปปามีพระราชโอรสพระองค์แรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1330[4] มอร์ติเมอร์จึงใช้อำนาจในการนำมาซึ่งตำแหน่งขุนนางและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ได้มาเดิมเป็นของเอ็ดมันด์ ฟิทซ์แอแลน เอิร์ลแห่งอารันเดลที่ 9 (Edmund FitzAlan, 9th Earl of Arundel) ฟิทซ์แอแลน ผู้ยังจงรักภักดีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ขณะที่ทรงมีความขัดแย้งกับพระราชินีอิซาเบลลาและมอร์ติเมอร์ จึงถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1326 ความโลภและความทะนงตัวของมอร์ติเมอร์ทำให้เป็นที่เกลียดชังในหมู่ขุนนางซึ่งทำให้เป็นประโยชน์ต่อสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

ไม่นานหลังจากมีพระชนมายุได้ 18 พรรษา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ด้วยความช่วยเหลือของผู้ที่ทรงไว้วางใจก็ก่อรัฐประหารขึ้นที่ปราสาทนอตติงแฮม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1330 โดยทรงส่งทหารเข้าไปตามทางลับซึ่งเชื่อมต่อถึงปราสาท แล้วทรงสั่งจับพระนางอิสซาเบลลาและโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ ในพระนามของกษัตริย์ มอร์ติเมอร์ถูกส่งไปจำขังที่หอคอยแห่งลอนดอน เขาถูกริบที่ดินและยศทั้งหมด และถูกกล่าวหาว่าถือสิทธิ์อำนาจของกษัตริย์เหนือดินแดนอังกฤษ ส่วนพระมารดา พระนางอิสซาเบลลา ทรงร้องขอให้โอรสของพระองค์ทรงไว้ชีวิต พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงตัดสินประหารชีวิตมอร์ติเมอร์หนึ่งเดือนภายหลังรัฐประหาร ส่วนพระนางอิซาเบลลาทรงถูกเนรเทศไปยังปราสาทไรส์ซิง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ทรงมีอำนาจโดยพฤตินัยในฐานะผู้ปกครองอังกฤษ

ต้นรัชสมัย

จุลจิตรกรรมภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1327
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในภาพการล้อมเมืองเบอริค

เมื่อเริ่มขึ้นครองราชย์สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็เลือกที่จะริเริ่มความขัดแย้งกับราชอาณาจักรสกอตแลนด์ขึ้นอีกตามนโยบายของ พระราชบิดาและพระอัยกาก่อนหน้านั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงยกเลิกสนธิสัญญาเอดินบะระ-นอร์ทแธมป์ตัน (Treaty of Edinburgh-Northampton) ที่ลงนามระหว่างสมัยผู้สำเร็จราชการ ซึ่งเป็นการประกาศสิทธิในการปกครองของอังกฤษในราชอาณาจักรสกอตแลนด์ จึงเป็นผลให้เกิด สงครามอิสรภาพสกอตแลนด์ครั้งที่ 2 (Second War of Scottish Independence)

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 มีพระราชประสงค์ที่จะยึดดินแดนที่อังกฤษเสียไปคืน และทรงสามารถยึดเบอร์ริคคืนได้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1333 พระองค์ก็ทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดที่ ยุทธการฮาลิดันฮิลล์ (Battle of Halidon Hill) ต่อกองทัพของยุวกษัตริย์พระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงอยู่ในฐานะที่จะแต่งตั้งให้เอ็ดเวิร์ด บาล์ลิโอล (Edward Balliol) ขึ้นครองราชบัลลังก์สกอตแลนด์โดยได้รับดินแดนทางใต้ของสกอตแลนด์เป็นรางวัล (โลเธียนส์, ร็อกซเบิร์กเชอร์, เบอร์วิคเชอร์, ดัมฟรีสเชอร์, แลนนาร์คเชอร์ และพีเบิลเชอร์) แม้ว่าจะทรงได้รับชัยชนะที่ดูพพลินและฮาลิดัน แต่ไม่นานนักโรเบิร์ต บรูซ (Robert the Bruce) ก็ยึดกลับ และภายในปี ค.ศ. 1335 การยึดครองของอังกฤษโดยบาล์ลิโอลก็อ่อนตัวลง หลังจากยุทธการคัลเบรียน (Battle of Culblean)

ในปี ค.ศ. 1336 จอห์นแห่งเอลแธม เอิร์ลแห่งคอร์นวอลพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็มาสิ้นพระชนม์ลง จอห์นแห่งฟอร์ดุนอ้างไว้ในบันทึกเจสตา (Gesta Annalia) ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดปลงพระชนม์จอห์นแห่งเอลแธมหลังจากที่ทรงมีปากมีเสียงกัน

แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงใช้กองทัพใหญ่ในการรณรงค์ยึดดินแดนสกอตแลนด์ แต่ภายในปี ค.ศ. 1337 ดินแดนส่วนใหญ่ก็ถูกยึดกลับโดยพระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ อังกฤษจึงเหลือเพียงปราสาทอยู่ไม่กี่แห่งเช่นเอดินบะระห์ ร็อกซเบิร์ก และสเตอร์ลิง ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในการครอบครองสกอตแลนด์ทั้งหมดได้ ฉะนั้นภายในปี ค.ศ. 1338/1339 นโยบายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเปลี่ยนจากการยึดดินแดนที่เสียไปคืนมาเป็นเพียงการรักษาดินแดนที่ยังอยู่ในมือไม่ให้เสียไปอีก

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงแต่จะมีปัญหาทางสกอตแลนด์เท่านั้นแต่ยังมีปัญหาทางทางฝรั่งเศสด้วย ปัญหาทางฝรั่งเศสมีด้วยกันสามประการ ประการแรกฝรั่งเศสให้การสนับสนุนสกอตแลนด์ตาม สัญญาพันธมิตรฝรั่งเศส-สกอตแลนด์ (Auld Alliance หรือ Franco-Scottish alliance) โดยการที่พระเจ้าฟิลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศสทรงให้ความคุ้มครองแก่พระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ผู้เสด็จมาลี้ภัย และทรงสนับสนุนสกอตแลนด์ในการโจมตีดินแดนอังกฤษทางตอนเหนือ ประการที่สองฝรั่งเศสโจมตีเมืองชายฝั่งทะเลของอังกฤษหลายเมืองทำให้เกิดข่าวลือกันว่าฝรั่งเศสจะมารุกรานราชอาณาจักรอังกฤษอย่างเป็นทางการ[5] และประการสุดท้ายดินแดนอังกฤษในฝรั่งเศสก็อยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงโดยที่พระเจ้าฟิลลิปที่ 6 ทรงยึดบริเวณอากีแตงและปองทู (Ponthieu) ในปี ค.ศ. 1337

แทนที่จะทรงแก้ปัญหาในทางสงบโดยการประกาศความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสโดยทรงอ้างว่าทรงเป็นผู้สืบเชื้อสายชายเพียงองค์เดียวของพระอัยกาทางพระราชมารดาพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส แต่ทางฝรั่งเศสโต้ด้วยการอ้างกฎหมายซาลลิค (Salic law) ซึ่งเป็นกฎการลำดับสิทธิการสืบราชบัลลังก์ที่จำกัดมิให้สตรีหรือผู้สืบเชื้อสายจากสตรีมีสิทธิในการครองบัลลังก์ฝรั่งเศส และไม่ยอมรับข้ออ้างของพระองค์ และประกาศว่าพระเจ้าฟิลิปที่ 6 เป็นพระนัดดาของพระเจ้าฟิลลิปที่ 4 ผู้ทรงเป็นรัชทายาทที่แท้จริง ข้อขัดแย้งนี้เป็นข้อหนึ่งที่นำไปสู่ สงครามร้อยปี การอ้างสิทธิของพระองค์ไม่แต่จะทรงอ้างด้วยวาจาเท่านั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังทรงออกตราประจำพระองค์ที่ประกอบด้วยตราประจำราชอาณาจักรอังกฤษ สิงห์ และตราประจำราชอาณาจักรฝรั่งเศส และตราลิลี (fleurs de lys) ก็เท่ากับว่าทรงประกาศพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ของทั้งสองอาณาจักร[6]

ในการต่อสู้กับฝรั่งเศสพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสร้างพันธมิตรกับแคว้นย่อยๆ ในฝรั่งเศสซึ่งทำให้สามารถทรงต่อสู้กับฝรั่งเศสได้โดยฉันทะ (by proxy) โดนแคว้นที่ทรงเป็นพันธมิตรด้วยต่อสู้แทนพระองค์ ในปี ค.ศ. 1338 จักรพรรดิลุดวิกที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็น vicar-general ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงสัญญาว่าจะสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ความเป็นพันธมิตรเหล่านี้ทำให้ได้ผลบางอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือชัยชนะของราชนาวีอังกฤษที่ยุทธการซลุส (Battle of Sluys) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1340 ซึ่งทำให้ทั้งทหารราบและทหารเรือฝรั่งเศสเสียชีวิตด้วยกันรวมทั้งสิ้น 16,000 คน

ขณะเดียวกันภายในราชอาณาจักรอังกฤษเองก็ประสบปัญหาทางการเงินจากค่าใช้จ่ายในการสงคราม และการเป็นพันธมิตรซึ่งทำให้เกิดความไม่พึงพอใจในบรรดาขุนนาง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงเสด็จกลับอังกฤษโดยมิได้ทรงประกาศล่วงหน้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1340 เมื่อทรงมาพบว่ากิจการบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ยุ่งเหยิง พระองค์จึงทรงกำจัดผู้บริหารต่างๆ ออกหมด[7] แต่ก็มิได้ทำให้สถานการณ์มั่นคงขึ้น นอกจากว่าจะเป็นการประจันหน้ากันระหว่างพระองค์กับจอห์น แสตร็ทฟอร์ด อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี

ในเดีอนเมษายน ค.ศ. 1341 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงถูกรัฐสภาอังกฤษบังคับให้ยอมรับสถานการณ์อันจำกัดทางการเงิน แต่ในเดือนตุลาคมก็ทรงละเมิดและทรงขับจอห์น แสตร็ทฟอร์ดจากราชสำนัก แต่การปฏิบัติของรัฐสภาในปี ค.ศ. 1341 ในการบังคับพระเจ้าแผ่นดินให้ทำตามคำสั่งรัฐสภาเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนหน้านั้น เพราะอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินในยุคกลางเป็นอำนาจที่ไม่มีขอบเขตและพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงใช้อำนาจนี้ในการละเมิดคำสั่ง[8]

ชนะสงคราม

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระเจ้าฟิลิปที่ 6

หลังจากการรณรงค์บนผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปหลายครั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงนำทัพจำนวน 15,000 ไปนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1346[9] ทรงเผาเมืองแคนก่อนที่จะเดินทัพต่อไปทางเหนือของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมก็ทรงพบกับกองทัพฝรั่งเศสในยุทธการเครซี (Battle of Crécy) ที่ทรงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันทางอังกฤษวิลเลียม ซูค (William Zouche) อาร์ชบิชอปแห่งยอร์กก็รวบรวมกำลังกันต่อต้านพระเจ้าเดวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ผู้กลับมาจากฝรั่งเศส ได้รับชัยชนะและจับตัวพระเจ้าเดวิดได้ที่ยุทธการเนวิลล์ครอส (Battle of Neville's Cross) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เมื่อพรมแดนทางเหนือมีความมั่นคงขึ้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงต่อสู้กับฝรั่งเศสได้อย่างเต็มที่ ทรงล้อมเมืองคาเลส์ (Calais) จนเสียเมืองเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1347

หลังจากการสวรรคตพระเจ้าหลุยส์ที่ 4 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1347 แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 5 แห่งบาวาเรียพระราชโอรสก็ทรงเจรจาต่อรองกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อต่อต้านพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 4 แห่งเยอรมนีในการเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1348 ก็ทรงเปลี่ยนพระทัยไม่เข้าร่วมแข่งขันในการครองราชบัลลังก์เยอรมัน

ในปี ค.ศ. 1348 ก็เกิดกาฬโรคระบาดในยุโรปซึ่งทำให้อังกฤษเสียประชากรไปหนึ่งในสาม[10] การสูญเสียประชากรครั้งนี้หมายถึงการสูญเสียทั้งทางกำลังคนและกำลังทรัพย์ ซึ่งทำให้ทรงไม่สามารถดำเนินสงครามต่อได้ นอกจากนั้นก็ยังทำให้เกิดภาวะค่าแรงงานที่สูงขึ้นที่ทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงพยายามควบคุมโดยการออกพระราชบัญญัติแรงงาน ค.ศ. 1349 (Ordinance of Labourers) และ พระราชบัญญัติแรงงาน ค.ศ. 1351 (Statute of Labourers of 1351) เพื่อการจัดระบบและควบคุมค่าแรงงาน แต่ถึงแม้ว่ากาฬโรคจะคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากแต่ก็มิได้นำไปสู่ความหายนะของรัฐบาลหรือสังคม นอกจากนั้นการฟื้นตัวก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว[11]

ในปี ค.ศ. 1356 ขณะที่ทรงต่อสู้ในสงครามอยู่ทางเหนือของอังกฤษเจ้าชายดำพระราชโอรสองค์โตก็ได้รับชัยชนะในยุทธการปัวตีเยร์ (Battle of Poitiers) ในฝรั่งเศสแม้ว่ากองทัพฝรั่งเศสมีกำลังเหนือกว่า ฝ่ายอังกฤษนอกจากจะสามารถเอาชนะได้แล้วก็ยังจับตัวพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งฝรั่งเศสได้ด้วย หลังจากที่ได้รับชัยชนะต่อเนื่องกันหลายครั้งอังกฤษก็ยึดดินแดนต่างๆ ในฝรั่งเศสมามาก พระเจ้าจอห์นที่ 2 ตกอยู่ในความควบคุมของอังกฤษ รัฐบาลฝรั่งเศสก็เกือบล่ม ไม่ว่าการอ้างสิทธิของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสจะจริงแท้เท่าใดหรือเป็นเพียงแต่ข้ออ้างในการริเริ่มสงครามก็ตาม[12] สถานะการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้การอ้างสิทธิใกล้ความเป็นจริงขึ้น แต่การรณรงค์ต่างๆ ในปี ค.ศ. 1359 ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่ตั้งใจจะให้เป็นการตัดสินก็ไม่ได้มีผลที่เด็ดขาด ในปี ค.ศ. 1360 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงยอมรับสนธิสัญญาเบรตีญี (Treaty of Brétigny) ซึ่งเป็นการยกเลิกการอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของพระองค์เป็นการแลกเปลี่ยนกับดินแดนต่างๆ ที่ทรงยึดจากฝรั่งเศส

ปลายรัชสมัย

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และเจ้าชายดำ

ขณะที่รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นรัชสมัยที่โดยทั่วไปแล้วเป็นสมัยที่ประสบความสำเร็จ แต่ในปลายรัชสมัยเป็นช่วงระยะเวลาของความล้มเหลวในการรณรงค์ทางทหารและปัญหาการเมืองภายในราชอาณาจักร พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดไม่ทรงสนพระทัยกับการปกครองในวันหนึ่งๆเท่ากับการออกยุทธการ ดังนั้นในคริสต์ทศวรรษ 1360 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงหันไปพึ่งผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์มากขึ้นทุกวันโดยเฉพาะวิลเลียมแห่งวิคแคม (William of Wykeham) ผู้ยังค่อนข้างเป็นมือใหม่ในด้านการบริหารผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีตราประจำพระองค์ (Lord Privy Seal) ในปี ค.ศ. 1363 และอัครมหาเสนาบดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1367 แต่วิคแคมก็สร้างปัญหาทางการเมืองเนื่องจากความขาดประสบการณ์ที่ทำให้รัฐสภาต้องบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีในปี ค.ศ. 1371[13]

นอกจากการลาออกของอัครมหาเสนาบดีแล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังสูญเสียผู้ที่ทรงไว้ใจหลายคนระหว่าง ค.ศ. 1361 ถึง ค.ศ. 1362 จากโรคระบาดที่เกิดขึ้นหลายครั้ง วิลเลียม มองตาคิว เอิร์ลแห่งซอลสบรีที่ 1 (William Montacute, 1st Earl of Salisbury) พระสหายในการรณรงค์ในคริสต์ทศวรรษ 1330 เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1344, วิลเลียม เดอ คลินตัน เอิร์ลแห่งฮันติงดันที่ 1 (William de Clinton, 1st Earl of Huntingdon) ผู้ที่ในการรณรงค์กับพระองค์ที่น็อตติงแฮมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1354, เอิร์ลจากปี ค.ศ. 1337 วิลเลียม เดอ โบฮุน เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมป์ตันที่ 1 (William de Bohun, 1st Earl of Northampton) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1360 และปีต่อมาเฮนรี โกรสมอนต์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ที่ 1 (Henry of Grosmont, 1st Duke of Lancaster) ผู้ที่อาจจะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของพระองค์จากอาจจะด้วยโรคระบาด การสูญเสียทำให้เหลือแต่ขุนนางส่วนใหญ่ที่ยังหนุ่มผู้ที่หันไปสนับสนุนเจ้าชายรัชทายาทแทนที่จะสนับสนุนพระองค์

พระราชโอรสองค์ที่สองไลโอเนลแห่งอันท์เวิร์พ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ที่ 1 ทรงพยายามกำหราบอำนาจของขุนนางอังกฤษ-ไอร์แลนด์ในไอร์แลนด์แต่ก็ไม่สำเร็จ สิ่งเดียวที่ทรงทำได้คือการบังคับใช้พระราชบัญญัติคิลเค็นนีย์ (Statutes of Kilkenny)ในปี ค.ศ. 1366[14]

ขณะเดียวกันในฝรั่งเศส สิบปีหลังจากสนธิสัญญาเบรตีญีเป็นช่วงที่สงบสุขอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1364 เมื่อพระเจ้าจอห์นที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เสด็จสวรรคตขณะที่ทรงถูกจำขังอยู่ในอังกฤษหลังจากที่ทรงพยายามหาทุนสำหรับค่าไถ่จากฝรั่งเศสแต่ไม่สำเร็จ การเสด็จสวรรคตของพระองค์ตามด้วยการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 ผู้ไปเกณฑ์ความช่วยเหลือจาก Constable of France แบร์ทรันด์ ดู เกอสแคลง (Bertrand du Guesclin) ผู้มีความสามารถ[15] ในปี ค.ศ. 1369 สงครามร้อยปีก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง พระราชโอรสองค์รองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด จอห์นแห่งกอนท์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ก็ได้รับมอบให้มีความรับผิดชอบในการรณรงค์ต่อต้านผู้แข็งข้อแต่ไม่ทรงสำเร็จ ในที่สุดก็ต้องลงนามในสนธิสัญญาบรูดจ์สในปี ค.ศ. 1375 ซึ่งทำให้เสียดินแดนต่างๆ ของอังกฤษให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้ดินแดนต่างๆ ของอังกฤษในฝรั่งเศสก็ลดลงเหลือแต่เพียงเมืองคาเลส์ที่เป็นเมืองริมทะเลทางตอนเหนือสุด, บอร์โดซ์ และ เบยอนน์[16]

ความเพลี่ยงพล้ำทางการทหารในต่างประเทศและปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการรณรงค์ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจกันในบรรดาผู้บริหารราชอาณาจักรในอังกฤษ ปัญหาถึงจุดวิกฤติในรัฐสภาในปี ค.ศ. 1376 รัฐสภาที่เรียกตัวเองว่า “รัฐสภาดี” (Good Parliament) รัฐสภาถูกเรียกเพื่ออนุมัติการเก็บภาษีเพิ่มแต่สภาสามัญชนถือโอกาสอ่านคำร้องทุกข์ โดยเฉพาะคำวิพากษ์วิจารณ์โดยตรงที่มีต่อที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดในพระองค์ สมุหพระราชวัง (Lord Chamberlain) วิลเลียม ลาติเมอร์ (William Latimer) และ เจ้ากรมพระราชวัง (Lord Steward) จอห์น เนวิลล์ บารอนเนวิลล์ เดอ ราบีย์ที่ 3 (John Neville, 3rd Baron Neville de Raby) ผู้ถูกปลดจากตำแหน่ง ส่วนพระสนมของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอลิซ เพร์เรอร์ (Alice Perrers) ผู้ที่รัฐสภาเห็นว่ามีอิทธิพลต่อพระองค์มากเกินไปก็ถูกห้ามไม่เข้าราชสำนัก[17]

แต่อุปสรรคที่แท้จริงของสภาสามัญที่นำโดยกลุ่มผู้มีอำนาจเช่นเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 3 (Edmund Mortimer, 3rd Earl of March) คือจอห์นแห่งกอนท์ ในขณะนั้นทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและเจ้าชายดำต่างก็ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถทำอะไรได้เพราะการประชวร อำนาจการปกครองทั้งหมดจึงตกอยู่ในมือของจอห์นแห่งกอนท์ผู้ที่รัฐสภาบังคับให้ยอมรับข้อเรียกร้องของรัฐสภา แต่ในปี ค.ศ. 1377 แต่ทุกอย่างที่รัฐสภาเรียกร้องก็ถูกละเมิด[18]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองในขณะนั้นก็ไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด หลังจากราวปี ค.ศ. 1375 บทบาททางการปกครองของพระองค์ก็เป็นไปอย่างจำกัด[19] ราววันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1376 พระองค์ก็ทรงล้มประชวรพระยอด(ฝี)ใหญ่ หลังจากที่ทรงรู้สึกดีขึ้นอยู่ระยะหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์พระองค์ก็เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในพระมัตถลุงค์แตก (แต่บางกระแสก็ว่าด้วยพระโรคหนองใน (gonorrhea)[20]) ที่พระราชวังริชมอนด์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน[21] ผู้ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์คือพระนัดดาพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระโอรสของเจ้าชายดำผู้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1376 พระเจ้าริชาร์ดขณะนั้นมีพระชนม์เพียง 10 พรรษา

พระราชกรณียกิจ

ด้านกฎหมาย

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้ทรงก่อตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์

ในกลางรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีคือพระราชบัญญัติแรงงาน ค.ศ. 1351 ที่แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่เป็นผลมาจากการระบาดของกาฬโรค พระราชบัญญัติกำหนดค่าแรงงานตามระดับมาตรการที่วางไว้ และกำหนดให้ขุนนางผู้เป็นเจ้าของแรงงานมีสิทธิในตัวกรรมกรก่อนที่กรรมกรจะโยกย้ายไปไหนได้ แม้ว่าทางรัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายแต่ก็ล้มเหลวเพราะการแก่งแย่งแรงงานระหว่างเจ้าของที่ดิน[22] พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้รับการบรรยายว่าเป็นพระราชบัญญัติที่พยายามใช้กฎหมายที่ค้านกับกฎ “อุปสงค์และอุปทาน” ซึ่งเป็นผลทำให้พระราชบัญญัติล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง[23] แต่กระนั้นการขาดแคลนแรงงานก็เป็นการทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มผู้เป็นเจ้าของที่ดินเป็นสองกลุ่ม ผู้เป็นเจ้าของที่ดินรายย่อยของสภาสามัญและเจ้าของที่ดินรายใหญ่ของสภาขุนนาง ความพยายามที่จะจำกัดสิทธิของชนชั้นแรงงานทำให้เป็นที่โกรธเคืองของฝ่ายชาวนาที่ในที่สุดก็นำไปสู่การปฏิวัติชาวนา (English peasants' revolt 1381) ของปี ค.ศ. 1381[24]

รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดตรงกับสมัยที่ราชสำนักพระสันตะปาปาไปตั้งอยู่ที่อาวินยอง ระหว่างสงครามกับฝรั่งเศสทางอังกฤษก็เริ่มเกิดการก่อตัวในความเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองโดยพระสันตะปาปาที่ควบคุมโดยฝรั่งเศสที่เห็นกันว่าเป็นการปกครองที่ไม่เป็นธรรม และเป็นที่สงสัยกันว่าการเก็บภาษีอย่างหนักจากวัดต่างๆ ในอังกฤษนั้นก็เป็นการนำเงินไปใช้ในการบำรุงประเทศที่เป็นศัตรู นอกจากนั้นการใช้อำนาจของพระสันตะปาปาในการ “ประทานที่ดินชั่วชีวิต” (Benefice) โดยการทรงมอบที่ดินให้นักบวชผู้ที่มักจะเป็นชาวต่างประเทศที่มิได้มีถิ่นฐานในอังกฤษก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกความเกลียดชังชาวต่างประเทศ (Xenophobia) ยิ่งรุนแรงมากขึ้นในหมู่ชาวอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1350 และปี ค.ศ. 1353 ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติสองฉบับที่พยายามยุติสิทธิของพระสันตะปาปาใน “การประทานที่ดินชั่วชีวิต” และจำกัดอำนาจของพระสันตะปาปาในศาลที่มีต่อประชาชนอังกฤษ[25] แต่พระราชบัญญัติมิได้ยุติความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์อังกฤษกับพระสันตะปาปาผู้ซึ่งต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน และมิได้แยกตัวจนกระทั่งเหตุการณ์ “ความแตกแยกของอาณาจักรสันตะปาปา” (Western Schism) ในปี ค.ศ. 1378 เท่านั้นที่ราชบัลลังก์อังกฤษแยกตัวเด็ดขาดจากอิทธิพลของอาวินยอง

กฎหมายสำคัญฉบับอื่นก็ได้แก่พระราชบัญญัติกบฏต่อแผ่นดิน ค.ศ. 1351 (Treason Act 1351) ซึ่งสำเร็จได้เพราะบ้านเมืองอยู่ในสภาวะที่สงบสุขพอที่ฝ่ายต่างๆ จะปรองดองกันได้ถึงความหมายของอาชญากรรมอันเป็นที่ขัดแย้งกันในช่วงที่บ้านเมืองระส่ำระสาย[26] แต่การปฏิรูปกฎหมายที่สำคัญที่สุดก็คือระบบยุติธรรม (Justice of the Peace) สถาบันนี้มีมาตั้งแต่ก่อนรัชสมัยของพระองค์ แต่ในปี ค.ศ. 1350 ระบบยุติธรรมได้รับการมอบอำนาจให้ไม่แต่เพียงในการสืบสวนคดีและการจับกุมแต่ยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีรวมทั้งคดีอาญา ซึ่งเท่ากับเป็นการวางรากฐานระบบยุติธรรมของอังกฤษ[27]

ด้านรัฐสภาและภาษี

รัฐสภาแห่งอังกฤษได้รับการก่อตั้งเป็นสถาบันที่มั่นคงมาแล้วในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแต่ก็ยังมีการวิวัฒนาการในรัชสมัยของพระองค์ ในช่วงนี้สมาชิกของบารอนอังกฤษที่ไม่มีรูปแบบเท่าใดนักก่อนหน้านั้นก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยที่สมาชิกเป็นขุนนางสืบตระกูลผู้ได้รับเรียกเข้ามาประชุมในรัฐสภา[28] ที่ในที่สุดก็วิวัฒนาการมาเป็นระบบสองสภา (Bicameralism) แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดมิได้เกิดขึ้นในสภาขุนนางแต่ในสภาสามัญชน ความแตกแยกยิ่งกว้างยิ่งขึ้นในวิกฤติกาลของรัฐสภาดีเมื่อสภาสามัญชนเริ่มมีบทบาททางการเมืองที่เห็นได้ชัดที่นำไปสู่วิกฤติกาลทางการเมือง ระหว่างนั้นก็ได้มีการก่อตั้งระบบการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง (Impeachment) และสำนักงานประธานสภาสามัญชน (Speaker of the House of Commons) ขึ้น แม้ว่าความคืบหน้าจะเป็นเพียงการชั่วคราวแต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของระบบการเมืองการปกครองของอังกฤษ

อิทธิพลทางการเมืองของสภาสามัญชนเดิมอยู่ที่การอนุมัติการเก็บภาษี สงครามร้อยปีเป็นสงครามที่ต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล ทั้งทางพระมหากษัตริย์และองคมนตรีก็พยายามหาวิธีต่างๆ ในการหารายได้เพื่อมาใช้ในการสนับสนุนการสงคราม ตามปกติแล้วพระมหากษัตริย์ทรงมีรายได้ประจำจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) และทรงมีอำนาจในการยืมเงินจากอิตาลีและนายทุนในประเทศ แต่ความจำเป็นที่จะต้องใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาลในการทำสงครามทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงต้องเลี่ยงไปใช้การเก็บภาษีจากราษฎร การเก็บภาษีมีสองอย่าง: ภาษี และภาษีศุลกากร ภาษีเป็นเงินที่เรียกเก็บสำหรับสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ซึ่งเป็นจำนวนประมาณหนึ่งในสิบของทรัพย์สินของเมือง และหนึ่งในห้าของทรัพย์สินของฟาร์มซึ่งก็ทำรายได้ให้จำนวนมาก แต่การเก็บภาษีแต่ละครั้ง พระองค์ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และทรงต้องให้เหตุผลถึงความจำเป็นในการเก็บภาษี[29] ภาษีศุลกากรเมื่อเทียบกับภาษีรายได้ จึงเป็นระบบที่แน่นอนกว่า และเป็นภาษีสมทบที่ทำรายได้ประจำที่สม่ำเสมอ การเก็บภาษีศุลกากรของขนแกะที่ส่งออกเรียกเก็บกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1275 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงพยายามเพิ่มภาษีขนแกะแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1336 เป็นต้นมาก็ได้มีการหาวิธีต่างๆ ที่จะเพิ่มรายได้จากการส่งขนแกะออกนอก หลังจากปัญหาต่างที่เกิดขึ้นในระยะแรกแล้วในที่สุดก็ตกลงกันได้ในพระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสำหรับด่านสินค้าขาออก (Statute of the Staple) ในปี ค.ศ. 1353 ว่าภาษีศุลกากรควรได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแต่ความจริงแล้วพระราชบัญญัติเป็นพระราชบัญญัติที่บังคับใช้โดยถาวร[30]

ภาษีที่สม่ำเสมอที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงได้รับเกิดจากการที่รัฐสภาโดยเฉพาะสภาสามัญชนที่เริ่มมีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้น แต่เป็นการเห็นพ้องกันว่าในการที่จะให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างยุติธรรมพระมหากษัตริย์ต้องทรงพิสูจน์ว่าเป็นการเก็บภาษีที่มีเหตุผลที่จำเป็นต้องเก็บ; เป็นภาษีที่เห็นควรโดยชุมชนในราชอาณาจักร และเป็นภาษีที่เก็บแล้วมีประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากนั้นในโอกาสที่ทรงแถลงความจำเป็นในการเก็บภาษี ก็ยังเป็นโอกาสที่รัฐสภาใช้ในการยื่นคำร้องทุกข์ (petition) ต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางที่ผิดของข้าราชการ ซึ่งทำให้ทั้งพระมหากษัตริย์และรัฐสภาต่างก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้ กระบวนการวิวัฒนาการนี้ทำให้สภาสามัญชนและชุมชนที่สภาเป็นตัวแทนมีความรู้ความเข้าใจในสถานะการณ์ทางการเมืองเพิ่มขึ้นและเป็นการวางรากฐานของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญต่อมา[31]

เกียรติศักดิ์และความเป็นชาตินิยม

ตราราชการประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

หัวใจในนโยบายการปกครองของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดอยู่ที่การเข้าร่วมในสงครามของขุนนางชั้นสูงและการบริหาร ขณะที่พระราชบิดาทรงมีปัญหาขัดแย้งกับขุนนางเป็นส่วนใหญ่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงสามารถสร้างบรรยากาศของความร่วมมือกันระหว่างพระองค์เองและขุนนางทั้งหลาย

ทั้งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และ ที่ 2 ทรงใช้นโยบายการจำกัดจำนวนขุนนาง โดยการแต่งตั้งขุนนางสืบตระกูลเพียงไม่กี่ตำแหน่งในระยะเวลาหกสิบปีก่อนหน้าที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 จะทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ ในปี ค.ศ. 1337 เมื่อทรงเตรียมเข้าสงครามที่จะมาถึงโดยการก่อตั้งตำแหน่งเอิร์ลใหม่อีกหกตำแหน่งในวันเดียว[32] ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเพิ่มตำแหน่งใหม่ที่สูงกว่าตำแหน่งเอิร์ลเป็นตำแหน่ง “ดยุก” สำหรับพระญาติพระวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์

นอกจากนั้นแล้วพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ยังทรงสร้างความเป็นชุมชนในหมู่ขุนนางโดยการก่อตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ (Order of the Garter) ราวปี ค.ศ. 1348 และในปี ค.ศ. 1344 ก็ทรงมีแผนที่จะรื้อฟื้น “ระบบขุนนางโต๊ะกลม” ของพระเจ้าอาร์เธอร์แต่ก็มิได้เกิดขึ้น แต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์มีพื้นฐานมาจากตำนานโดยการใช้สัญลักษณ์วงกลมของการ์เตอร์ นักประวัติศาสตร์อังกฤษโพลิดอร์ เวอร์จิล (Polydore Vergil) กล่าวถึงที่มาว่าโจนแห่งเค้นท์ (Joan of Kent) เคานเทสแห่งซอลสบรี—พระสนมคนโปรดขณะนั้น—ทำสายรัดถุงเท้า (Garter) หลุดลงมาโดยอุบัติเหตุที่งานเลี้ยงที่คาเลส์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงทรงช่วยแก้หน้าจากฝูงชนที่เยาะหยันโดยทรงผูกสายรัดรอบพระเพลาของพระองค์เอง เครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์จึงมีรูปสายรัดถุงเท้าที่มีคำจารึกว่า “honi soit qui mal y pense”—ความละอายใจจงเป็นของผู้คิดมิดี[33]

การเน้นความเป็นผู้ดีมีศักดิ์ศรีเป็นปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการสงครามกับฝรั่งเศสเพราะเป็นการเริ่มความคิดของ “ความเป็นชาติ” เช่นเดียวกับเมื่อมีสงครามกับสกอตแลนด์ ความกลัวการรุกรานของฝรั่งเศสยิ่งทำให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันรุนแรงยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความรู้สึกเป็นอังกฤษขึ้นในบรรดาขุนนางที่เคยเป็นชาวอังกฤษ-ฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยที่ชาวนอร์มันได้รับชัยชนะต่ออังกฤษ ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ก็มีความเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าฝรั่งเศสวางแผนที่จะกำจัดภาษาอังกฤษ และเช่นเดียวกับพระอัยกาสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ทรงใช้ความหวาดกลัวอันนี้ในการสนับสนุนนโยบายของพระองค์[34] ซึ่งก็ทำให้เกิดการฟื้นฟูภาษาอังกฤษกันอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 1362 ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติการใช้ภาษาอังกฤษในศาล (Statute of Pleading) ระบุการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการในระบบการศาล[1] และในปีต่อมาก็เป็นปีแรกที่การเปิดประชุมรัฐสภาที่ทำเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก[35] ในขณะเดียวกันงานเขียนวรรณกรรมก็เพิ่มมากขึ้นเช่นในงานเขียนของวิลเลียม แลงแลนด์ (William Langland), จอห์น เกาเวอร์ (John Gower) และโดยเฉพาะในวรรณกรรมสำคัญ “ตำนานการเดินทางไปแสวงบุญที่แคนเตอร์บรี” (The Canterbury Tales) โดยเจฟฟรีย์ ชอเซอร์

แต่การทำให้เป็นอังกฤษ (Anglicisation) ก็ไม่ควรจะขยายความกันจนเกินเลย เพราะพระราชบัญญัติที่ออกในปี ค.ศ. 1362 ก็ยังเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่มีผลในทันทีทันใด[2] เก็บถาวร 2009-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รัฐสภาเองก็ยังเปิดประชุมกันเป็นภาษาฝรั่งเศสมาจนถึง ปี ค.ศ. 1377[36] เครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์แม้ว่าจะเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อังกฤษแต่ยังมอบให้แก่ชาวต่างประเทศเช่นจอห์นที่ 5 ดยุกแห่งบริตานี และเซอร์โรแบร์ตแห่งนาเมอร์[37] พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเองก็ยังเป็นผู้พูดสองภาษาและยังทรงถือพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์ที่ถูกต้องของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส พระองค์จึงไม่ทรงสามารถแสดงความลำเอียงไปทางใดทางหนึ่งได้ตราบใดที่ทรงยังอ้างสิทธิในสองราชบัลลังก์

พระคุณลักษณะ

ตราประจำพระองค์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด (ตราที่ 2)
ที่บรรจุพระศพของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่นิยมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตั้งแต่ยังทรงพระชนม์อยู่ และแม้แต่เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นพระองค์ก็มิได้ทรงถูกประณามว่ามีสาเหตุมาจากพระองค์โดยตรง[38] นักบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมสมัยฌอง ฟรัวส์ซาร์ท (Jean Froissart) บันทึกไว้ใน “บันทึกประวัติศาสตร์ของฟรัวส์ซาร์ท” (Froissart's Chronicles) สรรเสริญพระองค์ว่า “พระมหากษัตริย์เช่นพระองค์ไม่มีมาให้เห็นมาตั้งแต่พระเจ้าอาร์เธอร์”[39] ทัศนคตินี้มีอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ก็มาเปลี่ยนแปลงไป นักประวัติศาสตร์พรรควิกในสมัยต่อมานิยมที่จะเน้นความสนใจในเรื่องการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญมากกว่าที่จะสรรเสริญพระองค์ในความสามารถทางการทหาร กล่าววิจารณ์พระองค์ว่าไม่ทรงสนพระทัยในความรับผิดชอบในการปกครองบ้านเมือง ตามคำกล่าวของบาทหลวงวิลเลียม สตับบ์ส (William Stubbs) ที่ว่า:

ทัศนคตินี้มีอิทธิพลต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1960 ในบทความ “สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 และนักประวัติศาสตร์” โดย เมย์ แม็คคิสแซ็ค (May McKisack) ชี้ให้เห็นเหตุผลของที่มาของความเห็นของสตับบ์ส พระมหากษัตริย์ในยุคกลางไม่ได้มีความคาดหวังในหน้าที่ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในอนาคตของระบอบพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐสภา หน้าที่พระมหากษัตริย์ในยุคกลางเป็นแต่เพียงการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ—รักษาความมั่นคงและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงเป็นผู้ประสบความสำเร็จเป็นอันมาก[41] นอกจากนั้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังทรงถูกกล่าวหาว่าทรงปรนเปรอพระราชโอรสพระองค์รองๆ โดยให้เสรีภาพมากเกินไป ที่ทำให้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างพระราชโอรสที่ในที่สุดก็นำมาซึ่งสงครามดอกกุหลาบ แต่ข้อนี้ก็ถูกปฏิเสธโดยเคย์. บี. แม็คฟาร์เลน (K.B. McFarlane) ผู้ที่ค้านว่านโยบายนี้ไม่เป็นแต่เพียงนโยบายที่ใช้กันโดยทั่วไปในสมัยนั้นแต่ยังเป็นนโยบายที่ดีที่สุดด้วย[42] ต่อมานักเขียนชีวประวัติของพระองค์เช่นมาร์ค ออร์มรอดและเอียน มอร์ติเมอร์ (Ian Mortimer) ก็ตั้งความเห็นในแนวเดียวกัน แต่ความคิดเห็นเดิมก็ไม่ได้ถูกละทิ้งกันไปทั้งหมด แม้แต่ในปี ค.ศ. 2001 นอร์มัน แคนเตอร์ (Norman Cantor) ก็ยังกล่าวถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่าเป็น “avaricious and sadistic thug” และ “destructive and merciless force”[43]

เท่าที่ทราบกันพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีพระนิสัยที่หุนหันพลันแล่นที่เห็นได้จากวิธีที่ทรงปฏิบัติต่อแสตร็ทฟอร์ดและองค์มนตรี ในปี ค.ศ. 1340-41[44] แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็เป็นที่รู้จักกันในความมีพระมหากรุณาธิคุณ เช่นในกรณีเกี่ยวกับหลานของมอร์ติเมอร์โรเจอร์ เดอ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ชที่ 2 (Roger de Mortimer, 2nd Earl of March) พระองค์ไม่เพียงแต่พระราชทานอภัยโทษให้แต่ยังทรงมอบหมายให้มีบทบาทสำคัญในสงครามกับฝรั่งเศสและในที่สุดก็พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ให้ด้วย[45]

ทางด้านศาสนาและความสนพระทัยในสิ่งต่างๆ พระองค์ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกับผู้ร่วมสมัยโดยทั่วไป สิ่งที่โปรดคือการทำสงคราม ซึ่งก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่เหมาะสมกับการเป็นกษัตริย์ที่ดีในยุคกลาง[46] ในฐานะนักการสงครามพระองค์ก็ทรงประสบความสำเร็จจนนักประวัติศาสตร์การทหารสมัยใหม่บรรยายว่าทรงเป็นนายพลผู้เก่งกล้าสามารถที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ[47] นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังเป็นพระสวามีที่จงรักภักดีต่อพระอัครชายาพระราชินีฟิลลิปปา ก็มีข่าวเล่าลือกันมากมายเกี่ยวกับพระจริยาวัตรในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศแต่ก็ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าทรงนอกพระทัยพระชายาก่อนหน้าที่จะทรงมีความสัมพันธ์กับอลิซ เพอร์เรอร์ส และขณะนั้นพระราชินีฟิลลิปปาก็ประชวรหนักแล้ว[48] พระองค์ไม่ทรงเหมือนพระมหากษัตริย์ในยุคกลางของอังกฤษที่ไม่มีพระโอรสธิดานอกสมรสที่เป็นที่ทราบ ความภักดีของพระองค์เผื่อแผ่ไปยังพระญาติพระวงศ์ด้วย ซึ่งตรงข้ามกับพระมหากษัตริย์องค์ที่ผ่านมาและไม่ทรงต้องประสบความเป็นปฏิปักษ์จากพระราชโอรสองค์ในห้าพระองค์ที่ทรงมี[49]

ในเรื่องแต่ง

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นตัวละครเอกในบทละคร “สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3” ที่กล่าวกันว่าเขียนโดยวิลเลียม เชกสเปียร์ และทรงปรากฏใน “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” โดย คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ (Christopher Marlowe) ในฐานะพระราชโอรสเมื่อยังทรงพระเยาว์

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ไม่ค่อยปรากฏในภาพยนตร์ มีก็บ้างเช่นเมื่อชาร์ลส์ เค้นท์เล่นเป็นพระองค์ในภาพยนตร์เงียบ “การสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3” (ค.ศ. 1911), ไมเคิล ฮอร์นเดิร์นใน “The Dark Avenger” (ค.ศ. 1955), และเมื่อยังทรงพระเยาว์โดย สเตฟาน คอมเบสโค ในบทละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงมาจากบทละครของมาร์โลว์ ใน “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” (ค.ศ. 1982) และโดยโจดี กราเบอร์ ใน “พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2” โดยเดเร็ค จาร์มัน (ค.ศ. 1991)

แม้จะไม่ทรงปรากฏในภาพยนตร์เองแต่ก็เป็นนัยยะว่าทรงเป็นลูกของอิสซาเบลลากับนักปฏิวัติสกอต วิลเลียม วอลเลซ ในภาพยนตร์เรื่อง “Braveheart”[50] ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะวอลเลซเสียชีวิตไปห้าปีก่อนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะประสูติและเป็นไปได้ยากที่วอลเลซจะเคยพบปะกับอิสซาเบลลา

ราชตระกูล

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ทรงเป็นทายาทในราชวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ ผ่านทางพระเจ้าจอห์น ส่วนพระมารดาคือพระนางอิสซาเบลลานั้นสืบสายมาจากสมเด็จพระราชินีเอเลียนอร์ ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 เช่นกัน

ผังตระกูลอย่างง่ายดังข้างล่างนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพระองค์กับตระกูลกาเปต์แห่งฝรั่งเศส สำหรับการสืบตระกูลจากพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต ให้ดูจากผังตระกูลพระราชวงศ์อังกฤษ

ฟิลิปที่ 3
(ค.ศ. 1270–1285)
 
 
ฟิลิปที่ 4
(ค.ศ. 1285–1314)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
ชาร์ลส์แห่งวาลัวส์
(† ค.ศ. 1325)
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
หลุยส์ที่ 10
(ค.ศ. 1314–1316)
ฟิลิปที่ 5
(ค.ศ. 1316–1322)
ชาร์ลส์ที่ 4
(ค.ศ. 1322–1328)
อิสซาเบลลา
 
เอ็ดเวิร์ดที่ 2ฟิลิปที่ 6
(ค.ศ. 1328–1350)
 
 
 
 
เอ็ดเวิร์ดที่ 3

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Mortimer, The Perfect King - The Life of Edward III, Father of the English Nation, 1.
  2. For an account of Edward II's later years, see Fryde, Natalie (1979). The Tyranny and Fall of Edward II, 1321–1326. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-22201-X.
  3. Michael, 'A Manuscript Wedding Gift from Philippa of Hainault to Edward III', 582.
  4. Ormrod, Reign of Edward III, 6.
  5. Ormrod, Reign of Edward III, 9.
  6. Hanawalt, The Middle Ages: An Illustrated History, 133.
  7. Fryde, N.M. (1978). "Edward III's removal of his ministers and judges, 1340–1", British Institute of Historical Research 48, pp. 149–61.
  8. Ormrod, Reign of Edward III, 16.
  9. May McKisack, Fourteenth Century, 132.
  10. Hatcher, J. (1977). Plague, Population and the English Economy, 1348–1530. London: Macmillan. ISBN 0-333-21293-2.
  11. Prestwich, Plantagenet England, 553.
  12. For a discussion of this question, see Prestwich, Plantagenet England, 307–10.
  13. Ormrod, "Reign of Edward III", 90–4; Ormrod, "Edward III", DNB.
  14. McKisack, Fourteenth Century, 231.
  15. Ormrod, "Reign of Edward III", 27.
  16. McKisack, Fourteenth Century, 145.
  17. Ormrod, "Reign of Edward III", 35–7; McKisack, Fourteenth Century, 387–94.
  18. The earlier belief that Gaunt "packed" parliament in 1377 is no longer widely held. See Wedgewood, J. C. (1930) "John of Gaunt and the packing of parliament", English Historical Review 45, pp. 623–5.
  19. Ormrod, "Edward III", DNB.
  20. Cantor, In the Wake of the Plague, 38
  21. Ormrod, "Edward III", DNB.
  22. McKisack, Fourteenth Century, 335.
  23. Hanawalt, B. (1986) The Ties That Bound: Peasant Families in Medieval England Oxford: Oxford University Press, p. 139. ISBN 0-19-503649-2.
  24. Prestwich, M. (1981). "Parliament and the community of the realm in the fourteenth century", in Art Cosgrove and J.I. McGuire (eds.) Parliament & Community, p. 20.
  25. McKisack, Fourteenth Century, 280–81.
  26. McKisack, Fourteenth Century, 257.
  27. Musson and Ormrod, Evolution of English Justice, 50–54.
  28. McKisack, Fourteenth Century, 186–7.
  29. Brown, Governance, 70–1.
  30. Brown, Governance, 67–9, 226–8.
  31. Harriss, King, Parliament and Public Finance, 509–17.
  32. K.B. McFarlane (1973) The Nobility of Later Medieval England, Oxford: Clarendon Press, pp. 158-9 ISBN 0-19-822362-5.
  33. McKisack, Fourteenth Century, 251-2. Another candidate for the owner of the original garter was her mother-in-law Catherine Grandisson, the Dowager Countess of Salisbury.
  34. Prestwich, Three Edwards, 209–10.
  35. McKisack, Fourteenth Century, 524.
  36. Prestwich, Plantagenet England, 556.
  37. McKisack, Fourteenth Century, 253; Prestwich, Plantagenet England, 554.
  38. Ormrod, Reign of Edward III, 37.
  39. Ormrod, Reign of Edward III, 38. Froissart's predecessor, Jean le Bel, who had served under the king ในปี ค.ศ. 1327, likewise called Edward "Arthur come again."
  40. Stubbs, William. The Constitutional History of England, quoted in McKisack, Edward III and the historians, p. 3.
  41. McKisack, Edward III and the historians, 4–5.
  42. K.B. McFarlane (1981). England in the fifteenth century, London: Hambledon Press, p. 238. ISBN 0-9506882-5-8.
  43. Cantor, In the Wake of the Plague, 37, 39.
  44. Prestwich, Plantagenet England, 289.
  45. McKisack, Fourteenth Century, 255.
  46. Ormrod, Reign of Edward III, 44; Prestwich, Plantagenet England, 290–1.
  47. Clifford J. Rogers, "England's Greatest General," MHQ SUMMER 2002, VOL: 14 NO: 4
  48. Mortimer, Perfect King, 400–1; Prestwich, Three King Edwards, 241.
  49. Prestwich, Plantagenet England, 290.
  50. Ewan, pp1219–21.
ก่อนหน้า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท)

(ค.ศ. 1327ค.ศ. 1377)
สมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2

บรรณานุกรม

ทั่วไป

กษัตริย์

  • McKisack, M. (1960). "Edward III and the historians". History. 45: 1. doi:10.1111/j.1468-229X.1960.tb02288.x.
  • Ormrod, W.M. (2006). "Edward III (1312–1377)". Oxford Dictionary of National Biography. สืบค้นเมื่อ 2006-05-31.

การครองราชย์

  • Bothwell, J.S. (2001). The Age of Edward III. York: The Boydell Press. ISBN 1-903153-06-9.

สงคราม

  • Ayton, Andrew (1994). Knights and Warhorses: Military Service and the English Aristocracy Under Edward III. Woodbridge: Boydell Press. ISBN 0-85115-568-5.
  • Fowler, K.H. (1969). The King's Lieutenant: Henry of Grosmont, First Duke of Lancaster, 1310–1361. London: Elek. ISBN 0-236-30812-2.
  • Rogers (ed.), C.J. (1999). The Wars of Edward III: Sources and Interpretations. Woodbridge: Boydell Press. ISBN 0-85115-646-0. {{cite book}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Rogers, C.J. (2000). War Cruel and Sharp: English Strategy under Edward III, 1327–1360. Woodbridge: Boydell Press. ISBN 0-85115-804-8.

การศึกษา

  • Michael, M.A. (1994). "The iconography of kingship in the Walter of Milemete treatise". Journal of the Warburg and Courtauld Institutes. 54: 35–47.
  • Michael, M.A. (1985). "A Manuscript Wedding Gift from Philippa of Hainault to Edward III". Burlington Magazine. 127: 582–590.
  • Lachaud, Frédérique (1985). "Un "miroir au prince" méconnu : le De nobilitatibus, sapienciis et prudenciis regum de Walter Milemete (vers 1326-1327)". Paviot, Jacques; Verger, Jacques (ed.), Guerre, pouvoir et noblesse au Moyen Âge. Mélanges en l'honneur de Philippe Contamine (Cultures et civilisations médiévales, XXII). 127: 401–10.

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • Bothwell, J. (1997). "Edward III and the "New Nobility": largesse and limitation in fourteenth-century England". English Historical Review. 112.
  • Vale, J. (1982). Edward III and Chivalry: Chivalric Society and its Context, 1270–1350. Woodbridge: Boydell Press. ISBN 0-85115-170-1.

รัฐสภา

กฎหมายและการบริหารราชการ

  • Musson, A. and W.A. Omrod (1999). The Evolution of English Justice. Basingstoke: Macmillan. ISBN 0-333-67670-X.
Kembali kehalaman sebelumnya