Share to:

 

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีทรงประทับพระราชอาสน์ จากฉากแรกของพรมผนังบาเยอ
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
ครองราชย์8 มิถุนายน ค.ศ. 1042 – 5 มกราคม ค.ศ. 1066
ราชาภิเษก3 เมษายน ค.ศ. 1043 อาสนวิหารวินเชสเตอร์
ก่อนหน้าพระเจ้าฮาร์ธาคนุต
ถัดไปพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน
พระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 1003–1005
อิสลิป ออกซฟอร์ดเชอร์ ราชอาณาจักรอังกฤษ
สวรรคต5 มกราคม ค.ศ. 1066 (พระชนมายุประมาณ 60–63 พรรษา)
ลอนดอน ราชอาณาจักรอังกฤษ
ฝังพระศพเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ประเทศอังกฤษ
คู่อภิเษกอิดิธแห่งเวสเซกซ์
ราชวงศ์เวสเซกซ์
พระราชบิดาพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อม
พระราชมารดาเอ็มมาแห่งนอร์มังดี
นักบุญเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี
นิกายโรมันคาทอลิก
คริสตจักรแห่งอังกฤษ
เป็นนักบุญค.ศ. 1161
วันฉลอง13 ตุลาคม
องค์อุปถัมภ์กษัตริย์, การแต่งงานที่ไม่มีความสุข, คู่ที่แยกกัน, ราชวงศ์อังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี หรือนักบุญเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี (อังกฤษ: Edward the Confessor หรือ Saint Edward the Confessor) (ราว ค.ศ. 1003/1005 – 5 มกราคม ค.ศ. 1066) เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เวสเซกซ์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จพระราชสมภพเมื่อราว ค.ศ. 1003/1005 ที่อิสลิป ออกซฟอร์ดเชอร์ อังกฤษ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าแอเธลเรดที่ 2 แห่งอังกฤษ และ เอ็มมาแห่งนอร์มังดี ทรงอภิเสกสมรสกับอิดิธแห่งเวสเซกซ์ ครองราชย์ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1042 จวบจนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1066[1]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเป็นกษัตริย์ชาวแองโกล-แซกซันพระองค์ก่อนรัชกาลสุดท้ายของราชอาณาจักรอังกฤษและของราชวงศ์เวสเซกซ์ รัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงที่อำนาจของกษัตริย์เสื่อมลงแต่อำนาจของขุนนางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการนำมาสู่ความเกี่ยวพันกับดัชชีนอร์ม็องดีโดยการรุกรานอังกฤษของดยุกแห่งนอร์ม็องดีผู้เข้ามายึดราชบัลลังก์อังกฤษจากพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสันและพระเจ้าเอ็ดการ์ เอเธลลิงผู้ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าฮาร์ธาคนุต พระราชอนุชาต่างพระราชบิดา พระเจ้าฮาร์ธาคนุตทรงยึดราชบัลลังก์คืนมาจากพระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระอนุชา อัลเฟรด เอเธลลิงเองก็พยายามโค่นราชบัลลังก์ของพระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุตครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1036 แต่ไม่สำเร็จ เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรสธิดาใน ปี ค.ศ. 1066 จึงทำให้เกิดการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์จากฝ่ายต่างๆ

หลังจากสวรรคตเพียงไม่ถึงร้อยปีพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ ในปี ค.ศ. 1161 ทรงเป็นนักบุญของคริสตจักรโรมันคาทอลิก คริสตจักรแห่งอังกฤษ และนิกายแองกลิคัน พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของกษัตริย์, การแต่งงานที่ไม่มีความสุข, คู่ที่แยกกัน, ราชวงศ์อังกฤษ และตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์อังกฤษด้วยเช่นกัน

เบื้องต้น

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จพระราชสมภพที่อิสลิป มลฑลออกซฟอร์ดเชอร์ เมื่อราว ค.ศ. 1003/1005 ในปี ค.ศ. 1013 เอ็มมาแห่งนอร์มังดี (น้องสาวของรีชาร์ที่ 2 ดยุกแห่งนอร์ม็องดี) ทรงนำเอ็ดเวิร์ดและพระอนุชา อัลเฟรด หนีจากการรุกรานของชาวเดนมาร์กที่อังกฤษไปยังดัชชีนอร์ม็องดี แม้ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะทรงเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาแต่ในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นนายทหารที่มีความสามารถในการต่อสู้ ฟลาเทยิสบ็อค (Flateyisbok) ชาวนอร์สกล่าวถึงการต่อสู้อย่างกล้าหาญของพระองค์กับพระเจ้าคนุตที่ลอนดอนว่าพระองค์ทรงโจมตีพระเจ้าคนุต แต่ธอร์เคล (Thorkell the Tall) สามารถช่วยให้พระเจ้าคนุตรอดมาได้โดยดึงตัวพระเจ้าคนุตลงจากหลังม้าก่อนที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะเข้าถึงตัว พอเอ็ดเวิร์ดเสด็จตามมาถึงก็ทรงจามม้าของพระเจ้าคนุตด้วยขวาน[2] เชื่อกันว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงศรัทธาศาสนามากขึ้นในระหว่างยี่สิบห้าปีที่ทรงพำนักอยู่ที่นอร์ม็องดี เดวิด อาร์มน โฮวาร์ธ ได้โต้แย้งความเห็นนี้ไว้ในหนังสือของเขา "1066: ปีแห่งการพิชิต" (1066: The Year of the Conquest) ในขณะที่อังกฤษกลายเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก

ความคุ้นชินของพระองค์ต่อนอร์ม็องดีและผู้นำของดินแดนดังกล่าวกลายมาเป็นอิทธิพลต่อการปกครองของพระองค์ในเวลาต่อมา การที่ขุนนางชาวนอร์มังดีให้ที่ลี้ภัยแก่พระองค์ แต่มิได้ให้ความสนใจแก่พระองค์เท่าที่ควรก็ทำให้พระองค์มีความรู้สึกขอบคุณแต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรู้สึกชิงชังในวิธีที่ทรงถูกปฏิบัติจากพระญาติ[3] กล่าวกันว่าก่อนที่รอแบร์ที่ 1 ดยุกแห่งนอร์ม็องดีลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเลมก็ได้ตั้งเอ็ดเวิร์ดให้เป็นหนึ่งในผู้ดูแลลูกชายวิลเลียม โรเบิร์ตไปเสียชีวิตที่เยรูซาเลม

หลังจากที่ทรงพ่ายแพ้ต่อความพยายามที่จะชิงราชบัลลังก์ของพระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุตในปี ค.ศ. 1036 เอ็ดเวิร์ดก็เสด็จกลับมานอร์ม็องดีแต่พระราชอนุชา อัลเฟรด ทรงถูกจับได้โดยกอดวิน เอิร์ลแห่งเอสเซกซ์ ผู้นำตัวพระราชอนุชาไปให้พระเจ้าฮาโรลด์ แฮร์ฟุต พระเจ้าฮาโรลด์ทรมานเจ้าชายอัลเฟรดจนพระเนตรบอดเพื่อเป็นการกำจัดผู้ที่มีสิทธิ์ในราชบัลลงก์ เจ้าชายอัลเฟรดสิ้นพระชนม์จากการทรมานไม่นานหลังจากนั้น กล่าวกันว่าการฆาตกรรมของพระราชอนุชาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เอ็ดเวิร์ดทรงมีความแค้นต่อเอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ และทรงขับไล่เขาจากราชสำนักในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1051 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดตรัสว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้พระองค์ให้อภัยเอิร์ลแห่งเอสเซ็กส์ได้คือการคืนชีพอัลเฟรด ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ในปี ค.ศ. 1041 ขุนนางชาวแองโกล-แซกซัน ก็ได้อัญเชิญพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับมาอังกฤษ และทรงได้เข้าร่วมราชสำนักของพระเจ้าฮาร์ธาคนุต (พระราชโอรสในพระเจ้าคนุตมหาราช) พระราชอนุชาร่วมพระราชมารดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซันระบุว่าพระเจ้าฮาร์ธาคานูททำพิธีสาบานพระองค์เป็นกษัตริย์ร่วมกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าฮาร์ธาคานูทเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1042 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงรับราชสมบัติต่อ ทรงได้รับนิยมจากพสกนิกรอย่างลั้นหลาม บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซันกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดได้รับเลือกเป็นกษัตริย์ ก่อนที่พระศพของพระเจ้าฮาร์ธาคนุตจะถูกฝัง พระองค์ได้รับการราชาภิเษกที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1043

อ้างอิง

  1. การนับเลขรัชกาลของพระมหากษัตริย์อังกฤษเริ่มขึ้นหลังการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มัน ซึ่งทำให้การนับเลขรัชกาลของพระนามเอ็ดเวิร์ดเริ่มขึ้นที่รัชสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งอังกฤษ และทำให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี (ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่สามที่ใช้พระนามดังกล่าว) ไม่ได้ถูกนับรวมไปในจำนวนตัวเลขนั้น
  2. "Edvard III, Bekenderen Ethelredsson Konge af England" (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-26. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. Howarth, David Armine (1977). 1066: The Year of the Conquest. Penguin.

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี ถัดไป
พระเจ้าฮาร์ธาคนุต
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
(ราชวงศ์เวสเซกซ์)

(ค.ศ. 1043 – ค.ศ. 1066)
พระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน
Kembali kehalaman sebelumnya