ภูเขาน้ำแข็ง
ภูเขาน้ำแข็ง คือก้อนน้ำแข็งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่แตกออกมาจากธารน้ำแข็งหรือหิ้งน้ำแข็ง (ice shelf) และลอยอยู่ในแหล่งน้ำเปิดเช่นทะเลหรือมหาสมุทร[1][2] ภูเขาน้ำแข็งมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดมหึมา เกิดจากแผ่นดินในแถบขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่มีอากาศหนาวเย็นจนอุณหภูมิติดลบ มีหิมะปกคลุมตลอดเวลา พื้นที่บางส่วนในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขา บริเวณยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะจำนวนมาก ซึ่งในเวลาต่อมาหิมะเหล่านี้ได้จับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งจัด เนื่องจากน้ำแข็งบริสุทธิ์มีความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 920 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่น้ำทะเลมีความหนาแน่นประมาณ 1,025 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้ภูเขาน้ำแข็งจะมีส่วนที่โผล่พ้นน้ำประมาณ 1 ใน 10 ส่วนโดยปริมาตร ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตาม ภูเขาน้ำแข็งถูกถือว่าเป็นภัยร้ายแรงทางทะเล (List of ships sunk by icebergs) การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอสไททานิกใน ค.ศ. 1912 ทำให้มีการสถาปนาตระเวนน้ำแข็งระหว่างประเทศ (International Ice Patrol) ขึ้นใน ค.ศ. 1914 ภูเขาน้ำแข็งที่แบ่งตัว (ice calving) ออกมาจากธารน้ำแข็งที่หันหน้าเข้าหาทะเลเปิดอย่างเช่นในกรีนแลนด์จะมีรูปร่างเป็นกองไม่สม่ำเสมอ ในขณะที่ภูเขาน้ำแข็งที่แบ่งตัวออกมาจากแอนตาร์กติกาจะมีรูปร่างแบนหนา (เหมือนโต๊ะ) ขนาดใหญ่ ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาคือภูเขาน้ำแข็ง บี-15 ซึ่งแยกตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในแอนตาร์กติกาใน ค.ศ. 2000 รากศัพท์คำว่า iceberg ในภาษาอังกฤษเป็นคำกึ่งคำยืมแบบแปล (calque) จากคำว่า ijsberg ในภาษาดัตช์ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ice mountain (ภูเขาน้ำแข็ง)[3] และเป็นคำร่วมเชื้อสายกับคำว่า isbjerg ในภาษาเดนมาร์ก, Eisberg ในภาษาเยอรมัน และ isberg ในภาษาสวีเดน ในส่วนของภาษาไทย คำว่าภูเขาน้ำแข็งประกอบขึ้นจากคำว่าภูเขาและคำว่าน้ำแข็งเช่นเดียวกัน ภาพรวมตามปกติ ภูเขาน้ำแข็งที่พ้นน้ำมีปริมาตรเพียงหนึ่งในสิบของทั้งหมด เพราะความหนาแน่นของน้ำแข็งบริสุทธิ์เท่ากับประมาณ 920 kg/m3 (57 lb/cu ft) ในขณะที่ความหนาแน่นของน้ำทะเลเท่ากับประมาณ 1,025 kg/m3 (64 lb/cu ft) (ตามหลักการของอาร์คิมิดีส) การคาดคะเนรูปร่างของส่วนที่อยู่ใต้น้ำจากส่วนที่อยู่เหนือน้ำนั้นทำได้ยาก พื้นที่ของแมนแฮตตันมักถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเทียบขนาดของภูเขาน้ำแข็ง[4][5][6] ภูเขาน้ำแข็งสามารถมีความสูงได้ถึง 100 เมตร (300 ฟุต) เหนือน้ำทะเล และสามารถมีมวลได้ตั้งแต่ 100,000 ตันจนถึง 10 ล้านตัน ภูเขาน้ำแข็งหรือเศษน้ำแข็งลอยน้ำที่เตี้ยกว่า 5 เมตรเหนือน้ำทะเลถูกจัดว่าเป็น "เศษภูเขาน้ำแข็ง" (bergy bits) และที่เตี้ยกว่า 1 เมตรเป็น "ภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็ก" (growler)[7] ภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมีความสูงเหนือน้ำทะเลถึง 168 เมตร (551 ฟุต) หรือเท่ากับตึก 55 ชั้น ซึ่งถูกรายงานโดยเรือตัดน้ำแข็ง USCGC อีสต์วินด์ (WAGB-279) ในปี ค.ศ. 1958 ภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้กำเนิดมาจากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ตะวันตกและสามารถมีอุณหภูมิภายในได้ตั้งแต่ −15 ถึง −20 องศาเซลเซียส (5 ถึง −4 องศาฟาเรนไฮต์).[8] ภูเขาน้ำแข็งมักถูกลมและกระแสน้ำพัดลอยเข้าใกล้แนวชายฝั่ง ที่ซึ่งพวกมันจะแข็งตัวกลายเป็นกลุ่มก้อนน้ำแข็ง (pack ice) (น้ำแข็งทะเลรูปแบบหนึ่ง) หรือลอยเข้าไปในน้ำตื้นและสัมผัสกับก้นทะเลเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการขุดร่องก้นทะเล (Seabed gouging by ice) ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกไว้แบ่งตัวออกมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในแอนตาร์กติกา ภูเขาน้ำแข็ง บี-15 จากรูปถ่ายทางดาวเทียมปี ค.ศ. 2000 มีขนาด 295 โดย 37 กิโลเมตร (183 โดย 23 ไมล์) และพื้นที่ผิว 11,000 ตารางกิโลเมตร (4,200 ตารางไมล์) ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดที่มีการบันทึกมาเป็นภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกรูปแบนหนา (tabular) พื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 31,000 ตารางกิโลเมตร (12,000 ตารางไมล์) [335 โดย 97 กิโลเมตร (208 โดย 60 ไมล์)] ถูกพบเห็น 150 ไมล์ (240 กิโลเมตร) ทางทิศตะวันตกของเกาะสกอตต์ (Scott Island) ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้โดย USS กลาเซียร์ วันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 ภูเขาน้ำแข็งลูกนี้มีขนาดใหญ่กว่าประเทศเบลเยียม[9][10] ภูเขาน้ำแข็งที่ความยาวตามขวางน้อยกว่า 2 เมตร (6.6 ฟุต) และลอยเหนือน้ำน้อยกว่าเมตรเดียว (3.3 ฟุต) เรียกว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดเล็ก (growler)[11] และมีขนาดเล็กกว่าเศษภูเขาน้ำแข็ง (bergy bits) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 เมตร (15 ฟุต) ทั้งสองกำเนิดมาจากภูเขาน้ำแข็งที่กำลังสลายตัว[12] ขณะที่น้ำแข็งละลาย มันจะผลิตเสียงดังฟู่เรียกว่า "เบอร์กีเซลท์เซอร์" (Bergie Seltzer) เสียงนี้เกิดขึ้นเมื่อหน้าสัมผัสระหว่างน้ำและน้ำแข็งพบกับฟองอากาศอัดที่อยู่ในน้ำแข็งทำให้ฟองอากาศแตกและผลิตเสียงดัง "เป๊าะแป๊ะ" ฟองอากาศถูกกักไว้ใต้ชั้นหิมะตั้งแต่น้ำแข็งเริ่มก่อตัว และถูกฝังไว้ที่ความลึกต่าง ๆ (ถึงหลายกิโลเมตร) และถูกอัดขณะที่หิมะแปรสภาพกลายเป็นหิมะน้ำแข็ง (firn) และน้ำแข็งธารน้ำแข็งในที่สุด[8] ภูเขาน้ำแข็งจะพลิกตัวในน้ำขณะที่ละลายและสลายตัวจากแรงโน้มถ่วงที่ดึงด้านที่หนักกว่าลงล่างอย่างต่อเนื่อง การพลิกตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับภูเขาน้ำแข็งที่มีอายุน้อยและกำลังหาจุดสมดุลอยู่ ภูเขาน้ำแข็งสามารถพลิกตัวได้ตลอดเวลาอย่างไม่มีสัญญาณเตือน ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่แตกตัวออกมาจากธารน้ำแข็งและพลิกตัวกลับไปบนธารน้ำแข็งสามารถดันให้ธารน้ำแข็งถอยหลังเป็นเวลาไม่กี่นาที แต่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ปล่อยพลังงานออกมาเท่ากับระเบิดปรมาณูได้[13][14] สีภูเขาน้ำแข็งโดยทั่วไปมีสีขาวเพราะถูกปกคลุมด้วยหิมะ แต่ก็สามารถมีสีเขียว น้ำเงิน เหลือง ดำ มีลายเป็นริ้ว หรือแม้แต่สีรุ้งก็ยังมี[15] สีที่หลากหลายเกิดมาจากน้ำทะเล สาหร่าย และปริมาณของฟองอากาศ ตะกอนต่าง ๆ สามารถทำให้เกิดสีดำสกปรกบนภูเขาน้ำแข็งได้[16] รูปทรงนอกจากการแบ่งกลุ่มตามขนาดแล้ว ภูเขาน้ำแข็งสามารถแบ่งกลุ่มตามรูปทรงได้ด้วย รูปทรงพื้นฐานของภูเขาน้ำแข็งคือรูปแบนหนา (tabular) และรูปไม่แบนหนา (non-tabular) ภูเขาน้ำแข็งรูปแบนหนามีด้านข้างที่ชันและด้านบนที่แบนราบคล้ายกับที่ราบสูง และมีอัตราส่วนของความกว้างต่อความสูงมากกว่า 5:1[17] ภูเขาน้ำแข็งชนิดนี้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่าเกาะน้ำแข็ง (ice island)[18] และสามารถมีขนาดที่ใหญ่พอสมควรอย่างเช่นเกาะน้ำแข็งโปเบดา (Pobeda Ice Island) ภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกที่เกิดจากการแตกตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งเช่นหิ้งน้ำแข็งรอสส์หรือหิ้งน้ำแข็งฟิล์ชเนอร์-รอน (Filchner-Ronne Ice Shelf) โดยปกติมักมีรูปแบนหนา ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก่อตัวขึ้นในรูปนี้ ภูเขาน้ำแข็งรูปไม่แบนหนามีรูปทรงที่แตกต่างกันไปซึ่งประกอบไปด้วย:[19]
การเฝ้าสังเกตประวัติแม้ได้มีเหตุการณ์เรืออับปางจากภูเขาน้ำแข็งที่ร้ายแรงเป็นจำนวนมากก่อนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1910 แต่ก็ยังไม่มีระบบการเฝ้าสังเกตภูเขาน้ำแข็งเพื่อป้องกันการชนกันกับเรือ[ต้องการอ้างอิง] การมาถึงของเรือเหล็กทำให้นักออกแบบหลายคนประกาศว่าเรือของพวกเขา "ไม่มีวันจม" การอับปางของเรืออาร์เอ็มเอสไททานิกในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1912 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน จากคนบนเรือประมาณ 2,224 คนทำให้คำกล่าวอ้างนั้นหมดความน่าเชื่อถือไป กองทัพเรือสหรัฐได้ลาดตระเวนและเฝ้าสังเกตการไหลของน้ำแข็งตลอดทั้งช่วงเวลาที่เหลือของฤดูน้ำแข็งปีนั้น ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1913 ได้มีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (SOLAS Convention) ขึ้นในลอนดอนเพื่อวางระบบการสังเกตการณ์ภูเขาน้ำแข็งที่ยั่งยืนกว่าเดิม ภายในสามเดือนชาติทางทะเลที่เข้าร่วมก็ได้ก่อตั้งตระเวนน้ำแข็งระหว่างประเทศ (ไอไอพี) ขึ้นมา เป้าหมายของตระเวนน้ำแข็งนี้คือเพื่อเก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาและสมุทรศาสตร์เพื่อวัดกระแสน้ำ การไหลของน้ำแข็ง อุณหภูมิของมหาสมุทร และระดับความเค็ม โดยได้มีการเฝ้าระวังภัยจากภูเขาน้ำแข็งในบริเวณใกล้กับแกรนด์แบงส์ของเกาะนิวฟันด์แลนด์และจัดหา "ขอบเขตของน้ำแข็งที่รู้ทั้งหมด" ในบริเวณใกล้เคียงให้แก่ประชาคมทางทะเล ไอไอพีเผยแพร่บันทึกแรกในปี ค.ศ. 1921 และต่อจากนั้นทำให้สามารถเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของภูเขาน้ำแข็งแบบปีต่อปีได้ พัฒนาการทางเทคโนโลยีการตรวจตราทะเลทางอากาศในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ทำให้มีการพัฒนาระบบกฎบัตรซึ่งสามารถแจงรายละเอียดของกระแสน้ำและตำแหน่งของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรได้อย่างแม่นยำ ในปี ค.ศ. 1945 มีการทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการตรวจจับภูเขาน้ำแข็งของเรดาร์ หนึ่งทศวรรษต่อมาได้มีการก่อตั้งสถานีเฝ้าสังเกตทางสมุทรศาสตร์ขึ้นเพื่อเก็บข้อมูล และสถานีเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เพื่อการศึกษาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง คอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งบนเรือเพื่อการเฝ้าสังเกตทางสมุทรศาสตร์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 ซึ่งทำให้สามารถประเมินผลข้อมูลได้ไวยิ่งขึ้น จนกระทั่งในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 มีการติดตั้งการส่งสัญญาณอัตโนมัติภาพถ่ายทางดาวเทียมของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาบนเรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker) ระบบสำหรับดาวเทียมแสง (optical satellite) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาแต่ยังถูกจำกัดโดยสภาพอากาศ ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ทุ่น (buoy) ลอยน้ำถูกนำมาใช้ในทะเลแถบแอนตาร์กติกสำหรับงานวิจัยทางภูมิอากาศและมหาสมุทร โดยมีเซ็นเซอร์ที่วัดอุณหภูมิและกระแสน้ำทะเล เรดาร์มองข้างทางอากาศ (SLAR) ทำให้สามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยสภาพอากาศ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995 ประเทศแคนาดาได้ปล่อยดาวเทียมเรดาร์แซต-1 (RADARSAT-1) ซึ่งพัฒนาโดยองค์การอวกาศแคนาดาสำหรับการถ่ายภาพโลกโดยมีจุดประสงค์เพื่อวิทยาศาสตร์และการพาณิชย์ ระบบนี้นำเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ (SAR) มาใช้เป็นครั้งแรก โดยเป็นการส่งพลังงานไมโครเวฟไปที่พื้นผิวของมหาสมุทรและบันทึกการสะท้อนกลับเพื่อติดตามภูเขาน้ำแข็ง องค์การอวกาศยุโรปได้ปล่อยดาวเทียมเอนวิแซต (ENVISAT) (ดาวเทียมสังเกตการณ์ที่โคจรผ่านขั้วโลก)[20] ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2002 ดาวเทียมเอนวิแซตใช้เทคโนโลยีเรดาร์ช่องเปิดสังเคราะห์ขั้นสูง (ASAR) ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของความสูงบนพื้นผิวได้อย่างแม่นยำ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2007 องค์การอวกาศแคนาดาได้ปล่อยดาวเทียมเรดาร์แซต-2 (RADARSAT-2) ซึ่งใช้ระบบ SAR และโหมดหลายโพลาไรเซชัน (multi-polarization mode) และโคจรตามเส้นทางเดิมของดาวเทียมเรดาร์แซต-1[21] การเฝ้าสังเกตในปัจจุบันณ ปัจจุบัน ศูนย์สำรวจน้ำแข็งแห่งชาติ (National Ice Center) (เอ็นไอซี) ของสหรัฐซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1995 เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการเฝ้าสังเกตภูเขาน้ำแข็งทั่วโลกและผลิตผลวิเคราะห์และการพยากรณ์สภาพของน้ำแข็งในแถบอาร์กติก แอนตาร์กติก เกรตเลกส์ และอ่าวเชซาพีก ข้อมูลกว่า 95% ที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์น้ำแข็งทะเลได้มาจากตัวรับรู้ระยะไกลบนดาวเทียมที่อยู่บนวงโคจรขั้วโลก (polar orbit) ซึ่งสำรวจภูมิภาคห่างไกลบนโลก เอ็นไอซีเป็นองค์กรเดียวที่ตั้งชื่อและติดตามภูเขาน้ำแข็งแอนตาร์กติกทั้งหมด โดยจะกำหนดชื่อให้ภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ไมล์ทะเล (19 กิโลเมตร) ตามแกนใดก็ตามซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรซึ่งถูกมอบหมายตามจุดกำเนิดของภูเขาน้ำแข็งลูกนั้นตามด้วยลำดับตัวเลข ตัวอักษรที่นำมาใช้มีดังนี้:[22]
ภูเขาน้ำแข็ง บี-15 แบ่งตัวออกจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ในปี ค.ศ. 2000 และในตอนแรกมีพื้นที่ขนาด 11,000 ตารางกิโลเมตร (4,200 ตารางไมล์) และแตกสลายตัวในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 2002 ชิ้นส่วนที่เหลือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือภูเขาน้ำแข็ง บี-15เอ ซึ่งมีพื้นที่ขนาด 3,000 ตารางกิโลเมตร (1,200 ตารางไมล์) และยังคงเป็นภูเขาน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนกระทั่งมันเกยตื้นและแตกเป็นหลายชิ้นส่วนในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2005 โดยเป็นเหตุการณ์ที่ถูกสังเกตการณ์โดยเครื่องวัดความไหวสะเทือน (seismograph) ทั้งบนภูเขาน้ำแข็งเองและทั่วทั้งทวีปแอนตาร์กติกา[23] การแตกตัวครั้งนี้มีสมมติฐานว่าถูกเสริมจากคลื่นใต้น้ำที่ถูกผลิตโดยพายุแถบอะแลสกาซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหกวันก่อนหน้าและมีระยะทางห่างออกไป 13,500 กิโลเมตร (8,400 ไมล์)[24][25] ภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เมื่อไม่นานมานี้
การลากจูงปลายคริสต์ทศวรรษ 2010 ธุรกิจสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องการลากจูงภูเขาน้ำแข็งจากทวีปแอนตาร์กติกามาที่ตะวันออกกลาง แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผนเพราะราคาสูงเกินไป โดยเป็นที่เชื่อกันว่าสูงถึงสองร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ[37] ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ภูเขาน้ำแข็ง
|