วิถีการผลิต
วิถีการผลิต (อังกฤษ: Mode of production, เยอรมัน: Produktionsweise แปลตรงตัวว่า “หนทางของการผลิต”) ในงานเขียนของคาร์ล มากซ์ และทฤษฎีลัทธิมากซ์เกี่ยวกับวิภาษวิธีประวัติศาสตร์นั้น คือการผสานกันของลักษณะเฉพาะต่อไปนี้
มากซ์มีทัศนะเรื่องสมรรถภาพในการผลิตที่มีต่อความสัมพันธ์ทางสังคม ว่าเป็นลักษณะพื้นฐานของการผลิตซ้ำในสังคม ซึ่งในการผลิตแบบทุนนิยม รูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้โดยเนื้อแท้นั้นขัดแย้งกับการพัฒนาศักยภาพทางการผลิตของมนุษย์[1] แนวคิดนี้เดิมเป็นของอดัม สมิธ เรื่องวิถีการยังชีพ ซึ่งวิเคราะห์ความก้าวหน้าของสังคมแต่ละประเภท ว่าขึ้นอยู่กับแนวทางที่สมาชิกในสังคมจัดหาสิ่งต่าง ๆ สำหรับความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์[2] ความสำคัญของแนวคิดพื้นเดิมของแนวคิดเรื่องวิถีการผลิตนั้น มาจากทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ 4 ขั้น จากยุคเรืองปัญญาของสก็อตแลนด์ ที่กล่าวถึง สังคมล่าสัตว์/สังคมเลี้ยงปศุสัตว์/สังคมเกษตรกรรม/สังคมพาณิชย์ โดยแต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะตัวทางสังคมและวัฒนธรรม[3] ซึ่งมากซ์ใช้เชื่อมโยงกับแนวคิดวิถีการผลิต โดยระบุว่า “วิถีการผลิตทางวัตถุ เป็นสิ่งที่ชี้นำลักษณะทั่วไปซึ่งกระบวนการของชีวิตทางสังคม การเมือง และจิตวิญญาณ”[4] มากซ์มีความเห็นว่า แนวทางที่มนุษย์เกี่ยวพันกับโลกกายภาพ ตลอดจนแนวทางที่มนุษย์มีความเกี่ยวพันระหว่างกันในสังคมนั้น มีความเชื่อมโยงที่มีความเฉพาะเจาะจงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยระบุว่า “มนุษย์ [ผู้ที่] ผลิตผ้า ลินิน ผ้าไหม ฯลฯ ยังได้ผลิต ‘ความสัมพันธ์ทางสังคม’ ท่ามกลางกิจกรรมที่กำลังเตรียมผ้าและลินินไปพร้อม ๆ กัน[5] มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคเพื่อความอยู่รอด แต่การจะบริโภคได้นั้นจำต้องมีการผลิต และการผลิตนั้นเองทำให้มนุษย์จำเป็นต้องเข้าสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือเจตน์จำนงค์ของตนเอง ในทัศนะของมากซ์ การไขความลับเรื่องเหตุของระเบียบสังคมที่ดำรงอยู่ และต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น จำต้องเข้าไปวิเคราะห์วิถีการผลิตนั้น ๆ ของสังคมดังกล่าว[6] มากซ์ยังแย้งเพิ่มเติมว่า วิถีการผลิตเป็นที่สิ่งที่กำหนดธรรมชาติของวิถีการกระจายตัว วิถีการหมุนเวียน และวิถีการบริโภค ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดบริบททางเศรษฐกิจ และเพื่อทำความเข้าใจวิถีการกระจายตัวของความมั่งคั่งนั้น จำต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขภายใต้บริบทการผลิตด้วยเช่นกัน วิถีการผลิตนั้นมีความพิเศษเชิงประวัติศาสตร์ในทัศนะของมากซ์ เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดองค์ประกอบทางอินทรีย์ของภาพรวม (หรือภาพรวมของการผลิตซ้ำด้วยตนเอง) ซึ่งเอื้อให้สามารถกลับมาสร้างเงื่อนไขใหม่เพื่อยืดวัฏจักรของตัวเองให้มีเสถียรภาพ ตลอดจนมีอายุยาวนานได้นับร้อยหรือพันปี และด้วยการลงมือผลิตแรงงานส่วนเกินภายใต้ระบบความสัมพันธ์ทางทรัพยสินนี้เอง ชนชั้นแรงงานกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำรากฐานของระเบียบสังคมเดิมตลอดเวลา นอกจากนี้ วิถีการผลิตเป็นสิ่งที่กำหนดวิถีการกระจายตัว วิถีการหมุนเวียน และวิถีการบริโภค ซึ่งต่างก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ จดหมายของมากซ์ที่เขียนถึงอานเนนคอฟระบุว่า “เมื่อพินิจถึงลำดับขั้นใด ๆ ของพัฒนาการทางการผลิต การพาณิชย์ หรือการบริโภคนั้น เราจะพบว่ามีความสอดคล้องกับระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระเบียบแบบเครือวงศ์วานและมีลำดับขั้นทางชนชั้น หรืออาจเรียกว่า ความสอดคล้องกันของประชาสังคม”[7] อย่างไรก็ดี วิถีการผลิตใด ๆ ก็ตาม จะยังคงมีเศษเสี้ยวของวิถีการผลิตก่อนหน้านั้นอยู่ พร้อม ๆ กับหน่ออ่อนของวิถีการผลิตถัดไป[8] การปรากฏขึ้นของพลังการผลิตชนิดใหม่ จะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับวิถีการผลิตปัจจุบัน และเมื่อความขัดแย้งอุบัติขึ้น วิถีการผลิตจะวิวัฒน์ภายในโครงสร้างเดิม และเป็นเหตุให้ล่มสลายโดยสมบูรณ์ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมวิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและสังคมขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพภายใน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพใหญ่ ความไร้ประสิทธิภาพที่เด่นชัดที่สุดจะมาในรูปของความขัดแย้งทางชนชั้น สังคมแบบเก่าที่ตกยุคจะเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าทางสังคมมิให้เดินหน้าต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะยิ่งทวีความขัดแย้งระหว่างเทคโนโลยีและโครงสร้างสังคม (กอรปด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม หรือระเบียบการผลิตที่ได้รับการยอมรับแบบเดิม) และจะมีพัฒนาการไปจนถึงจุดที่ระบบไม่สามารถรองรับความขัดแย้งนี้ได้อีกต่อไป จนกระทั่งถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติสังคมจากภายใน ซึ่งจะเปิดทางให้ความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ปรากฏขึ้น และมีความเข้ากันได้ดีกับระดับเทคโนโลยีในปัจจุบัน (กำลังการผลิต)[9] พลังขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในอารยธรรมใด ๆ นั้น ล้วนมีพื้นฐานจากประเด็นทางวัตถุ โดยเฉพาะในแง่ระดับทางเทคโนโลยี องค์ความรู้ปัจจุบันของมนุษย์ และระเบียบสังคมที่เป็นไป ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มากซ์บรรญัติแนวคิดใหม่ เรียกว่า มโนทัศน์ทางวัตถุของประวัติศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมในบทความ วัตถุนิยม) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการวิเคราะห์แบบจิตนิยม (ซึ่งมากซ์เคยเขียนวิพากษ์พรูดอน)[10] ซึ่งกล่าวว่าพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม คือมโนคติของปัจเจกผู้ตื่นรู้ทางปัญญา วิถีการผลิตแบบต่าง ๆวิถีการผลิตแบบชนเผ่า และแบบยุคหินใหม่มากซ์และเอ็งเงิลส์มักเรียกวิถีการผลิต “แรกสุด” ว่าคอมมิวนิสต์ยุคบุพกาล[11] ในทัศนะของลัทธิมากซ์สายคลาสสิคนั้น วิถีการผลิตแรกสุดมี 2 ประเภทคือ วิถีการผลิตแบบชนเผ่าหรืออนารยชน และแบบกลุ่มเครือญาติแห่งยุคหินใหม่[12] วิถีของชนเผ่าผู้เป็นนักล่าสัตว์เก็บของป่านั้น ดำรงอยู่ในฐานะหนทางความอยู่รอดเดียวของมนุษย์ยาวนานกว่าครึ่งค่อนทางในประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคหินใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ลำดับช่วงชั้นทางสังคมมีอยู่อย่างจำกัด (สอดคล้องกับความจำกัดในทรัพย์สินส่วนบุคคล ส่วนพื้นที่ล่าสัตว์เป็นของส่วนรวม)[13] ในขณะที่ความเชื่อปรัมปรา พิธีกรรม และเวทย์มนต์คาถา ถูกมองว่าเป็นกระแสหลักของรูปแบบทางวัฒนธรรม[14] เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้การทำกสิกรรมในช่วงต้นของการปฏิวัติยุคหินใหม่ ซึ่งพ่วงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา หมักสุรา อบอาหาร และรู้จักทอผ้า[15] นั้น ช่วงชั้นทางสังคมเริ่มทวีความชัดเจนขึ้น และในที่สุดกลายเป็นต้นกำเนิดของชนชั้น[16] ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล[17] และปกครองกันด้วยลำดับชั้นทางกลุ่มเครือญาติ ลัทธินับถือภูตผีถูกแทนที่ด้วยการบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์[18] และในเวลาเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ถือเพศหญิงเป็นใหญ่ เป็นถือเพศชายเป็นใหญ่[19] วิถีการผลิตแบบเอเชียวิถีการผลิตแบบเอเชีย เป็นหนึ่งในทฤษฎีของมากซ์ที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เดิมใช้เพื่ออธิบายสังคมยุคก่อนสังคมทาส หรือยุคก่อนศักดินา โดยอิงจากสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยดินที่ขุดค้นพบในอินเดีย ลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส และลุ่มแม่น้ำไนล์ (ตั้งชื่อตามแหล่งที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ว่ามาจาก “เอเชีย” ใหญ่) กล่าวกันว่าวิถีการผลิตแบบเอเชียเป็นสังคมที่มีชนชั้นรูปแบบแรก ที่ซึ่งมีคนกลุ่มน้อยแย่งชิงผลิตผลส่วนเกินด้วยความรุนแรง โดยเล็งเป้าไปที่กลุ่มชนเร่ร่อนหรือหมู่บ้านที่ลงหลักปักฐานแล้ว ที่อาศัยภายในเขตของตน วิถีการผลิตเช่นนี้ปรากฏขึ้นได้ด้วยแรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล เช่น มีการประดิษฐ์ตัวอักษร การจัดกลุ่มและเก็บรักษาข้อมูล[20] ตลอดจนองค์ความรู้อื่น ๆ เช่นคณิตศาสตร์ การทำปฏิทิน ชลประทาน และมาตรฐานของมาตรวัดสำหรับการชั่งตวง[21] แรงงานส่วนเกินได้มาจากการเกณฑ์แรงงานช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกของปี (เพื่อใช้สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นพีระมิด ซิกกุรัต และสถานที่อาบน้ำรวมของอินเดีย) นอกจากนี้ยังสามารถรีดแรงงานส่วนเกินโดยตรงได้อีกในรูปแบบผลผลิตจากชุมชน ลักษณะเด่นอีกประการของวิถีการผลิตแบบนี้ คือการเข้ามาครอบครองพื้นที่ทำกินโดยตรงของศาสนาเทวนิยมในชุมชน (ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก หรือกลุ่มชนเร่ร่อน) เช่น ¾ ของที่ดินจะจัดสรรให้กับบรรดาครัวเรือน ในขณะที่ที่ดินอีก ¼ ที่เหลือจัดสรรไว้ให้ลงแรงเพาะปลูกเพื่อบำรุงคณะนักบวช[22] ชนชั้นนำในวิถีการผลิตเช่นนี้มักเป็นกึ่งชนชั้นสูง-กึ่งนักบวช ผู้ซึ่งกล่าวอ้างว่าตนเป็นอวตารของเทพเจ้า พลังการผลิตที่เกี่ยวพันกับวิถีการผลิตแบบเอเชียนั้น มีตั้งแต่เทคนิคการเกษตรแบบพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ชลประทาน และการเก็บถนอมสินค้าไว้เพื่อประโยชน์ของสังคม (ยุ้งฉาง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีการนำผลิตผลส่วนเกินมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้อารยธรรมแรกเริ่มทั้งหลายในแถบเอเชียถึงคราวเสื่อมลง[23] วิถีการผลิตแบบโบราณบ่อยครั้งมักใช้อีกชื่อว่า “สังคมทาส” วิถีการผลิตแบบนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่วิวัฒน์มาจากสังคมที่พึ่งพาตนเองในยุคหินใหม่ และกลายรูปแบบมาเป็นเมืองแบบโปลิสหรือนครรัฐ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นการใช้เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก การใช้เหรียญกษาปณ์ และการประดิษฐ์ตัวอักษร มีการแบ่งงานทางแรงงาน ระหว่างงานอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร ทำให้ชุมชนเติบโตขึ้นไปสู่ระดับของความเป็นเมืองได้ในที่สุด[24] เมื่อเวลาผ่านไปก็เรียกร้องการรวมกลุ่มทางสังคมในรูปแบบใหม่ อันส่งผลให้ตัวแทนจากกลุ่มสังคมเมืองได้เข้าปกครองกลุ่มสังคมชนเผ่า ไม่ว่าจะอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม[25] มีการบัญญัติใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมแทนที่กฏแบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบเดิม[26] กรณีละครโศกนาฏกรรมของกรีก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของรูปแบบวัฒนธรรมใหม่เช่นนี้ ตามที่โรเบิร์ต เฟเกิลส์ระบุว่า “[ละคร]โอเรสเชียนับเป็นพิธีกรรมของช่วงเปลี่ยนผ่านจากความป่าเถื่อนเป็นอารยะ...จากการล้างแค้นด้วยเลือดมาเป็นความยุติธรรมทางสังคม”[27] สังคมกรีกและสังคมโรมันถือเป็นตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับของสังคมยุคโบราณ พลังการผลิตของวิถีการผลิตนี้รวมถึงเทคนิคการเกษตรชั้นสูง (เกษตรแบบ 2 แปลง) มีการใช้สัตว์เป็นเครื่องทุ่นแรงในการเกษตรอย่างกว้างขวาง มีการทำอุตสาหกรรม (เหมืองแร่และเครื่องปั้นดินเผา) ตลอดจนมีโครงข่ายการค้าที่เจริญก้าวหน้า ความแตกต่างของวิถีการผลิตแบบโบราณและวิถีการผลิตแบบเอเชีย อยู่ที่รูปแบบของทรัพย์สิน เช่นการถือครองมนุษย์ในฐานะทรัพย์สิน (ทาส)[28] ดังที่เพลโตบรรยายถึงนครรัฐในฝัน แมกนีเซีย และวาดภาพความสะดวกสบายของพลเมืองชนชั้นนำไว้ว่า “ไร่นาของพวกเขาฝากให้พวกทาสดูแล ผู้ซึ่งทำผลผลิตจากที่ดินในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาความสุขขั้นต่ำของชนชั้นนำได้”[29] วิถีการผลิตแบบโบราณมีลักษณะที่โดดเด่นอีกประการ นั่นคือชนชั้นปกครองจะหลีกเลี่ยงและไม่กล่าวอ้างว่าเป็นอวตารโดยตรงของเทพเจ้า แต่จะอ้างว่าเป็นผู้สืบสายเลือดจากเทพเจ้ามากกว่า อีกหนึ่งหนทางที่จะสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตน อาจทำได้โดยยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองเป็นบางส่วน แม้ระบบการปกครองจะมิใช่ประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ แต่ก็ครอบคลุมพลเมืองทั้งหมดของอาณาจักร ซึ่งเป็นตัวช่วยให้โรมสามารถขยายอำนาจจักรวรรดิแบบเมืองได้ทั่วแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน และเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายถนน ท่าเรือ หอประภาคาร สะพานส่งน้ำ ตลอดจนสะพานข้ามแม่น้ำต่าง ๆ และด้วยความเชี่ยวชาญของวิศวกร สถาปนิก พ่อค้าวาณิชย์ และนักการอุตสาหกรรม ต่างก็มีส่วนช่วยเกื้อหนุนการค้าระหว่างศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ที่กำลังเติบโต[30] วิถีการผลิตแบบศักดินาการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ทำให้พื้นที่ของยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่กลับคืนสู่วิถีแห่งการเกษตรเพื่อยังชีพ มีเมืองและเส้นทางการค้าที่ถูกทิ้งร้างอยู่อย่างกระจัดกระจาย[31] อำนาจการปกครองมีจำกัดเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งมีถนนที่ทรุดโทรมและสภาพที่ยากลำบากสำหรับการทำเกษตร[32] รูปแบบของสังคมแบบใหม่ปรากฏขึ้นแทนที่รูปแบบของสายสัมพันธ์เครือญาติ คณะนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือแบบพลเมืองตามกฎหมายที่เคยมีมาแต่เดิม นั่นคือรูปแบบสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ปกครอง-ผู้รับใช้ และยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ต่อกันนี้ในรูปแบบศักดินา[33] รูปแบบเช่นนี้เรียกว่า วิถีการผลิตแบบศักดินา ซึ่งเป็นระบบที่ครอบงำสังคมตะวันตกกินเวลาตั้งแต่การสิ้นสุดของโลกยุคโบราณ จนถึงยุคเริ่มต้นของทุนนิยม (ระบบคล้ายกันนี้มีใช้กันเกือบทั่วโลกเช่นกัน) ในยุคนี้ได้ประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงกระจายศูนย์ จากจักรวรรดิโบราณไปสู่รัฐชาติในรูปแบบเริ่มแรกสุด รูปแบบหลักของทรัพย์สิน คือการครอบครองที่ดินภายใต้สัญญาที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน เช่นอัศวินตอบแทนด้วยการไปทำงานในกองทัพ แรงงานตอบแทนโดยทำงานให้เจ้าผู้ปกครองในฐานะชาวนาอิสระหรือไพร่ติดที่ดิน[34] การขูดรีดจึงเกิดขึ้นในลักษณะของสัญญาเช่นนี้ (แม้บางครั้งจะมีการใช้ความรุนแรงบีบบังคับเอาก็ตาม)[35] ชนชั้นปกครองมักเป็นขุนนางหรือชนชั้นสูง สร้างความชอบธรรมทางการปกครองด้วยการสนับสนุนของคณะนักบวช พลังการผลิตกอรปด้วยเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อน (เกษตรแบบ 2 หรือ 3 แปลง มีการลงปุ๋ยและปลูกต้นลูเซิร์นระหว่างการพักแปลง) มีการใช้เครื่องทุ่นแรงที่มิใช่สิ่งมีชีวิต (เช่นระบบกลไกฟันเฟืองและกังหันลม) ตลอดจนมีการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของช่างฝีมือในการผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง อุดมการณ์ที่เป็นกระแสหลักคือระบบลำดับขั้นทางสังคม ที่ทำให้ดูอ่อนลงด้วยการทำสัญญาพึ่งพาระหว่างกันภายใต้ระบบศักดินาดังกล่าว[36] ดังที่เมทแลนด์เคยชี้ไว้ว่า ระบบศักดินานั้นแตกออกเป็นหลายสาขาย่อย มีการขยายตัวครอบคลุมกว่าครึ่งทวีปเป็นเวลาหลายร้อยปี[37] อย่างไรก็ดี แม้มีรูปแบบต่างกันแต่หัวใจสำคัญยังคงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ (ดังที่จอห์น เบอร์โรว์เคยกล่าวไว้) “กอรปด้วยระบบกฎหมาย สังคม การทหาร และเศรษฐกิจ...กอรปด้วยรูปแบบกองทัพที่เป็นระบบและลำดับขั้นทางสังคม เหล่านี้เป็นจริยธรรมที่ภายหลังมากซ์เรียกว่าวิถีการผลิต”[38] ในช่วงเวลานี้ ชนชั้นพ่อค้าวาณิชย์ได้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น มีแรงจูงใจในการทำกำไรเป็นแรงขับเคลื่อน แต่ถูกขัดขวางมิให้ทำกำไรได้เต็มกำลังเพราะติดกับอยู่ในธรรมชาติของสังคมศักดินา ที่ซึ่งไพร่ถูกผูกมัดให้ติดอยู่กับที่ดิน และไม่สามารถไถ่ตนออกมาเป็นคนงานในโรงงานหรือแรงงานสินจ้างได้ ภาวการณ์นี้ท้ายที่สุดจะจุดประกายให้เกิดห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติทางสังคม (ตัวอย่างเช่นสงครามกลางเมืองอังกฤษ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ.1688 การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ฯลฯ) อันทำให้ระเบียบแห่งสังคมและการเมืองในสังคมศักดินานั้น (หรือความสัมพันธ์ของการถือครองทรัพย์สินในระบบศักดินา) ถึงกาลล่มสลาย โดยกระฎุมพียุคแรกเริ่ม[39] วิถีการผลิตแบบทุนนิยมช่วงปลายยุคกลาง ระบบศักดินาเริ่มถูกบดบังรัศมีจากการกำเนิดและเติบโตของเมืองเสรี การหมุนเวียนของเงินตราจากแรงงานภาคบริการ[40] การเข้ามาทดแทนระบบกองทัพแบบศักดินาด้วยระบบทหารประจำการ (ซึ่งได้รับค่าตัว) ตลอดจนบทบาทที่ลดลงของศักดินาในฐานะเจ้าที่ดิน[41] สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ว่าศักดินาจะยังสามารถรักษาเศษเสี้ยวของอภิสิทธิ์ คติธรรม และแวดวงของตนในยุโรปจนถึงช่วงปลายของสหัสวรรษ (ค.ศ.1000) ไว้ได้ก็ตาม[42] ยุคสมัยถัดจากนี้เป็นสิ่งที่สมิธเรียกว่ายุคแห่งการพาณิชย์ และที่มากซ์เรียกว่าวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ที่ครอบคลุมช่วงเวลาจากยุคลัทธิพาณิชยนิยม ไปสู่ยุคจักรวรรดินิยม หรือกระทั่งยุคหลังจากนั้น วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเกี่ยวพันโดยตรงกับการถือกำเนิดขึ้นของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเศรษฐกิจตลาดโลก มากซ์ระบุว่าแกนกลางของระบบทุนสมัยใหม่มาจากการที่ระบบเงินตราซึ่งมีบทบาทแลกเปลี่ยนสินค้า (C-M-C, commerce) ถูกเข้าทดแทนด้วยระบบเงินตรา ที่นำไปสู่การนำกำไรกลับเข้ามาลงทุนใหม่เพื่อการผลิตในอนาคต (M-C-M, capitalism) เหล่านี้นับเป็นระบบสังคมแบบใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้[43] รูปแบบทรัพย์สินที่สำคัญของวิถีการผลิตแบบนี้ คือทรัพย์สินเอกชนที่มาในรูปของที่ดิน วัตถุดิบ เครื่องมือการผลิต และแรงงานมนุษย์ เหล่านี้จะถูกทำให้เป็นเสมือนสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันได้ด้วยเงินตรา (รับประกันโดยรัฐ) ซึ่งมีการรองรับด้วยสัญญาต่าง ๆ ดังคำกล่าวของมากซ์ที่ว่า “มนุษย์เราถูกชักจูงให้เข้าสู่วังวนของความเป็นทรัพย์สินเอกชน”[44] รูปแบบการขูดรีดที่สำคัญของวิถีนี้ มาในรูปแบบ (ที่ยุคก่อนหน้านี้ต้องทำงานฟรี) แรงงานสินจ้าง (ดู ว่าด้วยทุน[45] ในบริบทว่าด้วยการลงแรงงานเพื่อใช้หนี้[46] ทาสสินจ้าง และรูปแบบการขูดรีดอื่น ๆ) ชนชั้นผู้ปกครองในอรรถาธิบายของมากซ์คือชนชั้นกระฎุมพี หรือนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นผู้ขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมาชีพ ในฐานะที่กรรมาชีพมีเพียงพลังแรงงานที่ตนครอบครองเพียงอย่างเดียว และจำต้องขายพลังแรงงานนี้เพื่อความอยู่รอด[47] ยูวาล ฮารารี ได้ปรับมโนทัศน์ของคู่ขัดแย้งนี้เพื่อให้เหมาะกับยุคศตวรรษที่ 21 โดยระบุว่า คนรวยลงทุนเพื่อนำเงินกลับไปลงทุนซ้ำ ส่วนคนที่เหลือยอมเป็นหนี้เพื่อให้ได้บริโภค และกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิต[48] พลังการผลิตที่สำคัญภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น รวมถึงระบบโดยรวมของการผลิตสมัยใหม่ที่มากับโครงสร้างการบริหารรัฐ ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี และที่สำคัญที่สุดคือ ทุนทางการเงิน อุดมการณ์ของระบบนี้มีการวิวัฒน์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังที่เฟรดเดอริค เจมสันกล่าวว่า “แสงสว่างทางปัญญาของตะวันตกนั้น อาจนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่แยบยลของชนชั้นกระฎุมพี ที่ซึ่งค่านิยม วาทกรรม อุปนิสัย และวิถีชีวิตประจำวันของระบอบโบราณนั้น ถูกรื้อทิ้งอย่างเป็นระบบ เพื่อเปิดทางให้แนวคิดใหม่ รูปแบบชีวิตและอุปนิสัยใหม่ ตลอดจนค่านิยมใหม่แห่งสังคมทุนนิยมตลาด”[49] นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการด้านประโยชน์นิยม และแนวคิดการผลิตตามเหตุผล (เวเบอร์) การฝึกอบรมและความมีวินัย (ฟูโกต์) ตลอดจนโครงสร้างเวลาแบบใหม่ของระบบทุนนิยม[50] วิถีการผลิตแบบสังคมนิยมสังคมนิยมเป็นวิถีการผลิตที่มากซ์มีทัศนะว่าจะได้สถาปนาเป็นวิถีกระแสหลักหลังจากทุนนิยม และท้ายที่สุดก็จะถูกเข้าทดแทนด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์หลังจากนั้น ซึ่งคำว่า ‘สังคมนิยม’ ตลอดจน ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ทั้งคู่นั้น มีปรากฏมาก่อนยุคของมากซ์ และมีความหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่มากซ์ใช้ อย่างไรก็ดีทั้งคู่ต่างก็เป็นพลังการผลิตที่จะเติบโตจนบดบังกรอบของทุนนิยม[51] ในงานเขียนที่ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1917 เรื่อง รัฐและการปฏิวัติ เลนินระบุว่า หลังจากที่โค่นล้มทุนนิยมลุล่วงแล้ว ห้วงเวลาของวิถีแบบคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาแทนจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกคือสังคมนิยม ขั้นถัดไปคือคอมมิวนิสต์ไร้รัฐ หรือคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ ซึ่งจะได้สถาปนาขึ้นหลังจากที่เศษเสี้ยวชิ้นสุดท้ายของทุนนิยมได้ถูกกำจัดออกไปจนหมดจดแล้ว ด้านมากซ์นั้นมักใช้ศัพท์ว่า คอมมิวนิสต์”ขั้นแรก” และคอมมิวนิสต์”ขั้นสูง” แต่เลนินชี้ประเด็นของเอ็งเงิลส์ที่ขยายความบทบรรยายของมากซ์ว่า คอมมิวนิสต์”ขั้นแรก” ของมากซ์นั้น เทียบเท่ากับคำที่คนทั่วไปเรียกใช้สังคมนิยม[52] สำหรับนิยามของสังคมนิยมสำหรับนักลัทธิมากซ์นั้น คือวิถีการผลิตที่นับเอามูลค่าใช้สอยเป็นบรรทัดฐานการผลิตเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นกฎแห่งมูลค่าจึงไม่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกต่อไป การผลิตเพื่อใช้สอยแบบมากซ์นั้นจะมีการชี้นำด้วยการวางแผนเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง[53] ในขณะที่การกระจายตัวของผลผลิตขึ้นอยู่กับหลักการแต่ละคนรับผลตอบแทนตามสัดส่วนคุณูปการ[54] ความสัมพันธ์ทางสังคมของระบบสังคมนิยมนั้น มีลักษณะที่ว่า ชนชั้นแรงงานเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตและปัจจัยเลี้ยงชีพต่าง ๆ ผ่านสหกรณ์วิสาหกิจ กรรมสิทธิ์ส่วนรวม หรือระบบคนงานบริหารตนเอง เนื่องจากคาร์ล มากซ์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ จงใจเขียนเกี่ยวกับสังคมนิยมเพียงเล็กน้อย จึงทำให้รายละเอียดที่ว่าวิถีการผลิตใหม่ควรมีการจัดตั้งอย่างไรนั้นถูกละเลย โดยให้เหตุผลว่า ทฤษฎีทั้งหลายถือว่าเป็นเพียงวิถีอุดมคิตแบบยูโทเปียเท่านั้น จนกว่าวิถีการผลิตแบบใหม่จะถือกำเนิดขึ้น ดังที่จอร์จ ซอเรลกล่าวไว้ว่า “การคาดการณ์ล่วงหน้าต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับอุดมการณ์ใหม่สำหรับโครงสร้างส่วนบน ตลอดจนเงื่อนไขของการผลิตนั้น ถือว่ามิใช่แนวทางของลัทธิมากซ์”[55] อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของชีวิตมากซ์ชี้ว่าคอมมูนปารีสนั้น นับเป็นตัวอย่างการลุกฮือแรกสุดของชนชั้นกรรมาชีพ ตลอดจนเป็นโมเดลแรกสุดของการจัดตั้งสังคมนิยมในอนาคตให้เป็นคอมมูนอีกด้วย โดยกล่าวเสริมว่า:
วิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์คอมมิวนิสต์ถือเป็นวิถีการผลิตแบบสุดท้าย คาดว่าจะกำเนิดขึ้นหลังจากสังคมนิยม ซึ่งเป็นไปตามกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากซ์ไม่ได้กล่าวถึงธรรมชาติของสังคมคอมมิวนิสต์อย่างละเอียดเท่าใดนัก เนื่องจากมากซ์มักใช้ศัพท์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์สลับกันเสมอ อย่างไรก็ดี มากซ์กล่าวถึงวิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์สั้น ๆ ในวิพากษ์โปรแกรมโกธา ว่า การที่จะปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างเต็มที่ “ในสังคมคอมมิวนิสต์ขั้นสูงสุดนั้น... [เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ] สังคมนั้นสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า ‘แต่ละคนทำงานตามความสามารถของตน โดยแต่ละคนรับผลตอบแทนตามความจำเป็น’”[57] จุดเชื่อมโยงของวิถีการผลิตในสังคมหรือประเทศใด ๆ นั้น อาจมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันแต่ดำรงอยู่ร่วมกัน โดยมีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจผ่านทางการค้าและพันธกรณีอื่น ๆ ที่มีต่อกัน แต่ละวิถีการผลิตที่แตกต่างกันนี้ ต่างก็มีรูปแบบของชนชั้นทางสังคม ตลอดจนช่วงชั้นทางประชากรที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหการในตัวเมืองของนายทุน อาจดำรงอยู่ร่วมกันกับการผลิตเพื่อยังชีพของชาวนาในชนบท ในขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกันชนเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่า และแลกเปลี่ยนกันอย่างเรียบง่าย ดังนั้นวิถีการผลิตทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ อาจรวมตัวกันจนกลายเป็นเศรษฐกิจลูกผสม อย่างไรก็ดี มากซ์มองว่า การขยายตัวของตลาดแบบทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะกลืนกินและเข้าแทนที่วิถีการผลิตแบบเก่า เนื่องจากสังคมของนายทุนนั้นมีลักษณะที่ว่า เมื่อเวลาหมุนไปวิถีการผลิตแบบทุนนิยมจะกลายเป็นวิถีกระแสหลักของสังคม ทำให้ในแง่วัฒนธรรม หลักกฎหมาย และจารีตประเพณีของสังคมนั้น อาจมีธรรมเนียมปฏิบัติจากวิถีการผลิตก่อนหน้านั้นหลงเหลืออยู่เสมอ เพราะฉะนั้น หากกล่าวถึงประเทศ 2 ประเทศที่ต่างก็เป็นทุนนิยม ซึ่งมีความเหมือนกันในแง่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยวิสาหกิจเอกชนที่มุ่งแสวงหาผลกำไรและแรงงานสินจ้าง ประเทศทั้งคู่นี้อาจมีลักษณะทางสังคมที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนจากความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ศาสนา กฎทางสังคม และประวัติศาสตร์ของชาตินั้น ๆ เพื่อที่จะขยายความเกี่ยวกับแนวคิดนี้นั้น เลออน ทรอตสกี มีคำบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกอันเป็นที่โจษจันว่า เป็นกระบวนพัฒนาการที่หลอมรวมกันแต่ไม่เสมอกันของสังคมและวิถีการผลิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดต่างก็มีอิทธิพลต่อกัน นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ซึ่งอาจใช้เวลากว่าศตวรรษในประเทศหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่รวบรัดหรือมองเห็นได้แต่ไกลสำหรับอีกประเทศหนึ่ง ตามที่ทรอตสกีตั้งข้อสังเกตในบทแรกของงานเขียนประวัติศาสตร์ของตน การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 ว่า “[ชนป่าเถื่อน] ยอมเลิกใช้คันธนูและลูกศรในทันใด เพื่อแลกกับปืนไรเฟิล โดยไม่ต้องมีการทดลองใช้อาวุธที่เคยมีอยู่ในยุคระหว่างสองสิ่งนี้ในอดีตทั้งสิ้น นักล่าอาณานิคมชาวยุโรปในทวีปอเมริกาจึงไม่ต้องเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่หมดตั้งแต่ต้น” ดังนั้น เทคนิคและวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ อาจหลอมรวมกันอย่างแปลกใหม่และมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถเป็นที่เข้าใจได้ นอกเสียจากจะต้องย้อนรอยเข้าไปศึกษาการปรากฏขึ้นทางประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านี้ ในบริบทเฉพาะที่นั้น ๆ ดูเพิ่มเติมวิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ วิถีการผลิต อ้างอิง
เอกสารเพิ่มเติม
|