พระแม่ธรณี เป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ปรากฏในตำนานของศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ [ 1]
สันนิษฐานว่าแนวคิดพระแม่ธรณีมีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดเทพเจ้าและพระแม่แห่งพื้นดิน พระแม่ปฤธวี ในศาสนาฮินดู ยุคพระเวท และต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นแนวคิดพระภูเทวี ในฐานะพระชายาของพระวิษณุ พระภูเทวีมีพระนามต่าง ๆ ที่เรียกอย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือพระนามพระศรีวสุนธรา หรือพระพสุธา[ 1] ซึ่งมีการกล่าวถึงพระนามนี้บ่อยครั้งในพุทธประวัติของพระโคตมพุทธเจ้า โดยเฉพาะในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงชนะมาร หรือตอน "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ปรากฏในความเชื่อของศาสนาพุทธในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ [ 2] สำหรับในประเทศไทยมีการบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้อย่างชัดเจนในปฐมสมโพธิกถา ฉบับพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงแปลในสมัยรัชกาลที่ 3 [ 1]
ประวัติศาสตร์
จิตรกรรมฝาผนัง รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม อุโบสถ วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี ที่กล่าวกันว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีที่งดงามที่สุด จิตรกรรมแบบสกุลช่างนนทบุรี[ 3]
ในคัมภีร์และงานเขียนยุคแรกของศาสนาพุทธ เช่น พระไตรปิฎก , อรรถกถา ไม่มีการระบุถึงบทบาทของพระธรณีในตอนมารวิชัย อย่างไรก็ตามหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่มีการระบุถึงพระแม่ธรณีในตอนมารวิชัยคือลลิตวิสตระ ในนิกายมหายาน แต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 8 โดยระบุว่าพระแม่ธรณีได้เสด็จมาแสดงความยินดีร่วมกับเทวดาองค์อื่น ๆ หลังพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ในศิลปะอินเดีย ยุคราชวงศ์คุปตะ ปรากฏการสร้างพระแม่ธรณีในรูปสตรีนั่งอยู่ประกอบฉากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในฐานะของเทพเจ้าแห่งพื้นดิน (ซึ่งอาจหมายถึงพระภูเทวี หรือเทพเจ้าที่คล้ายคลึงกันองค์อื่น ๆ ) ในท่าทางพนมมือหรือถือหม้อกลัศ [ 4] อาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี ได้ให้ความเห็นว่าเป็นหม้อซึ่งบรรจุน้ำทักษิโณทกของพระพุทธเจ้าในชาติต่าง ๆ ก่อนตรัสรู้[ 5] คติลักษณะการบีบมวยผมของพระแม่ธรณีนั้นปรากฏพบเฉพาะในภูมิภาคไทย ลาว พม่า และเขมร เท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏชัดเจนว่าเริ่มต้นมีความเชื่อนี้ตั้งแต่เมื่อใด[ 1]
พระแม่ธรณีบีบมวยผม
ลักษณะของพระแม่ธรณีบีบมวยผมเพื่อขับไล่พญามารนั้นเป็นที่แพร่หลายเฉพาะในแถบไทย ลาว พม่า และ กัมพูชา อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าคติการบีบมวยผมของพระแม่ธรณีเริ่มต้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าเริ่มมีในพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา[ 1] ส่วนในประเทศไทยพบหลักฐานชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ทั้งในลักษณะของงานประติมากรรมและจิตรกรรมบนฝาผนังของวัด[ 1] [ 4] อีกหลักฐานหนึ่งในโคลงของศรีปราชญ์ ก่อนถูกประหารที่ได้กล่าวถึง "ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน..." แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องพระแม่ธรณีที่ปรากฏในสมัยอยุธยา
ในปัจจุบันพระแม่ธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย เช่น การประปานครหลวง , การประปาส่วนภูมิภาค และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 กิ่งมณี, อรุณศักดิ์ (2017). ทิพยประติมา: ที่มา ความหมาย ๑๔ ทิพยเทพแห่งโชคลาภ-อุดมสมบูรณ์ของไทยและเอเชีย . นนทบุรี: มิวเซียมเพรส. ISBN 978-616-7674-13-1 .
↑ Cooler, Dr. Richard M. (2009). "The Enlightened Buddha" . The art and culture of Burma, Chapter III The Pagan period : Burma's classic age - 11th To 14th centuries, Part 4 D. Sculpture, 2. A thematic discussion of iconography and meaning . SEAsite, Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Illustrated study guide) เมื่อ 2012-03-13. สืบค้นเมื่อ 2011-01-20 .
↑ พินิจนคร , รายการ ตอน นนทบุรี วิถีโบราณแห่งย่านตลาดแก้ว-ตลาดขวัญ อัศจรรย์มรดกสกุลช่างเมืองนนท์ : วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554 ทางไทยพีบีเอส
↑ 4.0 4.1 เพ็ญสุภา สุขคตะ (19 กันยายน 2019). "รูปลักษณ์ ความเชื่อ "แม่ธรณี" ในรัฐฉานและล้านนา" . มติชน.
↑ ติงสัญชลี, เชษฐ์ (2016). ประติมากรรมฮินดู – พุทธในศิลปะอินเดีย กับคัมภีร์ศิลปะศาสตร์ภาษาสันสกฤต . กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์. ISBN 9786164233959 .
แหล่งข้อมูลอื่น
Cate, Sandra (2003). Making Merit, Making Art: A Thai Temple in Wimbledon . University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-2357-3 .
Guthrie, Elizabeth (2004), "A Study of the History and Cult of the Buddhist Earth Deity in Mainland Southeast Asia", Thesis submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of PhD in Religious Studies at the University of Canterbury , University of Canterbury, Christchurch, New Zealand, p. 2, hdl :10092/4350
Holt, John (2009). Spirits of the Place: Buddhism and Lao Religious Culture . University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-3327-5 .
Marshall (2005). Gods, Goddesses, and Mythology . Marshall Cavendish. ISBN 978-0-7614-7563-7 .
Mishra, P. K. (1 January 1999). Studies in Hindu and Buddhist Art . Abhinav Publications. ISBN 978-81-7017-368-7 .
Roveda, Vittorio (2005). Images of the Gods: Khmer Mythology in Cambodia, Thailand and Laos . River Books. ISBN 978-974-9863-03-9 .
Stratton, Carol (2004). Buddhist Sculpture of Northern Thailand . Serindia Publications, Inc. ISBN 978-1-932476-09-5 .
Swearer, Donald K. (1 January 1995). The Buddhist World of Southeast Asia . SUNY Press. ISBN 978-1-4384-2165-0 .
Terwiel, B. J. (1994). Monks and magic: an analysis of religious ceremonies in central Thailand . White Lotus.
Turner, Sir Ralph Lilley ; Dorothy Rivers Turner (2006) [1962]. A comparative dictionary of the Indo-Aryan languages (Accompanied by three supplementary volumes: indexes , compiled by Dorothy Rivers Turner: 1969. – Phonetic analysis : 1971. – Addenda et corrigenda : 1985. ed.). London: Oxford University Press. [ลิงก์เสีย ]