มันแกว
มันแกว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pachyrhizus erosus; อังกฤษ: Mexican turnip หรือ jicama หรือ yam bean) เป็นพืชตระกูลถั่ว มีญาติใกล้ชิดคือถั่วเหลือง ลักษณะต้นมันแกวเป็นเถาเลื้อย หัวอวบใหญ่ขยายจากรากแก้ว โคนตันเนื้อแข็ง ใบประกอบด้วย 3 ใบย่อยขอบจักใหญ่ ดอกมีสีขาวหรือชมพูเป็นช่อ เมล็ดมีสีเหลือง สีน้ำตาล ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสแบน มันแกว 1 ต้นมีเพียงหัวเดียว ส่วนที่ใช้รับประทานคือส่วนของรากแก้ว ชาวเม็กซิโกชอบรับประทานมันแกวตั้งแต่สมัยอารยธรรมมายาและแอซเต็ก นิยมใช้เป็นอาหารว่าง ใส่น้ำมะนาว พริกผง และเกลือ ประวัติมันแกว (P. erosus) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และแถบอเมริกากลาง[1] ทางใต้สุดที่คอสตาริกา[2] โดยพบหลักฐานการปลูกจากแหล่งโบราณคดีที่เปรูซึ่งมีอายุประมาณ 3,000ปี[3] และนำเข้าไปปลูกในประเทศแถบทวีปเอเชียโดยชาวสเปน[4] จากเส้นทางอะคาปุลโก-ฟิลิปปินส์ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน อินโดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย อินเดีย และแอฟริกา ในประเทศไทยมันแถวมีอยู่ 2 ชนิดคือ พันธุ์หัวใหญ่ และพันธุ์หัวเล็ก อาจจะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ภูมิภาคได้แก่ ภาคใต้เรียกว่า "หัวแปะกัวะ" ภาคเหนือเรียกว่า "มันละแวก" "มันลาว" ส่วนภาคอีสานเรียกว่า "มันเพา" นอกจากนี้ยังอาจเรียกด้วยชื่ออื่น ๆ เช่น "เครือเขาขน" "ถั้วบ้ง" และ "ถั่วกินหัว" ชื่ออื่นมันแกว มีชื่อสามัญอื่นเรียกในภาษาต่าง ๆ ได้แก่ ชื่อภาษาอินโดนีเซีย: bengkuang (ชื่อในภาษาชวา bengkowang; ภาษาซุนดา bangkuang)[5] ชื่อภาษามลายู: sengkuwang, bengkuwang, mengkuwang ชื่อภาษาตากาล็อก: singkamas (ซิงกามาส) ชื่อภาษาเวียดนาม: cây củ đậu (ภาคเหนือ), sắn nước (ภาคใต้). ชื่อภาษาลาว: ມັນເພົາ (มันเพา) ชื่อภาษาอีสาน (ประเทศไทย) : มันเพา ชื่อภาษาเขมร: ប៉ិគក់ (เบะ-โกก) ชื่อภาษาพม่า: ပဲစိမ်းစားပင် (pell hcaim hcarr pain) ชื่อภาษาจีน: 凉薯 (เหลียงสู) แปลตามตัวว่า มันเย็น, 豆薯 (จีนภาคเหนือ หูหนาน - โต้วสู ถั่วกินหัว หรือ ถั่วหัวมัน), 番葛 (หมิ่นหนาน - ฟานเก๋อ), 沙葛 (กว่างตุ้ง - ซากอต), 芒光 (แต้จิ๋ว - หมังกวง เรียกทับศัพท์ตามภาษามลายู) อนุกรมวิธานและการกระจายพันธุ์มันแกว (Pachyrhizus erosus) เป็นพืช 1 ในอย่างน้อย 4-5 ชนิดของสกุลมันแกว[6] (Pachyrhizus) คือ
มันแกวแอฟริกา (African yam bean, Sphenostylis stenocarpa) — มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก และเพาะปลูกในแอฟริกาตอนใต้และตะวันออก เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีหัว ถูกเรียกว่ามันแกว (ถั่วกินหัว) จากลักษณะรากที่มีหัว แต่ไม่นับเป็นสกุลมันแกว เนื่องจากแตกออกหลายหัวคล้ายมันเทศ หัวยาวและเนื้อในสีขาว (ต่างจากมันเทศ)[8] บางครั้งหัวบิดงอพับหรือมีผิวย่น ผิวสีน้ำตาลคล้ำ มีใบขนนก 3 ใบย่อยแต่ขอบใบเรียบ มีฝักเมล็ดยาวกว่าคล้ายถั่วฝักยาว[9] เมล็ดกลมแป้น[10] มีมากกว่า 4 สีขี้นไปตามสายพันธุ์ย่อย[11] ลักษณะทางพฤกษศาสตร์มันแกว (P. erosus) เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีเถาเลื้อยพัน รากเป็นระบบรากแก้ว ซึ่งสะสมอาหารแล้วขยายตัวออกเป็นหัวใต้ดิน ทรงกลมแป้น อวบน้ำ เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ[12] หัวเดี่ยว มีรูปร่างไม่แน่นอน[13] อาจมีพูนูนรอบ ๆ [14][15] เถาของมันแกว สามารถสูงได้ถึง 4-5 เมตร และอาจยาวได้ 20 ม. หากได้รับการค้ำหรือการยึดเกาะที่เหมาะสม รากมีความยาวได้ถึง 2 ม. และรากรวมหัวหนักได้ถึง 20 กก. (ขนาดหัว 10-15 ซม.)[6] หนักที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้คือ 23 กก. พบในปี 2010 ที่ฟิลิปปินส์[ต้องการอ้างอิง] (ซึ่งเรียกว่า ซิงกามาส) ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ เรียงสลับ ขอบใบจักใหญ่ ดอกช่อกระจะ ออกเดี่ยวๆ ที่ซอกใบ มีขนสีน้ำตาล กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน สีขาว หรือชมพู รูปทรงดอกถั่วทั่วไป ยาว 1.5-2 ซม.[15] ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน แบน มีขนเล็กน้อย ฝักอ่อนจะมีสีเขียว และสีเขียวแก่ สีน้ำตาล จนถึงสีดำเมื่อแก่ ยาวประมาณ 7-13 ซม. กว้าง 1.2-1.5 ซม.[15] ฝักเมล็ดมี 4-9 เมล็ด มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยม กว้าง-ยาวประมาณ 6-9 มม. สีเหลืองหรือออกแดง เป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ เมล็ดแก่มีพิษ[12][15] การเพาะพันธุ์พื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกมันแกว มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 23-28 องศาเซลเซียส และมีฝนเฉลี่ย 400-1200 มิลลิเมตรต่อปี[16] มันแกวเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ดินทราย[17] ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,700 ม. ปัจจุบันพบมีการปลูกเกือบทั่วประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองคาย นครพนม ส่วนภาคอื่นมีปลูกน้อย[17] มันแกวเป็นพืชใช้น้ำน้อย ในประเทศไทยชาวอีสานนิยมปลูกเป็นพืชเสริมรายได้หลังหมดฤดูทำนา ในช่วงฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน[12] ปลูกโดยการหยอดเมล็ดเหมือนการปลูกถั่วทั่วไป[14] การปลูกในทวีปอเมริกา มันแกวอ่อนไหวต่อความเย็นจัด และต้องใช้เวลาปลูกในเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 5 - 9 เดือนโดยไม่มีน้ำค้างแข็ง เพื่อการเก็บเกี่ยวหัวขนาดใหญ่ ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีฤดูปลูกสั้น (พื้นที่ที่มีฤดูหนาวนานกว่า 3 เดือน) เว้นแต่จะเพาะเลี้ยงในเรือนกระจก การปลูกในพื้นที่เขตร้อนสามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และในพื้นที่กึ่งเขตร้อนควรหว่านเมล็ดพันธุ์เมื่อดินอุ่นขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ การผลิตเชิงพาณิชย์ในประเทศเม็กซิโก มีพื้นที่ปลูกมันแกวประมาณ 65,000 ไร่ 2.3-6.9 ตันต่อไร่ (15-45 ตันต่อเฮกตาร์)[18] ในประเทศไทย บางพื้นที่สามารถปลูกมันแกวได้ 3 รุ่นต่อปี รุ่นแรกปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะได้ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 10 ตัน รุ่นที่ 2 ปลูกช่วงปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม จะได้ผลผลิต 5-6 ตัน ต่อไร่ และรุ่นที่ 3 ปลูกช่วงฤดูแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตเฉลี่ย ไร่ละ 4-5 ตัน ต่อไร่ มันแกวจะใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน[12][19][20] และในปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันแกวในทุกภาค ทั้งหมด 8,708 ไร่ ผลผลิต 16,876 ตัน[20] การปลูกโดยทั่วไป หัวมันแกวมีน้ำหนักประมาณ 0.5-2.5 กก. ต่อหัว[6] การใช้ประโยชน์ในการปรุงอาหารส่วนหัวของมันแกว (รากแก้ว) เป็นส่วนที่ใช้รับประทาน ลักษณะภายนอกมีสีน้ำตาลอ่อนภายในมีสีขาว เมื่อเคี้ยว รู้สึกกรอบคล้ายผลสาลี่สด อีกทั้งยังมีรสคล้ายแป้งแต่ออกหวาน โดยทั่วไปจะรับประทานสด หรือจิ้มกับพริกเกลือ แล้วยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวานอีกด้วย เช่น แกงส้ม แกงป่า ผัดเปรี้ยวหวาน ผัดไข่ เป็นส่วนผสมของไส้ซาลาเปา และทับทิมกรอบ (ใช้แทนแห้ว) ในการกำจัดแมลงแต่ในทางกลับกัน มันแกวสามารถใช้เป็นยากำจัดศัตรูพืช โดยใช้ส่วนของเมล็ด ฝักแก่ ลำต้น และราก แต่ส่วนเมล็ดจะมีสารพิษมากที่สุด ทำให้มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงดีที่สุด นอกจากนั้นถ้ามนุษย์รับประทานเมล็ดเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมาก สารพิษโรติโนน (rotenone) จะรบกวนระบบหายใจ อาจชัก และอาจเสียชีวิตได้ คุณค่าทางอาหารคุณค่าทางอาหารของมันแกวนั้นประกอบด้วยน้ำ 90.5% โปรตีน 0.9% คาร์โบไฮเดรต 7.6% โดยรสหวานนั้นมาจากโอลิโกฟลุคโตส (oligofructose หรือ fructo-oligosaccharides) ซึ่งเป็นอินูลิน ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถเผาผลาญได้ ดังนั้นมันแกวจึงอาจเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ควบคุมน้ำหนัก และเป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี ควรเก็บมันแกวในที่แห้ง อุณหภูมิระหว่าง 12 - 16 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านี้จะทำให้ส่วนรากช้ำได้ ถ้าเก็บรักษาถูกวิธีสามารถอยู่ได้นานถึง 1-2 เดือน สารสำคัญในมันแกวเมล็ด เมื่อผ่าออกจะมีเนื้อภายในสีเหลือง สารสำคัญประกอบด้วยสารพิษในกลุ่มไอโซฟลาโวนอยด์ (isoflavonoid) ได้แก่ erosin, pachyrrhizone, pachyrrhizin, โรติโนน (rotenone) และสารเคมีอื่นๆ ได้แก่ 12-(A)- hydroxypachyrrhizone, 12-(A)-hydroxy lineonone, 12-(A)-hydroxymundu- serone, dolineone, erosone, dehydropachyrrhizone, erosenone, neodehydrorotenone, ซาโพนิน (saponins A และ B) เป็นพิษทำให้ปลาตายได้[15][21] ระเบียงภาพ
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ มันแกว อ้างอิง
|